ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 20)

12
พฤศจิกายน
2567

Focus

  • บันทึกประกอบคำประท้วงกรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 20) ของนายปรีดี พนมยงค์ เสนอให้เห็นข้อบิดเบือนในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินฯ ในเรื่องการก่อตั้งคณะราษฎรเมื่อปี 2469 โดยเฉพาะความคลาดเคลื่อนเรื่องปีที่ก่อตั้งและสถานที่ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
  • ที่มาของหลักฐานประวัติศาสตร์ชุดนี้ เนื่องมาจากในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี ซึ่งการฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป

 

บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

17.

การก่อตั้งคณะราษฎร จากพื้นฐานที่สามัคยานุเคราะห์สมาคมได้ก่อหวอดไว้

 

17.1

ข้อสังเกตทั่วไป

พล.ท.ประยูรฯ ได้กล่าวไว้ใน “สรุปการปฏิวัติ” ของท่านซึ่งข้าพเจ้าได้คัดมาลงพิมพ์ไว้ในข้อ 2. แล้วนั้น ท่านนายพลผู้นี้ได้ปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นด้วยในการ “ก่อตั้งคณะราษฎร” และท่านได้ปฏิเสธ “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร และปฏิเสธหัวหน้าส่วนรวมและหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ของคณะราษฎร ฯลฯ ดังที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงความจริงไว้ในหลายข้อก่อน ๆ แล้ว

ในหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 99-101 ท่านนายพลผู้นี้จึงกล่าวถึงการที่ท่าน“ริเริ่ม”ชักชวนหรือที่ สํานักพิมพ์เรียกว่า “ชักจูง”ข้าพเจ้า (ปรีดี), ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (หลวงพิบูลสงคราม), ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี (หลวงทัศนัยนิยมศึก), ดร.ตั้ว ลพานุกรม, นายแนบ พหลโยธิน, ให้ร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ และท่านว่า ข้าพเจ้าชวนเพื่อนได้คนเดียวคือ “หลวงศิริราชไมตรี” (จรูญ สิงหเสนี) ให้ร่วมคิดด้วยนั้น

ครั้นแล้ว พล.ท. ประยูรฯ อ้างต่อไปว่าท่านได้จัดให้เริ่มเปิดการประชุมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นที่ “บ้านพักของท่านตั้งอยู่บนถนนดี ซอมเมอราด์ หมายเลข 5 นั้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2467” อันเป็นวันที่ท่านนายพลฯ กล่าวว่า “ข้าพเจ้า(ประยูรฯ) ได้ถือเป็นวันอุดมมงคลฤกษ์ซึ่งตรงกับวันเกิดของข้าพเจ้า (ประยูรฯ)”

ผู้อ่านหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หลายคนจึงหลงเข้าใจผิดว่า บุคคลอีก 6 คน (นอกจากตัวร.ท.ประยูรฯ) นั้นได้ยอมอยู่ภายใต้คำ “ชักจูง” ของร.ท. ประยูรฯ ถึงขนาดที่ ถือเอาวันคล้ายวันเกิดของร.ท.ประยูรฯ เป็นอุดมมงคลฤกษ์” ในการก่อตั้งคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองฯและยอมถือเอา “บ้านพัก” ของร.ท. ประยูรฯ เป็นที่ประชุมครั้งแรก คําว่า “บ้านพัก” นี้ในหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 128 ท่านนายพลผู้นี้เขียนว่า “ร่วมประชุมครั้งแรกที่ “บ้านข้าพเจ้า” (ประยูร) รวมทั้งหมด : 7 คน

ข้าพเจ้าจะได้เสนอให้ท่านที่ปรารถนาสัจจะโปรดวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องที่พล.ท. ประยูรฯ เขียนไว้ในข้อ 16. แต่ ณ ที่นี้ข้าพเจ้าขอเสนอโดยสังเขปเป็นข้อสังเกตเปรียบเทียบเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรไว้เป็นเบื้องต้นก่อนดังต่อไปนี้

(ก)

รายชื่อบุคคล 7 คนตรงกับรายชื่อของบุคคลที่ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร ณ กรุงปารีสเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวถึงไว้ในหนังสือของข้าพเจ้าเรื่อง “บางเรื่องเกี่ยวกับ เกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร ฯลฯ” พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2515

(ข)

ถ้าสมมติว่าการประชุมครั้งแรกเป็นปี พ.ศ. 2467 ตามที่พล.ท.ประยูร อ้างไว้เช่นนั้น ร.ท.ประยูร ที่เพิ่งเดินทางไปถึงปารีสได้เพียงไม่กี่เดือน และท่านเพิ่งเรียนภาษาฝรั่งเศสเพื่อเตรียมจะเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐศาสตร์ และยังไม่ได้เข้าเรียน จึงทําให้ผู้ซื้อหนังสือของท่านหลงเข้าใจผิดว่าร.ท.ประยูรฯ มีความปรีชาสามารถ “ชักจูง”บุคคลดังกล่าวให้ยอมอยู่ภายใต้การนําของท่าน

อนึ่ง ข้อเท็จจริงที่เป็นจริงอีกอย่างหนึ่ง คือ พ.ศ. 2467 นั้น นายแนบ พหลโยธินศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ สังกัดสถานทูตสยามประจํากรุงลอนดอน นายแนบฯเพิ่งย้ายมาศึกษาต่อขั้นปริญญาเอกที่กรุงปารีสใน พ.ศ. 2468 ภายหลัง 1 ปีจากวันที่ พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้ว่านายแบบมาได้ประชุมด้วยที่บ้านของ พล.ท.ประยูรฯ

(ค.)

สมัยนั้นมีอาคารหนึ่งตั้งอยู่ที่ถนน “ดี ซอมเมอราด์” ( Rue du Sommerard) หมายเลข 5 ห่างจากอาคารที่ข้าพเจ้ากับร.ท. แปลกฯ เช่าห้องอยู่ประมาณ 80 เมตร อาหารหมายเลข 5 ดังกล่าวนั้นมีห้องเล็กและห้องใหญ่ให้คนเช่า ข้าพเจ้าในฐานะสภานายกสามัคยานุเคราะห์สมาคมได้เคยจัดให้นักเรียนไทยไปเช่าอยู่ตามฐานะ ของแต่ละคนที่จะสามารถเสียค่าเช่าห้องขนาดใด ร.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านว่า ท่านได้ทุนเล่าเรียนหลวง ฉนั้นห้องที่ ร.ท.ประยูรฯ เช่าอยู่จึงเป็นขนาดย่อมตามฐานะขณะนั้นของท่าน

ส่วนผู้ร่วมประชุมอีก 6 คนนั้นบางคนเป็นนักเรียนที่สถานทูตจัดให้เป็นขั้น “อาวุโสสูง” (Super Senior) ซึ่งได้เงินเดือนและค่าใช้จ่ายมากกว่านักเรียนขั้นอาวุโสธรรมดา ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นเลขานุการสถานทูตได้เงินเดือนมากกว่านักเรียน คือ รองอํามาตย์เอก หลวงสิริราชไมตรี ฉนั้นถ้าผู้ใดหลงเชื่อว่าผู้ร่วมประชุมอีกคนนั้นไปอาศัยห้องขนาดย่อมของ ร.ท.ประยูรฯ (ที่ท่านผู้นี้เรียกว่า “บ้านพัก” หรือ “บ้านข้าพเจ้า”) เป็นที่ประชุมแล้วก็จะต้องเข้าใจผิดไปได้ว่าบุคคล 6 คนนั้นไม่มีน้ําใจเป็นนักกีฬาที่จะช่วยกันออกเงินเช่าห้องใหญ่ในอาคารนั้นเป็นที่ประชุม อันเป็นการเอาเปรียบ ร.ท.ประยูรฯ มากที่ไปอาศัยห้องเล็กของ ร.ท.ประยูรฯ เป็นที่ประชุมเบียดเสียดเบียดกันถึง 7 คน และจะไม่ปลอดโปร่งในการประชุมเรื่องสําคัญ

แต่การประชุม “ก่อตั้งคณะราษฎร” ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 นั้น ผู้ก่อตั้งฯได้ช่วยกันออกเงินค่า “ห้องใหญ่” เป็นที่ประชุมให้สมเกียรติแก่การ “ก่อตั้งคณะราษฎร” ซึ่งต้องใช้เวลา 3 วันในการประชุมนั้นเพราะต้องปรึกษาเรื่องสําคัญต่าง ๆ ให้ตกลงกันเป็นเอกฉันท์

(ง)

ผู้ร่วมเข้าประชุมมิได้รู้มาก่อนว่าวันประชุมวันแรกนั้นตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ ร.ท.ประยูรฯ หากรู้ก่อนแล้วก็จะไม่ถือเอาวันนั้นเป็นอุดมมงคลฤกษ์ เพราะจะเปิดโอกาสให้ ร.ท.ประยูรฯ ฉลองวันคล้ายวันเกิดของท่านให้เมื่อเสร็จเสียก่อน แล้วประชุมก่อตั้งคณะราษฎรในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2469 ก็ได้

(จ)

ร.ท.ประยูรฯ จะใช้เหตุผลอย่างใดบ้างจึงจะทําให้เพื่อนอีก 6 คนยอมอยู่ภายใต้การ “ชักจูง” ของท่านนั้น ข้าพเจ้าจะเสนอให้ท่านที่ปรารถนาสัจจะวิเคราะห์วิจารณ์ในข้อ 18, 20, 21, ว่าสมเหตุสมผลสมควรเพียงใดหรือไม่

(ฉ)

ส่วนการ “ก่อตั้งคณะราษฎร” ณ กรุงปารีสนั้นเป็นการดําเนินต่อจากพื้นฐานที่สามัคยานุเคราะห์สมาคม ได้ก่อหวอดไว้ดังจะกล่าวในข้อต่อ ๆ ไป

 

17.2.

รุ่งขึ้นเวลาเช้าภายหลังครบกำหนดประชุมสามัคยานุเคราะห์สมาคม

(1)

เมื่อครบกําหนด 15 วันแห่งการประชุมประจําฤดูร้อน ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2468) ซึ่งได้มีการต่อสู้อัครราชทูตตัวแทนระบบสมบูรณาฯ ดังกล่าวในข้อ 16. นั้นแล้ว วันรุ่งขึ้นเวลาเข้าสมาคมฯ ได้จัดให้นักเรียนส่วนมากเดินทางออกจากเมืองซาเดรต์กลับไปยังกรุงปารีส ด้วยความอาลัยรักกันเป็นอย่างมากคงเหลือแต่ปรีดีกับเพื่อน 5 คนที่รอคอยที่ซาเดรต์เพื่อสรุปผลของการประชุมสมาคมฯ ที่ได้พัฒนาทางการต่อสู้ระบบสมบูรณาฯ

เพื่อน 5 คนนี้เรียงตามลําดับอาวุโสที่ได้ศึกษาในต่างประเทศนานกว่าคนอื่นตามลําดับ ดังต่อไปนี้

1. นายตั้ว ลพานุกรม กรรมการสามัคยานุเคราะห์สมาคมได้ไปศึกษาในเยอรมนีตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสยามประกาศสงครามต่อเยอรมันแล้วรัฐบาลเยอรมันได้จับตัวนายตั้วกับคนไทยอีกหลายคนเป็นเชลยศึก ต่อมาเยอรมันได้ตกลงหยุดยิงกับสัมพันธมิตรแล้ว (แต่ยังไม่ยอมลงนามสัญญาสันติภาพ) รัฐบาลเยอรมันได้ปล่อยตัวนายตั้วฯ นายตั้วฯจึงสมัครเป็นทหารอาสาไทยได้ยศจ่านายสิบเสร็จสงครามแล้วนายตั้วฯ ได้ไปศึกษาชั้นปริญญาเอกที่สวิตเซอร์แลนด์

2. รองอํามาตย์เอกหลวงศิริราชไมตรีนามเดิม จรูญ สิงหเสนี เลขานุการสถานทูตสยามประจํากรุงปารีส อดีตนักเรียนกฎหมาย, นายสิบตรีกองหนุนแห่งกองทหารอาสาไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1

3. นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตย้ายจากอังกฤษไปเตรียมศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีส, นายแนบฯ เป็นบุตร์พระยาพหลพลพยุหเสนา (นพ) พี่ชายของพระยาพหลพยุหเสนา (พจน์) ที่ต่อมาเป็นหัวหน้าคณะราษฎร

4. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (สําเร็จวิชา ร.ร.เสนาธิการทหารบกสยาม กําลังศึกษาภาษาฝรั่งเศสและเลขคณิตเพื่อเข้าศึกษาที่ ร.ร.นายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส)

5. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี (กําลังเรียนที่ร.ร. นายทหารม้าฝรั่งเศส)

 

หมายเหตุ

ร.ท.ประยูรฯ มิได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้น เนื่องจากท่านอัครราชทูตห้ามมิให้นักเรียนในความดูแลของสถานทูตเดินทางไปร่วมประชุมกับนักเรียนอังกฤษที่กรุงลอนดอน ฉนั้นสมาคมฯ นั้นจึงมีมติให้นักเรียนทุนส่วนตัวที่ไม่ได้ติดต่อสถานทูต 3 คนคือ ร.ท.ประยูรฯ, นายเดือน บุนนาค, นายเข็ม ณ ป้อมเพ็ชร, เป็นตัวแทนของสมาคมเดินทาง ไปร่วมประชุมกับนักเรียนไทยในกรุงลอนดอน ร.ท.ประยูรฯ มีหนังสือเดินทางที่ยังไม่ขาดอายุจึงเดินทางไปได้ ส่วนนายเดือนกับนายเข็มต้องขอหนังสือเดินทางใหม่ สถานทูตจึงตั้งเงื่อนไขว่าจะออกหนังสือเดินทางให้ต่อเมื่อทั้ง สองคนให้สัญญาว่าจะไม่ร่วมประชุมกับนักเรียนอังกฤษ

(2)

ในการประชุมพิเศษครั้งนั้นที่ประชุมเห็นต้องกันว่า นักเรียนส่วนข้างมากที่ได้ร่วมประชุมสมาคมฯ นั้นมีจิตสำนึกสูงแล้วที่สามารถร่วมในการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯมาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญได้ตามระดับแห่ง ตามเหมาะสมของสภาพของแต่ละคน ฉนั้นจึงเป็นการสมควรที่ปรีดีกับเพื่อน 5 คนนั้นและ ร.ท.ประยูรฯ อีกคนหนึ่ง ได้ร่วมกันเตรียมการก่อตั้ง “คณะ (ปาร์ตี้)” ขึ้นเป็นการลับเพื่อเป็นแกนกลางแห่งขบวนการเปลี่ยนระบบปกครองดังกล่าวนั้นขึ้นมาก่อนแล้วค่อย ๆชวนเพื่อคนอื่นให้เข้าร่วม

ที่ประชุมเห็นชอบพร้อมกันที่จะเตรียมการเพื่อก่อตั้ง “คณะ” (ปาร์ตี้)แล้ว ได้ปรึกษากันว่าเมื่อมีคณะก็ต้องมีชื่อคณะให้กระทัดรัดแสดงว่าเป็นคณะที่เป็นกองหน้าของราษฎร และเสียสละเพื่อราษฎร เมื่อพิจารณาชื่อต่าง ๆ ที่มีผู้เสนอแล้วจึงตกลงกันใช้ชื่อ คณะว่า “คณะราษฎร” ซึ่งเป็นมงคลนามดังที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในข้อ 6.3.

ส่วนหลักการ, วิธีการ, ข้อบังคับ, วินัย, เกี่ยวกับคณะนั้นให้ต่างคนต่างร่วมศึกษาค้นคว้าเปรียบเทียบตัวอย่างของคณะต่าง ๆ เพื่อนําไปปรึกษาในที่ประชุมก่อตั้งคณะราษฎรซึ่งจะได้กําหนดให้มีขึ้นในต้นปีคริสตศักราช 1927 ปฏิทินไทยขณะนั้นยังเป็น พ.ศ. 2469 เพราะ พ.ศ. 2470 ตั้งต้นเมื่อ 1 เมษายน)

 

17.3.

การประชุมก่อตั้งคณะราษฎร

เมื่อปรีดีสอบได้ปริญญาเอกในต้นปี พ.ศ. 1927 (ปฏิทินไทยขณะนั้นยังเป็น พ.ศ. 2469) แล้วจึงได้ปรึกษา เพื่อนที่อยู่ในปารีสถึงสถานที่และวันที่จะประชุมก่อตั้งคณะราษฎร

(1)

สถานที่นั้นเห็นควรเช่าห้องใหญ่ในบ้านพักหมายเลขที่ 5 แห่งถนน ดี ซอมเมอราด์ (Rue du Sommerard) ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับอาคารที่ปรีดีกับร.ท. แปลกเช่าห้องอยู่ และเป็นอาคารที่ปรีดีในฐานะสภานายกสมาคม ได้เคยจัดหาให้เพื่อนนักเรียนอาศัยอยู่(ร.ท.ประยูร ก็ได้เช่าห้องขนาดย่อมอาศัยอยู่ที่อาคารนั้น)

(2)

ส่วนวันประชุมนั้นสําหรับเทียนที่อยู่ในปารีสหรือใกล้ปารีสก็พร้อมที่จะประชุมได้ทุกวัน แต่สําหรับนายตั้ว ลพานุกรมนั้นอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์จําเป็นต้องเดินทางเป็นการลับไปปารีสโดยมิให้อัครราชทูตทราบ (สมัยนั้นสถานทูตมีระเบียบว่านักเรียนที่อยู่นอกกรุงปารีสและอยู่ในประเทศอื่นจะเข้ามากรุงปารีสก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสถานทูต) เมื่อปรีดีได้ทราบว่านายตั้วจะเดินทางมาปารีสได้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2469 จึงได้นัดประชุมก่อตั้งคณะราษฎรในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยเพื่อนได้ช่วยกันออกเงินค่าเช่าห้องใหญ่แห่งบ้านพักดังกล่าวเป็นที่ประชุมให้สมเกียรติพอสมควร และใช้เวลาประชุม 3 วัน เพราะมีเรื่องสําคัญต้องปรึกษากันให้ตกลงเป็นเอกฉันท์

(3)

ผู้ร่วมประชุมจํานวน 7 คน คือ ปรีดีกับเพื่อน 5 คนดังปรากฏชื่อที่กล่าวไว้ในข้อ 7.1. (1) นั้นแล้วและร.ท.ประยูร ภมรมนตรีอีกคนหนึ่ง (แต่พล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธว่าท่านไม่รู้เห็นด้วย ฉนั้นข้าพเจ้าจะได้ขอวิเคราะห์ วิจารณ์การตั้งคณะของท่านไว้ในข้อ 19.)

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

 

ภาคผนวก

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :