Focus
- ในวาระชาตกาล 126 ปี ดร.ตั้ว ลพานุกรม สมาชิกคณะราษฎรผู้ก่อการอภิวัฒน์คนสำคัญ นักวิทยาศาสตร์ผู้รักประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประชาชนในประเทศได้ทานอาหารที่มีประโยชน์จึงเห็นความสำคัญของถั่วเหลืองจากการบันทึกของบุคคลใกล้ชิดคือ นายแพทย์ยงค์ ชุติมา
“ถ้าหมอช่วยให้คนพวกนี้กินดีอยู่ดีได้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง และเป็นกุศลอย่างเหลือหลาย”
ดร.ตั้ว ลพานุกรม
ข้าพเจ้าเริ่มรู้จัก ดร.ตั้ว ลพานุกรม เมื่อท่านไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่กับเจ้าคุณและคุณหญิงมานวราชเสวี ในราวปลาย พ.ศ. ๒๔๗๓ ชั่วเวลา ๔-๕ วันที่ท่านพักอยู่ที่บ้านคุณพระพิจิตรโอสถ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านพักของข้าพเจ้า ตำบลดอยสุเทพนั้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสสนทนากับท่านหลายครั้งในเรื่องต่าง ๆ เรื่องที่ท่านและข้าพเจ้าสนใจและมีความเห็นร่วมกันเป็นส่วนมากนั้น คือเรื่องการอนามัยและการกินอยู่ของประชากรไทย
เมื่อท่านเดินทางต่อไปยังจังหวัดอื่นในภาคพายัพ ข้าพเจ้าก็ได้ร่วมเดินทางไปด้วยข้าพเจ้ายังจําได้ดีถึงการเดินทางตอนจากจังหวัดแพร่ไปยังจังหวัดน่าน ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทางเลย เราจําเป็นต้องใช้รถยนต์ฟอร์ดบุกป่าฝ่าลําห้วยไปด้วยความลําบาก
ตลอดเวลาที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันในครั้งแรกนี้ การสนทนาได้ลงเอยด้วยข้อยุตติว่า การที่คนไทยมีอนามัยซุดโซม ขาดความแข็งแรง และความเข้มแข็งในการงานนั้น เพราะร่างกายขาดอาหารที่มีคุณภาพดี ความเป็นอยู่ของคนเหล่านั้น เท่าที่ได้พบเห็นด้วยตาของเราเอง เป็นพะยานในเรื่องนี้ดีที่สุด คุณตั้วได้ให้ความเห็นแก่ข้าพเจ้าว่า “ถ้าหมอช่วยให้คนพวกนี้กินดีอยู่ดีได้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง และเป็นกุศลอย่างเหลือหลาย”
ข้าพเจ้าได้รับเอาความคิดเห็นของท่านนี้ใส่ใจไว้ และได้พยายามส่งเสริมในเรื่องอาหารการกินของประชากรไทยเป็นลำดับมา จนกระทั่งมีการจัดตั้งกองส่งเสริมอาหารขึ้นในกรมสาธารณสุข ซึ่งต่อมาได้ โอนไปเป็นกองบริโภคสงเคราะห์ ในกรมประชาสงเคราะห์ อันข้าพเจ้าได้ควบคุมงานอยู่จนถึงบัดนี้
คุณตั้วได้กรุณาสนับสนุนงานส่งเสริมอาหาร และเป็นกําลังน้ําใจให้ข้าพเจ้าได้ดําเนินงานนี้มาด้วยความพากเพียร เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึ่งถือว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ควรได้รับเกียรติว่าเป็นผู้นำในการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินในประเทศไทย
เมื่อข้าพเจ้าได้นําความคิดเห็นเกี่ยวกันเรื่องถั่วเหลือง ซึ่งปรากฏว่ามีคุณค่าในทางอาหารดีสมควรส่งเสริมให้คนนิยมบริโภคไปปรึกษากับท่าน ในสมัยที่ท่านดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีและอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์แล้ว ท่านก็เห็นพ้องด้วย และได้สนับสนุนจนรัฐบาลได้ตั้งกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองขึ้นโดยมีท่านเป็นประธาน และกรรมการชุดนี้ก็ได้พิจารณาส่งเสริมเป็นผลดี ดั่งจะได้กล่าวในตอนต่อไป
ความสัมพันธ์ระหว่างคุณตั้วกับข้าพเจ้านับตั้งแต่ได้พบกันเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ จนถึงกาลอวสานแห่งชีวิตของท่านได้เป็นมาด้วยดี ข้าพเจ้าได้เคยติดต่อขอรับคําปรึกษาจากท่านอยู่เนือง ๆ อนึ่งในคราวที่ท่านจะเดินทางไปตรวจราชการในจังหวัด ต่าง ๆ หลายครั้ง ท่านได้กรุณาให้ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการการเดินทางให้เสมอ และได้มีโอกาสร่วมไปกับท่านด้วย ซึ่งหน้าที่อันเล็กน้อยนี้ ข้าพเจ้าได้รู้สึกปลาบปลื้มใจอยู่เสมอและเป็นเกียรติยศที่ไม่มีวันจะลืมเลยในชีวิต
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้านำท่านไปตรวจราชการที่อําเภอฝาง สุดแดนด้านเหนือแห่งประเทศไทย ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เราได้พบนางมารดาร่างซูบซีดผู้หนึ่ง ปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนจิ้มน้ําแกงเผ็ด ซึ่งมีลักษณะใสแจ๋ว แต่เผ็ดจัด ป้อนทารกผู้เป็นบุตรของตน ซึ่งมีอายุเพียง 4 เดือนเท่านั้น ภาวะเช่นนี้เราได้พบอีกหลายแห่งซึ่งคุณตั้วได้แสดงความเศร้าสลดใจเป็นอันมาก ท่านได้กรุณาให้โอวาทแก่นางมารดาและชาวบ้านเหล่านั้น ให้เข้าใจในเรื่องการให้อาหารแก่ทารกตามหลักวิชาที่ถูกต้อง และเตือนให้ข้าพเจ้ารีบเร่งหาทางแก้ไขโดยวิธีต่าง ๆ มีการอบรม สั่งสอน และ โฆษณาเป็นต้น ทั่วทั้งประเทศไทย เพื่อขจัดสิ่งบกพร่องทั้งหลายเหล่านี้ให้หมดไปเสีย
คุณตั้วได้ศึกษาในทางวิทยาศาสตร์มามาก และมีความรู้สูงในกิจการอนามัยทั่ว ๆ ไป ท่านได้ปรารภกับข้าพเจ้าอยู่เนือง ๆ ว่า ในการสร้างชาตินั้น เราจะต้องเร่งสร้างคนเป็นเรื่องสําคัญพร้อม ๆ กันไปด้วย โดยฉะเพาะอย่างยิ่งต้องรีบจัดการส่งเสริมให้อาหารการกินของคนไทย ทั้งผู้ใหญ่และเด็กทุกเพศทุกวัยเข้าสู่ระดับดี
ในการส่งเสริมอาหารของข้าพเจ้าตามแนวทางที่คุณตัวได้ให้ คำแนะนําไว้นั้น ข้าพเจ้าต้องฝ่าอุปสรรคที่มาขวางอยู่นานาประการ จนบางครั้งบางคราว ข้าพเจ้าถึงแก่เศร้าใจและท้อถอย แทบสละทิ้งงานใหม่นี้เสียให้ได้ แต่คุณตั้ว และท่านอธิบดีกรมสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าพเจ้าในสมัยโน้นได้ ให้ความเห็นอกเห็นใจ และให้ความสนับสนุนอยู่อย่างแข็งขัน ข้าพเจ้าจึ่งสู้ดําเนินการต่อมา จนปรากฏเป็นผลดั่งที่ท่านทั้งหลายอาจทราบอยู่แล้วบ้างในปัจจุบันนี้ นอกจากนั้นคุณตั้วยังได้กรุณาให้ข้าราชการกรมวิทยาศาตร์ เช่น นายปุ๋ย โรจนะบุรานนท์ ผู้สนใจในเรื่องอาหารอยู่แล้วดำเนินการส่งเสริมอาหารและถั่วเหลืองสอดคล้องกันไปกับงานซึ่งข้าพเจ้าดําเนินการอยู่แล้วอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ย่อมนับว่าเป็นความกรุณาแก่ข้าพเจ้าหาที่สุดมิได้ข้าพเจ้าได้รับผลสําเร็จตามที่มุ่งหวังไว้ กล่าวคือ ส่งเสริมให้ประชากรไทยรู้จักกินดีขึ้น เพื่อสุขภาพอนามัยของเขาเอง และนอกจากนั้นยังได้พ้นจากเสียงครหานินทาว่าเริ่มงานไปแล้ว ทำไม่สําเร็จอีกด้วย
สําหรับการส่งเสริมถั่วเหลืองในประเทศไทยนั้น คุณตั้วได้เอาใจใส่เป็นพิเศษ และเรียกว่าเป็นผู้นําในเรื่องนี้ได้ทีเดียว ข้าพเจ้าได้เคยนําท่านไปสํารวจการปลูกและการบริโภคถั่วเหลืองในภาคพายัพ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ซึ่งในขณะนั้นฉะเพาะในจังหวัดเชียงใหม่มีการปลูกถั่วเหลืองกันประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ คิดเป็นเงินประมาณแสนบาท แต่เนื่องมาจากได้เริ่มการโฆษณาถั่วเหลือง โดยทางราชการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ จึ่งทําให้กิจการถั่วเหลืองขยายตัวมากขึ้น จนบัดนี้ฉะเพาะจังหวัดเชียงใหม่แห่งเดียว ปลูกถั่วเหลือง ปีละหลาย ๆ หมื่นไร่ คิดเป็นเงินจํานวนล้าน ๆ บาท นอกจากเชียงใหม่แล้ว จังหวัดเชียงราย ลําปาง แพร่ น่าน กับจังหวัดอื่น ๆ ก็ได้ลงมือปลูกกันมากเข้าใจว่า บัดนี้ถั่วเหลืองที่ปลูกขึ้นทั่วประเทศไทยคงมีจํานวนมากอย่างยิ่ง เมื่อคราวงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (พ.ศ. ๒๔๗๙) ซึ่งเป็นผู้ที่ข้าพเจ้านับถือมาก ข้าพเจ้าได้พิมพ์เอกสารแจกเพื่อส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองในงานนี้ และในเอกสารนี้ได้ ขอให้คุณตั้วเป็นผู้เขียนเรื่องถั่วเหลืองด้วย ซึ่งข้าพเจ้าได้คัดเรื่องเดิมมาพิมพ์ไว้ในท้ายหนังสือนี้ด้วยแล้ว เพื่อเป็นอนุสสรณ์แห่งคุณงามความดีของท่านที่ได้ มีความสนใจในเรื่องถั่วเหลืองนี้เป็นพิเศษ
โดยที่กิจการถั่วเหลืองได้กลายเป็นกิจการสําคัญของชาติขึ้นนับตั้งแต่คุณตั้วได้เอาใจใส่ในเรื่องนี้ ทางราชการจึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการของถั่วเหลืองขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นต้นมา ข้าพเจ้าขอคัดคำสั่งตั้งกรรมการและหนังสือหมู่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาพิมพ์ไว้ด้วย ดั่งต่อไปนี้
คำสั่งทั่วไปที่ ๔๐/๒๔๘๐
เรื่อง ตั้งคณะกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการของถั่วเหลือง
ด้วยได้รับหนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ ศ.๗๔๕๔/๒๔๘๐ ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๐ ยืนยันมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงเศรษฐการตั้งคณะกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการของถั่วเหลืองต่อไปได้
เพราะฉะนั้น จึ่งให้ตั้งผู้มีนามต่อไปนี้เป็นกรรมการพิจารณา ส่งเสริมกิจการของถั่วเหลืองต่อไป คือ:__
๑.อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ
๒. อธิบดีกรมมหาดไทย เป็นกรรมการ
๓. อธิบดีกรมพาณิชย์ เป็นกรรมการ
๔. พลาธิการทหารบก เป็นกรรมการ
๕. ดร. ยังฮั้ว ชัวเจริญวงศ์ * ผู้แทนกรมสาธารณสุขเป็นกรรมการ
๖. หลวงอิงคศรีการ ผู้แทนกระทรวงเกษตราธิการเป็นกรรมการ
๗. หลวงชุณหกสิการ ผู้แทนกระทรวงธรรมการเป็นกรรมการ
๘. ร.ท. โปรย วิเชียรภักดี ผู้แทนกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการ
๙. นายสง่า ษรสุวรรณ เป็นกรรมการ
๑๐. นายปุ๋ย โรจนะบุรานนท์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันนี้เป็นต้นไป
กระทรวงเศรษฐการ
สั่งมาณวันที่ ๒๙ มกราคม พุธศักราช ๒๔๘๐
(ลงนาม) พ.อ. บริภัณฑ์ยุทธกิจ
รัฐมนตรี
*เปลี่ยนนามเป็น ยงค์ ชุติมา
(สําเนา)
กระทรวงเศรษฐการ
ที่ ม. ๓๖๐๖/๒๕๕๐
๕ มกราคม ๒๔๘๐
เรื่อง การส่งเสริมกิจการของถั่วเหลือง
จาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ
ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้รับหลักการในอันที่จะส่งเสริมกิจการของถั่วเหลือง และได้ลงมติเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๘๐ อนุมัติให้กระทรวงเศรษฐการตั้งกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการของถั่วเหลือง โดยให้มีกรรมการประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงธรรมการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเศรษฐการ ดั่งหนังสือของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ ศ. ๓๙๐๒/๒๔๘๐ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ศกนี้ ยืนยันมานั้น กระทรวงเศรษฐการได้ตั้งให้อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าของเรื่อง และเป็นประธานกรรมการ กับได้ขอให้กระทรวงต่าง ๆ ข้างต้น ส่งผู้แทนมาเป็นกรรมการประชุมปรึกษาร่วมกัน
คณะกรรมการมีความเห็นร่วมกันว่า ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในแง่ของการกสิกรรม อุตสาหกรรม และอนามัยของประชาชน คุณค่าในทางกสิกรรม คือ ปลูกง่าย ได้ผลดี และทําให้พื้นดินที่ปลูกถั่วเหลืองนั้นมีอาหารอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เหมาะสําหรับปลูกพืชผลอื่น ๆ สลับกันไป กากถั่วเหลืองก็ใช้เป็นอาหารปสุสัตว์ได้ดี คุณค่าในทางอุตสาหกรรม คือทุก ๆ ส่วนของถั่วเหลืองสามารถจะใช้เป็นวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรมได้ อาทิเช่น จากเมล็ดถั่วเหลืองอาจทำเป็นน้ำมัน ใช้ในการบริโภค ในการหยอดเครื่องจักร ในการทําสะบู่ และอื่น ๆ เวลานี้ในต่างประเทศ โรงงานทําไหมเทียม สี วัตถุว่าพวกพลาสติค ต่าง ๆ และอื่น ๆ จากถั่วเหลืองเป็นอันมาก คุณค่าในทางอนามัย คือถั่วเหลืองมีส่วนประกอบอันเหมาะที่จะใช้เป็นอาหารตามความต้องการของร่างกาย สามารถสร้างความแข็งแรงสมบูรณ์ให้แก่ผู้บริโภค ทางวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันว่า คุณค่าของถั่วเหลืองในทางเป็นอาหารนั้น จะเปรียบได้ด้วยเนื้อสัตว์ ไข่ และนม เพราะถั่วเหลืองมีโปรตีนชะนิดดีและมีปริมาณสูง
คณะกรรมการใด้วางวิธีดําเนินการส่งเสริมไว้ ดั่งต่อไปนี้
๑. ศึกษาและทดลองในการปลูกถั่วเหลือง ตลอดจนมีการควบคุมพันธุ์
๒. แนะนําและชักชวนให้ราษฎรทําการปลูกถั่วเหลือง เพื่อขายและใช้บริโภค
๓. ศึกษาคุณประโยชน์ ของถั่วเหลืองในการใช้เป็นอาหาร เพื่อเผยแพร่ให้ราษฎรนิยม
๔. หาวิธีปรุงถั่วเหลืองให้เป็นอาหารที่มีรสถูกกับความนิยมของคนไทย
๕. ส่งเสริมในการหาตลาดจําหน่าย
๖. หาทางให้เกิดการอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ถั่วเหลือง
คณะกรรมการได้แบ่งงานกันทําเป็นส่วน ๆ และปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ ในปีนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินยืมแก่กระทรวงเกษตราธิการ เพื่อส่งเสริมกิจการของถั่วเหลืองตามมติของคณะกรรมการที่เสนอไปเป็นจํานวนเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทด้วย ในการประชุมของคณะกรรมการครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ศกนี้ คณะกรรมการได้มีมติเห็นสมควรให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งนโยบายที่จะส่งเสริมกิจการของถั่วเหลืองไปยังคณะกรมการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อจะได้ร่วมมือกันให้การปลูกถั่วเหลืองขยายแพร่หลายออกไปทุกจังหวัดเท่าที่จะสามารถกระทําได้ เพื่อราษฎรจะมีรายได้เพิ่มพูนขึ้น และจะได้ ใช้บริโภคเป็นประโยชน์แก่ร่างกายตามสมควร
กระทรวงเศรษฐการได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนั้น จึ่งขอเรียนมา ถ้าหากกระทรวงมหาดไทย เห็นสมควรด้วย ขอได้โปรดดําเนินการต่อไป
อนึ่ง ประธานกรรมการได้แจ้งมาว่า เลขานุการกรรมการ ได้มีหนังสือยืนยันมติของคณะกรรมการแจ้งไปยังอธิบดีกรมมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้แทนของกระทรวงมหาดไทยด้วยแล้ว
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(ลงนาม) พ.อ. บริภัณฑ์ยุทธกิจ
(สําเนา)
กระทรวงมหาดไทย
ที่ ๖๐๖/๒๕๕
๑๐ มกราคม ๒๔๘๐
เรื่อง การส่งเสริมกิจการของถั่วเหลือง
จาก ปลัดกระทรวงมหาดไทย
ถึง คณะกรรมการทุกจังหวัด
ได้รับหนังสือกระทรวงเศรษฐการที่ ม. ๓๖๐๐/๒๔๘๐ ลงวันที่ ๕ เดือนนี้ว่า คณะรัฐมนตรีได้รับหลักการในอันที่จะส่งเสริมกิจการของถั่วเหลือง และได้ลงมติอนุมัติให้กระทรวงเศรษฐการตั้ง กรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการของถั่วเหลือง คณะกรรมการมีความเห็นร่วมกันว่า ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ในแง่ของการกสิกกรรม อุตสาหกรรม และอนามัยของประชาชน ดั่งความละเอียดแจ้งอยู่ในสําเนาหนังสือกระทรวงเศรษฐการ ซึ่งได้ส่งมาพร้อมหนังสือนี้ด้วยแล้ว คณะกรรมการจึ่งได้วางวิธีดําเนินการส่งเสริมไว้ ดั่งต่อไปนี้ คือ
๑. ศึกษาและทดลองในการปลูกถั่วเหลืองตลอดจนมีการควบพันธุ์
๒. แนะนํา และ ชักชวนให้ราษฎรทําการปลูกถั่วเหลือง เพื่อขายและใช้บริโภค
๓. ศึกษา คุณประโยชน์ ของถั่วเหลืองในการใช้เป็นอาหาร เพื่อเผยแพร่ให้ราษฎรนิยม
๔. หาวิธีปรุงถั่วเหลืองให้เป็นอาหารที่มีรสถูกกับความนิยมของคนไทย
๕. ส่งเสริมในการหาตลาดจําหน่าย
๖. หาทางให้เกิดการอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ถั่วเหลือง
กระทรวงเศรษฐการเห็นชอบด้วยตามมติของคณะกรรมการ จึ่งขอให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งนโยบายที่จะส่งเสริมกิจการของถั่วเหลืองไปยังคณะกรมการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อจะได้ร่วมมือกันให้การปลูกถั่วเหลืองขยายแพร่หลายออกไปทุกจังหวัดเท่าที่สามารถจะทําได้ เพื่อราษฎรจะได้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น และจะได้บริโภคเป็นประโยชน์แก่ร่างกายตามสมควร ดั่งนี้
กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้ว เห็นเป็นการสมควรที่จะช่วยเหลือส่งเสริมกิจการของถั่วเหลืองตามที่กระทรวงเศรษฐการขอร้องมา ฉะนั้นให้คณะกรมการจังหวัดช่วยเหลือส่งเสริม โดยแนะนําและชักชวนให้ราษฎรในจังหวัดนี้นิยมทําการปลูกถั่วเหลืองขยายแพร่หลายออกไปเท่าที่สามารถจะทําได้ เพื่อราษฎรจะได้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น และจะได้ใช้บริโภคเป็นประโยชน์แก่ร่างกายตามสมควร
ขอแสดงความนับถือ
(ลงนาม) สุริยานุวงศ
คุณสมบัติของถั่วเหลือง นอกจากที่ปรากฏแล้วในข้อความข้างต้นนั้น มีแจ้งอยู่ในสุนทรพจน์ของนายยอนซัน ผู้เชี่ยวชาญ เรื่องถั่วเหลืองแห่งอเมริกา ดังจะขอคัดมาพิมพ์ไว้ด้วย ดังนี้
“In its native habitat, the Soybean has furnished the basic food and sustenance to millions for generation after generation, since long before the start of the Christian Era. To the Chinese the soybean has been meat, vegetable, milk, wine, soup, salad, dessert, cheese, candy, and fuel. The Japanese have prepared the beans by cooking, stewing, boiling, baking, salting, souring and brewing. It is true that a sustenance ration for a family of five can be supplied for a few cents per day by utilizing the soybean, and the health of that family is maintained.”
นอกจากเป็นอาหารดีสําหรับมนุษย์ ถั่วเหลืองยังเป็นแก้วสารพัดนึกในทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกรรม ฉะนั้นภายในไม่กี่ปีสหรัฐอเมริกาสามารถเพิ่มปลูกถั่วเหลืองอย่างขนานใหญ่ คือ จากปริมาณเล็กน้อยมาเป็นปีละ ๔๐ ล้านบุเซล การเพิ่มถั่วเหลืองในอเมริกา คือ ปี ๑๙๓๓ ได้ถั่ว ๑๑ ๑/๒ ล้านบุเชล และปี ๑๙๓๔ ได้ถึง ๑๗ ล้านบุเซล และปี ๑๙๓๕ ได้ถึง ๔๐ ล้านนายยอนซัน กล่าวว่า การที่เพิ่มถั่วได้มาก ๆ เช่นนี้เนื่องจากหลัก ๔ ประการ คือ
(๑) ไร่ต่อไร่ถั่วเหลืองหาเงินให้มากกว่าและง่ายกว่าพืชอื่น
(๒) ถั่วเหลืองทรหดอดทนต่อความแห้งแล้งและแมลงสัตว์ต่าง ๆ ได้ดีกว่า พืชอื่น
(๓) ถั่วเหลืองเมื่อปลูกลง ในดินใดแล้วย่อมเป็นปุ๋ยในตัว คือทําให้ คนนั้นดีขึ้น เรื่องนี้ ข้าพเจ้าทราบว่าเจ้าของนาทางเชียงใหม่ บางคนอนุญาตให้ชาวนาปลูกถั่วในนาของตนภายหลังการเกี่ยวข้าว โดยไม่ต้องเสียค่าเช่านา
(๔) รัฐบาลอเมริกันส่งเสริมให้ปลูกถั่ว กินถั่วอย่างขนานใหญ่
ในการส่งเสริมอาหารตามคติของกองบริโภคสงเคราะห์ ให้กินกับมาก ๆ กินข้าวพอควร และแม้แต่เรื่องกินไข่ ๒ ฟอง ทุก ๆ วันนั้น ข้าพเจ้าก็เคยปรึกษากับคุณตั้วมาก่อน ตลอดถึงได้อภิปรายรายการแยกธาตุของไข่ เทียบกับอาหารอนามัยอื่น ๆ เช่นน้ํานมเป็นต้น ก่อนที่จะเผยแพร่เรื่องไม่เป็นทางราชการก็ได้ พินิจพิเคราะห์ โดยรอบคอบทุกด้านทุกมุมระหว่างคุณตั้วกับข้าพเจ้า ด้วยเหตุฉะนี้ จึงได้เสนอ ฯพณฯ จอมพล หลวงพิบูลสงคราม ขออนุมัติส่งเสริมอาหารไข่เป็นงานสําคัญ ตลอดถึงการพิมพ์เอกสารประชาสงเคราะห์จํานวนแสนฉะบับ แจกเด็กนักเรียนและประชาชนเป็นที่ระลึกในงานฉลองวันชาติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๔ พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร จึ่งได้ มีบัญชาให้ พิมพ์เอกสารนี้ เพื่อสนับสนุนให้ไข่เป็นอาหารอนามัยประจําชาติไทย ข้าพเจ้าขอคัดข้อความสําคัญจากหนังสือเวียนที่ ๒๖๙/๒๔๘๒ ลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๘๒ ของพณฯ จอมพลหลวงพิบูลสงคราม ครั้งดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลง ข้าหลวงประจําจังหวัดทุกจังหวัด ตอนหนึ่งว่า “...ไก่และไข่ เป็นอาหารอย่างดีประเภทหนึ่ง ซึ่งถ้าชาวไทย เราได้เลี้ยงไว้กินโดยทั่วกันแล้ว นอกจากจะได้ประโยชน์แก่ร่างกาย ยังเป็นการแสดงฐานะการครองชีพ อยู่ในลักษณะอันควรอีกด้วย”
ในการปฏิวัติลัทธิอาหารการกินของพวกเราชาวไทย จะเป็นเรื่องห้ามอาหารเผ็ด หรือเรื่องกินกับมาก ๆ กินข้าวพอควรหรือเรื่องไข่สองฟองก็ตาม มักจะมีบางคนกล่าวเย้ยหยาม หรือทําเรื่องสําคัญนี้ให้กลายเป็นเรื่องตลกขบขัน แต่สําหรับข้าพเจ้าผู้เป็นแพทย์และซาบซึ้งหลักวิชาการบริโภคศาสตร์มาแล้ว ก็ไม่รู้สึกแปลกประหลาดอะไรนัก เพราะได้คาดหมายไว้แล้วล่วงหน้า ถึงกระนั้นประชากรส่วนมาก และโดยฉะเพาะอย่างยิ่งบรรดาครู นักเรียนที่เห็นพ้องและเชื่อตามก็มีอยู่มิใช่น้อย เรื่องเช่นนี้คุณตั้วได้เคยกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า “พวกเราที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือเป็นแพทย์ หรือเป็นนักเทฆนิค ย่อมประสพคำกล่าวหานานาประการ ซึ่งไม่ต้องด้วยหลักวิชาการอยู่เสมอ เมื่อนำของใหม่หรือคติใหม่ต่าง ๆ มาเผยแพร่ แต่เราไม่ควรจะฟังเสียงเช่นนี้ แม้แต่ในต่างประเทศที่เจริญแล้ว ก็ยังมีการกล่าวหาและเย้ยหยันในทํานองตลกหรือเพื่อสนุก ขบขัน เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องทำอะไรไปมากกว่าตั้งอกตั้งใจดําเนินงานของเราให้บรรลุผลดีแก่ประเทศชาติแล้วกัน”
อนึ่ง เมื่อเริ่มแรกส่งเสริมให้กินและปลูกถั่วเหลือง ซึ่งคุณตั้วเป็นผู้นําและเป็นประธานกรรมการในเรื่องนี้ การกล่าวหาและพยายามทําเรื่องสําคัญให้เป็นเรื่องตลกก็มีอยู่บ้าง แต่พวกเราที่มุ่งหมายดําเนินการนี้ให้บรรลุผลก็พลอยสนุกตลกขบขันไปด้วย ในที่สุดกิจการส่งเสริมถั่วเหลืองก็สัมฤทธิ์ผลได้ดีและเร็ว จนเมื่อคราวหลังที่ข้าพเจ้านําคุณตั้วขึ้นไปเมืองเหนือเพื่อตรวจไร่ถั่วเหลือง ก็ได้เห็นถั่วเหลืองเต็มท้องนาที่อําเภอสันป่าตอง และอําเภออื่น ๆ ซึ่งนําความปลาบปลื้มใจมาให้เป็นอันมาก เชียงใหม่ซึ่งแต่เดิมเคยปลูกถั่วเหลืองเพียงปีละ ๔-๕ พันไร่ เท่านั้นเป็นอย่างมาก มาบัดนี้ปลูกกันปีละหลาย ๆ หมื่นไร่ คิดเป็นเงินจํานวนล้าน ๆ บาท คุณตัวเคยชมเชยนายเหล็ง มุสิกโปฎก นายอําเภอสันป่าตอง อยู่เสมอว่า เป็นผู้ที่จะมักเขม้นในการร่วมงานส่งเสริมถั่วเหลืองของทางการ บัดนี้กิจการถั่วเหลือง โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตราธิการ ก็ได้เผยแพร่ไปตามจังหวัดต่างๆ มากขึ้น ทําให้ประเทศไทยมีพืชเงินใหม่เพิ่มขึ้น เป็นพืชสําคัญอีกพืชหนึ่ง ทั้งเป็นการส่งเสริม เศรษฐกิจและอนามัยของชาติโดยทั่ว ๆ ไปด้วย อนึ่ง ประมาณสัก ๓ เดือนก่อนที่คุณตั้วจะถึงแก่อนิจกรรมนั้น ได้เคยสั่งแก่ข้าพเจ้าไว้ว่าจะได้ไปภาคพายัพกันอีกในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ ซึ่งในเดือนนี้จังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือกําลังมีพื้นที่แน่นไปด้วยไร่ ถั่วเหลือง ซึ่งชาวนาทางเหนือนิยมปลูกเป็นพืชสลับภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวในท้องนา เนื่องจากจํานวนไร่ถั่วเหลืองเพิ่มทวีคูณ ขึ้นทุก ๆ ปี ข้าพเจ้าจึ่งรู้สึกเสียดายมากที่ไม่ทันจะได้รับเกียรติยศร่วมไปกับท่านอีกครั้งหนึ่ง
ในเรื่องการลบล้างประเพณีโบราณไทยเราหลายประการอันขัดกับหลักวิทยาศาสตร์อนามัยซึ่งสืบเนื่องมาแต่สมัยดึกดําบรรพ์นั้น ก็เป็นเรื่องสําคัญชิ้นหนึ่งที่ท่านเห็นพ้องด้วยอย่างยิ่ง ว่าพวกเราควรจะบําเพ็ญตนตามกาลสมัยแห่งโลกวิทยาศาสตร์ ในเรื่องการกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเข้าใจว่าแสลงหรือเป็นบาปนั้น ข้าพเจ้าก็ได้เคยปรึกษาหารือกับคุณตั้วหลายครั้ง และก็เป็นอันตกลงกันได้ว่าหากเราจะปล่อยให้ลัทธิโบราณ อันขัดกับหลักอนามัยและวิทยาศาสตร์เช่นนี้มาครอบงําชีวิตจิตต์ใจของชาวบ้าน ซึ่งส่วนมากยังหลับกันอยู่ ก็จะไม่เป็นการช่วยให้ประเทศชาติก้าวหน้าไปได้เลย
นอกจากหลักสุขภาพอนามัยแล้ว ปัญหาเรื่องฆ่าสัตว์นี้ยังมีแง่สําคัญในทางเศรษฐกิจอยู่อีก คือถ้าพวกเรายังขลังในลัทธิเดิมโดยเคร่งครัด ก็ย่อมเปิดโอกาสอันงามให้แก่ชนชาวต่างด้าวมา แย่งอาชีพอันสําคัญนี้จากพวกเราชาวไทย เวลาที่คุณตั้วขึ้นไปเชียงใหม่และได้เห็นชาวไทยพื้นเมืองเหนือดําเนินการฆ่าสัตว์และการปรุงเนื้อสัตว์เอง โดยมิปล่อยให้งานนี้ตกอยู่ในเงื้อมมือของชาวต่างด้าวดั่งที่เห็นกันในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคกลางนั้น ท่านรู้สึกปลาบปลื้มยินดีมาก
ฉะนั้นในเรื่องส่งเสริมให้คนไทยเราบริโภคเนื้อสัตว์หรือฆ่าสัตว์เพื่อบริโภค ซึ่งเรื่องนี้จะต้องกระทบกระเทือนประเพณีโบราณของเราบ้างนั้น คุณตั้วก็ได้เคยกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า คงจะต้องถูกด่าหรือถูกกล่าวครหานินทาอีก แต่ก็เป็นอันว่า เมื่อถูกเขาด่าบ้างก็ให้ลืมเสีย ให้ถือเอาผลประโยชน์ที่ประชาชนและชาติจะพึงได้แล้วกัน
ภาคผนวก
บรรณาธิการในหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ฉะบับปฐมฤกษ์ พ.ศ. 2479
ดร.ตั้ว ลพานุกรม
หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ฉะบับที่ท่านถืออยู่ในมือบัดนี้เป็นฉะบับแรกที่ได้ เริ่มขึ้นจึงเห็นว่าน่าจะเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะแถลงความมุ่งหมายในการที่กรมวิทยาศาสตร์ ได้จัดออกหนังสือพิมพ์นี้ และจุดประสงค์ที่จะได้ดําเนินต่อไป
บางคนอาจเข้าใจว่า “วิทยาศาสตร์” เป็นหนังสือพิมพ์แถลงกิจการของกรมวิทยาศาสตร์ โดยฉะเพาะ ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ กิจการของกรมวิทยาศาสตร์ที่ได้ปฏิบัติไปตามปกตินั้น มีพิมพ์อยู่ต่างหาก เรียกว่ารายงานของกรมวิทยาศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ ออกทุก ๆ รอบ ๒ ปี.
ในหนังสือรายงานของกรมวิทยาศาสตร์ที่ได้กล่าวแล้วนั้น มีสถิติแสดงว่าในรอบปีที่ผ่านไปนั้นมีของส่งมาให้ทําการวิเคราะห์เป็นจํานวนเท่าใด จากไหนบ้าง และมีการวิเคราะห์ใดที่มีลักษณะพิเศษควรบรรทึกไว้กับแสดงผลของการสืบสวนค้นคว้าโดยเจ้าหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์เท่าที่มีอยู่
หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์หาได้มีความมุ่งหมายที่จะเป็น………. แต่เพื่อส่งเสริมและเพาะความนิยมในวิชาวิทยาศาสตร์ให้แพร่หลาย……………….ด้วยความต้องการของประชาชนผู้สนใจในวิชาวิทยาศาสตร์………. ศาสตร์จัดพิมพ์หนังสือขึ้น กับเนื่องจากการที่กรมวิทยาศาสตร์……….
คือเปลี่ยนสภาพจากความเป็นศาลาแยกธาตุ ซึ่งหมายถึงสถานที่ทําการวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ตามความประสงค์ของกระทรวงทะบวงกรม หรือเอกชนที่ส่งมาแต่เดิม แต่อย่างไรก็ดี ที่กล่าวเช่นนี้หาได้หมายความว่ากรมวิทยาศาสตร์ภายในโครงการณ์ใหม่จะได้เลิกละกิจอันเคยปฏิบัติมาแต่เดิมไม่ งานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ได้มีมาอย่างไร ก็คงมีอยู่ หากได้ขยายกิจการอื่น ๆ ให้กว้างขวางออกไป เป็นต้น มีการสืบสวนค้นคว้าต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่ความเจริญก้าวหน้าของประชาชาติ
ทุกวันนี้ชาวเราย่อมยอมรับกันแล้วว่าวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานแห่งความวัฒนาการของโลก ประเทศมหาอํานาจทุกประเทศล้วนแต่บํารุงการวิทยาศาสตร์ของเขาให้รุ่งเรือง ถ้าเราหวังจะให้ประเทศของเราเจริญเท่าเทียมกับนานาอารยประเทศทั้งหลาย เราก็จะต้องเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ด้วย แต่เรายังจะก้าวขึ้นไปเทียมบ่าไหล่กับเขาในบัดนี้ไม่ได้ก่อน เพราะเราเพิ่งจะสอนเดิน อย่างไรก็ดีเราก็มีหวังอยู่ว่าถ้าอาการที่ก้าวเดินของเรานั้นเป็นก้าวที่หนักแน่นมั่นคง มีหลักแน่นอนและไม่ย่อท้อที่จะก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง เราก็น่าจะก้าวไปนั่นเขาบ้าง แม้เวลานั้นจะยังเป็นอนาคตอันไกลก็ตาม
หนังสือพิมพ์ “วิทยาศาสตร์” เป็นแต่เพียงอุปกรณ์ส่วนหนึ่งที่จะช่วยอันจุดประสงค์หรือความมุ่งหมายของเรานั้นได้แถลงไว้แล้วในสมุดระเบียบการ แต่เห็นว่า………….ควร……….มากล่าวในที่นี้อีก คือ:___ ……….และเพาะความนิยมในวืชาวิทยาศาสตร์………. ……….ในหลักวิทยาศาสตร์ทั่วไป………. ……….ำและความเห็นในกิจการอาชีพที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ……….ผู้สนใจไต่ถามข้อความต่าง ๆ
๕. รายงานผลของการค้นคว้าในวิชาวิทยาศาสตร์ที่มีขึ้นในประเทศ
๖. รายงานผลของการค้นคว้าที่น่ารู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ที่มีในต่างประเทศ.
ด้วยความมุ่งหมายดังนี้ ท่านจะเห็นได้ว่า “วิทยาศาสตร์” สมควรเป็นหนังสือประจําบ้านที่จะขาดเสียมิได้สําหรับท่านที่ปรารถนาจะเดินตามความเจริญขอ………. โลกในฝ่ายวิทยาศาสตร์ และเพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านได้ประโยชน์เต็มที่จากท่านผู้………. ชํานาญจริง ๆ เราจึงได้เชิญไปยังท่านผู้ทรงคุณวิทยาเชี่ยวชาญมากท่านให้……อุปการะเขียนเรื่องด้วย ความเต็มใจของแต่ละท่านที่ยอมรับเป็นผู้อุปการะแก่……….. พิมพ์นี้ย่อมเป็นเครื่องสนับสนุน และประกันว่า “วิทยาศาสตร์” จะมีชีวิต……….. อย่างถาวรและมั่นคงจริง ๆ นอกจากนั้นยังแสดงให้ประจักษ์ว่าท่านผู้ทรง………. ยอมรับอุปการะแก่หนังสือพิมพ์นี้ ต่างมีเจตนาอันดีที่จะเผยแพร่ความรู้ของท่านที่ได้ ศึกษาและชํานาญมาแก่ประชาชนทั้งหลาย ให้มีความรู้กว้างขวาง เพื่อยังความเจริญ ให้แก่ประชาชาติของเราเป็นส่วนรวม
เมื่อท่านผู้อ่านได้พลิกดูเรื่องที่ปรากฏในฉะบับนี้ตลอดเล่ม จะเห็นว่ามีเรื่องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
เพราะเหตุใดเราจึงจัดพิมพ์ขึ้นเป็นสองภาษา ?
บางท่านจะค้านว่าไม่สมควรเลย เพราะยังมีผู้อ่าน……….กมากซึ่งไม่ล………. เข้าใจภาษาอังกฤษได้ดี ข้อนี้เป็นความจริง เราได้แถลงไว้แล้วในสมุด………. ถึงความมุ่งหมายที่พิมพ์เรื่องเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็น่าที่เราจะปรับกา…….. ……….แก่ท่านผู้อ่านเสียในชั้นต้นนี้อีกครั้งหนึ่ง คือ……….
เรื่องที่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทฆนิค เรื่องที่จะใช้ถ้อยคําภาษาไทย อธิบายให้ชัดเจนไม่ได้ และผู้อ่านที่ขาดความรู้เบื้องต้น หรือโดยฉะเพาะวิชานั้น ๆ แล้ว จะอ่านเข้าใจไม่ได้ หมายความว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนค้นคว้า อันเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาที่มีพื้นความรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์แล้ว ซึ่งเราแน่ใจว่าแต่……….ท่านที่มีความรู้เช่นนั้น จะเข้าใจได้เป็นอย่างดี.
นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว การพิมพ์เรื่องบางเรื่องที่เกี่ยวกับเทฆนิคเป็น…………. อังกฤษ ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านซึ่งเป็นชาวต่างประเทศอีก เพราะเราจะได้จัด………. สือของเรานี้ไปยังสถานการศึกษา และสํานักวิทยาศาสตร์ต่างประเทศ เพื่อ ……….เปลี่ยน ถ้าหากจะใช้ภาษาไทยตลอด ชาวต่างชาติที่ปรารถนาจะทราบผล ของการสืบสวนค้นคว้าตลอดจนความก้าวหน้าของเราในวิทยาการ ก็หาอาจจะมีโอกาสทราบได้ ไม่……….
อย่างไรก็ดี ท่านจะได้เห็นว่าเรื่องในภาษาไทยมีมากกว่าเรื่องที่เป็นภาษาอังกฤษ และถ้าสมควรเราก็จะได้ย่อข้อความเรื่องในภาษาอังกฤษเป็นไทยไว้ด้วย โดยฉะเพาะเรื่องอันเป็นผลของการค้นคว้าใหม่ (Original ) เราจะมีแผนกหนึ่งต่างหาก เรื่องประเภทนี้จะต้องผ่านการพิจารณาของกรรมการพิเศษว่าสมควรหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อ…………. ……….หนังสือพิมพ์ของเราแผนกนี้อยู่ในระดับสูง และเป็นเกียรติยศของผู้……… ……….นําเรื่องลง……….ยิ่ง
…………ในหนังสือฉะบับปฐมฤกษ์ ของเรานี้ ท่านอาจได้พบความบกพร่องต่าง ๆ …………ทั้งนี้เป็นด้วยเจ้าหน้าที่จัดการหนังสือพิมพ์ของเรายังไม่เคยคุ้นกับ …………ถ้อยคําสํานวนต่าง ๆ ก็คงไม่สละสลวย เพราะเจ้าหน้าที่ตลอดจนผู้อุปการะเขียนเรื่องของเราไม่มีความสันทัดในการประพันธ์เลย จึงขอให้ท่านผู้อ่านได้ถือเอาสาระแห่งเรื่องนั้น ๆ เป็นประมาณ.
อนึ่งเราน่าจะแถลงให้ทราบต่อไปว่า เท่าที่กรมวิทยาศาสตร์ จัดให้มีหนังสือพิมพ์ฉะบับนี้ขึ้นนั้น กรม ฯ หาได้มีเจ้าหน้าที่ฉะเพาะแผนกหนังสือพิมพ์เป็นพิเศษไม่ คงได้ขอความร่วมมือของข้าราชการประจําที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบเต็มที่อยู่ แล้วช่วยจัดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงขอความเห็นใจจากท่านผู้อ่านในความบกพร่องทั้งหลายอีกสถานหนึ่ง แต่กระนั้นก็ดี แต่ละคนที่ได้รับภาระพิเศษในการจัดทําหนังสือนี้ ก็รับรองช่วยเหลืออย่างแข็งขันด้วยน้ําใจสมัครและปรารถนาดี จึงทําให้เป็นที่หวังว่ากิจการของหนังสือพิมพ์นี้จะค่อยดีขึ้นเป็นลําดับ
อันการที่กิจการของหนังสือพิมพ์ใด ๆ จะเจริญดียิ่งขึ้นนั้น หาใช่จะอยู่ที่ ความเข้มแข็งของผู้ดําเนิน…….. และคุณภาพของเรื่องที่นําลงเท่านั้นไม่ แต่อยู่ที่ความสนับสนุนของประชาชนด้วย ในปัจจุบันนี้สังเกตว่าชาวเราพากันเอาใจใส่ในวิชาวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย เราจึงใคร่เชิญชวนให้ท่านเหล่านั้นเข้าเป็นสมาชิกรับหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์เสีย การมีสมาชิกมากย่อมทําให้เกิดปริมาณ และปริมาณอันเกิดขึ้นย่อมจะยังผลให้ทวีคุณภาพตามไปด้วย กล่าวคือ ทั้งปริมาณและคุณภาพย่อมต้องอาศัยซึ่งกันและกัน.
ด้วยความปรารถนาในปริมาณอันสูง เราจึงได้กําหนดค่ารับเป็นสมาชิกด้วย ราคาต่ํา เราทําได้โดยไม่มุ่งค้ากําไรอย่างใดเลย และถ้าหากความปรารถนาดีของเรานี้ จะได้รับความสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปแล้ว เราอาจเพิ่มการออกจากปีละ ๔ ฉะบับ เป็น ๖ ฉะบับ พร้อมด้วย……….ทวีคุณภาพไปด้วยพร้อมกัน
ในที่สุดแห่งบทปรารถนี้ ขอเสนอให้ท่านทราบคําขวัญของกรมวิทยาศาสตร์ว่า “กสิกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม จะก้าวหน้า เพราะรู้ค่าของ วิทยาศาสตร์” และคําขวัญอันเป็นมงคลสุภาษิต ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แห่งวัดเทพศิรินทร์ ได้กรุณาให้แก่หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์นี้ว่า “สุวิชฺชา โลกฑฺฒนา” วิทยาดีเป็นเหตุทําโลกให้เจริญ.
หมายเหตุ
- คงการสะกด ชื่อ การเว้นวรรค และเลขไทยตามต้นฉบับ
เอกสารอ้างอิง
- พณฯ ดร. ตั้ว ลพานุกรม รัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการเศรษฐกิจ และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ในเรื่องการส่งเสริมอาหารและกิจการถั่วเหลืองในประเทศไทย, นายแพทย์ ยงค์ ชุติมา หัวหน้ากองบริโภคสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ ดร. ตั้ว ลพานุกรม ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม 2484, (กรุงเทพฯ: การพิมพ์ไทย, 2484)