ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

Before 2475 การเกิดใหม่ของคณะราษฎร และเรื่องเล่าก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

28
สิงหาคม
2567

Focus

  • ในวาระ 92 ปีการอภิวัฒน์สยามได้มีการสร้างละครเวทีเรื่อง Before 2475 ของคนรุ่นใหม่โดยมีเนื้อหาย้อนกลับไปสู่ก่อนการอภิวัฒน์ตั้งแต่การก่อตั้งคณะราษฎรช่วง พ.ศ. 2468-2469 โดยเล่าผ่านตัวละครนักเรียนสยาม 7 คนที่ถูกส่งไปเรียนต่อในทวีปยุโรป โดยอ้างอิงจากตัวผู้ริเริ่มก่อการของคณะราษฎร ได้แก่ ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ แปลก ขีตตะสังคะ (แปลก พิบูลสงคราม) นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส และแนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ซึ่งทุกคนในขณะอภิวัฒน์ล้วนแล้วแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปี

  • การรื้อสร้างประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ 2475 ในคนรุ่นใหม่ยังมีต่อเนื่องในรูปแบบที่แตกต่างกันทั้งละครเวที ข้อเขียน และบทกวีรวมทั้งยังได้รับความสนใจทางการเมืองในด้านอุดมคติเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีงามตามแนวทางของคณะราษฎร

 

 

ความฝันของคนหนุ่มสาวเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์และมีความน่าสนใจเสมอ เพราะช่วงหนุ่มสาวคือเวลาที่ความฝันนั้นกำลังถูกฟูมฟักขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่าง ผ่านประสบการณ์ ความคิด และอุดมการณ์ ช่วงของการก่อร่างสร้างความฝันจึงเป็นช่วงสำคัญที่สุดช่วงหนึ่ง นั่นคือข้อความหนึ่งที่ฉุกคิดขึ้นมาจากได้ดูละครเรื่อง Before 2475 ที่เขียนบทและกำกับโดยคุณเอมอัยย์ พลพิทักษ์

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าเพราะสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่บีบคั้นให้เกิดขั้นตรงข้าม หรือผลของการย้อนกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้ง เหตุการณ์การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามก็ได้ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ในลักษณะของการผลิตซ้ำผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย อาทิ Graphic Novel 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ที่สร้างตัวละครสมมติขึ้นมาโดยเข้าไปอยู่ในบริบททางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่กำลังจะมีการอภิวัฒน์สยามเกิดขึ้น หรือแอนิเมชันเรื่อง 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ (2475 Dawn of Revolution) ที่เล่าเรื่องราวบนพื้นฐานของตัวเอกและตัวร้ายอย่างเป็นขาวเป็นดำ หรืออาจย้อนไปจนถึงการสร้างละครเวทีย้อนยุคจากบทประพันธ์อมตะของ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช แบบสี่แผ่นดิน

เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังคงน่าสนใจเสมอ ไม่เพียงเฉพาะแต่ในสังคมไทยเท่านั้น แต่เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ยังคงมีเสน่ห์ในการนำมาเล่าใหม่ผ่านสื่อต่าง ๆ เสมอ ดังเช่นในช่วงเดือนก่อนที่มีข่าวพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ภาพของผีพระนางมารีอังตัวแนตถือหัวร้องเพลง Ah! Ça Ira ในเวอร์ชันร็อกโดยวง Gojira เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้านหนึ่งการอภิวัฒน์สยามในปี 2475 เป็นเหตุการณ์แห่งแรงบันดาลใจทางการเมืองให้กับคนในแต่ละรุ่น นับตั้งแต่เหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นมา ในขณะเดียวกันเสน่ห์ของเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 ที่สำคัญคือ เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถมองได้หลายมุม (แต่ไม่ว่าจะมองอย่างไร เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งสำคัญคือ การอภิวัฒน์สยามได้เกิดขึ้นมาแล้ว)

เช่นเดียวกันกับการปรากฏตัวของสื่อต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นมาโดยใช้เหตุการณ์ในปี 2475 หรือที่เกี่ยวข้องเป็นฉากหลัง (setting) Before 2475 ก็เป็นหนึ่งในการผลิตซ้ำที่น่าสนใจ เพราะแทนที่จะเลือกอธิบายปรากฏการณ์เหมือนเช่นงานอื่น ๆ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ ละครเวทีเรื่องนี้เลือกที่จะเข้าไปทำความเข้าใจความรู้สึก ความคิด และความฝันของนักเรียนสยาม 7 คนที่เฝ้าฝันถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเปลี่ยนประเทศของพวกเขาไปตลอดกาล (สิ่งนี้คือข้อความที่ปรากฏเป็นคำโปรยบนโปสเตอร์ละครเวทีเรื่องนี้)

 

ก่อน 2475 จะมาถึง

 

 

เรื่องราวของ Before 2475 จะเล่าผ่านตัวละครนักเรียนสยาม 7 คนที่ถูกส่งไปเรียนต่อในทวีปยุโรป โดยอ้างอิงจากตัวผู้ริเริ่มก่อการของคณะราษฎร ได้แก่ ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ แปลก ขีตตะสังคะ (แปลก พิบูลสงคราม) นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส และแนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปี

 

นักแสดง

  • เคนจิ, วศิน ภาณุมาภรณ์ รับบทเป็น ปรีดี พนมยงค์
  • จีน, ธีมา ธาดาประทีป รับบทเป็น แปลก ขีตตะสังคะ
  • ตังโก้, ฐิตินันต์ รัตนฐิตินันต์ รับบทเป็น ประยูร ภมรมนตรี
  • ต้น, ภูธิป สุกกรี รับบทเป็น ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี
  • เตอร์, นวิน พรกุลวัฒน์ รับบทเป็น ตั้ว ลพานุกรม
  • ทู, ธนวิชญ์ วนาสุขพันธ์ รับบทเป็น จรูญ สิงหเสนี
  • จีโน่, แทนปิติ สุภัทรวณิชย์ รับบทเป็น แนบ พหลโยธิน

 

ผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ก็เช่นเดียวกับคนทั่วไปที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นคนหนุ่มสาวเช่นเดียวกับเรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลาย ในขณะเดียวกันหนุ่มสาวทุกคนก็มีความฝันใหญ่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ละครเวทีเรื่องนี้เลือกนำมาใช้ในการสร้างเรื่องราวและสื่อสารกับผู้ชม

 

 

ในละครเรื่องนี้จะเปิดบทสนทนาด้วยตัวละครสำคัญสองตัวคือ ปรีดี และประยูร ในฐานะผู้ริเริ่มก่อการหลักที่เริ่มคุยกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเปลี่ยนประเทศ การหาสมาชิกของกลุ่ม ไปจนถึงวันที่กลุ่มผู้ริเริ่มก่อการได้ไปร่วมประชุมกันที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอเมอราร์ (Rue du Sommerard) เพื่อวางแผนการทั้งหมด ทั้งในแง่จุดแข็งและจุดอ่อนของแผนการและสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงหลักการของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่จะกลายมาเป็นหลัก 6 ประการของคณะราษฎรในเวลาต่อมา โดยระหว่างการดำเนินเรื่องจะมีการหย่อนมุกตลก รวมถึงเล่าเรื่องราวของความสัมพันธ์ของแต่ละตัวละคร

(ดูเรื่องราวเพิ่มเติมของผู้ริเริ่มก่อการได้ที่ ความเป็นมาเกี่ยวกับคณะราษฎรในการอภิวัฒน์ 2475 และฐานความคิดของการเปลี่ยนแปลงสังคม)

 

 

นอกจากนี้ ตลอดทั้งเรื่องผู้เขียนบทได้พยายามแทรกเกร็ดทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์จริง รวมถึงการตีความเหตุการณ์จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อเสริมสร้างมุมมองทางประวัติศาสตร์ให้กับบทละคร ตัวอย่างเช่น ในฉากที่ปรีดีและแปลกได้แบ่งปันความฝันในอนาคตของตัวเอง ปรีดีได้เล่าให้แปลกฟังว่าตัวเองจะต้องกลับไปรับราชการที่กระทรวงยุติธรรม แต่ในขณะเดียวกันตัวเองก็ชอบการสอนหนังสือและอยากจะเป็นอาจารย์ ซึ่งเมื่อกลับมาจากประเทศฝรั่งเศส ปรีดีก็มีโอกาสได้เป็นอาจารย์ผู้บรรยายที่เนติบัณฑิตยสภาด้วย หรือในฉากที่มีการกล่าวถึง ควง อภัยวงศ์ ซึ่งในเวลานั้นก็เป็นนักเรียนไทยที่ไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสด้วยเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ได้รับการชวนให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร จนกระทั่งก่อนวันที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ววันที่ 24 มิถุนายน ควงได้รับบทบาทสำคัญให้ไปตัดสายโทรเลข

 

 

การสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ไปพร้อม ๆ กับการดำเนินเรื่องที่กระชับไม่ยืดเยื้อจนเกินไป ประกอบกับการแสดงที่ดี ทำให้ Before 2475 เป็นผลงานชั้นเยี่ยมร่วมกันของผู้กำกับ นักแสดง และสมาชิกกลุ่มละครนี้ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวโดยตลอด และทำให้ผู้ชมเชื่อในการแสดงของนักแสดง

 

วัยเยาว์ของคนหนุ่มสาวกับความฝันใหญ่

เสน่ห์อย่างหนึ่งของละครเรื่องนี้คือ เรื่องราวทั้งหมดที่เล่าไว้มีพื้นหลังอยู่ในช่วงที่กลุ่มผู้ริเริ่มก่อการยังคงเรียนอยู่ในต่างประเทศ สิ่งนี้จึงแตกต่างจากการเล่าเรื่องอื่น ๆ ที่มักจะเล่าเรื่องราวโดยให้น้ำหนักกับคณะราษฎรในช่วงที่มีการอภิวัฒน์ไปแล้ว หรือการพูดถึงบริบทในสายตาของคนไทยในประเทศ แต่สายตาของตัวละครในเรื่องนี้มีมุมมองที่ผสมผสานกันด้วยสถานะของการเป็นคนในและคนนอกสังคมไทยในขณะเดียวกัน

ในแง่หนึ่งนักเรียนเหล่านี้เป็นคนไทยที่ผ่านประสบการณ์และเห็นสภาพความเป็นอยู่ของคนไทย ในขณะเดียวกันนักเรียนเหล่านี้ก็ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ได้สัมผัสความเป็นอยู่และได้เรียนรู้แนวคิดมาจากต่างประเทศ

 

 

สิ่งนี้สะท้อนผ่านบทสนทนาของตัวละคร เมื่อกล่าวถึงความเป็นมาของตัวละคร ตัวอย่างเช่น แนบ ประยูร และทัศนัย ที่มีชาติกำเนิดมาจากครอบครัวขุนนาง ส่วนปรีดี และแปลก ที่มีชาติกำเนิดมาจากลูกชาวนาและชาวสวน แต่เมื่อทุกคนได้มองประเทศไทยในเวลานั้นจากจุดยืนที่มีส่วนหนึ่งเป็นคนนอกสังคม ภายใต้กรอบความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง

 

 

สิ่งตัวละครทุกตัวเห็นร่วมกันคือ โอกาสที่จะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงได้ อาทิ ปรีดี เห็นโอกาสที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ขึ้นมาจากการสร้างรัฐวิสาหกิจขึ้นมาผลิตบุหรี่แบบต่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดรายได้แก่เกษตรกรมากกว่าการผลิตสินค้าชั้นต้นแบบข้าว หรือ หรือตั้ว เห็นว่าประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาเพิ่มได้มากขึ้น หากรัฐบาลเข้ามาดำเนินการจัดการศึกษา เด็กๆ จะได้รับการศึกษาวิทยาศาสตร์ หรือแปลก มองว่าสังคมสามารถเปลี่ยนไปสู่ความเท่าเทียมกันด้วยการยกเลิกบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ และเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญที่ชาติวุฒิมาสู่คุณวุฒิ

แท้จริงแล้วความฝันดังกล่าวข้างต้นนั้นแทบไม่ได้แตกต่างจากคนรุ่นหนุ่มสาวทั่ว ๆ ไปที่ต้องการมีชีวิตที่ดี รวมไปถึงการอยู่ในสังคมที่ดีขึ้นและมีโอกาสที่เสมอกัน แน่นอนว่าในเชิงเนื้อหาแต่ละคนอาจจะภาพของชีวิตที่ดีแตกต่างกันไปบ้าง

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ผู้เขียนสัมผัสได้ว่าข้อความที่ผู้กำกับและนักแสดงกำลังสื่อสารถึงคนดูละครทุก ๆ คนคือ การให้ความสำคัญกับความฝัน

ความฝันเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่ละครเรื่องนี้ค่อนข้างจะเน้น เพราะในเวลานั้นคณะผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ก็ยังไม่มั่นใจว่า แผนการของตัวเองจะประสบความสำเร็จ ในละครจะมีอยู่หลายฉากที่เราจะเห็นได้ว่า สมาชิกผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ก็ได้แสดงถึงความกังวลของสิ่งที่พวกเขากำลังจะทำ ความกังวลนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันกับคนหนุ่มสาวทุกคน ที่คิดจะริเริ่มหรือทำอะไรในสิ่งที่เชื่อมั่นตามความฝันก็มีความกังวลไปกับสิ่งที่จะทำ ทั้งในแง่ว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ หรือจะทำได้ดีหรือไม่

 

ในความเยาว์มีความกลัว ในความเยาว์ก็มีความกล้า

ไม่เพียงแต่ภาพความฝันที่บทละครเรื่องนี้พยายามนำเสนอ แต่ในขณะเดียวกันละครเรื่องนี้ก็ได้นำเสนอความกลัวของตัวละครที่เกิดขึ้นในเรื่อง ตัวอย่างเช่น ในละครจะมีฉากที่ปรีดีได้พูดคุยกับแปลก เกี่ยวกับชีวิตของเขา การคิดถึงบ้าน ความกังวลถึงสิ่งที่กำลังทำจะกระทบต่อครอบครัวที่บ้าน หรือในฉากที่กลุ่มผู้ริเริ่มก่อการได้จัดประชุมสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส โดยมีเป้าหมายเพื่อหาสมาชิกของกลุ่ม ตัวละครกลุ่มผู้ริเริ่มก่อการก็ได้แสดงออกถึงความกังวล รวมถึงหลายฉากที่มีการพูดถึง การถอนตัวของสมาชิกกลุ่ม

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งความกลัวนี้เกิดจากสิ่งที่ตัวละครทั้งเจ็ดคนกำลังวางแผนจะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้ายแรงชนิดที่เรียกว่าพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แต่ในอีกแง่หนึ่งละครเรื่องนี้กำลังฉายภาพของสมาชิกกลุ่มผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีความกลัวทั้งในแง่ของความกลัวต่ออำนาจ ความกลัวต่อความล้มเหลว และความกลัวต่อการสูญเสีย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวทุก ๆ คนเมื่อเริ่มคิดถึงความฝันใหญ่ของพวกเขา

แต่ในขณะเดียวกันแม้ว่าจะมีความกลัว แต่กลุ่มผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ทั้งเจ็ดคนก็มีความกล้าไปในขณะเดียวกันที่จะพยายามดำเนินการต่อไปตามแผนการของพวกเขา แม้ว่าในส่วนนี้ของบทละครอาจจะทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนกับการ์ตูนอนิเมะญี่ปุ่นแบบโชเน็ง (การ์ตูนญี่ปุ่นที่มีเด็กวัยรุ่นชายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยมีจุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่มิตรภาพของตัวละครชาย) ที่สมาชิกกลุ่มผู้ริเริ่มก่อการเชื่อมั่นในกันและกันว่าด้วยกำลังของพวกเขาจะทำให้เกิดการอภิวัฒน์สยามได้สำเร็จ ซึ่งทำให้สามารถก้าวข้ามความกลัวดังกล่าวได้ จนมาถึงจุดที่วางแผนการอภิวัฒน์อย่างรอบคอบ โดยพยายามปิดและอุดช่องโหว่ที่จะเกิดขึ้นต่าง ๆ ทำให้แผนการของคนหนุ่มวัยไม่ถึง 30 ปีนี้ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

 

การเกิดใหม่ของคณะราษฎร ในฐานะภาพแทนของอุดมการณ์และความฝัน

ดังกล่าวมาแล้วว่าช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และยังคงเป็นเรื่องที่อาจหยิบยกมาพูดหรือเล่าถึงอย่างไม่ขาด กลายเป็นว่าคณะราษฎรไม่ได้สิ้นสุดลงไปหลังจากเหตุการณ์ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 หรือหลังจากการรัฐประหารของพลโทผิน ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเป็นการหมดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มการเมืองคณะราษฎร

การเมืองในปัจจุบันคณะราษฎรได้เกิดใหม่ในฐานะสัญลักษณ์ทางอุดมการณ์ และตัวแทนของความฝัน ดังเช่นในปี 2563 ได้มีกลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลคณะรัฐประหารใช้ชื่อกลุ่มว่า คณะราษฎร 2563 หรือแม้แต่ล่าสุด พรรคการเมืองหนึ่งก็ได้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษของตัวเองว่า People’s party ซึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษของคณะราษฎร ซึ่งไม่ว่าจะคณะราษฎร 2563 หรือพรรคประชาชนก็ล้วนแต่สมาทานแนวคิดที่คณะราษฎรได้วางไว้คือ การทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย

เช่นเดียวกันกับในละคร Before 2475 คณะราษฎรถูกนำมาเล่าถึงในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมือง ในฐานะตัวแทนของคนหนุ่มสาวที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ถึงความเปลี่ยนแปลง และการมีสังคมที่ดีขึ้น คณะราษฎรจึงไม่ได้อยู่ในฐานะภาพแทนของอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ในขณะเดียวกันคณะราษฎรเป็นตัวแทนของคนที่มีความฝันอยากเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกันกับคนหนุ่มสาวทั่ว ๆ ไป

ในขณะเดียวกันละครได้พยายามสร้างภาพของผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์ว่า พวกเขาไม่ได้เกิดมานักปฏิวัติอย่างที่เรารับรู้ แต่พวกเขาค่อย ๆ กลายเป็นนักปฏิวัติผ่านประสบการณ์ การบ่มเพาะความคิด และอุดมการณ์ต่าง ๆ ที่สะสมจนกลายมาเป็นพวกเขาในวันที่ทำการอภิวัฒน์ รวมถึงต้องผ่านสถานการณ์ที่บีบคั้นต่าง ๆ ทำให้ภาพคณะราษฎรกลายเป็นคนที่มีมิติแตกต่างจากงานที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้ภาพของคณะราษฎรไม่เป็นพระเอกก็เป็นผู้ร้ายแบบขาวและดำ

ไม่เพียงเท่านั้น หากผู้อ่านทุกคนในที่นี้ลองมองย้อนกลับไปในสังคมทุกวันนี้ หรือมองย้อนกลับไปในตัวเอง เราจะพบว่าทุกคนก็ล้วนแต่มีตัวตนของคณะผู้ริเริ่มก่อการอภิวัฒน์อยู่ เราทุกคนล้วนแล้วแต่มีความฝัน มีความหวังที่จะมีชีวิตที่ดี หรือมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ทุกวันนี้มีคนที่เหมือนปรีดี แปลก และประยูร เกิดขึ้นทุกวัน

เราทุกคนล้วนเป็นและเคยเป็นคนที่มีความฝันใหญ่

 

หมายเหตุ :

  • ภาพประกอบจาก Galile Oasis