ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ไปถิ่นแคว้นแดนอีสานกับพระยาพหลพลพยุหเสนา

29
มีนาคม
2567

Focus

  • การไปตรวจราชการภาคอีสานของพระยาพหลพลพยุหเสนาหัวหน้าคณะราษฎร ในฐานะรัฐมนตรีผู้บัญชาการทหารบก ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ระหว่างวันที่ 24 เม.ย. - 14 พ.ค. 2476 เป็นภารกิจที่สำคัญ พระยาพหลฯได้เขียนบันทึกการเดินทางในครั้งนั้นไว้ 10 หัวข้อ ได้แก่ (1) พลเมือง (2)  อาชีพ (3) ภาษีอากร (4) การศึกษา (5) การสาธารณสุข (6) คมนาคม (7) คนต่างด้าวเข้าเมือง (8) การตำรวจ (9) การบำรุงข้าราชการผู้ประจำตามชายแดน และ (10) ความรวม
  • ในบันทึกครั้งนั้น พระยาพหลฯได้ให้ข้อเสนอแนะหลายประการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ นำไปแก้ปัญหาบรรดามีที่ได้รับรู้จากผู้ปกครองท้องที่ ราษฎรตามรายทาง และผู้ว่าราชการจังหวัด อันแสดงถึงความเอาใจใส่และห่วงใยประชาชน โดยระบุในช่วงท้ายด้วยว่า “ถ้าได้จัดการปกครองโดยวิธีเทศบาลแล้ว จะแก้ปัญหาขัดข้องให้สำเร็จไปได้ในตัวโดยมาก”
  • การเดินทางไปยังอีสานของพระยาพหลฯเกิดขึ้นอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 21 – 26 ก.พ. 2484 โดยไปทางรถไฟผ่านจังหวัดอยุธยาและสระบุรีก่อน แล้วจึงไปยังสุรินทร์ นครจำปาสัก และอุบลราชธานี โดยได้รับการต้อนรับจากข้าหลวงในจังหวัดต่างๆ เป็นที่เรียบร้อย

 

“ไปทั่วแคว้นแดนอีสาน ไปร่วมงานพื้นบ้านเป็นหมอแคน” นั่นคือน้ำเสียงผ่านลูกคอเปี่ยมมนต์เสน่ห์ของนักร้องลูกทุ่งเยี่ยงพนม นพพร บันทึกเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 และยังคงแว่วยินเสมอมาตราบจนปัจจุบัน  แต่สำหรับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎรแล้ว การต้องเดินทางไปเยี่ยมเยือนถิ่นแคว้นแดนอีสานภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นับเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่ง แม้จะยังไม่ค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุว่าท่านเจ้าคุณพหลได้ “ยิ้มละไม” จน “ยั่วใจหนุ่มหมอลำ” บ้างหรือเปล่า แต่เรื่องราวการไปตรวจราชการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพระยาพหลฯย่อมม่วนหลายและน่าสนใจครามครัน ดังนั้น จึงมีหรือที่ผมในฐานะแฟนคลับผู้คลั่งไคล้ศิลปินสาวอีสานเยี่ยงแอน อรดี และมีนตรา อินทิรา จะยอมปล่อยผ่านเลยไปโดยไม่นำมาเขียนเล่าเพื่อบรรณาการสู่สายตาคุณอ่าน

 

การตรวจราชการใน พ.ศ. 2476

ย้อนกาลเวลาไปในปี พ.ศ. 2476 ภายหลังการอภิวัฒน์สยามล่วงมาประมาณ 10 เดือน นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะรัฐมนตรีผู้บัญชาการทหารบกในรัฐบาลที่มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจราชการทหารทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงระหว่างวันที่ 24 เมษายน จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม  โดยตลอดช่วงที่เดินทางในถิ่นแคว้นแดนอีสานนั้น  พระยาพหลได้สนทนากับผู้ปกครองท้องที่และราษฎรตามรายทาง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัดหลายท่าน อีกทั้งยังสังเกตการณ์ด้วยตนเอง ครั้นเมื่อเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว  จึงได้เขียนบันทึกเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาดำเนินการในด้านต่างๆเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

สำหรับบันทึกของพระยาพหลนั้น แบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ไว้ถึง 10 หัวข้อ เริ่มต้นกันที่หัวข้อแรกสุดคือการกล่าวถึงเรื่องของพลเมืองที่ว่า

 

๑. พลเมือง

“ชาวพื้นเมืองซึ่งอยู่ในแถบฝั่งขวาแม่น้ำโขงนั้น แม้ส่วนมากจะมีนิสสัยเงื่องหงอย สงบเสงี่ยม – รักถิ่นที่อยู่ก็ตาม แต่เนื่องจากมีเซื้อสาย ความเป็นอยู่ตลอดจนอาชีพเป็นอย่างเดียวกันกับคนที่อยู่ทางฝั่งซ้ายตอนตรงกันข้าม, อันอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส จึงมีข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ ให้คนพื้นเมืองซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของเรา ถือตนว่าเป็นไทย จงรักภักดีต่อไทยเสมอ.

ถ้าพวกนี้เกิดไม่พอใจขึ้น อย่างน้อยก็จะอพยพไปอยู่เสียทางฝั่งซ้าย เพราะเขตต์แดนติดต่อกัน และจะไปเมื่อใดเวลาใดก็ได้.

ข้อที่พึงระวังและควรแก้ไขมีอยู่ดังนี้.

ก) บรรดาผู้มีหน้าที่ปกครองทั้งปวง. จะต้องระมัดระวังปากคำของตน, อย่าเรียกว่า “ลาว” เพราะเป็นคำแสลงและแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่พวกหรือชาติเดียวกัน, อย่าใช้กิริยาวาจาข่มขู่ดูหมิ่นหรือแสดงอาการว่าราษฎรเป็นลาว. เป็นคนชั้นต่ำกว่า เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุทำให้เกิดแตกแยก ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้.

ทราบว่า ในบัดนี้ยังมีผู้บกพร่องในเรื่องนี้อยู่บ้าง สมควรให้ทางกระทรวงมหาดไทยชี้แจงกำชับไป และในทางการศึกษา กระทรวงธรรมการควรหาวิธีน้อมโน้มน้ำใจเด็กให้รู้สึกตัวเป็นไทยโดยแท้จริงด้วย อย่างที่ได้เห็นมา ครูได้หัดให้นักเรียนพูดและอ่านหนังสือเป็นภาษาไทยกลางนั้นดีแล้ว.

ข) การกดขี่บีบคั้นทั้งปวง เช่น พวกข้าราชการถือตัวว่าเป็นนายราษฎรนั้น จะต้องหมดไปจริงๆ ส่วนภาษีอากรจะต้องเก็บพอควร ไม่ให้ก้ำเกินกว่าทางฝั่งซ้ายมากมายนัก ดังจะได้กล่าวต่อไป.

ค) การอันใดซึ่งเป็นทางเจริญ มีการสาธารณสุข การบำรุงในการอาชีพตลอดจนทางคมนาคม เหล่านี้เป็นต้น ควรจะจัดทำขึ้นมิให้น้อยหน้ากว่าเขา , ซึ่งจะได้กล่าวโดยฉะเพาะเรื่องต่อไป”

สิ่งสำคัญที่จะพ่วงมากับเรื่องของพลเมืองคงไม่แคล้วเรื่องราวของอาชีพ ซึ่งก็ปรากฏอยู่ในบันทึก

 

๒. อาชีพ

พลเมืองในภาคนี้ทำมาหาเลี้ยงชีพโดยทำนา, เลี้ยงสัตว์, หาของป่า เป็นส่วนใหญ่.

การทำนา คาดกันว่า ถ้าได้ผลโดยปกติ จะมีปริมาณเหลือจากเลี้ยงพลเมืองในท้องที่ได้เกือบ ๑ ใน ๒ ส่วนที่เหลือโดยมากซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในท้องที่ภายในเขตต์มณฑล (อุดร) บ้าง ขายออกไปนอกมณฑลบ้างแต่มีน้อยแห่ง เช่น ที่ขอนแเก่นซึ่งมีทางรถไฟไปถึงแล้ว ที่กุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีซึ่งส่งโดยทางเรือไปขายที่อุบลบ้าง, ขายทางฝั่งซ้ายบ้าง แต่เหล่านี้เป็นเพียงแห่งละเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เป็นล่ำสันอันใด.

เมื่อทำได้แล้วไม่มีที่ขาย หรือถ้าจะขายก็ต้องเสียค่าพาหนะบรรทุกแพงไม่คุ้มกัน ราษฎรจึงทำแต่เพียงพอรับประทานเสียโดยมาก อุปสรรคทั้งนี้เกิดแต่ ทางคมนาคม อันเป็นมูลสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งดังจะได้กล่าวต่อไป.

พร้อมกับการสร้างทางคมนาคมให้เข้าเดิรออกสู่ตลาดได้ เป็นทางเร้าใจให้พลเมืองกะตือรือร้นบำรุงและเปิดที่ทำนาให้เจริญขึ้นนั้น, จำจะต้องคิดสนับสนุนโดยวิธีทดน้ำเพิ่มขึ้นอีกฟื้นที่แถบริมแม่น้ำโขง มีลำห้วย. ลำน้ำไหลออกสู่แม่น้ำโขงเป็นระยะๆ พื้นของลำน้ำเหล่านี้สูงกว่าท้องลำน้ำโขงมาก น้ำจึงไหลลงสู่แม่น้ำโขงหมด ถ้าได้ปิดลำน้ำทั้งนี้โดยทำเป็นทำนบและประตูน้ำ กักน้ำไว้และให้เปิดออกได้เมื่อน้ำมากเกินความต้องการ และทำรางซอยเข้าไปในพื้นที่ทำนาแล้ว เข้าใจว่าราษฎรจะเปิดที่ทำนาเพิ่มขึ้นได้มากทีเดียว  และความเสียหายอันเนื่องจากน้ำน้อยและน้ำมากเกินไปนั้น น่าจะแก้ได้ด้วยวิธีทดน้ำซึ่งกล่าวนี้.

ทางจังหวัดหนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความเห็นว่า อาจทำให้ที่ดินว่างเปล่ากลายเป็นนาให้ราษฎรทำมาหากินเพิ่มขึ้นอีก ฉะเพาะจังหวัดเดียวประมาณ ๓๐๙๙๖๑ ไร่ ส่วนการทดน้ำก็ว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีทุนพอจะทำได้โดยลำพังแล้ว ราษฎรพร้อมที่จะช่วยเหลือออกกำลังแรงขุด ถมดิน ตลอดจนการรักษาทำนบ หรือเปิด, ปิดน้ำเข้าออก ขอให้รัฐบาลออกแต่ความคิด มีเจ้าหน้าที่ผู้รู้มาควบคุมในเวลาทำงาน และลงทุนในเรื่องเครื่องก่อสร้าง มีเครื่องเหล็ก อิฐและปูนเป็นต้น แม้ได้ลดจำนวนเงินลงดังนี้แล้ว ยังไม่พอจะทำได้ทั่วไป ก็ขอให้ทำเพียงทดลองฉะเพาะห้วยที่สำคัญเพียงอำเภอละแห่ง ๒ แห่งก่อน เมื่อเห็นว่ามีผลและการเงินดีแล้ว จึงค่อยขยายทำให้มากขึ้นเป็นลำดับไป

เรื่องนี้ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วยอย่างยิ่ง และใคร่จะขอความดำริของกระทรวงเศรษฐการ

การบำรุงความรู้ในทางอาชีพ นั้น ทางการศึกษาได้ลงมือกระทำแล้วสำหรับการกสิกรรม โดยตั้งโรงเรียนกสิกรรมขึ้นตามห้องที่ ส่วนการอย่างอื่นยังหามีไม่ ฉะนั้นจะได้กล่าวไว้ในเรื่องการศึกษา.

การเลี้ยงสัตว์ เห็นมีข้อบกพร่องสำคัญ ๒ ประการ คือ จากแพทย์สัตว์ที่จะป้องกันควบคุมหรือระงับโรคติดต่อโดยทันทีประการหนึ่ง แถบนี้มักมีโรคระบาทว์ของสัตว์อยู่เนืองๆ  ในคราวไปตรวจราชการครั้งนี้ ตอนล่องเรือมาตามลำน้ำโขงยังได้เห็นกระบือในห้องที่จังหวัดนครพนมนอนตายอยู่บนตลิ่งหลายตัว. มีคำพูดเจือขบขันของคนในภาคนี้ว่า กว่าแพทย์จะได้มาทำการช่วยเหลือป้องกัน โรคก็หยุกระบาทว์แล้ว กล่าวคือไม่มีสัตว์จะตายอีกแล้วนั่นเอง.

อีกประการหนึ่ง เคยได้ยินมาแต่ก่อนว่า โคทางภาคนี้และที่อุบล พันธุ์ดีนัก ตัวโตกว่าแห่งอื่นๆ ครั้นมาเห็นเข้าจริง. ดูไม่สมกับที่กล่าวอ้าง มีโคมากเป็นฝูงๆ จริง แต่ตัวเล็กๆ แกรนๆ ไปหมด ทั้งนี้คง เนื่องจากขาดความรู้ความเอาใจใส่ในการผะสม ปล่อยให้ผะสมพันธุ์กันไม่เป็นระเบียบ ไม่แยกโคเล็กไว้เพื่อขายหรือฆ่ากินต่างหาก

ทั้ง ๒ ประการนี้ เห็นสมควรจะดำริแก้ไข.

ของป่า เวลานี้มีราคาตกมาก.

การค้าขาย ร้านใหญ่ๆ โดยมากตกอยู่ในมือของชนชาติจีน ที่เป็นของคนไทยแท้ๆ นั้นหายากเต็มที คนไทยมักจะนำของไปขายส่งให้ร้านใหญ่หรือรับจากร้านใหญ่ไปจำหน่ายตามชนบทบ้านนอก การค้าขายซึ่งคนไทยทำติดต่อกับจีนนั้น ออกจะเสียเปรียบอยู่เสมอ เพราะจีนย่อมมีเล่ห์เหลี่ยมและไหวพริบดีกว่าคนพื้นเมือง, มักถูกกดและโก่งราคาโดยอ้างอัตราแลกเปลี่ยนเงินว่าเปลี่ยนแปลง อ้างราคาสินค้าว่าขึ้นลง. คนฟื้นเมืองไม่ทราบ ก็ต้องเชื่อและซื้อขายกันไป.

ข้อนี้รัฐบาลน่าจะให้ความช่วยเหลือส่งข่าวให้ทราบอัตราแลกเปลี่ยนเงิน และราคาสินค้าซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่นให้ทราบอยู่เสมอ และถ้าสามารถจะทำได้ ก็ควรมีเจ้าหน้าที่ทางพาณิชย์และกสิกรรมประจำจังหวัดและอำเภอ, คอยแนะนำส่งเสริมอาชีพของพลเมืองให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นหรืออย่างน้อยก็อย่าให้เสียเปรียบพ่อค้าจีน ยิ่งกว่านั้นขึ้นไป ถ้าได้มีสหกรณ์ทางพาณิชย์สำหรับคนไทยขึ้นแล้ว จะแก้ความบกพร่องอันนี้ได้ดีทีเดียว.

การเก็บภาษีอากรนับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พระยาพหลเอาใจใส่ ดังที่บันทึกอย่างละเอียดว่า

 

๓. ภาษีอากร

 ๑. ราษฎรโดยมากจนอยู่แล้ว ตามเหตุผลที่กล่าวไว้ในเรื่องอาชีพ ซ้ำมากระทบความตกต่ำของเศรษฐกิจเข้าด้วย การหาเงินก็ชักจะฝืดเคืองขึ้นมาก เคยอาศัยได้ขายของป่า , บัดนี้ราคาก็ตกต่ำและขายไม่ใคร่ออก เมื่อมาได้หราบว่าทางราชการได้สั่งให้สำรวจเนื้อที่ทำนา พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นทำนองจะเก็บค่านา จึงทำให้ราษฎรพากันตื่นเต้นมาก.

ในมณฑลอุดร การทำนาเรียกได้ว่าทำแต่เพียงพอกิน, ไม่ถึงกับซื้อขายเป็นทางหากำไรเป็นล่ำสัน. รัฐบาลยังมิได้ให้ความบำรุงอย่างใด ซ้ำทางคมนาคมที่จะทำให้การบรรทุกเข้าได้สะควกและถูกก็ไม่มี ดังนี้จึงเห็นว่าควรจะระงับการเก็บค่านาของมณฑลนี้ไว้ก่อน จนกว่าการเงินจะดีขึ้นหรือจนกว่ารัฐบาลได้ให้ความบำรุงและให้ความสะดวกในทางคมนาคมแก่เขาแล้ว.

ถ้าขืนเก็บในบัดนี้ เกรงว่าความหายนะจะบังเกิดขึ้นแก่ชาวมณฑลอุดร เพราะผลประโยชน์จากเข้าซึ่งควรจะได้มาเสียอากรโดยตรงนั้นไม่มี ซ้ำตัวเองยังจนด้วยอีกเล่า เมื่อถูกเร่งรัดหนักเข้า, นาที่มีอยู่ก็จะกลายเป็นของผู้มั่งมีทรัพย์, คือ พวกจีนไปหมด

 ๒. ราคาสุกรทางฝั่งขวาและฝั่งซ้ายลำแม่น้ำโขงประมาณเท่ากัน แต่ค่าอาชญาบัตรฆ่าสุกรนั้นต่างกันมาก ทางฝรั่งเศสคิดถัวทั้งภาษีการค้าเข้าด้วยแล้ว จะเสียสำหรับสุกรขนาดใหญ่ราวตัวละ ๗๕ สตางค์, ขนาดเล็กตัวละ ๓๐ สตางค์, ทางฝั่งเราขนาดใหญ่ตัวละ ๕ บาท ขนาดเล็กตัวละ ๓ บาท เมื่อค่าอาชญาบัตรแพงกว่า ราคาขายก็ต้องแพงกว่า. จึงนับแต่เวลาที่ขึ้นค่าอาชญาบัตรจากเดิมเป็นต้นมา รายได้ของรัฐบาลในทางนี้ต่ำลงไปมาก เช่นทางนครพนมนั้นตามสถิติว่าต่ำไปกว่าครึ่ง  เพราะผู้ขายไปรับเนื้อสุกรจากฝั่งซ้ายมาขาย  แต่เดิม เช่นทางเมืองท่าแขกเคยฆ่าวันหนึ่งประมาณ ๕ ตัว บัดนี้ได้เพิ่มฆ่ามากกว่าเดิมอีกตั้งเท่าตัว.

อนึ่ง ราคาสุกรเองก็ถูกมาก อย่างตัวใหญ่ไม่เกิน ๘ บาท และตัวเล็กไม่เกิน ๒ บาท ยิ่งบางตำบลเช่นตำบลนาแกยิ่งน้อยลงไปกว่านั้นอีก. เป็นตัวขนาดใหญ่ราว ๕ บาท, และตัวขนาดเล็กราว ๕๐ สตางค์เท่านั้น เมื่อราคาเดิมมีอยู่เพียงเท่านี้ ถ้านำไปคิดเทียบกับค่าที่ต้องเสียอาชญาบัตร ๕ และ ๓ บาทแล้ว ได้ตัวเลขเท่าตัว (ตั้ง ๑๐๐%) ขึ้นไป ดังนี้ดูออกจะเป็นการเกินสมควร.

ได้กล่าวมาแล้วในตอน “พลเมือง” ว่า , พึงระวังความกดขี่บีบคั้นอันมีเรื่องภาษีอากรรวมอยู่ด้วย จึงเห็นควรดำริลดลงมาเป็นเก็บตัวใหญ่เพียง ๒ บาท ตัวเล็ก ๑ บาท หรืออย่างมากก็เพียงตัวใหญ่ ๓ บาท ตัวเล็ก ๑ บาทตามอัตราเดิม และลดค่าธรรมเนียมฆ่าโคและกระบือตามลงมาในเกณฑ์เดิม ตามพระราชบัญญัติฆ่าสัตว์ ศก ๑๑๙ มาตรา ๑๗ ด้วย จึงอาจแก้ปัญหานี้ได้บ้าง เพื่อนำมาซึ่งความไม่แตกต่างกับเขามากนัก ทั้งนำมาซึ่งรายได้ของรัฐบาลอันตกต่ำไป

อนึ่ง เมื่อได้ลดอัตราค่าอาชญาบัตรลงแล้ว, ถ้าเห็นสมควรจะวางกฎหมายป้องกันเนื้อโค กระบือและ สุกรสดทางฝั่งซ้ายซึ่งจะสาดเข้ามาด้วยก็ได้ โดยมีกำหนดว่า ถ้าผู้ใดจะนำเนื้อสดประเภทนี้ทางฝั่งซ้ายซึ่งได้เสียภาษีทางโน้นแล้ว เข้ามาขายทางฝั่งขวา จะต้องนำเนื้อนั้น ให้เจ้าหน้าที่ตรวจและกำหนดให้เสียค่าธรรมเนียม ผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องมีผิดและริบเนื้อของกลาง.

๓. มีผู้แสดงความเห็นว่า เรือเล็กเรือน้อยซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อการทำรายได้อย่างใด  นอกจากเป็นพาหนะไปมานั้น ควรงดไม่เก็บภาษี. แต่ถ้าเป็นเรือใหญ่ซึ่งหาประโยชน์  เช่น บรรทุกสินค้าได้ดังนี้จึงควรเก็บภาษี และ เก็บทั่วไปตลอดพระราชอาณาจักร

ความข้อนี้ข้าพเจ้ายังมิได้สืบสวนพิจารณาว่าน่าจะควรเป็นสถานใด แต่เห็นว่าเป็นความเห็นที่มีแง่น่าคิด จึงขอเสนอไปเพื่อเป็นทางวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่.

๔. สุราทางแดนฝรั่งเศส เสียภาษีถูกและแรงถึง ๖๐ ดีกรี  ประกอบกับสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในเรื่องภาษีในเขตด์ ๒๕ กิโลเม็ตร์, และในข้อที่ว่าให้นำติดตัวไปมาได้คนละไม่เกิน ๕ ลิตร เหล่านี้เป็นเหตุทำให้สุราทางฝั่งซ้ายลำน้ำโขงสาดเข้ามาในดินแดนของเราเป็นอันมาก และลักลอบหลีกเลี่ยงล้ำเขตต์ ๒๕ กิโลเม็ตร์เข้ามาด้วย เป็นเหตุให้เสียหายในทางภาษีของรัฐบาล จึ่งควรหาทางดำริแก้ไข.

อนึ่ง มีผู้ยื่นคำร้องเรื่องสุรายาฝิ่น มีข้อความควรสอบสวนพิจารณาหลายข้อ ข้าพเจ้าจึงขอเสนอมาในที่นี้ด้วย เพื่อดำริจัดการ.

ด้านการศึกษาย่อมเป็นสิ่งที่จะละเลยไม่ได้ทีเดียว เพราะเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร พระยาพหลในฐานะหัวหน้าจึงจำเป็นที่ต้องเน้นความสนใจต่อเรื่องนี้อย่างแข็งขัน โดยได้เสนอความเห็นให้จัดการหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และสภาพความเป็นอยู่ของประชากร

 

๔. การศึกษา

๑. โรงเรียนประจำจังหวัดมีหลักสูตรให้สอบภาษาต่างประเทศเป็นพิเศษ และถือเอาภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสอน ถ้ากล่าวโดยทั่วไปภาษาอังกฤษนับว่าเป็นภาษาที่แพร่หลาย. ควรให้นักเรียนได้ศึกษารู้ไว้ก็จริง แต่ถ้าจะระลึกถึงความเหมาะแห่งภูมิที่ของผู้ศึกษาคือเมื่อได้ศึกษาแล้วให้ได้รับประโยชน์ในการติดต่อกับชาวต่างประเทศใกล้เคียง สำหรับภาษาอังกฤษจะมีผลดีสำหรับผู้อยู่ติดต่อทางพรมแดนอังกฤษ ส่วนทางแถบแม่น้ำโขงติดต่อกับแดนฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษน่าจะให้ประโยชน์น้อย ฉะนั้น ถ้าไม่ขัดแก่ทางการอย่างใดแล้ว ข้าพเจ้าขอเสนอให้นักเรียนในแถบนั้นได้เรียนภาษาฝรั่งเศส ดูทีจะเหมาะกว่า.

๒. การศึกษาวิชชาชีพทางภาคอิสาน. กระทรวงธรรมการจัดให้มีฉะเพาะแต่วิชชากสิกรรมประเภทเดียว เห็นว่าถ้าได้จัดให้มีอย่างอื่นเพิ่มขึ้นเพื่อเหมาะแก่การที่จะอาศัยใช้วิชชานั้นๆ ให้เหมาะแก่ภูมิลำเนาด้วยแล้ว. จะดีหาน้อยไม่ เพราะธรรมชาติย่อมให้ความเกื้อกูลผิดแผกกันเป็นแห่งๆไป เช่นในท้องที่จังหวัดหนองคาย มีผู้เห็นว่าทางอำเภอชัยบุรี ควรเรียนวิชชาจักสาน เพราะท้องที่นั้นอุดมไปด้วยหวายขนาดต่างๆ, อำเภอโพนพิสัยควรเรียนวิชชาช่างปั้น เพราะท้องที่นี้ราษฎรปั้นภาชนะเครื่องดินเผาขายอยู่บ้างแล้ว ทางอำเภอท่าบ่อ มีเกาะดอนและที่ดินเหมาะแก่การปลูกยาสูบ. ราษฎรก็ได้ทำกันอยู่แล้ว แต่ยังเป็นไปตามบุญตามกรรม การเลือกพันธุ์. การปลูก. การบำรุงรักษาและการหันยายังทำไม่ได้ดี การศึกษาจึงควรมุ่งลงไปในเรื่องฉะเพาะนี้ให้มาก.

อนึ่ง การปลูกฝ้าย. ทำด้ายและทอผ้านับว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเกี่ยวแก่เครื่องนุ่งห่ม สมควรจะให้ศึกษาเพื่อบำรุงการนี้ให้มีไว้เละให้เจริญขึ้น เวลานี้ตามแถบบ้านนอกไกลพระนครหลวงก็มีทำกันอยู่แล้ว แต่โดยมากทำเพียงพอใช้สำหรับครอบครัว ที่ทำออกจำหน่ายแม้มีบ้างก็ยังนับว่าน้อย ไม่แพร่หลายหัวไป.

การสาธารณสุขเป็นเรื่องที่คณะราษฎรให้ความสำคัญ และต้องการให้เชื่อมกับเรื่องสุขาภิบาล

 

๕. การสาธารณสุข

การให้อุปการะ คุ้มครองป้องกันการเจ็บป่วยแก่ราษฎรตามหัวเมืองนั้น มีผู้ร้องกันมากว่าไม่เพียงพอ และว่าในจังหวัดหนึ่งควรมีสุขศาลาอันมีลักษณะอย่างโรงพยาบาลชั้นกลาง ให้มีสถานที่พอจะรับคนไข้ได้ตามสมควร

สำหรับหัวเมืองชายแดนทางตะวันออก . ถ้าเปรียบเทียบกับทางแดนฝรั่งเศสเล้ว ฝ่ายเราต่ำต้อยน้อยหน้าในทางนี้มาก, ยิ่งที่เมืองเวียงจันทร์ด้วยแล้ว เขามีโรงพยาบาลใหญ่โต มีสิ่งจำเป็นสำหรับใช้ในการรักษาชีวิตรทุกแผนก เป็นทางทำให้ผู้คิด คิดเห็นว่าเราไม่ใยดีต่อคนของเราเอง, จะพากันไปพึ่งพาอาศัยและนิยมชนต่างด้าวมากขึ้น.

โดยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรจะหยิบยกความต้องการดังกล่าวข้างบนนั้นขึ้นพิจารณา เพื่อมีทางช่วยได้อย่างใดจะได้จัดการไป ด้วยเป็นการสำคัญอยู่

จังหวัดที่มีสุขศาลาอยู่แล้วก็ใคร่จะขอเงินเพิ่มขึ้น  ที่ไม่มีก็ขอให้มี, และใคร่จะขอให้มีผู้ตรวจการสุขาภิบาลประจำอำเภอละหนึ่งคน. เพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือนายอำเภอในทางการสุขาภิบาลให้ได้ผลดีขึ้น.

อนึ่ง คนที่เป็นโรคเรื้อนและวิตกจริต มีผู้เสนอว่าควรรวบรวมเก็บตัวรักษาไว้เป็นที่เป็นทาง, โดยสร้างเป็นนิคมขึ้นมณฑลละ ๑ แห่ง ตามทำนองที่ทำกันอยู่ทางเขตต์อินโดจีนฝรั่งเศส.

การคมนาคมหากทำได้ดี คณะราษฎรย่อมเป็นที่ศรัทธาของประชาชน รวมทั้งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์

 

๖. คมนาคม

๑. ชาวมณฑลอุดรพากันร่ำร้องในเรื่องคมนาคมเป็นอันมาก ถ้ามีถนนหนทางเรียบร้อยให้ยวดยานบรรทุกขนสินค้าไปจำหน่ายต่างท้องที่ได้สะดวกรวดเร็วและเสียค่าบรรทุกน้อยแล้ว จะเป็นอุบายชักจูงราษฎรประกอบการอาชีพให้เจริญยิ่งขึ้น.

ภูมิภาคแห่งมณฑลอุดรเป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ มีลักษณะคล้ายลูกคลื่น ที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา.ที่ดอนเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์และเต็มไปด้วยไม้เบญจพรรณ์อันมีค่า และทราบว่าตามภูเขาก็มีแร่เช่นเหล็กและตะกั่วเหล่านี้อีก

แม้ธรรมชาติจะอำนวยผลให้เพียงใด ถ้าขาดการคมนาคมที่ดี ความเจริญย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะทำได้แล้ว, หาได้แล้ว ไม่ทราบว่าจะนำไปจำหน่ายได้อย่างไร ถึงจะนำไปได้ ราคาค่าบรรทุกก็มากจนเหลือกำลังสู้, ดังนี้จึ่งเป็นเหตุให้ราษฎรระอาใจ คงทำแต่เพียงพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง กลายเป็นผู้มักน้อย เป็นนิสสัยสืบเนื่องกันมา ฉะนั้นจึงเห็นว่าถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องคมนาคมเสียก่อนแล้ว จะคิดบำรุงส่งเสริมอาชีพของพลเมืองมณฑลอุดรอย่างใดๆ อื่น จะเป็นผลสำเร็จตามความมุ่งหมายได้ยาก ปัจจัยสำคัญที่สุดจึงตกอยู่ที่การ คมนาคม

อนึ่ง ถนนหนทางยังเป็นสิ่งสำคัญในทางยุทธศาสตร์อีกด้วย.

รัฐบาลได้ตกลงจะสร้างทางรถไฟจากขอนแก่นไปอุดรแล้ว จึงขอส่งเสริมให้เร่งรัดรีบทำ, ทางเส้นนี้จะเป็นสายหลัก, ให้ถนนจากจังหวัดต่างๆมาเชื่อม คือ ให้อุดรเป็นศูนย์กลางแล้วทำถนนไปหนองคายสายหนึ่ง, ไปเมืองเลยสายหนึ่ง, ไปสกลนครและนครพนมสายหนึ่ง

แม้ทางจากกรุงเทพ ฯ ไปถึงเมืองหนองคายเดิรได้สะดวกทุกฤดูกาล จะยังประโยชน์ในทางได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นอีก ด้วยเวียงจันทร์เป็นที่ตั้งที่ว่าการมณทลหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศส มีชาวฝรั่งเศอยู่ที่นั่นมาก  และเวียงจันทร์นับว่าเป็นเมืองมีชื่อเสียงควรแก่การชมเพื่อการศึกษา เหมาะแก่พวกนักท่องเที่ยวจะเดิรทางไปดู, การเดิรทางไปที่นั้นโดยผ่านสยาม จะใช้เวลาเพียง ๔ วันเป็นอย่างมาก, แต่ถ้าจะไปขึ้นบกที่ไซง่อน จะต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า.

การทำถนน จะต้องทำทางให้เกวียนเดิรได้. ขนานกันไปต่างหาก ถ้ามิฉะนั้นถนนจะเสีย ในเวลานี้แม้จะมีถนนพูนดินหลายแห่งซึ่งทำทางให้เกวียนเดิรเป็นคนละสายอยู่แล้ว. พวกเกวียนยังคงขืนเดิรไปตามถนน. ทำให้ถนนเสียมากขึ้นและเร็วขึ้น ทางฝ่ายผู้ปกครองพากันอึกอักอยู่ว่าจะบังคับการนี้ได้สถานใด จะใช้บทกฎหมายลักษณะอาชญาซึ่งว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอันชอบด้วยกฎหมายจะได้หรือไม่ หรือจะต้องมีบทกฎหมายสำหรับบังคับการนี้เพิ่มขึ้นอีก ข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นสมควรให้ได้รับความพิจารณาด้วย เพื่อหาทางป้องกัน.

การทำถนนตามวิธี โดยใช้ดินพูนขึ้นแต่อย่างเดียวนั้นไม่เป็นการถาวร และเมื่อถนนชำรุด ก็เกณฑ์ขอแรงราษฎรมาทำปีหนึ่งไม่เกิน ๑๐ วัน โดยเอาดินมาเพิ่มเติมและกลบร่องที่ลึกๆ ดินที่เพิ่มเติมและคุ้ยเขี่ยขึ้นใหม่ไม่แน่น มิช้ามินานก็ชำรุดอีก , และพอถูกฝนกลับเป็นหล่มโคลนทำให้รถติดยิ่งขึ้นเป็นการเสียเวลา เสียแรงราษฎรโดยได้ประโยชน์น้อยเต็มที และพอเข้าฤดูฝนรถก็คงเดิรไม่ได้ตามเคย ฉะนั้น จึ่งเห็นควรให้ทำเป็นถนนโรยหินเสียทีเดียว แม้จะไม่เร็วทันใจก็เป็นประโยชน์อยู่ถาวรยืดยาว.

ในระหว่างเวลาที่การเงินฝืดเคือง มีหนทางลดรายจ่ายในการสร้างถนนลงได้บ้าง คือให้ทางผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นหัวหน้า มีเจ้าพนักงานกรมทางเป็นผู้ช่วยในทางวิทยาการ ส่วนแรงงานนั้น ใช้วิธีเกณฑ์แรงราษฎรตามท้องถิ่น และรัฐบาลจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้คนหนึ่งวันละ ๑๕ สตางค์ ให้สูงกว่าเบี้ยเลี้ยงนักโทษเล็กน้อย เพื่อเป็นทางช่วยเหลือและให้พ้นข้อครหา ถ้ายังไม่มีเงินจะจ่ายได้ ก็จำต้องใช้วิธีเกณฑ์แรงราษฎรโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติเกณฑ์จ้าง ร.ศ. ๑๑๙ และประกาศเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเกณฑ์จ้าง ร.ศ. ๑๒๐ กับกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๕๖ ในข้อที่ผู้ทำจะได้รับประโยชน์เองโดยตรงหรือโดยทางอ้อม แต่การที่ทำนั้นอาจเป็นการสร้างขึ้นใหม่ปนกับซ่อมแซมของเก่า จึ่งควรที่รัฐมนตรีจะต้องให้อนุมัติ.

รัฐบาลจะต้องลงทุนค่าเครื่องมือ เครื่องเหล็ก และรถบดถนน ส่วนหินถ้าหาให้ไม่ได้ ก็น่าจะพอเก็บรวบรวมศิลาแลงข้างๆทางมาใช้แทนได้พอ แต่พึงอย่าให้ราษฎรต้องถือศิลาแลงคนละก้อนหรือเอาผ้าห่อขนมา เพราะไม่มีเครื่องมือในการขนนั้นเลย ส่วนไม้ก็เช่นเดียวกัน,

อนึ่ง รัฐบาลจะต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่เจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองที่ไปคุมงานคนหนึ่งวันละ ๒๕ สตางค์  และค่าพาหนะอีกบ้างตามสมควร

การสร้างสะพาน จำเป็นยิ่งจะต้องมีผู้ทรงคุณความรู้ไปออกแบบและแนะนำ สะพานบางแห่งมีขนาดยาว บางแห่งเวลาหน้าน้ำทนความปะทะของสิ่งที่พัดมาตามลำน้ำไม่ได้ เพราะไม่ทราบแบบที่เหมาะ สะพานจึ่งชำรุดและต้องซ่อมกันอยู่เสมอ อนึ่งในกาลต่อไปถ้าจะสร้างสะพานขึ้นถาวร ควรให้ทานน้ำหนักรถขนาด ๗ ตันได้ด้วย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อทางการทหารอีกโสดหนึ่ง.

หลักบอกระยะทางและป้ายต่างๆตามถนน ดูยังทำแตกต่างกันอยู่ น่าจะวางระเบียบให้เป็นอย่างเดียวกัน เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เดิรทางจริง ๆ เช่น หลักกิโลเม็ตร์ควรเริ่มจากเมืองหนึ่งไปจบยังอีกเมืองหนึ่ง หรือจากต้นสายไปยังปลายสาย ตามทางแยก ตำบลสำคัญ ๆ สะพานใหญ่ควรมีป้ายบอกว่าไปทางไหน. มีนามว่าอย่างไร. พร้วมด้วยบอกระยะทางจากตรงนั้นไปยังตำบลสำคัญๆ ทั้ง ๒ ข้างด้วย.

๒. โทรเลข โทรศัพท์. จำเป็นจะต้องมีติดต่อกันในระหว่างจังหวัดกับอำเภอ เท่าที่ได้ผ่านมา เห็นที่อำเภอบุ่งและอำเภอม่วงสามสิบในเขตต์จังหวัดอุบลราชธานี ไม่มีเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ติดต่อกับจังหวัดได้ นับว่าขัดข้องต่อทางการมากอยู่

ถ้าขาดแคลนในการเงิน จะใช้วิธีขอแรงทางบ้านเมืองให้ช่วยหาเสาและปักเสาให้อย่างที่ทำกันในจังหวัดหนองคายและนครพนมก็ได้  แถบนี้หาได้ดี ๆ ได้ง่ายและใกล้มือ.

๓. ที่ทำการไปรษณีย์มีโทรเลขโดยมากเปิดทำการแต่เวลา ๘ นาฬิกาตามกำหนดทั่วไป ซึ่งเว้นจากศาล แต่ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขประจำจังหวัดอุบลราชธานีเปิดทำการเวลา ๙ นาฬิกาตามกำหนดเดิม และชี้แจงว่ายังมิได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงเป็นที่น่าสงสัยอยู่ ควรสอบสวนและพิจารณาให้ดำเนิรไปโดยสม่ำเสมอกัน.

การจัดการคนต่างด้าว โดยเฉพาะคนจีนมีการเดินทางเข้าเมืองแบบซับซ้อน สมควรตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองให้มากขึ้น

 

๗. คนต่างด้าวเข้าเมือง

นับแต่วันที่ได้ใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่กล่าวไว้ข้างบนนี้ ปรากฏว่าคนต่างด้าวมีจีนเป็นต้นเข้ามาในสยามน้อยลงเป็นลำดับ แต่ความจริงนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายและนครพนมทราบว่า คนจีนได้เปลี่ยนทางเดิรเข้าเมืองไทย คือแทนที่จะเดิรเข้าทางที่มีด่านตรวจคนเข้าเมือง กลับหลีกเลี่ยงเข้ามาทางจังหวัดและอำเภอริมแม่น้ำโขง โดยวิธีที่ขอหนังสือเดิรทางจากรัฐบาลจีนเมืองซัวเถา เสียค่าธรรมเนียมฉะบับละ ๑๐ เหรียญ แล้วนำหนังสือเดิรทางนั้นไปให้กงสุลฝรั่งเศสตรวจตราโดยเสียค่าธรรมเนียมอีก ๘๕ เซ็นต์ แล้วก็เดิรทางมายังไซ่ง่อนบ้าง ตุรานบ้าง เมื่อถึงเมืองไหนก็นำหนังสือเดิรทางนั้นๆ ไปให้ผู้ปกครองท้องถิ่นตรวจประทับตราให้ และเสียค่าธรรมเนียมในการเข้าเมืองคนละ ๑๑ เหรียญ พอมาถึงริมน้ำโขงก็ข้ามเข้ามาในแดนสยามแเละโดยสารรถต่อมายังกรุงเทพ ฯ รวมเป็นเสียเงินค่าธรรมเนียมเพียง ๒๑ เหรียญ ๘๕ เซ็นต์เท่านั้น

ฉะนั้น จึ่งเห็นควรรีบตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มเติมขึ้นโดยเร็ว มิฉะนั้น ค่าธรรมเนียมประเภทนี้จะตกต่ำไป และผู้ไม่พึงปรารถนาจะเข้ามาในเมืองไทยได้มาก.

สำหรับทางมณฑลอุดรนั้น มีผู้เห็นว่าที่อำเภอท่าบ่อ (จังหวัดหนองคาย) ซึ่งอยู่ตรงข้ามเวียงจันทร์แห่งหนึ่ง ที่หนองคายแห่งหนึ่ง. ที่นครพนมแห่งหนึ่ง, และที่อำเภอมุกดาหาร (จังหวัดนครพนม) อีกแห่งหนึ่ง  ควรตั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนั้นตามอำเภอริมน้ำโขงโดยตลอด และอำเภอพิบูลฯ ควรให้มีเจ้าหน้าที่ชั้นต่ำๆ ของกรมตรวจคนเข้าเมืองสักคนหนึ่งช่วยนายอำเภอตรวจตรา ฝากหน้าที่และมอบอำนาจในการตรวจคนต่างด้าวเข้าเมือง ให้นายอำเภอช่วยเป็นธุระ ดังนี้ที่พอจะทำได้โดยไม่เปลืองเงินมากนัก.

ถ้าแม้ทางราชการจะพิจารณาเรื่องนี้โดยแน่ชัด ข้าพเจ้าขอเสนอพระปทุมเทวาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ให้เป็นผู้ชี้แจง เพราะท่านผู้นี้ได้เคยทำการสืบสวนด้วยตนเองมาแล้ว.

ราษฎรมีการร้องเรียนปัญหาโจรผู้ร้าย และการลดการประทุษร้ายตรงกับหลักการความปลอดภัยของคณะราษฎรที่ต้องเร่งแก้ไขให้แก่ราษฎร กาารตำรวจทั้งกำลังคนและอาวุธจึงต้องจัดการให้เพียงพอ

 

๘. การตำรวจ

๑. อำเภอซึ่งอยู่ชายแดนทางฝั่งน้ำโขงนั้น ควรให้มีหัวหน้าตำรวจเป็นชั้นนายร้อย เพราะมีเรื่องจะต้องใช้ความคิดพิจารณากระทำการให้เหมาะให้ควร. ด้วยเป็นแดนติดต่อ การโจรผู้ร้ายลักสัตว์พาหนะและ เรีอมีไม่น้อยตามทำเลย่านใกล้กับริมแม่น้ำโขง, โจรผู้ร้ายเหล่านี้มีทั้งคนไทยและลาวฝั่งซ้าย อนึ่ง ทางฝั่งซ้ายตอนตรงกันข้ามกับที่ว่าการอำเภอบางแห่ง ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานตำแหน่งสำคัญของฝรั่งเศส เช่น อำเภอชัยบุรีตั้งอยู่ตรงข้ามกับปากซัน ซึ่งมีนายด่านภาษีของเขาตั้งอยู่เป็นต้น.

๒. กำลังตำรวจ มีผู้ร้องว่ามีน้อยเกินไป และฉะเพาะอย่างยิ่งตอนชายแดน ข้ออ้างนั้นว่า ควรมีกำลังพอจัดออกตรวจท้องที่ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นจะได้จับกุมได้ทันท่วงที มิทันให้ผู้ร้ายมีโอกาสข้ามแดนไปได้ ซึ่งจะเป็นความยากลำบากของเจ้าพนักงานจะติดตามปราบปราม

ถ้ายังมิสามารถจะจัดเพิ่มกำลังขึ้นได้. ก็ขอให้วางระเบียบจัดแบ่งตำรวจออกทำการตรวจพื้นที่เพิ่มเติมเป็นสายๆ. พอเป็นกำลังเพิ่มเติมตำรวจทางจังหวัดเเละอำเภอให้ทำการเข้มแข็งขึ้น.

ข้าพเจ้าเห็นควรเสนอข้อนี้ เพื่อเป็นทางดำริของกระทรวงมหาดไทยด้วย

 ๓. ได้เห็นตามสถานีตำรวจมีปืนหลายแบบคละกัน. คือ ปืนแมนสิเคอร ๒ แบบ และปืนพระราม ๖ อีกแบบหนึ่ง เห็นควรจ่ายแบบใดแบบหนึ่งให้เป็นอย่างเดียวกับสำหรับสถานีตำรวจแห่งหนึ่งๆ เพื่อสะดวกแก่การใช้ และถ้าเป็นตำรวจตามพรมแดนแล้ว ยังดูเป็นที่น่าตำหนิของชาวต่างประเทศผู้พบเห็นอีกด้วย

อนึ่ง การเก็บปืนและกระสุนของตำรวจยังรู้สึกว่าไม่มั่นคงพอ กระสุนควรอยู่ในหีบมีกุญแจลั่นและตีตรา ส่วนปืนก็ควรเก็บไว้ในที่มิดชิดแข็งแรง เพื่อให้เป็นทางปลอดภัยไว้เสมอ

ข้าราชการผู้ประจำตามชายแดนสมควรได้รับการบำรุงให้สามารถทำงานระหว่างชายแดนกับประเทศอื่นๆ โดยให้ติดต่อระหว่างบุคคลเป็นไปได้ดี

 

๙. การบำรุงข้าราชการผู้ประจำตามชายแดน

๑. ความสะดวกในการติดต่อพูดจากกับเจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสแถบลำน้ำโขงนี้ ข้าพเจ้าแน่ใจว่า เกิดจากการติดต่อชอบพอกันส่วนตัวเป็นข้อสำคัญยิ่ง ถ้าเจ้าหน้าที่ของเราคบหาสมาคมกับเขาดีเพียงใด ความง่ายดายที่จะพูดจากันให้สำเร็จผลในทางการก็ดีขึ้นเพียงนั้น อย่างในบัดนี้ข้าราชการของเราที่หวังดี ก็พยายามดำเนิรการคบหาสมาคมกับข้าราชการของเขาอยู่เป็นนิจ

การคบหาสมาคม ถ้าจะทำให้บังเกิดผลดีจะต้องใช้จ่ายเงินเนื่องด้วยการนั้นอยู่ร่ำไป ต่างฝ่ายต่างไปมาหาสู่และรับรองซึ่งกันและกัน  จริงอยู่ในบัดนี้ทางราชการได้วางอัตราให้เบิกจ่ายได้ในเงินหลวงอยู่บ้าง แต่การเบิกจ่ายย่อมมีระเบียบพิธีที่จะต้องปฏิบัติ  และการใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดเช่นเกี่ยวแก่การเลี้ยงดูคราวละย่อยๆนั้น  ข้าราชการผู้หวังดีมักจะไม่ตั้งเบิก เพราะเห็นเป็นการหยุมหยิมไม่สมควร  แต่ถ้านับรวมหลายๆครั้งเข้าจำนวนเงินที่ใช้จ่ายไปคงไม่น้อย  นอกจากนี้ ตามบ้านที่พักยังจะต้องตระเตรียมเครื่องดื่มต่างๆไว้เพื่อเรียกได้ทุกเวลาอีกเล่า

เพื่อให้ข้าราชการมีน้ำใจปฏิบัติตนไปในทางอันให้ความสะดวกต่อราชการนี้ ข้าพเจ้าเห็นควรดำริตั้งอัตราเงินประจำตำแหน่งที่ต้องทำการติดต่อกับต่างประเทศไว้เป็นอัตราประจำตามสมควร  เมื่อใครมารับตำแหน่งนั้นๆ ก็ได้เพิ่มขึ้น เมื่อพ้นตำแหน่งนั้นไปก็ตัดออกให้เหลือแต่เพียงอัตราเงินเดือนของตน ดังนี้ ดูจะได้ประโยชน์ดีกว่า ถ้าข้าราชการคนใดไม่ใฝ่ใจทำการติดต่อ ข้าราชการคนนั้นนับว่าไม่เหมาะแก่ตำแหน่งที่จะอยู่ตามพรมแดน ควรย้ายเปลี่ยนไปอยู่เสียที่อื่น

๑. บ้านนายอำเภอชัยบุรีชำรุดทรุดโทรมถึงต้องเอาไม้ค้ำจุนเรือนไว้ ดูเป็นที่น่าเกลียดแก่พวกฝรั่งเศสซึ่งมาติดต่อพบเห็น จึ่งควรรีบจัดการสร้างหรือซ่อมให้เป็นที่เรียบร้อย

ในภาพรวมพระยาพหลฯต้องการให้การทำงานของรัฐบาลคณะราษฎร ได้ผลในการแก้ปัญหาแก่ราษฎรในจังหวัดต่างๆโดยเร็ว และต้องการให้จัดการในวิธีเทศบาล

 

๑๐. ความรวม

ข้อเสนอซึ่งได้กล่าวมานี้ ถ้าได้จัดการปกครองโดยวิธีเทศบาลแล้ว จะแก้ปัญหาขัดข้องให้สำเร็จไปได้ในตัวโดยมาก

อนึ่ง มีผู้ปรารภว่าถ้าทางการได้สร้างอะไรลงไปแล้ว ควรคำนึงถึงการบำรุงด้วย เช่น ถนนเมื่อสร้างแล้วเลิกบำรุงเสียดังนี้  ก็เท่ากับเสียเงิน เสียแรง เสียเวลาที่สร้างไปเปล่าๆ พอรู้สึกขัดข้องต้องสร้างอีก ก็ลงทุนเต็มที่อีก เป็นทางหมดเปลืองมากและไม่ได้รับประโยชน์ติดต่อกันอยู่เสมอ เสาและสายโทรเลข โทรศัพท์ ก็เป็นที่วิตกว่าจะเป็นเช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วย และขอเสนอข้อปรารภนี้ต่อเจ้าหน้าที่

กระทรวงเศรษฐการ

วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๘๗๖

 

การตรวจราชการใน พ.ศ. 2484[1]

ต่อมาในปี พ.ศ 2484 ซึ่งขณะนั้นพระยาพหล เป็นนายพลตรีแล้ว ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พระยาพหลและคณะได้เดินทางโดยรถไฟด่วนไปยังจังหวัดสุรินทร์ ออกเดินทางในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เมื่อรถไฟมาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงบริหารชนบท (ส่าน สีหไตรย์) ข้าหลวงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารช่างแสงและพลเรือนทุกแผนกตลอดฝ่ายตุลาการและยุวชนได้ไปต้อนรับที่สถานีรถไฟอยุธยาเป็นการคับคั่ง ซึ่งพระยาพหลได้ลงมาปราศรัยกับข้าราชการโดยทั่วถึง

ข้าหลวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังได้เดินทางพร้อมข้าราชการบางคนตามไปส่งพระยาพหลถึงจังหวัดสระบุรี แล้วจึงเดินทางกลับด้วยรถยนต์ภายในคืนนั้น นอกจากที่สถานีจังหวัดอยุธยาแล้วที่สถานีบางปะอินสถานีกิ่งภาชีก็มีนายอำเภอและปลัดกิ่งพร้อมด้วยข้าราชการประจำหน่วยนั้นมาขอต้อนรับด้วย

ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา 3:56 น พระยาพหลพร้อมด้วยคณะได้เดินทางถึงจังหวัดสุรินทร์ ในวันเดียวกันเวลา 8:00 น. พระยาพหล แม่ทัพภาคอีสาน ผู้บัญชาการกองพลสุรินทร์ และข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์ได้ออกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ไปเยี่ยมกองทหารที่บ้านสำโรงและในคืนนี้ได้พักที่บ้านสำโรง

รุ่งขึ้นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เวลา 8:30 น เดินทางจากบ้านสำโรงโดยขบวนรถยนต์กลับยังจังหวัดสุรินทร์พักผ่อนที่จวนข้าหลวงประจำจังหวัดจนเวลา 21:00 น. พระยาพหลพร้อมด้วยคณะได้เดินทาง โดยขบวนรถไฟพิเศษจากจังหวัดสุรินทร์ไปยังจังหวัดอุบล ระหว่างพักอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ หลวงนครคุณูปถัมภ์ (หยวก ไพโรจน์) และคณะกรรมการจังหวัดได้ให้ความรับรองท่านเจ้าคุณพหลเป็นอย่างดี ทำให้การตรวจราชการเป็นไปด้วยความสะดวก เรียบร้อย และราบรื่น

พระยาพหลและคณะเดินทางมาถึงสถานีวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เวลา 01.39 น. โดยมีคณะกรรมการจังหวัดข้าราชการชั้นรองฝ่ายพลเรือนและทหารพร้อมด้วยตำรวจยุวชน ทหาร ลูกเสือ ไปต้อนรับที่สถานี พระยาพหลได้ตรวจแถวทหาร ลูกเสือและได้พบปะกับผู้ที่ไปต้อนรับทั่วถึงกัน แล้วจึงได้เดินทางไปยังกองทหารวารินชำราบและเข้าพักที่เรือนรับรองในบริเวณกองทหาร 1 คืน รุ่งขึ้นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เวลา 8:00 น. พระยาพหลกับคณะได้เดินทางไปยังจังหวัดนครจำปาสัก ซึ่งเป็นดินแดนที่ไทยเพิ่งได้รับคืนมาจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2484 นี้เอง โดยมีข้าหลวงประจำจังหวัดอุบลราชธานีเป็นผู้นำเพื่อไปเยี่ยมเยียนทหารตำรวจสนาม และประชาชน ได้มีเจ้าหน้าที่ผู้รักษาการในตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดคณะกรรมการจังหวัดข้าราชการออกมาต้อนรับอย่างคับคั่งเวลา 21:00 น จึงได้กลับถึงกองทหารบก

ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2484 เวลา 14:30 น. พระยาพหลกับคณะได้ไปเยี่ยมฝ่ายราชการจังหวัด ศาลจังหวัด โรงพยาบาลจังหวัด กองบินน้อยผสมที่ 40 อีกทั้งยังไปเยือนวัดสุปัฏนารามวรวิหาร หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกขานว่า

“วัดสุปัฏน์” ถือเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อันเป็นนามที่แสดงความหมายว่า อารามซึ่งเหมาะสมจะเป็นท่าเรืออย่างดี ทั้งนี้เนื่องจากตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล

ในเวลา 16:00 น. พระยาพหลฯและคณะได้รับประทานน้ำชาที่จังหวัดพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดนี้ โดยข้าหลวงประจำจังหวัดจัดเลี้ยง

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 8:00 น. พระยาพหลและคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนทหารตำรวจสนามและประชาชนอำเภอมุกดาหาร ในวันนี้เวลา 18:30 น. ข้าราชการฝ่ายทหารอากาศและพลเรือนทั้งในประจำการ และพ่อค้าคหบดี จำนวน 132 คน ได้ร่วมความสามัคคีกัน จัดให้มีการสโมสรสันนิบาตและเลี้ยงอาหารเป็นเกียรติยศแก่พระยาพหลที่สนามหญ้าหน้าจวน เวลา 21:30 น. พระยาพหลพร้อมคณะได้เดินทางกลับจากจังหวัดอุบลราชธานีโดยขบวนรถไฟพิเศษ ข้าหลวงประจำจังหวัดได้เดินทางตามไปส่งถึงจังหวัดสุรินทร์

จะเห็นว่าการเดินทางไปเยี่ยมเยือนถิ่นแคว้นแดนอีสานของพระยาพหลพลพยุหเสนา ทั้งในปี พ.ศ. 2476 และ พ.ศ. 2484 ได้สะท้อนถึงความเอาใจใส่และห่วงใยประชาชนของหัวหน้าคณะราษฎร อีกทั้งยังพยายามทำความเข้าใจสภาพความเป็นไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วบันทึกรายละเอียด รวมถึงแสดงข้อคิดเห็นในการที่จะจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆเพื่อปรับปรุงให้คุณภาพชีวิตของราษฎรชาวไทยมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง

  • หจช. มท.0601.4.5/3 บันทึกรายงานการตรวจราชการทหารทางภาคอิสาณ พ.ศ. 2476 ของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐมนตรีผู้บัญชาการทหารบก (6 มิ.ย. 2476).
  • หจช. มท. 2.2/178 นายพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนาไปเยี่ยมกองทหารและจังหวัดสุรินทร์ (พ.ศ. 2484).
  • หจช. มท. 2.2.5 /986 พล.ต. พระยาพหลพลพยุหเสนากับคณะเดินทางออกจากจังหวัดอุบลราชธานี (พ.ศ. 2484).

หมายเหตุ

บทความรำลึกเนื่องในวาระชาตกาลพระยาพหลพลพยุหเสนา  วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2430

 


[1] ข้อความส่วนใหญ่ได้จากเอกสาร หจช. มท. 2.2/178 นายพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนาไปเยี่ยมกองทหารและจังหวัดสุรินทร์ (พ.ศ. 2484) และหจช. มท. 2.2.5 /986 พล.ต. พระยาพหลพลพยุหเสนากับคณะเดินทางออกจากจังหวัดอุบลราชธานี (พ.ศ. 2484)