ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 23)

4
ธันวาคม
2567

Focus

  • บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 23) นายปรีดี พนมยงค์ ชี้แจงความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่นายประยูรฯ เขียนไว้กรณีที่บิดเบือนตั้งแต่ในปารีสจนถึงสยาม โดยเฉพาะประเด็นหลักเกี่ยวกับการโจมตีนายปรีดีว่าระแวงตนเองทั้งในเรื่องเกี่ยวกับฐานันดรศักดิ์ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง และในประการสำคัญคือนายประยูรเสนอว่าตนเป็นผู้นัดประชุมฯ และให้ความสำคัญกับกำลังทหารเป็นหลัก ซึ่งส่วนทางกับข้อเท็จจริงในบันทึกพระยาทรงสุรเดช ที่ชี้ให้เห็นว่ามีความร่วมมือระหว่างผู้ก่อการสายพลเรือนและสายทหารประสานกัน
  • ที่มาของหลักฐานประวัติศาสตร์ชุดนี้ เนื่องมาจากในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี ซึ่งการฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

ข้อ 19.

ชี้แจงความจริงเกี่ยวกับเรื่องพล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้เองว่า

ปรีดีหวาดระแวง ร.ท.ประยูรฯ อาจเป็นสายลับตำรวจ

พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือท่านหน้า 99-100 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“ครั้นต่อมาอีก 2-3 วัน คุณปรีดีก็เกิดหวาดระแวงว่าข้าพระเจ้าเป็นมหาดเล็กรัชกาลที่ 6 อาจเป็นสายลับของตำรวจมาลวงถามเรื่องนี้ ความจริงก็มีเหตุผลน่าคิดอยู่มาก เพราะว่ามีหนังสือลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาถึงข้าพเจ้าทรงตอบหนังสือที่ได้เคยกราบบังคมทูลไปบางครั้ง ข้าพเจ้าได้ชี้แจงให้คุณปรีดีดังว่า การที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ไม่ได้เป็นกบฏหรือล้มราชบัลลังก์ เพราะการมีรัฐธรรมนูญการปกครองบ้านเมือง นับเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ส่วนคุณงามความดีทั้งหลายก็เทอดทูนถวายส่งเสริมพระบารมี ฉนั้นพระมหากษัตริย์ย่อมมั่นคงและรุ่งโรจน์ตลอดไป เมื่อได้รับความเข้าใจกันแน่วแน่แล้วก็ได้ดำเนินการหาวิธีเปลี่ยนแปลงการปกครองกันต่อไป”

ข้าพเจ้า(ปรีดี)ขอชี้แจงความจริงแก่ท่านที่ปรารถนาสัจจะในข้อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

19.1.

หวาดระแวง ร.ท.ประยูรฯ เล็กน้อยตอนที่ปรีดียังอยู่ปารีส

ข้าพเจ้ายอมรับว่าข้าพเจ้าหวาดระแวง ร.ท.ประยูรฯ เพียงเล็กน้อยตอนที่ข้าพเจ้ายังอยู่ที่ปารีส แต่เหตุที่ข้าพเจ้าหวาดระแวงนั้นมิใช่เหตุที่ ร.ท.ประยูรฯ เป็นมหาดเล็กรัชกาลที่ 6 เพราะมีผู้ก่อการฯ อีกหลายคนเคยเป็นมหาดเล็กรัชกาลที่ 6 ข้าพเจ้ามิได้ระแวงว่าเพื่อนเหล่านั้นเป็นสายลับของรัฐบาล ข้าพเจ้าหวาดระแวง ร.ท.ประยูรฯ เพราะเหตุดังต่อไปนี้

(1) ชอบใช้ “กลยุทธ” ในการพูดคลาดเคลื่อนความจริง

(2) ชอบแสดงความนิยมลัทธิเผด็จการทหารและเผด็จการนาซีบางครั้งบางคราว

(3) ชอบฟื้นทรรศนะเจ้าขุนมูลนายบางครั้งบางคราว

ข้าพเจ้าได้ตักเตือน ร.ท.ประยูรฯ โดยสุภาพเพื่อให้ได้ความคิดแก้ไขความบกพร่อง โดยคาดคิดไม่ถึงว่าต่อมา ร.ท.ประยูรฯ จะประพฤติเช่นนั้นมากขึ้นในภายหลัง

19.2.

ระแวง ร.ท.ประยูรฯ มากขึ้นความหลังกลับสู่สยามจนถึงก่อน 24 มิถุนายน

ภายหลังที่ ร.ท.ประยูรฯ กลับสู่สยามใน พ.ศ. 2472 แล้ว ท่านผู้นี้ได้ปฏิบัติการตามเหตุ 3 ประการ ดังกล่าวในข้อ 19.1. นั้นมากขึ้นตามลำดับจนถึงก่อน 24 มิถุนายน 2475 แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่อง ร.ท.ประยูรฯ เข้าร่วมคณะเดียวกันแล้ว ข้าพเจ้ากับเพื่อนบางคนที่ประสบเหตุการณ์นั้นก็ต้องอดกลั้นไว้เพื่อมิให้มีการแตกแยกกันก่อนยึดอำนาจได้สำเร็จแล้ว

(1)

ชอบใช้ “กลยุทธ” ในการพูดคลาดเคลื่อนความจริงบ่อย ๆ ครั้งยิ่งขึ้น

ในการทาบทามบุคคลที่จะชวนร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ นั้น ร.ท.ประยูร มีความปราถนาดีที่จะได้เพื่อนร่วมงานมากขึ้นโดยเร็ว ฉนั้น ร.ท.ประยูรฯ จึงใช้ “กลยุทธ” ในการเจรจาความคลาดเคลื่อนความจริงไปพูดกับผู้ที่ถูกทาบทามหลายครั้ง จึงเป็นปริมาณการพูดคลาดเคลื่อนความจริงมากขึ้น

ร.ท.ประยูรฯ ได้นำความที่คลาดเคลื่อนความจริงเกี่ยวกับข้าพเจ้านั้นไปเล่าแก่ผู้ก่อการพลเรือนบางคนและผู้ก่อการฯ ทหารบางคน หลายเรื่องทำนองนิยายและเรื่องต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าอ้างไว้ในข้อ 4.2. ประการที่ 10 แล้ว

ข้าพเจ้าจึงต้องใช้วิธีป้องกันมิให้ ร.ท.ประยูรฯ ทราบว่าข้าพเจ้าได้ชวนบุคคลเข้าคณะราษฎร คือใครบ้าง

 

(2)

แสดงความนิยมลัทธิเผด็จการทหารโดยยุยงผู้ก่อการฯ ทหารบางคนให้รังเกียจกีดกันปรีดี

(ก)

หนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 123-124 กล่าวถึงการไปพบหลวงพิบูลสงครามกับคุณละเอียด (ต่อมาเป็นท่านผู้หญิง) พล.ท.ประยูรฯ เขียนความดังต่อไปนี้

“สนทนากันอยู่พักหนึ่ง ก็ชวนออกมานั่งรถคุยกันที่ท้องสนามหลวงได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องที่ไปสัมมนารีวิวผู้ก่อการฝ่ายพลเรือนมา รู้สึกซบเซาไป แต่ก็ยังสนใจกันเป็นส่วนมาก ข้าพเจ้าได้ชี้แจงไปว่าความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นอยู่ที่กำลังทหารเป็นหลัก กำลังมากน้อยไม่สำคัญ อยู่ที่เราใช้สมองและแผนการรัดกุม คุณหลวงพิบูลฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นคนมีอารมณ์สุขุมมีจิตใจแน่วแน่และบอกว่า เหตุการณ์บ้านเเมืองมันงอมมากแล้ว ควรจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปได้ เวลานี้ก็มีเพื่อนตายไว้ใจได้ ๒ คนคือ ร.อ.หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึงพระคุณ) กับ ร.อ.ถม เกตุโกมล (หลวงอำนวยสงคราม) สำหรับนายทหารคนอื่น ๆ ได้พูดเปรยกันไว้หลายคน มีหวังอยู่มาก แต่ต้องใช้เวลาหน่อย โดยเฉพาะจะต้องไปรวบรัดเอาในวันใกล้ที่จะลงมือยึดอำนาจ”

ข้าพเจ้าให้ท่านผู้ปรารถนาสัจจะโปรดสังเกตดังต่อไปนี้

( ก 1.)

หลวงพิบูลฯ รักษาวินัยที่ตกลงกันไว้ในการก่อตั้งคณะราษฎรว่า ผู้ที่มีภรรยาต้องรักษาความลับของคณะฯ เด็ดขาด โดยไม่แพร่งพรายให้ภรรยาทราบ ฉนั้นท่านจึงชวนคุณประยูรฯ ไปสนทนา 2 ต่อ 2 ที่ท้องสนามหลวง

( ก 2. )

จอมพลพิบูลฯ ถึงแก่อสัญกรรมไปก่อนที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนหนังสือเล่มนั้น ฉนั้นหลวงพิบูลฯ ก็ไม่อาจชี้แจงว่าท่านได้พูดตามที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้ในหนังสือของท่านเล่มนั้นหรือไม่ เพื่อนก่อการฯ บางคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ยังคงระลึกได้ว่าขณะนั้นหลวงพิบูลฯ มิได้มีความขัดแย้งกับเพื่อนก่อการฯ พลเรือนคนใดเลย และท่านได้ร่วมกับเพื่อนก่อการฯ ประชุมรับประทานอาหารกันเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยมิตรภาพอันดี การที่ประชุมกันเช่นนั้นก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังเพราะทางรัฐบาลได้รับรายงานจากทางสถานทูตสยามกรุงปารีสให้สอดส่องความเคลื่อนไหวนักเรียนที่ได้ร่วมทำการต่อต้านท่านอัครราชทูต ตั้งแต่การประชุมสมาคมฯ พ.ศ. 2469 ซึ่งหลวงพิบูลฯ กับเพื่อนก่อการจากปารีสก็อยู่ในข่ายที่เจ้าหน้าที่สงสัย

( ก 3. )

ข้อความสำคัญตอนหนึ่งซึ่ง พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้คือ “ข้าพเจ้าได้ชี้แจงไปว่าความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น อยู่ที่กำลังทหารเป็นหลัก กำลังมากน้อยไม่สำคัญ อยู่ที่เราใช้สมองและแผนการรัดกุม” นั้น ข้าพเจ้า(ปรีดี)ขอให้ท่านที่ปรารถนาสัจจะโปรดพิจารณาว่าเป็นคำกล่าวที่ยุให้หลวงพิบูลฯ แตกแยกกับผู้ก่อการฯ พลเรือนหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตามหลวงพิบูลฯ ขณะนั้นยังมีมิตรภาพอันดีกับเพื่อนก่อการพลเรือนทุกคนดังกล่าวแล้ว

(ข)

ในหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 125 นั้น ท่านได้พรรณาถึงการไปพบหลวงสินธุ์สงครามชัยหัวหน้าผู้ก่อก่ารฝ่ายทหารเรือ ท่านได้พูดให้หลวงสินธุ์ฯ ฟัง มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“...อย่างไรก็ตามสำหรับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(นายปรีดี พนมยงค์) นอกจากที่ได้คุณหลวงศิริราชไมตรี(พิมพ์ชื่อตามหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ) ผู้ร่วมคิดเริ่มแรกจากปารีสแล้ว สองปีแล้วยังไม่ได้ใครอีกเลย รู้สึกเป็นห่วงมาก อย่างไรก็ตามสำหรับหลวงประดิษฐ์นั้น เรามุ่งหวังเพียงให้เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นประการสำคัญ และทำคำแถลงการณ์ในการยึดอำนาจ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ต้องหวังกำลังฝ่ายทหารเป็นสำคัญ

หลวงสินธุ์ฯ มิได้หลงเชื่อตามคำยุงยงของ ร.ท.ประยูรฯ หากถือว่าผู้ก่อการพลเรือนก็เป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการยึดอำนาจรัฐ ดังที่พระยาทรงฯ ก็เห็นเช่นนั้นจึงได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ “บันทึกพระยาทรงสุรเดชฯ” เล่มที่อ้างถึงแล้วนั้นซึ่งท่านได้กำหนดแผนให้ผู้ก่อการพลเรือนปฏิบัติร่วมมือกับผู้ก่อการฯ ฝ่ายทหารในการยึดอำนาจรัฐเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

น่าเสียดายที่พล.ท.ประยูรฯ ไม่เขียนไว้ว่าในการประชุมที่บ้านทวี บุณยเกตุ ภายหลังที่หลวงสินธุ์ฯ และคุณประยูรฯ ได้ออกจากฝรั่งเศสแล้วนั้น หลวงสินธุ์ฯ ได้ต่อว่าคุณประยูรฯ ในที่ประชุมถึงการที่คุณประยูรฯ ได้แจ้งเลขจำนวนบุคคลที่คุณประยูรฯ ได้ชักชวนร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้ได้มากมายนั้นว่าเป็นรายงงานที่คลาดเคลื่อนความจริงอย่างไรบ้าง แม้ว่าคุณประยูรฯ จะนินทาปรีดีลับหลังให้หลวงสินธุ์ฯ ฟังก็ดี และแม้ว่าคุณประยูรฯ จะได้เอาเรื่องทหารเป็นใหญ่มาจูงใจหลวงสินธุ์ ก็ดี แต่หลวงสินธุ์ฯ มิได้คล้อยตามคุณประยูรฯ จึงสงวนความลับไว้ดังที่พล.ท.ประยูรฯ กล่าวว่า

“คุณหลวงสินธุ์ฯ ได้กล่าวย้ำว่า ทางทหารเรือนั้นคนกำลังรวบรวมสมัครพรรคพวกที่ไว้วางใจได้ และขอรับเป็นภาระแต่ผู้เดียวอย่าให้ฝ่ายอื่นมาเกี่ยวข้อง”

(ค)

พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้หลายแห่งที่แสดงว่าท่านเป็นคนสำคัญที่พูดในบรรดาผู้ก่อการฯ ดังที่ข้าพเจ้าอ้างแล้ว พล.ท.ประยูรฯ ก็ได้เขียนไว้อีกในหนังสือของท่านหน้า 129-130 แสดงถึงการที่ท่านเป็น “ผู้นัด” ประชุมพระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิ์ฯ, พระประศาสน์ฯ, ที่บ้านของ ร.ท.ประยูรฯ มีความตอนหนึ่งต่อไปนี้

“หลังจากที่ได้ติดต่อสอบถามกับท่านผู้ก่อการ 15 ท่านที่ได้ร่วมคิดมาจากในฝรั่งเศสและพิจารณาผลของการดำเนินงานที่ผ่านมารวมเวลา 3 ปี รู้สึกว่าคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้าและซบเซา แต่ก็ยังมีความสนใจอยู่เป็นอันมาก สำหรับทางฝ่ายพลเรือนที่แตกแยกออกไปเป็นหลายสาย ก็ยังไม่มีความหมายที่จะเป็นกำลังแต่ประการใด ข้าพเจ้าจึงได้ตั้งความหวัง ทางฝ่ายทหารเป็นสำคัญ จึงได้นัดประชุมท่านผู้ใหญ่ฝ่ายทหารบกรวม 5 ท่านคือ พ.อ.พระยาพหลพยุหเสนา(พล.อ.) พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิ์อัครเนย์(ชื่อตามที่พล.ท.ประยูรฯ เขียน) พ.ท.พระยาประศาสน์พิทยายุทธ(พล.ต.) ที่เรียกกันว่าสี่ทหารเสือ กับ พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม(จอมพล ป. พิบูลสงคราม) มาประชุมปรึกษาหารือกันเป็นครั้งแรกในตอนค่ำที่บ้านข้าพเจ้า”

ทั้งนี้แสดงถึงใจจริงของพล.ท.ประยูรฯ ที่กีดกันข้าพเจ้าซึ่งพระยาทรงฯ รับรองว่าเป็นหัวหน้าพวกก่อการฯ พลเรือนโดยเฉพาะนั้นมิให้ข้าพเจ้ามีส่วนเข้าร่วมประชุมครั้งนั้นด้วย เพราะ ร.ท.ประยูรฯ มีทรรศนะตามที่ข้าพเจ้าเขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้ตั้งความหวังทางฝ่ายทหารเป็นสำคัญ

(3)

แสดงการชอบหญิงชาวรั้วชาววังของเจ้าขุนมูลนาย

พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้เองในหนังสือท่านหน้า 127 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“ในการเชิญชวน พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา มาร่วมคณะนั้นได้ขอร้องให้ พ.อ.พระยาทรงสุรเดชซึ่งเป็นที่รักกันมากไปพูดเกริ่นไว้บ้างแล้ว ท่านมีความข้องใจในตัวข้าพเจ้า(ประยูรฯ)มาก เพียงแต่วิ่งรถตระเวณกรุง บางครั้งก็มีผู้หญิงนั่งไปเต็มรถ คงจะไม่เอาจริงเอาจังกระมัง พระยาทรงฯ จึงชี้แจงไปให้ทราบว่า ที่นั่งรถตระเวณกรุงก็วิ่งติดต่อหาพรรคพวก ส่วนที่มีผู้หญิงนั่งกันไปเห็นเต็มคันรถนั้นก็เป็นเรื่องกลบรอยตำรวจ และใช้เป็นสายสืบเอาความในรั้วในวัง

ข้าพเจ้าได้ชี้แจงไว้ในข้อ 4.2. ประการที่ 11 (3) และ (4) แล้วใจความว่า การที่ พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าใช้ผู้หญิงที่นั่งเต็มรถเพื่อใช้เป็นสายสืบเอาความในรั้วในวังนั้น ต้องคิดด้านนิสัยของผู้หญิงเหล่านั้นด้วยที่จะพลั้งปากพูดต่อ ๆ ไปว่า ร.ท.ประยูรฯ ถามซอกแซกเรื่องในรั้วในวัง การพูดของผู้หญิงเหล่านั้นก็จะถึงหูตำรวจที่จะทำให้ตำรวจสงสัย ร.ท.ประยูรฯ ได้ ข้ออ้างของ ร.ท.ประยูรฯ จึงฟังไม่สนิทนัก ข้าพเจ้าจึงระแวง ร.ท.ประยูรฯ ไปในทางที่ชอบสาวชาววังของเจ้าขุนมูลนายซึ่งสมัยนั้นชายหนุ่มนิยมกันว่าสาวชาวรั้วชาววังสวยงามมาก ข้าพเจ้าเกรงว่าถ้าเปลี่ยนการปกครองสำเร็จแล้ว ชาวรั้วชาววังนั้นเองอาจมีอิทธิพลทำให้ ร.ท.ประยูรฯ ฟื้นระบบเจ้าขุนมูลนายขึ้นมาอีก

 

ภาคผนวก

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์,  (มปท., มปป.)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :