ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ดร.ตั้ว ลพานุกรม : หนึ่งในผู้ร่วมก่อการอภิวัฒน์สยาม และรัฐบุรุษแห่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

21
ตุลาคม
2565
ดร.ตั้ว ลพานุกรม (พ.ศ. 2441-2484)
ดร.ตั้ว ลพานุกรม (พ.ศ. 2441-2484)

 

กรรมการสมาคมนักเรียนไทยที่ประชุมกัน ณ เมือง Chartrettes ประเทศฝรั่งเศส [ภาพจากซ้ายไปขวา] จันทร์ บุนนาค หลวงสนิทรักษ์สัตว์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงโกวิทอภัยวงศ์ และ ดร.ตั้ว ลพานุกรม
กรรมการสมาคมนักเรียนไทยที่ประชุมกัน ณ เมือง Chartrettes ประเทศฝรั่งเศส
[ภาพจากซ้ายไปขวา] จันทร์ บุนนาค หลวงสนิทรักษ์สัตว์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงโกวิทอภัยวงศ์ และ ดร.ตั้ว ลพานุกรม

 

ตั้ว ลพานุกรม เป็น 1 ใน 7 ผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรเพื่ออภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็น 1 ใน 70 คนของผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรก หลังจากนั้นตั้วเป็นที่จดจำในฐานะรัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้นำทางวิทยาศาสตร์ในยุคบุกเบิกประชาธิปไตย ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเคมี เภสัชกรรม แร่ และเชื้อเพลิง รวมถึงงานด้านอุตสาหกรรม และกิจการส่งเสริมด้านถั่วเหลืองอย่างโดดเด่น

หากบทความนี้นอกจากจะร้อยเรียงประวัติและชีวิตของตั้วแล้ว ยังเปิดเผยบทบาทส่วนที่หลายคนหลงลืมนั่นคือ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ฉบับ พ.ศ. 2479-2481 ที่ตั้วได้แสดงทัศนะความคิดวิทยาศาสตร์และสังคมไว้อย่างแหลมคมและร่วมสมัยในช่วงต้นของการอภิวัฒน์ที่คณะราษฎรได้รื้อสร้างความเป็นสมัยใหม่ในหลากแง่มุมให้แก่สยามผ่านทางนโยบายรัฐและการแปรอุดมคติออกมาเป็นรูปธรรม

 

สังเขปประวัติ และชีวิตของ ‘ตั้ว ลพานุกรม’

 

ภาพของตั้ว ลพานุกรม ณ ประเทศเยอรมนี พ.ศ. 2454
ภาพของตั้ว ลพานุกรม ณ ประเทศเยอรมนี พ.ศ. 2454

 

ตั้ว ลพานุกรม หรือ ดร.ตั้ว เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2441 ณ จังหวัดพระนคร มีบิดาชื่อ เจริญ ลพานุกรม มารดาชื่อ เนียร ลพานุกรม และมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน เริ่มต้นศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ และโรงเรียนราชวิทยาลัยแล้วจึงมีโอกาสได้ตามเสด็จเพื่อศึกษาต่อยังยุโรปโดยทุนของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์[1]

 

นักเรียนไทยที่ถูกคุมขังเป็นเชลย ณ เมือง Celle พ.ศ. 2461 ตั้ว ลพานุกรม อยู่แถวกลางคนที่ 5 จากด้านซ้าย
นักเรียนไทยที่ถูกคุมขังเป็นเชลย ณ เมือง Celle พ.ศ. 2461
ตั้ว ลพานุกรม อยู่แถวกลางคนที่ 5 จากด้านซ้าย

 

[ภาพคนแรกจากซ้าย] ตั้ว ลพานุกรม ในเครื่องแบบทหารอาสากองรถยนต์
[ภาพคนแรกจากซ้าย] ตั้ว ลพานุกรม ในเครื่องแบบทหารอาสากองรถยนต์

 

ในระยะแรก พ.ศ. 2454-2460  ตั้วศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมนีระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 1 และสยามประกาศสงครามกับประเทศดังกล่าวส่งผลให้ตั้วและเพื่อนนักเรียนนอกต้องถูกจับเป็นเชลยศึก เมื่อศึกสงบลงจึงได้เดินทางไปยังกรุงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2461 โดยระหว่างการเดินทาง ตั้วสมัครเข้าเป็นทหารอาสาในกองทหารบกรถยนต์ไทยที่ใช้ภายในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรป จนได้รับยศเป็นจ่านายสิบและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์เหรียญทองช้างเผือก ใน พ.ศ. 2462

 

ภาพของตั้ว ลพานุกรม ณ มหาวิทยาลัยกรุงเบิร์น (University of Berne) พ.ศ. 2469
ภาพของตั้ว ลพานุกรม ณ มหาวิทยาลัยกรุงเบิร์น (University of Berne) พ.ศ. 2469

 

[ภาพคนแรกจากซ้าย] ตั้ว ลพานุกรม ณ กรุงเบิร์น พ.ศ. 2470 หมายเหตุ: ภายในภาพมีหลวงทัศนัยนิยมศึก และแนบ พหลโยธิน
[ภาพคนแรกจากซ้าย] ตั้ว ลพานุกรม ณ กรุงเบิร์น พ.ศ. 2470
หมายเหตุ: ภายในภาพมีหลวงทัศนัยนิยมศึก และแนบ พหลโยธิน

 

เมื่อจบภารกิจระหว่างสงครามแล้วตั้วจึงกลับไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเบิร์น (University of Berne) ราว พ.ศ. 2467 จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชาเคมี ชั้นเกียรตินิยมด้วยวิทยานิพนธ์หัวข้อ The Influence of Chemical Composition on the Structure of Crytals ต่อมาใน พ.ศ. 2471 ได้ไปศึกษาวิชาเภสัชกรรมศาสตร์เพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยแห่งมิวนิก ประเทศเยอรมนี และ พ.ศ. 2472-2473 ตั้วยังเข้าศึกษาวิชาพฤกษศาสตร์เพิ่มเติมที่แผนกวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงปารีส อีกด้วยเมื่อสำเร็จการศึกษาได้เดินทางกลับสยามในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2473 และรับราชการ ณ กระทรวงการเศรษฐกิจ

ก่อนอภิวัฒน์สยาม ตั้วกล่าวว่า “Do it now or never.” และก็ได้ลงมือลงแรงตามคำกล่าวโดยเป็น หนึ่งในคณะราษฎรสายพลเรือนคนสำคัญที่เข้าร่วมการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนราษฎรชั่วคราวชุดแรก และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 1 ในเวลาต่อมาเริ่มบทบาทที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2477 คือได้รับตำแหน่งนักเคมี และใน พ.ศ. 2478 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ และบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ตามลำดับ

 

ตั้ว ลพานุกรมกับหนังสือที่รัก

 

ตั้ว ลพานุกรมกับหนังสือที่รัก
ตั้ว ลพานุกรมกับหนังสือที่รัก

 

ชีวิตส่วนตัวของตั้วนั้นมีนิสัยรักการอ่านหนังสือมาก ส่งผลให้ตอนทำงานตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ตั้วได้สั่งหนังสือและตำราต่างๆ มาไว้ที่กรมฯ จำนวนมากและได้ปรับปรุงกิจการหนังสือของกรมวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นแผนกหอสมุดวิทยาศาสตร์

ในช่วง พ.ศ. 2481 ตั้วรับบทบาททางการเมืองสลับกับหน้าที่การงานด้านวิทยาศาสตร์ อาทิ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

กระทั่งปีสุดท้ายของชีวิต พ.ศ. 2484 ตั้วได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเศรษฐกิจ นอกจากตำแหน่งในคณะรัฐบาลแล้วตั้วยังดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ภาคีสมาชิกสำนักวิทยาศาสตร์แห่งราชบัณฑิตยสถาน ประธานกรรมการพิจารณางานอุตสาหกรรมของรัฐบาล ประธานการพิจารณาส่งเสริมกิจการของถั่วเหลือง ประธานกรรมการอำนวยการโรงงานเภสัชกรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก นายกสมาคมเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ เป็นต้น จวบจนตนเองป่วยเป็นโรคลำไส้พิการหนักจึงลาหยุดราชการแล้วเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และเสียชีวิตลงในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ด้วยวัยเพียง 43 ปี[2]

 

อนุสรณ์งานศพของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม
อนุสรณ์งานศพของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม

 

อนุสรณ์งานศพของตั้วเท่าที่พบในปัจจุบันมีจำนวน 3 เล่ม และในเล่มที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมวิทยาศาสตร์เรียบเรียงขึ้นนั้น ปรากฏว่าให้เขียนคำไว้อาลัยด้วยลายมือ ทั้งยังมีข้อความ และโทรเลขจากผู้ที่อุปถัมภ์ เคารพรัก และสนิทสนมระลึกถึงผู้วายชนม์ตั้ว ลพานุกรม ไว้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพระโทรเลขของพระราชชนนี ศรีสังวาลย์[3] จากเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ข้อเขียนจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร[4] ข้อเขียนจากปรีดี พนมยงค์ พระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพล ป. พิบูลสงคราม และประยูร ภมรมนตรี ที่แสดงถึงสายสัมพันธ์ ความสำคัญ และอัธยาศัยของตั้ว โดยผู้เขียนขอคงตัวสะกดและวรรคตอนไว้ดังต่อไปนี้

 

พระโทรเลขของพระราชชนนี ศรีสังวาลย์ จากเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

------------------------------------

MY SINCERE SYMPATHY
FOR THE LOSS OF YOUR SON

SANGWAN MAHIDOL

 

กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ
นี่เปน บุคคลิกลักษณะ ของคุณตั้ว

วรรณไวทยากร
๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๔

 

คำไว้อาลัยแก่คุณตั้ว ลพานุกรมของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
คำไว้อาลัยแก่คุณตั้ว ลพานุกรมของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

 

คำไว้อาลัยแก่คุณตั้ว ลพานุกรม

ในคราวทําการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ นั้น คุณตั้ว ลพานุกรม ได้เป็นบุคคลสําคัญร่วมมือทําการมาแต่ต้นคนหนึ่ง

คุณตั้ว ลพานุกรม เป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยมั่นคงเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีการ เปลี่ยนแปลงแม้แต่อย่างหนึ่งอย่างใด ในระหว่างมิตรสหายบรรดาที่ได้สมาคมกันมา ทุกคน จะสังเกตเห็นได้ว่า คุณตั้ว ลพานุกรม เคยอย่างไร ก็คงอย่างนั้นอยู่เสมอ อัธยาศัยมั่นคงเสมอต้นเสมอปลายเช่นนี้ ย่อมเป็นที่ยกย่องในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า “สมานัตตตา” และทรงจัดเป็นสังคหวัตถุประการหนึ่ง

ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ คุณตั้ว ลพานุกรม ได้กระทําคุณงามความดีไว้พร้อม ทั้งในทางส่วนรวมและในทางส่วนตัว เมื่อต้องมาถึงแก่กรรมลงด้วยโรคอันมิได้คาดหมายไว้ จึงเป็นที่เศร้าโศกอาลัยแก่บรรดาญาติมิตรยิ่งนัก แต่พระพุทธภาษิตมีอยู่ว่า -

อิธ นนฺทติ เปจฺจ นฺนทติ      กตปุญฺโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
ปุญฺญํ เม กตนฺติ นนฺทติ      ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโต.

ผู้กระทําความดีไว้ เมื่ออยู่ในโลกนี้ ย่อมเกิดความชื่นชมยินดี ครั้นละโลกนี้ ไปแล้ว ก็ย่อมเกิดความชื่นชมยินดี คือเกิดความชื่นชมยินดีทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า เมื่อ อยู่ในโลกนี้ เกิดความชื่นชมยินดีว่า เราได้กระทําความดีไว้ ครั้นละโลกนี้ไปสู่สุคติแล้ว ก็เกิดความชื่นชมยินดียิ่งขึ้น

เพราะฉะนั้น เมื่อรําลึกถึงว่า คุณตั้ว ลพานุกรม ได้กระทําความดีไว้มาก หากจะละโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ก็คงจะเข้าถึงสุคติและเกิดความชื่นชมยินดียิ่งขึ้น จึงทําให้รู้สึกคลายใจบันเทาความเศร้าโศกลงได้บ้าง ยังเหลืออยู่ก็แต่ความอาลัยเท่านั้น

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๔

 

และยังมีคำไว้อาลัยของ 1 ใน 7 คณะราษฎรผู้ก่อการกลุ่มแรกร่วมกับตั้วคือ พลโท พระยาพหลพยุหเสนา เล่าว่ารู้จักชอบพอกันกับตั้วมาตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นนักเรียนนายร้อยประจำกรมปืนใหญ่ที่ประเทศเยอรมนี พระยาพหลฯ บรรยายถึงตั้วในวัยเยาว์ไว้อย่างละเอียดโดยผู้เขียนขอคงตัวสะกดและวรรคตอนไว้ดังนี้

 

“ข้าพเจ้ายังจำภาพเมื่อครั้งกระนั้นได้อย่างติดตาว่าแต่งตัวอย่างเด็กฝรั่ง ผูกผ้าผูกคอ…กางเกงขาสั้นรัดน่อง พูดจาคล่องหัวเราะร่วน เป็นคนร่าเริงเสมอ ซึ่งเป็นที่ชอบอัธยาศรัยของบรรดานักเรียนไทยทั้งหลายที่ได้รู้จักมักคุ้น…”

 

และพระยาพหลฯ ยังเล่าถึงในสมัยการอภิวัฒน์ไว้ด้วยว่า

 

“...เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ นั้น ท่านเป็นผู้ที่ข้าพเจ้าไว้วางใจได้อย่างดีผู้หนึ่ง, เพราะมีนิสสัยมั่นคงไม่หลอกแหลกตลอดมา ตั้งแต่เริ่มการเตรียมการจนถึงลงมือกระทำการและได้ทำการสำเหร็จแล้ว

นอกจากที่กล่าวแล้วท่านยังได้ช่วยรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญทำการงานให้แก่ประเทศชาติเพื่อความเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก…”

 

ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เล่าถึงตั้วโดยเน้นไปที่การอภิวัฒน์และการทำงานไว้ว่า

 

“คุณตั้ว ลพานุกรม รัฐมนตรีเปนผู้คุ้นเคยกับข้าพเจ้า ตั้งแต่อยู่ในต่างประเทศ และได้ทำงานขอพระราชทานรัฐธรรมนูญในรถคันเดียวกัน เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นเพื่อนร่วมชีวิตอย่างแท้จริง

ในเวลาเปนรัฐมนตรีและอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ท่านผู้นี้ทำงานเข้มแข็ง และเปนที่วางใจได้เปนอย่างดี พูดอย่างใด ทำอย่างนั้น งานที่ได้รับมอบ จึงสำเร็จทุกอย่างและดีที่สุด…”

 

ส่วนประยูร ภมรมนตรี ก็เล่าว่าตนสนิทสนมกับตั้วมาตั้งแต่วัยเยาว์และเห็นถึงความเด็ดเดี่ยวจากการทำงานอภิวัฒน์ร่วมกัน

 

“ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้ร่วมสำนักนักศึกษากับข้าพเจ้ามาตั้งแต่เยาว์วัย ณ โรงเรียนราชวิทยาลัย เมื่อข้าพเจ้าไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ได้รู้จักรักใคร่โดยสนิทสนมเป็นที่ถูกอัธยาศัยซึ่งกันและกัน ได้พบปะกันเสมอในสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส…ดร.ตั้ว ลพานุกรม ได้เป็นหัวแรงสำคัญคนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งแรก ณ กรุงปารีส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๘…ครั้นแล้ว ดร.ตั้ว…ก็ได้ร่วมมือด้วยความบากบั่นและเด็ดเดี่ยวเสมอมา…ทั้งยังเป็นผู้ที่ขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เป็นเนืองนิตย์…”

 

คำไว้อาลัยจากหนังสืออนุสรณ์งานศพของตั้ว ลพานุกรม[5] โดยเฉพาะผู้ที่ร่วมประชุมเพื่ออภิวัฒน์ 2475 กลุ่มแรก และผู้ที่ได้ทำงานร่วมกับตั้วแสดงให้เห็นถึงความมีอัธยาศัยดี ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในการร่วมอภิวัฒน์สยาม ขยันทำงาน และขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ ทั้งยังสะท้อนฉากหลังทางประวัติศาสตร์ เครือข่าย และสายสัมพันธ์ทางการเมืองของชนชั้นกลางใหม่ที่เป็นนักเรียนนอกกลุ่มสำคัญซึ่งมีอุดมคติตามระบอบรัฐธรรมนูญและสนใจประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษ 2470

 

หมายกำหนดการ รัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ นายตั้ว ลพานุกรม ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ธันวาคม พุทธศักราช 2484

 

หมายกำหนดการ รัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ นายตั้ว ลพานุกรม ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ธันวาคม พุทธศักราช 2484
หมายกำหนดการ รัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ นายตั้ว ลพานุกรม ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ธันวาคม พุทธศักราช 2484

 

ความคิดวิทยาศาสตร์กับสังคมของตั้ว ลพานุกรม

 

หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ในสมัยที่มีตั้ว ลพานุกรม เป็นบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ในสมัยที่มีตั้ว ลพานุกรม เป็นบรรณาธิการ

 

ความก้าวหน้าเรื่องวิทยาศาสตร์ของตั้ว ลพานุกรม ยังปรากฏในด้านการเผยแพร่ทางวิชาการควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามแนวนโยบายของรัฐ โดยสมัยที่ตั้ว ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรกนั้นได้จัดทำหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขึ้น 2 ฉบับ ได้แก่ หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยรายไตรมาส และ Thai Science Bulletin ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ในที่นี้จะเสนอให้เห็นความคิดวิทยาศาสตร์กับสังคมของตั้ว ลพานุกรม ในหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ซึ่งตั้วรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการระหว่าง พ.ศ. 2479-2481 ใน 3 ทัศนะดังนี้

 

วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ

ตั้วเสนอว่า ภายหลังการอภิวัฒน์นั้น ประเทศไทยใหม่ภายใต้การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญเป็นไทยที่ต้องการความบำรุงทางวิทยาศาสตร์เพราะวิทยาศาสตร์คือรากฐานแห่งความมั่นคงถาวรของประชาชาติ ทั้งในทางกสิกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และเป็นกำลังการป้องกันพระราชอาณาจักร

และอธิบายความหมายของวิทยาศาสตร์ว่าคือ วิชาที่มีกฎมีเกณฑ์ สำหรับตั้วนั้น วิชาใดที่มีกฎมีเกณฑ์เป็นหลักฐาน วิชานั้นย่อมเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น และได้แบ่งวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองส่วนใหญ่ ได้แก่ วิทยาศาสตร์แท้ (Pure science) หมายถึง หลักวิชาการโดยตรง มีฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา กับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied science) ได้แก่ กสิกรรม วิศวกรรม อุตสาหกรรม เภสัชกรรม และแพทย์ศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาอันเกิดจากหลักวิชาอีกต่อหนึ่ง

ตั้วเล็งเห็นว่าความก้าวหน้าของชาติไทยที่จะนำไปสู่อารยวิถี[6] และทำให้ชาติอื่นยำเกรงได้นั้นควรต้องรีบบำรุงการวิทยาศาสตร์ให้ไทยเป็นชาติที่เจริญในทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์มาทำให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบของโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลทางกสิกรรมตามมา เช่นนำกสิกรรมมาแปรรูปและลดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ในอีกทางหนึ่ง โดยตั้วยังมองอนาคตล้ำสมัยว่า สงครามภายภาคหน้าจะเป็นสงครามวิทยาศาสตร์ และชี้ให้เห็นเรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับงานของกองทัพไว้ด้วยว่า เครื่องป้องกันอันตรายสมัยใหม่นั้นจะอุบัติขึ้นได้จากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะมาจากบ่อถ่านหิน เหมืองเหล็ก เครื่องกล โรงงานอุตสาหกรรม นักประดิษฐ์ นายวิศวกรรม และนักคำนวณ 

ส่วนในกิจการภายในประเทศหลังการอภิวัฒน์นั้น ตั้วมองว่า การวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้นและเสนอในแง่มุมที่เกี่ยวข้องระหว่างวิทยาศาสตร์กับภาษีอากรไว้อย่างน่าสนใจโดยผู้เขียนขอคงตัวสะกดตามต้นฉบับไว้ดังนี้

 

“ในการเก็บภาษีต่างๆ ตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากรฉะบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อปลายปีที่แล้วนั้น จะเห็นว่าสินค้าถูกเก็บภาษีตามประเภทโดยอัตราต่างๆ กัน สำหรับสินค้าบางอย่าง จะรู้ว่าอยู่ในประเภทใดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์ช่วย มิฉะนั้นจะแยกประเภทและเก็บภาษีไม่ได้โดยเด็ดขาด

ถ้าหากวิทยาศาสตร์ไม่ช่วยในการนี้แล้ว ภาษีศุลกากรของเราก็จะขาดไปมากทีเดียว…”

 

นอกจากนี้ตั้วยังเชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ทั้งในการทำงานของกรมสรรพสามิต โรงกษาปณ์ การประปา การปลูกพืชแม้แต่การพิจารณาคดีความก็ต้องอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ กล่าวได้ว่าในทัศนะของตั้วนั้นวิทยาศาสตร์มีความสำคัญและเป็นความต้องการหลักของประเทศเพื่อใช้นำไปพัฒนาสังคมในทุกด้าน[7]

 

วิทยาศาสตร์กับการเมือง

 

สยามมณีฉันท์ 8 เรื่องวิทยาศาสตร์ในระบอบรัฐธรรมนูญ โดย แสงทอง ในหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ในสมัยที่มี ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นบรรณาธิการ
สยามมณีฉันท์ 8 เรื่องวิทยาศาสตร์ในระบอบรัฐธรรมนูญ โดย แสงทอง ในหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ในสมัยที่มี ดร.ตั้ว ลพานุกรม เป็นบรรณาธิการ

 

ตั้วอธิบายความคิดวิทยาศาสตร์กับการเมืองของตนไว้ว่ามีจุดตั้งต้นที่การอภิวัฒน์ 2475 โดยผู้เขียนขอคงตัวสะกดตามต้นฉบับไว้ดังนี้

 

“หลังจากวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อรุ่งอรุณของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของประชาชาติไทยนั้น ประชาชนชาวไทยทั้ง ๑๔ ล้านคน ก็ได้ตื่นจากนิทรารมณ์พร้อมกัน…

ในวาระเดียวกับที่ไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองนี้ ไทยก็ได้เปิดทางให้มีการเปลี่ยนในวิถีทางอื่นๆ ด้วย เป็นต้นในทางสังคม, วัฒนธรรมของชาวชาติผิวขาวที่ได้แผ่สร้านเข้ามาอย่างรวดเร็ว…เราได้พบสิ่งของเอนกประการ ซึ่งเป็นผลของวิทยาศาสตร์ติดตามเข้ามาด้วย”

 

หากตั้วได้สะท้อนให้เห็นว่า ภายหลังการอภิวัฒน์ที่การเมืองเปิดทางให้วิทยาศาสตร์เข้ามาในสังคมไทยแต่ยังไม่มีการให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ คือไม่มีการอภิปรายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในสภาผู้แทนราษฎร เช่น การช่วยเหลือในทางบำรุงให้ชาวนาทำนาดีขึ้นนั้นย่อมอยู่ที่การส่งเสริมทางวิทยาศาสตร์กสิกรรมด้วยแต่ในสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายเรื่องการลดภาษีค่านาเพียงอย่างเดียว ดังนั้นในระยะแรกของการเมืองภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญของไทยจากข้อเท็จจริงและทัศนะของตั้วจึงยังขาดการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ทางการเมืองโดยเฉพาะในระบบรัฐสภา[8]

 

วิทยาศาสตร์เป็นธาตุปัจจัยสำคัญในทางเศรษฐกิจ

ตั้วชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรให้ความสำคัญ และในสภาผู้แทนราษฎรล้วนมีความเห็นร่วมกันว่า เศรษฐกิจเป็นตัวจักรสำคัญตัวหนึ่งที่จะพาให้ประชาชาติดำเนินก้าวหน้าไปได้โดยสวัสดิภาพ กล่าวคือ ความเป็นเอกราชสมบูรณ์ของชาติจะต้องประกอบด้วยเอกราช 3 ประการคือ เอกราชในทางการเมือง เอกราชในทางศาล และเอกราชในทางเศรษฐกิจ

ตัวจักรทางเศรษฐกิจที่ตั้วกล่าวถึงนั้นจะเดินไปได้ด้วยการกสิกรรม การพาณิชยกรรม การอุตสาหกรรม และการขนส่ง ซึ่งภายใต้การพัฒนาของตัวจักรนี้ย่อมต้องอาศัยแผนการวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยเป็นหลักสำคัญ

ตั้วสรุปทัศนะของตนต่อเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นธาตุปัจจัยสำคัญในทางเศรษฐกิจ ไว้อย่างแหลมคมโดยผู้เขียนขอคงตัวสะกดตามต้นฉบับไว้ดังนี้

 

“ถ้าหากประเทศไทยจะวางหลักปักฐานการเศรษฐกิจให้มั่นคง ให้เป็นหลักชัยในอันที่จะรองรับการประดิษฐานรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นมิ่งขวัญของชาติ ในอันที่จะเชิดชูความเป็นเอกราชอันสมบูรณ์ตามอุดมคติ เราจะต้องบำรุงส่งเสริมการวิทยาศาสตร์ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

เราต้องไม่ท้อถอย ไม่เบื่อหน่าย เพราะผลแห่งการส่งเสริมวิทยาศาสตร์จะไม่บันดาลให้เห็นในเวลาอันสั้น”[9]

 

หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ในสมัยที่มีตั้ว ลพานุกรม เป็นบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ในสมัยที่มีตั้ว ลพานุกรม เป็นบรรณาธิการ

 

ความคิดวิทยาศาสตร์กับสังคมของตั้ว ลพานุกรม จากบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2479-2481 คือการชี้ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์มีความสำคัญในทุกมิติของการพัฒนาประเทศไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคมโดยเฉพาะในงานอุตสาหกรรมแม้กระทั่งในชีวิตประจำวันก็ย่อมต้องอาศัยหลักและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ในการใช้ชีวิตให้ราบรื่น ซึ่งวิทยาศาสตร์ในทัศนะของตั้วนั้นเบ่งบานและมีจุดตั้งต้นที่สืบเนื่องมาจากการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 และหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ด้วยการกำหนดนโยบายรัฐและการเมืองในระบบรัฐสภา

 

ภาพประกอบ : หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ หนังสืออนุสรณ์งานศพ ดร.ตั้ว ลพานุกรม หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และราชกิจจานุเบกษา

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา. หมายกำหนดการ รัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ นายตั้ว ลพานุกรม ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2484. ประกาศ ณ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2484, น. 4509-4510.
  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 2.2.5/220. คณะกรมการจังหวัดตาก รายงานการไปตรวจราชการที่ จังหวัดตาก ของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม รัฐมนตรี [พ.ศ. 2483]
  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (4) ศธ 2.3.6.9/7. การทำรูปปั้นพนะท่านตั้ว ลพานุกรม [13 ต.ค. 2486-มิ.ย. 2487]

หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ :

  • หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2479-2481

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • อนุสรณ์พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ พณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม 2484. พระนคร: การพิมพ์ไทย , 2484.
  • อนุสรณ์พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม 2484 โดย นายแพทย์ ยงค์ ชุติมา หัวหน้ากองบริโภคสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์. พระนคร: การพิมพ์ไทย , 2484.
  • อนุสรณ์พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ดร.ตั้ว ลพานุกรม รัฐมนตรีสั่งการกระทรวงเศรษฐกิจอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 โดย บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2484.

 หนังสือภาษาไทย :

  • ตั้ว ลพานุกรม. ชุมนุมบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ (พ.ศ. 2479-2481). (พระนคร: อักษรนิติ, 2482)
  • ชาติชาย มุกสง, การแพทย์และการสาธารณสุขสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468-2477, (กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, 2564)
  • วินนา เหรียญสุวรรณ และคณะฯ, บทบาทของบุคคลสําคัญทางด้านเภสัชกรรมไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2535, (กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535)
  • สำลี ใจดี และคณะฯ บรรณาธิการ, ดร.ตั้ว ลพานุกรม เภสัชกรผู้ยิ่งใหญ่ รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคมและแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา, 2552)
  • สุจินต์ ศรีคงศรี และคนอื่น ๆ, อนุสรณ์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ที่ระลึกเนื่องในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม, (กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2550)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 

[1] พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น

[2] อนุสรณ์พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ พณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม 2484. พระนคร: การพิมพ์ไทย, 2484., อนุสรณ์พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม 2484 โดย นายแพทย์ ยงค์ ชุติมา หัวหน้ากองบริโภคสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์. พระนคร: การพิมพ์ไทย, 2484., อนุสรณ์พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ดร.ตั้ว ลพานุกรม รัฐมนตรีสั่งการกระทรวงเศรษฐกิจอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 โดย บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2484.

[3] พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น

[4] พระอิสริยยศ ณ ขณะนั้น

[5] อนุสรณ์พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ พณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม 2484. พระนคร: การพิมพ์ไทย , 2484.

[6] ศัพท์บัญญัติและการสะกดคำของตั้ว ลพานุกรม

[7] ตั้ว ลพานุกรม. ชุมนุมบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ (พ.ศ. 2479-2481). (พระนคร: อักษรนิติ, 2482), น. 1-16.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 17-26.

[9] เรื่องเดียวกัน, น. 62-74.