ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร วางแผนการจัดงานวันสันติภาพไทย ประจำปี 2567

13
มิถุนายน
2567

10 มิถุนายน 2567 ณ ห้องอัมรินทร์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สถาบันปรีดี พนมยงค์ และ กรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมหารือการจัดกิจกรรมในวาระ “79 ปี วันสันติภาพไทย ประจำปี 2567” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์และคุณูปการของวีรชนขบวนการเสรีไทยซึ่งจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567

 

 

โดยนายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ นำคณะกรรมการกลางและคณะกรรมการบริหารมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ ประกอบด้วย นายเอกชัย ไชยนุวัติ นางอังคณา นีละไพจิตร และนางนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ เข้าพบ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือร่วมกัน

กรุงเทพมหานครนำโดย ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว, นายโสภณ สุดเอียด รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้, นางสาวพจนา นิจันทร์ รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานห้องสมุดและการเรียนรู้ 1 และนางสาวทินวดี สีดาชมภู หัวหน้าห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์

 

 

ในการนี้ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานในวาระ “79 ปี วันสันติภาพไทย ประจำปี 2567” พร้อมร่วมหารือถึงรูปแบบของการดำเนินกิจกรรม โดยนายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของวันสันติภาพไทย และได้นำเสนอแผนงานที่จะจัดขึ้นในปีนี้

วันเสรีไทยถือเป็นวาระอันสำคัญยิ่งสำหรับประวัติศาสตร์ไทยซึ่งตรงกับวันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี วันเสรีไทยมีจุดเริ่มต้นจากภัยคุกคามสันติภาพและเสรีภาพของชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองของกองทัพญี่ปุ่น อันเป็นผลมาจากการที่รัฐไทยในช่วงเวลานั้น ต้องการแสวงหาอำนาจโดยมิได้ยึดถือแนวทางสันติ จนอาจทำให้ไทยตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาที่ประเทศถูกรุกราน หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (รัชกาลที่ 8) ได้ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญเพื่อต่อสู้กับจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เข้ามารุกราน โดยหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้ออกประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งได้รับการยอมรับแก่สัมพันธมิตร ทำให้ไทยไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามและไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากสงครามให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร

ขบวนการเสรีไทยสะท้อนถึงการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของชาวไทย ทั้งในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษที่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อเอกราช อธิปไตย และสันติภาพ สะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดเรื่องภราดรภาพที่มีความสำคัญ การเป็นพี่เป็นน้องร่วมกันทั่วโลก การถ้อยทีถ้อยอาศัย การอยู่กันด้วยความเป็นธรรม สังคมสันติธรรม และความสงบสุข

อย่างไรก็ดี คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอาจไม่รู้จัก “ขบวนการเสรีไทย” และบทบาทของบุรุษเสรีชนที่ได้ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญ วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี จึงถือเป็น “วันสันติภาพไทย” การหวนรำลึกประวัติศาสตร์นี้จะช่วยย้ำเตือนพวกเราให้รําลึกถึงคุณูปการของขบวนการเสรีไทย ขอให้ถือเป็นแบบอย่างที่ควรยกย่อง และอุทิศตนให้กับอิสรภาพของประเทศไทยและของโลก

 

 

ทั้งนี้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เห็นถึงความสำคัญของวาระอันสำคัญยิ่งนี้ จึงปรารถนาให้คนรุ่นใหม่รับรู้และตระหนักถึงอุดมการณ์เสรีภาพและสันติภาพ พร้อมสนับสนุนเพื่อยกระดับกิจกรรมจากระดับชาติสู่นานาชาติ

ในเบื้องต้นกิจกรรมวันสันติภาพไทยจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เวลา 14.00-20.00 น. โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร่วมเปิดงาน, รับชมนิทรรศการเสรีไทย, รับชมวีดิทัศน์นำเสนอพิพิธภัณฑ์เสรีไทย, เปิดตัวหนังสือ โมฆสงคราม: บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส (ฉบับปรับปรุง), รับฟังบทเพลงประสานเสียงโดยวงสวนพลูคอรัส, รับชมการแสดงละครใบ้โดย Babymime, รับฟังเรื่องเล่าและข้อคิดทางประวัติศาสตร์ใน 16 นาที/“16 Minutes History ประวัติศาสตร์เสรีไทย” โดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน, และร่วมรับชมภาพยนตร์ส่งเสริมเสรีประชาธิปไตย เป็นต้น โดยประชาชนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย