ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันปรีดี พนมยงค์ร่วมหารือกับ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เพื่อร่วมงานในวันสันติภาพไทย ประจำปี 2567 และแนวทางการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการในอนาคต

22
มิถุนายน
2567

21 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00 - 15.00 น. ณ ทรู ดิจิทัล ปาร์ค นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ร่วมหารือกับ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เพื่อนำไปสู่การร่วมงานวันสันติภาพไทย ประจำปี 2567 และสร้างความร่วมมือด้านวิชาการและแนวทางเผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในแพลตฟอร์มดิจิทัลสู่ประชาชนทั้งระดับชาติและนานาชาติต่อไปในอนาคต

 

 

สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการฯ ได้นำทีมนักวิชาการสถาบันฯ ร่วมหารือกับ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน

นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานในวาระ “79 ปี วันสันติภาพไทย ประจำปี 2567” ที่จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เวลา 14.00-20.00 น. และได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของวันสันติภาพไทย และขอเรียนเชิญ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ขึ้นเป็นวิทยากรในกิจกรรม talk show ในหัวข้อ “16 Minutes History ประวัติศาสตร์เสรีไทย” และร่วมพูดคุยในกิจกรรมเปิดตัวหนังสือ “โมฆสงคราม: บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส”

ในการนี้ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ได้เห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์เสรีภาพและสันติภาพของชาติ และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าร่วมเป็นวิทยากรรับเชิญในกิจกรรมทั้งสอง

 

 

ทั้งนี้ นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ด้านวิชาการและความสำคัญของการเผยแพร่ผลงานวิชาการของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ว่ามีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่และส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องโดยอ้างอิงจากหลักฐานที่เชื่อถือได้ต่อผู้ที่มีความสนใจ และมุ่งขยายขอบเขตแห่งความรู้สู่การเผยแพร่ผลงานวิจัยในแพลตฟอร์มดิจิทัล อาทิ เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม เว็บไซต์ ยูทูป เพื่อเป็นช่วงทางในการเข้าถึงความรู้และเพิ่มโอกาสให้ประชาชน ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ อย่างเสรี

 

 

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจทางด้านประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากลและมีความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสาธารณะบนแพลตฟอร์มดิจิทัล มีเป้าหมายและอุดมการณ์ในทิศทางเดียวกัน จึงหาแนวทางในการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการและแนวทางเผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในแพลตฟอร์มดิจิทัลสู่ประชาชนทั้งระดับชาติและนานาชาติต่อไปในอนาคต อาทิ podcast โครงการวิจัย และการเผยแพร่ประวัติศาสตร์สมัยกรุงเทพมหานครทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นต้น