ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

โลกภายใน อำนาจร่วม และ “บุพกาลี”

21
กรกฎาคม
2567

Focus

  • บทความนี้พาไปชม ละครเวทีที่ดัดแปลงมาจากบทละครเรื่อง ‘God of Carnage’[1] (“Le Dieu du carnage”) ผลงานสร้างชื่อของนักประพันธ์หญิงชาวฝรั่งเศส ยัสมินา เรซา (Yasmina Reza) ด้วยรางวัล Laurence Olivier Award สาขา Best Comedy และ Tony Award สาขา Best Play ก่อนเปิดการแสดงที่บรอดเวย์รอบปฐมทัศน์ในโรงละคร Bernard B. Jacobs วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2009 ‘God of Carnage’ และในประเทศไทยเคยเปิดการแสดง ครั้งแรกเมื่อ 8-10 กุมภาพันธ์ 2556 ใน เทศกาลละคร “ก่อนจบ 2556” ชื่อไทย ‘บ้านบึ้ม’ กำกับโดยนักศึกษา พรรณิภา ถิระพงศ์ ศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อีกครั้ง ณ โรงละครทองหล่ออาร์ตสเปซ 15 มีนาคม-9 เมษายน 2561 กำกับโดย อ. ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ และในปี 2567 สร้างเป็นละครเวทีในชื่อ “บุพกาลี” ดัดแปลงบทโดย ชลเทพ ณ บางช้าง จัดแสดง ณ โรงละครกาลิเลโอเอซีส  เมื่อวันที่ 20-30 มิถุนายน 2567
  • บทสรุปเกี่ยวกับประเด็นเยาวชนจากละครเวทีเรื่อง “บุพกาลี” (God of Carnage-Le Dieu du carnage) มี 5 ประการได้แก่ 1. เด็กจะเติบโตเป็นคนแบบไหน ล้วนรับ ปัจจัย-เหตุ จากระบบนิเวศน์รอบตัว 2. ละครของเรื่อง “บุพกาลี” บอกเล่าความจริงในสาเหตุของลูกที่มีความก้าวร้าวรุนแรง 3. มารยาททางสังคม การเจรจาแนวนักการทูต ไม่ได้พูดความจริง 4. ปัญหาของความรุนแรงทุกระดับ ล้วนเริ่มจากเรื่องที่คิดว่าเล็กน้อย 5. ที่สุดของการแก้ปัญหาหากมุ่งใช้อำนาจ จะไม่สามารถแก้ไขความรุนแรงใด ๆ ได้เลย ตรงข้าม…การไม่ใช้อำนาจยิ่งทำให้มีอำนาจ
  • ในบริบทปัญหาเยาวชนในไทยยังได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเยาวชนกระทำผิด โดย ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษกในรายการ “เอื้อย TALK”  สำนักข่าวมติชน

 


photo : “บุพกาลี” (God of Carnage)

 

“บุพกาลี” (God of Carnage)

จุดเริ่มต้นหน่วยแรกและสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของมนุษย์คือ ‘บุพการี’ ผู้ซึ่งเริ่มสร้าง ‘โลกภายใน’ และมีหน้าที่โดยตรงต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้ให้กำเนิด ก่อนเกิดปัจจัยแวดล้อมอื่นอันจะมีผลต่อการเติบโตของสิ่งมีชีวิตที่เรียกกันว่า ‘คน’ ต่างเต็มไปด้วยเหตุผลที่ละเอียดอ่อน ซับซ้อน และซ่อนเงื่อนมากมาย หนึ่งในหลายวรรณกรรมบทละครที่สะท้อนปมประเด็นที่เป็นปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีคือ “บุพกาลี” ละครเวทีที่ดัดแปลงมาจากบทละครเรื่อง ‘God of Carnage’[2] (“Le Dieu du carnage”) ผลงานสร้างชื่อของนักประพันธ์หญิงชาวฝรั่งเศส ยัสมินา เรซา (Yasmina Reza) ด้วยรางวัล Laurence Olivier Award สาขา Best Comedy และ Tony Award สาขา Best Play ก่อนเปิดการแสดงที่บรอดเวย์รอบปฐมทัศน์ในโรงละคร Bernard B. Jacobs วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2009 ‘God of Carnage’ ได้เปิดการแสดงมาแล้วหลายปีในหลายประเทศแถบยุโรป  เป็นการแสดงติดกันหลายเดือนตลอดเวลา 3 ปี ในอเมริกา ครั้งสุดท้ายปี 2011/2554 ที่ Ahmanson Theatre ในลอสแองเจลิส รายได้ทำลายสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศทั้งหมดในขณะนั้นเกือบ 8 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลา 8 สัปดาห์ และในปีนั้น 2011 Roman Polanski ผู้กำกับมากฝีมือชื่อดังได้สร้าง “God of Carnage”[3] เป็นภาพยนตร์ ถ่ายทำในนครปารีสฝรั่งเศสมี โจดี้ ฟอสเตอร์ - จอห์น ซี. ไรลีย์ รับบทเพเนโลพี (อุมา-วิษณุ / ไมเคิล คริสตอฟ วอลทซ์ และ เคต วินสเล็ต รับบทอลันและแนนซี่ (กฤษณ์-มัทนี) และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในเทศกาลหนัง VENICE FILM FESTIVAL และ LONDON FILM FESTIVAL ในปีเดียวกัน

 


photo : www.imdb.com[4]

 

GOD OF CARNAGE (LE DIEU DU CARNAGE)  ในประเทศไทยเคยเปิดการแสดง ครั้งแรกเมื่อ 8-10 กุมภาพันธ์ 2556 ใน เทศกาลละคร “ก่อนจบ 2556” ชื่อไทย ‘บ้านบึ้ม’ กำกับโดยนักศึกษา พรรณิภา ถิระพงศ์ ศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อีกครั้ง ณ โรงละครทองหล่ออาร์ตสเปซ 15 มีนาคม-9 เมษายน 2561 กำกับโดย อ. ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์, ผลงานศิลปะการแสดงนิพนธ์ (เทศกาลละคร BU PLAYFEST 2023) บทภาษาไทย “บ้านบึ้ม” โดย ชลเทพ ณ บางช้าง กำกับโดยนักศึกษา ภูธิป กำจัดภัย Black Box Theatre มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วันที่ 16-18 มีนาคม 2566

ผ่านไป 6 ปี อ. ดำเกิง สำเริงอีกครั้งด้วยทีมเดิม พ่อแม่ต่างสายพันธ์ุมาเจอกันด้วยการนัดหมาย พร้อมสู้ตายอีกหนโดยนักแสดงมากฝีมือชื่อการันตี ดวงใจ หิรัญศรี (อุมา), ภัทรสุดา อนุมานราชธน (มัทนี), เกรียงไกร ฟูเกษม (กฤษณ์) ล้วนนักแสดงแคสเดิม เพิ่ม ปราโมทย์ แสงศร มาดเซอร์ในบท วิษณุ เสริมด้วย ปริยา วงษ์ระเบียบ มาเสียบ Double Cast ในบทมัทนี (ภัทรสุดา อนุมานราชธน แสดงรอบ 20-23 มิ.ย. 2567 / ปริยา วงษ์ระเบียบ (รอบแสดง 27-28-30 มิ.ย. 2567) มีคิวโดดในวันที่ปราโมทย์ติดภารกิจกะทันหัน ชลเทพ ณ บางช้าง ผู้แปลและดัดแปลงบทเท่านั้นที่สามารถกดปุ่มแสดงแทนได้ทันโดยไม่ลืมบท (วิษณุ) ตัวละครทั้ง 4 คน ต่างได้รับบทเข้มคู่ควร โดยเฉพาะในแคสแรก ดวงใจ-ปราโมทย์ / ภัทรสุดา-เกรียงไกร ต่างโดดเด่นเห็น type เฉพาะตัวที่มี ‘ตน’ เข้ามาเป็นคนรวมร่วมแสดง ฝีมือแกร่งเหมือนนั่งดูเรื่องจริงที่มีคนประเภทนี้สิงสู่อยู่ใกล้ตัว ชวนหัวเมื่อปราโมทย์มัวลืมบท ซึ่งสุดโหดสำหรับคนที่ร้างราละครเวทีไปนาน เพราะมัวสำราญกับหนังสั้น (ปราโมทย์ดังจากหนังยาวโรงใหญ่ครั้งวัยรุ่นเรื่อง “กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้” ยุค 90 ของค่ายไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์)

 


photo : “บุพกาลี” (God of Carnage)

 

“บุพกาลี” ดัดแปลงบทโดย ชลเทพ ณ บางช้าง
(จากบทประพันธ์ “Le Dieu du carnage” ของ Yasmina Reza)
กำกับการแสดงโดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
ออกแบบแสงโดย ทวิทธิ์ เกษประไพ
วันวิสาข์ บัวศรี กำกับเวทีและอุปกรณ์ประกอบฉาก
Production Mamager โดย ศิรเมศร์ อัครภากุลเศรษฐ์
กรุงเทพฯ : ณ โรงละครกาลิเลโอเอซีส  เมื่อวันที่ 20-30 มิถุนายน 2567
คิวสัญจร : เทศกาลละครร่วมสมัยหาดใหญ่ ครั้งที่ 1
[5] 
ณ โรงละครเสน่หา (Sanehar Paradiso) ชั้น 2 ลีการ์เดนส์ หาดใหญ่
จัดแสดงในวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 รอบ 14.00 น. / 18.00 น.

ผู้กำกับท่านยืนยันว่าเป็น ละครพูด มีร้องเพลงเล็กน้อยตอนเริ่มเมา เป็นละครตลกร้ายกาจ ว่าด้วยเรื่องการเจรจาอย่างผู้เจริญรวยอารยะ ระหว่างพ่อแม่เด็กที่ลูกรักของทั้งสองฝ่ายตีกัน แต่ดันมีอะไรไปไกลเกินกว่าการเยียวยา เมื่อความไม่พอใจภายในถูกขับออกมาพร้อมด้วยหน้ากากแห่งจริยธรรม ที่มุ่งมั่นเรียกร้องให้ผู้อื่นทำตามบรรทัดฐานที่ตนเองต้องการ เมื่อลูกชายของสามีภรรยาคู่หนึ่งได้ทําร้ายลูกชายของอีกคู่หนึ่งที่ห้างกลางกรุง ผู้ปกครองของเด็กทั้งสองฝ่ายจึงพบกันเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมีอารยะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพ่อแม่กลับกลายเป็นเด็กมากขึ้นเรื่อย ๆ  แล้วการนัดพบกันก็กลายเป็นความวุ่นวายและหายนะ เรื่องถูกแปลงให้เป็นบริบทไทย แรกเข้าใจว่าน่าจะขันขื่นแต่ชื่นมื่นหัวใจไม่หนักนัก แต่ผิดคาด พวกฟาดกันด้วย Dark Comedy ที่มีความเป็น Absurd ขั้นสุด จากเหตุวัยรุ่นตีกันหน้าห้างใหญ่ สามย่านมิตรทาวน์ ถิ่นปัญญาชนคนรักประชาธิไตยไปชุมนุมกันในวาระสำคัญ วันประกาศปรากฏการณ์ทางการเมืองอยู่เนือง ๆ (เช่นเรื่องแลนด์ไลด์ของพรรคก้าวไกลกับชัยชนะจากคะแนนเสียงท่วมท้นของคนไทย) โยงใยเข้าเรื่องผู้ใหญ่ในปมปัญหาปัจเจก ไปจนถึงความขึงตึงในชีวิตคู่ และการต่อสู้ทางทัศนะที่มากันคนละทิศของคนที่ใช้ชีวิตและมีวิธีคิดต่างกัน มาสร้างความปั่นป่วนชวนกะเทาะเปลือกในให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่สุด ๆ ทั้งสี่ด้าน ก่อนคลานกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหลังให้เครื่องดื่มและอาหารร่วมสื่อสารภูมิหลังแบบไม่ยั้งจนยับเยินเกินเยียวยา

 


photo : “บุพกาลี” (God of Carnage)

 

“GOD OF CARNAGE” (เทพสังหาร-เทพแห่งการทำลายล้าง) ถูกสร้างมาในทางของ Satire Comedy ชอบชื่อเรื่องและชื่อตัวละครไทยที่ไม่น้อยหน้า บ้าล้อไปกับเรื่องราวเปิดเปลือยความเป็น ‘คน’ (คน ที่แปลว่าทำให้รวมกัน ชัดเจนในหลายสิ่งซึ่งหลอมรวมกันขึ้นในตัวมนุษย์ ที่ไม่ได้มีด้านเดียว และมันจะเผยออกมาทั้งหมดเมื่อถูกกดดัน…)   ล้วนพระนามจากเทพเจ้าองค์สำคัญในศาสนา มหากาพย์ วรรณคดี “บุพการี” ถูกแปลงเป็น “บุพกาลี” มีความหมายที่ชวนโยงใยกับ “เจ้าแม่กาลี” หรือพระแม่กาลี[6] เทวีผู้ทำลายล้างสิ่งชั่วร้าย เป็นปางหนึ่งของ พระศรีมหาอุมาเทวี หรือพระแม่อุมาเทวี ซึ่งเกิดจากการบำเพ็ญตบะ เป็นชายาของพระศิวะ (หนึ่งในสามมหาเทพสูงสุดแห่งจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ) ด้วยความหวังว่าเผื่อเทพจะมาช่วยกันกู้โลก

วิษณุ - ชวนนึกถึง พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ เป็นเทพเจ้าฮินดูผู้ปกปักรักษาโลก เป็นหนึ่งในสามเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู (ตรีมูรติ พระเจ้า 3 องค์ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ) และได้รับการเคารพบูชาในฐานะพระเป็นเจ้าสูงสุดในลัทธิไวษณพ งานนี้พบความซับซ้อนในตัวตน จนผู้คนหวั่นในความลักลั่นของมนุษย์

กฤษณ์ -  ชวนนึกถึง พระกฤษณะ ตัวละครสำคัญในมหาภารตะหนึ่งในแปดอวตารของพระวิษณุ ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการปกป้องดูแล, ความเมตตา, ความอ่อนโยน และความรัก และในบางธรรมเนียมบูชาในฐานะสวยัมภควัน หรือพระเจ้าสูงสุด ที่มนุษย์ยึดเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณ งานนี้พึ่งไม่ได้ขายหน้าเทพ

อุมา - ชวนให้นึกถึงคุณสมบัติของ พระศรีมหาอุมาเทวี หรือ พระแม่อุมาเทวี เธอมีอุดมการณ์สูงส่งดำรงความเป็นผู้พิทักษ์ รักในมนุษยชาติ ไม่ขาดศีลธรรมจริยธรรม

มัทนี - แปลว่าผู้ทำให้ผู้อื่นหลง-กามเทพ ชวนนึกถึงเทพเจ้าแห่งความรัก เธอมักทำตัวให้ดูดีในทุกที่เสมอ แต่งานนี้เผลอเสียฟอร์ม

 


photo : “บุพกาลี” (God of Carnage)

 

อุมา นักเขียนปัญญาชน  นักสิทธิมนุษยชนหัวก้าวหน้า) ชอบประดับประดาบ้านช่องที่เต็มไปด้วยหนังสือด้วยต้นไม้ดอกไม้ บอกความอ่อนโยนของจิตใจและความศิวิไลซ์อีกระดับ มีลูกสองคน เบส ผู้หญิง 9 ขวบ/บอส ผู้ชาย 11 ขวบ มีคุณสมบัติที่เป็นตัวแทนของผู้มีจิตสำนึกต่อสังคมสูงส่ง บทบอกตรงประเด็นเรื่องการสู้รบกับรัฐเผด็จการของชาติพันธุ์ในพม่า ว่าเป็นเรื่องที่นานาชาติควรต้องให้ความช่วยเหลือตรงข้ามกับทนาย กฤษณ์ ที่มองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าวิตกแต่อย่างใด (ไม่ใช่แค่รํู้สึกไกลตัว แต่บอกวิธีคิดแบบ 'ไทยเฉย' เลยเห็นเป็นเรื่องเล็ก) 

วิษณุ สามีผู้รู้สึกว่าตัวเองถูกเมียชอบกำกับให้รับบท บุปผาชน คนรักษ์โลกโฉลกกับสารรูปนักแล แต่เขาไม่ชอบสัตว์ติดดิน แพ้กลิ่นแพ้ขนจนต้องแอบเอาเจ้าหนูแฮมสเตอร์ของลูกสาวไปปล่อยข้างถนน เพื่อให้มันดิ้นรนหนีเข้าป่าไปตามประสา แม้ว่าถูกถากถางอย่างใจร้ายเพราะปล่อยไว้ข้างทาง แต่หนูมันมีพื้นเพเป็นสัตว์ถึกในทะเลทรายกระจายยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชียกลาง จนมาถึงเอเชียตะวันออก ก่อนจะกลายพันธุ์เลื่อนขั้นเป็นคุณหนูไฮโซที่อเมริกา กว่าจะมาถึงเมืองไทยได้มันก็น่าจะอึดถึกฮึกสู้กู้ชีวิตได้ไม่ตายอนาถนัก หรืออีกนัยบทอาจต้องการบอกด้านมืดของอิสรชนคนเสรี? ที่ดูเหมือนอ่อนโยนรักธรรมชาติ แต่มีอำนาจมืดที่มองไม่เห็นเร้นอยู่ภายใน ใครอย่ามาพ่นพิษใส่กูจะไม่ไว้ชีวิตมัน คือความลักลั่นอันชอบธรรม

 


photo : “บุพกาลี” (God of Carnage)

 

สองคนผัวเมียกฤษณ์กับมัทนี  ตัวแทนทุนนิยมตัวยง กับบทยาวเหยียดยอดเยี่ยมที่ต้องพลุ่งพล่านพูดมากทั้งในฉาก-นอกฉากจากโทรศัพท์สลับกันอยู่ตลอดเวลา มีวิธีคิดแบบคนรวยใช้เงินช่วยแก้ปัญหา และคิดว่ามันบันดาลทุกสิ่งที่ต้องการได้ มีลูกรุ่นเดียวกับบอสอายุ 11 ปี เฟิร์ส ถูกเพื่อนล้อว่า ขี้ฟ้อง เป็นเหตุให้น้องใช้ไม้ตีบอสจนฟันหน้าหัก แต่พ่อกฤษณ์เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กขี้ปะติ๋ว (“ไม่ได้ตบจนหูแตกซะหน่อย”…แล้วมันต่างกันตรงไหนในความก้าวร้าวรุนแรง?) ความวายป่วงที่เริ่มหนักหน่วงคุกคามจากปัญหาคู่กรณีตีกันยาวยันต้นเหตุของการให้กำเนิดลูก และการใช้ชีวิตคู่ (มีคำถามคลาสสิกตีแสกหน้าให้เห็นต้นเค้าของปัญหาฟาดมาเป็นระยะ) จากมุมของความเป็นปัจเจก ลามเรื่อยไปสู่ลูกซึ่งซึมซับรับรู้พฤติกรรม ซ้ำถูกส่งต่อเป็นมรดกทั้งด้านดีและด้านลบ แล้วส่งผลกระทบต่อสังคม บทชี้ชัดให้หัดมองเห็นถึงรากเหง้าของปัญหา ว่าแท้จริงแล้วต้นแบบของความก้าวร้าวรุนแรงลูกรับมากับใคร? เพราะเด็กเป็นปีศาจเองโดยกำเนิดไม่ได้แน่นอน (พัฒนาการของคนในมิติทางสังคม คำว่า ‘เป็นมาแต่กำเนิด’ จึงใช้ไม่ได้ในตรรกะมนุษย์ศาสตร์)

มัทนี - ก็คุณชอบหนีชอบไปมีเรื่อง ฉันจะตายห่าอยู่แล้วเนี่ย ทุกที่ทั้งในบ้าน โรงเรียน สนามเด็กเล่น หนีตลอดเลย  คุณหนีแล้วเป็นฉันที่ต้องตามเช็ด  ฉันเหนื่อยยยย…

อุมา - ฟาด ถ้าเบื่อขนาดนั้นทำไมมีลูกด้วยกันตั้งแต่แรกล่ะคะ ?

มัทนีกระอักอ้วกพุ่งทะลักออกมาแทนคำตอบ (ทำอาเจียนเนียนเหมือนของจริง สาดใส่หนังสือที่ควรอยู่บนหิ้งอย่างทรงคุณค่าของครูละคร แต่วางซ้อนกันอยู่ที่พื้น ภาพปกยิ้มรื่นด้วยใบหน้าโปะแป้งหนาขาววอกแบบ Butoh เหมือนใส่จากการแสดงเรื่อง “ร่ายพระไตรปิฎก” โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน สัญลักษณ์ของ “อนัตตา” ถูกนำมาเสริมเติมความหมาย satire มัทนี ขณะที่หมดสภาพ ความเครียดกำราบ ให้ถอดหัวโขนเหมือนโดนกระชากหน้ากากที่พยายามปกปิดจิตป่วนออกไป)

ปัญหาเรื้อรังในชีวิตคู่ถูกขุดอดีตออกมาระบายบอกหัวใจระบม ขมขื่นในความสัมพันธ์แท้จริงของทุกคู่ ที่มักจะมีอยู่ทั้งสองด้านในการใช้ชีวิตร่วม ทำเอาเธออ่วมจนรู้สึกเหนื่อย อาการแพนิกกำเริบออกมาฟ้องเรียกร้องความใส่ใจ (Panic Disorder[7]  โรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง หรือเรียกว่า โรคตื่นตระหนก ผู้ที่เป็นมักมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนก ชั่วขณะ ฯลฯ )

วิษณุ - คุณไม่มีทางควบคุมสิ่งที่ควบคุมคุณอยู่ได้หรอก

(วิษณุปลอบมัทนี กับคนที่กำลังรู้สึกแย่ให้ยอมรับแล้วปรับใจ แต่ไม่มีใครใส่ใจ เพราะทุกคนสนใจจะพูดแต่เรื่องของตัวเอง และสิ่งที่ตัวเองคิดเท่านั้น ไม่ว่าเวลานี้หรือเวลาไหน น้อนคนที่จะใฝ่ฝึกฝนเพื่อเป็นผู้ฟัง ทั้งที่ยังประโยชน์มหาศาล)

 


photo : “บุพกาลี” (God of Carnage)

 

กฤษณ์ - อุมาเราสนใจอะไรที่นอกเหนือไปจากตัวเองไหม

(โยนคำถามเด็ดเอ็ดใส่คุณแม่ ‘นักเขียน’ สถานะที่มักถูกลากเข้านิยามความเป็น “ศิลปิน” ว่าเป็นพวกปัจเจกเอกอัตตา และมีโลกส่วนตัวสูงส่ง ดำรงความเป็นนักปราชญ์ผู้เลิศปัญญา ทว่าสถิตอยู่บนหอคอยงาช้าง รักษาระยะห่างระหว่างผู้คนกับตนเอง)

คนเราเกิดมาก็ต้องคิดว่ามันจะมีอะไรมาเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตเราดีขึ้น หรือเราอาจเป็นคนที่จุดประกายให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้เกิดมาเพื่อมวลรวมแห่งชาติ บางคนก็ชอบทำตัวเฉื่อย ๆ เป็นนิสัย บางคนไม่ยอมรับหรอกว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว มันก็ดิ้นรนจนตายห่า ไอ้คนสองประเภทนี้มันต่างกันยังไง สุดท้ายมันก็แค่ใช้ชีวิตเพื่อเอาตัวเองรอด ไอ้การศึกษาเนี่ยคือวิบากกรรมของโลกใบนี้  คุณเป็นนักเขียนใช่ไหม ผมเข้าใจว่าคุณก็ต้องหาโศกนาฏกรรมในประวัติศาสตร์ของชาตินี้ว่ามันมีอะไรบ้าง ทำเพื่อใคร? สุดท้ายคุณก็ทำเพื่อตัวของคุณเอง

อุมา - ฉันไม่ได้เขียนหนังสือเพื่อตัวเอง คุณไม่เคยอ่านงานฉันคุณไม่รู้หรอกว่าหนังสือฉันพูดเรื่องอะไร…

กฤษณ์ - ถึงรู้ก็ไม่ได้ต่างกันหรอก (ทัศนคติที่แตกต่างไม่ช่วยให้เข้าใจในทางที่ถูกต้องตรงกัน)

อุมาตอบโต้มุมมองคับแคบและค่านิยมหยิบโหย่งของคนที่อยู่ในอีกโลก มีอีกชุดของความคิดความเข้าใจอย่างไม่ซีเรียสนัก ในขณะที่กำลังวุ่นอยู่กับการเช็ดอาเจียนกำจัดกลิ่นอ้วกของมัทนี แต่เธอยังสติดีพอที่รู้ว่ากำลังพูดจาอยู่กับคนประเภทไหน จะไม่มีทางเข้าใจกันอย่างแท้จริงได้เลย โดยเฉพาะในเวลาที่ต่างคนต่างต้องการเป็นผู้พูด ไม่พร้อมที่จะเป็นผู้ฟัง ตามเจตจำนงที่ตั้งใจมาเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน

อุมา - ทำไมเราต้องมองเรื่องทุกอย่างให้มันดูวุ่นวายน่าเบื่อ ทำให้มันเป็นเรื่องเล็ก ๆ บ้างได้มั๊ย ฮึ เล็ก ๆ ก็พอ 

กฤษณ์ - ผู้หญิงคิดมากไป

มัทนี - โอ้โห ผู้หญิงคิดมากไป จะพูดอีกบ่อยมั๊ยคำนี้

อุมา - คิดมากไป ฉันไม่รู้หรอกนะว่าคุณหมายความว่าอะไร แล้วฉันก็ไม่รู้ด้วยว่าคนเราจะเกิดมาทำไม ถ้าไม่มีศีลธรรมจริยธรรม

มัทนี - เรามาที่นี่เพื่อเรื่องลูกไม่ได้สนใจชีวิตคู่ของเค้า

กฤษณ์ -  มันก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ไง

อุมา - มันเกี่ยวอะไรกับชีวิตแต่งงานของเรา

วิษณุอนันตริยกรรม  มันเกี่ยวอยู่แล้ว  คุณต้องยอมรับก่อนว่าการมีลูกมันกัดกร่อนชีวิตเรา มันกัดกินมันทำให้ชีวิตเราพัง เราจะอยู่ได้อีกก็ไม่เกินสิบปี สิบห้าปี ก็ตายห่าแล้ว ไม่เป็นมะเร็งก็หัวใจวาย สโตรก  แล้วจะมีลูกมาบั่นทอนชีวิตทำไมวะ

กฤษณ์ -  เขามีสิทธิแสดงความคิดเห็น ผมว่ามันโคตร make sense เลยนะ

 


photo : “บุพกาลี” (God of Carnage)

 

การปรับบทให้เข้ากับปัจจุบันในบริบทไทยพุทธ คือเด็ดสุดขุดสันดาน เห็นความต่างหลายด้านของแต่ละกลุ่ม ที่มะรุมมะตุ้มต่อการรับมือกับนวัตกรรม ที่กลายขนานไปกับวิบากกรรมของผู้คนบนยุคสมัยในปัญหาเดียวกัน คั้นใส่จนสุดกับมุกมุมมองของบุพการีที่มีต่อบุตรผ่านวิษณู (ผู้ที่น่าจะมีทัศนะตรงข้ามกับสิ่งที่เขาสื่อสาร) ค้านกับบุคลิกติสต์แตกแบกโลกว่า พันธะสูงสุดกลายเป็นภาระของพ่อแม่ที่ถูกลูกยัดเยียด ทุกพฤติกรรมการเรียกร้องของลูกกลายเป็นบาปกรรมสูงสุดที่มนุษย์ลูกกระทำ จนเปรียบได้กับ อนันตริยกรรม[8]  (ตะ-ริ-ยะ-กํา คือ กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด น. กรรมที่ให้ผลไม่เว้นระยะ มี ๕ อย่าง คือ ๑. ฆ่าบิดา ๒. ฆ่ามารดา ๓. ฆ่าพระอรหันต์ ๔. ทําให้พระกายพระพุทธเจ้าห้อเลือด ๕. ทําให้สงฆ์แตกแยกกัน) นั่นเท่ากับบทต้องการสื่อสารอีกด้านของ “บุปผาชน” คนโลกสวยที่มีมิติทางความคิดต่างออกไปจากฮิปปี้เจ้าสำราญยุคหลังสงครามโลกอย่างสิ้นเชิง

บทบอกวิสัยทัศน์ของ “บุปผาชน คนรุ่นใหม่” ที่มีอิสระต่อการใช้ชีวิต ไม่ได้คิดจะรับผิดชอบใครให้เป็นภาระ คือปัญหาใหม่ในโลกปัจจุบันที่เกี่ยวพันกับอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง ผู้คนมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตเสรีไม่มีพันธะ อิสระจากคำว่า “ครอบครัว” กลัวการรับผิดชอบ หลายประเทศจึงกำลังเผชิญกับภาวะของสังคมผู้สูงอายุ บั่นทอนวัฏชีวิตของมนุษย์ หยุดพลวัตพัฒนาเผ่าพันธุ์ และกลไกการสร้างสรรค์สังคมโลก วิษณุ ผู้ที่คิดว่าภาระจากการมีลูกคือ ‘อนันตริยกรรม’ อีกด้านเขาเป็นลูกที่ดี มีความอ่อนโยน ดูแลผู้คน วุ่นวนรับโทรศัพท์แม่ที่กระหน่ำโทรมาปรึกษากลัวปัญหาการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดชนิด mRNA[9] กับผลข้างเคียงว่าควรเสี่ยงดีไหม? มันคือเรื่องเดียวกันอาการการสาลวนโวยวายอยู่กับโทรศัพท์ของกฤษณ์ ที่กำลังวุ่นวายกับงานแก้ข่าวจากผลข้างเคียงของการฉีด วัคซีน mRNA ที่มีผู้คนร้องเรียนทำความเสียหายให้บริษัท (ลูกความ) และเขาต้องรีบเข้าไปประชุมด่วนแก้ปัญหา แต่ดึงตัวเองออกไปไม่ได้ซักที จนเมาได้ที่ร่วมกัน เกรียงไกรจึงมีบทยาวเหยียดกว่าทุกคน โวยวนอลหม่านพลุ่งพล่านทั้งเรื่องงานเรื่องส่วนตัวมั่วไปมาอย่างน่าทึ่ง

อุมา - ฉันขอสั่งห้ามไม่ให้คุณมาตัดสินชีวิตคู่ของเรา ไม่ว่าจะทางไหน 

กฤษณ์ - คุณก็อย่ามาตัดสินชีวิตลูกของผม

อุมา - ลูกคุณมันตีหน้าลูกเรานะ

กฤษณ์ - เด็กตีกันทุกครั้งหลังเลิกเรียนมันเป็นกฎธรรมชาติโว้ย คุณต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่าก่อนที่ความรุนแรงจะยุติ (การใช้กำลัง?)…มันคือความชอบธรรม ผมนับถือเจ้าแม่กาลี คุณสนใจเรื่องโรฮิงยาใช่ไหม…ด้วยมิสซายน์ สตรอม ชาโด ด้วยกระสุนจอดรอรถถัง…ปืนใหญ่ เอ็ม 77…ลูกผมเอาไม้ไปฟาดหน้าลูกคุณผมเลยเฉย ๆ ไง ไม่โวยวายเหมือนบ้านคุณไง

เสียงแสบสวนป่วนรวนเละจนฟังไม่ได้ศัพท์แต่จับใจความสำคัญได้ว่า กฤษณ์อ้างสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ทั่วโลกกำลังหวั่นว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สามตามมา ล่าสุดอังกฤษส่งขีปนาวุธพิสัยไกล สตอร์ม ชาโดว์[10] ไปช่วยยูเครนข่มรัสเซีย นั่นน่าประหวั่นพรั่นพรึงกว่า (เพราะเหตุการณ์ข่าวสารทุกวันมากมาย ที่เสนอความรุนแรงเลวร้ายจากเด็กเยาชน จนเป็นเรื่องปกติไป ไม่ใช่แค่รู้สึกไกลตัว แต่เพราะชินชากับข่าว!! จนเห็นว่าเป็นเรื่องราวธรรมดาไปแล้ว)

 


photo : “บุพกาลี” (God of Carnage)

 

ความจริงที่อยู่ใน ‘ระหว่างบรรทัด’ ของบทละคร Absurd สุดเซอร์ GOD OF CARNAGE (LE DIEU DU CARNAGE) ซึ่งซ้อนไว้เนียนแนบแอบกลไกในการถ่ายทอดผ่านมุมมองของผู้ใหญ่มองผู้ใหญ่ แต่หัวใจคือ “ความเป็นเด็ก” ทั้งเด็กในตัวผู้ใหญ่ และ ผู้ใหญ่ในตัวเด็ก ไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด เพราะหากไม่ใส่ใจในปัญหาเล็กน้อยปล่อยให้ผ่านรอกาลกลบเกลื่อน ความก้าวร้าวจะรุนแรงเลวร้ายหายนะโตตามวัยไต่ลำดับ สาวก Absurdism[11] โปรดสดับรหัสลับที่ซ่อนอยู่ใน Satire Comedy ‘สารเสียดสี’ บอกให้เราสู้ช่วยกอบกู้ไปด้วยกัน อย่าคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของฉันแล้ววางเฉย ปล่อยให้มันล่วงเลยตามทางของ ‘ตถตา’ เพราะว่านี่ไม่ใช่ความเป็นไปในแบบธรรมชาติวิถี แต่เป็นเรื่องที่ต้องการความช่วยเหลือจากทุกคนในสังคมเพราะ

  1. เด็กจะเติบโตเป็นคนแบบไหน ล้วนรับ ปัจจัย-เหตุ จากระบบนิเวศน์รอบตัว โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัว เด็กจะสะท้อนพื้นฐานการเติบโตตามสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจน เป็น ‘เงา’ ที่ได้รับจากผู้ใหญ่ที่ไม่ใช่แค่พ่อแม่เท่านั้น และที่สำคัญเด็กไม่ได้ Bron to be หรือมีเจตจำนงอิสระที่จะกระทำใด ๆ ไปตามสัญชาติญาณ
  2. ละครของเรื่อง “บุพกาลี” บอกเล่าความจริงในสาเหตุของลูกที่มีความก้าวร้าวรุนแรง ล้วนได้รับการ ‘บ่มนิสัย’ ใส่ความเป็น ‘เด็กผีปีศาจ’ จากพ่อแม่ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ในทุกครอบครัวไม่แตกต่าง (ทนายกฤษณ์กับลูกเฟริสต์ที่เกิดมาเป็นเทวดาของพ่อแม่ก็เช่นกัน บทให้ความสำคัญชัดเจนเมื่อมัทนีฟูมฟายระบายความในใจให้คู่กรณีฟัง)
  3. มารยาททางสังคม การเจรจาแนวนักการทูต ไม่ได้พูดความจริง ในสิ่งที่เป็นสันดาน ด้านลึกของผู้มนุษย์ แต่ไม่มีใครหยุดตัวตนแท้จริงจากภายในของใครได้ สองครอบครัวตัวแทน ‘สุภาพชน’เหมือนอยู่กันคนละเผ่าพันธุ์ วรรณะ การปะทะสังสันท์ในช่วงเวลาสั้น ๆ ส่งสารบอกสันดานธาตุแท้ เหล้าเป็นแค่ตัวกระตุ้นดุนมันออกมา ในเวลาที่ทุกคนต้องการพ่นเรื่องของตัวเอง
  4. ปัญหาของความรุนแรงทุกระดับ ล้วนเริ่มจากเรื่องที่คิดว่าเล็กน้อย แล้วไม่ได้รับการแก้ไขหรือใส่ใจอย่างจริงจัง มันจึงฝังเป็นเชื้อร้ายลุกลามทวีความรุนแรงขึ้น เหตุสะเทือนขวัญล้วนเกิดจากปัญหาเล็ก ๆ ที่ฝังลึกรอเวลาระเบิดแม้ในกันทะเลาะเบาะแว้งที่แสดงออกของเด็กเล็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ก็ต้องไกล่เกลี่ยด้วยเมตต ตามระดับความรุนแรงของปัญหา ไม่ใช่ปล่อยมันไปตามประสาเด็ก
  5. ที่สุดของการแก้ปัญหาหากมุ่งใช้อำนาจ จะไม่สามารถแก้ไขความรุนแรงใด ๆ ได้เลย ตรงข้าม…การไม่ใช้อำนาจยิ่งทำให้มีอำนาจ เจตจำนงแรกมา สองครอบครัวพยายามแก้ปัญหาด้วย ‘อำนาจร่วม’ แต่ความจริงคือต่างฝ่ายนิยมถือครองและอยู่ตรงข้ามกันระหว่าง ‘ทุนนิยม’ กับ ‘มนุษยนิยม’ บอกภูมิหลังชีวิต ที่มาของวิธีคิด เหตุวายป่วงกำลังทวงความเป็นธรรมให้กับลูก เด็กกลายเป็นผู้รับมรดกทางพฤติกรรมมา เทพฤทธาองค์ไหนก็ช่วยไม่ได้ หากไม่แก้ที่ตัวพ่อแม่ก่อน ‘ทำให้เห็น’ เป็นวิธีการสอนที่ประเสริฐสุด

 


photo : “บุพกาลี” (God of Carnage)

 

เทศกาลละครร่วมสมัยหาดใหญ่ครั้งที่ 1 ณ โรงละครเสน่หาเธียเตอร์

ชั้น 2 ลี การ์เดนส์ พลาซ่า วันที่ 26-28 กรกฎาคม 2567

การแสดงเรื่อง “ENDSTATION”

ได้รับแรงบันดาลใจจาก “A Streetcar Named Desire” หนึ่งในละครเวทีที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาโดย เทนเนสซี วิลเลียมส์ จัดแสดงในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 19:00 น. (รอบที่ 1) วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2567 เวลา 14:00 น. (รอบที่ 2) และ เวลา 19:00 น. (รอบที่ 3)

การแสดงเรื่อง “บุพกาลี”

ละครตลกร้ายจากบทละคร “Le Dieu du carnage” โดย ยัสมินา เรซา ว่าด้วยเรื่องการเจรจาอย่างอารยะ ระหว่างพ่อแม่เด็กที่ลูกรักของทั้งสองฝ่ายตีกัน แต่ดันมีเรื่องไปไกลเกินเลยจนยากจะเยียวยา เมื่อความไม่พอใจภายในถูกขาก พร้อมกับหน้ากากแห่งจริยธรรม ที่มุ่งมันเรียกร้องให้ผู้อื่นทำตามบรรทัดฐานความต้องการของตนเอง จัดแสดงวันอาทิตย์ 28 กรกฎาคม 2567 เวลา14:00 น. (รอบที่ 4) และ เวลา19:00 น. (รอบที่ 5)

ราคาสำรองที่นั่งราคาเรื่องละ 350 บาท

ราคาเหมาจ่าย 2 เรื่อง ลดเหลือใบละ 600 บาท

สามารถจองและสอบถามรายละเอียดที่หมายเลขโทรศัพท์ 084-2598829

หรือ facebbok page : Sanehar Paradiso

สำรองที่นั่ง https://forms.gle/kfYCxCwnng83LoJd7

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

ใครทำให้เด็กเป็นปีศาจ? : การไม่ใช้อำนาจยิ่งทำให้มีอำนาจ

ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก[12] (อดีตบอร์ดของ สสส. และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว) จากปี 2546 ป้าเป็นเสมือนตัวแทนผู้ทำหน้าที่สำคัญต่อพันธกิจหลักของ ‘ครอบครัว’  ถึงปัจจุบันครบ 20 ปี เป็น 2 ทศวรรษที่ปฎิวัติ คำสั่ง อำนาจ ความสัมพันธ์แนวดิ่ง วิถีวัฒนธรรมคุก ที่เล่นกับด้านมืดของมนุษย์ตลอดเวลาให้กลายเป็น ‘วิชาชีวิต’ เปลี่ยนอาชญากรเด็ก ‘ผู้มีบาดแผล’ ให้กลายเป็น ‘ผู้รอด’ และที่สุดคือ ‘ผู้สร้างแรงบันดาล’ ป้ามลได้วิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาเยาวชนกระทำผิดในรายการ “เอื้อย TALK”[13]  สำนักข่าวมติชน เต็มไปด้วยคมคำถาม ซึ่งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องตอบด่วนด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายในสายอาชีพ-ต่อสังคม คลี่คลายปมหมักหมมที่ค้างคา เพื่อกู้วิกฤตศรัทธาต่อประชาชน และร่วมสร้างอนาคตให้เยาวชนตามทางที่เขาใฝ่ฝัน

 “เวลาเราพูดถึงเด็กมันต้องพลิกอีกด้านหนึ่งของเหรียญ คำถามคือว่า เด็กน้อยเหล่านี้ในวันที่เขาเป็นเด็กน่ารัก ก่อนที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นเด็กปีศาจ เด็กนรกเป็นเด็กเหลือขอ เป็นอาชญากรเด็ก ผู้คนในชีวิตของเขาทั้งในระดับวงในไข่แดง คือครอบครัว พ่อแม่ ชุมชน โรงเรียน เหล่านั้นอยู่ที่ไหนกันหมด เราปล่อยให้เด็ก ๆ เติบโตมาแบบไหนในประเทศนี้ ผู้ใหญ่ทำอะไรกัน เวลาเราพูดถึงเด็กที่ก่ออาชญากรรมไม่ว่าจะรุนแรงระดับไหนเราต้องไม่ลืมที่จะพูดถึงเรื่องผู้ใหญ่ด้วย ถ้าตำรวจทำหน้าที่ตัวเองจริง ๆ เราคงไม่มี ‘กัน จอมพลัง’ คงไม่มี ‘สายไหมต้องรอด’ ต้องแก้ให้ถูกจุดตั้งแต่เริ่มต้น ต้องถามผู้ใหญ่ด้วยว่าได้ทำหน้าที่ดีหรือยัง ปัญหาใหญ่ ๆ มาจากปัญหาเล็ก ๆ ที่ไม่ถูกแก้ไขและลอยนวล”

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

เอื้อย - ประเด็นความรุนแรงทางสังคมจากปัญหาการทำผิดเกี่ยวกับเด็กเยาวชน

ป้ามล - ทุกโศกนาฏกรรมที่มีเด็ก เยาวชน เข้าไปเกี่ยวข้องเรารู้สึกหดหู่ใจ ในฐานะที่เป็นเด็กเขาไม่ควรจะพาชีวิตมาถึงจุดที่มันแย่ที่สุดนะคะ ถ้าเขายังมีชีวิตยืนยาวต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งหมดนี้จะเป็นบาดแผลฉกรรจ์ที่อยู่ในตัวเขา เป็นสิ่งที่เราคิดว่าไม่ควรเกิดกับเด็ก แล้วที่สำคัญยังมีผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่เขาได้ลงมือไปแล้ว แต่จริง ๆ มันคือด้านหนึ่งของเหรียญเท่านั้น … โศกนาฏกรรมนี้เวลาเราพูดถึงเด็กต้องพลิกอีกด้านหนึ่งของเหรียญ เด็กไม่ได้เติบโตเองตามลำพัง ถ้าโฟกัสแค่ตัวเด็กเท่ากับเราลืมหลายศาสตร์ที่เรียนมาว่า…“มนุษย์ต้องเติบโตภายใต้ระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม”

คำถามก็คือว่า เด็กไทยมีระบบนิเวศน์ที่เพียงพอแล้วหรือยัง หรือเหลียวไปทางไหนบนถนนสายใด เรามีแต่กัญชามีแต่กระท่อม แล้วเด็กก็ไม่ได้ใช้กัญชากับกระท่อมในแบบที่เป็นยาเหมือนผู้ใหญ่ อย่างที่นักการเมืองพูด เราไม่ได้ปฏิเสธว่ากัญชากระท่อมไม่มีคุณสมบัติแบบนั้น (ทางการแพทย์) แต่ว่าถ้าคุณไม่ไร้เดียงสาจนเกินไป ถ้าคุณไม่หลับหูหลับตาจนเกินไป ถ้าเราไปถึงบ้านเด็กบางคน มีน้ำปลา มียาแก้ไอ มีใบกัญชา มีทรามาดอล[14] ซึ่งยาเหล่านี้ถูกนำไปใส่รวมกันกินเพื่อเมา เมาเพื่อโชว์พาว (power) เพื่อจะได้ทำในสิ่งที่ปกติธรรมดาไม่กล้าทำ ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ถ้ามองไม่เห็นมุมนี้ของเด็ก คุณก็ไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ที่จะมาขับเคลื่อนประเทศนี้นะ เพราะว่าคุณตาถั่ว คิดตื้น คุณไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหา

เวลาเราพูดถึงการก่ออาชญากรรมของเด็ก ใช่ เขาต้องผิดเพราะเขาเป็นผู้กระทำ แต่ว่าก่อนมองทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การจัดการเขา ต้องคิดอย่างช้า ๆ คิดอย่างรอบคอบ คิดอย่างไม่เกรงใจที่จะมองทุก ๆ กลไกในประเทศนี้ว่า มันทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบแล้วหรือยัง

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

เอื้อย - อย่างคดีของ ป้ากบ บัวผัน[15] (หญิงสติไม่ดีที่ถูกฆ่า อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว) นี่ไม่ใช่แค่คดีแรก ถ้าย้อนกลับไปเขาตั้งขึ้นมาเป็นแก็งค์ ชื่อ “แกงค์ตังค์ไม่ออก”[16] มีประมาณ 20 คน ทั้งผู้หญิงผู้ชาย มาจากครอบครัวข้าราชการด้วย (ตำรวจ)

ป้ามล - ถ้าพูดเรื่องนี้ป้าอยากเชื่อมโยงไปถึงเด็กที่ “บ้านกาญจนาฯ” นะคะ ตอนนี้ปล่อยไปแล้ว เคยอยู่ในข่าวหน้าหนึ่งค่อนข้างนาน เด็กคนนี้อยู่ใน “แก็งค์เสือ” มี 20 กว่าคน เหมือนกับคดีปล้นอาจารย์บรูซ แกสตัน ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสพระโขนง วันที่เขาปล้นไปกันทั้งหมด 7 คน มี 4-5 คน อายุเลย 18 อีก 2 คน อายุต่ำกว่า 18 หนึ่งในนั้นได้มาอยู่บ้านกาญจนา อีกคนถูกยิงเสียชีวิตไปแล้ว ผู้ใหญ่ที่อายุเลย 18 ก็ไปอยู่เรือนจำ จากการทำงานกับเด็กคนนี้ เราเห็นว่ามันมีพัฒนาการของแก็งค์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งว่า ไม่มีเด็กแก็งค์คนไหนที่ไม่เคย dropout (หรือต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน)

นั่นหมายถึงว่า การที่โรงเรียนผลักเด็กคนใดคนหนึ่งออกไป เด็กไม่ได้เอาแค่ชื่อ นามสกุล ร่างกาย ของเขาออกไป แต่เด็กเอาความเป็น ‘ผู้แพ้’ ออกไปด้วย แล้วผู้แพ้ที่ต้องออกจากโรงเรียนไม่ใช่ปีละคนสองคน แต่ปีหนึ่งมันออกเป็นแสนคน และผู้แพ้กับผู้แพ้เมื่อเขามาเจอกัน ถ้าถามเด็กบ้านกาญจนา คำนี้ (ผู้แพ้) เป็นของเขาไม่ใช่ของป้า ป้าเพียงจดเก็บเอาไว้เท่านั้นเองว่า ในที่สุดมันจะเกิดงาน ‘ชุมนุมเทพ ’ เกิดการปล้น เกิดการโทรม เกิดคดีเยอะแยะไปหมดเลยหลังจาก  dropout มาได้ซักไม่นานตาม timeline ของเขา

ที่บ้านกาญจนาจะให้เด็กเขียน timeline การศึกษาของตัวเอง ทั้งหมดมันมาจบลงที่ ม.ต้น กับ ม. 2 นั่นหมายถึงถูกให้ออกจากโรงเรียนประมาณนั้น หลังออกมาเขาไม่ได้ไปหางานทำ ไม่ได้ไปบววช ไม่ได้ไปอยู่ในพื้นที่ที่จะฟูมฟักตัวเองให้เก่ง และแกร่งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่เคมีของเขามันจะดูดคนมืดกับคนมืด โจรเห็นโจร ผีเห็นผี มารเห็นมาร พลังดูดเหล่านี้ก็จะพาเขามาอยู่ใกล้กัน เมื่อเขาอยู่ใกล้กันคนแพ้กับคนแพ้ก็จะพยายามโชว์พาว ใครเจ๋งกว่าใคร มีเด็กคนหนึ่ง ไปปล้น 7-11 คืนเดียว 16 จุด ไม่ได้เงินเยอะหรอก เขาก็รู้ว่าต้องถูกจับแน่ เพราะมันปรากฏอยู่ในกล้องวงจรปิดหมดแล้ว แต่ระหว่างรอตำรวจ 3-4 วัน เขาไม่ได้หนีไปไหนเพราะไม่มีเงิน ยังอยู่ในแก็งค์เหมือนเดิม แต่สิ่งที่มันเปลี่ยนไปคือ เขาได้ฉายาที่มัน strong มากเลย ปล้น 16 ครั้ง มีความหมายต่อเด็กหนุ่มคนนี้มากเลย คำถามไม่ใช่ว่ามันเลวขนาดไหนที่กล้าทำสิ่งแบบนี้ แต่เราต้องถามใหม่ว่า เราได้ปล่อยให้เด็กเติบโตภายใต้ระบบนิเวศน์แบบไหน ผู้ใหญ่ทำอะไรกันเด็กถึงลงทุนจ่ายแพงเพื่อให้ได้ฉายานี้ (ภาคภูมิในสิ่งที่ผิด)

ดังนั้นเวลาที่เราพูดถึงเด็กที่ก่ออาชญากรรมรุนแรงไม่ว่าระดับไหน เราต้องไม่ลืมที่จะพูดเรื่องผู้ใหญ่ด้วย

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

เอื้อย - อย่าง “แก็งค์ตังค์ไม่ออก”[17] นี่ปล่อยมาได้ยังไง 7-8 คดี จนถึงขั้นฆ่าคน ถ้าโดนจับตั้งแต่คดีแรกจะมีคดีนี้ไหม เลยต้องย้อนถามผู้ใหญ่รอบตัว

ป้ามล - ระหว่างที่เด็ก ๆ อยู่ในด้านมืด เทา ดำ จนมืดสนิทนี่นะคะ เขาก็จะเจอผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือตำรวจ ทำไมเด็กไม่กลัวตำรวจ เด็กเล่าให้ฟังว่า “เวลาเจอตำรวจยามวิกาลมันเหมือนโจรเห็นโจรน่ะป้า” เพราะตำรวจก็แบ่งยาบ้ากับเขา ตำรวจก็ขายยาบ้าให้เขา เวลาพูดความจริงคนก็ด่าว่าเราไม่เห็นเด็กที่มีปัญหาเลย อยากขอให้คนที่ฟังเรื่องเหล่านี้ต้องแบ่งใจว่า การแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม ถ้าเราไม่โฟกัสให้ถูกจุด เรากำลังลากสังคมไทยให้เข้ารกเข้าพงไปด้วย ซึ่งป้าก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับสังคมเหมือนกันไง ป้าไม่ยอมอยู่แล้วที่จะลากสังคมเข้าป่าไป

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว บ้านกาญจนาฯ มีเด็กคนหนึ่งที่มาด้วยคดีฆ่าปาดคอแท็กซี่ แถวท่าอิฐ นนทบุรี ตอนก่อคดีมีอายุ 16-17 เริ่มจาก ลักวิ่ง ชิงปล้น แล้วไม่ถูกจับ ฮึกเหิม ลอยนวล วันที่เขาฆ่าแท็กซี่เสร็จ ระหว่างที่อยู่บ้านกาญจนาเรามีกระบวนการเยอะแยะนะ หนึ่งในกระบวนการ Empowerment ครอบครัว[18] นั้นทำให้เขาได้พูดออกมา เขาบอกว่า “ตอนที่ผมฆ่าแท็กซี่เสร็จแล้วกระโดดออกมาจากรถ ผมไม่ได้หนีทันทีนะครับ ผมยืนร้องไห้แล้วถามตัวเองว่า เรามาไกลขนาดนี้ได้อย่างไร” ตอนที่เขาพูดน่ะพ่อเขาอยู่ด้วย

เด็กคนนี้เป็นคนเดียวกับที่หลังจาก คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีสาธารณะสุข ประกาศ ‘กระท่อมเสรี’ วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประมาณวันที่ 10 กว่า ป้ากับเพื่อน ๆ ก็จัดงานที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อให้เห็นเหรียญสองด้านของกระท่อม มิติที่เป็นยา กับมิติที่ไม่ใช่ยา จัดเวทีสาธารณะคุยกัน เจ้าหนุ่มคนนี้ที่ปล่อยไปนานแล้ว เขามาปรากฏตัวในงานในฐานะประจักษ์พยาน เพื่อที่จะบอกกับทุกคนว่า “ผมมาด้วยคดีฆ่า อยู่ที่บ้านกาญจนาเมื่อนานมาแล้ว วันนี้ผมโตเป็นผู้ใหญ่และผมมีเพื่อนอีกคนหนึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวชอยู่ที่โรงพยาบาลตอนนี้ เราทั้งสองคนเข้าถึงกัญชาเข้าถึงกระท่อมในวันที่มันผิดกฎหมาย วันนี้เมื่อรัฐบาลประกาศว่าทุกอย่างเสรี ผมยังนึกไม่ออกเลยว่าน้อง ๆ รุ่นหลังมันจะอยู่กันยังไง”

สำหรับป้าถ้าเราดู timeline ของเด็ก ๆ เราจะเห็นว่า ก่อนที่เขาจะลงมือฆ่า เขาเป็นเด็กมีแผล เป็นเหยื่อของสังคม เป็นผู้กระทำ และเขาเป็นผู้รอดเมื่ออยู่กับเรา และเด็กบางคนเลยไกลไปถึงจุดที่เรียกว่าเป็นผู้ปกป้อง Active Citizen ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในคนคนเดียวกัน คำถามคือว่า แล้วเราปล่อยให้เด็กไปอยู่ในหลุมดำขนาดนั้นได้อย่างไร? สิ่งที่ป้าอยากร้องขอสังคมก็คือ เวลาเราพูดถึงโศกนาฏกรรมใด ๆ ก็ตาม ใช่ เราเดือดดาลได้ เราเกรี้ยวกราดได้ แต่ ณ เวลาที่เราตัดสินใจจะสร้างกติกาขึ้นมา เราต้องมองให้ครบ ตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ตามพระปรมาภิไธย อยู่กันที่ตรงไหน? ทำอะไร? และยังไม่ได้ทำอะไร?

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

เอื้อย - ง่าย ๆ เลยอย่าเช่นเคส ป้ากบ[19] ถ้านักข่าวไม่เจอกล้องวงจรปิดนั่นแปลว่าแก็งค์นี้คนที่ทำผิดจะยังคงอยู่ สามีป้ากบก็ถูกมอง สองในนั้นเป็นลูกตำรวจด้วย

ป้ามล - พอข่าวทะลักออกมาเราจะเห็นว่าเด็กบางคนในแก็งค์นี้เคยทำคดีมาแล้ว เวลาเด็กบอกว่า “โจรเจอโจร” มันคือวิกฤตศรัทธา อย่างป้าทำงานกับเขาป้าต้องไม่ทำให้เขารู้สึกเสียศรัทธา เราต้องดูแลตัวเองให้ดี ต้องมีความเป็นธรรม ต้องไม่เลือกปฏิบัติ เราต้องรักษาคำพูด ทุกอย่างเลยที่เราจะต้องเคี่ยวกรำพวกเรากันเองในฐานะเจ้าหน้าที่ ถ้าเรายังกะโหลกกะลาแฮงค์มาทำงาน แล้วเด็กจะเหลืออะไร

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ป้าเคยเจอเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ส่วนกลางจะรับเจ้าหน้าที่แล้วส่งมาให้เรา ไม่รู้รัฐบาลสอบเขาอีท่าไหน ถูกส่งมาอยู่บ้านกาญจนาฯ หน่วยงานของรัฐ  พอเขาทำงานไปสักพักหนึ่ง มีเด็กเขียนจดหมายใส่ตู้จดหมายซึ่งป้าเป็นคนเดียวเท่านั้นที่เปิดได้ แล้วป้าจะเปิดตู้ทุกวัน วันนั้นก็เจอจดหมายฉบับหนึ่งเด็กเขียนว่า    “ป้าครับ เจ้าหน้าที่คนใหม่ล่าสุดของเราเขาชวนเด็กบางคนใช้กัญชานะครับ มีบ้องกัญชามาด้วยนะครับเวลามาทำงานเวรกลางคืน” ป้าเรียกเจ้าหน้าที่คนนั้นมาคุย คำตอบคือ “เราต้องเข้าถึงเขาค่ะคุณทิชา ดังนั้นเราต้องเป็นเหมือนเขา” แม้ป้าจะไม่ใช่ซี 8 ตามกฎหมาย แต่เป็นคนเดียวที่ถูก outsource ไปทำงานในหน่วยงานภาครัฐ ป้าไม่มีอำนาจใด ๆ ในทางนิตินัยทั้งสิ้น  ป้าบอกมาทางไหนออกไปทางนั้นเลย เพราะหน้าที่เราคือ empower เด็ก ๆ ต่อให้เด็กมืดก็ตาม แต่เราต้องสว่างใส่เขาเสมอ ต่อให้เด็กด่าเราก็ตาม เราก็ยังต้องคุยกับเขาในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่และพร้อมที่จะอดทน แต่ไม่ได้ตามใจนะ ถึงที่สุดเราพบว่า ยิ่งไม่ใช้อำนาจยิ่งมีอำนาจ เพราะเด็กจะรู้สึกแคร์เรา เกรงใจเรา

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

บุพการี อำนาจร่วม และ ความกำกวมของกฎหมาย[20]

เอื้อย - ทำไมเด็กออกมาเที่ยวกันได้ตีหนึ่งตีสอง การแก้กฎหมายตอนนี้ยังทันไหม

ป้ามล - การแถลงข่าว เขาอาจจะต้องพูดอะไรเพื่อให้เห็นว่าเขากำลังทำอะไรซักอย่างหนึ่ง แต่ขอประทานโทษนะ มันต้องคิดให้รอบคอบ คิดให้ละเอียด คิดช้า ๆ อาจจะทำเร็ว ๆ ในตอนหลัง แต่ในยามนี้ต้องคิดให้รอบด้านนะคะ ถ้าหากตำรวจทำหน้าที่ของตัวเองจริง ๆ  นะ เราคงไม่มี ‘กัน จอมพลัง’ คงไม่มี ‘สายไหมต้องรอด’ ไม่มี เชอร์รี่ แอน  ดันแคน[21] ไม่มี บอส อยู่วิทยา ดังนั้น อย่าพูดแต่ด้านมืดของเด็ก ต้องพูดด้านมืดของผู้ใหญ่ แล้วให้แฟร์กว่านั้นอีกว่า ผู้ใหญ่รับทั้งเงินเดือน รับทั้งตำแหน่ง รับทุก ๆ อย่าง ส่วนเด็ก ๆ ก็เป็นผลลัพธ์และผลผลิตของผู้ใหญ่ ที่จะกระทำหรือไม่กระทำต่างหาก เรื่องพวกนี้ต้องพูดให้ชัดก่อนจะตัดสินใจอะไร

อย่างเช่น ผบ.ตร. บอกว่าเขาเก็บข้อมูลไว้เยอะแยะเลยว่าเด็กช่วงหลังก่อคดีกันใหญ่โตอายุเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้มีหมดแล้วพร้อมเสนอการทำกฎหมาย ป้าก็อยากถามว่าคุณได้เก็บข้อมูลไหมว่า พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กเขาเขียนว่าอย่างไร พ.ร.บ. ศาลเยาวชนเขาเขียนว่าอย่างไร พ.ร.บ.ครอบครัวเขาเขียนว่าอย่างไร แล้วได้มีการศึกษาไหมว่าสิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมายทั้งหมดนั่นน่ะ มันถูกทำแล้วหรือยัง และถ้าไม่ถูกทำ คนเหล่านี้ควรจะโดน 157 ไหม ก่อนที่จะมาพูดถึงการแก้กฎหมาย สิ่งที่มันถูกเขียนอยู่แล้วนี่มันถูกปฏิบัติไปแล้วหรือยัง?

อย่างเช่นในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ถ้าหากว่าตำรวจจับมาจะต้องส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ภายใต้ พม.(กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) จนถึงวันนี้ ถอยกลับไป 2 ปี พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายได้ทำงานไปกี่เคส ประสบความสำเร็จกี่เคส หรือเอาเข้าจริงพอกลับไปตรวจสอบไม่มีซักเคสเลย แล้วผู้ใหญ่เหล่านี้ควรจะถูกลงโทษด้วยอะไร ฉะนั้นอย่ามาพูดถึงการจะเดินหน้าโดยไม่เคยดูว่ากติกาที่เขียนไว้เคยทำหรือเปล่า ในกฎหมายคุ้มครองเด็กเขียนไว้ชัดเลยว่า มีเด็กอยู่ 3 กลุ่ม ที่ต้องถูกคุ้มครองเป็นพิเศษ[22]

  • หนึ่งในนั้นคือเด็กที่ถูกทารุณกรรม
  • สองเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด คือเด็กแก็งค์ทั้งหมด
  • เด็กที่อยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครอง

เจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ทำอะไรกับข้อสองไหม คุณมีบัญชีอยู่ในมือไหม? หรือคุณไม่มีเลย แล้วที่สำคัญถ้าย่อให้เล็กลง เด็กที่สระแก้วพบว่าชาวบ้านก็เดือดร้อน คนก็เคยไปแจ้ง คำถามคือ ตำรวจทำอะไร เจ้าหน้าที่ พม.ซึ่งต้องดูแลเด็ก ๆ ต่ำกว่า 12 ปี ร่วมกับตำรวจ คุณทำอะไร แล้วการที่คุณไม่ทำอะไร จนกระทั่งแก็งค์นี้ก่อคดีจนช็อคกันทั้งบ้านทั้งเมือง ถ้าเป็นเด็กบ้านกาญจนาฯ เขาวิเคราะห์กันชัดแล้วว่า ปัญหาใหญ่ ๆ มาจากปัญหาเล็ก ๆ ที่ไม่ถูกแก้ไข และลอยนวล เขาพูดชัดเลยว่าตัวเองก็เป็นหนึ่งคนในนั้นที่เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งพัฒนามาจากปัญหาเล็ก ๆ ที่ไม่ถูกแก้ไขแล้วก็ลอยนวล

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

เอื้อย - คุณป้ากำลังฉายภาพให้เห็นว่า วิธีแก้ปัญหาการทำผิดของเยาวชน มันไม่ใช่มีเพียงแค่การแก้กฎหมาย แล้วให้โทษเยาวชนเท่ากับผู้ใหญ่ แต่มีทั้งส่วนของเจ้าหน้าที่ด้วย แล้วในส่วนของผู้ปกครองมีส่วนขนาดไหนคะ

ป้ามล - ครอบครัวและผู้ปกครองจะเป็นคำตอบแรกของชีวิตมนุษย์ สำหรับเด็ก ๆ พ่อแม่คือโลกทั้งใบของเขา ถ้าเราคิดเพื่อนำไปสู่กุญแจดอกสำคัญ เพื่อจะออกไปจากปัญหาขนาดใหญ่ที่มันกดทับประเทศนี้อยู่ เราต้องมองให้ออกด้วยว่า คนไทยมีทั้งหมด 67 ล้านคน เมื่อยุบลงเป็นครอบครัวประมาณ 22 ล้าน 8 แสน ครอบครัว ใน 22 ล้านครอบครัวนี้ มีจำนวนหนึ่งเป็นได้แค่ผัวเมียแต่เป็นพ่อแม่ไม่เก่ง ซึ่งเราก็ไม่มีเหตุผลไปออกกฎหมายให้คนที่จะมาเป็นผัวเมียต้องไปเรียนมาให้สูงก่อน แล้วค่อยมาเป็นผัวเมีย เราทำไม่ได้อยู่แล้ว ใครจะเป็นผัวเมียกันก็เป็นไป หลังจากนั้นแล้วก็ไปเป็นพ่อแม่กัน

หลังจากนั้นเราพบว่าจำนวนมหาศาลเป็นพ่อแม่ไม่เก่ง ถ้าเราจะคาดหวังจากครอบครัวโดยที่เราไม่ลงทุนเลย บรรดาคนที่ดูแลประเทศทั้งระบบก็ไม่ได้เรื่องถ้าคุณคิดแค่นั้น ทะลุเพดานออกไปคืออะไร คือว่า สัญญาณบอกเหตุมันมาชัดจากเด็ก 5 คนที่จังหวัดสระแก้ว และจากเด็กอีกหลายกลุ่มในประเทศนี้ที่ก่ออาชญากรรมมันบอกกับเราว่า ครอบครัวต้องการการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ถ้าเราไปดูงานในต่างประเทศที่เราบอกว่าครอบครัวเขาทำหน้าที่ดี เราต้องมองให้เห็นนะว่าเขามีกฎหมายที่มีวิสัยทัศน์เพื่อดูแลครอบครัว เขาทำหน้าที่ของเขากัน

คำถามคือ มีพรรคการเมืองได้ไหม มีกระทรวง พม. ทำอะไรไหม มีรัฐได้ไหม ในหลายประเทศที่มี กระบวนการแบบไร้รอยต่อ ถ้าโรงเรียนจำเป็นต้องให้เด็กออกจากโรงเรียน เช่น อาจจะท้อง เวลาอยู่กับเพื่อนอาจจะอึดอัด แม้จะมีกฎหมายว่าเด็กท้องไม่ต้องออกจากโรงเรียนก็ได้ แม้การออกน่าจะเป็นคุณต่อเด็ก  แต่เด็กอาจจะไม่ต้องออกก็ได้นะ สมมุติถ้าเด็กออก โรงเรียนต้องรายงานไปที่ พม. เพื่อให้มาทำงานกับเด็กคนนี้ เนื่องจากเขาออกไปจากโรงเรียนแล้ว หลุดจากพื้นที่กระทรวงศึกษาธิการ ย้ายไปอยู่อีกพื้นที่หนึ่ง เราเรียกกระบวนการแบบนี้ว่า “ไร้รอยต่อ”

คำถามมีว่า จำนวนเด็กแก็งค์ 5 คน (แก็งค์ตังค์ไม่ออก : บิ๊ก แบงค์ เชน กั๊ก โก๊ะ ) กับเด็กที่ถูก dropout อีกเป็นแสนในประเทศไทยชื่อเขาอยู่กับใครแน่ ๆ ก็คือว่าเด็ก ๆ ที่ถูกจับจากทุกภาคทั้งประเทศไทย ตัวเลขยืนยันว่า 68 เปอร์เซ็นต์ในเด็กที่ถูกจับ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กที่มีประวัติ dropout นั่นหมายความว่าก่อนเข้าแก็งค์ถูกไล่ออกใน 100 คน เป็นเด็กที่ถูก dropout 68 คน ความรับผิดชอบในการคุ้มครองเด็กอยู่กับมนุษย์กลุ่มไหนในประเทศนี้ แล้วคนเหล่านั้นรับเงินเดือนจากภาษีอากรของเราอยู่ใช่หรือไม่ แล้วเขาทำอะไรกัน? หรือเขาไม่ต้องทำอะไร?

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

เอื้อย - เริ่มต้นจากการเป็นครอบครัวใช่ไหมคะ หน่วยงานที่อยู่ในประเทศนี้ เริ่มต้นที่จะดูแลประชากรที่จะมีครอบครัวอย่างไร ปลูกฝังอย่างไร จนมาสู่การมีลูก เหมือนเราจะต้องรื้อระบบกันเลยรึเปล่าคะ[23]

ป้ามล -  การเสริมพลังครอบครัวอย่างเป็นระบบ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ อาจจะมี NGO มาช่วยมารับทุนก็ว่าไปในเชิงเทคนิค แต่เจ้าหน้าที่รัฐต้องคิดให้ออกว่า ระบบ Empowerment ครอบครัวอย่างเป็นระบบ คุณมีแล้วหรือยัง? และถ้าคุณไม่มีคุณต้องทำอะไร ที่บ้านกาญจนาฯ เราต้องทำกลุ่มกับพ่อแม่ทุกคนเพื่อเปลี่ยน Mindset[24] มีแม่คนหนึ่งรับจ้างเย็บผ้าโรงงานอยู่ที่บ้าน เธอรู้สึกมากเลยกับปีหนึ่ง 365 วัน จะมี 120 วัน ที่เป็นวันปิดเทอม ปิดเสาร์อาทิตย์ ปิดนักขัตฤกษ์ ก่อนที่จะมาทำกลุ่มกับเราบอกเล่าว่า ทุกวันหยุดจะล้าละลังมากเลยไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่ไปแลกเงินมาใส่ลิ้นชักจักรเอาไว้ แล้วให้ลูกบอกว่า “ไปอยู่ร้านเกมส์นะลูกค่อยกลับมาตอนกลางคืนมืด ๆ ” จนลูกโตขึ้นเรื่อย ๆ “วันหนึ่งมันก็มาบอกว่าอยากได้รถมอเตอร์ไซค์ ตอบว่าแม่ไม่มีเงินลูก มันก็เอาเสื้อผ้าที่ต้องส่งงานไปโยนทิ้งลงขยะ ต้องไปใช้หนี้เถ้าแก่ตั้งเยอะเพราะเสื้อผ้ามีตำหนิ แล้วก็ต้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้กับมัน หลังจากนั้นมันก็มาขอโน่นนี่ที่จะแต่งรถอีก หนูไม่มีให้ก็ต้องจบ แล้วที่สุดมันก็ไปหาเองในรูปแบบอื่น”

สำหรับพ่อแม่กลุ่มหนึ่ง 120 วัน ในวันปิดเทอมของเด็ก ๆ คือโจทย์ที่เขาแก้เองไม่ได้ และระบบของประเทศนี้ต้องเข้ามาแก้ ในหลายประเทศถึงต้องมีสนามสเก็ตบอร์ดให้กับเด็ก ๆ มีค่ายกีตาร์ไฟฟ้า ค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายจักรยานภูเขา และทั้งหมดนั้นต้องฟรี ความยากจนจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความท้าทายตามวัยของเด็ก ๆ อย่างเท่าเทียม ถ้าเขาไม่มีสิ่งเหล่านั้น ในขณะเดียวกันกัญชาก็เสรี กระท่อมก็เสรี เหลียวไปทางไหนก็เห็นร้านขายเต็มไปหมดเลย ส่วนพื้นที่สร้างสรรค์ที่เด็ก ๆ จะได้ไปปล่อยของปล่อยแสงเพื่อเติบโตอย่างมีพลังก็ไม่มี ช่องโหว่ช่องว่างเหล่านี้เต็มประเทศ ก่อนที่จะออกกฎหมายเพื่อปราบปรามเด็ก ๆ คุณปราบพวกคุณกันเองก่อนดีกว่า

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

เอื้อย - เรื่องตัวเลขการก่ออาชญากรรมของเด็กๆ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี แปลว่าเราพัฒนาน้อยลงใช่ไหมคะ

ป้ามล - คำถามคือ แล้วกระทรวงศึกษาธิการทำอะไร กระทรวง พม. ที่จะเสียบปลั๊กต่อกับกระทรวงศึกษาทำอะไร แล้วตำรวจทำอะไรในขณะที่เด็กป่วนอยู่  หรือเด็กรู้สึกว่าเห็นตำรวจก็เห็นโจร พอกันเลย ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาของผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่แน่นอนคดีของป้ากบกับที่เด็ก 5 คนทำ นี่มันมาสั่นคลอนความรู้สึกของพวกเรา แต่เราต้องไม่ใช้ความเดือดดาล ความสั่นคลอนนี้ไปสร้างกติกาใหม่ที่มันบ้ามากไปกว่าเดิม ถ้ากล้าหาญจริงสำรวจทั้งหมดไปเลยสิ

และที่สำคัญมากไปกว่านั้นมีนักวิชาการสายกฎหมายพูดเอาไว้แล้วน่าปลื้มมากว่า “ประเทศไทยมีกฎหมายเด็กที่ดีที่สุด” หนึ่งในนั้นเขาโฟกัสไปที่กฎหมายคุ้มครองเด็กที่เขียนว่า “ประเทศนี้ต้องมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน - ระดับ กทม. มีผู้ว่า กทม. เป็นประธาน - ระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานทุกจังหวัด” ซึ่งรวมทั้งสระแก้วด้วย

คำถามคือตั้งแต่เขียนกฎหมายคุ้มครองเด็กจนมาถึงทุกวันนี้ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กประชุมกี่ครั้ง ทั้ง ๆ ที่คนบางคนก็ไปเพ้อเจ้อกับมัน บอกว่าเรามีกฎหมายที่ก้าวหน้ามากเลย แล้วโฟกัสลงไปที่ พรบ. คุ้มครองเด็กที่บอกว่าต้องมีการคุ้มครองสามระดับ ระดับชาติ - กทม. - จังหวัด กลไกเหล่านี้มันกินยานอนหลับที่ไม่มีทางตื่นเลย ป้าเคยประกาศคนหายในเฟสบุคชื่อว่า “คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ” หายไปไหนไง อยู่ที่ไหนกัน

จริง ๆ ถ้าเรายังเกาไม่ถูกที่คัน การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนในประเทศนี้ก็ยังคง หลงทางอยู่ ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมผลิตผู้แพ้มันยังทำงานอยู่เรื่อย ๆ หลังจากนี้อีก 3 เดือน เราก็จะเจอโศกนาฏกรรมใหม่ เพราะเราไม่ได้แก้ปัญหาอย่างถูกจุด เราแค่ทำให้ความวุ่นวายเดือดดาลของคนในสังคมสงบปลอม ๆ สักพักหนึ่ง คนทำหน้าที่ก็ออกมาพูดอะไรเหมือนกับเยียวยาสังคม แต่จริง ๆ สิ่งที่กำลังทำตอนนี้มันก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์ ครอบครัวที่อ่อนแอไม่ได้ empower ยังไม่มีใครไปปรากฏตัวต่อหน้าเขา แน่นอนเราอาจยังไม่ได้ทำรายครอบครัว แต่เป็นขบวนกลุ่มที่จะจัดการเชิงระบบ อย่าง ผบ.ตร. ตอนนี้ถ้าเจอครอบครัวคุณให้เงินเขา 3,000 บาท มันจบไหมล่ะ มันไม่ได้จบไง ดังนั้นมันต้องกลับไปรื้อระบบการทำงาน ที่คุณเคยไปดูงานต่างประเทศเยอะแยะน่ะลองเอามาดูสิ ป้าคิดว่ายังจะมีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นอีกในเดือนต่อไป สามเดือนต่อไปแน่นอน เพราะเรายังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ป้าไม่การันตีว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้นอีก

เอื้อย - เหมือนเขาเปรียบเทียบว่า สมมุติถ้าเยาวชนทำผิดแล้วยังไม่ได้รับโทษ อาจจะมีคนใช้เยาวชนเป็นเหยื่อไงคะ ใช้เด็กต่ำกว่า 18 ไปฆ่าคน ไปขายยารับยา สุดท้ายก็ไม่ได้เข้าคุกอะไรแบบนี้ค่ะ

ป้ามล - จริง ๆ กฎหมายไม่ได้บอกว่าไม่ให้ลงโทษเยาวชน เมื่อเด็กอายุ 15 ลงมาทำความผิดตำรวจจับ ตำรวจต้องส่ง พม. แต่ไม่ใช่ พม. ที่ไม่รู้เรื่อง มีการอบรมเยอะแยะเลย เขามีระบุอยู่ในกฎหมายเลยว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย”  เมื่อเด็กคนนั้นไปถึงมือเจ้าหน้าที่ พม. คนนี้แล้วเขาจะมีการทำงานแบบ Case Manager ให้การดูแล ซึ่งทักษะแบบนี้มันยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย มีแค่ในกฎหมาย แต่คุณไม่ได้ทำไง นั่นคือประเด็นที่ใหญ่ที่สุดสำหรับป้า แล้วถ้าเราจะมาฟาดเด็กโดยที่ไม่ฟาดคนทำงาน ป้าไม่มีทางเห็นด้วย

เอื้อย - ในต่างประเทศมีการลงโทษผู้ปกครองด้วยนะคะ

ป้ามล - เส้นแบ่งสำคัญมันคือว่า การโยนภาระให้กับผู้ปกครองโดยไม่มีระบบสนับสนุน อันนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนคำถามต่อไปคือ มีรัฐบาลมีกระทรวงไว้ทำไม การโยนภาระแน่นอนว่าผู้ปกครองเป็นผู้รับภาระอยู่แล้วเพราะเขาเป็นลูกคุณ แต่เราต้องรู้ไงว่าคนตั้ง 20 ล้านครอบครัว เขาตรัสรู้ความเป็นพ่อแม่ได้ไม่เท่ากัน นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องมีรัฐบาล เราต้องมีกระทรวงต่าง ๆ เพื่อ empower คนที่อ่อนแอไง เราต้องยอมรับความจริงนี้

ป้าทำงานบ้านกาญจนากับพ่อแม่ที่ลูกไปฆ่าคน เขาก็มาแบบไม่รู้เรื่องเลย  อย่างเด็กที่ฆ่าแท็กซี่ พอเราทำขบวนการ empower กับพ่อเขานะ เมื่อลูกอธิบายว่าวันนั้นผมรู้สึกอย่างไร “ผมอยากกลับไปอยู่ที่บ้าน จะไม่ฆ่าใครอีก ป๊าเอาเส้นตีกรอบที่อยู่ในบ้านเราออกไปให้ผมด้วยได้ไหมครับ วันที่ออกจากบ้านกาญจนา ผมไม่อยากกลับบ้านที่มีเส้นตีกรอบ ตอนเด็ก ๆ ผมรับได้ แต่ตอนนี้ผมเป็นวัยรุ่น ผมไม่อยากอยู่ในสภาพแบบนั้น” คำตอบขอป๊าคือ “ผมผิดตรงไหนป้ามล ผมสร้างครอบครัวจนแข็งแกร่งขนาดนี้ เลี้ยงลูกคนเดียว เมื่อผมตายสมบัติทั้งหมดของผมจะให้กับเขา ผมผิดตรงไหนถ้าผมจะเป็นผู้กำกับแล้วลูกผมจะเป็นพระเอก แล้วพระเอกต้องเดินตามเส้นผู้กำกับ” ก็ผิดตรงที่มึงคิดนี่แหละ (ป้ามลร้องอย่างเหลืออด) แต่ในกระบวนการตอนนั้นเราพูดแบบนี้ไม่ได้ไง ได้แต่ไปถามอีก 12 ครอบครัวที่นั่งอยู่ในห้องนั้น พ่อคิดยังไงกับพ่อคะ พ่ออยากแนะนำอะไรกับพ่อคะ ถ้าพ่อยังไม่สุกอีกเราก็ต้องถามเด็กหนุ่มอีก 12 คน (workshop 13 ครอบครัว) ผมคิดยังไงครับ ผมอยากให้เขาปรับอะไรไหมถ้าเขาเป็นพ่อของผม

กว่าเราจะกะเทาะเอาความเป็นผู้กำกับของพ่อออกไป แล้วลูกที่เป็นพระเอกต้องเดินตามเส้นของพ่อผู้กำกับ เราทำงานอยู่นานมากนี่ขนาดไม่ใช่กะเลวกะลาดนะ (กเฬวราก) สร้างครอบครัวเกือบตายด้วยความคิดว่าตัวเองเป็นผู้กำกับ แล้วคิดว่าลูกเป็นพระเอก มันก็ทำให้บ้านเต็มไปด้วยการตีเส้นตีกรอบ และทำให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งอยู่ในเงื่อนไขที่เรียกว่า “ปัจจัยผลักไสไล่ส่งที่แข็งแรง” แล้วมันแข็งแรงที่สุดในวันที่ปัจจัยดึงดูดอยู่ข้างนอก มีเพื่อนเยอะแยะเต็มไปหมด มันมาอยู่ในพิกัดเดียวกัน ในที่สุดก็ระเบิดออกมา

ญี่ปุ่นเขาตัดสินประหารชีวิตเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่อายุ 21 ปี (ในวันที่ก่อคดีอายุ 19 ปี) แต่เขาก็ยังไม่ได้แตะเส้นเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 นะ เส้น 18 ก็เป็นเด็กที่ทำความผิดตามกฎหมายยังอยู่ภายใต้กติกาเหมือนเดิม แต่เด็กหนุ่มคนนี้เขา 19 แล้ววันตัดสินเขา 21 โทษประหารชีวิตจึงเกิดขึ้นกับเขา มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับที่เราพูดกันในประเทศไทยเลย

ถ้าอยากเห็นภาพชัดขึ้น เมื่อ 7-8 ปี ที่แล้ว เรามีเด็กหนุ่มคนหนึ่งในประเทศไทยที่ชื่อ ‘หมูหยอง’[25] เขาฆ่าคน แล้วให้สัมภาษณ์นักข่าวที่มากันเป็นกองทัพ ขณะที่ตัวเองยังไม่ฟื้นคืนสติจากยาเสพติด ต้องตอบคำถาม…ฆ่าเขาทำไม รู้สึกผิดไหม เมื่อไม่รู้สึกผิดก็เหมือนฆ่ามดฆ่าปลวก อยากขอโทษไหม ขอโทษแล้วเขาฟื้นเหรอ คำให้สัมภาษณ์ของหมูหยองสองสามคำ นำไปสู่การเกรี้ยวกราดเดือดดาลทั้งประเทศ แน่นอนเราไม่ได้ตำหนิใคร แต่ถึงที่สุดหมูหยองเป็นเด็ก 17 ปี คนเดียวที่ศาลพิพากษาให้อยู่เรือนจำ ต้องรับโทษเท่าผู้ใหญ่เป๊ะเลย ทั้งที่วันที่เขาก่อคดีอายุ 17 ปี[26] แต่กระแสของสังคมจากการให้สัมภาษณ์ของเขา นำไปสู่แรงกดดันที่สำคัญ ถึงที่สุดผู้พิพากษาตัดสินหมูหยองต้องรับโทษในเรือนจำ ไม่ใช่สถานพินิจ สิ่งเหล่านี้มันมีให้คุณเลือกใช้อยู่แล้ว ไม่ต้องมาโวยวายพูดเพื่อสร้างความชอบธรรม สำหรับป้าการพูดมันกำลังกลบเกลื่อนการไม่รับผิดชอบสำหรับผู้ใหญ่ทั้งหมด

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

เอื้อย - เราไม่ได้เข้าข้างเด็กนะคะ แต่คุยกันว่าจะทำยังไงไม่ให้เกิดเพิ่มขึ้น ให้เด็ก ๆ ที่ฟังอยู่ไม่ควรจะทำผิด และในอนาคตก็ไม่ควรจะมีกรณีนี้อีก

ป้ามล - นอกจากไม่เกิดเพิ่มขึ้นแล้ว อย่าทำให้เกิดมายาคติที่ทำให้คนทั้งประเทศหลงทาง อย่างที่ ผบ.ตร. พูด ป้าคิดว่า ไม่ว่าคุณจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจคุณกำลังทำให้คนหลงทางซึ่งคุณไม่ควรจะพูดเช่นนั้น  สำหรับป้ามนุษย์ผิดพลาดได้เสมอ เราไม่ใด้เกิดมาเพื่อที่จะขาวทั้งหมด และเราไม่ใด้เกิดมาเพื่อที่จะดำทั้งหมด ดังนั้นเด็กที่กระทำความผิดเขาจำเป็นต้องได้บทเรียน และบทเรียนที่ดีที่สุดคือบทเรียนที่ได้มาจากคนในครอบครัว บทเรียนที่มาจากคนที่ทำงานกับเด็ก ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำหน้าที่ของตนเอง และถ้าครอบครัวอยู่ในเงื่อนไขที่อ่อนแอ ระบบสนับสนุนต้องเกิดขึ้นได้แล้ว อันนี้เป็นสัญญาณบอกเหตุเลยว่าระบบสนับสนุนครอบครัวใประเทศไทยไม่มีอยู่จริง ซึ่งมันจะนำไปสู่คำถามต่อไปว่า เรามีรัฐมีกระทรวง พม. ไว้ทำไม

เด็ก ๆ ที่เคยขึ้นหน้าหนึ่งแล้วเข้ามาที่บ้านกาญจนาไม่ว่าคดีอะไรก็ตาม ระหว่างที่เขาถูกใส่กุญแจมือแล้วมาปลดกุญแจมือต่อหน้าป้า เรากอดเด็กทุกคนแล้วในระหว่างที่เรากอดเขา ผูกข้อมือรับขวัญเขา เราจะบอกเสมอว่า “ในตัวของหนูมีอีกคนหนึ่่งนะครับ ไม่ใช่คนที่ฆ่าคนนะ มีคนดีแต่มันโคตรอ่อนแอ เคยมีสักวันไหมที่หนูอยากทำอะไรดี ๆ แต่หนูไม่มีแรงที่จะทำ ไม่กล้าที่จะทำ แต่เคยมีสักวันไหมที่หนูอยากปล้น อยากฆ่า อยากโทรมใคร แล้วมันกระฉับกระเฉงที่จะไปทำ ในตัวของหนูมันมีคนสองคนปะทะกันอยู่ตลอดเวลา แล้วเราอยากชวนให้คนที่อ่อนแอคนนั้นออกมา ผลักคนเข้มแข็งที่พามาติดคุกออกไป แต่ป้าช่วยหนูทั้งหมดไม่ได้ หนูต้องช่วยตัวเอง แล้วป้าจะช่วย เจ้าหน้าที่จะช่วย แล้วเราจะชวนพ่อแม่ของหนูมาด้วย แล้วขอให้รู้ว่าระหว่างที่ป้ากอดหนู เราคิดถึงเหยื่อของหนูเสมอ แต่ว่าเรายังรักหนูอยู่นะ แต่เราก็รู้สึกสะเทือนใจแล้วก็เจ็บปวดแทนเหยื่อเสมอ”

เราเคยมีเหยื่อบางคนเดินเข้ามาถึงบ้านกาญจนา มาด่าป้าเพื่อจะบอกว่า “คุณดูแลเด็กที่ฆ่าคนอื่นแบบนี้ได้ยังไง เอาหัวหรือเอาตีนคิด” เราบอกเด็กบ้านกาญจนาว่า “การที่เราดูแลคนที่ทำร้ายคนอื่นในสังคมนั้น สังคมยังเคลือบแคลงและสงสัยเราอยู่เสมอ ดังนั้นเราต้องพิศูจน์ให้เห็นว่า เรามีนาทีที่ผิดพลาดจริง ก็คือนาทีที่เราฆ่าเขา แต่หลายร้อยพันหมื่นแสนล้านนาทีของเรายังดีอยู่ และมันจะต้องดีต่อไป” เราต้องบอกเขาให้ชัดเจนว่าเราจะไม่ทิ้งเขา แล้วเราจะชวนพ่อแม่มาร่วมกันช่วย

เวลาที่อยู่บ้านกาญจนาเด็กหลายคนรู้สึกอยากเข้าห้อง empower ตามขบวนการ ทั้งที่ยังไม่ถึงคิวเขาตามลำดับก็มาขอแซงคิวด้วยซ้ำไป ถามว่าทำไมรีบเข้าล่ะลูก หนูเพิ่งมาอยู่ไม่นานไง เขาตอบป้าไม่รู้เหรอเด็ก ๆ มันลือกันว่า “ถ้ามึงได้เข้าห้อง  empower พ่อแม่จะรักมึงมากขึ้น” เด็กทุกคนอยากลงจากหลังเสือ เพราะตอนขึ้นไปเขาก็ขึ้นไปอย่างโง่ ๆ อย่างไร้เดียงสา แล้ววันหนึ่งเมื่อเขารู้ว่าเขามีทางที่จะลงจากหลังเสือนั้นได้โดยที่ยังปลอดภัยอยู่ เขาอยากลง

สำหรับเด็ก 5 คนนั้น (“แก็งค์ตังค์ไม่ออก” ที่ก่อคดีสะเทือนขวัญ) อยากบอกเขาว่า สิ่งที่เราทำเราต้องยอมรับ และที่สำคัญคนทั้งประเทศกำลังรู้สึกเจ็บปวด ไม่ได้แปลว่าเกลียดนะ กำลังเจ็บปวดกับการกระทำของเรา ดังนั้น หลังจากนี้เราจงพิสูจน์ให้เห็นว่า ความผิดพลาดของเราในค่ำคืนที่ยังไร้เดียงสานั้น มันกำลังจะเปลี่ยนแปลง แล้วก็เปลี่ยนแปลงทุก ๆ วัน เราต้องพิสูจน์ตัวเองนะลูก (มันไม่มีวิธีไหนที่จะเยียวยาบาดแผลจากการไปฆ่าคนได้) เพื่อให้ทุกคนยอมรับว่า เราไม่ใช่มีแค่ด้านมืดเท่านั้น เรายังมีด้านสว่างอยู่นะลูก

เอื้อย - ป้าอยากฝากบอกอะไรหน่วยงานที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ หรือว่ากลุ่มที่แก้ปัญหาเรื่องนี้กันมานานแล้ว

ป้ามล - ป้าถามว่าพวกคุณทำอะไรอยู่และทำอะไรไปบ้างหรือยัง? เราต้องกล้าหาญที่จะพูดความจริงกันว่าพวกเราผู้ใหญ่หลงลืมอะไรไป กะพร่องกะแพร่งตรงไหน ก่อนที่จะตัดสินใจเขียนระเบียบใหม่อีกครั้งหนึ่งพราะถ้าคุณเขียนออกมาแล้วมันเท่ากับประจานว่าพวกคุณ ‘ป้อง’ กันเอง แต่ไม่ป้องเด็ก ๆ ผู้ไร้สิทธิ์ไร้เสียง ทำเป็นอย่างเดียวก็คือด่าเด็ก ๆ ซึ่ง ทั้งหมดนี้สำหรับป้ามันเท่ากับประจานตัวเอง แต่ป้าไม่ได้ปกป้องเด็กเหล่านี้ เมื่อทำผิดต้องรับผิดอย่าลอยนวล เพราะนั่นจะเท่ากับเราสปอยอำนาจมืดของเด็ก ๆ ซึ่งเราทำไม่ได้ แต่ว่าการมีแก็งค์เด็กทั่วประเทศ มันยิ่งเล่าใหญ่เลยว่าผู้ใหญ่ประเทศนี้กะพร่องกะแพร่งกว่าอยู่แล้ว

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

บ้านกาญจนาภิเษก ‘พื้นที่กลไกเพื่อขยายด้านดีด้านสว่างของมนุษย์’
ปีที่ 20 กับ ‘พันธกิจ’ ที่ทำให้ ‘เด็กอาชญากร’ ได้ตระหนักและประจักษ์ถึง

การเคารพ ‘คุณค่า - ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’
เรียน ‘วิชาชีวิต’ ที่ไม่มีในโรงเรียน
ทำงาน ‘จิตอาสา’ เพื่อลดความเป็น ‘คนอื่น’
ให้ ‘พ่อแม่มีส่วนร่วม’ ในการเยียวยา
‘พิธีกรรม ขอขมาเหยื่อ - ผู้เสียหาย - สังคม’

ในพิธีขอขมาเหยื่อ มีกิจกรรมจุดเทียนพันดวง ออกแบบบทภาวนาในพิธีกรรมให้บทภาวนาทำหน้าที่สื่อสารกับเยาวชนผู้กระทำผิด ให้เด็ก ๆ ได้เขียนคำขอขมาต่อเหยื่อ แล้วลอยคำขอขมาไปกับกระทงสาย นอกจากมีพระสงฆ์ร่วมในพิธีแล้ว ยังมีตัวแทนเหยื่อที่มาร่วมในพิธีด้วยความสมัครใจ และที่ขาดไม่ได้คือการร่วมร้องเพลง “จุดเปลี่ยน” เป็นหนึ่งในกระบวนการที่กลายเป็นต้นแบบของการจัดการความรุนแรงอย่างได้ผล เพราะศักดิ์สิทธิ์ด้วยจิตสำนึกของผู้กระทำผิดให้คิดกลับตัวชั่วชีวิต ด้วยความสมัครใจใฝ่ดีจากทุนเดิม ในปีที่ 20 พิธีขอขมาเหยื่อ ผู้เสียหาย และสังคม จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก (กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน)

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

เพลง “จุดเปลี่ยน”  โดย เบียร์และทีมเขียนเพลง

หนึ่งชีวิตที่เคยพลาดไป แต่ไม่ถึงกับต้องท้อใจ
คล้ายพายุคลื่นที่ลูกใหญ่ เมื่อพัดมาแล้วแล้วก็ผ่านไป
ดั่งละครที่เราแสดง บทบาทบางตอนอาจมีผิดหวัง
แต่ชีวิตก็ต้องก้าวไป จะเป็นอย่างไรจะไปให้ถึง
เมื่อชีวิตและความจริง ต้องเจออะไรมากมาย
แต่สุดท้ายตัวเราหากล้มจะลุกอีกครั้ง

* จุดเปลี่ยนชีวิตของฉัน นั้นคือโอกาส ที่เธอให้กันและกัน
ให้ฉันได้รู้ค่า ทุกอย่าง กลับมาและมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

ในวันนี้ฉันได้เข้าใจ ว่าชีวิตจะเดินอย่างไร
ความเข้มแข็งและกำลังใจ คือแรงพลังให้เราก้าวไป
เมื่อชีวิตและความจริง ต้องเจออะไรมากมาย
แต่สุดท้ายตัวเราหากล้มจะลุกอีกครั้ง

**  จุดเปลี่ยนชีวิตของฉัน นั้นคือโอกาส ที่เธอให้กันและกัน
ให้ฉันได้รู้ค่า ทุกอย่าง กลับมาและมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

*** จุดเปลี่ยนชีวิตของฉัน นั้นคือโอกาส ที่เธอให้กันและกัน
ให้ฉันได้รู้ค่า ทุกอย่าง กลับมาและมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม
กลับมาและมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

**** จุดเปลี่ยนชีวิตของฉัน นั้นคือโอกาส ที่เธอให้กันและกัน
ให้ฉันได้รู้ค่า ทุกอย่าง กลับมาและมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

 


ภาพโดย : ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

 

 

เทศกาลละครร่วมสมัยหาดใหญ่ครั้งที่ 1 ณ โรงละครเสน่หาเธียเตอร์

ชั้น 2 ลี การ์เดนส์ พลาซ่า วันที่ 26-28 กรกฎาคม 2567

การแสดงเรื่อง “ENDSTATION”

ได้รับแรงบันดาลใจจาก “A Streetcar Named Desire” หนึ่งในละครเวทีที่ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาโดย เทนเนสซี วิลเลียมส์ จัดแสดงในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 19:00 น. (รอบที่ 1) วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2567 เวลา 14:00 น. (รอบที่ 2) และ เวลา 19:00 น. (รอบที่ 3)

การแสดงเรื่อง “บุพกาลี”

ละครตลกร้ายจากบทละคร “Le Dieu du carnage” โดย ยัสมินา เรซา ว่าด้วยเรื่องการเจรจาอย่างอารยะ ระหว่างพ่อแม่เด็กที่ลูกรักของทั้งสองฝ่ายตีกัน แต่ดันมีเรื่องไปไกลเกินเลยจนยากจะเยียวยา เมื่อความไม่พอใจภายในถูกขาก พร้อมกับหน้ากากแห่งจริยธรรม ที่มุ่งมันเรียกร้องให้ผู้อื่นทำตามบรรทัดฐานความต้องการของตนเอง จัดแสดงวันอาทิตย์ 28 กรกฎาคม 2567 เวลา14:00 น. (รอบที่ 4) และ เวลา 19:00 น. (รอบที่ 5)

ราคาสำรองที่นั่งราคาเรื่องละ 350 บาท
ราคาเหมาจ่าย 2 เรื่อง ลดเหลือใบละ 600 บาท
สามารถจองและสอบถามรายละเอียดที่หมายเลขโทรศัพท์ 084-2598829
หรือ facebbok page : Sanehar Paradiso
สำรองที่นั่ง
https://forms.gle/kfYCxCwnng83LoJd7

 


[1] GOD OF CARNAGE By YASMINA REZA , cpb-ca-c1.wpmucdn.com , สืบค้น 25 มิถุนายน 2567 https://cpb-ca-c1.wpmucdn.com/myriverside.sd43.bc.ca/dist/9/2798/files/2019/12/god-of-carnage-full-script.pdf

[2] GOD OF CARNAGE By YASMINA REZA , cpb-ca-c1.wpmucdn.com , สืบค้น 25 มิถุนายน 2567 https://cpb-ca-c1.wpmucdn.com/myriverside.sd43.bc.ca/dist/9/2798/files/2019/12/god-of-carnage-full-script.pdf

[3] God of Carnage , www.imdb.com , สืบค้น 25 มิถุนายน 2567 https://www.imdb.com/video/vi2811010585/?playlistId=tt1692486&ref_=vp_rv_ap_0

[4]  GOD OF CARNAGE By YASMINA REZA , www.imdb.com , สืบค้น 25  มิถุนายน 2567 https://www.imdb.com/title/tt1692486/?ref_=tt_mv_close

[5] เทศกาลละครร่วมสมัยหาดใหญ่ ครั้งที่ 1,  Sanehar Paradiso , สืบค้น 10 กรกฎาคม 2567 https://www.facebook.com/photo?fbid=358718307257848&set=a.111172662012415&locale=th_TH

[6] พระแม่กาลี เทวีผู้ทำลายล้างสิ่งชั่วร้าย  , วิภาวดี โก๊ะเค้า , สืบค้น 18 มิถุนายน 2567   https://culturio.sac.or.th/content/1307

[7]  โรคแพนิก (Panic Disorder) , www.praram9.com, สืบค้น 20 มิถุนายน 567 https://www.praram9.com/panic-disorder/

[8] อนันตริยกรรม , พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ , สืบค้น 20 มิถุนายน 2567 https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%B9%D1%B9%B5%C3%D4%C2%A1%C3%C3%C1&detail=on

[9]  วัคซีนป้องกันโควิด ชนิด mRNA คืออะไร? , hdmall.co.th , สืบค้น 20 มิถุนายน 2567 https://hdmall.co.th/c/what-is-a-mrna-vaccine

[10] อังกฤษส่งขีปนาวุธพิสัยไกล , www.voathai.com , สืบค้น 20 มิถุนายน 2567 https://www.voathai.com/a/7089675.html

[11] ปรัชญา "Absurdism" ,  www.blockdit.com ,  สืบค้น 25 มิถุนายน 2567 https://www.blockdit.com/posts/5ffc755cb1b2380ceb72b014

[12] หน้าที่และอำนาจ , กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน , สืบค้น  สืบค้น 10 กรกฎาคม 2567 https://www.djop.go.th/navigations/หน้าที่และอำนาจ

[13] ป้ามล บ้านกาญจนา มองปัญหาก่อนที่เด็กจะทำผิด โตมาแบบไหน , เอื้อย Talk มติชน ,  สืบค้น 25 มิถุนายน 2567 https  ://www.youtube.com/watch?v=mTsEb_bKYAo

[14] ยาแก้ปวดทรามาดอล ,  www.phufaresthome.com , สืบค้น 18 มิถุนายน 2567 https://www.phufaresthome.com/blog/the-danger-of-tramadol/

[15]  รวบหัวโจกแก๊งตังค์ไม่ออกฆ่าเด็ก 16, อมรินทร์ทีวี , สืบค้น 18 มิถุนายน 2567 https://www.youtube.com/watch?v=6sb_VHsX3Co

[16]  เปิดวีรกรรม "แก๊งตังค์ไม่ออก" ,  www.sanook.com ,  สืบค้น 18 มิถุนายน 2567 https://www.sanook.com/news/9187630/

[17] แก๊งตังค์ไม่ออก ฆ่าป้าบัวผัน , ilight.kapook.com , สืบค้น 20 มิถุนายน 2567 https://hilight.kapook.com/view/238652

[18] Empowerment , www.gotoknow.org , สืบค้น 20 มิถุนายน 2567  https://www.gotoknow.org/posts/8288

[19] แก๊งตังค์ไม่ออก อ่วม 5 เด็กนรกฆ่าป้ากบ , อมรินทร์ทีวี , สืบค้น 20 มิถุนายน 2567 https://www.youtube.com/watch?v=LkiWxILP184

[20] ทิชามองต่างปมยกเลิกกฎหมาย , theactive.net ,  สืบค้น 20 มิถุนายน 2567 https://theactive.net/news/lawrights-20240117/

[21] ย้อนคดีเชอรี่แอน “แพะในตำนาน” , www.matichonweekly.com , สืบค้น 20 มิถุนายน 2567 https://www.matichonweekly.com/scoop/article_20990    

[22] พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 , multi.dopa.go.th , สืบค้น 20 มิถุนายน 2567 https://multi.dopa.go.th/criminal/news/cate2/view104

[23]  ร้องดำเนินคดี 'หมูหยอง' ในศาลผู้ใหญ่ (11 พ.ค.60) , terodigital ,  สืบค้น 20 มิถุนายน 2567 https://www.youtub.com/watch?v=-8_tiYcY3SM

[25] “พ่อเมาตบตีแม่ประจำ” ต้นตอ “หมูหยอง” โตเป็นฆาตกรโหด , mgronline.com ,  สืบค้น 25 มิถุนายน 2567 https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000045024

[26] จาก "น้องหมูหยอง" สู่ "ไอ้เลือดเย็น" เพราะกฎหมายเด็กสปอยล์ฆาตกร!! , mgronline.com,  mgronline.com ,  สืบค้น 25 มิถุนายน 2567  https://mgronline.com/live/detail/9600000044460