ท่ามกลางกระแสของการเรียกร้องความเท่าเทียมในปัจจุบัน เพื่อให้ทั่วโลกยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ โดยไม่มีเพศสภาพเป็นเงื่อนไขในการต่อรองนั้น เพศหญิง มารดาของโลกที่เคยเรียกร้องความเท่าเทียมในบทบาททางสังคมกับบุรุษ กลับหลุดไปอยู่ในจุดของ “ผู้เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลง” ประหนึ่งแม่เฝ้ามองการเติบโตของลูกอย่างห่วงใยในความหลากหลายที่มากมายจนน่าสงสัยว่าสภาพเหล่านี้ก่อเกิดจากอะไร และในขณะเดียวกันอัตราการเติบโตของประชากรโลกเพศหญิงก็ลดลง (ไม่รวมกับการกลืนกลายถ่ายถอนเพศวิถีที่เพิ่มขึ้นทุกวัน) ตรงข้ามกับสถิติที่ผู้หญิงถูกทำร้าย กลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย ทั้งในเหตุรุนแรงที่สาธารณะร่วมรับรู้ หรือกรณีหดหู่สู้ซ่อนเร้นเป็นความลับ ที่นับวันจะหนักขึ้นทวีคูณพอกพูนใต้พรม ทับถมเป็นขยะอารมณ์ ที่จะไม่มีใครแก้ไขได้เลยถ้าเราไม่ร่วมใจกันรณรงค์
ในความเป็นปัจเจกชน โชคชะตาของผู้คนก็คือชะตากรรมของโลก โดยเฉพาะ “ผู้หญิง” จะถูกยิงด้วยปัญหาที่ถาโถมหมักหมมให้รับมือมากขึ้นทุกวัน มีผลสะเทือนเลือนลั่นความเป็นหญิงให้แกว่งไกวจนไร้จุดยืน เพราะความตื่นใจลื่นไหลไปกับกระแสทุนนิยม บริโภคนิยม ข่มขวัญให้สั่นคลอนกับมาตรฐานของสังคม ที่บ่มให้ใฝ่ฝันกับสารพันสิ่งต้องสรรมาปรนเปรอตัวเองจนเกินพอดี เพื่อที่จะได้อยู่ในบรรทัดฐานของการยอมรับ เพราะฝังหัวมานานกับงานโฆษณาและค่านิยมที่ย้อมให้ยอมจนยากจะแยก สิ่งไหนเทียมสิ่งไหนแท้ ทางเดียวที่สามารถจะแก้ไขให้ทุกคนปกป้องตัวเองได้ คือผู้หญิงต้องไม่ร่วมมือกับคนอื่นทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าเรื่องส่วนตัวหรือความเมามัวของสังคม ซึ่งไม่มีใครช่วยแก้ไขได้ นอกจากตัวเอง …
จากปัญหาใหญ่โลกแตกเกินจะแบกไหว ถูกนำมาคิดใหม่ในเรื่องใกล้ตัวที่สุด และสามารถหยุดความหวั่นไหวใหญ่หลวงได้ในความหมาย “น้อยแต่มาก” จากละคร “BODY MATTERS” กระบวนการรับมือกับปัญหาใหญ่เริ่มขึ้นในงานวิจัยละคอนนิพนธ์เรื่อง “Body’s Matter : Devising Performance Project” ด้วยผลงานของสองนักแสดงรุ่นใหม่ แบม กัญรภา อุทิศธรรม กับ พริม พริมรติ เภตรากาศ นักศึกษาปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสรรค์งานในรูปแบบ Devising Performance ซึ่งใช้การเคลื่อนไหวร่างกายในประเด็นผู้หญิงกับร่างกาย โดยมีที่ปรึกษาคนสำคัญคือ สินีนาฏ เกษประไพ ศิลปินศิลปาธรปี 2551 เป็นครูผู้ฝึกสอน ในนาม Crescent Moon Theatre โครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 2565 เดือนสิงหาคม เริ่มอบรมฝึกฝนกระบวนการทำความเข้าใจในประเด็นการใช้ body movement - body expression และสะสม scene fragment (หลังการฝึกฝนทดลองจะได้งานเป็นการแสดงฉากย่อย ก่อนนำมาร้อยเรียงให้เต็มเรื่อง)
ครูนาฏเห็นทั้งความตั้งใจ ความมีวินัย รู้รับผิดชอบ ประกอบศักยภาพที่น่าไว้ใจให้โอกาส ประเด็นสำคัญคือการมีใจให้กัน และ เรื่องที่จะทำ นำให้ครูเทใจไขความลึกผลึกในศาสตร์และกระบวนการสร้างงาน ด้วยการแชร์กระบวนการคิด การสร้าง จากตัวอย่างผลงานเก่า “เงา-ร่าง” (Shade Borders) และ “Women in Dystopia” เริ่มด้วยการจำลองโซนนิทรรศการ “Don’t Tell Me How to Dress, ชาย หญิง เป็นสิ่งสมมุติ” และข่าวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ผ่านกระบวนการทดลองสร้างสรรค์การเคลื่อนไหว โดยใช้ body movement – body expression เพื่อสะท้อนความรู้สึก ความคิด และความจริง ผ่านร่างกายที่เป็นสื่อกลางในการสื่อความหมาย ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมแชร์ประสบการณ์ แล้วจึงเข้าสู่โซนการแสดง ณ แกลเลอรี ชั้น 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เส้นทางของ “Body Matters” จากจุดเริ่มต้นจนถึงแสดงงานประมาณ 8 เดือน ที่เก็บสะสมกระบวนการ ตัวงาน ประสบการณ์ และความสัมพันธ์ หลังวันปิดโปรแกรมการแสดงที่มหาวิทยาลัย การแสวงหมุดใหม่จึงเริ่มขึ้น เพื่อเปิดเวทีสำหรับบุคคลทั่วไป ด้วยใจร่วมรณรงค์เยียวยาบาดแผลผู้หญิง ไม่ให้ทิ้งความมั่นใจในตัวเอง และเพื่อการค้นพบโลกทัศน์ใหม่ในพลวัตที่กวัดแกว่งแรงเกินจะต้านของค่านิยมพิสดารในสังคมนี้ นำมาซึ่งบทสนทนาแบบผู้หญิงๆ กับสิ่งที่ได้เรียนรู้ด้วยปัญญาปฏิบัติ และ มหัศจรรย์ของศิลปะการแสดงในรูปแบบ Devising Performance ที่เกิดจากการสำรวจร่างกาย จิตใจ กับความเป็นผู้หญิงทั้งในเรื่องส่วนตัวและสังคม โดยได้รับแรงบันดาลใจจากกระแส #Metoo (ผู้ตกเป็นเหยื่อร่วมบอกเล่าประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างเปิดเผยเพื่อนำไปสู่การแก้ไขของสังคม)
Off – Scene : “Body Matters”
เปิดเรื่องด้วยการแสดงนำ ตามมาด้วยเสียงสัมภาษณ์ ที่ปล่อยออกมาก่อนปิดเรื่องอีกครั้ง บอกการปลูกฝังที่ถูกขังอยู่ในกรอบ ที่ไม่ใช่แค่ประเพณี แต่มีค่านิยมจากสังคมวิบัติ ที่เป็นตัวสกัดความหวัง ความฝัน ในวันในวัยที่ควรบินไปได้ไกลกว่านี้
- รู้ตัวว่าเป็นผู้หญิงตอนไหน : เริ่มรู้ตัวว่าเป็นผู้หญิงตอนแม่จับใส่กระโปรงสีพีช ฟูฟ่อง
- อะไรที่บ่งบอกว่าเป็นผู้หญิง : สีชมพู ผมยาว ใส่กระโปรง อ่อนหวาน ตัวเล็กตะมุตะมิกว่าผู้ชาย
- เคยถูกสอนจากแม่ว่าเป็นผู้หญิงต้องรักสะอาด เรียบร้อย รักนวลสงวนตัว
- ทำไมหนูถึงไปไม่ได้ เพราะหนูเป็นผู้หญิง ไม่ได้ ไม่ได้ เพราะเป็นผู้หญิงๆ
- ----------------------------
- อยากหาเงินให้ได้เยอะๆ แล้วไปเที่ยวทุกที่ที่อยากไป
- อยากเปิดร้านชาของตัวเองเพราะหาร้านชาที่ถูกใจไม่ได้ก็เลยอยากเปิดเองขายเอง
- มีความฝันที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง อยากมีเงินได้ทำอะไรที่ตัวเองต้องการ
- เป็นคนไม่สวยมาแต่เกิด อยากสวยเหมือนคนอื่น อยากรวย เดินเข้าไปในช็อปแล้วจิ้มได้เลย เอานี่ๆๆ ไม่ต้องคิดว่ามีเงินพอหรือเปล่า
- อยากเป็นคนที่ได้รับความเป็นผู้นำเท่ากับผู้ชาย เพราะในวัยเรียนแล้วเราออกไปหาประสบการณ์ข้างนอก อย่างไปค่าย ก็จะมีกลุ่มผู้ชายที่เขามาด้วยความสามารถต่างๆ ที่สามารถดึงพลังผู้คนในที่นั้นออกมาได้ แต่ผู้หญิงกลับไม่ได้รับความสนใจ ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าเทียมกับผู้ชายตรงนั้น มันเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเห็นได้บ่อยๆ
- ในวัยเด็กก่อนขึ้นมหาวิทยาลัยก็เคยมีความหวังความฝันในอนาคตอยู่บ้าง แต่สถานการณ์บางอย่างทำให้เราไม่มีตรงนั้นแล้วตอนนี้ ก็ได้แต่ทำในสิ่งที่อยากจะทำไปในปัจจุบัน แต่ไม่มีแพลนในอนาคตว่าอยากจะทำอะไรจริงๆ กันแน่ ที่เคยคิดไว้ทุกอย่างมันก็พังหมดเลย ไม่รู้ว่าจะกลับมามีเป้าหมายหรือความฝันได้อีกเมื่อไหร่ ปัจจุบันก็แค่ทำหน้าที่ของตัวเองไปก็แค่นั้น
- อยากใช้ชีวิตให้มีความสุขค่ะ แค่นั้นเลย ถ้ามีความสุขได้ก็คงดี
Off – Scene (เสียงประกอบ) ของ “Body Matters” : A body dialogue about women มีแค่นี้แต่ส่งสารได้ ลึก และ แรง ที่เหลือเป็นการเคลื่อนไหวของร่างกาย (body movement) ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ซีนสุดท้ายปิดเรื่องด้วยนักแสดงทั้งสองสื่อท่า key ตีอกชกตัวอย่างแรงหลายนาทีก่อนจบ ทิ้งให้ทบทวนถึงทุกประเด็นที่เป็นปัญหา และนำมาซึ่งการปลดล็อก บอกการแก้ไขที่แฝงมาในสัญลักษณ์น้อยชิ้น ทั้งสิ้นล้วนของใกล้ตัว ที่น่ากลัวในความหมายทั้ง ไม้แขวนเสื้อ โครงกระโปรงสุ่ม หุ่นโชว์เสื้อผ้า มาประกอบการเคลื่อนไหวด้วยความรู้สึก ความคิด ล้วนรายละเอียดในวิถีชีวิตของผู้หญิง ซึ่งต้องต่อสู้กับศัตรูทั้งภายนอกและภายใน (กิเลส bully หนีทุกข์ ฯลฯ) ที่ทำให้ผู้ชมสนุกไปกับการตีความตามประสบการณ์ ในงาน creative ที่ลึกละมุนแต่รุนแรง แทงถูกจุด สะดุดใจ และให้คำตอบอย่างครอบคลุม
EXCLUSIVE INTERVIEW
ในวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน 2566 ณ “Yellow Lane” co-working space ที่จัดสัดส่วนครบถ้วนต่อการใช้งานเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ได้ถูกดัดแปลงพื้นที่บางส่วนให้เป็นโรงละครขนาดเล็กกลางเมืองใหญ่ ภายในบ้านตึกเก่าอลังการที่ถูกงานออกแบบตกแต่งทำให้ร่วมสมัยในแนว minimalism ดูสงบสง่าบรรยากาศร่มรื่นชื่นเย็นเป็น OASIS ทางปัญญา อยู่ท่ามกลางป่าคอนกรีตย่านถนนพหลโยธิน ซอยอารีย์สัมพันธ์ 5 ฉากละครก็เช่นกัน ถูกออกแบบให้ง่ายงามมีความหมาย ใช้อุปกรณ์น้อยชิ้นไม่สิ้นเปลือง แต่สื่อสารได้ชัดไม่ขัดกับแนวคิดและการแสดงที่แฝงนัยจากปมปัญหาสู่การออกแบบท่าเคลื่อนไหว (movement) ที่ไม่ซับซ้อนต่อการตีความตามแบบฉบับของสองนักศึกษากับครูผู้สอน ที่เราชวนกันมาสนทนาเรื่องงานวิจัยก่อนจบ ทำให้พบว่า Devising Performance เป็นศาสตร์การแสดงที่น่าอัศจรรย์นัก
จากเล่มละคอนนิพนธ์ของ แบม กัญรภา อุทิศธรรม
“Devising Performance เป็นการแสดงที่สร้างจากกระบวนการ devising ซึ่งเป็นการสร้างงานจากการค้นหาและทดลองร่วมกัน ของนักแสดงและผู้กำกับจนออกมาเป็นการแสดง ในกระบวนการสร้างงาน devise ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากตัวบท เราสามารถเริ่มจากการวางกรอบโครงสร้าง หรือขอบเขตของการแสดงร่วมกันในกลุ่มนักแสดงก่อน แล้วค้นหาและทดลองจากรูปภาพ ธีม แนวคิด ข้อความ อุปกรณ์ เพลง และการเคลื่อนไหว เป็นต้น ลักษณะการดำเนินเรื่องจะแตกต่างไปจากการดำเนินเรื่องแบบละครที่ต้องมีเส้นเรื่อง มีตัวละคร แต่ใน Devising Performance นักแสดงสามารถเล่นเป็นตัวเองได้และไม่จำเป็นต้องดำเนินเรื่องไปตามเส้นเรื่อง การนำเสนอเรื่องจะมีลักษณะของการตัดแปะซีนเหมือนภาพ collage แต่ถึงอย่างไรก็ตามการสร้างงานโดยใช้กระบวนการ devising ก็ไม่จำเป็นต้องสร้างงานจากการร่วมมือกันหลายคน นักแสดงคนเดียวก็สามารถสร้างงานจากกระบวนการ devising ได้”
จากบททบทวนวรรณกรรมในเล่มละคอนนิพนธ์ของ พริม พริมรติ เภตรากาศ
“อาจนิยามคำว่า Devising Performance ได้ว่า เป็นกระบวนการของการทดลองและสร้างพื้นที่ที่เต็มไปด้วยกลยุทธ์อันแสนสร้างสรรค์ (Goven, Nicholson, and Normington. 2007: p.7) กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ให้อิสระกับผู้ที่อยู่ในกระบวนการได้ค้นหาความเป็นไปได้ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้เราทำความเข้าใจตัวของเราเอง ทำความเข้าใจวัฒนธรรมของเรา และทำความเข้าใจโลกที่พวกเราอาศัยอยู่ devising จะสะท้อนให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย เพราะว่าเป็นการทำงานที่มาจากมุมมองของสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม ซึ่งจะเติบโตมาในวัฒนธรรมและสังคมที่หลากหลาย แต่ละคนก็จะมีประสบการณ์ส่วนตัว มีความฝัน มีความรู้ มีการด้นสดและการทดลองที่แตกต่างกัน ดังนั้น devising เป็นเรื่องของการคิด การเลือก การสร้างสรรค์ การประยุกต์ และทำความคิดให้เป็นรูปเป็นร่าง ด้วยการทำงานกลุ่มร่วมกัน (Oddey, 1994, p. 1)”
สองนักศึกษาบอกเล่าถึงที่มาของการเลือกเรียนละคอน Devising Performance
จากจุดเริ่มต้นที่ไม่สนใจทำละครพูด แต่สนใจจะใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหว วิธีการของครูนาฏตอบโจทย์ นั่นคือการใช้ Body Movement และ Body Expression เป็นส่วนสำคัญในการส่งสาร (message)
พริม - ตอนแรกที่เลือกเรียนศิลปกรรมลังเลว่าจะไปทางนิเทศ หรือ ศิลปกรรม แต่เลือกศิลปกรรมสาขาการละคอนที่ธรรมศาสตร์ เพราะรู้สึกว่าเป็น Pure Art เป็นศิลปะ แล้วเราต้องการจะเรียนรู้ศิลปะ ทางนิเทศเป็นเรื่องสื่อ เกี่ยวกับกล้อง ฯลฯ เราอยากเรียนศิลปะการแสดง ตั้งมั่นเลยว่าจะส่งงานเป็นการแสดงเรียนรู้ศาสตร์สาขานี้เป็น acting แล้วฉีกมา performance มีความสุขมากอยากเรียนรู้ศาสตร์ที่ใช้มนุษย์สื่อสาร ตั้งแต่เด็กเรามาสายการเต้นมีเรียนเต้นมาบ้าง พอมาเรียนละครก็อยากใช้การเต้นมาต่อยอด ละครพูดไม่ตอบโจทย์เท่าที่อยากได้ ในวิชาต่างๆ ก็จะมีเรียน movement เรียน acting ที่เป็นสไตล์ Anti-Realism รู้สึกว่าตอบโจทย์เพราะชอบใช้ร่างกาย ได้ใช้ร่างกายสุดๆ เคยไปดูงานของครูนาฏก็เห็นว่า ไม่ต้องสื่อสารโดยใช้คำพูดก็ได้ เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่น่าศึกษา
แบม - สาเหตุที่เลือกเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์การละคอน เริ่มแรกสนใจเกี่ยวกับการแสดงละครเวทีโดยเฉพาะ เลยหาข้อมูลจาก google เจอธรรมศาสตร์ เราเริ่มจากความไม่รู้จักละครเลยพุ่งเป้าพ่อแม่อนุญาตก็เลยเข้าไป แล้วก็ช็อกค่ะ เพราะว่าละครเวทีในความคิดของเราเป็นละครพูด ร้องเพลง เต้นรำ พอมาเข้าเรียนถึงได้รู้ว่ามันไม่ใช่มีแค่ละครพูดอย่างเดียวนะ แต่มีละครที่ใช้ร่างกายในการสื่อสารด้วย ยิ่งเรียนก็ยิ่งแปลกขึ้นเรื่อยๆ ในความแปลกนั้นเราได้เห็นอะไรที่มันแตกต่างมากขึ้น แตกต่างมากกับละครพูด แล้วก็ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เริ่มรู้สึกสนใจมากขึ้นเราสนใจผลลัพธ์ที่แตกต่างของละครที่ใช้ร่างกาย movement รู้สึกมีเสน่ห์กว่า เป็นอะไรได้หลายอย่างกว่า ฟรีกว่า (ผลลัพธ์ - ภาพ) ผลงานที่ได้ไปดูด้วย รู้สึกละครที่ใช้ movement หรือที่ไม่ real มันใช้จินตนาการหรือ ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้บอกสื่อสารออกมาตรงๆ แต่ใช้สัญลักษณ์ หรืออย่างอื่นสื่อสารออกมา เราชอบในความ creative ของมันก็เลยสนใจมาก
ศาสตร์แห่งการเคลื่อนไหวร่างกาย (Movement) ในมุมของนักศึกษา
นักศึกษาละคอนเริ่มเรียน movement เมื่อปี 2 แล้วเพิ่มมากขึ้นในปี 3 หลังจากที่เคยร่วมงานกันในละครเวที “คือผู้อภิวัฒน์” (ในวาระชาตะกาล 120 ปรีดี พนมยงค์ ในปี 2563) ทั้งคู่ยังได้เรียนกับ พี่นาฏ อีก 2 วิชาคือ Acting 3 และ Movement 2 กระบวนการซ้อมเริ่มจากละคร “คือผู้อภิวัฒน์” เป็นบทเรียนแรกที่ทำให้ทั้งสองรักศาสตร์ movement เริ่มด้วย free movement ที่ทำให้ประทับใจเพราะรู้สึกสนุกที่ได้ปล่อยร่างกายอย่างเป็นอิสระในการแสดง
แบม - ซีนรถถัง อาจไม่ถึงขั้นเป็น movement สุดๆ เหมือนในตอนนี้ แต่มันไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นตัวละคร บางทีต้องฝึกเป็นกลางด้วยคือ เป็นรถถัง เป็นเรือ
นาฏ - ภาวะหนึ่งที่ฝึกให้เข้าใจรู้จักการตั้ง body & mind ให้เป็นกลาง เพื่อที่จะสวิงไปหาจุดที่เป็น character ที่หลากหลายได้ หรือเป็นนามธรรมหรือสิ่งอื่นๆ ได้ ในคนละ moment ต้องเปลี่ยนให้ได้
พริม - มันเป็นจุดที่อะเมซิงที่ทำให้เรารู้สึกว่า เอ๊ะ เราไม่ต้องเป็นตัวละครก็ได้ ร่างกายเป็นอะไรได้หลายอย่างในหนึ่งเรื่อง ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่คน ก็เริ่มสนุกขึ้น
แบม - ชอบ movement ตั้งแต่เรียนในคลาสกับพี่นาฏแล้วค่ะ ลองมูฟ ได้ดูคนอื่นมูฟด้วย อะเมซิงตรงที่ร่างกายสื่อสารออกมาได้โดยที่ไม่ได้ใช้คำพูด ก็เลยรู้สึกสนใจอยากศึกษา เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับ Body Movement มาพอสมควร เลยคิดว่าน่าจะทำธีสิสออกมาได้ ในคลาสเพื่อนมูฟแล้ว comment กันตอนจบ แต่ละคนความเห็นแตกต่างจากการแสดงเดียวกัน คนดูรับสารได้ต่างกัน เปิดให้ตีความอิสระ ไม่ได้บอกว่าที่ฉันทำแบบนี้เพราะฉันหมายความว่าอย่างนี้ คนดูจะคิดอะไรก็ได้ เพราะแต่ละคนมีภูมิหลังไม่เหมือนกัน การแสดงของพี่นาฏไม่ได้มีคำพูดแต่ดึงให้เราสนใจ มันสื่อความหมาย มันทรงพลัง เลยสนใจว่าทำอย่างไรถึงมูฟได้ทรงพลัง ตัวอย่างงานของพี่นาฏเรื่องที่ชอบเป็นพิเศษคือ “ร่างดิน”[1] (“Body Earth and the Alchemy” กำกับการแสดง : สินีนาฏ เกษประไพ : Type : Movement Performance เรื่องการใช้ร่างกายการเคลื่อนไหว body movement & Butoh) เพราะพี่นาฏแทนตัวเองเป็นธรรมชาติได้ ชอบองค์ประกอบที่พี่นาฏเลือกรวมทั้งกราฟิกด้วย แค่คนเดียวแต่ทำให้เห็นภาพ เป็นภาพธรรมชาติ แทนสายน้ำ แทนดิน มันอะเมซิงสำหรับเรา
พริม - เราสนใจแนวคิดพี่นาฏ สนใจในศาสตร์การเคลื่อนไหว มีหลาย element ที่พี่นาฏหยิบมาใช้ พอไปดูงานแล้วมันมีความเป็นศิลปะ มันสื่อสารอะไรบางอย่าง แล้วทำให้เราอยากรู้ว่าเขาสื่อสารอะไร สนใจว่าเป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ตัวอย่างที่ประทับใจคือ “วัวลาน”[3] (The Cowbell and the Invisible แสดงและกำกับ : สินีนาฏ เกษประไพ, รูปแบบ : Butoh Performance) วันนั้นเราใส่เลนส์มันแทบจะเด้งเพราะถูกตรึงไว้ด้วยการแสดง ชอบเพราะองค์ประกอบรวมของมูฟเมนต์ด้วย มันไปด้วยกันได้ เราทำงานในคลาส movement กับพี่นาฏเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง เราถือกล่องมาหนึ่งใบ แบกไปแบกมา ตอนที่ทำเราตีความว่าเป็นผ้าอนามัย เป็นภาระที่เราต้องเจอในสังคม คนเป็นแม่ที่จะต้องเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง แต่แม่ของเรามองว่าเป็นผู้หญิงท้องแน่ๆ ด้วยประสบการณ์แต่ละคนที่เกิดการตีความแตกต่างกัน แล้วมันน่าสนใจสุดๆ
จุดเปลี่ยนสำคัญก่อนการเข้าสู่ movement หลังจากศึกษาแนวอื่นๆ
ครูนาฏ - จุดเปลี่ยนค่อยๆ มาช่วงเวลาที่ training กับครูคำรณ (คำรณ คุณะดิลก) หนึ่งในผู้บุกเบิกก่อตั้ง คณะพระจันทร์เสี้ยวการละคร) แล้วกลับมาฝึกฝนด้วยตัวเอง (self practice & self education) เห็นผลชัดมาก แต่มันอาศัยเวลานะ เหมือนเป็นการเฝ้าดูตัวเอง แล้วเราก็ค่อยๆ เรียนรู้ งานที่เห็นได้ชัดมากๆ เลย คือ “เงา-ร่าง Shade Border”[5] (สร้างงานจากกระบวนการ devising theatre กำกับ : สินีนาฏ เกษประไพ) ตอนนั้นเราพูดเรื่องร่างกาย มีก้อนที่หน้าอกต้องผ่าตัด ต้องสูญเสียหน้าอกไปข้าง มันเอฟเฟกต์กับสุขภาพมาก กว่าจะกลับมาใช้ร่างกายได้ พอได้เล่าเรื่องแบบนี้รู้สึกไม่อยากใช้คำพูด ขณะมูฟได้เล่าเรื่อง เล่าความรู้สึก ประสบการณ์ที่เราเจอโดยที่ไม่ต้องพูด กลับรู้สึกว่าพอมีคนฟัง มีคนมาดู เราได้บางอย่างที่เป็นพลังตอบกลับมา เป็นจุดเปลี่ยนอีกขั้นที่สำคัญมากๆ ทำให้งานช่วงหลังจะพูดเรื่องเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงค่อนข้างเยอะ เพราะประสบการณ์ตรงของตัวเองกับนักแสดงร่วมในงานนี้ด้วย ทำให้เหมือนเรามี empowering ในตัว แล้วเราเชื่อมั่นว่าเรามีความสุขกับตัวเองมากขึ้น
องค์ประกอบอื่นจำเป็นสำหรับการสื่อสารร่วมกับ movement หรือไม่
ครูนาฏ - จำเป็นนะ แต่ละงานนาฏเลือกใช้ไม่เหมือนกัน ตัวนาฏเองช่วงหลังสนใจการใช้ร่างกายมากกว่าการใช้คำพูด เพราะว่าตอนเริ่มแรกทำละครก็เป็นละครพูดมาก่อน แต่พอเรามาเจอด้วยตัวเองว่าเวลาที่เราเทรนนิง ใช้การเคลื่อนไหวด้วยศักยภาพของร่างกาย มันค่อนข้างที่จะทำให้เรารู้จักตัวเองไปแบบลึกๆ มากๆ เลย แปลกมากที่มันเข้าไปในจิตใจ ในมโนสำนึกบางอย่างในตัวเราเอง ทำให้เราเข้าใจทั้งร่างกายและจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง พอเราเข้าใจแล้วมันก็เหมือนเรารู้จักตัวเองเพิ่มมากขึ้น อาจจะควบคุมและเลือกใช้ตัวเองมากขึ้น และที่มากกว่านั้นคือ พอเราตัดคำพูดออกเลย แล้วใช้ body movememt ในการเคลื่อนไหวในการสื่อสาร ปรากฏว่ามันไปถึงจุดที่เรารู้สึกว่าเราสบายใจ มั่นใจกว่าการสื่อสารด้วยคำพูดด้วยซ้ำ ก็เลยสนใจการสร้างงานแบบนี้ ทำงานแนวนี้มา 20 กว่าปีแล้วก็ค่อยๆ สะสมความรู้มา
ตอนแรกก็ไม่มั่นใจว่าถ้าเราไม่พูดแล้วคนดูจะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน แต่ปรากฏว่ามันทำให้เราค้นเจอว่า ทำไมคนดูจะต้องเข้าใจแล้วได้ผลลัพธ์เหมือนกันล่ะ ดังนั้นนี่คือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสร้างงานกับคนดูงานอีกแบบหนึ่ง คือมาเจอกันตรงนี้ มีช่องว่าง มีอากาศ มีสิ่งที่ลอยว่างๆ ไว้ เพื่อให้เรามา shone ไอเดีย ความรู้สึก ความนึกคิดบางอย่าง ซึ่งอาจจะต่างกันในบาง element แต่ในภาพรวมเราจะเก็ตกันได้ สิ่งนี้กลับน่าสนใจมากขึ้น ทำให้คนดูจะได้ไม่ล็อกคำตอบไปกับเรา คนดูจะได้ใช้จินตนาการ อาจจะได้ใช้ critic เพราะความไม่เห็นด้วยไปกับเราก็เป็นไปได้นะ รู้สึกว่าเป็นอิสระ เราให้อิสระกับคนดูในการที่จะรับด้วย
Body Matters เป็นผลลัพธ์จากการวิจัยเชิงศึกษาทดลอง
คะแนนจะอยู่ที่การเขียนออกมาเป็นเล่ม
ครูนาฏ - การแสดงคือการศึกษา เป็นการใช้ process วิธีการกำกับ สร้างงานที่นาฏใช้ในประเด็นของผู้หญิงคือ Devising Performance เราก็จะศึกษาแล้วทำกระบวนการได้อะไรก็จะไปเขียนว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง ได้ความคิดอะไรบ้าง ทั้งกับตัวเองแล้วก็ประเด็น ประเด็นนั่นคือเราต้องอ่านหนังสือเพิ่ม หาเคสเพิ่ม ให้ไปเก็บเสียงสัมภาษณ์เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันในมหาวิทยาลัย
แบม - เราศึกษาหลายประเด็น รู้สึกสนใจที่เคสเป็นผู้หญิงเยอะ เราเคยไปชมนิทรรศการออนไลน์ “Don’t Tell Me How to Dress”[7] (ปลุกพลังสังคมยุติการคุกคามทางเพศ) ภาพยังติดตาอยู่ เขาเอาชุดผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นเหยื่อ ของเด็กซึ่งใส่ในวันที่ถูกข่มขืน แล้วเป็นชุดที่ธรรมดามาก มันเกิดคำถามตีกลับมา ยังติดตาอยู่ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันตัดสินใจจะทำงานนี้ (Body Matters) แล้วได้แชร์กับพี่นาฏเป็นจุดเริ่มต้นเกี่ยวกับผู้หญิง ร่างกายผู้หญิง
พริม - เริ่มต้นจากต้องหาข้อมูลเรื่องผู้หญิงหลายประเด็นมาก มีเรื่องการทำแท้งด้วย ประเด็นที่ใกล้ตัวสุดน่าจะเป็น Body Shaming ในคณะศิลปกรรมจะเสนอหัวข้อเดียวในการสอบหัวข้อครั้งแรก ถ้าไม่ผ่านจะสอบครั้งที่สอง หัวข้อนี้ผ่านตั้งแต่ครั้งแรก สะเทือนใจที่สุดคืออ่านข่าวเกี่ยวกับเด็ก แล้วก็ผู้หญิงที่โดนทำร้าย ในข่าวมีเยอะมากส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนใกล้ตัว รู้สึกไม่น่าเลย
แบม - มีที่ปรึกษาอีกคนคือพี่ภาส (ผศ.ดร.ภาสกร อินทุมาร หัวหน้าสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ช่วยกันแนะนำหนังสือทฤษฎีสตรีนิยม สตรีศึกษา การเมือง เนื้อตัวร่างกาย Body Politics อันนี้ในแง่ประเด็น แต่เราก็ต้องหาข้อมูลในแง่ devising ด้วย คือกระบวนการที่จะทำออกมาเป็น performance
ครูนาฏ - นักศึกษาเสนอประเด็นมาก่อน เรื่องผู้หญิงกว้างมากเราต้องศึกษาก่อนว่า เข้าใจความเป็นผู้หญิงมาอย่างไรบ้าง ถามคำถามง่ายๆ ก่อนแล้วค่อยแนะนำหนังสือเรื่อง Feminist Theory ต่างๆ ให้อ่าน รวมทั้งเกี่ยวกับการแสดงเรื่อง Devising Performance ที่เป็นผู้หญิงด้วย เพื่อให้เข้าใจว่าภาพกว้างๆ เป็นอย่างไร ในกระบวนการนี้จะค่อยๆ เจาะไปว่าแล้วเราจะพูดอะไร ถ้าเป็นตัวน้องสองคนล่ะจะพูดเรื่องอะไรได้บ้าง แต่ที่สำคัญมันคือการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวของสองคนนี้ ซึ่งยังไม่จบภายในเดือนแรกหรือเดือนเดียวนะ มันค่อยๆ กะเทาะไปเรื่อยๆ เรื่องเนื้อตัวร่างกายนี่มาตั้งแต่แรกแล้ว มีหลายเรื่องจะลึกไปถึงประเด็นทำแท้งหรือเปล่า กระบวนการนี้ในขั้นตอนก็ยังไม่ถึงประเด็นนั้น ประเด็นนี้แค่ว่า Body Shaming การถูก Bully เป็นประสบการณ์ตรงที่นักศึกษาเจอ แล้วก็ประสบการณ์ทางอ้อมที่ศึกษาจากการอ่านข่าว อ่านเคสต่างๆ
ขั้นตอนการสร้างสรรค์เนื้อหาออกมาเป็น movement ใน “Body Matters”
พริม - จากขบวนการ devise แบบพี่นาฏจะใช้ 3 อย่างเป็นหลักคือ Free Writing - Free Drawing - Free Movement เช่น Free Writing จะมาเป็นโจทย์ เคยถูกสอนมาให้เป็นเด็กผู้หญิงอย่างไรบ้าง เขียนไปสามนาทีห้ามยกปากกา เขียน เขียน
ครูนาฏ - เราต้องหาว่าจะแปลสิ่งที่เราเขียนออกมาเป็น movement ได้อย่างไร ที่วาดไว้ก็เหมือนกัน เอาสิ่งที่วาดออกมาเป็น movement บางวันก็ลองมูฟเลย แล้วเอากลับมาเขียนสลับกันไปมาแบบนี้ ถ้าเป็นประเด็นก็จะวางฐานไว้มีกระบวนการที่จะไต่ในแต่ละวัน ไม่อย่างนั้นมันเป็นทุกอย่างไม่ได้ ต้องอยู่ในร่มนี้ว่าเราจะพูดเรื่องนี้ ดังนั้นคนกำกับหรือออกแบบกระบวนการต้องคิดว่า จะให้อยู่ในร่องในประเด็นนี้ ในหม้อนี้ได้อย่างไร เหมือนเราจะทำอาหารน่ะ อย่างแรกเลยต้องรู้จักตัวเองก่อนน่าจะง่ายที่สุดในการเข้าใจตัวเอง ถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับร่างกายตัวเอง เขียนไป เข้าใจตัวเองก่อนแล้วไต่ไปสู่ประสบการณ์อื่น กับเพื่อนในรั้วมหาวิทยาลัย กับสังคมที่ใหญ่ขึ้น หนักสุดก็เป็นเนื้อหาข่าวที่ผู้หญิงถูกกระทำ ไปหาอ่านศึกษามา แล้วเราก็ซึมซับทั้งในแง่ตัวข้อเท็จจริง อารมณ์ความรู้สึกด้วย อันนี้ต้องใจมั่นหน่อย เพราะเวลาอ่านเคสแบบนี้แล้วหดหู่ อันนี้คือแรงที่สุด
พริม - มันไม่ใช่การใบ้คำด้วยนะคะ
แบม - เราใช้สัญชาตญาณ เราไม่ได้คิดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ จากตอนแรกที่เขียน แล้วไฮไลต์ประโยคแอกชันออกมาเป็นการแสดงนั้น แอกชันนี้น่าจะให้ฟีลประมาณนี้ก็ลองไปก่อนลองไปเรื่อยๆ
ครูนาฏ - movement ของเราไม่ใช่ mime ที่จะเล่าว่าตัวละครประสบเหตุการณ์อะไรบ้าง 1 2 3 4 ซึ่งจะเห็นชัดขึ้น เราไม่เน้นที่การเล่าเรื่อง ไม่เน้นบอกขั้นตอน 1 2 3 4 สำหรับนาฏมันเป็นภาพรวมมากกว่า แล้วเป็นภาพรวมที่สะท้อนความคิด sense อารมณ์ความรู้สึกของ moment ย่อยๆ อันนั้น มันจะประกอบไปด้วย scene ย่อยๆ เยอะมาก ที่ไม่เจาะจงชัดเรื่องสถานที่หรืออะไร แต่เป็น sense ที่ส่งออกมาจากตัวผู้มูฟเอง มีความคิดส่วนตัวว่า ถ้าเราไม่สนใจแบบแผน รูปแบบที่มันมีอยู่แล้ว แล้วเราเป็นเราแบบนี้มันจะสื่อสารได้ไหม มากน้อยแค่ไหน จะเห็นได้ว่าถ้าเราจะพูดถึงผู้หญิงหรือร่างกาย เรื่องที่สังคมบอกเราว่าควรจะสวย สมบูรณ์แบบ หรือควรจะดูดีกว่านี้ไหม แล้วเราก็ต้องปรับตัวตามนั้น จำเป็นไหมที่ผู้หญิงจะต้องดูเรียบร้อยสวยงามอยู่ตลอดเวลา เราเล่นกับตรงนี้ด้วย ท่ามูฟถ่างแข้งถ่างขาไม่สวยดูได้ไหม
จากข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดมากวนรวมกัน เลือกใช้ visual แบบตรงๆ มาเลยให้มันนัวอยู่ในชิ้นงานทั้งหมดด้วยกัน แรกคิดว่าจะให้มีอีก visual เป็นตัวเลือกเพิ่มเข้ามา แต่ไม่จำเป็นหรอก พอพูดถึงเรื่องนี้ก็ให้คนดูตีความ ประมวลเองว่าจากการมายุ่มย่ามร่างกายหรือว่ามาบุลลี หรืออยากจะมามีส่วนร่วมในร่างกายที่ไม่ใช่ของตัวเอง มันนำไปสู่การใช้อำนาจเหนือร่างกายคนอื่น ไปถึงประเด็นการข่มขืนได้หรือเปล่าอันนี้ต้องเปิดไว้ให้คิด
พริม - ไม่ได้เป็นฟอร์มว่ากำลังทำท่านี้ๆ ค่ะ แต่มี keyword อยู่ข้างในว่าเรากำลังทำอะไร มีอยู่ซีนหนึ่งที่พูดถึงร่างกายเราเอง ตัวอย่างเช่น อันนี้เหมือนต้นไม้อ่อนนะ แล้วต้นไม้อ่อนมันเป็นอย่างไร ใช้ร่างกายแทนสิ่งนั้น บาง movement เราใช้เส้น ในการทำ movement บางทีเป็นการทำร่างกายให้เป็นเส้น บางทีเป็นการให้เส้นทำงานกับร่างกายจนเกิด movement (บางทีมันเป็นเส้นอยู่ที่ขา จะโฟกัสว่าขาเป็นเส้นแบบนั้น โดยเส้นมีความหมายที่เราเข้าใจแล้วว่ามันคืออะไร)
กระบวนการถ่ายทอดความคิดออกมาเป็น movement และสัญลักษณ์
พริม - คือการแสดงนี้ไม่ใช้การด้นสด ดังนั้นท่าที่ครีเอตมาแล้วจะถูกล็อก เราจะทำท่านั้นๆ ในทุกการแสดง แต่ว่าในท่านั้นๆ สิ่งที่ล็อกไม่ใช่การทำท่าอย่างเดียว แต่มี keyword เบื้องหลังท่าอีก ดังนั้นจากท่าเดิมที่เคยล็อก บางทีมันมีสิทธิที่จะกลายไปจากเดิมด้วย แต่เราจะไม่ถึงขั้นสร้างสรรค์ท่าใหม่ แต่ก็จะไม่หยุดแต่ละท่าไว้ที่เดิมเช่นกัน
สัญลักษณ์สุ่มตอนแรกที่เลือกใช้เลยก็คือพี่นาฏเป็นคนเลือก เหมือนกับว่าสุ่มนี่มีความเป็นผู้หญิ๊งผู้หญิง แล้วทำให้นึกไปถึงสมัยวิกตอเรีย มันมีความน่าสนใจหลายๆ อย่าง แต่หลังจากนั้นพี่นาฏให้โจทย์ในการสร้างสรรค์ ในฐานะคนสร้างสรรค์มีเส้นเรื่องหลักๆ ประมาณว่า เราอยู่ในไข่ใบนี้ (กระโปรงสุ่ม) แต่เราค้นพบว่ามันมีอะไรนอกเหนือจากในไข่ด้วย แต่เราจะกล้าทิ้งมันไหม มันเป็นทั้งสิ่งที่ขังเราและเป็นสิ่งที่เราสบายใจเพราะเราเคยอยู่กับมันมาทั้งชีวิต เราอาจจะถูกขังโดยไม่รู้ตัว แต่พอเรารู้เราจึงอยากออกมาจากที่นั่น และสุดท้ายพริมเลือกจะโยนมันทิ้ง แต่ทั้งนี้มีรายละเอียดยิบย่อยอีกซึ่งอยากให้คนดูเป็นผู้ตีความ
สัญลักษณ์หุ่นเสื้อผ้า ออกแบบท่าโดยอิงจากท่าทางในชีวิตประจำวัน มารยาทต่างๆ เช่น ท่าไหว้ ท่าโบกมือ แล้วท่าเหล่านี้ก็จะถูกทำซ้ำในซีนค่ะ ส่วนหุ่นเสื้อผ้าในความหมายส่วนตัวบางครั้งมันหมายถึงตัวพริมเอง เป็นร่างกายของพริมเองเลย โดยเฉพาะในซีนหุ่นเสื้อผ้า มันเหมือนกับเราเต้นรำกับตัวเราเอง และบางทีเราก็ไม่พอใจในตัวเราเอง พยายามที่จะเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา
ไม้แขวนเสื้อเป็นเหมือนกรงแฟชั่น (ทั้ง trend และปกติตามกาลเทศะ) มันสวยงามแต่ก็เป็นสิ่งที่กักขังด้วย มันทำให้ไม่สบายตัว ทำให้ไม่ได้สามารถขยับตัวได้อย่างตามใจ ไม่ค่อยมีอิสระ แต่มันไม่ได้เป็นกรงที่หนาแน่น มันมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่มันก็ยังคงอยู่ เราพยายามออกจากมันด้วย แต่บางทีเราก็รู้สึกว่าอยู่แบบนี้ก็สวยดีค่ะ
แบม - การครีเอตท่าเกิดจากการด้นสดของนักแสดงในช่วงกระบวนการของการค้นหาและทดลอง แล้วเราก็จะล็อกท่าที่ได้ครีเอตมา ดังนั้นทุกการแสดงก็จะเป็นท่าเดิม แต่ว่าเนื่องจากนักแสดงไม่ได้ทำงานกับร่างกายเพียงอย่างเดียวแต่ทำงานกับภายใน (จิตใจ) ด้วยจึงจะออกมาเป็นท่าทางและการเคลื่อนไหว ดังนั้นแต่ละรอบท่าก็จะไม่ได้เหมือนกันทุกรอบ แต่ท่าจะมีลักษณะที่กลายออกไปตามการทำงานกับความรู้สึกภายในของนักแสดง ท่าจะยังคงเค้าโครงเดิมอยู่ ไม่ได้กลายออกไปเป็นท่าใหม่ไปทั้งหมด
สัญลักษณ์ที่มาของสุ่มคลุมไก่ แทนกรอบแทนกรงคุมขังอิสรภาพ ทั้งกายใจโดยไม่รู้ตัว และยอมรับหรือยอมจำนน แบมให้สุ่มไก่แทนกรอบของสังคมที่คุมขังอิสรภาพในด้านเนื้อตัวร่างกาย รวมถึงความคิดของผู้หญิง และยังเป็นสิ่งที่กำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้หญิงอีกด้วย ซึ่งเราก็อยู่กับกรอบของสังคมนี้มาตั้งแต่เกิดเราจึงชินไปโดยไม่รู้ตัว แต่ในความชินนั้นเมื่อเราโตขึ้นและอยู่ในสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นเราก็มีความสงสัย และตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ จึงทำให้เกิดการต่อต้าน ซึ่งในซีนจะเห็นได้ว่ามีทั้งตอนที่เราดิ้นรนในสุ่มไก่ และออกมาได้แต่ก็กลับเข้าไปใหม่ แล้วก็ออกมาอีก ซึ่งตรงนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเราก็ยอมรับอยู่บ้าง ดังนั้นการที่เราจะหลุดออกมาจากกรอบได้จะต้องใช้เวลานาน
หุ่นเสื้อผ้าสำหรับแบมมีความหมายหลายอย่างขึ้นอยู่กับว่า ณ ขณะที่แสดงแบมจะให้ความหมายหุ่นเสื้อผ้าตัวนั้นว่าเป็นอะไร เช่น แบมให้หุ่นเสื้อผ้าเป็นภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับ ให้เป็นเพื่อนสาว ให้แทนความเปราะบางของผู้หญิง และแทนรูปร่างของผู้หญิงที่แตกต่างกัน ส่วนไม้แขวนเสื้อแบมให้หลายความหมาย แต่ละรอบจึงไม่เหมือนกัน เช่น เป็นกรง เป็นคุก ที่คุมขังอิสระของผู้หญิง หรือเป็นเสื้อผ้าของผู้หญิง
movement มีความเป็นสากลในการสื่อสาร แค่ไหน? อย่างไร?
ครูนาฏ - เราสนใจตรงจุดที่ว่าบางทีคำพูดก็ไม่ใช่ว่าเราจะเชื่อได้ทุกคำถูกไหม คำพูดไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป ต้องดู subtext ดู underline ของมันด้วย เช่นเดียวกันทำไมเราไปบางประเทศที่เราพูดภาษาเขาไม่ได้เลยแต่เราสื่อสารกันได้ มันกลับมีเสียงดังขึ้นในการใช้ภาษาร่างกาย body language มากขึ้น แล้วเราก็เข้าใจ sense อารมณ์ความรู้สึกกันได้ ตรงนี้น่าสนใจแล้วมันข้ามกำแพงภาษานี้ได้
ร่างกายคนเราเมื่อสื่อสาร สามารถบอกความจริงและไม่จริง ได้ไหม
ครูนาฏ - สิ่งที่นาฏสนใจคือไม่ได้จะเสกสรรปั้นแต่ง ที่จะต้องเก่งอยู่ตลอดเวลา หรือ ทำท่ายากอยู่ตลอดเวลาเพื่ออะไร เราไม่สนใจความเฟค เราสนใจว่าร่างกายเชื่อมโยงทั้ง body และ mind ทั้งจิตแล้วก็วิญญาณของเราด้วยนะ เราจะเชื่อมโยงให้มันพูดไปด้วยกันได้ไหม แต่ในเวลาที่เราทำการแสดง มีบางช่วงเวลาที่เราจะปิดบาง channel เปิดอีกบาง channel มันสนุกที่เราจะเรียนรู้กลับเข้าไปในตัวเอง แล้วพอมาถึงจุดเหล่านี้ เราเป็นมากกว่าเวลาที่เราเป็นตัวละครที่เราเป็นแค่คนนั้นคนนี้ เป็นมนุษย์ แต่ว่า body movement มันเปิดโอกาสให้เราเป็นอะไรก็ได้ เป็นมนุษย์ อมนุษย์ นามธรรมก็ได้ เป็นผี เป็นธรรมชาติก็ได้
ขณะ movement เสมือนการทำสมาธิหรือไม่
ครูนาฏ - นาฏไปปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิไม่ได้ แต่ถ้าให้เคลื่อนไหวสมาธิอยู่บนเวทีเป็นชั่วโมงๆ ก็สบาย เป็นอะไรที่พบเจอช่วยดูแลจิตใจตัวเองช่วงโควิดมากๆ เลย คือการปฏิบัติเคลื่อนไหวอยู่กับบ้าน ทำวันละสองสามชั่วโมงอยู่กับตัวเอง โควิดกับผ่าตัดห่างกันนาน แต่หลังผ่าตัดเป็นความสูญเสียร่างกายที่ทำไม่ได้เหมือนเดิม เพราะแผลใหญ่มาก แล้วเราเป็นนักละครมันต้องมูฟมันไม่ได้อย่างใจเอี้ยวหลังใส่เสื้อก็ไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หลายเดือน ต้องอาศัยเวลา ปัจจัยในการเยียวยาตัวเองที่สำคัญคือจิตใจเรา
แต่โควิดมีอีกภาวะหนึ่งนะที่เหมือนเราถูกแช่นิ่ง แล้วเราต้องอยู่ภายในบ้านเล็กๆ ใต้หลังคา ไม่ได้ออกไปไหน เกิดภาวะใหม่ที่เราค้นพบเลยว่า คล้ายติดคุก แล้วมีภาวะไม่มั่นคงในชีวิตเพิ่มเข้ามา เพราะเราไม่ได้ทำงาน เราอยู่ได้ด้วยการทำงานที่รักคือละครแล้วไม่ได้ทำ มันแกว่งไกวมากกับการเป็นอยู่ ในจิตใจด้วยนะมันก็มาอีกเรื่องหนึ่งเลยที่เราต้องจัดการดูแลตัวเอง ก็เลยต้องงัดวิชาที่ตัวเองมีอยู่คือใช้การเคลื่อนไหวมาทำ process แล้วก็อยู่กับมันไป เริ่มแรกรู้สึกตัวเองโหยมากไม่มีแรง ง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา ต้องลุกขึ้นมาวอร์มแล้วก็มี process มากขึ้นๆ ได้เรื่องสมาธิ เรื่องการรู้เท่าทันตัวเอง
การสื่อสารด้วย movement ให้อิสระในการแปลสารอย่างไร้ขอบเขต
ครูนาฏ - movement ไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยสำหรับผู้ชมโดยทั่วไป มันดูแปลกๆ ประหลาด เพราะว่ามันดูไม่ใช่ท่าทางที่สวยงามถูกออกแบบมาแม่นเป๊ะแล้ว ในแง่การสื่อสารถ้าเป็นการพูดกันตรงๆ ก็เข้าใจกันได้เลย แต่นี่เราไม่ต้องการอธิบายความ เราแค่จะพูดถึงความเข้าใจในความเป็นผู้หญิงของเรา ถ้าอยากรู้เยอะมากๆ ในข้อเท็จจริง มีหนังสือมากมายให้อ่าน ถ้าเราสื่อด้วยการแสดงในสิ่งที่เราทำ เราจะสร้างสรรค์มันได้อย่างไรต่างหาก
พูดกันตรงๆ มันอาจจะมีแง่มุมบางอย่างซึ่งแน่นอนถ้าจะเลือกทางนี้ ก็ไม่สามารถไป touching ลึกกับคนหมู่มากได้หรอกเรารู้อยู่แล้วในแนวทางที่เราเลือก แต่เรากลับไม่สนใจ เพราะในประสบการณ์ที่เจอมาคือว่า ถ้าเรา touched กับคนบางคนได้ มันไปได้ แล้วไปได้ลึกด้วย โดยเฉพาะคนดูผู้หญิงด้วยนะ ผู้ชายดูได้อาจไม่อินเท่า แต่ในหมู่คนดูผู้หญิงกลับมีภาวะ comfortable บางอย่างที่เขาจะสามารถรับรู้ได้ จูนติด ในจุด moment แบบนั้น อันนี้เป็นมุมส่วนตัว ผู้ชมแต่ละคนไม่เหมือนกัน
สำหรับนาฏเหมือนเราเสนอแบบหนึ่งแล้วมีผู้ชมข้ามเข้ามาหากันและกันกับเรา ถ้ามีประสบการณ์ของผู้ชมแต่ละคน สามารถมาลิงก์กับเราได้ในบางช่วง ไม่ใช่ตลอดเวลาการแสดงนะอาจจะเป็นช่วงใดช่วงหนึ่ง คนดูบางคนมองเป็นภาพรวม เพราะเราไม่ได้อยากจะบอกว่าท่านี้แทนคำว่าอย่างนี้ ซีนหนึ่งอาจไม่ใช่แทนค่าอันนี้ก็ได้ แต่มองคลิกทั้งหมดเป็นภาพรวมไป
พริม - แต่จากรอบตัวเพื่อนธรรมศาสตร์ เราถามเขาก็แชร์ว่ามัน touched ใจมากเพราะเคยมีประสบการณ์ร่วม
แบม - จากการได้ทำการแสดงในครั้งนี้เหมือนได้สำรวจตัวเองไปด้วย ทั้งด้านจิตใจร่างกายมันพัฒนาขึ้น ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ด้านจิตใจแต่ก่อนเราเป็นคนชอบเช็กตัวเองว่า ตรงนี้ยังไม่โอเคนะรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงมันจังเลย เราก็จะออกกำลังกาย ควบคุมอาหารเพื่อเปลี่ยนแปลง ก็คือไม่เคยพอ ถึงมันจะเล็กลงหรือใหญ่ขึ้นก็คือไม่เคยพอใจ พอได้เข้ากระบวนการรู้สึกเรารักตัวเองมากขึ้น เริ่มที่จะไม่เช็กตัวเองแล้วก็ไม่ติตัวเอง ยอมรับจุดที่เคยทำให้เราไม่ชอบตัวเองได้ ก็ฉันเป็นของฉันอย่างนี้ มันก็ไม่ได้แย่แล้วก็ดูดีในแบบของตัวเอง
พริม - เราเพิ่งมาค้นพบตัวเองในบางอย่างว่า เราติดอยู่กับฟอร์มมาตลอดทั้งชีวิต เคยเต้นบัลเล่ต์ รำไทย ทุกอย่างเป็นความสวยงามเป็นฟอร์ม เราเพิ่งรู้ตัวตอนที่มาทำ scene ว่าไม่สามารถเต้นบัลเลต์แล้วลงไปที่พื้นได้ ทำไม่ได้จริงๆ ขณะเต้นก็พูดไม่ได้ เพราะมันถูกล็อกท่าไว้แล้วว่าขณะเต้นแขนต้องเท่านี้ ขาเท่านี้ ปากยิ้ม ฯลฯ คือเราถูกกำหนดให้เป็นฟอร์มไปแล้ว
เราใช้เวลานานมากกว่าที่จะทลายกรอบทลาย pattern ตรงนั้นได้ เพิ่งมาตระหนักว่าทั้งชีวิตเราไม่เคยปล่อยผมแสดงเลย เพราะต้องเก็บมวยให้เรียบร้อย ข้างหน้าต้องเป๊ะคอยาว ตอนที่แสดงปล่อยผมครั้งแรกรู้สึกทำไมผมเกะกะ ไม่จริงเป็นไปไม่ได้ เฮ้ย มันเคยอิสระนะ ทำไมเราจะต้องไม่มีผมอยู่ที่หน้าล่ะ มันช่วยปลดล็อกหลายอย่าง อ๋อ เราถูกทำให้เป็นฟอร์ม เหมือนถูกควบคุมด้วยแนวคิดนี้ แล้วร่างกายก็เป็นแบบนั้นมาตลอด เพิ่งจะมาปลดล็อกได้ มันมาทีละนิดๆ จากหลายเรื่องมาก ไม่ใช่ปลดล็อกทีเดียว ยิ่งเรื่องบัลเล่ต์ลงพื้นนั่นใช้เวลาหลายวันในการฝึกซ้อม กว่าจะพ้นมันไปได้
อะไรที่ทำให้เลือกและอยู่กับละครแนวนี้ แม้มีข้อจำกัดมากมายหลายด้าน
นาฏ - นาฏเลือกทำละครตั้งแต่แรกเลย รู้อยู่แล้วว่าประกอบอาชีพลำบากเป็นทางยากที่จะใช้ชีวิต แต่เหมือนว่าถ้าไม่ได้ทำสิ่งที่สนใจหรือเรารักจริงๆ เราไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ละคร จินตนาการไม่ออกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร พอทำไปทั้งงานละครหรือชีวิตมันกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว ยิ่งค้นพบก็ยิ่งรู้สึกว่าใช่แล้วล่ะ คนอื่นอาจจะไม่เห็นคุณค่าหรืออาจจะไม่เข้าใจในจุดนี้ พอมาภาวะหนึ่งที่เราต้องพึ่งพาเยียวยาจิตใจตัวเอง process ของละครหรือการฝึกฝน การเคลื่อนไหวร่างกาย มันกลับใช้ดูแลรักษาร่างกายจิตใจตัวเองได้ และก่อนหน้านี้ก็แสดงว่า เราแค่คิดว่ามันเป็นศิลปะเป็นความรัก แต่มันมีแง่มุมอื่นอีก มันเหมือนกับว่านี่คือน้ำเสียงของเราที่ได้พูดคุยกับคนอื่น แล้วคนอื่นได้มองเห็นเราผ่านผลงานของเรา มันมีจุดนี้ด้วยนั่นเอง ที่ทำไมเราถึงมีความสุขอยากจะทำงานละคร หรือทำการแสดง และอยู่ในสายงานนี้
ทั้งรัฐสวัสดิการและ perception ของผู้คนในสังคมโดยทั่วไป อยากให้รับรู้ว่าศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหนเป็นเรื่องที่สำคัญนะ เป็นเรื่องที่จำเป็นต่อชีวิต ถึงไม่จำเป็นรูปธรรมเท่าปัจจัยสี่ แต่ถ้ามนุษย์เราไม่มีสิ่งเหล่านี้ มันไม่มีอะไรมาหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณหล่อเลี้ยง active ในชีวิต รัฐเองก็ควรมีนโยบายสนับสนุนศิลปะศิลปินทุกแขนงให้กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะศิลปะการแสดง ศิลปะการละครมันขาดแคลนมากที่งบประมาณ รวมทั้งการกระจายข่าวเป็น HUB ให้ผู้คนรู้จักกิจกรรม หรือว่ากลุ่มละครแบบเราๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะมันยังจำกัดมากๆ
Body Matters: A body dialogue about women เป็นอีกหนึ่งการแสดงที่ส่งเสียงตรง ร่วมรณรงค์ต่อต้านอำนาจไม่ชอบธรรมที่รุกล้ำความเป็นหญิงในทุกกรณี ผ่านทุกความเคลื่อนไหวในแนว Body Movement ที่ไร้เสียง แต่เปี่ยมพลังในการสื่อสารทั้งด้าน Body Shaming และสารพัดสิ่งเลวร้าย เพื่อร่วมเปิดโลกทัศน์ใหม่ในพลวัตของสังคมเก่าซึ่งพร้อมจะเข้าข่มขืนคนที่อ่อนแอได้เสมอ พวกเธอทำสำเร็จแล้วในก้าวสำคัญขั้นสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ด้วยสาร (message) ที่ปลุกสัญชาตญาณการรัก เชื่อถือ และศรัทธาในตัวตน ให้คนอ่อนไหวได้เข้มแข็งแกร่งสู้ เพื่อการเป็นอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และพร้อมที่จะก้าวต่อไปอย่างมั่นใจ แม้ในโลกเทียมอย่างคนที่มีสุขแท้ ขอแค่มั่นใจ ภูมิใจในตัวเองอย่างที่ละครสอนไว้ ความทุกข์ก็จะหายไป เหมือนได้ชีวิตใหม่กลับมา เป็นยาวิเศษแน่นอน
หมายเหตุภาพประกอบบทความ :
- จิร อังศุธรรมทัต (Jira Jirat Angsutamatuch)
- ทวิทธิ์ เกษประไพ (Tawit Keitprapai)
- หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art & Culture Centre: BACC)
[1] ร่างดิน, BTF 2022 เทศกาลละครกรุงเทพ, BACC.
[2] ร่างดิน, BTF 2022 เทศกาลละครกรุงเทพ, BACC.
[3] วัวลาน, โครงการ Biopsy of Fear, BACC.
[4] วัวลาน, โครงการ Biopsy of Fear, BACC.
[5] เงา-ร่าง Shade Border, กำกับ : สินีนาฏ เกษประไพ, Crescent Moon Theatre, BACC.
[6] ร่างดิน, BTF 2022 เทศกาลละครกรุงเทพ, BACC.
[7] พัชชา พูนพิริยะ, นิทรรศการ Don’t tell me how to dress ปลุกพลังสังคมยุติการคุกคามทางเพศ, The Standard.
[8] ร่างดิน, BTF 2022 เทศกาลละครกรุงเทพ, BACC.
- ละคร
- การละคอน
- ละคอนนิพนธ์
- BODY MATTERS
- กวินพร เจริญศรี
- สิทธิขั้นพื้นฐาน
- ความเท่าเทียม
- ความเท่าเทียมทางเพศ
- สิทธิสตรี
- การคุกคามทางเพศ
- การล่วงละเมิดทางเพศ
- กัญรภา อุทิศธรรม
- พริมรติ เภตรากาศ
- Devising Performance
- สินีนาฏ เกษประไพ
- Crescent Moon Theatre
- body movement
- body expression
- เงา-ร่าง
- Shade Borders
- Women in Dystopia
- Don’t Tell Me How to Dress
- คณะศิลปกรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- Yellow Lane
- ร่างดิน
- วัวลาน
- คำรณ คุณะดิลก
- จิร อังศุธรรมทัต
- ทวิทธิ์ เกษประไพ
- หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- Bangkok Art & Culture Centre
- BACC
- พัชชา พูนพิริยะ
- The Standard