ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ภายหลังสงบศึกอินโดจีน

13
สิงหาคม
2567

Focus

  • ภายหลังเหตุการณ์สงครามอินโดจีน สถานการณ์ของรัฐบาลภายใต้การนำของหลวงพิบูลสงครามหลายบุคคลทั้งคนในรัฐบาลและสนับสนุนการดำเนินโยบายของรัฐบาลทำให้หลวงพิบูลสงครามฯ ได้รับความนิยม แต่นายปรีดี พนมยงค์มีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปโดยชี้ว่า จอมพล ป. เริ่มถอยห่างจากแนวทางสันติวิธี
  • สถานการณ์การต่างประเทศ ในภูมิภาคเอเชียประเทศญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยทำให้อังกฤษและสหรัฐอเมริกาเกิดความไม่พอใจต่อท่าทีของประเทศญี่ปุ่น

 


คณะรัฐมนตรีในช่วงทศวรรษ 2480

 

-1-

ภายหลังสงบศึกอินโดจีน มีผู้ไปลงนามในสมุดที่วังสวนกุหลาบอันเป็นทำเนียบของนายกรัฐมนตรี ในบรรดาผู้ลงนามแสดงความยินดีนั้น มีขุนนางที่เคยเป็นเสนาบดีสมัยก่อนเปลี่ยนการปกครอง 24 มิถุนาฯ ผู้หนึ่งเขียนชมเชยหลวงพิบูลฯ ว่าเป็นผู้กู้ชาติเสมอด้วยพระเจ้าตากสิน

มีผู้หนุนให้หลวงพิบูลฯ ขอพระราชทานยศเป็นความชอบเพิ่มขึ้นจากยศเดิม แต่หลวงพิบูลฯ ก็ยังไม่ยอมโดยขอเป็นเพียงนายพลตรีตามที่เป็นอยู่เท่านั้น แต่เสียงเรียกร้องและเสียงหนุนก็มีมาไม่ขาดสาย หลวงอดุลฯ จึงเป็นผู้เสนอคณะผู้สำเร็จราชการฯ ให้เลื่อนยศหลวงพิบูลฯ จากนายพลตรีเป็นจอมพล, จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ โดยหลวงอดุลฯ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เมื่อมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หลวงพิบูลฯ บอกว่าไม่ต้องการยศนั้น แม้คณะผู้สำเร็จราชการฯ (พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และพระยาพิชเยนทร์ฯ) จะได้นัดให้ไปรับคทาจอมพล แต่หลวงพิบูลฯ ก็ไม่ยอมไป ในที่สุดหลวงพิบูลฯ ประดับยศจอมพลเองและใช้ยศนี้ต่อมาส่วนคทาจอมพลนั้น อีกหลายเดือนต่อมา พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ได้ทรงให้คนนำไปมอบให้แก่จอมพลที่ทำเนียบของท่านผู้นี้เอง

 


รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายหลังสงบศึกอินโดจีน

 

พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วย่อมทำให้หลวงพิบูลฯ เคลิบเคลิ้มไปตามคำเยินยอและลูกหนุน เป็นเหตุให้ดำเนินการออกห่างจากอุดมคติของคณะราษฎรยิ่งขึ้นทุกที ประกอบด้วยฝ่ายอักษะได้ทำการรบมีชัยชุดแรกในยุโรปอย่างสายฟ้าแลบและญี่ปุ่นก็ได้ชัยชนะในเอเซียตะวันออก จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงว่าการใช้อาวุธทำสงครามนั้นได้ผลในการสถาปนามหาอาณาจักรหลวงพิบูลฯ จึงได้ออกห่างแนวทางสันติวิธีซึ่งได้ตกลงกันไว้เมื่อครั้งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพระยาพหลฯ นั้นยิ่งขึ้นทุก ๆ ที ข้าพเจ้าซึ่งเป็นเพื่อนรวมก่อการฯ ตั้งแต่เมื่อครั้งแรกตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสก็ได้แต่เพียงคัดค้านวิธีปฏิบัติบางประการที่ข้าพเจ้าทราบว่าหลวงพิบูลฯ คิดผิด แต่ฝ่ายที่หนุนให้หลวงพิบูลฯ ทำผิดนั้น มีมากกว่าหรือสามารถตามใจหลวงพิบูลฯ ได้ดีกว่าข้าพเจ้า ฉะนั้นในระยะหลังนี้ ข้าพเจ้าจึงปรารภกับเพื่อนบางคนที่ออกจากรัฐบาล โดยเตรียมตัวว่าเมื่อออกแล้วก็จะไปอาศัยอยู่นอกประเทศในดินแดนที่ใกล้เดียง เพื่อรอคอยว่าถ้าบรรยากาศประชาธิปไตยฟื้นขึ้นมา ข้าพเจ้าก็จะกลับมารับใช้ชาติในประเทศไทยต่อไป ในการนี้ได้ให้น้องชายดำเนินการหาที่อยู่ให้ข้าพเจ้าที่สิงคโปร์

 

-2-

ต่อมาข้าพเจ้าได้รับทราบจากเพื่อนรัฐมนตรีคนหนึ่งว่า หลวงพิบูลฯ จะเสนอให้เลิกบรรดาศักดิ์ตามระบบเก่าทั้งสิ้นโดยจะให้มีระบบฐานันดรศักดิ์ขุนนางอย่างยุโรปคือ ให้มีขุนนางศักดินาที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า “Lord” แบ่งออกเป็น Duke, Marquis, Count หรือ Earl, Viscount, Baron ซึ่งญี่ปุ่นก็มีขุนนางศักดินาเช่นนี้เหมือนกัน

หลวงพิบูลฯ จะคิดขึ้นเอง หรือใครหนุนให้คิดข้าพเจ้าไม่ทราบแน่ แต่หลวงพิบูลฯบอกในวันเสนอเรื่องนี้ว่า หลวงวิจิตรวาทการได้ไปเฝ้าพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปรึกษาว่า จะทรงเห็นด้วยหรือไม่ ในการที่จะให้มีฐานันดรขุนนางดังกล่าว พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ รับสั่งว่าเห็นชอบด้วย นายทวี บุณยเกตุบอกข้าพเจ้าว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบให้พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรกับหลวงวิจิตรฯ ช่วยคิดว่า ในภาษาไทยควรเรียกขุนนางอย่างใหม่ว่ากระไร ข่าวนี้ได้แพร่มายังรัฐมนตรีหลายคนและแพร่ไปถึงหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ จึงได้ลงบทความกระแหนะกระแหนความคิดเรื่องนั้น ข้าพเจ้าทราบจากนายบี๋ที่เป็นผู้เขียนบทความว่า มีรัฐมนตรีคนหนึ่งบอกให้เขียนคัดค้านเช่นนั้น

ต่อมา นายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพร้อมด้วยบันทึกของผู้คิดคำไทยสำหรับฐานันดรใหม่ นายกฯเสนอเพียงหลักการ หลวงวิจิตรฯ เป็นผู้ชี้แจง เท่าที่ข้าพเจ้าพอจำได้นั้น

ก. ขุนนางใหม่ให้เรียกเป็นภาษาไทยว่าดังนี้

(1) Duke ให้เรียกว่า “สมเด็จเจ้าพญา”, Duchess ให้เรียกว่า “สมเจ้าพญาหญิง” แต่หลวงวิจิตรฯขอเสนอด้วยว่า ควรเรียกว่า “สมเด็จหญิง” เพียงสั้นๆ

(2) Marquis ให้เรียกว่า “ท่านเจ้าพญา”, Marchionessให้เรียกว่า “ท่านพญาหญิง”

(3) Count หรือ Earl ให้เรียกว่า “เจ้าพญา”, Countess ให้เรียกว่า “เจ้าพญาหญิง”

(4) Viscount ให้เรียกว่า “ท่านพญา”, Viscountess ให้เรียกว่า “ท่านพญาหญิง”

(5) Baron ให้เรียกว่า “พญา”, Baroness ให้เรียกว่า “พญาหญิง”

ข. ใครจะเป็นขุนนางชั้นใดให้ถือตามอันดับสายสะพายอิสริยาภรณ์ คือ สายสะพายนพรัตน์ให้เป็นสมเด็จเจ้าพญา, สายสะพายมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกให้เป็นท่านเจ้าพญา, สายสะพายมหาวชิรมงกุฎให้เป็นเจ้าพญา, สะพายช้างเผือกให้เป็นท่านพญา, สายสะพายมงกุฎให้เป็นพญา

ค. ขุนนางใหม่คนหนึ่ง ๆ จะมีชื่อจังหวัดหรือท้องที่ทำนองขุนนางศักดินาฝรั่งที่แสดงว่าเป็นเจ้าท้องที่ใด เช่น สมเด็จเจ้าพญาแห่งพิษณุโลก, พญาแห่งอุทัยธานี ฯลฯ

ง. รัฐมนตรีส่วนมากคัดด้านข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีและหลวงวิจิตรฯ นายกฯ จึงกล่าวว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่เอาตามที่เสนอ ก็ให้เวนคืนบรรดาศักดิ์เก่าให้หมด ที่ประชุมตกลงเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิม โดยไม่ยอมเห็นด้วยในการตั้งระบบฐานันดรขุนนางศักดินาดังกล่าวแล้ว

ครั้นแล้วนายกรัฐมนตรีเสนอว่า ให้ที่ประชุมลงมติว่า ผู้ที่เวนคืนบรรดาศักดิ์แล้วจะเลือกใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือจะเปลี่ยนนามสกุลเดิมเป็นนามสกุลตามราชทินนามโดยไม่มีบรรดาศักดิ์ก็ได้ หรือจะมีชื่อรองโดยใช้ราชทินนามก็ได้ ดั่งนั้นข้าพเจ้าจึงเลือกเอาทางใช้ชื่อและนามสกุลเดิมว่า “ปรีดี พนมยงค์” ส่วนหลวงพิบูลสงครามมีชื่อเดิมว่า “แปลก” นามสกุลเดิม “ขีตตะสังคะ” ได้เปลี่ยนนามสกุลใหม่ว่า “พิบูลสงคราม” หลวงวิจิตรวาทการชื่อเดิม “กิมเหลียง” นามสกุล “วัฒนปฤดา” เปลี่ยนชื่อและสกุลใหม่ว่า “วิจิตร วิจิตรวาทการ” หลวงอดุลเดชจรัสชื่อเดิม “บัตร” นามสกุล “พึ่งพระคุณ” เปลี่ยนชื่อและสกุลใหม่ว่า “อดุล อดุลเดชจรัส” พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ ชื่อเดิม “เภา” นามสกุล “เพียรเลิศ” ใช้นามสกุลเดิมเป็นชื่อรอง ราชทินนามเป็นนามสกุลรวมกันเข้ามีชื่อยาวว่า “เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ”

 

-3-

ทางด้านต่างประเทศนั้นฝ่ายญี่ปุ่นได้ติดต่อกับหลวงพิบูลฯ โดยมีนายวนิช ปานะนนท์เป็นสื่อกลาง และมีหลายคนที่โอนเอียงทางญี่ปุ่นเข้าใกล้ชิด แต่หลวงพิบูลฯ ก็ใช้นายดิเรกฯติดต่อทางอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาไว้ด้วย นายดิเรกฯ กล่าวไว้ในหนังสือเล่มที่อ้างถึงก่อนนั้นว่า เรื่องติดต่อกับญี่ปุ่นนายกฯ จัดการเอง ดังนั้น นายดิเรกฯจึงไม่รู้เรื่องลึกซึ้งเกี่ยวกับญี่ปุ่นนอกจากนายกฯ บอกให้รู้บ้างเท่านั้น

ฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งกองทหารเข้ามาในอินโดจีนมากยิ่งขึ้น ฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็แสดงทีท่าไม่พอใจการรุกรานของญี่ปุ่นที่เคลื่อนมาทางเอเซียใต้ สงครามในเอเซียมีท่าจะขยายกว้างขวางและลามมาถึงประเทศไทยด้วย รัฐบาลไทยจึงได้เสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ลงมติเห็นชอบในการออกกฎหมายว่าด้วยหน้าที่พลเมืองไทยในเวลารบ ให้คนไทยทุกคนต่อสู้ผู้รุกราน ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามต้องถูกลงโทษประหารชีวิตส่วนวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ ก็เรียกร้องให้คนไทยสู้จนคนสุดท้าย อย่ายอมแพ้ศัตรูง่าย ๆ ถ้าต้องถอยก็ให้เผาบ้านเรือนและพืชผลเพื่อไม่ให้ศัตรูเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์และแนะนำถึงวิธีต่อสู้ของคนไทยสมัยโบราณที่ใช้กับดัก และพืชที่มีพิษ เช่น หมามุ่ยเป็นต้น (ขอให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์หาบทความวิทยุในสมัยนั้นอ่านดู)

 

-4-

จอมพล ป.ได้ปรับปรุงตำแหน่งในรัฐบาลให้ทะมัดทะแมงขึ้น ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ว่าด้วยตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการทหารและในการพลเรือนเมื่อมีสงครามเกิดขึ้น ประกอบด้วยนายดิเรกฯถูกลดตำแหน่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ โดยจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งว่าการเสียเอง และลดตำแหน่ง พล.ท.มังกร พรหมโยธี จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเป็นช่วยว่าการโดยจอมพล ป.ว่าการเสียเองอีกตำแหน่งหนึ่ง อำนาจของจอมพล ป. จึงมีเกือบเต็มเปี่ยม

ในเวลาใกล้กันนั้น พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทยได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อรวมอำนาจของท่านผู้นี้เข้ากับของจอมพล ป. แล้ว สองท่านนั้นเป็นที่น่าเกรงขามอย่างยิ่ง

วิทยุกรมโฆษณาการได้เปลี่ยนน้ำเสียงนิยมญี่ปุ่นมาเป็นการกระแหนะกระแหนญี่ปุ่น ผู้ฟังจำนวนไม่น้อยคิดว่ารัฐบาลคงมีท่าทีเรียกร้องให้ประชาชนต่อสู้ญี่ปุ่นที่ส่งทหารเข้ามาอยู่ในอินโดจีนจนถึงชายแดนไทยแล้ว จึงเตรียมตนพร้อมเสียสละเพื่อชาติจนโลหิตหยาดสุดท้ายในการสู้แสนยานิยมญี่ปุ่น ซึ่งมีท่าทีว่าจะคุกคามประเทศไทย

จอมพล ป.ได้เชิญข้าพเจ้าไปปรึกษาพร้อมด้วย พล.อ.จิระ วิชิตสงคราม เสนาธิการทหาร และ พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน แม่ทัพเรือที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือที่จะขอให้อังกฤษส่งอาวุธมาให้ไทย ในวันนั้นเห็นชอบพร้อมกันที่จะส่งผู้ใหญ่ทางทหารบางคนออกไปเจรจากับทางการทหารอังกฤษ แต่อังกฤษก็รับจะให้อาวุธเพียงบางส่วนเท่านั้น อ้างว่าฝ่ายตนมี

จะด้วยความเข้าใจผิดอย่างใดอย่างหนึ่งของฝ่ายอังกฤษที่เข้าใจว่า ถ้าญี่ปุ่นรุกล้ำเข้าไทย ๆ ก็ต้องสู้จนคนสุดท้ายตามโฆษณา ความปรากฏจากบันทึกความจำของนายพล “Percival” อดีตผู้บัญชาการทหารอังกฤษในมลายาว่า โดยความเข้าใจผิดว่าฝ่ายไทยไม่ขัดข้องที่อังกฤษจะส่งทหารมาไว้ก่อนเพื่อเตรียมช่วยไทยถ้าถูกญี่ปุ่นรุกราน ดั่งนั้น ตนจึงได้ส่งนายทหารอังกฤษนอกเครื่องแบบมาสำรวจภูมิประเทศบริเวณชายแดนไทยเพื่อจะส่งทหารอังกฤษมาสมทบกับทหารไทยในกรณีญี่ปุ่นบุกเข้าไทย ฝ่ายวิทยุสิงคโปร์ได้แต่งคำกลอนภาษาไทยเกริ่น ๆ ไว้หนุนให้ไทยต่อสู้ญี่ปุ่นที่รุกเข้ามา เช่นกลอนหนึ่งมีความว่า “ถ้าโตโจบินโผล่ล้ำเข้ามา ให้รีบคว้า ป.ต.อ. ล่อเข้าปัง” ฯลฯ

อย่าว่าแต่คนอังกฤษอเมริกันเข้าใจผิดเลย แม้คนไทยจำนวนไม่น้อยก็เข้าใจว่า รัฐบาลไทยสู้ญี่ปุ่นแน่

 

หมายเหตุ:

  • คงอักขรและการสะกดตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม

  • ปรีดี พนมยงค์. “ภายหลังสงบศึกอินโดจีน” ใน, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 115-121.