ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

"เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง" การสร้างกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้

21
สิงหาคม
2567

 

Focus

  • ตลอดระยะเวลา 20 ปี เหตุการณ์ปัญหาชายแดนใต้ จากกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้น แบ่งออกเป็น 10 ปีแรกของปัญหา คือการแสวงสันติภาพเพื่อยับยั้งการก่อเหตุ แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ 10 ปี ไม่เห็นการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้เมื่อเปรียบเทียบกับแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในหลายประเทศ
  • แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้จะต้องดำเนินการเปิดพื้นที่ทางออกทางการเมืองและการพูดคุยเพื่อแก้ไขในพื้นที่ โดยประชาชนต้องเข้ามามีบทบาทในการร่วมมือ เพื่อกำหนดทางออกและกรอบการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การพูดคุยสันติภาพเชิงบวก

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

ขอไปต่อที่อาจารย์อับดุลเราะมัน มอลอ ซึ่งในสองบทบาทด้วยทั้งเป็นนักวิชาการ และที่ปรึกษาของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่าน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องในพื้นที่มาโดยตลอดทั้งอดีตคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ อดีตเลขาธิการ ศอบต. แล้ววันนี้ท่านก็คือผู้ที่ดูแลเรื่องนโยบาย กระทรวงยุติธรรมก็มีส่วนสำคัญในการดูแลพื้นที่ชายแดนใต้ ดังนี้ รัฐไทยในสองทศวรรษได้แก้ไขปัญหา รวมถึงแผนการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ มีข้อเด่น ข้ออ่อน และพบความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในฐานะของอาจารย์เองและอนาคตของการสร้างสันติภาพและการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอเรียนเชิญเลยค่ะ

 

 

อับดุลเราะมัน มอลอ :

สวัสดีครับ ขอความสันติสุขจงประสบแด่ทุกท่าน ก่อนอื่นเลยก็ขอบคุณสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในงานวันนี้ การที่มาเข้าร่วมในงานวันนี้แสดงว่าเรามีหัวใจของการที่รักในความยุติธรรม รักในสันติภาพนะครับ ที่นี้เราอาจจะหวังเพิ่งเราอาจจะหวังพึ่งคนอื่นมากไม่ได้ นักการเมือง พรรคการเมือง หรืออะไร อย่างอื่นอย่างเดียว ไม่ได้หวังพึ่งหน่วยงานความมั่นคงนักวิชาการอย่างเดียว เราเอง ทุกท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ เราต้องเป็นกลไกหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ เราต้องปวารณาตัวว่าเราคือกลไกหนึ่งที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ออกไปจากห้องนี้ 79 ปี วันสันติภาพไทย สองทศวรรษของการหาสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้จบจากเวทีนี้เราทำอะไรต่อเพื่อที่เราจะไปถึงสันติภาพในสามจังหวัดบ้างไหม ที่จริงผมมาจากสงขลาครับ และจริง ๆ ท่านทวีต้องการที่จะมาพูดคุยเองเพราะว่าเป็นคนที่ให้ความสำคัญด้วยในทางการเมืองเพราะเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติด้วย เป็นพรรคที่ได้คะแนนหรือความไว้วางใจจากพี่น้องเยอะที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วก็เป็นตัวจริงคู่กับท่านภราดรนะครับ ในยุคของการตั้งไข่

 

 

กระบวนการสันติภาพในยุคที่ท่านเริ่มเคลื่อน ผมศึกษาอยู่ที่มาเลเซียนะครับ ประชุมนัดแรกที่สถานทูตที่มาเลเซียเพื่อที่จะค้นหาตัวจริงที่จะมาพูดคุยขึ้นโต๊ะกับท่านภราดร ท่านทวีก็ไปเองตอนนั้น ท่านคือตัวจริงและอยู่ในกระบวนการมาตลอด เมื่อสองวันที่แล้วท่านกำลังพูดคุยเรื่องเวทีนี้ร่วมกับท่านที่ปรึกษา ท่านอดีตนายกท่าน พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก คุยเรื่องประเด็นเราเพราะว่า เมื่อสักครู่ก่อนเริ่มเวทีผมก็คุยกับอาจารย์ว่าในมุมมองของประเทศไทย เรามองกระทรวงยุติธรรรมเป็นกระทรวงฯ เล็ก ไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่แต่อาจารย์ก็บอกว่า ๆ ซึ่งมันสำคัญมากนะทุกคนถ้าฟังอาจารย์วิเคราะห์เราก็จะเห็นด้วยก็เพราะว่าการที่เราไม่มีอาหารกิน ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรเรายังพอทนได้ แต่ถ้ามีคนมาละเมิดสิทธิของเรา มาทำอะไรในสิ่งที่เราไม่ได้ทำผิดแล้วมาบอกว่า เราทำผิด อันนี้มันจะเริ่มปฏิกิริยาต่อต้านแล้วจะกลายเป็นความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นนะครับ ในเวลาที่เราพูดถึงสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือว่าคนในสามจังหวัดจะเรียก ปาตานี ถ้อยคำแบบนี้สำหรับผมในโลกความเป็นประชาธิปไตยเปิดเสรีไปเลยคุณให้เรียกอะไรก็ได้ คุณสามารถมีความเป็นปาตานีในประเทศไทยได้

 

 

อับดุลเราะมัน มอลอ :

พอประเด็นตรงนี้ขนาดว่าผ่านมา 20 ปี ขนาดยังมีคนไทยจำนวนมากที่ยังมีข้อสงสัยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหตุปัจจัยมันเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ในวันที่ 4 ที่ท่านวิทยากรพูดเกิดการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ในปี 2547 คนไทยงง อย่าว่าแต่คนไทยที่เป็นคนธรรมดาเลยหน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็ยังงงว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะตัวเลขของปืนที่สูญหายตอนนั้น 400 กระบอก เอาไปไหนนะครับจนกระทั่งการยืนยันปืนกระบอกแรกว่ามีการปล้นปืนจริงนำตามกลับมาได้ที่จังหวัดนราธิวาส มีนายทหารคนหนึ่งถูกส่งตัวตอนนั้นยศท่านประมาณร้อยโท ร้อยเอกจากรบพิเศษ ลพบุรีนะครับ ก็เข้าไปในพื้นที่ ไปเจอปืน M 16 ที่นราธิวาสแล้วก็เป็นเครื่องยืนยันว่าเนี่ยมีการปล้นปืนจริงนะครับ ตอนนี้ท่านกำลังรับราชการอยู่ ถ้าอยากรู้จักท่านก็ไปดูเป็น ผบ.กองบัญชาการพลรบพิเศษที่ลพบุรีนะครับ

เวลาสถานการณ์มันผ่านมา กระบวนการสันติภาพมันก็เดินจนกระทั่งถึงสองทศวรรษแล้ว ตัวเลขสำคัญที่สุดที่ผมเชิญชวนทุกท่านว่าเราต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เราไม่ใช่มาพูดอย่างเดียวว่า เหตุการณ์มันเกิดขึ้นอีกครั้งแล้วครั้งเล่า สองหมื่นกว่าครั้ง ตลอดยี่สิบปีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหมด 22,544 ครั้งจากมกราคมจนถึงพฤษภาคมของปี 2567 สถิติที่ได้มีการบันทึกไว้ ที่นี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเท่าไหร่ 14,159 คน มีคนเสียชีวิตเท่าไหร่ 7,604 คน สองเดือนที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาเนี่ยก็มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถามว่า 7,600 คนที่เสียชีวิตสำคัญขนาดไหนมันประเมินค่าไม่ได้ คนตายไป 7,600 คน ประเมินเป็นตัวเลขทางงบประมาณเศรษฐกิจประเมินไม่ได้นะครับ เพราะอย่างน้อยคนที่เสียชีวิต 1 คน อย่างน้อยก็มีพ่อแม่ที่เสียใจ 2 คน ที่ต้องทนทุกข์อยู่

แต่ถ้าบางคนมีลูกเพราะฉะนั้นเราส่งสิ่งที่เป็นความทุกข์มาตลอด 20 ปี นะครับพูดในแง่ความสูญเสีย พูดในแง่ตัวเลขงบประมาณเราต้องดูสามก้อนต่อให้ช่วงปี 2547-2559 เราเห็นตัวเลขงบประมาณที่มันเพิ่มขึ้นจากแรกๆ 13,000,000,000 (หมื่นสามพันล้าน) จนถึงปี 2559 สามหมื่นกว่าล้าน เราก็เลยเริ่มมีข้อสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมไม่สงบสักทีเพราะว่ามีบางหน่วยงานแอบแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณตรงนี้หรือเปล่า ที่นี้ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ฉลาด เราก็โยกกองจากให้มันเป็นก้อนเดียวที่มันเห็นตัวเลขง่าย ๆ เราก็กระจายเป็นงบบูรณาการ เพื่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปอยู่แต่ละองค์กร งบก้อนใหญ่เนี่ยมีประมาณสัก 8,000,000,000-9,000,000,000 (แปดพันล้าน-เก้าพันล้าน) แต่พอไปรวมจุดอื่น ๆ ก็มีประมาณ 30,000,000,000 (สามหมื่นล้าน) เหมือนเดิม ตัวเลขเหล่านี้ท่านอาจารย์ก็พูดแล้วว่ามันเกี่ยวข้องกับเราทั้งนั้นนะครับ

พอเรามาถึงกระบวนการสันติภาพ ผมขอแบ่งเป็น 3 ช่วงแล้วกัน ทศวรรษละช่วง สิบปีแรกเราบอกว่ามันเป็นการแสวงหาสันติภาพแบบ Negative Peace (สันติภาพเชิงลบ) คือการแสวงหาสันติภาพเพื่อการยับยั้งการก่อเหตุคือทำให้สถิติมันลดลงให้มากที่สุดหรือให้ยุติการก่อเหตุจากเดิมปี 2547-ปี 2550 เหตุการณ์บานปลายจนถึง 2,000 ครั้งต่อปี นะครับแล้วลดลง ปี 2551 มาจนถึงปี 54 เหลือ 1,000 ต้นๆ พอปี 2555-ปี 2556 เกิดขึ้นไปประมาณ พันแปดพันเจ็ด พอปี 2557 เริ่มลดลงเพราะเริ่มมีกระบวนการสันติภาพ แล้วมาเริ่มขยับปลายสองปีที่แล้ว ปี 2565-2566 โดยประมาณเกือบ ๆ 500 ครั้ง ต่อปี

เหตุการณ์เราแค่มุ่งเน้นในช่วง 5 ปีแรกไปสังเกตได้เลยก่อนปี 2547 กระบวนการในการกำหนดนโยบายเราไปปรับลดหน่วยงานบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราไปยกเลิก เราไปปรับลดกำลังภารกิจนี้ เพราะพอมาปี 2547 เกิดเหตุการณ์ขึ้นหน่วยงานเหล่านั้น Transform (แปลงร่าง) ขึ้นมาใหม่เราพยายามจัดตั้งหน่วยงานเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อที่จะมาเข้าคู่กับสถานการณ์พยายามใส่กองกำลังเข้าไปคนถืออาวุธเข้าไป เพราะนั้น 10 ปี แรก ทศวรรษแรกของการแก้ไขปัญหามุ่งสู่แสวงหาเพื่อยุติการก่อเหตุเป็น Negative Peace (สันติภาพเชิงลบ)  พอ 10 ปี หลังเริ่มจากท่านภราดร ปี 2556 เริ่มขยับมาเราเรียกว่า Semi-Positive Peace ไม่ใช่ Positive peace 10 ปีหลังไม่ใช่เพราะว่าอย่างน้อยที่สุดเรายังไม่เห็นการกำหนดนโยบายในเชิงที่เป็น เรียกว่าเป็นมี Political views (มุมมองทางการเมือง) ที่มันชัดว่าต้องการแก้ปัญหานะครับ ถ้าเราจะแก้ปัญหาจริง ๆ Political views (มุมมองทางการเมือง) ตรงนี้อย่างเขาชัดว่าต้องแก้ให้เสร็จในยุคเขา อินโดนีเซียเขาก็ชัดนะครับเขาใช้กลไกของรองประธานาธิบดีของรัฐมนตรี ตอนนี้เราเรียนรู้จากเขา เพราะว่าท่านทวีที่อยู่กระทรวงยุติธรรมเองในอินโดนีเซีย สันติภาพระหว่างอาเจะห์ กระทรวงยุติธรรมก็เป็นกระทรวงสำคัญในการขับเคลื่อนสันติภาพจนทำให้อาเจะห์เกิดสันติภาพ

เพราะฉะนั้นในกระบวนการตรงนี้เราคิดว่าอย่างน้อยที่สุด เรามี Semi-Positive เราเริ่มมีกระบวนการที่จะต้องแสวงหาทางออกด้วยการพูดคุย เพราะในเชิงวิชาการทางเรามีทบทวนวรรณกรรม การค้นหาทางออกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือว่าสถานการณ์ต่าง ๆ มีอยู่สองทางที่ต้องเป็นหัวใจสำคัญ 1. ต้องมีการสานเสวนาหรือต้องมีการพูดคุย 2. ต้องมีการเปิดช่องว่างที่เป็นทางออกทางการเมืองได้ต้องเตรียมไปสู่การที่จะมีช่องที่เรียกว่า Power Sharing (การใช้อำนาจอย่างเสมอภาค) คุณต้องเตรียมไปสู่ขั้นที่ต้องอาจจะแบ่งอำนาจบางอย่างเพื่อจะทำให้สถานการณ์ต่างๆคลี่คลายครับผม

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

ในแนวนโยบายหรืออะไรต่าง ๆ ต่อปัญหานี้ค่ะ อาจารย์คิดว่ามันจะผลักดันต่ออย่างไรผ่านมา 1 ปี ก็ทำอะไรยากมาก เราต้องเข้าใจว่าบทบาทอำนาจทหารมันยังคงอยู่เหนือการเมือง เราจะทำอย่างไรให้การเมืองอยู่เหนือการทหาร

 

 

อับดุลเราะมัน มอลอ :

รายชื่อต่าง ๆ ที่ผมพยายามพูดในตอนต้นค่อนข้างที่จะมีส่วนสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนสันติภาพในอนาคตและในทางการขับเคลื่อนมันเป็นปกติธรรมดาที่ในทางการเมืองว่า เราจะออกตัวแบบหวือหวามากไม่ได้ เพราะว่าเดี๋ยวก็จะมีหน่วยงานองค์ประกอบอื่น ๆ เขาก็จะมา ก็จะมีตรงนู้นตรงนี้ แต่เมื่อวานเมื่อวานซืนในที่ประชุมเพราะว่าท่านนายกไม่ได้ไปต่อ อำนาจก็หมดแล้วก็กำลังจะเปิดการประชุมกับข้าราชการภายใต้กระทรวงยุติธรรมที่ร่วมประชุม ท่านรัฐมนตรีก็บอกว่าผมต้องการยุติการหลั่งเลือด ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ถามถ้อยคำนี้สั้น ๆ แต่สำคัญมาก ถ้าทุกคนรับว่านี่คือหัวใจสำคัญเพราะเมื่อกี้เราฟังฐานของปัญหาอะไรเราก็เห็นตรงกันแล้วทางออก

เราก็รู้แล้ววิธีที่จะไปมีภาพลาง ๆ แล้วว่าเราควรจะไปทางไหน ที่นี้เรามากำหนดหัวใจที่ผมบอกว่าจริง ๆ แล้ว ทำไมทุกท่านที่นั่งอยู่ที่นี่จึงสำคัญเพราะว่ามันจึงมีองค์ประกอบบางอย่างที่พยายามก้าวไม่ให้เราข้ามเส้นอะไรบางอย่างไป แล้วตัวรัฐมนตรีหรือตัวพรรคการเมืองไปโดยลำพังไม่ผ่านเส้นนี้ ยกตัวอย่างเว้นจะได้แรงหนุนที่มากเพียงพอจากคนที่เป็นเจ้าของ Political  views (มุมมองทางการเมือง) ซึ่งก็คือ ประชาชน เมื่อมีแรงหนุนจากประชาชน ทีนี้ประชาชนไทยไปติดกับสิ่งที่เราเรียกหน่วยงานที่มีความคิดด้านลบใส่ความคิดแบบ io เข้าไป แล้วคุณก็ไปกินความคิดแบบ io แล้วก็มาด่าเพื่อนร่วมชาติของคุณมาด่ามุสลิมมาด่า คนที่ใส่ผ้าคลุม มาด่าคนที่นับถืออิสลาม กลายเป็นแบบว่าเอออยู่สบาย ไม่ได้ผลอะไรแล้วคุณด่าท่านพุทธทาสว่าคุณก็เจ็บเอง เอามาใส่หัวใจเองก็เจ็บเอง ถ้าเรากำหนดว่าประชาชนต้องเข้ามาหนุนกระบวนการสันติภาพให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วที่นี้กำหนดกรอบเลย ผมไม่แน่ใจว่าถัาที่นี้สองฝ่ายจะไปถึงขั้นนั้นไหม Political views (มุมมองทางการเมือง) ของทั้งสองฝ่าย

 

ถ้าเรากำหนดชัดว่าต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย ทีนี้กรอบมันชัดสมมุติว่าเราบอกว่าต่อไปเรากำลังไปสู่ Positive Peace โดยที่เราต้องการหยุดการหลั่งเลือดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญต่อให้คุณเป็นหน่วยงานเทวดาที่ไหน คุณก็อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ คุณก็มีอำนาจในการควบคุมก็แค่ภายใต้กรอบ ทีนี้ก็เกิดคำถามขึ้นว่า สองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งยอมไหม คนที่จับอาวุธต่อสู้เพื่อเอกราชจะยอมลดเป้าลงมาคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไหมแล้วก็จะแสวงหาทางออกตรงนี้ไหม มันต้องตอบโจทย์อย่างที่ท่านภราดรว่า รัฐบาลเองก็ต้องยืนยันชัดว่า นี่เราต้องการสันติภาพ เราต้องการเห็นผลนะโดยมีขีดเส้นภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอื่นคุณก็ไม่ต้องยุ่งก็เพราะว่ากำลังจะไปในสิ่งที่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อประเทศเรา

และถ้าเราสามารถที่จะเข้าไปแบบนี้ ผมคิดว่า Positive peace ก็จะเกิดขึ้นแม้กระทั่งการที่เราสร้างกลไกกระบวนการพูดคุยชื่อก็เป็นสันติสุข องค์ประกอบของการพูดคุย อาจจะบอกว่าเดี๋ยวเราคุยกับองค์กรนี้ก่อนเพราะว่าองค์กรนี้ก่อเหตุเยอะ แต่ถ้าเราไปถอดบทเรียนจากพม่าเนี่ยในตอนแรกก็ไม่อยากพูดคุยกับกลุ่มอาระกัน เพราะว่ากลุ่มอาระกันไม่มีอาวุธ อาระกันก็บอกว่าฉันต้องมีอาวุธก่อนถึงจะต้องคุยอาระกันจึงไปจับอาวุธก็ยิ่งสร้างกองกำลังของตัวเองขึ้นมา เหมือนกันเลยกับการประชุมพูดคุยสันติสุข ครั้งที่ 4 บอกว่าเดี๋ยวเราจะทำรอมฎอน (Initiative) การริเริ่มเป็นรอมฎอนสันติภาพที่ไม่มีการก่อเหตุ ที่นี้ BRN ก็บอกว่าโอเคเดี๋ยวผมจะไม่ก่อเหตุเลยปรากฎว่าตลอดทั้ง 30 วัน BRN ไม่ก่อเหตุแม้แต่ครั้งเดียวแต่เกิดเหตุระเบิดที่สายบุรี แล้วคนที่ออกมาประกาศความรับผิดชอบคือใคร พูโล ท่านกัสตูรีก็ออกมา เพราะท่านไม่คุยกับเราอยากจะคุยแบบมีกองกำลังใช่ไหม ผมก็จะต้องสร้างกองกำลังเข้ามาอันนี้ก็จะกลายเป็นแบบแก้ปัญหาจุดหนึ่ง เพื่อสร้างปัญหาอีกจุดหนึ่ง เราอาจจะต้องกำหนดประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อไปสู่สันติภาพเชิงบวกให้ได้ในสังคมไทย

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=bX35ndG_MPg&t=76s

 

ที่มา : PRIDI Talks #27: 79 ปี วันสันติภาพไทย : “ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ” วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30-12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์