ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

"เที่ยงธรรม ไม่บิดเบือน ยืนยันสัจจะประวัติศาสตร์" ทัศนะต่อหนังสือรัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี ของประเสริฐ ปัทมสุคนธ์

23
กันยายน
2567

Focus

  • นายปรีดี พนมยงค์เขียนจดหมายถึงนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา เพื่อแสดงทัศนะและเสนอแนะต่อหนังสือรัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี โดยใช้ความทรงจำส่วนตัวและหลักฐานบางส่วน ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ และนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ จะเห็นได้จากจดหมายการตอบโต้
  • หนังสือรัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี โดยนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภาเป็นหนังสือที่เก็บรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงพ.ศ. 2475-2517

 

คํานิยมและความเห็นเนื่องจากหนังสือ “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี”

รวบรวมโดยนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา

 

จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงนายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์

 


ภาพนายปรีดี พนมยงค์ และนายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ สองอดีตเลขาธิการรัฐสภา
ที่มา: บทความรอบด้านงานสภา : ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ คนสภาในตำนาน ใน เอกสารข่าวสารงานวิจัยและพัฒนา ปีที่ 16 ฉบับที่ 178 (มิ.ย. 2560)

 

ชานกรุงปารีส
วันที ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗

 

คุณประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา

ได้รับหนังสือ “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗)” แล้ว ด้วยความขอบคุณ

 


ภาพหน้าปกหนังสือ รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517)
ที่มา : เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 

๑. ผมขออนุโมทนาและชมเชยในการที่คุณได้รวบรวมหลักฐานที่ปรากฏทางรัฐสภาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนั้นด้วยความเที่ยงธรรมโดยมิได้มีการบิดเบือน จึงเป็นหนังสือที่มีคุณค่าสำหรับมวลราษฎรและนิสิตนักศึกษานักเรียนผู้ปราศจากอคติ ที่จะอาศัยหนังสือเล่มนี้ประกอบการค้นคว้าเพื่อสัจจะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งความเป็นมาของระบบการเมืองสยามในระยะเวลาดังกล่าวนั้น

๒. เพื่อสนองคําร้องขอของคุณให้ผมแสดงความเห็นเกี่ยวกับหนังสือนั้น ในชั้นแรกนี้ผมจึงขอแสดงความเห็นเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับผมซึ่งมีส่วนในระบบรัฐสภาระหว่างเวลาหนึ่งนั้น คือก่อนที่ผมได้รับหนังสือของคุณ ผมได้เขียนบทความอื่น ๆ โดยอาศัยความจําบ้างและอาศัยหนังสือที่ผมมีอยู่ซึ่งไม่ครบถ้วน เมื่อได้รับหนังสือของคุณแล้วพิจารณาดูเห็นว่ามีบางตอนในบทความอื่น ๆ ของผมขาดข้อความสําคัญที่ควรกล่าวและที่ยังไม่แจ่มแจ้งหลายประการ ซึ่งผมจะต้องแก้ไขเพิ่มเติม และจะได้ตอบปัญหาที่มีผู้ถามมายังผมเพื่อขอทราบความจริง เกี่ยวกับข้อขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับซากทัศนะทาสและซากทัศนะศักดินา โดยผมจะอาศัยหลักฐานที่คุณรวบรวมไว้ประกอบด้วย อาทิ

ก.ผมได้รับจดหมายของ “วีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ผู้หนึ่ง” แจ้งมาว่ามีผู้ช่วงชิงชัยชนะของวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เอาไปเปนประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนโดยเฉพาะแล้วก็ยังไม่จุใจคือได้ยกย่องอดีตกบถนำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชว่าเป็น “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ถึงขนาดที่ผู้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งยกให้อดีตกบถนั้น มีฐานะเท่าเทียมกับวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

จากหลักฐานของหนังสือของคุณเล่มนั้นหน้า ๔๔๓ ปรากฏว่าเมื่อผมได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ผู้เดียว) แล้ว ในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๗๗ ผมได้ลงนามแทนพระองค์ในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษให้แก่นักโทษในกรณีกบฏบวรเดช และได้ประกาศให้นายรังสิตประยูรศักดิ์ กลับดำรงฐานะและฐานันดรศักดิ์เป็นกรมขุนชัยนาทนเรนทรตามเดิม อนึ่งในหนังสือนั้นหน้า ๔๕๙ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๘ ผมในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามประกาศพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่กบฏจลาจล ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นต้นมา โดยถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เสมือนไม่เคยต้องโทษเลย (ส่วนผู้ถูกคำสั่งให้อยู่ภายในเขตที่กำหนดนั้น เมื่อได้ทำทัณฑ์บนแล้ว ผมเมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้สั่งให้เป็นอิสระก่อนถึงกำหนดตามคำสั่งนั้นแล้ว)

ผู้ที่เคยต้องโทษและถูกอยู่ภายในเขตที่กำหนดหลายคนได้เคยไปหาผมแสดงความเห็นใจและขอบใจผมกับเพื่อนร่วมงานที่พยายามแก้ไขให้ท่านเหล่านั้นได้รับอิสระและนิรโทษกรรม อันเป็นการที่ผมกับเพื่อนร่วมงานได้ปฏิบัติตรงกับพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ หากว่าต้องรอช้าไปก็เพื่อคอยโอกาสเหมาะสมที่ผมกับเพื่อนร่วมงานสามารถทำได้

ในหนังสือเล่มนั้นหน้า ๕๐๕ ปรากฏว่าในคณะรัฐมนตรีซึ่งผมเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง ๒๔ มีนาคม ๒๔๘๙ ถึง ๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ นั้น นายอิ้น บุนนาค อดีตผู้ต้องหากรณีกบฏบวรเดชก็ได้ร่วมเป็นรัฐมนตรีในคณะของผม ต่อมาได้มีประกาศให้อดีตผู้ต้องหาต่าง ๆ ได้ยศบรรดาศักดิ์คืนทุกคนรวมทั้งนายอิ้น บุนนาค ซึ่งก็ได้ยศบรรดาศักดิ์คืนเป็น “พันเอกพระยาสุรพันธ์เสนี” แล้วก็ได้ร่วมในคณะรัฐมนตรีของผมต่อมาอีกครั้งหนึ่งในยศและบรรดาศักดิ์ดังกล่าว จนกระทั่งผมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายเมื่อ ๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๙ ผมเชื่อว่าท่านอดีตผู้ต้องหาต่าง ๆเหล่านั้นส่วนมากไม่มีความขุ่นเคืองผมกับคณะต่อไปอีก

ผมต้องมีความเห็นแสดงไว้ในที่นี้ก็เกี่ยวเฉพาะอดีตกบฏบางคนจำนวนน้อยที่ยังถือว่าคณะราษฎรและผมเป็นศัตรูของเขา และสมัยนี้มีบางคนที่เขียนหนังสือแสดงทัศนะเกินเลยยิ่งกว่าขบวนอดีตกบฏดังกล่าวยื่นคำขาดต่อรัฐบาล และทำตนเป็นผู้นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี

หนังสือของคุณแสดงหลักฐานให้นิสิตนักศึกษานักเรียน มวลราษฎรที่ประสงค์สัจจะ ได้เห็นธาตุแท้แห่งซากทัศนะเก่าของผู้สนับสนุนอดีตกบฏ ซึ่งทำตนยิ่งกว่าอดีตกบฏเองนั้นได้หลายประการ...”

“...หนังสือของคุณหน้า ๘๒  ได้นำสำเนาพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๗๖ ถึงพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ที่ขอกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาออก มีความในพระราชหัตถเลขาว่า

ที่ท่านวิตกว่าการที่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกจะทำให้คนทั้งหลายครหาได้ว่าประเทศสยามปกครองด้วยอำนาจทหารนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ายังไม่ควรวิตกเพราะเวลานี้ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดครหาหรือสงสัยไปในทางนั้นเลย แม้แต่พวกหนังสือพิมพ์ ซึ่งถือว่าเป็นปากเสียงของประชาชน และซึ่งในเวลานี้มีอิสรภาพในการพูดยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ไม่ปรากฏว่ามีเสียงระแวงในทางนี้เลย

ทั้งนี้เป็นหลักฐานแสดงว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงรับสั่งตามสัจจะว่าหนังสือพิมพ์ภายหลังระบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญภายหลังการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น มีเสรีภาพมากกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งต่างกับผู้ที่ทำตนเป็นผู้นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่า องค์พระราชาธิบดี เพราะไม่ยอมรับความจริงเช่นนั้น

(๒) หนังสือของคุณหน้า ๙๕ อ้างประกาศในประชุมกฎหมายประจำศกเล่ม ๔๖ หน้า ๓๘๕ เรื่องโปรดเกล้าฯ ให้ผมกลับประเทศสยาม ซึ่งพระยาพหลฯ ได้ตอบคำสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า

“เป็นความประสงค์ของรัฐบาลจริงและได้ติดต่อกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเพื่อให้เดินทางกลับแล้ว แต่ได้รับตอบจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่ายินดีกลับประเทศสยาม แต่ขอให้รัฐบาลนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเสียก่อน ต่อมานายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม หลังจากนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงได้เดินทางกลับประเทศสยาม”

แต่ผู้สนับสนุนอดีตกบฏได้อ้างจดหมายของอดีตกบฏคนหนึ่งว่า “ส่วนการที่คิดยกกำลังกองทหารหัวเมืองเข้าไปในพระนครนั้นก็โดยเห็นว่าร้องขอโดยดีคงไม่ยอมเพราะหลวงประดิษฐ์มนูธรรมร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย” นั้น เขาแสร้งอ้างเหตุผลที่ขัดแย้งกับพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ เพราะผมมิได้ยินยอมกลับสยาม เพียงแต่พระยาพหลฯ เรียกร้องเท่านั้น หากผมขอให้นำความกราบบังคมทูลก่อน เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เห็นควรให้ผมกลับสยามและโปรดเกล้าฯ ให้ผมเป็นรัฐมนตรีแล้ว ผมจึงกลับสยามและดำรงตำแหน่งตามที่โปรดเกล้าฯ นั้น

(๓) หนังสือของคุณหน้า ๑๐๔ ได้กล่าวไว้ว่า

“มีพระราชกฤษฎีกากําหนดให้กรมการอําเภอดําเนินการเลือกตั้งผู้แทนตําบลระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคมถึงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ เพื่อให้ได้ผู้แทนตำบลซึ่งผู้แทนตำบลนี้จะเป็นผู้เลือกตั้งราษฎรอีกครั้งหนึ่ง”

(พระราชกฤษฎีกานั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. ๒๔๗๖ หน้า ๔๗๐ กฎหมายประจําศึกเล่ม ๔๖ หน้า ๒๘๒)

ในหนังสือนั้นยังได้ลงพิมพ์หลักฐานอีกว่า

ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๗๖ พวกกบฏนําโดยพระองค์เจ้าบวรเดชยกกองทหารจากหัวเมืองมาประชิดพระนครยื่นคําขาดให้รัฐบาลทําตามข้อเสนอของฝ่ายกบฏ

เมื่อรัฐบาลปราบกบฏเสร็จแล้วก็ดําเนินการเลือกตั้งผู้แทนตําบลแล้วเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๗๖ นั้น

นักวิชาการที่ปราศจากอคติย่อมสามารถค้นคว้าหลักฐานจากราชกิจจานุเบกษาด้วยตนเองว่า รัฐบาลสมัยนั้นกําลังดําเนินการให้มีการเลือกตั้งแล้ว แต่อดีตกบฏได้ยกกําลังมาประชิดพระนคร เพื่อใช้กําลังอาวุธบีบบังคับให้รัฐบาลปฏิบัติตามคําเรียกร้องของตน ซึ่งผู้สนับสนุนอดีตกบฏถือว่าเป็นวิธีของ “คณะกู้บ้านกู้เมือง”

(๔) ในคําเรียกร้องของพวกกบฏนั้น มิได้คัดค้านการมีสมาชิกประเภทที่ ๒ จํานวนกึ่งหนึ่งในระหว่างบทเฉพาะกาล เพราะฝ่ายกบฏเองได้กล่าวไว้ในคําเรียกร้องข้อ ๕ ว่า “การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก” จึงมิใช่การคัดค้านการมีสมาชิกประเภทที่ ๒ หากอดีตกบฏใช้วิธีการดึงพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง อันผิดต่อรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. นั้นเองที่กําหนดให้รัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ดังนั้น นิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎรย่อมเห็นธาตุแท้ของบางคนที่อาศัยซากทัศนะอดีตกบฏบางคนด้วยการสนับสนุนให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ ถวายพระราชอํานาจให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งหรือให้สภาผู้แทนราษฎร เลือกวุฒิสมาชิกตามบัญชีที่องคมนตรีจัดทําขึ้น ส่วนท่านผู้ใดมิได้แสดงออกชัดแจ้งว่าสนับสนุนอดีตกบฏ หากท่านเห็นโดยสุจริตใจว่าควรทําถวายพระราชอํานาจให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งวุฒิสมาชิกนั้น ก็เป็นทัศนะของท่านที่กล่าวนี้ซึ่งไม่เกี่ยวกับการสนับสนุนอดีตกบฏ

(๕) หนังสือของคุณเล่มนั้นหน้า ๙๕ ที่ใช้หัวเรื่องว่า “กบฏบวรเดช” โดยมีความในหน้า ๑๑๑ สนับสนุนคือ สําเนาพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๖ มาลงพิมพ์ไว้ มีความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขานั้นว่า

“แต่ในเดือนตุลาคมได้มีผู้ก่อกรรมทําเข็ญด้วยกําลังอาวุธ เป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ รัฐบาลของข้าพเจ้าจําใจต้องปราบปรามด้วยกําลังทหาร กองทัพของข้าพเจ้าได้ทําหน้าที่โดยเคร่งครัด กล้าหาญ เต็มใจ ยอมเสียสละเลือดเนื้อ บรรดาข้าราชการและประชาราษฎรก็ได้ร่วมมือร่วมใจกันช่วยปราบอย่างเข้มแข็ง ประเทศชาติจึงได้คืนสู่สภาพสงบ ทั้งนี้นับว่าเป็นอุปการคุณแก่ชาติบ้านเมือง ฉันควรจะตราตรึงไว้”

นอกจากนั้นยังมีหลักฐานอื่นๆอีก ที่แสดงว่าพระปกเกล้าฯทรงเรียก พวกนั้นว่า “กบฏ” หากมิได้มีหลักฐานใดที่พระองค์ทรงเรียกพวกนั้นว่า “คณะกู้บ้านเมือง”

ข. หนังสือเล่มนั้นของคุณหน้า ๓๐๒-๓๐๕ ได้อ้างหลักฐานการประกาศรัฐนิยม พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญขนานนามประเทศสยามเป็นประเทศไทยนั้น ได้ช่วยให้ผมระลึกความจําได้มากขึ้น ยิ่งกว่าที่ผมเขียนไว้ในบทความเรื่อง “ความเป็นมาของการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย” ซึ่งผมได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยผมอาศัยความจําเท่าที่นึกได้และหนังสือบางเล่มที่ผมมีอยู่ขณะเขียนบทความนั้น ฉะนั้นเมื่อผมได้อ่านหนังสือเล่มที่คุณจัดทําขึ้นแล้ว ผมจะอาศัยหลักฐานนั้นชี้แจงเพิ่มเติมบทความของผมให้สมบูรณ์ คือความเป็นมาของเรื่องดังต่อไปนี้

ภายหลังที่ผมได้คัดค้านในคณะรัฐมนตรี เรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทยแล้ว ฝ่ายที่เห็นควรเปลี่ยนชื่อจึงได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้จัดทําเป็น “รัฐนิยม” เพื่อหยั่งเสียงราษฎรก่อนที่จะเสนอเป็นพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญ

ต่อมารัฐบาลได้เสนอเป็นพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญขนานนามประเทศสยามเป็นประเทศไทย จอมพลพิบูลฯ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แถลงในสภาผู้แทนราษฎรตามที่คุณนําคําแถลงนั้นมาลงพิมพ์ไว้ คําแถลงนั้นมีรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นผู้ร่างโดยมิได้ปรึกษาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงคลาดเคลื่อน จากความจริงโดยเฉพาะที่อ้างว่ารัฐบาลเห็นกันเป็นเอกฉันท์ เพราะผมเป็นฝ่ายค้านในคณะรัฐมนตรีดังที่กล่าวไว้ในบทควา”มของผมแล้ว ซึ่งผมเป็นผู้ค้นคว้าความหมายของคําว่า “สยาม” ตามกฎหมายตราสามดวงมา ซึ่งราชบัณฑิตยสถานในสมัยจอมพลพิบูลฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็ได้ถือเอา “กฎหมายตราสามดวง” ฉบับเรียงพิมพ์ของผมที่พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นส่วนหนึ่งของพจนานุกรมนั้น ดังปรากฏในบัญชีหนังสือที่ราชบัณฑิตยสถานอ้างไว้ในหน้าต้น ๆ นั้นแล้ว ผมไม่มีโอกาสคัดค้านคําแถลงของนายกรัฐมนตรีก่อนแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวคําแถลงในสภาผู้แทนราษฎรเช่นนั้น ผมต้องขอรับผิดชอบด้วยในการเปลี่ยนชื่อประเทศ เพราะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ต่อจากนั้นมาผมก็ได้พยายามเมื่อมีโอกาสเหมาะสมที่จะแก้ไขนามของประเทศคือ

(๑) หนังสือเล่มนั้นของคุณหน้า ๔๗๓ ได้ลงพิมพ์ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๔๘๙ ของนายทวี บุณยเกตุซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้นผมเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์) ให้ใช้ชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษว่า “SIAM” ชื่อประชาชนและสัญชาติว่า “SIAMESE” สําหรับภาษาต่างประเทศอื่นให้ใช้โดยอนุโลม

(๒) หนังสือของคุณหน้า ๖๔๓ ได้ลงพิมพ์ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๒ ของจอมพลพิบูลฯ ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ นั้นอีกครั้งหนึ่ง ให้ใช้ชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษว่า “THAILAND” กับชื่อประชาชนและสัญชาติว่า “THAI”

(ความเหมาะสมที่จะใช้ชื่อประเทศว่า “สยาม” นั้น ผมได้ชี้แจงไว้แล้วในบทความของผมที่อ้างนั้น)

ค. เรื่องอื่น ๆ ที่คุณขอให้ผมแสดงความเห็นเกี่ยวกับหนังสือของคุณนั้น เมื่อผมเห็นว่ามีสิ่งใดควรทําความเข้าใจกับผู้อ่านก็จะได้แจ้งเพิ่มมาให้ทราบในโอกาสอันควรต่อไป

 

ขอแสดงความนับถือ


(นายปรีดี พนมยงค์)

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำ เลขไทย และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ