ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

ชีวิตและงานเพื่อชาติ เพื่อสังคมของศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

12
ตุลาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอสังเขปชีวประวัติของศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ในวาระ 114 ปี ชาตกาล และนำเสนอผลงานสำคัญเพื่อชาติและเพื่อสังคมตลอดช่วงชีวิต 105 ปี โดยบทบาทอันโดดเด่นของท่านคือ งานเพื่อสังคมด้านการศึกษา ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์เป็นปูชนียาจารย์แห่งวงการการศึกษาของไทย เป็นต้นแบบของความเป็น "ครู" ในฐานะผู้ก่อตั้งคณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์ โดยเป็นคณบดีหญิงคนแรกในประเทศพร้อมทั้งดำรงตำแหน่งนี้ติดต่อกันถึง 15 ปี และผู้ก่อตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย ส่วนงานเพื่อชาติที่สำคัญนั้น ปรากฏจากบันทึกของท่านไว้ว่าเคยเข้าร่วมปฏิบัติการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา เจ้าของชื่อแฝง “สุนทรา” ในรายการวิทยุกระจายเสียง Voice of America ช่วงปฏิบัติการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2

 


ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา
     (12 ตุลาคม พ.ศ. 2453-23 ตุลาคม พ.ศ. 2558)
ที่มา : อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา
 

 


ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา นักการศึกษาคนสำคัญ

 

ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา สกุลเดิม ไกรยง คือ 'บุคคลสำคัญด้านการศึกษาของไทย' ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์เกิดในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จังหวัดพระนคร มีชื่อแต่เดิมว่า 'หนู' เป็นบุตรีของฮันส์ ไกเยอร์ (Hans Geyer) นักธุรกิจชาวเยอรมันกับเจียม ไกรยง ข้าหลวงในพระราชวังสวนสุนันทา

ขณะอายุ 3 ปีครึ่ง บิดาและมารดาได้นำไปถวายตัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และได้รับพระราชทานชื่อ “พูนทรัพย์” แต่เนื่องจากยังเล็กมากจึงทรงฝากให้สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรทรงเลี้ยงดูไว้โดยโปรดให้นอนหน้าพระแท่นบรรทม นับจากนั้น ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์จึงได้อยู่ในพระราชวังพญาไท เป็นระยะเวลานานถึง 20 ปี จากการอุปการะเลี้ยงดูอย่างดีทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีกิริยาวาจา เรียบร้อย และสง่างาม

ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์มีแววเฉลียวฉลาดตั้งแต่วัยเยาว์ ดังนี้ทางสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรจึงทรงสนับสนุนให้ได้เรียนที่โรงเรียนราชินี เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้เข้าเรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์สำเร็จการศึกษาหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตเมื่อ พ.ศ. 2478 โดยได้รับพระราชทานปริญญาเป็นรุ่นแรกของคณะฯ แล้วเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และในช่วงเวลานั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านยังได้เข้าร่วมพันธกิจเพื่อชาติเป็นเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา

 

ชีวิตและงานเพื่อสังคม 


ที่มา: คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เมื่อท่านผู้หญิงพูนทรัพย์สำเร็จการศึกษาแล้วได้กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยประจำแผนกคุรุศึกษา ช่วงพุทธศักราช 2500 ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ขยายงานของแผนกครุศาสตร์ในคณะอักษรศาสตร์ขึ้นเป็นคณะ และดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะครุศาสตร์ โดยมีศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ คู่ชีวิตได้ช่วยเหลือและผลักดันการทำงานของท่านฯ ในช่วงเวลานี้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งสนับสนุนซึ่งกันและกัน และร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง

 

 


ที่มา : คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างยิ่ง นอกจากการเป็นครูท่านยังทำงานส่งเสริมการศึกษาที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในสถานศึกษาเท่านั้นหากส่งเสริมในรูปแบบสมาคมฯ และมูลนิธิต่าง ๆ รวมถึงเป็นนายกสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยคนแรกเมื่อ พ.ศ. 2491-2494 

ต่อมาท่านได้รับตําแหน่งทางวิชาการเป็น 'ศาสตราจารย์' คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นคณบดีคนแรกของคณะครุศาสตร์ ติดต่อกันยาวนานถึง 14 ปี จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2503 และหลังเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดต่อกัน 5 สมัย ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2524 ถึง สิงหาคม 2533 และในปีเดียวกันนี้ ท่านได้รับการสดุดีเป็นปูชนียาจารย์แห่งจุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย ท่านแรกโดยความตามประกาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


ที่มา : คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

นอกเหนือจากงานราชการแล้ว ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ยังปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือสังคมอีกหลายด้าน อาทิ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการมูลนิธิกตเวทิน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานคณะผู้ก่อตั้งสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และเป็นนายกสมาคมฯ คนแรก เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและนายกสโมสรซอนต้า กรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่งวงวิชาการ การศึกษา การพัฒนาเยาวชน สตรี และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ตลอดจนการยกสถานภาพสตรีไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ

ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ถือเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความห่วงใยในการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ท่านได้เป็นประธานกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ และเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งในที่สุดรัฐบาลก็ได้มีมติประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยถือเอาวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการประชุมวิชาการเรื่อง การใช้ภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2505 และด้วยจิตใจที่มีแต่ให้และระลึกถึงสังคมส่วนรวมตลอดเวลา

ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ยังมีกุศลจิต ช่วยเหลือสังคมโดยเป็นนายกสโมสร ประธานมูลนิธิฯ และผู้ก่อตั้งที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ สภาการศึกษาแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ทุนธนชาติ ธนาคารนครหลวงไทย ฯลฯ ด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยความเสียสละโดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทำให้ผลงานแห่งชีวิตที่ผ่านมาของท่านผู้หญิงเป็นที่ปรากฏชัดในระดับชาติและนานาชาติมาต่อเนื่องยาวนาน

 


ที่มา : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 


ที่มา : พิพิธภัณฑ์บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์ นพวงศ์

 

ในการส่งต่อความรู้ที่สำคัญคือ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์มอบที่ดินชายทะเลหาดแสงจันทร์ อ.เมือง จ.ระยอง จำนวน 2 ไร่ 54.3 ตารางวา ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในกิจการของคณะครุศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์บริการวิชาการ จิรายุ-พูนทรัพย์” ภายใต้การดูแลของคณะครุศาสตร์ และใน พ.ศ. 2549 ได้ถวายที่ดินและบ้านที่ตนพำนักแก่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้แก่คณะครุศาสตร์และกรุงเทพมหานครจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ให้เยาวชนและผู้สนใจทั่วไปได้ใช้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ที่สำคัญเป็นที่รู้จักกันในนาม "พิพิธภัณฑ์บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์ นพวงศ์" จนถึงปัจจุบัน 

 

ชีวิตและงานเพื่อชาติ : บันทึกของศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยาเรื่องเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา

ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 นั้นท่านศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา และได้เข้าร่วมปฏิบัติการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาโดยบันทึกเรื่องเสรีไทยไว้อย่างละเอียดว่า

"เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น รัฐบาลไทยขณะนั้นได้เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น และส่งโทรเลขสั่งให้นักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกากลับประเทศไทยทั้งหมด หลายคนกลับไปตามคําสั่ง แต่ขณะเดียวกัน มีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมกลับ  รัฐบาลจึงได้ส่งโทรเลขฉบับที่ 2 ตามมาว่า ถ้าไม่ยอมกลับจะต้องถูกยึดทรัพย์ แต่ก็ยังไม่เป็นผล  ต่อมาส่งโทรเลขฉบับที่ 3 ซึ่งข้อความรุนแรงมากว่า ถ้าขืนยังไม่ยอมกลับก็จะต้องสูญเสียสัญชาติไทย และห้ามกลับคืนสู่ประเทศไทยตลอดไป มีผลให้บางคนยอมกลับ ส่วนคนที่ยังอยู่ก็รวมตัวกันก่อตั้งขบวนการเสรีไทย 

ขณะนั้นข้าพเจ้าได้ศึกษาจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และกําลังศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ท่านอัครราชทูต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขอให้ไปช่วยงานวิทยุกระจายเสียงที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งข้าพเจ้าตอบตกลงทันที เพราะเห็นว่าเป็นการทําเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อประเทศชาติ ทั้งที่ใจก็ยังอยากจะเรียนต่ออยู่ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอลาออกจากมหาวิทยาลัย และเดินทางไปร่วมปฏิบัติงานในกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีโครงการกระจายเสียงสู่ประเทศไทย

 


ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เจ้าของชื่อแฝง “สุนทรา” ในรายการวิทยุกระจายเสียง Voice of America ช่วงปฏิบัติการเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 

 

การกระจายเสียงนี้มี Mr.Cristman เป็นหัวหน้า ส่วนคนไทยที่ทํางานอยู่ด้วยกัน มีคุณบุญเยี่ยม คุณอัมพร คุณราชัน คุณนิรัตน์ คุณสวัสดิ์ และข้าพเจ้า โดยมีหน้าที่แปล อ่าน เขียน และกระจายเสียง ซึ่งมีครูแหม่มครูโรงเรียนวัฒนาเป็นผู้ตรวจทานก่อนออกอากาศ

มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการแปลของข้าพเจ้า มีข้อความที่ผู้ออกอากาศกล่าวกับคนไทยว่า ขอให้ท่านทั้งหลายช่วยกันอ้อนวอน God ให้สงครามสิ้นสุดโดยเร็ว ข้าพเจ้าใช้คำแทน God ว่า ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แทนการใช้คำว่าพระผู้เป็นเจ้า เพราะจะให้คนไทยอ้อนวอนพระเจ้านั้นไม่ถูก แต่แหม่มยืนยันว่าจะให้ใช้คำว่าพระผู้เป็นเจ้า เมื่อต่างไม่ยอมกัน Mr.Cristman ทราบเรื่องก็มาขอโทษ และเห็นด้วยกับคำของข้าพเจ้า เรื่องจึงจบลง

การกระจายเสียงนี้ ข้าพเจ้าได้ทำตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดสงคราม มีความประทับใจ Mr.Cristman มากที่มีความเป็นห่วงคนไทยอย่างมาก เพราะในการกระจายเสียงทุกครั้งต้องระบุชื่อผู้พูด จึงขอให้ผู้พูดทุกคนใช้ชื่ออื่นแทน โดยข้าพเจ้าใช้ชื่อว่า “สุนทรา”

นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังมีงานอื่น เช่น ร่วมงานกับ Dr.Haas ในการช่วยสอนภาษาไทยให้กับทหารอเมริกาส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในประเทศไทย และในเวลาว่าง ข้าพเจ้าได้รับเชิญไปพูดให้กับสมาคม โรงเรียนต่าง ๆ และบางครั้งก็ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับประเทศไทย และปัญหาที่ประเทศไทยต้องเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น ทำให้พวกเขาเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น เหมือนเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลไทย

แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ข้าพเจ้าได้กลับคืนสู่ประเทศไทย กลับพบว่า ในทะเบียนประวัติการทำงานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถูกปลดจากการเป็นข้าราชการในฐานที่ขัดขืนคำสั่งรัฐบาล และด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงบอกกับหลานว่า เมื่อทำหนังสืองานศพของข้าพเจ้าให้เอาข้อความดังกล่าวบันทึกลงไปด้วย เพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่า กราฟชีวิตของข้าพเจ้าตกต่ำถึงที่สุด แต่ในเวลานี้ข้าพเจ้ากลับได้รับการยกย่องประกาศเกียรติคุณให้เป็นผู้อาวุโสตัวอย่างจากสมาคมคลังปัญญาอาวุโสแห่งประเทศไทย"

 

บั้นปลายแห่งชีวิต 

ในโอกาสที่ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ คู่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ มีอายุครบ 80 ปี ใน พ.ศ. 2535 ทางท่านผู้หญิง คุณหญิงโรส บริบาลบุรีภัณฑ์ ญาติ ศิษย์ และผู้สนใจภาษาไทยได้ร่วมกับบริจาคเงินเพื่อก่อตั้ง 'มูลนิธิศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์" เป็นการแสดงมุทิตาจิตในฐานะที่หม่อมหลวงจิรายุ ท่านเคยเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย และก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษา เพื่อการค้นคว้าวิจัย และการเรียนการสอน การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ทั้งนี้เมื่อหม่อมหลวงจิรายุถึงแก่อนิจกรรมลงทางคณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น "มูลนิธิศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ-ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์" 

 


ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา

นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการทุนธนชาตคนแรก และธนาคารนครหลวงไทย และเกียรติคุณที่ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ได้รับในบั้นปลายชีวิต อาทิ การเชิดชูเกียรติให้เป็น 'ปูชนียาจารย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย' คนแรก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2533  และเป็นผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณในฐานะ 'บุคคลที่ทำประโยชน์แก่การศึกษาของชาติอย่างสูงยิ่ง' ในการจัดงานครบรอบ 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2535

ต่อมาท่านยังได้รับการแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2552 และรัฐบาลในเวลานั้นยังมีมติยกย่องให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2552 อีกด้วยกระทั่งเมื่ออายุได้ 104 ปี ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ได้ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแล้วถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558 สิริรวมอายุได้ 105 ปี 11 วัน 

 

เอกสารอ้างอิง :

  • ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา, “ผู้หนึ่งในกลุ่มเสรีไทยอเมริกา,” ใน 62 ปี วันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2550, น. 43-44.
  • อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. 5 มิถุนายน 2559. (ม.ป.ท.: สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ, 2559)