ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จัดงาน PRIDI Talks #28 x PBIC: ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

10
ธันวาคม
2567

 

 

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เนื่องในวาระวันรัฐธรรมนูญไทย “สถาบันปรีดี พนมยงค์” ร่วมกับ “วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์” จัดงานเสวนาวิชาการ PRIDI Talks #28 x PBIC: ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ณ ห้อง PBIC 205 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

 

มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และร่วมผลักดันให้เกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อติดตามตรวจสอบกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยศึกษาบทบาทขององค์กรอิสระ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และกระบวนการทำประชามติและเปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดการออกแบบรัฐธรรมนูญ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น

ร่วมเสวนาโดย จีรนุช เปรมชัยพร ที่ปรึกษาเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ นิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา รศ. ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน โดยมี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหารโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

และกล่าวเปิดเสวนาโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดเตรียมล่ามภาษามือเพื่อถ่ายทอดเนื้อหางานเสวนาเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางการได้ยินตลอดการเสวนา ก่อนปิดกิจกรรมด้วยการมอบของที่ระลึกโดยคุณสุดา พนมยงค์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ พร้อมกับถ่ายภาพร่วมกัน

 

 

 

 

 

 

งานเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ คุณอังคณา นีละไพจิตร ผู้แทนคณะกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ ดร.ปรีดีโดม พิพัฒน์ชูเกียรติ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, ทายาทปรีดี-พูนศุข พนมยงค์, ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ทายาทพระยาพหลพลพยุหเสนา, ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน อดีตเอกอัครราชทูต

 

 

 

ยุตินิติรัฐประหาร สถาปนารัฐธรรมนูญประชาชน: ทางรอดรัฐล้มเหลว

ในช่วงกล่าวนำ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึง 4 ประเด็นสำคัญ  ได้แก่

ประเด็นที่ 1 รัฐประหารในบริบทสังคมไทย เนื่องจากประเทศไทยของเรานั้น มีการรัฐประหารติดอันดับต้น ๆ ของโลก และ ไม่มีหลักประกันใด ๆ ในอนาคตว่าจะไม่มีรัฐประหารอีก และสังคมไทยมีความเคยชินกับการรัฐประหาร จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยยอมรับ “รัฐประหาร” ในฐานะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง ในหลายกรณีวิกฤตการณ์ทางการเมืองทั้งหลายก็เป็นการสร้างสถานการณ์ สร้างเงื่อนไขโดยคณะรัฐประหารเอง และรัฐประหารจึงมีสภาพเป็น “สถาบันการเมือง” อย่างหนึ่งในสังคมไทย เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของการเมืองไทย

ประเด็นที่ 2 นิติรัฐประหาร รศ. ดร.อนุสรณ์ เสนอว่ารัฐประหารในอนาคตของสังคมไทย จะมีนวัตกรรมใหม่ จะไม่เอารถถัง หรือ เอากองทัพมายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว แต่จะใช้ “กฎหมาย” ใช้ “รัฐธรรมนูญ” ที่คณะรัฐประหารร่างเอาไว้ในการยึดอำนาจ เป็น “นิติรัฐประหาร” หากใช้วิธีเดิม รัฐประหารโดยใช้กองทัพหรือรถถังเหมือน 13 ครั้งในประเทศไทยหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 การรัฐประหารในอนาคตอาจทำไม่สำเร็จ อาจมีแรงต่อต้านมาก หากสำเร็จก็จะเกิดการนองเลือดและเผชิญหน้ากันรุนแรง แย่ที่สุดอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองเหมือนประเทศเมียนมาได้ ส่วน “การทำนิติรัฐประหาร” ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทันที ต้องสร้างเงื่อนไขให้สุกงอมก่อน โดยเฉพาะหากรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน มีความผิดผลาดในการดำเนินนโยบายสร้างความเสียหายให้ประเทศ หากรัฐบาลไม่มีปัญหาเหล่านี้ การทำนิติรัฐประหาร จะไม่มีความชอบธรรม และ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่หากรัฐบาลสร้างเงื่อนไขเสียเอง ก็จะทำให้ “นิติรัฐประหาร” มีความชอบธรรมขึ้นทันที และ อาจเป็นการยึดอำนาจที่ดูดีกว่า การยึดอำนาจโดยกองทัพโดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม ความจริง นิติรัฐประหาร ก็เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยอยู่ดี นิติรัฐประหาร เป็น ส่วนหนึ่งของนิติสงครามในประเทศไทย

ประเด็นที่ 3 การเร่งรัดสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน และการทำให้ค่านิยมประชาธิปไตย หยั่งรากลึกในสังคมไทย เป็นสิ่งที่จะป้องกัน การรัฐประหารทุกรูปแบบได้โดยเฉพาะ “นิติรัฐประหาร”  และมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย และ มีส่วนส่งเสริมให้ “ขบวนการประชาธิปไตย” ในภูมิภาคเข้มแข็งขึ้นอีกด้วย รัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชนจะส่วนลดบทบาท “รัฐพันลึก” หรือ Deep State ลดการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน จะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสบริสุทธิ์ ยุติธรรม ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้บริหารประเทศและสามารถเลือกตัวแทนตามเจตจำนงของตนเองอย่างแท้จริง รัฐบาลจะถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญของประชาชน และ รัฐธรรมนูญจะมีระบบ กลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลในการใช้อำนาจของรัฐ ไม่ให้ละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรมต่อประชาชน

ประเด็นที่ 4 รัฐธรรมนูญของประชาชนและประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์ในทางบวกต่อกัน ส่งเสริมพัฒนาการของเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) และ สามารถปรับเปลี่ยนให้ ประชาธิปไตยไม่เสรี (illiberal Democracy) ให้ดีขึ้นได้ รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยจะผนึกรวมประชาชนผู้ด้อยโอกาสและประชาชนฐานรากชายขอบเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือหรือระบบสวัสดิการโดยรัฐ ทำให้ “เสียง” ของกลุ่มคนที่ชนชั้นนำไม่ได้ใส่ใจและนำประเด็นปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนเสียงข้างมากผู้เงียบเฉยสู่ความสนใจของสาธารณชน “รัฐธรรมนูญที่ดี” สามารถขับเคลื่อน และบูรณาการ “กลุ่มคน” หรือ “ภาคส่วน” ที่ถูกทอดทิ้งให้เข้ามาอยู่ในระบบการเมือง และนำเสนอนโยบายที่กลุ่มคนเหล่านี้พึงพอใจและได้ประโยชน์  “รัฐธรรมนูญประชาชน” สามารถสร้างความเชื่อมโยงทางด้าน “แนวคิด” และ “อุดมการณ์” สร้างพันธมิตรและแนวร่วมทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อพลวัตของระบบพรรคการเมืองและการเป็นตัวแทนทางการเมือง “รัฐธรรมนูญประชาชน” สร้างความรับผิดชอบทางประชาธิปไตย (Democratic Accountability)  และ “รัฐธรรมนูญที่ดี” สามารถนำมิติความขัดแย้งทางการเมือง (Conflictive Dimension of Politics) สู่การถกเถียงในที่สาธารณะด้วยเหตุด้วยผล สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่อความปลอดภัย ทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย

ท้ายที่สุดและที่สำคัญคือ หนทางนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศต้องยึดถือวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมายที่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม และพัฒนาการทางการเมืองที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงเท่านั้น จะต้องไม่มีพฤติกรรมของกลุ่มบุคคล กลุ่มการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ในกองทัพพยายามจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยหรือหลักนิติธรรม (Rule of Law) รัฐธรรมนูญของประชาชน จึงเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการเมืองเชิงโครงสร้างเหล่านี้ และ ช่วยให้ “ไทย” รอดพ้นจากการเป็นรัฐล้มเหลวในอนาคต

 

 

 

บทเรียนการต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยโดยเสียงของประชาชน : จีรนุช เปรมชัยพร ที่ปรึกษาเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ

จีรนุช กล่าวว่า ในประเด็นสำคัญเรื่องบทเรียนจากประวัติศาสตร์ของกาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเริ่มต้นจากการเมืองระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ และตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไทยยังยุติการรัฐประหารไม่ได้ ในมุมการเมืองเปรียบเทียบร่วมสมัย จีรนุชเล่าว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก และประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อต้าน จนต้องยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกออกไป แรงบันดาลใจว่ารัฐธรรมนูญสามารถหยุดรัฐประหารได้ ออกแบบดี ๆ ก็สามารถสกัดรัฐประหารได้เช่นกัน มันทำให้เราเชื่อมั่นมากขึ้นว่ารัฐธรรมนูญสามารถเป็น instrument เป็นเครื่องมือในการออกแบบการปกครองที่มีความหมายได้ นางจีรนุช กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเรามีรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งมีหนึ่งข้อที่เชื่อว่าเราไม่ต่างกัน คือ เรามีจิตใจของนักสู้ที่ไม่แตกต่างกัน เราคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2517 เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่ได้มีนักนิติศาสตร์ ไม่ได้มาจากนักกฎหมาย แต่มากจากการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในปี 2516 การต่อสู้ที่นำไปสู่การล้มเผด็จการ ถนอม-ประภาส เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในที่สุดเมื่อเผด็จการทหารออกไป เกิดการร่างรัฐธรรมนูญ จนได้รัฐธรรมนูญ 2517 ในฉบับประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของคนไทยอยู่ได้ไม่นานก็ถูกรัฐประหารไป รัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีที่มาที่ไป สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ พฤษภา 2535 ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการมีนายกคนนอก เกิดการสู้ของคนชนชั้นกลางในประเทศไทย และนำไปสู่การพัฒนาการของสังคมไทยในประชาธิปไตยจนก่อรูปก่อร่างเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย โดยประชาชนมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงบทเรียนจากอดีตของการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ และตั้งคำถามรัฐธรรมนูญคืออะไร เป็นพื้นที่สำหรับการต่อรอง และประนีประนอมอำนาจให้อยู่กันในกติกาประชาธิปไตยใช่หรือไม่ หรือพอจะรับกันได้ในสังคมนั้น ๆ

คำว่า อํานาจอธิปไตย คืออำนาจในการปกครองที่ให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ มาจากถ้อยคำที่คณะราษฎรเขียนถึงไว้ในรัฐธรรมนูญคือ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายเป็นครั้งแรกและฉบับเดียวที่มีการใช้คำเช่นนี้ หลังจากนั้นเราก็ถูกใช้ถ้อยคำทางเชิงเทคนิคว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

จีรนุชชวนคิดว่า "อำนาจสูงสุด ไม่ดีอย่างไร นักกฎหมายถึงไปเปลี่ยนเป็นคำว่า อำนาจอธิปไตย“

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากรัฐประหารนั้น แม้ว่าประชาชนจะได้อำนาจบางอย่างกลับคืนมาแต่ก็จะเกิดการยึดอำนาจกลับไปอีกโดยผ่านการรัฐประหาร จากบทเรียนที่ผ่านมาหากมองดูเรื่องการออกแบบรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยในสังคมไทย จีรนุชเสนอแบ่งออกเป็นสองฝั่งคือ ในฝั่งซ้ายที่เป็นสเปกตรัมของประชาชนและฝั่งขวาฝั่งจะเป็นของขุนศึก ศักดินา 

จากคำถามว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร โดยหลักการประชาธิปไตยควรเป็นของของประชาชนและระบบเศรษฐกิจ หรือทุนนิยมที่มีการผูกขาดโดยอำนาจของชนชั้นนำนั้น ในทางความเป็นจริงประชาชนคนไทยเราเคารพกติกาอย่างยิ่ง โดยใช้สิทธิตามกฎหมาย อาทิ การเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญปี 2563 ที่มีประชาชนร่วมลงชื่อ หนึ่งแสนรายชื่อ แต่ถูกปัดตกโดยรัฐอย่างไม่ไยดี ในฐานะของเครือข่ายภาคประชาชน พบว่ามีการต่อสู้กันหลายรูปแบบ เราจะมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อรัฐบาลต้องการแบบไหนที่จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนก็ไปตามเกมนั้นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะทำประชามติ 3 ครั้ง  ก็ทำ จนตอนนี้ผ่านไป 3 ปี ประชามติครั้งที่ 1 ก็ยังไม่เกิดขึ้น แล้วจะได้รัฐธรรมนูญปี 2570 ทันหรือไม่ เป็นคำถามที่รอคำตอบ หากจีรนุชเชื่อว่า ประชาชนมาด้วยความหวัง ถ้ามีการทำประชามติ 2 ครั้ง เชื่อว่าสามารถเดินหน้าไมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้มีกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันในครั้งหน้าที่ประชาชนจะตัดสินในอนาคตการเข้าคูหาเลือกตั้งในปี 2570 อีกครั้ง

 

 

มุมมองรัฐธรรมนูญและรูปแบบรัฐธรรมนูญในหลักรัฐศาสตร์ และทฤษฎีรัฐธรรมนูญ : นิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา

นิกรเสนอว่าตนเองมีมุมมองรัฐธรรมนูญในมิติทางรัฐศาสตร์ โดยชี้ให้เห็นว่า ขนบรัฐธรรมนูญของไทยเป็นรูปแบบลายลักษณ์อักษร  กล่าวคือ ประเทศเรามีประวัติศาสตร์ยาวนาน เราเลียนแบบอังกฤษ แต่เรากลับใช้รัฐธรรมนูญแบบสหรัฐอเมริกา โดยชี้ให้เห็นว่าการถูกยึดอำนาจนั้นมาจากปัญหาของรูปแบบรัฐธรรมนูญตั้งต้นของไทย นิกรชี้ว่าตนมีพื้นฐานมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และแนวทางของนายกรัฐมนตรี บรรหาญ ศิลปอาชา ซึ่งขณะที่ตนทำงานในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเห็นพ้องว่าการเมืองแย่มากจึงทำให้ฝ่ายการเมืองเข้มแข็ง อภิปรายไม่ได้ และถูกยึดอำนาจ

นิกรยืนยันว่าตนเองอยากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  โดยมองว่าขณะนี้ยังมีโอกาสอยู่ เหลือแค่สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือสสร. แล้ว ที่ผ่านมาที่พลาดเราเสียเวลาไปมากแล้ว และต้องแก้ประชามติก่อน  ซึ่งตนเองเสนอไปว่าให้มีการแก้ไขประชามติเสียก่อน และแก้ไขเป็นชั้นครึ่ง

โดยมองว่านับจากช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งจากภาคประชาชนทำให้เวลาในการทำประชามติเสียไป 1 ปี ซึ่งวันที่ 18 ธันวาคม นี้จะมีการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่มีทางที่สภาฯ จะมีการผ่านร่างประชามติให้ และควรจะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิหรือไม่ เดิม สว. จะยึดส่วนตรงนี้ 

กล่าวคือ สถานการณ์ต่อจากนี้ ส่งผลให้มีการขยายวันและเวลาออกไปอีกเป็น 180 วัน บวกกับกฎหมายเก่า  และบวกรวมกับ กกต. ด้วย จะได้ทำประชามติครั้งแรกปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569 ดังนั้น โอกาสของรัฐบาลชุดนี้มีครั้งเดียว ถ้าไม่ผ่าน จะไม่สามารถยื่นซ้ำได้ และมีแนวโน้มที่จะเลื่อนไปถึงปี 2570 จึงมองว่า สสร. จะทำไม่ได้ โดยมีข้อเสนอสำคัญคือให้พรรคร่วมรัฐบาลมายื่นเท่านั้น ในเรื่องร่างฯ ตาม ม. 256 ต้องให้รัฐบาลทำร่างของตัวเอง เพื่อเป็นสัญญาของประชาชนที่เคยสัญญาไว้ เพราะพรรคที่ยื่นได้มีแค่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชนเท่านั้น จึงอยากให้รวมกัน และไปคุยกับ สว. โดยระบุรายละเอียดว่า ในประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะทำให้ไม่สามารถผ่านให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ 

 

 

ปัญหาในการไม่แก้ไขและความคืบหน้าเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 : พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน

พริษฐ์ขี้ว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายต่อเรื่องการเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โจทย์แรกคือ ข้อเสนอที่ดูเป็นประชามติร่วมกันทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลคือการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน และโจทย์ที่ 2 คือทำอย่างไร หรือ How คือจะ โดยถ้าย้อนไป เราคุยกันเรื่องการจะทำเรื่องนี่อย่างไรค่อนข้างมากไม่ว่าจำนวนประชามติกี่ครั้ง จะตีตวามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร จะใช้พระราชบัญญัติประชามติฯ และเรื่องโจทย์ทำไม คือความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำไมถึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ พริษฐ์ ระบุว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าอยู่บ้าง คือการทำให้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หมดไป เรายังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเลย  และเรายังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร

นี่คือสิ่งที่พริษฐ์ชวนให้ประชาชนมาตั้งหลักร่วมกัน ถ้ารัฐธรรมนูญใหม่ยังจัดทำไม่ได้จะเกิดปัญหา คือสภาวะการเมืองที่ประชาชนอ่อนแอ ในสองด้านสำคัญ คืออำนาจของประชาชนจะมีความอ่อนแอ เนื่องจากเกิดขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้โครงสร้างรัฐอำนาจที่มาจากรประชาชนถูกบั่นทอนมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น มีการขยายอำนาจเครื่องมือที่ขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน เช่น สว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่มีอำนาจชี้ขาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สิทธิเสรีภาพของประชาชนอ่อนแอ เช่น การถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพราะขัดต่อความมั่นคงของรัฐ เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิความเท่าเทียม และสิทธิการรักษาพยาบาล พริษฐ์ระบุให้เห็นถึงปัญหาในการที่ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหลากหลายมิติ

พริษฐ์กล่าวว่าที่ตนเองต้องพูดย้ำเพราะว่าในวันที่สังคมเราถูกดึงไปพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่กลับลืมไปว่าทำไมเราถึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ตนเองอยากให้มีกฎหมายสูงสุดของประเทศที่ผ่านอำนาจประชาชน และเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด  และกล่าวตอนหนึ่งว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อให้เร่งสปีดแค่ไหน อย่างน้อยต้องใช้เวลา 1-2 ปี

ดังนั้น สิ่งที่พรรคประชาชนเสนอมาตลอดคือ 2 ทางไปพร้อมกัน 1. จัดทำฉบับใหม่ กับ 2.แก้ไขรายมาตราในประเด็นที่สำคัญเร่งด่วน ซึ่งพรรคประชาชน ยื่นเข้าไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ให้มี ส.ส.ร. มาจัดทำฉบับใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานสภาไม่บรรจุร่างดังกล่าว เพราะไปวินิจฉัยว่าจะต้องทำประชามติก่อน 1 รอบ 2.ยื่นร่างแก้ไขรายมาตรา เกือบ 20 ร่าง หลายประเด็น อาทิ การแก้ไขปัญหาสิทธิเสรีภาพสิทธิชุมชน การปฏิรูปกองทัพ การป้องกันการรัฐประหาร การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. เป็นต้น . นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า การที่ตนและพรรคประชาชน พยายามผลักดันเรื่องนี้ มาจากการที่เราคำนวณห้วงเวลาแล้ว ถ้าเดินตามแผนรัฐบาล ทำประชามติ 3 ครั้ง โดยไม่เริ่มครั้งแรกจนกว่าจะแก้ พ.ร.บ.ประชามติเสร็จ ยังไงก็ไม่มีทางที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันทำการเลือกตั้ง ตามที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ ดังนั้นจึงคิดว่าแทนที่จะมานั่งรอ หนทางเดียวที่ยังพอมีความเป็นไปได้ที่จะทำ คือการลดการประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง และพยายามหาแนวร่วม ซึ่งมี 2 กลุ่มคนที่สำคัญคือประธานสภา ให้ทบทวน จากเดิมที่ตีความว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งนี้จะเข้าไปคุยใหม่ พร้อมยื่นความเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายบุคคล รวมถึงผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับศาลรัฐธรรมนูญไปประกอบด้วย ซึ่งที่เปิดเผยได้ ไม่มีใครแสดงความเห็นว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง กับกลุ่ม 2 คือโน้มน้าว สว. ให้โหวตเห็นชอบ

ท้ายที่สุด พริษฐ์เสนอความคืบหน้าไว้ว่า "ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าไปอีกรอบหนึ่ง เพื่อให้การมีคณะกรรมการวินิจฉัยอีกรอบ และหวังว่าประธานสภาจะทบทวนและบรรจุ ด้วยข้อมูลใหม่ 2 ชุดที่กล่าวมา ซึ่งไม่มีอะไรรับประกัน แต่เราเห็นว่าทำแล้วไม่มีอะไรเสียหาย เพราะเสียงของ สส. อย่างเดียวไม่เพียงพอ ยังจำเป็นต้องได้เสียง สว. 1 ใน 3 ด้วย ก็เป็นสิ่งที่ต้องไปทำงานทางความคิดกับ สว. ต่อไป เพื่อโน้มน้าวว่าสามารถโหวตเห็นชอบให้มี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นี่คือความท้าทายของการแก้ไขและหาทางออกของการจัดทำรัฐธรรมนูญ

 

 

ปัญหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทรรศนะของภาคประชาชน และการจัดทำประชามติ : รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา

รศ. ดร.ประภาส เสนอมุมมองจากภาคประสังคม คนตัวเล็กตัวน้อย เช่น สมัชชาคนจน หรือกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ต่าง ๆ โดยมองว่า ปัญหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พบมากที่สุด คือปัญหาเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจโครงการพัฒนาของรัฐ หรือกำหนดโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐนั้น ไม่มีหน่วยงานที่สามารถฟ้องร้องแทนชาวบ้านได้ จึงสะท้อนว่าสิ่งที่รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ตอบโจทย์ ประชาชนมีส่วนร่วม มีการออกกฏหมายออกมาที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคงตามสิทธิชุมชนที่ควรจะเป็น รศ.ดร.ประภาส ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. ประชามติที่ผ่านมาของคนในการตั้งคณะกรรมการวิสามัญนั้น มีการแปรญัตติ และมีการเสนอโดยประธานวุฒิสภา จึงนำมาสู่กรรมาธิการร่วมสองสภา ตนเองไม่ได้คิดว่าจะมีการปรับมติอะไรอีก แต่คงจะยังยึดเวลา 180 วันตามเดิม

และประเด็นปัญหาสำคัญอีกประการในการจัดทำประชามติ คือมีปัญหาเรื่อง การทำประชามติ 2 ชั้น ซึ่งจากนิด้าโพล เห็นด้วยว่าควรทำ 2 ชั้น คนออกมาทำประชามติมากว่าร้อยละ 50  โดย รศ. ดร.ประภาสระบุว่า ปัญหาคือรัฐบาลพูดเรื่องนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก ที่มองว่ากำหนดไว้ 50 เปอร์เซ็นต์จะเป็นประชาธิปไตย แต่ลืมดูในรายละเอียด

ท้ายที่สุด รศ. ดร.ประภาส ชี้ถึงเรื่องรัฐธรรมนูญที่ดี ว่าถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ มันไม่เคยเกิดขึ้นจากชนชั้นนำ กล่าวคือ มาจากการเรียกร้องพวกเราด้วยกัน ไม่น้อยไปกว่าผลักดันคนข้างในสภาฯ ถือเป็นภารกิจร่วมกันของสังคม ที่ทำให้เกิดเครือข่าย สร้างบริบทในภาคการเมืองเพื่อให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญ

 

 

รัฐธรรมนูญกับกองทัพและกฎหมายความมั่นคง : รศ. ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

รศ. ดร.พวงทอง เสนอให้เห็นรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารและภายใต้ระเบียบของกองทัพที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง และที่มาขององค์กรอิสระ ผลจากการที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองเข้าไปเพื่อผลักดันนโยบายที่เราเห็นด้วยให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จนทำให้พรรคการเมืองถูกสกัด มีกลไกลงโทษ ทำลายพรรคการเมืองเหล่านั้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็สูญเสียความศรัทธา รศ.ดร.พวงทอง กล่าวอีกว่า ทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น และมีรัฐธรรมนูญออกมา จะมุ่งทำให้อำนาจประชาชน พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งน้อยลง ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กลไกของกองทัพมีมากยิ่งขึ้น ทำให้กองทัพเป็นอิสระ ทำให้องค์กรอิสระอยู่ภายใต้กลไกอำนาจทดแทน ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไร้อำนาจในการควบคุมกลไกรัฐต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกองทัพด้วย “การทำรัฐประหารไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาล แต่คือการเปลี่ยนกลไกในสภา ร่างระเบียบทางการเมืองใหม่ และออกกฏหมายที่จำกัดสิทธิของประชาชนด้วย”

โดยกล่าวคือว่า "กองทัพในปัจจุบัน ไม่ใช่รัฐซ้อนรัฐแต่เป็นรัฐอิสระ" ซึ่งรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถเข้าไปควบคุม หรือแทรกแซงได้ อาทิ เรื่องการเกณฑ์ทหาร ดังนั้น ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่มีทางแก้กฎหมายเกณฑ์ทหารได้เลย”

ในมิติขององค์กรอิสระก็จะถูกสร้างขึ้นมาตรวจสอบ-ถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ ให้มีความยุติธรรม เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ปัจจุบันไม่ใช่เช่นนั้นอีกแล้ว “ภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่ องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือลงโทษ จำกัดอำนาจกลุ่มที่ไม่พึงประสงค์แนวคิดที่ว่า รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ควรมีอำนาจควบคุมกลไกราชการ ไม่ได้อยู่ในสารบบความคิดของคนเหล่านี้ ตั้งแต่ปี 2490 จนถึงปัจจุบัน ตรงกันข้าม ทำให้อำนาจฝ่ายพลเรือนอ่อนแอลง” รศ.ดร.พวงทองระบุ . ช่วงหนึ่ง รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า“มีข่าวหนึ่งที่อ่านแล้วกังวล คือตอนที่พรรคประชาชนเสนอร่าง ‘แก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม’ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. แล้วถูกตีกลับมาวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมาทางครม.ไม่รับบรรจุเนื่องจากหน่วยราชการไม่เห็นด้วย และประเด็นสำคัญที่ถูกตีกลับ คือความเห็นของหน่วยราชการซึ่งไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ของพรรคประชาชน เช่น กองทัพ

นอกจากนี้ยังมี สมช. สำนักงบประมาณที่ต่างไม่เห็นด้วย แม้กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศ จากภาพรวมดังกล่าวจะเห็นได้ว่าได้กลายเป็นช่วยกันปกป้องอำนาจหน่วยราชการด้วยกันเอง  ดังนี้จึงไม่เพียงต่อสู้กับกฎหมาย แต่ต้องต่อสู้กับ Public Opinion กระทั่งมีคำพูดที่ว่า นักการเมืองกลั่นแกล้งข้าราชการ ที่ถูกส่งต่อผ่านสื่อมวลชน

หากถ้าเป็นในระบบราชการ ทำไมจึงไม่ตั้งคำถามว่าเป็นการเล่นพรรคเล่นพวกหรือไม่ เพราะ Public Opinion ของคนไทยนั้นต่อต้านนักการเมืองและพรรคการเมืองอยู่ตลอดเวลา” ในช่วงท้าย รศ.ดร.พวงทอง ระบุว่า พรรคเพื่อไทย ดูเหมือนจะไม่มีปากเสียง เงียบมาก ไม่กล้าตอบโต้  “แต่ถ้าจินตนาการว่า 2 คำพูดนี้ มาจากพรรคประชาชน คงกระหึ่ม โจมตีกันน่าดูเลยว่าทำตัวหล่อ เท่ มาสั่งสอนได้อย่างไร ทั้งที่ควรจับมือต่อสู้ ก็รัฐธรรมนูญจะแก้ได้ด้วยสองพรรคนี้ ต้องจับมือกัน ไม่อย่างนั้น โอกาสที่แก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2570 ซึ่งห่างไกลออกไป กล่าวคืออย่าทำให้อำนาจต่อรองที่ได้จากประชาชนสูญเปล่า ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ทำแบบนี้ ความเชื่อของประชาชนจะมากขึ้นเรื่อย ๆ คือพรรคไม่เอาประชาชนเป็นตัวตั้งในการเมือง เสียงจะกระหึ่ม ว่าการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของพรรคที่ผูกโยงกับผลประโยชน์ ซึ่ง รศ. ดร.พวงทองมองว่าในระยะยาวคุณจะสูญเสียความชอบธรรม และไม่มีหลังให้พึ่งพิงได้อีกต่อไป

 

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=4djNQykK3IM