เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567 นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ในฐานะตัวแทนทายาทนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้มอบรางวัล “ช้างเผือก” และ “ช้างเผือกพิเศษ” แด่ผู้ชนะการประกวดหนังสั้น ในพิธีประกาศผลรางวัลเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 28 (28th Thai Short Film and Video Festival) ณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 28 เป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดต่อเนื่องยืนยาวที่สุดของประเทศไทย จัดโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และมูลนิธิหนังไทย โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-22 ธันวาคม 2567
รางวัลช้างเผือกเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง King of The White Elephant (พระเจ้าช้างเผือก) ด้วยภาษาอังกฤษ ต่อมาเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” จากบทประพันธ์ชิ้นดังกล่าว โดยออกฉายครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2484 ที่กรุงเทพฯ สิงคโปร์ และนิวยอร์ค ความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่เจตนารมณ์ของผู้สร้าง คือการนำเสนอเรื่อง ธรรมะของการปกครองแผ่นดิน ธรรมของการทำสงคราม เพื่อสถาปนาสันติภาพ เพื่อประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองว่าด้วยสงคราม และสันติภาพของท่านผู้สร้างและในนามของราษฎรไทย
ปัจจุบันมีการแบ่งออกเป็น “รางวัลช้างเผือก” สำหรับภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมระดับนักศึกษา และ “รางวัลช้างเผือกพิเศษ” สำหรับภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมระดับนักเรียน
รายชื่อผู้ได้รับรางวัลช้างเผือก และรางวัลช้างเผือกพิเศษ ในโครงการเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 24 มีดังนี้
ผู้ที่ได้รับรางวัลช้างเผือกพิเศษ
รางวัลชนะเลิศ :
ปืน (Gun) โดย ปัณณวรรธ เอกวดี (วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน)
รางวัลรองชนะเลิศ :
อื่น ๆ นับจากนี้ (Others from Now on) โดย ธนดล สดศรี (โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ๒)
สะกดรอย (The Stalker King) โดย ณัฐเศรษฐ หน่อแก้ว (โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย)
ประกาศนียบัตรชมเชย :
Clog in the Karma System โดย นฐมน สุขอินทร์ (โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร)
อัล-มาน (Believe) โดยพรรณชนก พิพิธภักดี (คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร)
ผู้ที่ได้รับรางวัลช้างเผือก
รางวัลชนะเลิศ :
He วินธัย สวัสดิ์ธนวณิชย์ (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร)
รางวัลรองชนะเลิศ :
Once in a Little Bit of Time โดย ปรมัตถ์ พรหมตุ๊ (คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ)
สะ-บั้น-ปลาย (The Last Supper) โดย จิตรภาณุ กสิฤกษ์ (คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ประกาศนียบัตรชมเชย :
โรยลา (Lullabye) โดย พิชญา สุริโยภาส (คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ผู้หญิงที่ยังอยู่ (Dust Beneath the Sun) โดย ชัยพล ก่อเกียรติขจร (คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
รางวัล “ช้างเผือก” และ “ช้างเผือกพิเศษ” คืออีกหนึ่ง เจตนารมณ์ของทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ยังคงดำเนินการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ในการดำเนินงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สมดังเทศกาลภาพยนตร์สั้นถูกจัดขึ้นครั้งแรกที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ใน พ.ศ. 2540 ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิหนังไทย โดยในครั้งนั้นมีการจัดฉายภาพยนตร์สั้นที่ร่วมส่งเข้าประกวด จำนวน 30 เรื่อง พร้อมกับการมอบรางวัลให้แก่ภาพยนตร์ประเภทต่าง ๆ