ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็นจากงานภาพยนตร์สนทนา 80 ปี พระเจ้าช้างเผือก ณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

5
เมษายน
2564

ในวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดฉายมรดกภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” เนื่องในวาระครบรอบ 80 ปี วันฉายภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกวันแรก เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484

 

 

ภายหลังจบภาพยนตร์ พบกับสนทนากับวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และที่ปรึกษามูลนิธิปรีดี พนมยงค์, กษิดิศ อนันทนาธร กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์

 

 

เริ่มต้นด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เล่าถึงบริบทประวัติศาสตร์โลกเมื่อภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกออกฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังปะทุขึ้น ปรีดี พนมยงค์ ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อบอกกับโลกว่า ‘ประเทศไทยนั้นรักสันติ’ และได้เลือกประกาศความเป็นกลางในสงครามแล้ว

‘พระเจ้าช้างเผือก’ จึงอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คำประกาศสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการยอมรับจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา

 

 

“ผมคิดว่าถ้าเราเข้าใจบริบทประวัติศาสตร์ เราก็จะเข้าใจภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก”

 

ชาญวิทย์ได้กล่าวว่า “เขารับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2515 ที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส และหลังจากนั้นไม่กี่ปีต่อมา ภาพยนตร์ช้างเผือกก็ได้ถูกนำกลับมาฉายโดยอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ และชาญวิทย์เองก็ได้เป็นผู้แนะนำภาพยนตร์ในภาคภาษาอังกฤษ”

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่าเขาเองมีความผูกพันกับภาพยนตร์เรื่องนี้หลายอย่าง ทั้งตัวเขาและภาพยนตร์เกิดในปี พ.ศ. 2484 เหมือนกัน และได้รู้จักผู้คนมากมายจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณไพลิน นิลรังษี (เดิมชื่อ​ไอรีน นีลเสน) นางเอกของภาพยนตร์ และครอบครัวปรีดี-พูนศุข หลาย ๆ คนอย่างท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และปาล พนมยงค์ หรือที่ผมมักเรียกว่า ‘พี่ปาล’ ที่เรามักเจอะเจอกันบ่อย ๆ เมื่ออยู่ที่ฝรั่งเศส ทำให้ผมรู้สึกโชคดีที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ครั้นฉายที่ประเทศฝรั่งเศส

 

 

สำหรับ ‘กษิดิศ อนันทนาธร’ ได้ตั้งข้อสังเกตสำหรับการย้อนดู ‘พระเจ้าช้างเผือก’ อีกครั้งของเขาในครั้งนี้ว่าเป็นภาพยนตร์ของปรีดี พนมยงค์ ที่สร้างขึ้นเพื่อสืบสาน-รักษา-ต่อยอด โดยการเชื่อมสิ่งเก่าเข้ากับสิ่งใหม่ กล่าวคือการหยิบยกฉากยุทธหัตถีในสมัยกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาอยู่ในภายนตร์แต่กลับสอดแทรกไปด้วยวัฒนธรรมร่วมสมัยหลาย ๆ อย่าง และการแสดงให้เห็นถึง ‘ความเป็นอารยะ’ ของประเทศไทย

 

 

โดยได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ปัจจุบันนั้นมีความรุนแรงเกิดขึ้นมากมายในหลายมุมโลก แม้วิธีการอาจเปลี่ยนแปลงไปแต่ความรุนแรงนั้นยังคงอยู่ สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้กาลเวลาจะผ่านไปถึง 80 ปี แต่ใจความสำคัญที่พูดถึงสันติ คุณธรรมของผู้ปกครอง การเห็นเสียงของประชาชนส่วนมากมากกว่าเผด็จการของผู้ปกครอง ก็ยังคงเป็นสารที่อมตะทางการเมืองของเรื่องนี้”

 

 

ในแง่การอนุรักษ์มรดกภาพยนตร์เรื่องนี้ ‘ชลิดา เอื้อบำรุงจิต’ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ได้เล่าถึงเรื่องราวการเดินทางของม้วนฟิล์มพระเจ้าช้างเผือกนับตั้งแต่การออกฉายครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวภาพยนตร์ถูกตัดต่อหายไป ซึ่งต่างจากฉบับที่เราได้รับชมกันในปัจจุบันที่มีความยาวกว่า 100 นาที ชลิดาได้กล่าวว่าภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกเป็นภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และได้ถูกนำกลับมาฉายใหม่หลายครั้ง “แม้เราจะคิดว่าฟิล์มนั้นเหมือนเดิม แต่ก็มักจะมีอะไรใหม่ ๆ ทุกครั้ง” 

 

 

นอกจากนี้ ชลิดา ยังกล่าวถึง ‘โดม สุขวงศ์’ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์ (​องค์การมหาชน) ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่นำแสงสว่างมาสู่ภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมถึงเป็นผู้นำทางให้เขารักในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดม ได้เคยกล่าวว่า เขาตั้งใจที่จะตั้งชื่อรางวัลในเทศกาลภาพยนต์สั้นว่ารางวัล ‘ช้างเผือก’ เพื่อเป็นการรำลึกถึงอาจารย์ปรีดี และแนวความคิดที่ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็มักจะนึกถึงเรื่องการศึกษาเสมอ

 

โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์ (​องค์การมหาชน) ถ่ายภาพร่วมกับ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิทยากรในกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา 80 ปี พระเจ้าช้างเผือก พร้อมโปสเตอร์ที่ระลึกในงาน
โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์ (​องค์การมหาชน) ถ่ายภาพร่วมกับ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิทยากรในกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา 80 ปี พระเจ้าช้างเผือก พร้อมโปสเตอร์ที่ระลึกในงาน

 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ-พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู-โดม สุขวงศ์-ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ-กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ร่วมถ่ายภาพที่ระลึก
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ-พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู-โดม สุขวงศ์-ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ-กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ร่วมถ่ายภาพที่ระลึก