ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ชีวิตในแสงเงา A LIFE IN SHADOWS Shadow Theatre in Southeast Asia

5
มกราคม
2568

Focus

  • บทความนี้นำเสนอเรื่องการเปิดตัวหนังสือ “A LIFE IN SHADOWS” Shadow Theatre in Southeast Asia ผลงานของ Mr.Constantine Korsovitis จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ RIVER BOOKS และโครงการ นิทรรศการภาพถ่ายศิลปะหนังตะลุง พร้อมสนทนาถึงเบื้องหลังการทำงานหนักกว่า 24 ปี ของช่างภาพที่ยอมเปลี่ยนตัวตนด้วยศรัทธาที่มีต่อศิลปะการแสดงแขนงหุ่นเงา ‘วัฒนธรรมทอง’ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • นิทรรศการภาพถ่ายศิลปะหนังตะลุงถูกออกแบบจัดขึ้นหลายพื้นที่ของประเทศไทยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยมีหลายองค์กรร่วมให้การสนับสนุน อาทิ มูลนิธิหุ่นสายเสมา พันธมิตรผู้ให้การสนับสนุนหลักด้านอำนวยการจัดงานแสดงหุ่น และประสานตัวแทนศิลปินเข้าร่วมงานในวันเปิดตัวโครงการตามนโยบาย ร่วมสร้าง (Collaboration) ที่ยึดเป็นแนวทางมากว่า 10 ปี จึงมีบทวิเคราะห์งานจัดการ Festival ในแนวบริหารสายศิลปวัฒนธรรม

 


photo : Mr.Constantine Korsovitis

 

‘หุ่นเงา’ , ‘หนังตะลุง’ หรือ วายังกูเละ[1] (Puppet Shadow & Shadow Play) วัฒนธรรมร่วมแห่งเอเชียอาคเนย์ ได้รับการรับรองจาก องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2011 หนึ่งในปัจจัยหลักสำคัญที่มีผลผลักดันต่อการคัดเลือกศิลปะการแสดงแขนงนี้คือ “A LIFE IN SHADOWS” หนังสือที่รังสรรค์จากมนต์เสน่ห์แห่งศิลปะการแสดง แสง-เงา และแรงพลังจากศรัทธาในศาสนา (อิสลาม พุทธ ฮินดู) คือที่มาของหนังสือบันทึกเรื่องราวและภาพถ่ายประณีตงามตามครรลองของวัฒนธรรม ‘การเชิดหนัง’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 ประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และ ไทย โดยศิลปินนักถ่ายภาพสารคดีฝีมือระดับโลก Mr.Constantine Korsovitis ศิลปินถ่ายภาพชาวออสเตรเลีย จบการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก สถาบันเทคโนโลยีซิดนีย์ และจบปริญญาโทด้านการถ่ายภาพสารคดีจาก The University of Sydney ในปี 2012 มีผลงานการบันทึกภาพสารคดีประวัติชีวิตผู้คนและผลงานเผยแพร่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากมาย

การงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือจัดโดยสำนักพิมพ์ River Books ประเทศไทย เป็นผู้พิมพ์เผยแพร่และจัดจำหน่าย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567  ณ วังจักรพงษ์ กรุงเทพฯ โดยมี มูลนิธิหุ่นสายเสมา (Semathai Foundation) หนึ่งในพันธมิตรผู้สนับสนุนโครงการได้นำคณะนักแสดง ‘หนังใหญ่วัดบ้านดอน’ จากจังหวัดระยอง (เจ้าของภาพบนปกหนังสือ “A LIFE IN SHADOWS”) มาถ่ายทอดการแสดง ร่วมด้วยศิลปินเยาวชนรุ่นใหม่จาก คณะหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย จังหวัดเพชรบุรี, ครูไก่ ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์และศิลปะการแสดงหุ่น, สมาพันธ์หุ่นโลกแห่งประเทศไทย (UNIMA Thailand) ฯลฯ เป็นตัวแทนศิลปินไทยร่วมแสดงความยินดี และร่วมสนทนากับ Mr.Constantine Korsovitis , นิมิตร พิพิธกุล  ประธานมูลนิธิหุ่นสายเสมา โดยมี หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  ให้เกียรติร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางเพื่อบันทึกผลงานอันทรงคุณค่าด้วยความชื่นชม

 


photo : Semathai Foundation

 

Mr.Constantine Korsovitis  ศิลปินถ่ายภาพชาวออสเตรเลีย จบการศึกษาด้านการถ่ายภาพจาก Sydney Institute of Technology  และจบปริญญาโทด้านการถ่ายภาพสารคดีจาก University of Sydney  ในปี 2012 เขาเริ่มแสดงงานใน gallery และสถาบันต่าง ๆ นับตั้งแต่ปี 1998 มีผลงานการบันทึกภาพสารคดีประวัติชีวิตผู้คนและผลงานแพร่หลายเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติทั่วโลก

จุดเริ่มของ โครงการนิทรรศการภาพถ่ายหนังตะลุง เกิดขึ้นเมื่อ  Mr.Constantine Korsovitis ได้มีโอกาสทำงานโครงการพิเศษในปี 1999 โดยได้รับเชิญจาก Me Jacques Trudeau เลขาธิการ สมาพันธ์หุ่นโลกแห่งอินโดนีเซีย (UNIMA INDONESIA) ให้เป็นผู้บันทึกภาพงานแสดงใน เทศกาลหนังเงานานาชาติ ที่กรุงจาการ์ตา ในงานนี้เขาได้ชมการแสดงจากหลายคณะที่ถูกคัดมาจัดโชว์ในงานถึง 3 วันเต็ม เสน่ห์เฉพาะตัวของงาน ‘หุ่นเงา’ ทำให้เขาเริ่มสนใจที่จะศึกษาศิลปะการแสดงแขนงนี้ และมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภาพสารคดีชีวิตศิลปินกับผลงานการแสดงหุ่น จึงเริ่มศึกษาวิถีชีวิตของศิลปิน เพราะมีผลต่อวิธีคิดและการสร้างงาน ต่อมาได้พัฒนาผลงานภาพถ่ายชุดใหญ่เกี่ยวกับการเชิดหนังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจัดทำโครงการร่วมกับหลายองค์กร (collaboration)

ในปี 2016 ผลงานบางส่วนในชุดนี้ได้จัดแสดงร่วมกับ collection หนังจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดโดย British Museum ในนิทรรศการ “Shadow Puppet Theatre from Indonesia ( Museum Wayang Kekayon เมือง Yogyakarta) , Malaysia (Kuala Lumpur City Art Gallery), and Thailand” ผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงในหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ และเทศกาลภาพถ่ายทั่วโลก ในเวลาต่อมาจึงกลายขยายเป็นที่มาของ โครงการหนังสือและนิทรรศการภาพถ่ายศิลปะ การแสดงหุ่นเงา “A Life in Shadows”  ในปี 2018 ซึ่งเป็นนิทรรศการครั้งที่สองของ Mr.Constantine Korsovitis ในประเทศไทย

 


photo : Mr.Constantine Korsovitis

 

Mr.Constantine Korsovitis มาจาก กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ บ้านพำนัก เข้ามาพักพร้อมเดินทางหาประสบการณ์เพื่อเก็บข้อมูลงานในประเทศไทยแบบ ‘ใช้ชีวิต’ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน จนรู้สึกเหมือนประเทศไทยเป็นบ้านหลังที่สองของเขา นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ย่างเหยียบแผ่นดินไทยในปี 2014 และได้เข้าร่วมงาน เทศกาลหุ่นโลกกรุงเทพฯ 2014 (Harmony World Puppet in Bangkok, Thailand 2014) โดยมี ‘กองทัพทางวัฒนธรรม’ นำทาง ฝ่ายศิลปินหุ่น นำโดย มูลนิธิหุ่นสายเสมา หรือ SEMA THAI MARIONETTE (ผู้เป็นต้นแบบลิขสิทธิ์การจัดงาน ‘เทศกาลหุ่นโลก’ ในประเทศไทย หรือ Harmony World Puppet Festival) มีกองหนุนสำคัญคือคณะกรรมการจัดงาน นำโดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB - Thailand Convention & Exhibition Bureau) และ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ตลอดระยะเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 – 10 พฤศจิกายน 2557 จากสถานที่จัดงาน 10 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์ , ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน และห้างใหญ่ใจกลางย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ Siam Paragon ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็น ‘ประเด็นศึกษา’ ให้เขาได้เรียนรู้การมีอยู่ของหุ่นทุกประเภท จาก 80 ประเทศทั่วโลก รวม 165 คณะ ที่เข้าร่วมงานในครั้งนั้น

นับจากนั้นมา Mr.Constantine Korsovitis ได้ศึกษาต่อยอดศิลปะการ ชัก - เชิดหุ่น อย่างจริงจังลงลึกโดยเฉพาะศาสตร์การแสดงแขนง หุ่นเงา หรือ หนังตะลุง พร้อมถ่ายภาพ สัมภาษณ์นายหนัง นักดนตรี และช่างฝีมือผู้ประดิษฐ์แผ่นหนัง ถึงแนวคิดเบื้องหลังการทำงานเพื่อค้นหาว่าบุคคลที่อยู่ภายใต้ความเป็นศิลปินและการแสดงนั้น ‘คือใคร’ และประเด็นสำคัญที่ Mr.Constantine Korsovitis สนใจคือ ‘อะไรเป็นแรงกดดันต่อศิลปะแนวประเพณี (Traditional-Original) ที่ต้องเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็ชื่นชมยกย่องจิตวิญญาณความเป็น ‘มนุษย์นักสู้’ และเชิดชูศิลปินนักสร้างสรรค์ทุกส่วนที่ประกอบกันเป็นงานศิลปะการแสดงหุ่นอันงดงามทรงคุณค่าเหล่านี้ แม้หลายรายได้ลาโลกไปแล้วนับตั้งแต่โครงการจัดทำหนังสือ “A Life in Shadows”  ได้เริ่มต้นขึ้น  

 


photo : Semathai Foundation

 

การทำงานหนักอย่างต่อเนื่องนับจากจุดตั้งต้นเก็บรวบรวมข้อมูล จนถึง 10 ปี ในประเทศไทย ทั้งสัมภาษณ์ ถ่ายภาพนายหนังกับครอบครัว และเบื้องหลังการสร้างงาน ตลอดอายุการทำงานของเขาเรื่อง ‘หุ่นเงา’ ทั่วเอเซียอาคเนย์จึงใช้เวลาเดินทางกว่า 20 ปี นำมาซึ่งการเรียนรู้ อยู่ร่วม รักและผูกพันกับคณะหนังตะลุงในประเทศไทยประหนึ่งญาติมิตรร่วมสายโลหิตเดียวกัน นั่นคือเหตุที่ทำให้หนังสือ

“A Life in Shadows” หนาถึง 200 หน้า พิมพ์สี่สีด้วยกระดาษอาร์ตมันทั้งเล่ม เต็มไปด้วยภาพประกอบที่ ‘กลั่น’ อย่างบรรจงจากจำนวนมากมายมหาศาล ให้เหลือตามโจทย์ชัดเจนเพียง 168 ภาพ สำหรับข้อมูลของศิลปินและผลงานในประเทศไทย ได้รับการนำเสนอผ่านภาพถ่ายสารคดีที่บันทึกวัฒนธรรมไทยในสายประวัติศาสตร์ศิลป์ สาขา ‘หนังตะลุง’ ศิลปะการแสดงที่เก่าแก่กว่าพันปี ส่วนของเนื้อหาเป็นการประมวลงานเรียบเรียงจากข้อมูลในบทความและงานวิจัยหนังตะลุงของนักวิชาการ  และบางส่วนถ่ายทอดมุมมองผ่าน ภาพยนตร์ สารคดี ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นกระบวนการงานวิจัยโดยวิเคราะห์จากคลังเอกสารและแหล่งข้อมูลสาธารณะ ซึ่งตรงกับความตั้งใจของ Mr.Constantine Korsovitis ที่มีปณิธานประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ในอันที่จะอุทิศผลงานให้เป็นวิทยาทาน เพื่อการศึกษา ค้นคว้าอย่างมีวิสัยทัศน์ และพร้อมร่วมพัฒนาอย่างยั่งยืน

แผนนำเสนอหนังสือต่อสื่อสาธารณะเพื่อการประชาสัมพันธ์ถูกจัดในรูปแบบของการให้ความรู้ผ่านนิทรรศการถ่ายภาพศิลปะ “A Life in Shadows” สะท้อนความละเอียดอ่อน ลุ่มลึก ตกผลึกทางความคิด และคุณค่าแห่ง ‘การเชิดหนัง’ ของศิลปินแขนงนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา  และไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่นิทรรศการและหนังสือเล่มนี้มุ่งเสนอต่อสาธารณะเพื่อการสำรวจและค้นพบร่วมกัน แม้ว่าทุกประเทศในภูมิภาคนี้จะมีอัตลักษณ์เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง แต่คุณลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมในมิติด้าน ศาสนา ภาษา และชนชาติ หลายประการมีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะ ‘การเชิดหนัง’ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่คนในภูมิภาคนี้มีร่วมกัน และมาจาก ‘รากเดียวกัน’ นั่นคือการใช้ ‘มหากาพย์ฮินดู’ เรื่อง “รามายณะ” และ “มหาภารตะ” เป็นเรื่องราวต้นแบบที่แนบมากับศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ เป็นจุดรวมของความเกี่ยวพันฟั่นผสานระหว่างศิลปะการเชิดหุ่นดุนดนตรี ที่แสดงออกบอกองค์ความรู้ด้าน พิธีกรรม ศาสนา การศึกษา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ แม้ช่างฝีมือแต่ละชาติมีเทคนิคการทำงานที่แตกต่าง แต่ก็เป็นสายสัมพันธ์หนึ่งเดียวที่เกี่ยวโยงสายใยในจิตวิญญาณการเชิดหนังของแต่ละประเทศเข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออก

 


photo : Mr.Constantine Korsovitis

 

การเดินทางของ ชีวิตในแสงเงา (A LIFE IN SHADOWS)

โครงการจัดแสดง นิทรรศการภาพถ่ายหนังตะลุง ‘วัฒนธรรมทอง’ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดย Mr.Constantine Korsovitis ได้จัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกระหว่างที่หนังสือยังอยู่ในขั้นตอนการจัดพิมพ์ หลังจาก สำนักพิมพ์ RIVER BOOKS พิมพ์หนังสือเสร็จสมบูรณ์ในปี 2024 การเปิดตัวหนังสือ “A LIFE IN SHADOWS” และ นิทรรศการภาพถ่ายศิลปะหนังตะลุง ถูกออกแบบจัดขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศไทยในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยหลายองค์กรร่วมให้การสนับสนุน โดยมี มูลนิธิหุ่นสายเสมา (ผิวน้ำ เฉลิมญาติ Artistic Director) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักในการจัดงานแสดง และประสานตัวแทนศิลปินเข้าร่วมงานในวันเปิดตัวโครงการตามนโยบาย ‘ร่วมสร้าง’ (Collaboration) ซึ่งทำร่วมกันมาตั้งแต่เริ่มจัด ‘เทศกาลหุ่นโลก’ ครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2557 (Harmony World Puppet Festival 2014) และตามมาอีกหลายวาระ ด้วยตะหนักต่อพันธกิจร่วมกัน ในอันที่จะธำรงคุณค่าของงานสื่อสารมวลชนเพื่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยมี ศิลปะการแสดงหุ่น เป็นเครื่องมือหนุนกลไกในการบริหารงานวัฒนธรรมตามหลักการของ Festival Academy และขับเคลื่อนผ่าน ‘เทศกาลหุ่นโลก’

 

นิทรรศการภาพถ่ายศิลปะการแสดงหุ่นเงา
และงานแถลงข่าว : A LIFE IN SHADOWS

นิทรรศการภาพถ่ายสารคดี  A Life in Shadows โดย Mr.Constantine Korsovitis และการแสดงเปิดงานโดย คณะหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 3 - 26 สิงหาคม 2561 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน (RCAC) เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Photo Bangkok 2018 (PhotoBangkok เป็นเทศกาลภาพถ่ายนานาชาติที่ไม่หวังผลกำไร และจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี ก่อตั้งโดย ปิยทัต เหมทัต) โครงการนี้มีแผนสรุปผลด้วยการตีพิมพ์ จัดเก็บถาวรเอกสาร และการวิจัยเกี่ยวกับ ‘ละครหุ่นเงา’ ให้เป็นสาธารณะสมบัติ และจัดนิทรรศการในต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ซิดนีย์ กัวลาลัมเปอร์ และ จาการ์ตา โดยได้รับการสนับสนุนจาก กระทรวงวัฒนธรรมของไทย , Karma Images และ SemaThai Marionette  (มูลนิธิหุ่นสายเสมา)

นิทรรศการภาพถ่ายหุ่นเงา เป็นส่วนหนึ่งของ ณ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดพลับพลาไชย จังหวัดเพชรบุรี จัดโดย มูลนิธิหุ่นสายเสมา และ TCEB เป็นส่วนหนึ่งของ ‘เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง’ (Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024) รวมนายหนังตะลุงและผลงานจากทั่วประเทศ 29 คณะ 30 เรื่อง ละครหุ่นเงา หนังตะลุง จัดประชันกันเมื่อวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2567 ย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี

นิทรรศการภาพถ่ายหุ่นเงา เป็นส่วนหนึ่งของ “เทศกาลหุ่นโลก” ครั้งที่ 27 ปี 2567  (Harmony World Puppet Innovation Festival 2024) จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายหนังตะลุงเมื่อวันที่ 13-17 พฤศจิกายน 2567  ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี และแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 จัดโดย มูลนิธิหุ่นสายเสมา ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.)

เสวนาเปิดตัวหนังสือใน “A LIFE IN SHADOWS”  ในวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567 จัดโดย มูลนิธิโครงการตำราฯ ร่วมกับ ห้องสมุดประจำเมือง ‘ยับ เอี่ยน ฉ่อย’ ย่านเมืองเก่าเขตเทศบาลนครสงขลา จังหวัดสงขลา  มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ระหว่างช่างภาพกับศิลปินไทย ร่วมกับนักวิชาการและครูภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายท่าน

แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2567 ณ พระตำหนักจักรพงษ์ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ โดย สำนักพิมพ์  River Books ร่วมกับ Chakrabongse Villas และ มูลนิธิหุ่นสายเสมา มีนิทรรศการภาพถ่ายหนังตะลุงและการแสดงของ คณะหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง ร่วมกับศิลปินเยาวชนรุ่นใหม่จาก คณะหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย จังหวัดเพชรบุรี ต่อยอดมาจาก เทศกาลเพชรบุรีเมืองหนัง

และล่าสุด 5 มกราคม 2568 จัดสนทนาพูดคุยที่ร้านหนังสือ KINOKUNIYA ชั้น 3 สยามพารากอน ประเด็นความงามและคุณค่าในวัฒนธรรมการแสดง หุ่นเงา ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมวิเคราะห์ผ่านผลงานในหนังสือ “A LIFE IN SHADOWS” จัดโดยสำนักพิมพ์  River Books, Karma Images และร้านหนังสือ KINOKUNIYA

 


photo : Mr.Constantine Korsovitis

 

10 ปี แห่ง เทศกาลหุ่น (Harmony Puppet Festival)

มูลนิธิหุ่นสายเสมา เป็นหนึ่งในคลังความรู้ด้านศิลปะการแสดงหุ่นของไทย ที่  Mr.Constantine Korsovitis ให้เกียรติร่วมงานในฐานะพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านการแสดง วิชาการ และงานบริหารจัดการด้านศิลปวัฒนธรรม ด้วยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ตลอด 10 ปี ที่จัด ‘เทศกาลหุ่น’ (Harmony Puppet Festival) และ 2 ปี ที่จัด เทศกาล ‘Harmony Puppet Innovation’ ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) จากบันทึกการทำงานของ มูลนิธิหุ่นสายเสมา โดย นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร ประธานมูลนิธิหุ่นสายเสมา (Festival Directer) ได้วิเคราะห์สรุปบทเรียน จากงานบริหารจัดการแบบ ‘บูรณาการ’ (Integrated) ตามแนวทางและหลักการ ประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่าง Festival Economy กับ Festival Academy ความว่า

‘เทศกาล’ ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงการมีกิจกรรมการแสดง หรือ Product และจัดขึ้นเป็น Event รวบรวมคณะนักแสดงขึ้นมาเท่านั้น แต่พึงต้องพัฒนาด้วยการกำหนดด้วยขอบข่าย การกระจายความหลากหลาย และสร้างความหมายใหม่ในทุกครั้ง ปีนี้ “Harmony World Puppet Innovation 2024” (13-17 พฤศจิกายน 2567 ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี)   เป็นการขยับ ปรับพื้นฐานความคิดแบบ ‘วิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนวัฒนธรรม’ นำสู่ ‘นวัตกรรม’ จาก ‘การอนุรักษ์’ สู่ ‘การทดลองเชิงประจักษ์’ ด้วยการสั่งสมความรู้ที่ได้ โดยการสังเกตและค้นคว้า แล้วจัดระเบียบด้วยหลักฐานและเหตุผล

‘การเฝ้าสังเกต’ ตั้งแต่ความหลากหลายของหุ่นไทยในอดีต การจัดระเบียบหมวดหมู่หุ่นไทยใหม่ สภาพเงื่อนในการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘หุ่นไทย’ กับความเข้าใจในแบบสากลของ ‘หุ่นโลก’ ออกมาเป็นงานวิจัย ‘การเชื่อมประวัติศาสตร์หุ่นไทยและหุ่นโลก’

‘การทดลอง’ เป็นการควบคุมเพื่อดูถึงปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรง อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดอีกปรากฏการณ์หนึ่ง และปัจจัยอะไรที่ไม่ใช่ เราใช้กระบวนการนี้มาตั้งแต่การจัด เทศกาลหุ่นโลกครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2014 (Harmony World Puppet Festival 2014) เปิดรับความหลากหลายที่มีทั้งหมดจากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก 165 คณะ รวมศิลปินกว่า 500 คน ในปีนั้น เพื่อทดลองและการเปิดให้นิยามความหมายของ ‘หุ่น’ ในมิติที่กว้างขวาง เปิดกว้างมาจนถึงปีนี้มีงานท้องถิ่นกลุ่มที่สร้างหุ่นแห่แหนเชิงประเพณีก็มีปรากฏในงานนี้ด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นการค้นหาศักยภาพหุ่นไทย ในกลุ่ม Giantpuppet ที่ใช้เป็นสมมุติฐานตั้งต้นการผลิตหุ่นใหญ่สำหรับใช้ใน ‘เทศกาลไทย’ เพื่อพัฒนาต่อยอดต่อไป

 


photo : Semathai Foundation

 

‘การวัดผล’ ที่แน่นอน เป็นการวัดในเชิงปริมาณของความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่สำคัญและผลกระทบที่เกิดขึ้น เทศกาล Harmony Puppet Thailand มีการวัดตัวชี้วัดที่เป็นงานวิจัย และสรุปผลทุกครั้ง โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB - Thailand Convention & Exhibition Bureau)  ทั้งตัวชี้วัดเชิงปริมาณ อัตราผู้เข้าชม วิเคราะห์ตามกลุ่มช่วงวัย กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ ในเทศกาลเพื่อขยายผล Puppet innovation ไปจนกระทั่ง Social Impact ที่สร้างกระบวนการกับหุ่นชุมชน ผลักดันภูมิปัญญาสู่ปัญญาประดิษฐ์ และการสร้าง Knowledgement จากการจัดประชุม สัมมนา ที่สร้างผลชี้วัดของการจัดแต่ละครั้ง ครั้งนี้ มูลนิธิหุ่นสายเสมา กำลังอยู่ระหว่างประเมินผลจากการสร้าง ‘ปัญญาร่วม’ ระหว่าง ‘หุ่น’ กับ ‘หุ่นยนต์’ ( Illustration - Stop motion - Animation)

‘การสร้างกฎทางกายภาพของเทศกาลในงานออกแบบ Festival Design’ สามารถที่จะตีความความสัมพันธ์ที่ได้จากการทดลองที่แน่ชัด ให้ออกมาเป็นกฎในทางวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ อยู่ที่ความร่วมมือในการร่วมทดลองอย่างจริงจัง เทศกาลหุ่นโลกครั้งที่ 7 ในปีนี้ 2567 (Harmony World Puppet Innovation Festival 2024 ) อยู่ในกระบวนการวิจัยของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NSM - National Science Museum Thailand) ภายใต้การสนับสนุนของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เมื่อประมวลผลแล้วจะได้สูตรใหม่ของเทศกาล และหลักสูตรการจัดการความรู้เทศกาลที่บรรจุลงไปใน Festival Academy ซึ่งสามารถเพิ่มศักยภาพให้กับ ‘เทศกาล’ ในอีกระดับ

‘การศึกษา ถึงปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงหรือเชื่อมโยงกัน’ การเชื่อมโยงโครงสร้างการคิด การออกแบบพัฒนาเทศกาล ในครั้งนี้ เกิดเป็นผลงานนิทรรศการที่สร้างปรากฏการณ์เชื่อมโยงระหว่าง ประวัติศาสตร์ศิลป์ กับ อนาคตทางวิทยาศาสตร์

‘การทดสอบ การดัดแปลง และ การกลั่นกรองข้อสมมติฐาน’

การทดสอบ การดัดแปลง การกลั่นกรอง ดำเนินการด้วยการศึกษาอย่างครอบคลุม รวมทั้งการทดลองขยายผลสู่ปรากฏการณ์อื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการคาดการณ์ ใหม่ ๆ เชิงประจักษ์ งานทดลองของคณะหุ่นที่ก้าวสู่ VR Animatic การทดลองนำเสนอ เชิงเทคโนโลยี เป็นการแปลงกลไกโบราณสู่งาน coding เพื่อการขับเคลื่อนต่อไป

Harmony World Puppet Innovation Festival คืองานพัฒนาเทศกาลจาก Festival สู่อีก Platform ที่หล่อหลอม Eco System ใหม่  สู่การพิสูจน์ทราบ เพื่อการก่อรูปสมมติฐาน หรือ ทฤษฎีกายภาพ (Hypothheses  and Physical Theories) ที่จะใช้เพื่อพัฒนา เทศกาลต่อไป

 


photo : Semathai Foundation

 

“เทศกาลหุ่นโลก” ครั้งที่ 27 ปี 2567  (Harmony World Puppet Innovation Festival 2024) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 พฤศจิกายน 2567 ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) ต. คลองห้า อ. คลองหลวง จ. ปทุมธานี ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อทำข้อตกลงความร่วมมือพร้อมสนับสนุนการพัฒนา ‘นวัตกรรมหุ่น’ นำทีมดำเนินงานโดย NSM (National Science Museum Thailand หรือ อพวช. - องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม) ด้วยยึดมั่นหลักการทำงานพัฒนาแบบ Festival Academy ที่เน้นสร้างองค์ความรู้จึงมีการจัดสัมมนา 8  หัวข้อหลัก ประกอบด้วย

  • Experimental Science Puppet : การจับคู่นวัตกรรมหุ่นกับการแสดงทางวิทยาศาสตร์
  • Shadow Puppet & Stage Performance Design : การจับคู่นวัตกรรมระหว่างการจัดแสง ศิลปะจัดวาง ศิลปะหุ่นเงา และการแสดง
  • Illustration for Making Puppet & Animation : จับคู่การออกแบบภาพประกอบกับการออกแบบหุ่นเพื่อพัฒนาสู่งาน Animation
  • Puppet Art Toy & Automata Maker : จับคู่หุ่นเพื่อพัฒนาเป็นของเล่น และ Automata
  • Giant Puppet Maker : จับคู่นวัตกรรมหุ่นใหญ่กับมหาวิทยาลัย หรือแผนกวิทยาการหุ่นยนต์ และวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์
  • Lambe-Lambe Micro Puppet Theatre : การสร้างสรรค์หุ่นกล่องเพื่อพัฒนาเป็นสื่อการเรียนรู้
  • How to Make Puppets with Recycled Materials : การออกแบบสร้างสรรค์หุ่นและงานศิลปะจากวัสดุรีไซเคิล
  • Youth Puppet Community Network International : จัดสัมมนาและแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติเรื่องการใช้หุ่นเพื่อการศึกษาและสร้างการเรียนรู้ เป็นเทศกาลที่มุ่งเน้นให้ศิลปินจากหลากหลายสาขาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผลงานร่วมกัน

 


photo : Semathai Foundation

 

ใน “เทศกาลหุ่นโลก” ปีนี้ (Harmony World Puppet Innovation Festival 2024) Mr.Constantine Korsovitis ได้เข้าร่วมงานกิจกรรมการแสดง และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง ‘แนวทางการใช้หุ่นเพื่อการศึกษา’ และเป็นวิทยากรในงานสัมมนานานาชาติ ร่วมกับตัวแทนศิลปินนักแสดงละครหุ่นจากสมาชิกหลายประเทศ ที่มีปณิธานร่วมกันในประเด็นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยมีศิลปะการแสดงหุ่นเป็นเครื่องมือสื่อสารความคิด เพื่อปกป้องมนุษย์และสัตว์โลกได้มี ‘บ้าน’ ที่อบอุ่นปลอดภัย และในเทศกาลนี้ยังเน้นให้ความสำคัญกับการจัดนิทรรศการเสริมความรู้ ควบคู่ไปกับการจัดแสดงผลงานของสมาชิก 32 ประเทศที่เข้าร่วม ทั้ง workshop การประดิษฐ์หุ่น, ประกวดการออกแบบหุ่น, นิทรรศการวิวัฒนาการหุ่นนานาชาติ, นิทรรศการภาพถ่ายศิลปะหนังตะลุง และงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือประวัติหุ่นเงาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  “A LIFE IN SHADOWS” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) Mr. Constantine Korsovitis ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเบื้องหลังการทำงานยาวนาน ซึ่งเผยให้เห็นภาพบางเสี้ยวของชีวิตศิลปินนอกบริบทการแสดงและการทำงาน เป้าหมายของโครงการจึงเป็นมากกว่าการบันทึกภาพเชิงสารคดี แต่พยายามที่จะยกระดับการตระหนักรู้ในคุณค่า และความชื่นชมที่มีต่อศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมแขนงต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคนี้และทั่วโลก

“จุดประสงค์หลักในการทำงานของผม คือการทำให้ผลงานชิ้นนี้เป็นเหมือนคลังเอกสาร คลังความรู้แบบดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในเรื่องของหนังตะลุง ข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงภาพถ่ายที่ได้รวบรวมมาตลอดระยะเวลา 24 ปี จะไม่มีประโยชน์อะไรถ้าผมจะเก็บมันไว้ที่ตัว เพราะว่าทุกคนก็ต้องจากไปในวันหนึ่ง แต่ว่าสิ่งนี้จะคงอยู่ตลอดไปให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทุกคนสามารถมาเรียนรู้จากคลังเอกสารของผมได้ แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมขับเคลื่อนโครงการนี้ คือความรู้สึกที่ผมมีขณะที่เห็นการแสดงหนังตะลุงครั้งแรก เพราะสิ่งที่เห็นจากหน้าจอส่งพลังสะเทือนมาถึงภายในใจให้รู้สึกด้วย ผมพูดไทยไม่ได้สื่อสารไม่เป็น แต่สิ่งที่ผมเห็นหน้าจากจอเป็นสิ่งที่จิตใจผมรับรู้ สัมผัสได้ และมองเห็นจากหัวใจ ประเทศทางตะวันตกอาจจะได้ความรู้จากตะวันออก เช่นเดียวกันตะวันออกก็อาจจะได้เรียนรู้จากตะวันตกด้วยทุกคนต่างเป็นครูถ่ายทอดวิชาความรู้สู่กัน นั่นคือองค์ความรู้ที่ช่วยผมในการเขียนหนังสือเล่มนี้ครับ

 


photo : Semathai Foundation

 

เวลาที่เราตัดสินใจทำอะไรสักอย่างมันมักจะนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตของเรา จุดเปลี่ยนในชีวิตของผมก็คือตอนที่ตัดสินใจมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในการเดินทางครั้งนั้นแรกเลยได้วางแผนว่าจะไปเที่ยวกับเพื่อนที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อทางภาคใต้ของประเทศไทย แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจให้เพื่อนไปสมุยส่วนผมก็ตัดสินใจจิ้มแผนที่จะไปที่ไหนของภาคใต้ดี แล้วก็ไปลงเอยที่นครศรีธรรมราช หลังเช็คอินก็เดินออกจากโรงแรมไป ขณะกำลังคิดว่าจะไปไหนดี ก็ได้ยินเสียงเพลงลอยมา เลยตัดสินใจเลี้ยวซ้ายตามเสียงเพลงไป เป็นเสียงที่ตราตรึงใจมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะนั่นคือเสียงดนตรีจากการแสดงหนังตะลุงนั่นเอง โดยไม่ได้ตั้งใจแค่เพียงเสี้ยววินาทีที่ตัดสินใจ เลี้ยวซ้ายหรือขวา ชีวิตก็พาเราไปอีกทาง…

ผมมีโอกาสได้พบกับบรมครูหนังตะลุงชื่อ สุชาติ ทรัพย์สิน[2] ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง สาขาการแสดงพื้นบ้าน ปี 2549 (ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน) แล้วได้ชมการแสดงของท่านด้วย หลังจากนั้นก็ได้คุยกับคนอื่น ๆ ในคณะ ลูกชายของครูสุชาติพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก (วาที ทรัพย์สิน) เชิญให้ผมไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงที่บ้านด้วย แรกผมตั้งใจว่าจะอยู่แค่ชั่วโมงเดียว แต่ผ่านไป 4 ชั่วโมง ผมพบว่าตัวเองก็ยังนั่งอยู่ตรงนั้น ไม่แน่ใจว่าติดใจอะไร จากการสนทนากันผมถามว่า “หนังตะลุงคืออะไร” ได้คำตอบที่ทำให้ประทับใจมากว่า “หนังตะลุงคือครอบครัว คือชุมชน คือศรัทธา และความเชื่อ” ผมถามต่อว่า “คติเกี่ยวกับหนังตะลุง ส่วนไหนที่ยากที่สุด” ได้คำตอบว่า “คติในเรื่องความเชื่อ เป็นส่วนที่ยากที่สุด” ทุกครั้งที่ผมมาเมืองไทยก็จะแวะไปที่นครศรีธรรมราชทุกครั้งเพื่อพบกับครูสุชาติ ครูเป็นคนใจดีมาก ๆ ให้กำลังใจผมทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับหนังตะลุง เพราะเห็นว่าผมสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก ผมรู้สึกเสียใจกับการจากไปของครูสุชาติมาก ๆ

หลังจากนั้นไม่กี่ปีผมได้รับเชิญไปถ่าย collection หนังตะลุงของครู ผมใช้เวลาในการถ่ายนานมากรู้สึกทั้งเยอะทั้งยาก แล้วอากาศก็ร้อนมาก ๆ จนอยากกระโดดลงน้ำไปตอนนั้นเลย หลังจากนั้นผมก็ได้เรียนรู้ว่าหนังตะลุงไม่ได้มีความง่ายเลย กว่าจะออกมาเป็นผลงานแต่ละชิ้น ผมสัมผัสได้ว่าครูสุชาติยังอยู่ใกล้ ๆ คอยเป็นกำลังใจให้ ผมได้ยินเสียงพระสวดมนต์ด้วยเป็นช่วงเวลาที่แปลก แล้วก็พิเศษสำหรับผมมาก ๆ ครับ ผมมาเที่ยวประเทศไทยหลายครั้งทั้งภูเขา ทะเล น้ำตก มีครั้งหนึ่งได้เดินทางไปที่ สิงหนคร ไปพบครูณรงค์ด้วย (ณรงค์ จันทร์พุ่ม[3] ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ปี 2557) ได้ไปเที่ยวงานวัดที่ผู้คน ชุมชนมารวมตัวกันที่นั่น ดูมีความสุขมาก ผมเองก็มีความสุขมากเช่นเดียวกันเพราะรู้สึกตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน วันนั้นผมยิ้มทั้งวันเพราะเป็นฝรั่งคนเดียวแล้วทุกคนให้ความสนใจผม เข้ามาพูดคุยเข้ามาถ่ายรูป ให้อาหารรสเผ็ดกับผมเยอะมากทั้งชา กาแฟ ก็เยอะมาก เป็นการดูแลที่ดีมาก เป็นวันซึ่งให้พลังชีวิตกับผมมาก มีความหมายว่านี่คือสิ่งที่ชุมชนร่วมกันทำ เราเห็นถึงความสามัคคี เพื่ออนุรักษ์และรักษาวัฒนธรรมของเขา เป็นสิ่งที่ผมประทับใจมากครับ

 


photo : Semathai Foundation

 

ช่วงเวลามากกว่า 20 ปี ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานของคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม สิ่งที่ยากลำบากเป็นอันดับหนึ่งสำหรับผมคือ ภาษา และอีกด้านคือการเคารพซึ่งกันและกัน เพราะการที่เราจะแสดงเคารพ ความที่เป็นคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม วิธีการแสดงออกก็จะแตกต่างกัน ผมมีจิตวิทยาในเวลาที่ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ ไปถ่ายรูป สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ ตามองตาจ้องไว้อย่าให้หลุด (Eye Contact) ต้องใจเย็นมาก ๆ ยิ้มอยู่ตลอดเวลา พยายามหาผู้ช่วยแล้วก็เรียนภาษาพื้นเมืองไปด้วยได้รู้เป็นบางคำ ผมให้เพื่อน ๆ มาคอยดูแลช่วยแปลภาษาให้ด้วย จนกลั่นกรองออกมาเป็นผลงานในเล่มนี้ครับ ผมว่าคนไทยใจดี หลายคนที่มาทำงานแบบนี้ พอได้ข้อมูลงานที่ตัวเองต้องการแล้วก็หายไป แต่ผมอยากแสดงความจริงใจให้กับคนไทยได้เห็นมากกว่านั้น แล้วไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่รวมถึงนายหนังในทุกประเทศที่ผมไปขอข้อมูลมาทำงานด้วย ผมไปหลายครั้ง ไปเหมือนเป็นเพื่อน เป็นสมาชิกของครอบครัว ไม่ใช่เจอหน้ากันครั้งเดียวแล้วจบ  Keep in touch อยู่ตลอดครับ มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดแม้ว่าภาษาจะเป็นกำแพงกั้น แต่ก็จะมีการส่งสาร มีการฝากความคิดถึง แวะดื่มกาแฟกันหน่อย

สิ่งที่ดึงดูด ทำได้ยากมาก และท้าทายผมมากที่สุดในการถ่ายทอดภาพหนังตะลุง ไม่ใช่การแสดงที่สวยงามซึ่งเราเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่คือความเชื่อ ความศรัทธา เพราะการถ่ายภาพผ่านเลนส์กล้อง ผมไม่รู้จะจับภาพอารมณ์ความรู้สึกที่มาจากความเชื่อความศรัทธาออกมาได้ยังไง ผมลงทุนเปลี่ยนกล้องก็แล้ว เปลี่ยนเลนส์ก็แล้ว ก็ไม่รู้จะถ่ายทอดออกมายังไง เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ ท้าทายมาก ผมต้องถ่ายทอดจุดนี้ออกมาให้ได้เพราะเป็นจุดที่สำคัญที่สุด ผมรู้สึกเครียดมากจนต้องควบคุมตัวเองด้วยการเพาะวินัย เพื่อเปลี่ยนตัวตนจากภายใน เริ่มด้วยการหันมาเล่นโยคะ ทานมังสวิรัติ ไม่ดื่มน้ำเมา รวมไปถึงการนั่งสมาธิด้วย เป็นการฝึกปฏิบัติให้ตัวเองมีภาวะสงบจากข้างใน เพื่อจะได้เห็นถึงความเชื่อ ความศรัทธา ที่หวังว่าอาจจะเกิดขึ้น ในที่สุดผมก็ค้นพบว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงจากภายในเป็นสิ่งที่ทำให้ผม ‘สามารถเข้าถึง’ และ ‘สามารถถ่ายทอด’ ความเชื่อ ความศัทธา ของศิลปินที่มีต่อหนังตะลุงออกมาได้จากการถ่ายภาพครับ

 


photo : Mr.Constantine Korsovitis

 

ผมยินดีมากที่มีโอกาสได้ทำงานแบบนี้ เพราะได้เพิ่มพูนความรู้เรื่อง ‘หุ่นเงา’ ให้กับตัวเองมาก ๆ ผมให้เวลากับการทำงานเรื่องนี้มานานมาก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทำให้ผมต้องปรับตัวมาก ๆ เมื่อต้องเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของโลกที่มีอายุนับพันกว่าปี หลังเปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน ผมได้เห็นผลลัพธ์จากผลงานภาพถ่ายชัดมาก พอผมกลับไปใช้กล้องตัวเดิม เลนส์ตัวเดิมที่เคยใช้ ไม่ต้องเปลี่ยนกล้อง เปลี่ยนเลนส์ แต่เปลี่ยนมุมมองจากภายใน ปรับทัศนคติของตัวเอง ถึงทำให้สามารถถ่ายภาพที่เห็นในหนังสือออกมาได้ แล้วเห็นถึงความเชื่อ ความศรัทธา และ spirit ของครูหนังในภาพครับ ผมได้ใช้เวลาทั้งหมดถึง 24 ปี  ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ส่วน ของชีวิตสำหรับการรวบรวมภาพถ่ายหนังตะลุงใน Southeast Asia เหล่านี้

มีคำถามเกิดกับผมมากมายเหมือนกันว่าทำไมต้องใช้เวลานานขนาดนั้น บางทีผมก็ตอบติดตลกว่าอาจเป็นเพราะผมขี้เกียจ ทำบ้างหยุดบ้าง แต่ความจริงไม่ใช่เลยครับ สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อคือ ต้องการเรียนรู้ทุกส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นศิลปะแขนงนี้  และต้องการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนการสร้างงานของหนังตะลุง ไม่ใช่แค่ไปดูแล้วถ่ายภาพการแสดงออกมา ซึ่งจะไม่เห็นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของงาน ระหว่างทาง จนถึงเป็นผลงานที่รังสรรค์ออกมาให้เห็นเป็นรวมเล่ม ว่ามีการเชื่อมโยงกันยังไงบ้าง ผมจึงให้ความสำคัญกับสมาชิกในครอบครัวด้วย เพราะพวกเขาคือส่วนที่มีความสำคัญต่องานมาก ในการถ่ายภาพผมจะไปดูว่าศิลปินคนสร้างงานใช้ชีวิต ยังไงถ่ายภาพกับสามาชิกในครอบครัวของนายหนังด้วย เพื่อให้เห็นถึงสายใยสายสัมพันธ์ที่มีต่อกันของแต่ละครอบครัวศิลปินหุ่นเงา

ในความฝัน…ครั้งหนึ่งผมนั่งอยู่ที่โรงแรมรู้สึกร้อนมากและเหนื่อยมากกับการทุ่มเททุกอย่าง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหนังตะลุง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของค่าใช้จ่าย เวลา การเดินทาง สุขภาพ ทุกอย่างที่ทุ่มลงไปกับตรงนี้ ผมถามตัวเองว่าทำไปแล้วคุ้มค่าหรือเปล่าแล้วผมได้อะไร ในความฝันผมเห็นเป็นนายหนังที่อินโดนีเซียกำลังทำการแสดงอยู่ หันหลังมาพูดกับผมเป็นภาษาอังกฤษว่า “อย่ายอมแพ้ อย่าเพิ่งล้มเลิกความตั้งใจ ทำไปก่อน ทุกอย่างที่คุณกำลังมองหา ทุกอย่างที่คุณต้องการมันอยู่ตรงนี้หมดแล้ว” ผมตื่นขึ้นมาเหงื่อท่วมตัวไปหมดเลย ผมตัดสินใจว่าจะยังทำงานนี้ต่อไป และผมได้คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่คนรุ่นใหม่จะได้ฝึกและยอมรับในศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้ ผมชอบมาก ดีใจมากเมื่อได้เห็นเยาวชนที่ผ่านการฝึกอย่างหนักมาก มาจากวัดพลับพลาไชย วัดบ้านดอนได้มาเปิดการแสดงที่นี่เพื่อเผยแพร่ให้หนังตะลุงได้มีชีวิต และได้รับการสืบทอดต่อไปไม่สิ้นสุด ขอบพระคุณพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ MSN กับ Harmony World Innovation Festival Puppet 2024 และ สำหรับแรงสนับสนุนจากทุกองค์กรที่มีให้กับผมตลอดมา ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานวันนี้ขอให้เป็นช่วงเวลาที่ดีร่วมกันครับ”

 


photo : Semathai Foundation

 

จากชายชาวต่างชาติคนหนึ่งซึ่งเดินทางไปทั่วเอเชีย เมื่อเขาได้พาตัวเองเข้ามาสัมผัสกับจิตวิญญาณแห่งความเป็นไทย ตัดสินใจกินมังสวิรัติ ตัดสินใจใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พลังของศิลปวัฒนธรรมได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของเขาให้เปลี่ยนไป ไม่ต่างจากเด็กคนหนึ่งซึ่งได้มาอยู่กับหนังใหญ่ เรียนรู้ ต่อสู้ จนเติบโตมีวันนี้ วันที่เปิดแถลงข่าวหนังสือ คือผลงานความพากเพียร ทางพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ NSM ได้เลือกสถานที่จัดงานให้อยู่ ณ ตำแหน่งที่เหมาะสมอุดมความหมาย คือจุดจัดนิทรรศการ ‘Journey Through The Lens’ บริเวณด้านหน้า Resource Center ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรเพื่อการศึกษาค้นคว้า สำหรับองค์ความรู้ที่ทำงานมากว่า 20 ปี ได้มีส่งมอบให้กับที่นี่ด้วย ศิลปะทุกแขนงช่วยส่องทางต่อกัน

เพราะ Mr. Constantine Korsovitis ได้เห็นได้รับรู้แล้วว่าสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยคือ ธรรมเนียมการให้เกียรติผู้รู้ หรือคนที่ให้ความรู้ เพราะฉะนั้นคนที่ไฝ่รู้ควรได้รับความรู้อย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน เขามีความฝันปรารถนาให้รัฐสถาปนาสถาบัน หรือพิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์สำหรับหนังตะลุงเหมือนในประเทศมาเลเซีย (Kuala Lumpur City Art Gallery[4]) เพื่อจะได้เป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ให้กับคนทั่วโลกได้รู้จัก และตระหนักถึงศักยภาพของศิลปะแบบประเพณี ได้มีที่ให้ศึกษาค้นคว้าการแสดงแขนงนี้ เพราะเป็นงานวิจิตรศิลป์ที่รวมศาสตร์หลายแขนงทั้งศิลปะการแสดง นาฏศิลป์ ดนตรี ขับร้อง ฯลฯ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาก และ ‘มรดกโลก’ ควรได้รับการโอบอุ้มโดยองค์กรของรัฐ (อย่างเต็มระบบ) แม้จะไม่ถูกจัดให้เป็น Soft Power ในนิยามตามความเหมาะสมของแนวคิด ‘เศรษฐกิจกระแสหลัก’ ของนักบริหารหลักการทุนนิยมก็ตาม.

 


photo : Mr.Constantine Korsovitis

 

หนังสือใหม่ “A LIFE IN SHADOWS”

“A LIFE IN SHADOWS” ราคาเต็ม 1,200 บาท ช่วงเปิดตัวหนังสือใหม่ลดราคาเหลือเล่มละ 1,000  บาท จัดส่งฟรี EMS

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพิมพ์ RIVER BOOKS

Line :  https://lin.ee/3n78Zmve Web. : https://www.riverbooksbk.com/

 


photo : River Books

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลข่าว โดย มูลนิธิหุ่นสายเสมา
สำนักพิมพ์ River Books  และ Mr.Constantine Korsovitis

 


[1] วายังกูเละ, article.culture.go.th , สืบค้น 5 ธันวาคม 2567 http://article.culture.go.th/index.php/layouts-modules-positions/3-column-layout-2/180-2019-12-06-08-50-03

[2] นายสุชาติ ทรัพย์สิน, สืบค้น 20 ตุลาคม 2567,     https://www.culture.go.th/cul_fund/download/open/suchat/suchat1.pdf

[3] “อาจารย์ณรงค์ตะลุงบัณฑิต”,  MGR Online , สืบค้น 20 ตุลาคม 2567,  https://mgronline.com/south/detail/9580000007171

[4] klcityartgallery, Malaysia, สืบค้น 1 ธันวาคม 2567,  https://klcityartgallery.com/