ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024

19
พฤษภาคม
2567

Focus

  • “เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2567 ใน 3 ย่านศิลป์ของชุมชนเมืองเก่าเพชรบุรี (Old Town), พระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) และจุดชมวิวหาดชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้เป็น Festival Economy ที่เป็นกลไกสำคัญได้ทำหน้าที่อนุรักษ์และบูรณาการร่วมให้มรดกทางวัฒนธรรมคงอยู่อย่างยั่งยืนโดยผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการแสดงหุ่นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างการรับรู้ในระดับนานาชาติเป็นประการสำคัญ
  • Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024 เป็นรูปแบบการจัดงานแบบต่อเนื่องในระยะยาวประมาณ 3 ปี เป็น Model Sandbox ของจังหวัดเพชรบุรีในเรื่อง Festival Economy ที่ตอบสนองนโยบายภาครัฐซึ่งมีระยะพัฒนางาน 3 ปี ได้แก่ ปีที่ 1 หาข้อมูล จัดการเนื้อหา บริหารทรัพยากร ปีที่ 2 สร้างเครือข่าย ขยาย Showcase และปีที่ 3 สนับสนุนพันธมิตรในการทำกิจกรรมร่วมกัน
  • หัวข้อหลักของการจัดงานระหว่างวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2567 ได้แก่ 3 วัน ใน เมืองงาม 3 วัง ชม 30 เรื่องหนังตะลุง Festival Design : Creative Content, สัมมนา “หุ่นไทยในมหรสพเทศกาล รัชกาลที่ 5” Puppet International Festival  และ“มหาเภตรา มหากำเนิด เกิดเมืองเพชร” (Journal du Voyage de Siam) ซึ่งเป็นการแสดงสำคัญในวันรวมพลคนสร้างหุ่นโดยสร้างจากตำนานการเกิดเมืองเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงที่ผู้คนเสี่ยงภัยมาในเรือสำเภาลำเดียวกันเดินทางผ่านมหาสมุทรก่อนจะแยกย้ายกระจายกันไปตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองเพชรบุรีและเมืองใกล้เคียงในปัจจุบัน

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

เพชรบุรี เมืองด่านสำคัญที่คั่นอยู่ระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ เป็นเพชรน้ำหนึ่งแห่งภาคตะวันตกริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่เป็นทั้งสายน้ำและสายธารแห่งวัฒนธรรมที่ไหลรวมหล่อหลอมให้เมืองเพชรมีจุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ในรูปพหุวัฒนธรรม นอกจากจะเป็น ‘เมืองช่างฝีมือ’ หลายแขนงแล้ว ศิลปะหลากสาขากำลังถูกพัฒนาให้เป็นโครงการใหญ่และอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนเพื่อให้เกิด legacy ตามแนวทางการสร้าง Festival Economy ที่ประกอบไปด้วยรัตนแห่งศิลปะ 4 สาขา  ฉายฉานตระการตาทั้งหนังตะลุง หนังใหญ่ หนังสือ และหนังกลางแปลง (ภาพยนตร์ ที่มีต้นธารมาจากหนังสือ) ล้วนคือ ‘ต้นทุน’ หนุนให้เกิดการออกแบบเมืองเก่าริมแม่น้ำแห่งนี้ให้เป็น “ชุมชนเมืองหนัง” บนแผนผังที่แต่ละจุดสามารถเดินถึงกันได้อย่างสะดวกสบาย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่กำลังเป็น Sandbox Model ที่น่าจับตามอง ภายใต้แผนพัฒนาระยะยาวผ่านกลไกการจัดงาน Festival Economy ตามแนวยุทธศาสตร์ส่งเสริมงาน ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy) ของรัฐบาล โดยมีจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับ มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม จากการสนับสนุนของ สสปน. สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ(องค์กรมหาชน) หรือThailand Convention & Exhibition Bureau (Public Organization) : TCEB ร่วมสร้างสรรค์งานเทศกาล

การเกิดขึ้นของ ‘เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง’ Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024 เมื่อวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาบน 3 ย่านศิลป์ของถิ่นชุมชนเมืองเก่าเพชรบุรี (Old Town), พระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) และจุดชมวิวหาดชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้ Festival Economy ที่เป็นกลไกสำคัญได้ทำหน้าที่อนุรักษ์และบูรณาการร่วมให้มรดกทางวัฒนธรรมคงอยู่ตลอดไป ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการแสดงหุ่นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างการรับรู้ในระดับนานาชาติ และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียง 3 วัน 3 พื้นที่กับการเสวนา สัมนา การแสดงหนังตะลุง หนังใหญ่ และหุ่นนานาชาติ 6 ประเทศ จีน-มาเก๊า, จีน-ฮ่องกง, โคลอมเบีย, อินเดีย, อินโดนีเซีย และไทย ความสำเร็จจากการรวมพลังระหว่างรัฐกับชุมชนครั้งนี้จะได้รับการปักหมุดต่อยอดสู่การสร้างเครือข่ายภายใต้ Flagship Event ในระดับ International ต่อไป

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 

TCEB  กำลังเดินหน้าสู่ปีที่ 5 ของการพัฒนา Festival Economy เพื่อสร้าง ‘เมืองเทศกาล’ จากต้นธารวัฒนธรรมทองของพื้นถิ่นเพชรบุรี เป็นปีที่ 2 โดยมีประธานมูลนิธิหุ่นสายเสมา นิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง เป็น Festival Director ออกแบบและบริหารจัดการงานเทศกาลครั้งนี้  นิมิตรบอกเล่าถึงที่มาของการก่อตั้ง “มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม” ว่าเริ่มจากความรักที่มีต่อศิลปะการแสดงกับแรงกระทบที่พบเห็นสิ่งสูงค่าแต่ถูกด้อยค่า เมื่อครั้งหนึ่งเขาไปร่วมงานอลังการ ได้พบกับศิลปินแห่งชาติแต่ต้องเปิดการแสดงอยู่ที่ลานจอดรถในมุมอับใกล้กับห้องสุขา ไม่มีใครดู ถามครูว่าทำไมมาลงตรงนี้ ก็ได้คำตอบที่ทำให้สะเทือนใจน้ำตารื้นทุกครั้งที่เล่าว่า “ตรงโน้นเขาให้คอนเสิร์ตเล่น ศิลปะไทยให้อยู่ตรงนี้” เป็นขณะที่มีความคิดสวนทางทันที … “เรามีวัฒนธรรมใหม่คือคอนเสิร์ตไม่ว่ากัน แต่วัฒนธรรมที่มีอยู่ ต้องอยู่ตรงจุดที่ทุกคนต้องเห็น”

จากนั้นมาทำให้นิมิตรตั้งปณิธานต่อการทำงานเชิดชูคุณค่าภูมิปัญญา เพื่อนำศิลปวัฒนธรรมไทยในระดับท้องถิ่นสู่สากล โดยเริ่มจาก Save Zone ของครอบครัวที่ บ้านมันตา โลกใบเล็กของเด็กน้อย เมื่อ 10 เมษายน 2547 แล้วเติบไต่ออกไปเผชิญโลก วาระนี้ครบรอบ 20 ปีเต็ม ที่เติบโตพร้อมสืบสร้าง สร้างสรรค์ และส่งเสริม งานมรดกแผ่นดิน (การจัดงานเทศกาลหุ่นครั้งนี้จึงมีหนังตะลุงประชันกันให้ชมถึง 3 วัน 30 เรื่อง กลางเมืองเพชรบุรี เวทีทองของศิลปะทุกแขนง)

เมื่อปี พ.ศ 2552 คณะหุ่นสายเสมา (SEMA THAI MARIONETTE) ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยให้เข้าร่วมงาน “เทศกาลหุ่นโลก ครั้งที่ 13” (13 th. World Festival of Puppet Art Prague 2009) ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเชก (เป็น 1 ใน 29 คณะหุ่น ที่ได้รับการคัดเลือกจาก 400 คณะทั่วโลก) รับเชิญไปร่วมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และได้รับรางวัลสำคัญสูงสุด “The Best Traditional Original Performance” ด้วยแนวทางการทำงานศิลปะพื่อสังคมตลอดมา คณะหุ่นสายเสมา ได้รับรางวัล Social Enterprise จาก สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) และได้รับเอกสิทธิ์ในการจัดงานเทศกาลหุ่นโลก จึงเป็นที่มาของ “เทศกาลหุ่นโลกกรุงเทพ” (HARMONY WORLD PUPPET CARNIVAL IN BANGKOK, THAILAND 2014) ครั้งแรกในประเทศไทยที่มีหุ่น 165 คณะ จาก 80 ประเทศ เข้าร่วมงานเมื่อปี 2557 จัดแสดงครอบคลุมพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ใจกลางกรุงเทพมหานครฯ

จากความสำเร็จครั้งนั้นทีม เทศกาลหุ่นโลก (Harmony Puppet Thailand) จึงเป็นตัวแทนประเทศไทยในสถานะทูตวัฒนธรรม จัดงานมหกรรมหุ่นนานาชาติขึ้นในหลายพื้นที่ อาทิ เทศกาลหุ่นโลก จ.กาญจนบุรี ปี 2560 (Thailand Harmony World Puppet Festival 2017), เทศกาลหุ่นอยุธยานานาชาติ (Ayutthaya Harmony Puppet Network) ในปี 2018 มุ่งนำเสนอแหล่งกำเนิดของศิลปะหุ่นไทยทุกกลุ่ม , “เทศกาลหุ่นเงาโลก เพชรบุรี เมืองหนัง” เมื่อปี 2565 (Phetchaburi World Harmony Shadow puppet festival 2022), โครงการพัฒนาศิลปะหุ่นร่วมสมัย “Puppet Innovation” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะ ณ จ.นครราชสีมา ในปี 2566 และล่าสุด “เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024 จากการดำเนินงานโดยมูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม และจังหวัดเพชรบุรี (ชุมชนเมืองเก่า) ภายใต้การสนับสนุนของ สสปน. สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ภาคกลาง)

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 

ในงานแถลงข่าวการจัดงานเมื่อ วันที่ 23 เมษายน 2567 ดร.สุรัชสานุ์ ทองมี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคกลาง TCEB กล่าวถึงบทบาทและความคาดหวังในการจัดงานครั้งนี้จากนโยบาย Festival Economy ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้าน Soft Power ที่จะมาขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ สังคม ด้วย

“TCEB เราขับเคลื่อน Festival Economy Model มา 5 ปี แล้ว ลักษณะคือการค้นหาอัตลักษณ์วัฒนธรรมถิ่นที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมจริงๆ ของพื้นที่ และนำมาดำเนินงานจัดการเกี่ยวข้องกับเรื่องของการสร้าง content นั่นแปลว่าทุนวัฒนธรรมของพื้นที่ที่ถูกสร้าง content แล้ว จะถูกถ่ายทอดออกมาเป็น event ย่อยๆ ภายใต้ Umbrella ที่เราเรียกกันว่า “Festival” เพราะ TCEB  เชื่อว่าแต่ละชุมชนแต่ละพื้นที่ หรือแต่ละ destination มีทุนทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่สามารถหลอมรวมเข้ามาอยู่ด้วยกันภายใต้คำว่า  Festival และมี event ย่อย ๆ ภายใต้  Festival ใหญ่ นั่นแปลว่าเสน่ห์ของแต่ละ event ที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ คือต้นทุนที่สำคัญโดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรีมีทุนทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน เข้มแข็ง ที่สำคัญไม่มีใครเลยที่เหมือนเรา นั่นหมายถึงการสร้างสรรค์ content หรือเนื้อหา ที่ทางเทคนิคเรียกว่า Festival Design จึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับ  Festival Economy Model

ในส่วนของงาน Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024 แน่นอนเราไม่ได้ทำแค่ event ย่อยๆ มารวมกันเป็น Festival ใหญ่ เป้าหมายของ TCEB และความคาดหวังต่อจากนี้ที่เราจะอยู่กันยาวๆ ถึง 3 ปี เป็น Model Sandbox ของเพชรบุรีในเรื่อง Festival ที่ตอบสนองนโยบายภาครัฐ

 นโยบายของ Festival Economy มีระยะพัฒนางาน 3 ปี

  • ปีแรกหาข้อมูล จัดการเนื้อหา บริหารทรัพยากร
  • ปีที่สองสร้างเครือข่าย ขยาย Showcase
  • ปีที่สามสนับสนุนพันธมิตรในการทำกิจกรรมร่วมกัน

คือการทำให้ Festival นอกจากจะรู้แล้วว่า เนื้อหาหลัก ที่ใครก็เอาไปไม่ได้คืออะไร

สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือ การจัดเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในประเทศ โดยปีนี้เราจะสร้างเนื้อหาของจังหวัดเพชรบุรีให้เข้มแข็ง ชัดเจน และปักหมุดก่อน ว่าเราจะเป็น ‘เมืองหนัง’ แห่งเดียวของประเทศไทย นั่นแปลว่าปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 2 ที่ TCEB เข้ามาดำเนินการเนื้อหาเพชรบุรีชัดปีหน้าเชื่อมโยงแน่นอนค่ะ ในประเทศที่อยู่ใน Umbrella เดียวกัน เป็นเรื่องของหนังเหมือนกัน เชื้อเชิญคนจากทุกจังหวัดเข้ามาในเมืองเพชรบุรี หนึ่งปีต่อหนึ่งครั้ง นึกถึงใครไม่ได้ นึกถึงหนังทุกประเภทมาที่เพชรบุรีเท่านั้น นี่คืออยู่ใน model ของการสร้าง festival

ปีที่ 3 เราคาดหวังการเชื่อมโยง International นี่เป็นจุดแข็งของ TCEB นั่นแปลว่าถ้าเราสร้างตัวตนเราชัดเจน เนื้อหาเราชัดเจน เชื่อมโยงเครือข่ายในประเทศชัดเจน เราพร้อมแล้วที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับ International  การออกแบบเชื่อมโยงปีนี้เริ่มที่จะเชื่อม International ไปแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความคาดหวังอีก 3 ปี หมุดที่เราปักวันนี้เชื่อมโยงในประเทศ และต้องไปสู่ International แน่นอน เมื่อเอ่ยถึงเมืองเพชรบุรีเราจะทำ Brand อีกหนึ่ง Brand ที่เกี่ยวข้องกับเพชรบุรี นึกถึง ‘หนัง’ นึกถึง “World Puppet” ที่เอเชีย ต้องมาที่เพชรบุรี นี่คือลักษณะ การขับเคลื่อนในรูปแบบ Sandbox Model ภายใต้โครงการที่เราเรียกว่า Flagship Event ซึ่งหนึ่งจังหวัดเมืองเป้าหมาย จะมีการทำ Sandbox นี้แค่ 1 งาน เท่านั้นมันจะถูก Invitation นี่ไม่ใช่ที่แรกนะคะ มีประสบความสำเร็จมาแล้วที่หนึ่ง ที่อื่นจะใช้วิธีการทำในรูปแบบต่างกันไป พอชุมชนในเพชรบุรีเข้มแข็งมากนั่นหมายถึงการปักหมุดครั้งนี้มั่นใจว่าจะยั่งยืนในระยะยาวค่ะ”

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

นิมิตร พิพิธกุล Festival Director  “โดยหลักการของ TCEB ต้องการให้เกิดการประชุมและจัดการนิทรรศการครั้งแรกเมื่อ ปี 2565 ใน “เทศกาลหุ่นเงาโลก เพชรบุรี เมืองหนัง” (Phetchaburi World Harmony Shadow Puppet Festival 2022) เราจึงมีการจัดสัมนานานาชาติ มีการถ่ายทอดสดไปต่างประเทศด้วย ทำให้คณะหุ่นของเราได้รับการรับรองจาก UNIMA หรือ สมาพันธ์หุ่นนานาชาติ ให้ครั้งนั้นเป็นประวัติศาสตร์หุ่นเงา หรือหนังเงาของประเทศไทยและของโลก นอกจากนั้นยังมีการจัดนิทรรศการของคณะหุ่นต่างๆ อย่างหลากหลายมากมาย ทำให้การจัดงานครั้งนั้นได้รับการต่อยอดเป็น “หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย” จนถึงปัจจุบัน ในปีนี้หัวใจสำคัญคือ เมื่อเรามีเนื้อหาของเราเพียบพร้อม มีคณะหุ่นประกาศตัวเรียบร้อยก็ถึงเวลาที่เรามาสนุกกันแล้วล่ะ มาทำเทศกาลในชุมชนสร้างการท่องเที่ยว สร้างการรับรู้ และทำให้หนังตะลุง หนังใหญ่ รวมถึงศิลปะต่าง ๆ ของเมืองเพชรโด่งดัง ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ไกลไปถึงระดับสากลด้วย

ครั้งแรกเราจัดแสดงในอุทยาน ร. 4  เหมือนการได้แสดงมหรสพหลวงในพื้นที่นับเป็นศิริมงคล แต่ครั้งนี้จะเป็นการลงไปในพื้นที่สำคัญ เช่น พระราชวังบ้านปืน เนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับหนังใหญ่โดยตรง มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับมหรสพหลวงโดยตรง และหาดชะอำ เพื่อต้องการสื่อสารว่า ศิลปะนั้นจะต้องไปอยู่ในศูนย์กลางการท่องเที่ยวด้วย จึงเรียกว่า 3 วัน 3 รส วันแรกรสเปรี้ยวลงชุมชน รสที่ 2 หวานที่พระราชวัง วันที่ 3 รสเค็มลงท้องทะเลกันเลย เน้นให้ผู้คนสนุกร่วมกัน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตามแนวทางของ Festival Economy ครับ

70-80 เปอร์เซ็นต์เป็นหุ่นเงาเพชรบุรี (หนังตะลุง) เป็นพระเอกของงาน

เวลาพูดถึงศิลปะหุ่นเราจะนึกถึงหุ่นที่เราเคยเห็นเคยรู้จัก ครั้งนี้อยากให้คนเมืองเพชรฯ บอกเลยว่านี่คือหุ่นบ้านเรา นี่คือหนังตะลุง หนังใหญ่ของฉัน นี่คือจุดสำคัญ เพราะในวันข้างหน้าเราจะทำให้เพชรบุรีเป็น ‘เมืองหนัง’ จริง ๆ ครับ เรามีการเชิญคณะนายหนังจากทางใต้ไว้เรียบร้อยแล้ว ทางสงขลาก็อยากมาร่วมปีนี้ แต่บอกขอไว้ก่อนพ่อ เพราะอยากให้บ้านเราได้ทำงานร่วมกัน ให้คนเพชรบุรีจัดเป็นงานของเรา แล้วก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์เต็มที่ก่อน เพราะว่าถ้าหนังตะลุงมาจากภาคใต้ซึ่งมีอยู่กว่า 500 คณะ คนมาเที่ยวจะกระตุ้นเศรษฐกิจกันสนุกขนาดไหน จึงขอให้ปีนี้เราได้สำแดงฝีมือให้คนรู้จักก่อน เพื่อจะได้เป็นผู้เชิญหรือดึงดูดคณะหุ่น การท่องเที่ยว ผู้ที่อยากจะมาเยือนเมืองนี้ให้มางานนี้ ไม่ใช่แค่หนังตะลุง หนังใหญ่อย่างเดียว แต่มีหนังกลางแปลง หนังสือด้วย เรื่องของตลาด อาหาร ซื้อหา ร้านค้า ทุกอย่างมาหมดในเทศกาลครั้งนี้ครับ

การทำงานครั้งนี้มีการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองเพชร มีการหยิบตำนานของมหาเภตรา หรือว่าเรือสำเภาซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “บ้านน้ำทิพย์” ของเมืองเพชรบุรี นำมาเป็นชื่อการแสดง Highlight ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ณ พระรามราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นพระราชวังในสมัยรัชกาลที่ 5 อายุร้อยกว่าปีแล้ว หัวใจสำคัญของการสร้างศิลปะคือเราจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘การสร้างงานร่วมกัน’ ซึ่งจะทำให้เกิดงานชิ้นใหม่ๆ เพื่อให้พี่ๆ น้องๆ ของเรากล้าที่จะเป็นผู้สร้างสรรค์ด้วย ครั้งนี้จึงเป็นการดึงศิลปินหลากหลายจากข้างนอกมาช่วยในการออกแบบการแสดงของเรา และเราก็ดึงเอาศิลปินในเพชรบุรีมาร่วมออกแบบการแสดงครั้งนี้ด้วย โอกาสต่อไปจะเข้ามาถึงเรื่องการสื่อสารในการจัดงาน เรามีผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้ข้อมูลตรงนี้ด้วยครับ”

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 

3 วัน ใน เมืองงาม 3 วัง ชม 30 เรื่อง หนังตะลุง
Festival Design : Creative Content

 

การออกแบบงานเทศกาลในหลักการของ Festival Economy ที่เน้นงานสร้างองค์ความรู้สู่การเสริมฐานเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนรอบด้าน ประกอบด้วยรายการที่ล้วนน่าสนใจในกิจกรรมแต่ละวันของแต่ละจุดที่จัดแบบดาวกระจาย มากมายและหลากหลายจนพลิกกายแทบไม่ทัน ล้วนสร้างสรรค์ดีงามบนความเป็นเลิศ 3 รส ; เปรี้ยว = ชื่นชมชุมชน / หวาน = รื่นรมย์วังหลวง / เค็ม = รื่นเริงริมเล ทุกวันได้ ชื่นชมวิถีชุมชนริมน้ำ ย่ำถนนคลองกระแชง เลาะเลียบริมแม่น้ำเพชร , เพลินกับการแสดงหุ่นโชว์ใกล้ชิดผู้ชมที่ “Petchaburi Street Art” สนุกกับการบอกเล่าเรื่องราวบนถนนสายภาพเขียนตลอดแนวชุมชนตลาดริมน้ำ , สนานชมมหรสพ หนังตะลุง 30 เรื่อง , ชมนิทรรศการหนังใหญ่ , ชมนิทรรศการภาพถ่าย , ร่วมเสวนาและสัมนากึ่งวิชาการ คือหนึ่งในหัวใจของความเป็น “เทศกาล” งานสืบสร้าง ศิลปะ วัฒนธรรม ตลอด 3 วัน สุขสันต์และคุ้มค่า

 

วันที่ 3-5 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00-21.00 น. ณ ถนนคลองกระแชงชุมชนย่านเมืองเก่า  เพชรบุรี

  • ชุมชนย่านเมืองเก่าเพชรบุรี  Phetchaburi Old Town สัมผัสวิถีชุมชนตลาดริมนํ้า ย่ำถนนคลองกระแชง เลาะเลียบริมแม่น้ำเพ็ชร
  • ชมมหรสพพบกับ หนังตะลุง 29 ศิลปินนายหนังเพชรบุรี (แสดงวันละ 10 คณะ)
  • เที่ยวย่านชมเมืองไปกับ Street Art ชมของดี ชิมของเด็ดเฉพาะถิ่น
  • การแสดงวัฒนธรรม ดนตรีสีสันร่วมสมัย วงสตริง ประชัน Chamber , การแสดงหุ่นนานาชาติ 6 ประเทศ
  • ตื่นตา ศิลปะตกแต่ง แสง เงา และงานแสดงกวีจากภาพถ่าย โปสการ์ด  Art Exhibition , Workshop (“สมบัติแม่น้ำเพชรบุรี) Art & Craft ศิลปะตกแต่ง แสง เงา ฯลฯ
  • ฉายหนังกลางแปลงเรื่อง “ครูแก” ตำนานหนังตะลุงเมืองเพชรบุรี
  • รวมพลคนรักหนังเก่าและเรื่องเล่า มิตร ชัยบัญชา ที่บ้านแกลเลอรีของลุงเล็ก (พิพิธภัณฑ์ มิตร ชัยบัญชา) สมทบกับ มนัส กิ่งจันทร์ จากเพจดัง “ชุมทางหนังไทยในอดีต” จัดฉายหนังจอเล็กร่วมเล่าเกร็ดหนังฟังเพลิน
  • ชมพิพิธภัณฑ์ หุ่นเงาเพชรบุรี และนิทรรศการภาพถ่าย “A Life in Shadows”
  • การแสดงหุ่น นานาชาติ จาก 6 ประเทศ ฮ่องกง มาเก๊า  โคลัมเบีย  อินเดีย  ไทย
  • สัมนาจากหนังสือ มนัส จรรยงค์ เรื่อง “ครูแกหนังตะลุง” สู่การจัดฉายหนังฟื้นตำนาน “เพชรบุรี เมืองหนังกลางแปลง” ริมแม่น้ำเพ็ชร (มีเสวนาเฉพาะวันที่ 3 )

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 เวลา 14.00-20.00 น. ณ ถนนคลองกระแชง  ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชร และ พระรามราชนิเวศน์ (พระราชวังบ้านปืน)

  • รื่นรมย์ชมที่ประทับแปรพระราชฐาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2453
  • Workshop หุ่นจีน และหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย
  • สัมมนา “ภาพ - หนัง พลังแห่งการเล่า จากเก่า สู่ ใหม่”
  • สัมมนาประวัติศาสตร์ หุ่นไทยในมหรสพเทศกาล สมัยรัชกาลที่ 5
  • Street Show หุ่นนานาชาติ การแสดงหุ่นสายอินเดีย และ หุ่นคน
  • ฉายหนังกลางแปลง “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกวารัก” สถานที่ถ่ายทำหลัก ณ เพชรบุรี

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

พิธีต้อนรับสู่ เมืองเทศกาล “เพชรบุรีเมืองหนัง”

  • “เพลินเพลงเพชร” กล่อมบรรยากาศ จาก สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
  • การจัด Chef's Table เล่าขานอาหารจานศิลป์ระบิลระบือ 3 รสพื้นถิ่นต้นตำรับเมืองเพชร (Phetchaburi City of Gastronomy)
  •  DIY สลักหุ่นอะลูมิเนียม โดย จิรกร พิทักษ์พงษา : สำนักงานจังหวัดเพชรบุรี
  • พิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ศิลปินหุ่นเงาอาวุโส นายหนังหุ่นกระบอกเพชรบุรี
  •  การแสดงมหรสพ หนังใหญ่ หนังตะลุง หุ่นกระบอก ตำนานเพชรบุรีเรื่อง “มหาเภตรา มหากำเนิด เกิดเมืองเพ็ชร” (Journal du Voyage de Siam)
  • การแสดง หุ่นกระบอกครูไก่ (สุรัตน์ จงดา) เรื่อง “ลักษณวงศ์” ตอน “เฆี่ยนพราหมณ์เกสร”
  • การแสดงหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย และ หนังใหญ่วัดบ้านดอน

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

เป็นเทศกาลที่ศิลปินผู้สร้างงานได้รับเกียรติสูงสุด : รายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติศิลปินหนังตะลุง โดยสมาพันธ์หุ่นนานาชาติประจำประเทศไทย (UNIMA THAILAND) ประกาศเชิดชูเกียรตินายหนังผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทยของจังหวัดเพชรบุรี ด้านศิลปะการแสดงหนังตะลุง

  1. นายหนัง สมหมายจิตต์ชื่น       หนังตะลุงเพชรบุรี   คณะสมหมาย ศิษย์ครูเจริญ
  2. นายหนัง ผล ทับแก้ว              หนังตะลุงเพชรบุรี   คณะเจริญศิลป์
  3. นายหนัง ร.ต. วิน อุ่นใจเพื่อน   หนังตะลุงเพชรบุรี  คณะว.รวมศิลป์
  4. นายหนัง ณรงค์ ม่วงงาม         หนังตะลุงเพชรบุรี   คณะลูกเต่าศิษย์เชิดชำนาญ
  5. นายหนัง ชัยนาท เชิดชำนาญ  หนังตะลุงเพชรบุรี   คณะชัยนาทเชิดชำนาญ

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 

วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 เวลา 15.00-17.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดพลับพลาชัย, จุดชมวิว หาดชะอำ, เวทีละครสุนทรภู่  Art Space วัดพลับพลาชัย และชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชร

  • Workshop Art & Craft การชัก เชิด หนังเงา และเทคนิคการฉลุหนังลายหนุมาน ณ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดพลับพลาชัย ได้รับความสนใจจากทั้งไทยและต่างชาติ
  • ประกวดประชันเหล่าหนังลิงทุกลีลา ณ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดพลับพลาชัย
  • เสวนา ศิลปะสร้างสรรค์จากตัวละครหุ่น สู่งานออกแบบ Art & Craft  : “White Monkey & The Hero” โครงการสืบสานต่อยอดจากตัวละครหุ่นในวรรณคดีสู่ฮีโร่เกมส์

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 

“Puppet On The Beach”

  • ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วม “เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” ด้วยพาเหรด “Harmony World Puppet Festival”  แต่งกายสไตล์ คาร์นิวัล ขบวนม้าพาชมกิจกรรมเทศกาลละลานตา ณ จุดชมวิวหาดชะอำ เพชรบุรี
  • “Puppet On The Beach” การแสดงหุ่นบนชายหาด โดยคณะหุ่นนานาชาติ จาก 6 ประเทศ ฮ่องกง มาเก๊า  โคลัมเบีย  อินเดีย อินโดนีเซีย และ ไทย บนลานศิลปะ
  • กิจกรรม Workshop Art & Craft และการแสดงระบำหุ่นม้าจากอินเดีย (Masti Makers Entertainment Group from India)
  • วัดพลับพลาชัย ชมการแสดงหนังตะลุง 10 คณะ และการประชันนายหนังตะลุงเพชรบุรีหนังตะลุงเรื่อง “รามเกียรติ์ ตอน ศึกสามทัพ” โรงละครหนังตะลุง “รากไทย” ฯลฯ
  • ฉายหนังกลางแปลง “มนต์รักลูกทุง” พรประเสริฐภาพยนตร์ ณ ตลาดศิลปะ

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 

รวมพลังคณะหนังตะลุงร่วมประชันใน วันที่ 3-4-5 พฤษภาคม 2567

 

ใน “เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” การแสดงของ “นายหนังตะลุงเมืองเพชร” เปิดแสดงประชันกันทุกวัน 3-5 พฤษภาคม 2567 เวลา 19.00-21.00 น. รวม 29 คณะ แสดง 30 เรื่อง มีการติดตั้งโปรแกรมประกาศรายชื่อคณะและเรื่องที่แสดงไว้บริเวณจุดประชาสัมพันธ์ วัดพลับพลาชัย ผังเวทีที่จัดแสดงมีสัญลักษณ์ ธงแดง ปัก 10 จุดกระจายรายรอบวัด มีเสียงดังเร้าใจได้บรรยากาศงานวัด (ชวนให้หวนคิดถึงงานสำคัญวันสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อ พ.ศ 2525 ชาวไทยได้ชมหนังกลางแปลง 200 จอ พร้อมกันในวันที่ 5 ธันวาคม ยิ่งใหญ่สมกับวาระสำคัญของชาติ) ที่ทุกคณะได้ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของเมืองเพชรบุรี ที่ไม่ได้มีเพียงพิธีไหว้ ‘ครูหนัง’ เท่านั้น เพราะหนังตะลุงคือคุณค่าสำคัญที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย

หนังตะลุงเรื่อง    น้ำใจแม่ คณะ ว. รวมศิลป์   

หนังตะลุงเรื่อง    แก้วหน้าม้า คณะ พ.นิยมศิลป์   

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน สํามนักขา ก่อศึก ม. ศิษย์เจริญศิลป์

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน หงส์บิน  คณะนายพล ขำเพชร

หนังตะลุงเรื่อง    สองสหาย คณะศิริภิรมย์ศิลป์ 

หนังตะลุงเรื่อง    ทองลอยมา คณะมหาฟลุ๊ค ลูกเพชร ศ.นครินทร์

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน ศึกแสงอาทิตย์   คณะชัยนาท  เชิดชำนาญ 

หนังตะลุงเรื่อง    ผีแม่ คณะ ส.รวมศิลป์

หนังตะลุงเรื่อง    แสนรักแสนแค้น  คณะ จ.จิ้น รวมศิลป์

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน กุมภกรรณลับหอก คณะเจริญศิลป์ 

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน ศึกสามทัพ คณะรากไทย 

หนังตะลุงเรื่อง    สุวรรณหงษ์  คณะเด็กบ้านลาด บรรเลงศิลป์

หนังตะลุงเรื่อง    แก้วหน้าม้า คณะเพชรน้อย

หนังตะลุงเรื่อง    บุตราฝาแฝด คณะ ผ.ผดุงศิลป์

หนังตะลุงเรื่อง    วงษ์เทวัญ ตอน 2 คณะ ส.ทวีศิลป์

หนังตะลุงเรื่อง    สองสหาย  คณะ มหาฟลุ๊ค ลูกเพชร ศ.นครินทร์

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน อินทรชิตชุบศรนาคบาศ  คณะ บุญตาศิษย์ ว.รวมศิลป์

หนังตะลุงเรื่อง    ลิขิตฟ้า คณะณัฐดุริยบรรเลง 

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน ทศกัณฑ์ยกรบ คณะสังเวียน ศิษย์ครูณรงค์

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน ศึกบรรลัยกัณฑ์ คณะเล็ก ศิษย์เชิดชำนาญ

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน ศึกมังกรกรรณ คณะสมหมาย ศิษย์ครูเจริญ

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน ทรพี  คณะ จ. ศิษย์เจริญศิลป์

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน หักด่าน  คณะเทพบันเทิง

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน มงกุฏบุตรลพ คณะ ช.รุงเรืองศิลป์

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน ศึกคูหาอินทจักร คณะลูกเต่าศิษย์เชิดชำนาญ

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน ทัพพนาสูร คณะมหาฟลุ๊ค ลูกเพชร

หนังตะลุงเรื่อง    รามเกียรติ์ ตอน ไมยราพหุงยา คณะลุงหมึกเมืองเพชร

หนังตะลุงเรื่อง    วงศ์เทวัญ  คณะปลื้มจิตร์ ศิษย์ครูลาภ

หนังตะลุงเรื่อง    สังวาลเพชร คณะ ล.บรรเลงศิลป์

หนังตะลุงเรื่อง    เกาะสุวรรณ  คณะ ก.กล้วย ศิษย์ ว.รวมศิลป์

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 

สัมมนา “หุ่นไทยในมหรสพเทศกาล รัชกาลที่ 5” [1]
Puppet International Festival

 

สัมมนาประวัติศาสตร์หุ่นไทย วิเคราะห์พัฒนาการของแต่ละยุคสมัย สรุปใหม่และร่วมจารึกโดย ครูหนืด - นิมิตร พิพิธกุล Festival Director , ครูไก่ - ดร.สุรัตน์ จงดา ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์หุ่นไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ UNIMA THAILAND (สมาพันธ์หุ่นโลก ประจำประเทศไทย) ร่วมด้วย จิตรภาณุ คล้ายเพชร (คณะมหาฟลุ๊ค ลูกเพชร ศ.นครินทร์[2]) นายหนังผู้ประสานงานฝ่ายหนังตะลุง และ สตีฟ (Stephen Thomas) ล่ามแปลภาษาอังกฤษ

ครูนิมิตร - ขณะนี้เราอยู่ที่พระราชวังบ้านปืน พื้นที่ซึ่งเชื่อมร้อยประวัติศาสตร์ของหุ่น มาสู่สมัยของพระพุทธเจ้าหลวง หรือรัชกาลที่ 5 เมื่อพูดถึง ศิลปะหุ่น หรือ หนัง โดยเฉพาะ หนังใหญ่ ทราบกันดีว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ในช่วงเวลาเดียวกันก็มี หุ่นหลวง เกิดขึ้นเช่นกัน อยู่ในช่วงประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยาไล่มาเรื่อยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ครูนิมิตร - ทุกคนเรียก “หุ่นกระบอก” ทั้งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคแรก ช่วงเวลาการเกิดของหุ่นตั้งแต่อยุธยา จนถึงการเกิดของหุ่นกระบอกเป็นอย่างไรครับครูไก่

ครูสุรัตน์ - ถ้าเป็นคำหรูคือ มหรสพ ถ้าอีกคำคือ การละเล่น ก็ได้ เล่นหุ่น เล่นหนัง เล่นละคร มหรสพหลักของไทยมี 4 ประเภท  โขน หนัง ละคร หุ่น ทั้ง 4 ประเภท จะส่งผลต่อกันและกัน เช่น หนังใหญ่มีอิทธิพลต่อโขน ละครมีอิทธิพลต่อหุ่น โขนได้รับเรื่องราว ท่าเต้น ปี่ภาทย์ มาจากหนังใหญ่ / หุ่นได้รับวิธีการแสดง เนื้อเรื่อง มาจากละครหรือโขน เป็นต้น 

‘หุ่น’ คือ รูปแทน ตัวแทน ของคน สัตว์ สิ่งของ ‘หุ่น’ ของไทยมีความหมายหลายประการ เช่น หุ่นพระพุทธรูป หุ่นเทวรูป ชมคนว่า หุ่นงาม หุ่นจะหมายถึง รูปทรง ก็ได้ มหรสพที่ใช้เป็นตัวแทนมนุษย์เราจะเรียกว่า หุ่น ไทยจะไม่เรียก ‘หนัง’ ว่า หุ่น / ‘หนัง’ ในต่างประเทศเรียก ‘Shadow Puppet’ แต่เราจะแยกประเภทหนังตามวัสดุที่สร้าง เรียกวัสดุการทำตุ๊กตา รูปคน แทนคน ว่าเป็นการ ‘เล่นหุ่น’ หรือ ‘แสดงหุ่น’

ครูนิมิตร - สมัยก่อนพอพูดถึงประวัติศาสตร์แล้วเราชินว่า ‘ประวัติศาสตร์หุ่น’ แต่ให้เข้าใจว่าถ้าย้อนไปในสมัยอยุธยาต้องบอกว่า ‘ประวัติศาสตร์หุ่น’ และ ‘ประวัติศาสตร์หนัง’ ถ้าเราไม่เล่าแบบนี้ประวัติศาสตร์สายหนังเขาจะไม่ชัดเจน ในประวัติศาสตร์โลกถือว่า ‘หนังเงา’ เก่าที่สุดในโลก ปัญหาการศึกษาของเราพอเล่าเรื่อง หุ่น จะหมายถึงทุกประเภทคือหุ่นหมดเลย พอหนังใหญ่มาประวัติศาสตร์หนังตะลุงเลยแยกออกไปไม่ได้มาต่อสายเดียวกันกับประวัติศาสตร์หนังใหญ่ ทั้งที่เป็นประวัติศาสตร์สายเดียวกัน จนมาถึงยุคหนึ่งเรียก ‘หุ่นใหญ่’ เวลาแสดงคนเล่นลำบากมาก ก็เลยกลายมาเป็น ‘หุ่นเล็ก’ หรือ ‘หุ่นวังหน้า’ เหมือน ‘หนังใหญ่’ ที่ตัวใหญ่มากก็ลดขนาดลงมากลายเป็น หนังเล็ก หรือ ‘หนังตะลุง’ แต่เราไม่ได้เรียกว่า ‘หนังเล็ก’ เท่านั้นเอง เวลาเขียนประวัติศาสตร์ก็แยกออกไป พอไม่เชื่อมกับการเรียนรู้เลยไม่ต่อยอดกัน ประวัติศาสตร์อยุธยาคือ ‘หุ่นหลวง’ ตัวสูงใหญ่ประมาณ 1 เมตร ซึ่งครูไก่ทำอยู่เป็นผู้เชี่ยวชาญ

ครูสุรัตน์ - มหรสพที่เก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นคือ ‘หนัง’ กับ ‘ระบำ’ สายหนังจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานที่สุด ‘หนังเล็ก’ ไทยเราไม่เรียกคำนี้ก็จริง แต่ไปปรากฏที่กัมพูชาปัจจุบันยังคงเรียกว่า ‘หนังเล็ก’ อยู่ สะกดคำ LAK เพราะเป็นคำที่ได้อิทธิพลมาจากสยามก่อน แต่บ้านเราเรียก ‘หนังตะลุง’

สตีฟ - หนังใหญ่ต้องใช้หนังสัตว์ที่มีขนาดใหญ่สำหรับทำ ใช้เวลาเยอะด้วย หนังใหญ่เป็นหุ่นของวัง หนังตะลุงเป็นหุ่นของประชาชน เพราะไม่มีหนังแผ่นใหญ่ ไม่มีเวลาเยอะที่จะแกะสลัก (ครูไก่ แจมว่า ต้องลงทุนสูง) ใช่ๆ ถูก หุ่นวังหน้ายังอยู่กับวังเพราะสั่งง่ายกว่าหุ่นหลวงที่มีนวัตกรรมหลายอย่าง

ครูสุรัตน์ - หุ่นวังหน้าก็ยังยากอยู่ ถึงมาเกิด ‘หุ่นกระบอก’ แทน เมืองเพชรบุรีนี่คือ ‘อยุธยามีชีวิต’ คือรวมคนอยุธยามาอยู่ที่นี่ ตระกูลช่างต่าง ๆ ก็มาหมด

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 

จิตรภาณุ - รูปแบบหนังตะลุงเมืองเพชรเหมือนกับหนังใหญ่ที่ย่อส่วนลงมา เพราะยังบึกบึนกำยำ ของภาคใต้ตอนนี้เอวบางร่างน้อยแล้วก็หน้าตาไม่เหมือนจิตรกรรมไทย ภาษาชาวบ้านเรียกออกไปทาง ‘กระแดะ’ แล้ว ถ้าเป็นของเพชรบุรีสัดส่วน หน้าตา ลายตอก ยังเป็นหนังใหญ่อยู่เลยครับ หนังโบราณที่ผมไปค้นเจอมามีอายุ 100 กว่าปี หนังใหญ่ยังไงหนังตะลุงยังงั้นเลยครับ

ครูนิมิตร - สมัยก่อนผู้คนอพยพมาก็อยู่ต่างถิ่นฐาน ใครอยู่ตรงไหนก็หน้าตาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่า พอบอกหนังตะลุงมาจากใต้ทุกอย่างเป็นใต้หมด ต้องเข้าใจใหม่ว่า ‘หนังตะลุงเพชรบุรี’ ก็คือหนังตะลุงที่อยู่จังหวัดเพชรบุรีไม่ได้มาจากใต้นะครับ

ครูสุรัตน์ - ทฤษฎีเดียวกัน ว่าจะเขียนใหม่เหมือนกันว่า หนังตะลุงภาคกลางมันมี หนังใหญ่ หนังเล็ก ภายหลังคนมาเรียกหนังเล็กว่าหนังตะลุง มีคนมาตั้งทฤษฎีว่ามาจากพัทลุง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่นะ คือมันคู่กันมานั่นแหละมีหนังใหญ่ หนังเล็ก เพราะวิธีการเล่นของเพชรบุรีเขาจำลองมาจากการเล่นของหนังใหญ่ แล้วเล่นเรื่อง “รามเกียรติ์” เหมือนกัน แล้วหนังตะลุงเพชรกับหนังตะลุงภาคกลางภายหลังมันส่งอิทธิพลต่อหนังตะลุงอีสาน หนังตะลุงอีสานเล่นอย่างหนังตะลุงภาคกลางไม่ใช่มาจากภาคใต้นะ แต่มีฐานมาจากหนังเพชรบุรี หนังอยุธยา แล้วเล่นเรื่อง “รามเกียรติ์” เหมือนกัน ลักษณะการพูดก็เลียนสำเนียงเมืองเพชร หรือสำเนียงภาคกลาง ภายหลังถึงเอาวรรณกรรมอีสานมาเล่น

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 

ครูนิมิตร - เพื่อให้เราเปิด ‘จักรวาลหนัง’ เข้าไปอยู่ใน ‘หลักสูตรรามเกียรติ์’ ที่ต้องเป็นแบบนี้ 1 2 3 4 5 … (สูตรตายตัว) ขอให้เข้าใจว่านิทานหรือวรรณกรรมใด ๆ ที่ถูกเขียนขึ้นย่อมถูกสร้างสรรค์ได้ ย่อมถูกสร้างตัวละครและเรื่องราวอื่นๆ ได้ เพราะถ้าเราสอนเด็กๆ ว่า “รามเกียรติ์” ต้องเป็นแบบนี้ ถ้าแบบนั้นไม่ใช่ ผิด! ระวังนะครับ ศิลปะงอกงามไปยังบุคคลต่างๆ และชุมชนต่างๆ เพชรบุรีมี  “รามเกียรติ์” แบบของเพชรบุรีด้วยครับ

จิตรภาณุ - ขอถามครูไก่ “รามเกียรติ์” ตอน ศึกคูหาอินทจักร มีไหมครับ

ครูสุรัตน์ - ในพระราชนิพนธ์ไม่มี แต่ว่าในฉบับอื่นๆ มี ก็เหมือนนิทานเรื่อง “ท้าวกกขนาก” อยู่ในพระราชนิพนธ์ไม่มี แต่ในฉบับท้องถิ่นมี อย่างที่ครูหนืดว่า ด้วยระบบการศึกษาเราจะเรียนฉบับพระราชนิพนธ์ แต่ในฉบับท้องถิ่นมีหลากหลายแยกออกไปอีก ในกรมศิลป์พ่อเส (ครูเสรี หวังในธรรม) ก็เอาไปเล่นเป็นโขน มีเอาฉบับอินเดียมาเล่นด้วย ตอน สีดาออกศึก , ศึกท้าวกกขนาก ฯลฯ ใครสายตาแคบก็จะเอาแค่บทพระราชนิพนธ์อย่างเดียว จริงๆ มีรามเกียรติ์ฉบับท้องถิ่นอื่น ๆ ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอีก แล้วรามเกียรติ์ยังเป็นตัวเล่าภูมิประเทศ หรือตำนานท้องถิ่นอีก เมืองเพชรก็มี เมืองชัยนาทก็มี ใช้รามเกียรติ์เป็นตัวเล่าอธิบาย

ครูนิมิตร - บางทีเราจะชอบแยกว่า ศิลปะมี ศิลปะประเพณี ศิลปะท้องถิ่น ศิลปะร่วมสมัย ถ้าว่ากันตามตรงไม่แยกได้ก็จะดี เพราะจริงๆ มาจากเรื่องของถิ่นฐานกำเนิด เรื่องของสำเนียงภาษา เรื่องของการดำรงอยู่ อย่างพอบอกรามเกียรติ์ของเพชรบุรีการร้องก็ไม่ได้ร้องขับแบบที่เราร้องรามเกียรติ์ทั่วไป ร้องยังไง (เชิญฟลุคโชว์)

จิตรภาณุ - หนังตะลุงเพชรบุรีเป็นการผสมผสาน เอาหนังตะลุงใต้มาบ้าง ละครชาตรีก็มี โขนสดก็มา ผสมผสานให้เป็นหนังตะลุงฉบับเพชรบุรี อย่างละครชาตรีออกพระรามหน้าพาทแรกจะใช้ เพลงทรงรำ (ว่าแล้วก็ร้องโชว์เป็นตัวอย่าง เสียงดีมีพลัง) “จะกล่าวถึงพระรามเฝ้าคะนึง ให้คิดถึงสีดาแม่ยาใจฯ”

ครูสุรัตน์ - หนังตะลุงภาคใต้สันนิษฐานว่าไปจากภาคกลางด้วยซ้ำ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณไปดูหนังตะลุงทางใต้แต่ดั้งเดิม เล่นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ พอตั้งตัวพระขึ้นมาทุกตัวก็จะร้องเหมือนกันหมดว่า “ตัวเราเองครองพระนครศรีอยุธยา” ทันทีเลย ประวัติศาสตร์เดินทางลงไป ศิลปกรรมของภาคใต้เกือบทั้งหมดตั้งแต่เพชรบุรีไปจนถึงสงขลา เป็นศิลปกรรมอยุธยาหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง หรือลายปูนปั้น เสียดายว่าหนังภาคกลางตอนนี้หมดแล้ว อยุธยา กรุงเทพฯ ก็ไม่เหลือแล้ว เหลือแต่เพชรบุรีที่เดียวยังเป็นเอกลักษณ์  ลูกหลานไม่เอาก็ไปทิ้งไว้ที่วัดตรง “ศาลเจ้าพ่อหนัง” ที่ วัดบางอ้อยช้าง[3](ต.บางสีทอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี)

ครูนิมิตร - เทศกาลเราก็พยายามครับ สื่อสารใหม่ เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่บันทึกไว้ถูกทั้งหมดนะ มันเกี่ยวกับต้องสื่อสารการบันทึก ที่คืบหน้าไปจากหลักฐานที่ค้นพบ หนังครูแกนี้ (จิตรภาณุ ถือโชว์) ถ้าคนไม่เข้าใจจะคิดว่าเป็น ‘หนังตะลุง’ ของภาคใต้ ใช่ไอ้เท่งไหม ใช่ไอ้นุ้ยไหม ทุกคนจะท่องเลยว่าหนังตะลุงต้องมีตัวเหล่านี้ เป็นโลโก้ประจำชุมชนไป แล้วเราก็เรียนรู้แบบนั้น ‘ครูแก’ เป็นบุคลิกตัวละครของเพชรบุรี เราเพิ่งสัมนาไปเมื่อวานเรื่องหนัง “ครูแก” จากหนังสือของ มนัส จรรยงค์ นักเขียนชาวเพชรบุรี เขียนขึ้นมาเพื่อจะอธิบายตัวละครของเพชรบุรี ผู้กำกับคุณ อนุกูล จาโรทก มาทำหนังเรื่องนี้ กลายเป็นหนังพัทลุง ตัวละครพูดใต้ทั้งเรื่องเลย  ทำจนใกล้จะจบโปรดัคชันอยู่แล้วถึงรู้ว่าเป็นของเพชรบุรี เราเพิ่งได้ฟิล์มที่เป็นต้นฉบับหนัง(ภาพยนตร์)มา ค้นหามาตั้งนานไปเจออยู่ที่พัทลุง พัทลุงบอกว่านี่คือหนังประจำจังหวัดเขา ตอนจบไตเติลขึ้นว่าประวัติศาสตร์นี้ได้นำมาสู่จังหวัดเพชรบุรี    (จิตรภาณุ เสริมว่า ครูหนังที่แสดงในเรื่องคือครูหนังของเพชรบุรี) ซึ่งไม่มีใครรู้เลยว่านี่คือหนังของเพชรบุรี เราควรเข้าใจว่าอัตลักษณ์ที่เราคุ้นเคย เอกลักษณ์ที่เราอ้างถึงไม่ว่าจะ ความเป็นไทย เป็นใต้ หรือใดๆ ก็แล้วแต่ มันล้วนมีที่มาเชื่อมโยง

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

ประวัติและพัฒนาการหุ่นไทย

 

ครูสุรัตน์ - ต้องย้อนไปถึง หุ่นหลวง[4]  สายกลไกชักเชิด (String Puppet) มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยายุคกลางจนถึงอยุธยาปลาย ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ แล้วก็มาสร้างอีกครั้งในสมัยกรุงธนบุรี วาระสมโภชพระแก้วมรกตยังเล่นหุ่นหลวงอยู่เลย ขนาดของโรง 20 วา  เท่ากับ 40 เมตร ในสมัยรัชกาลที่ 1 ให้ฟื้นฟูหุ่นหลวงอีกครั้ง เพราะในงานออกพระเมรุทำบุญกระดูกพ่อ (พระปฐมบรมชนก) ให้ทำหุ่นหลวงเล่นทั้งวังหลวงและวังหน้า ผมเห็นหุ่นหลวงในพิพิธภัณฑ์ซึ่งภัณฑารักษ์ก็ยืนยันว่าพิสูจน์แล้ว ตัวพระมงกุฏทำด้วยทองคำ ตัวนางใส่รัดเกล้าก็ทำด้วยทองคำเหมือนกัน โครงสร้างหุ่นสองตัวนี้มันคือกระบวนลายอยุธยา เพราะกนกใหญ่ จอนหูใหญ่ ๆ รัดเกล้าก็รัดหัวจริง ๆ เลย แสดงว่าคู่นี้ต้องเป็นสมัยอยุธยาติดมา ร. 1 แน่นอน มีหัวหุ่นหลวงที่เป็นตัวยักษ์กับตัวลิงจะไม่ใส่ชฎาทรงเชิงบาตร จะใส่ชฎาทรงเทริด หัวองคตก็ใส่ทรงเทริด เทียบกับภาพเขียนของโขนพม่า หัวโขนพม่าตัวรามเกียรติ์ทุกตัวก็มีหัวองคต ใส่มงกุฏทรงเทริดแบบเดียวกับหัวหุ่นหลวงในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติด้วย จึงทำให้มั่นใจว่าหุ่นชุดนี้เป็นหุ่น สมัย ร.1

หุ่นหลวง คำว่า หลวง แปลว่า ‘ใหญ่’ หรือแปลว่า ‘ของราชการ’ ก็ได้ อันหลังนี่จะสำคัญกว่า ให้ผู้เชี่ยวชาญดูจะมีหุ่นอีกชุดชื่อว่า ‘ชุด ร.2’ (ชุดพระยารักน้อย พระยารักใหญ่) ฝีพระหัตถ์ ร.2 กรมพระยานริศ ก็เห็นสไตล์จากกระบวนลายกนก เทียบกับพระพุทธรูปก็ชัดว่าของ ร.2  ยังมีอีกชุดของ ร.4 ท่านไม่โปรดพระรามใส่ชฎาทรงเดินหน ท่านก็สร้างอีก 4 ตัว พระราม พระลักษณ์ พระพรต พระสัตรุด เป็นชฎาทรงมงกุฏ แล้วฝีมือด้อยกว่าชุด ร.1 ร.2 ด้วย (เจ้าของวังบ้านหม้อเป็นคนสร้างถวาย)

ตั้งแต่สมัย ร. 4 มีการจ้างหาคณะ เก็บภาษีมหรสพทั้งละคร หนัง หุ่นหลวง หนังจีน งิ้ว มาในสมัย ร. 5 ก็เริ่มมีมหรสพใหม่ ๆ เข้ามา ละครดึกดำบรรพ์ผสมฝรั่ง ละครร้อง ละครพันทางผสมจีน เริ่มปรับปรุงเป็นระบบมีโรงละคร มีมหรสพ มีการจ่ายตังค์ เริ่มมีระบบ Theatre เกิดการแสดงหุ่นใหม่ หุ่นที่เกิดก่อนคือ หุ่นฮกเกี้ยน เรียกว่า ‘หุ่นจีนวังหน้า’  หุ่นจีนไหลำ มี

หม่อมราชวงศ์เถาะ พยัคฆเสนา เป็นมหาดเล็กของ กรมพระยาดำรงฯ ตามท่านไปตรวจราชการแถวเมืองเหนือ สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ ที่นี่มีผู้ชายคนหนึ่งชื่อ ‘ครูเหน่ง’ เลียนแบบหุ่นไหหลำแต่แกเอาหัวมันเทศมาแกะ เล่นทีก็แกะทีแกะใหม่ทุกครั้งที่เล่น ภายหลังก็เอาไม้เบา ไม้ฉำฉามาแกะบ้าง เจ้าเมืองสุโขทัยถวายหุ่นให้กรมพระยาดำรง หม่อมราชวงศ์เถาถึงได้คิดทำหุ่นกระบอกขึ้นมาในกรุงเทพเป็นเจ้าแรก (ปัจจุบันหุ่นทางเหนือมี หุ่นแม่เชวง อ่อนละม้าย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรม การแสดง และภูมิปัญญาท้องถิ่น) แล้วหุ่นหลวงใน ร. 5 ไม่มีคณะอื่นเลย นอกจากคณะของหลวงจริงๆ คือ วังบ้านหม้อ เจ้าพระยาเทเวศน์[5] ไม่ได้เป็นเจ้าของนะ แต่เป็นผู้ดูแลจัดการกรมมหรสพให้ ร.5 (สมัยร. 2 พระองค์จะทรงจัดการเองในวัง) ทั้งโขน ละคร ชุดละคร หนังใหญ่พระนคร หุ่นหลวง ฯลฯ ของหลวงทั้งหมดจึงไปอยู่ที่วังบ้านหม้อ คนไทยชอบดูฟรีเพราะสมัยก่อนนี้เรามีเจ้านายเป็นเจ้าภาพ (ภาครัฐ) วาระสมโภชวัดท่านก็เกณฑ์ทั้ง โขน ละคร งิ้ว ให้คนเข้าฟรี ไปกินโรงทานฟรี ดูฟรี

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

ครูนิมิตร - คนส่วนใหญ่ถ้าพูดถึงหุ่นไทยจะบอกว่าต้องเป็น หุ่นกระบอก

ครูสุรัตน์ - เพราะว่าหุ่นกระบอก Popular ก็เหมือนหนังตะลุงที่เป็นสัญลักษณ์หนัง เห็นหนังอะไรก็เรียกหนังตะลุงกันหมด ตอนนี้ก็จะเหมาเรียกทุกหุ่นว่าเป็น หุ่นละครเล็ก หมดเลย เพราะ Popular กับการออกสื่อกับการรับรู้ของคน สนุกสนานเป็นที่นิยม จากหม่อมราชวงศ์เถาะ ก็ขยายออกไปยังพระองค์เจ้าอื่น ๆ เพราะหุ่นน่ารักเหมือนตุ๊กตา โรงหุ่นทั้งหลายก็ไปจากหม่อมราชวงศ์เถาะ เชื่อกันว่าท่านเป็นต้นแบบของหุ่นกระบอกไทย เวลาไหว้ครูก็จะไหว้ครูเหน่ง ครูแหนน ไหว้หม่อมราชวงศ์เถาะกันมาจนถึงทุกวันนี้

สมัย ร.5 หุ่นหลวงเริ่มซบเซาเพราะหนึ่งเล่นยาก สองมีมหรสพอื่นๆ เข้ามาแทน   เกิดหุ่นกระบอกขึ้นมาเพราะว่า

- หนึ่ง เล่นง่าย เพราะสายไม่หลุด ไม่ขาด ตัวไม่ใหญ่ขนย้ายง่าย สมัยก่อนไม่มีรถบรรทุกมันต้องไปเรือ ยกไปหีบเดียวก็เล่นได้แล้ว

- สอง เล่นเลียนแบบละครนอก อะไรที่เป็นละครนอกก็เล่นเรื่องนั้น

- สาม ลีลาเล่นเร็วให้ถูกใจคนดู มีบทตลก รำไม่ต้องเยอะ

- สี่ ค่าจ้างค่าวานมันน้อยถูกกว่า ถ้าเป็นหุ่นหลวงโรง 20 วา ราคา 100 ชั่ง จ้างหุ่นกระบอก 20 ชั่ง ก็ไปได้แล้ว

- ห้า เกิดสื่อใหม่เมื่อ 60 ปีที่แล้วคือ ช่อง 4 บางขุนพรหม สมัยก่อนการแสดงมี ร้องเพลง ละครแบบกรมศิลป์ หุ่นกระบอกครูเปียก เล่นเป็นตอนๆ จนจบ ผู้คนก็เลยติดตาหุ่นกระบอกมาตลอด

(เปียก ประเสริฐกุล บิดาของครูชื้น ชูศรี สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หุ่นกระบอก) ปี 2529 หุ่นกระบอกคณะนายเปียก ได้ออกแสดงเรื่อง “พระอภัยมณี” ติดต่อกันตั้งแต่ต้นจนจบที่ สถานีไทยโทรทัศน์ ในปีก่อตั้ง 2498 (1955) เป็นที่ติดตาต้องใจของประชาชน จึงในปี 2507 ได้กลับไปแสดงอีกครั้ง)

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 

ครูนิมิตร - วิเคราะห์ผสม เพื่อไม่แยกประวัติศาสตร์ออกจากกัน หนังตะลุงหรือหนังเงาถือเป็นหุ่นเก่าแก่ที่สุดในโลก มันคือหุ่นที่มีไม้เป็นแกนตรงกลางลำตัว มีไม้อีกอันไว้เชิด กับเชือกไว้ชัก หนังตะลุงหรือหุ่นเงาสมัยโบราณถ้าไปดูในพิพิธภัณฑ์ของโลก มันคือแบบนี้เลยเรียก String Puppet มีโครงสร้างเดียวกับหุ่นกระบอก เพราะฉะนั้นตระกูลหนังตะลุงกับตระกูลหุ่นกระบอกเป็น บ้านพี่เมืองน้อง เป็นครอบครัว สายทายาทต่อเนื่องกันมา มันคือฟังชันการเชิดหลักเลย

พอมาถึงจุดหนึ่งหุ่นหลวงมายังไง … มาจากการใช้เชือกต่าง ๆ พยายามให้เกิดการเคลื่อนไหว (ในสมัยเดียวกันเรียก Marionette) เป็นเชือกที่ควบคุมจากข้างบน เราจะควบคุมตัวละครองค์เจ้าจากข้างบนคงไม่เหมาะ ต้องควบคุมจากข้างล่าง พอเป็นสตริงอยู่ข้างล่างก็จะเชิดได้ในระดับหนึ่งของการเคลื่อนไหว  เพียงเปลี่ยนจากเชือกสายมาใส่ไม้ค้ำ เพราะใช้เชือกสายเคลื่อนไม่ได้เต็มที่ ก็กลับมาใส่ไม้ค้ำเป็นทรงเดียวกันกับหุ่นกระบอกนั่นเอง ถ้าพูดถึงฟังชันศิลปะหุ่นเชื่อมกันมาตลอด เมื่อถึงรัชสมัยที่ 1 2 3 4 5 หุ่นต่าง ๆ ที่งามวิจิตรเหล่านี้ก็สืบทอดมาจากความวิจิตรของหุ่นหลวงนั่นเอง

 ครูสุรัตน์ -  หรือแม้แต่ศัพท์ที่เราใช้คำว่า เชิด “บัดนั้น เชิด” เชิดคือชูขึ้น ไว้สำหรับเพลงในตอนที่จะเดินทาง เพลงก็เรียก เพลงเชิด หมายถึง เชิดชู ยกขึ้น ชูขึ้น  หุ่นเงา เก่าแก่ที่สุดของโลกเล่นกับแสง แต่พอมนุษย์รู้จักสร้างความเป็นมิติ รู้จักการจำลอง รู้จักมวลขึ้น (แนวคิดหลักที่เป็นหัวใจของกลศาสตร์แบบดั้งเดิม)  ก็เลยกลายเป็นตัวอ้วนขึ้น หน้าตาเป็นมนุษย์มากขึ้น ยิ่งทำให้หุ่นเหมือนคนเท่าไหร่ยิ่งทำให้มันวิจิตร มีมิติ พิศดารยิ่งขึ้น คนก็ชอบดูมากขึ้น ช่วงต้นที่เล่นรามเกียรติ์ก็คือให้กับคนที่ตายไปแล้ว คือการเผยแพร่ศาสนาฮินดู  เหมือนงิ้วน่ะ คนไม่ดู เขาเล่นให้เจ้าดู

ครูนิมิตร - เป็นความเชื่อด้วย สมัยก่อนหุ่นที่เป็นหุ่นสาย หุ่นเงา ความที่เป็นหุ่นเงาบางทีเขาจะนำไปใช้เรื่อง วิญญาณ ความเชื่อ เรื่องราว เรื่องเล่า บุคคลที่จากโลกนี้ไปแล้วก็เอามาเล่นเพื่อจะได้รำลึกนึกถึง อย่างจีน อินโดนีเซีย เพราะฉะนั้นจากความคุ้นเคยหนังตะลุงจึงเอาไปใช้แก้บน หนังตะลุงเพชรบุรีนี่มีงานทุกวันเลยนะ แก้บนหนักเข้าคนดูเริ่มไม่ดู เลยติดปากว่า “ไม่มีคนดู” ไม่ใช่ไม่มีคนดู เป็นมหรสพที่มีไว้ให้ดูเช่นกัน แต่เขามีบทบาทหน้าที่เชิงวิชาชีพเชิงความเชื่อของเขาคือ แก้บน เวลาเขาเล่นแล้วไม่เห็นคนดูอย่าเข้าใจว่าไม่มีคนดูนะ คนดูอยู่ข้างบนโน่น (ชี้ฟ้า) เขาเล่นกันเต็มที่ไม่ขี้เกียจเลย การที่เราไปดูเขาเล่น คือไปดูเขา ‘เล่นถวาย’ ไม่มีใครยอมใคร ยิ่งเล่นดีเล่นมากเต็มที่เท่าไหร่ ยิ่งได้พลังได้บุญได้ศรัทธา

จิตรภาณุ - การแก้บน ชาวบ้านก็จะบนขอให้สำเร็จ บนกับใคร บนกับเจ้าพ่อเจ้าแม่ เจ้าพ่อเจ้าแม่คือใคร คือผีที่ศักดิ์สิทธ์ พอบนสำเร็จแล้วก็เอาไปเล่นถวาย อีกงานที่นิยมคือเล่นถวายบรรพบุรุษ ตอนทำบุญบ้าน หรือขึ้นบ้านใหม่ ถวายกับเจ้าที่เจ้าทาง หนังตะลุงก็เป็นหุ่นเชื่อมระหว่างคนกับบรรพบุรุษ หนังตะลุงเพชรบุรีอยู่ได้เพราะบรรพบุรุษ

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง

 

ครูนิมิตร - ประวัติศาสตร์ไล่มาจากรัชกาลที่ 1 ถึง 5 มีบันทึกไว้ว่าในรัชกาลที่ 5 คือจุดสิ้นสุดของศิลปะหุ่น หุ่นหลวงหายไป แต่จริงๆ มันคือ Development ฟื้นฟูตลอด

ครูสุรัตน์ - มันคือ Development บ้านเมืองพัฒนาขึ้นไปก็มีมหรสพตัวใหม่ ร.6 ท่านให้เจ้าพระยานิเวศน์นำการแสดงทั้งหมด หนังใหญ่ หุ่นหลวง มาไว้กรมมหรสพที่ตั้งเป็นหน่วยงานเฉพาะ (มีจ่ายเงินตอบแทน)  มันก็ค้างมา แต่ก็มีเล่นตลอด อาจเล่นมากบ้างน้อยบ้าง พอรัชกาลที่ 7 เปลี่ยนแปลงการปกครองก็ให้โอนย้ายของพวกนั้นมาไว้กรมศิลปากร ผมเคยไปค้นดูบนโรงละครกับพิพิธภัณฑ์ ก็เห็นมีหนังใหญ่เป็นตั้งอยู่เลย ไม่ได้โดนไฟไหม้หมดตามที่เขาบอก เมื่อก่อนอยู่ติดทางธรรมศาสตร์ เพราะเกิดอัคคีภัยไฟฟ้าลัดวงจรไหม้โรงละครนิดเดียวคราวนั้น  แต่หุ่นหลวงยังอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจนถึงทุกวันนี้ แล้วก็มีคนฟื้นฟูมาเล่นตลอดไม่สูญ

หนังใหญ่พอหลวงรักษาไม่ได้ใช่ไหมมันก็มาอยู่กับชาวบ้านที่ วัดพลับพลาชัย วัดขนอน วัดบ้านดอน วัดสว่างอารมณ์ เพราะหนังใหญ่เป็นมหรสพที่แสดงสถานะ บอกความยื่งใหญ่ ถ้าชุมชนไหนมีหนังใหญ่ จะทำให้รู้สึกว่าชุมชนนั้นมีพลัง ดูขลัง ดูศักดิ์สิทธิ์ เลยต้องไปสถิต ทำไมต้องสถิตเพราะเป็นที่วัด กับคติความเชื่อว่าเขาจะไม่เอารูปเคารพที่เป็นรูปยักษ์รูปลิงที่เป็นหนังใหญ่ไปไว้บ้านมันจะร้อน วัดนั่นแหละเป็นที่ไว้ดีที่สุด ศาลาวัดเป็นที่ฝึกซ้อมดีที่สุด รวมคนได้เยอะที่สุดในการเล่นหนังใหญ่ต้องเกณฑ์ทั้งหมู่บ้าน เวลาตอกหนังทีต้องช่วยกันตอกทั้งหมู่บ้าน แสดงพลัง แต่หนังตะลุงไว้บ้านได้เพราะไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะเลยมาอยู่กับประชาชนหนังตะลุงกับหุ่นกระบอกเหมือนกันในยุคนั้น คือ popular เท่ากัน ภายหลังก็แตกออกไปหลายคณะ ในกรุงเทพฯ ค่อยๆ ดาวน์ลง แต่ว่าทางภาคใต้ก็ยังเป็นมหรสพ อยู่ในพิธีกรรม ถึงรักษาไว้ได้

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

ครูนิมิตร - แต่สิ่งหนึ่งที่เราท่องมาในการเรียนการสอนคือว่า จงดูศิลปวัฒนธรรมเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ รักษา พราะเป็นมรดกและหายากเหลือเกิน ไม่ยากนะครับ หนังตะลุง หุ่นกระบอก ก็ไม่ได้หายากนะครับ เพียงแต่คนไปประทับตราว่าหายาก ก็เลยเอาไว้เล่นวาระ ‘หายากจึงดู’ ถ้าทำให้อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน เราดูหุ่นกระบอก หนังใหญ่ หนังตะลุงทุกวันก็ได้

ถ้ากลับไปดูยุคแรกๆ หุ่นกระบอกจะหัวโตมาก ผมเป็นศิษย์ป้าชื้น (ครูชื้น ชูศรี สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หุ่นกระบอก) ปี 2529)[6] เรียนหุ่นกับละครเด็กเป็นหลักเลยที่ธรรมศาสตร์ ป้าชื้นเล่นฉวัดเฉวียนสุดชีวิต ความเข้าใจของเราคือหุ่นกระบอกจะต้องค่อยๆ แช่มช้อย ค่อยๆ เล่น ค่อยๆ รำ เพราะมีภาพจำมาอย่างนั้น จริงๆ ต้องแล้วแต่ครู แล้วแต่วิถี แล้วแต่วัตถุประสงค์ของการร่ายรำนะครับ ราคาแพงไหมครับครู

ครูสุรัตน์ - ถ้ารู้จักประยุกต์วัศดุก็จะไม่แพงสามารถทำได้ แต่ที่แพงอาจให้คุณค่ากับศิลปินผู้สร้าง ดูอย่างคณะเพชรหนองเรือสิเอาไปประยุกต์เป็นหุ่นกระบอกอีสาน

ครูนิมิตร - ทางสมุทรสงครามก็มีหุ่นหัวกะลา สำหรับเด็กฝึกใหม่ครูจะให้จับอันนี้ก่อน เพราะของจริงมีเพชรนิลจินดา เวลาเล่นจะได้ฉวัดเฉวียนเต็มที่ พอเริ่มโครงตัวได้ค่อยมาจับหุ่นงาม พัฒนาไปทีละขั้น หมายความว่าถ้าเราจะเปิดทางใหม่ๆ ส่งเสริมการเรียนรู้หุ่นกระบอกให้เด็กๆ ตามโรงเรียนต่างๆ เริ่มต้นจากการสร้างสรรค์หุ่นง่ายๆ ก็ได้ แล้วจึงกลับมาที่หุ่นประเพณีที่เราอยากจะให้เขาเรียนรู้ตามขนบ

ปีนี้เรามาจับกับเพชรบุรีเป็นหุ่นกับศิลปะท้องถิ่น แล้วทำเทศกาลท้องถิ่น “เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง” มีหนังตะลุง หนังใหญ่ หนังสือ หนังภาพยนตร์ และมีเพื่อน ๆ ศิลปะศิลปินมากมายมาร่วมในพื้นที่นี้ เพื่อจะให้ความเป็น Street Art หรือ Street Performance กลับมาสู่วิถีการดำรงอยู่ของศิลปะทั้งหมดทั้งมวล  การเล่นในโรงแบบ Performing ก็ส่วนหนึ่ง การเล่นที่ถนนก็ส่วนหนึ่ง ในอนาคตเราจะจับหุ่นกับหุ่นยนต์เป็นนวัตกรรม (Innovation) สำหรับผมเชื่อว่าในรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่พระองค์ท่านจัดมหรสพแล้วมาหมดเลย หุ่นทวาย หุ่นญวน หุ่นมอญ เข้ามาในประเทศไทย มีฝรั่งมาเล่นด้วย เป็นช่วงเวลาของการผสมผสาน ผมขนานนามว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “Puppet International Festival”  เพราะฉะนั้นมันเลยเกิดการผสมผสาน ทำให้เรามีการแลกเปลี่ยนและเปิดรับจนทุกวันนี้”

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

“มหาเภตรา มหากำเนิด เกิดเมืองเพชร”[7] (Journal du Voyage de Siam)

 

การแสดงที่เป็น Highlight สำคัญในวันรวมพลคนสร้างหุ่น คือ “มหาเภตรา มหากำเนิด เกิดเมืองเพชร” (Journal du Voyage de Siam) รังสรรค์ขึ้นจากตำนานการเกิดเมืองเพชรบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งผู้คนล้วนร่วมเรียงเสี่ยงภัยมาในเรือสำเภาเหนือมหาสมุทรลำเดียวกัน ก่อนแยกย้ายกระจายถิ่นฐาน ผ่านงานแสดงหุ่นหลากประเภทจากหลายประเทศที่มาร่วมงาน เนื้อหามีสารชวนย้อนตำนานในอดีตอันไกลโพ้นของเมืองเพชรบุรี ครั้งที่ยังเป็นมหาสมุทรไม่สิ้นสุดเขตแดน ได้มีเรือสำเภาใหญ่ขนาดมหึมาที่เชื่อกันว่าถูกเทพเนรมิตขึ้นมาจากฝาหอยกาบซีกหนึ่ง ณ จุดที่ปัจจุบันเรียกว่า บ้านพอหอย พลอยให้เชื่อมร้อยเทพตำนานเล่าขานน้ำท่วมโลกจากคัมภีร์ไบเบิลยุคเรือโนอาห์ (Noah’s ark)[8] แม้พระธรรมบทปฐมกาล (Genesis) บทแรกของคัมภีร์ไบเบิลจะระบุไว้ว่า พระเจ้าทรงบัญชาให้โนอาห์และครอบครัวของเขาซึ่งเป็นผู้มีศีลธรรม สร้างเรือใหญ่ที่บรรทุกคู่สิงสาราสัตว์ทุกชนิด เพื่อเอาชีวิตรอดจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่พระเจ้าจะใช้กวาดล้างเหล่ามนุษย์ที่ปราศจากความยำเกรงในพระองค์ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือโบราณคดีที่ยืนยันได้ว่า มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์หรือไม่

แต่วิกฤติโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญ ชวนให้เชื่อมโยงวิธีคิดสากลของคนตะวันตกกับตะวันออก ที่ต้องการบอกเตือนให้เตรียมตัว เพราะทุกอย่างต่างมีอายุขัย ทั้งสิ่งที่วิทยาศาสตร์บัญญัติไว้ว่ามีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่นเดียวกับโลกในอดีต ที่เรือโนอาห์ หรือ มหาเภตรา ต่างขนบรรดาสัตว์โลกหนีตายมาเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ เพราะปฐมเหตุสำคัญคือ ความโลภและไม่เคารพในธรรมชาติ (พระเจ้า) การบริโภคที่เกินพอดี แม้มีนวัตกรรมทดแทนทรัพยากรที่เสียไป แต่โลกเสียสมดุลเกินกว่าจะรักษาให้รอดแล้ว และหมดอายุขัย เราต้องหาที่อยู่เพื่อเริ่มสร้างโลกใหม่ทดแทน การอัปปางของมหาเภตราที่ บางทะลุ ล้วนเป็นไปเพื่อจะจอดให้ผู้รอดตายขึ้นฝั่งแล้วตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ณ จุดที่ถูกเลือกให้แล้วว่าเหมาะสม ตามคำคมที่ทุกศาสนาสอนว่า “ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วล้วนดีงามเสมอ” และ ‘เธอ’ คือผู้ถูกเลือกให้ดำรงเผ่าพันธุ์ เพราะฉะนั้น รักกัน รักษ์โลกไว้ ก่อนที่มันหมดอายุขัยไปอีกครั้ง…

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

“มหาเภตรา มหากำเนิด เกิดเมืองเพชร” (Journal du Voyage de Siam) บทวิจิตรจากจินตนาการแห่งเมืองเทพนิมิตร โดยประพันธกร นิมิตร พิพิธกุล

Narrator : เพชรบุรี คือเมืองในเขตลุ่มน้ำใกล้บริเวณชายฝั่ง โดยอาศัยเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ทางบก และการเดินเรือเลียบชายฝั่ง การสร้างบ้านเมืองตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม เพชรบุรีจึงเป็นเมืองท่าภายในและศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่งของสยามประเทศ

มหาเภตรา การแสดงที่จะนำทุกท่านร่วมล่องนาวาพาทุกคนไปรู้จักกับเมืองเพชร์ ผ่านการเล่าขานด้วยมรดกภูมิปัญญา วัฒนธรรม ‘หุ่น’ ที่จะปรากฏต่อผู้ชมทุกท่าน

เมื่อเอ่ยถึง หุ่นไทย  คนส่วนใหญ่ จะคุ้นเคยกับการเรียกหุ่น ว่า “หุ่นกระบอก”

หุ่นกระบอก เป็นหุ่นที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเลียนแบบมาจากหุ่นจีนไหหลำ สร้างขึ้นโดยอาศัยกรรมลิขิต

 

เทวีหุ่นคน : หากเปรียบเทียบว่า ตัวฉัน และพวกเรา คือ ประชาชนพลเมืองที่อาศัยในลุ่มน้ำนี้มา ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง เราเหล่าล้วนมีความสัมพันธ์ ทั้งทางจีนตอนใต้-เวียดนาม และทางอินเดีย วัฒนธรรมหุ่นของเรา ก็ผสานผสมมากับวัฒนธรรมการดำรงอยู่ร่วมของผู้คนตั้งแต่วันนั้นมา

ฉันจะเป็นผู้นำทางทุกคน เดินทางท่องไปบน มหาเภตรา อันเป็นตำนาน บอกเล่า ว่า การเดินทางมากับเรือสำเภา นั่นหมายถึงผู้คนได้มีการอพยพโยกย้ายมาจากบ้านเมืองโพ้นทะเล มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆ ที่อยู่อาศัยในภูมิประเทศต่างๆ ทั้งที่ราบและที่สูง

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

Narrator : ก่อนที่น้ำทะเลจะลดลง เชื่อกันว่าเขากิ่วในบริเวณตัวเมืองเป็นท่าจอดเรือสำเภา มีกลุ่มคนกลุ่มใหม่จากโพ้นทะเลได้เดินทางเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนจนกลายเป็นวัฒนธรรมผสมผสาน  และเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในสยามประเทศ และบริเวณเทือกเขาเจ้าลายที่ชะอำมีความสำคัญต่อการเดินเรือเลียบชายฝั่ง และนครเพชรบุรีคือศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ

การเดินทางข้ามอ่าวไทยหรืออ่าวสยามตอนในนี้เอง ทำให้เกิดนิทานชาวเรือหรือนิทานท้องถิ่นซึ่งรู้จักกันดีของนักเดินทางยุคก่อนและผู้คนพื้นถิ่น นั่นคือนิทานเรื่อง “ตาม่องล่าย ยายรำพึง และนางยม” โดยมีเกาะต่างๆ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอ่าวเป็นชื่อสถานที่ที่อ้างถึงในนิทาน

การเดินทางข้ามคาบสมุทรเป็นหนทางเพื่อย่นระยะเวลาและระยะทางระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย โดยไม่ต้องรอลมมรสุมอ้อมลงไปเข้าช่องแคบมลายู เส้นทางข้ามคาบสมุทรของแหลมมลายูมีด้วยกันหลายเส้นทาง แต่ตอนบนสุดคือเส้นทางระหว่างเมืองมะริด-ตะนาวศรี และเมืองเพชรบุรี

“ข้ามมาลุตะนาวศรีเพื่อเลือกเอาฝูงคนดี....สิงหลทีปรอดพระพุทธศรีอารยไมตรีเพชรบุรี

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

เทวีหุ่นคน :  ฉันคือเทวี แห่งนครพริบพรี ที่จะมาเลือกเอาเหล่าฝูงคนดี กอปรงานสร้างเรือนาวาพาทุกคนล่องไป ใคร ใคร่ขยัน สรรหาวิชา มาร่วมมาเรียนมารู้ มาดูมาทำ ก็จะนำพาเอาความเจริญ ไปสู่ฟากฝั่งอนาคต

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

อาขยานบทหลักระดับประถมศึกษา “วิชาเหมือนสินค้า”
จาก วรรณกรรมสอนอ่านเรื่อง “ศรีสวัสดิ์วัด”
คำประพันธ์ประเภท : กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
ประพันธกร : หมื่นพรหมสมพัตสร (มี)
[9] กวีสมัย ร.3

 

หมู่มวลเยาวชนหนังใหญ่ : ย่ำไม้โค้ง

 

วิชาเหมือนสินค้าอันมีค่าอยู่แดนไกล  ต้องยากลำบากไปจึงจะได้สินค้า
มาจงตั้งเอากายเจ้าเป็นสำเภาอันโสภา  ความเพียรเป็นโยธาแขนซ้ายขวาเป็นเสา                                                                                                                                                                    ใบนิ้วเป็นสายระยางสองเท้าต่างสมอใหญ่  ปากเป็นนายงานไปอัชฌาศัยเป็นเสบียง

 

หนังใหญ่รุ่นพี่ :   สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง
                           ถือไว้อย่าให้เอียง ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา
ปัญญาเป็นกล้องแก้ว ส่องดูแถวแนวหินผา
เจ้าจงเอาหูตา เป็นล้าต้าฟังดูลม
                         ขี้เกียจคือปลาร้าย จะทำลายให้เรือจม
                         เอาใจเป็นปืนคม ยิงระดมให้จมไป
จึงจะได้สินค้ามา คือวิชาอันพิศมัย
จงหมั่น มั่นหมายใจ อย่าได้คร้าน การวิชา

 

หมู่มวลหนังใหญ่เยาวชน : ถือไม้โค้ง ย่ำเท้า ย้ำความให้ขึ้นใจ

สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง ถือไว้อย่าให้เอียง ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา

สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง ถือไว้อย่าให้เอียง ตัดแล่นเลี่ยงข้ามคงคา

 

Narrator :  

ปัญญาเป็นกล้องแก้ว ส่องดูแถวแนวหินผา
เจ้าจงเอาหูตา เป็นล้าต้าฟังดูลม
ขี้เกียจคือปลาร้าย จะทำลายให้เรือจม
เอาใจเป็นปืนคมยิงระดมให้จมไป
จึงจะได้สินค้ามา คือวิชาอันพิศมัย จงหมั่นมั่นหมายใจ อย่าได้คร้านการวิชา

 

หมู่มวลหนังใหญ่เยาวชน : ถือไม้โค้ง ย่ำเท้า ย้ำความให้ขึ้นใจ

จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ

จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภาความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ

จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา ความเพียรเป็นโยธาแขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

เทวีหุ่นคน :

นายช่างฉลาด วาดเขียน
เอาหนังพระโคเจียน
ให้พร้อมให้งามตามวงศ์
ร่างเส้นรจนากระยารง 
ช่างจำหลักลายลง
มุกกัดแลเคียงเรียงรอย
รวงแก้วกระหนาบลายพรายพรอย
แรร่วงเครือลอย
ลดาประดับดอกแฝง

 

*** หนังใหญ่ ออกเชิดพระราม (หนังใหญ่วัดบ้านดอน)

 

Narrator : 

ไชยศรีโขลนทวาร                      เบิกบานประตู
ฆ้องกลองตะโพนครู                   ดูเล่นให้สุขสำราญ
หนังเราใช่ชั่วช้าสามานย์           เล่นมาแต่ก่อนกาล
บ่ห่อนจะมีใครไยไพ
ขอกันสารพัด                            อุบาทว์ เสนียดแลจัญไร
ไว้แก่ผู้ใยไพ                             ติหนังที่ดีว่าบ่มิงาม
ข้าขอคุณพระลักษณ์ พระราม  เทพเจ้าผู้ทรงนาม
สถิตอยู่ทั่วทุกตัวหนัง

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

นายหนังตะลุง : นั่งยอไหว้พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

ขอเดชะคุณพระทั้งสามองค์ มาส่งเสริมสร้างในทางศิลปิน
ลูกนั่งขอศัพขอเสียงให้เกลี้ยงแจ้ว เหมือนปี่แก้วที่ลั่นออกไปนอกถิ่น
กราบศักดิ์สิทธิ์ที่นี้สานุโทษโปรดให้พ่อมาได้ยิน
ให้ศิลปินตะลุงหนัง ยังอยู่คู่คง ดำรงไว้

 

*กราวตะลุง

 

เทวีหุ่นคน :  ชมความงามของการฉลุหนังใหญ่ ในลีลาแช่มช้อย

เอาไม้มาประกอบปะกับเกลา   เป็นสำเภาเลิศล้วนกระบวนศิลป์
ดุจเภตราองค์เทพอมรินทร์     ดังแล่นได้ในสินธุวารี
ชมเอยชมทะเล                      คลื่นพาเรือเหตามวิถี
มัสยาลอยล่องท้องนที           เอาสำลีแทนคลื่นในท้องธาร

 

เมื่อเจ้าร่วมทาง สร้างเรือสำเภา มหาเภตราขึ้นมาได้

ก็ถึงกาลที่มหาตำนาน จะเกิดการเล่าขาน แลข้าคือเทพนิมิตตนนั้น

ตำนานแยบยล สอนคนให้รู้ไว้  แม้ในยามเรือ ฝ่ามรสุม รุมกระหน่ำ แม้ในยามฝูงคนที่อาศัยมาในเรือลำเดียวกัน

จะพลัดหลุด ลอยลำไปขึ้นฝั่งที่ใด ไปเติบตน อยู่อาศัยที่ใด เราต่างก็ล้วนเคยลงนาวาลำเดียวกัน

 

หุ่นกระบอก:

ในยามล่องเรือ อยู่กลางเดือนมืด เราจะมีดวงดาวนำทาง
หากในยามไร้ไฟจันทร์ จงชูดวงใจขึ้นฉายส่อง
กอดกระชับประคอง คนเคียงครองไม่ทิ้งกัน

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

“และในเรือลำเดียวกันนั้น คือเรือของโลกานาวาของความรักแห่งมวลมนุษยชาติ เทศกาลหุ่นได้สร้างความสัมพันธ์ไปทั่วโลก ทุกประเทศมีศิลปะหุ่น เป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ชาติทั่วโลก ทุกครั้งที่มีการจัดเทศกาลเราเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพที่ดีในการนำเอาศิลปินหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมลงนาวาลำเดียวกัน เราเชื่อว่ามิตรภาพนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ จากคนที่มีความรักในสิ่งที่พวกเขารัก ทั่วโลกทุกประเทศมีศิลปะหุ่น และคนที่ถือหุ่นไม่เคยทะเลาะกัน คนที่ถือหุ่นรักและสามัคคีกัน เราจึงจัดเทศกาลหุ่นโลกมาได้จนถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญเพราะความร่วมมือในประเทศไทยและการสนับสนุนจากทาง TCEB ที่มองเห็นว่าเทศกาลคือพลังของการสร้างความรักและความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอบครัว ชุมชน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว นี่คือเยาวชนที่จะสืบสานทำให้เราสร้างคณะหุ่นหนังใหญ่วัดพลับพลาชัยรุ่นใหม่ขึ้นมาได้ และจะเติบโตต่อไปหากเราได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องนะครับครูหนืด นิมิตร กล่าวสรุปปิดท้ายงาน และการแสดงงามความหมายดี มีเพลง “ทะเลจันทร์” ของทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล คลอแผ่วหวาน เหมือนสัญญาณการจากลา แต่ต่างก็ให้สัญญาต่อพันธกิจร่วมกัน…

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 


Photo : Phetchaburi Harmony Puppet Festival 2024
เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง : สุรเชษฐ ปรางค์จันทร์

 

 


[1] สัมมนา "หุ่นไทยในมหรสพเทศกาลรัชกาลที่ 5",  Citizen Journalist youtube.com, สืบค้น 5 พฤษภาคม 2567  https://www.youtube.com/watch?v=lBY67AJm_HI

[2] คณะมหาฟลุ๊ค ลูกเพชร ศ.นครินทร์,  www.facebook.com, สืบค้น 1 พฤษภาคม 2567 https://www.facebook.com/p/หนังตะลุงเมืองเพชร-คณะมหาฟลุ๊ค-ลูกเพชร-ศนครินทร์-100002972606835

[3] วัดบางอ้อยช้าง, MIXMUพาเพื่อนเที่ยว, สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=Gb86w2A4q8E

[4] หุ่นหลวง, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย, สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=xXWxNUePbqs

[6]  ชูศรี สกุลแก้ว, หออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567 https://youtu.be/XJuJ8JkeFrA?si=sTVUEwQDAviWccnK

[7] " เทศกาลหุ่น เพชรบุรีเมืองหนัง", มหาเภตรา, Citizen Journalist, สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567 https://www.youtube.com/watch?v=QHSYZ_8x-VM&t=639s

[8]  น้ำท่วมโลกเรือโนอาห์, สืบค้น 8 พฤษภาคม 2567 https://www.bbc.com/thai/articles/c51p4rqldj4o

[9] หมื่นพรหมสมพัตสร (มี), นามานุกรมวรรณคดีไทย, สืบค้น 5 พฤษภาคม 2567 https://thailitdir.sac.or.th/cre_det.php?cr_id=90