Focus
- ปรีดี พนมยงค์ เขียนบทความกฎหมายเชิงวิชาการภาษาไทยครั้งแรกเรื่องการเรียนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสโดยย่อ เรียบเรียงตามกฎประธานาธิบดีและกฎเสนาบดี ตีพิมพ์ในนิตยสารบทบัณฑิตย์ เมื่อ พ.ศ. 2469
- บทความนี้มีที่มาจากข้อเขียนขณะที่นายปรีดีกำลังศึกษาทางด้านนิติศาสตร์ ณ ประเทศฝรั่งเศส ส่งมาลงตีพิมพ์ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 4 ตอนที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2469 เพื่ออธิบายรายละเอียดว่าตามกฎประธานาธิบดีและกฎเสนาบดี ว่านักเรียนนิติศาสตร์แต่ละชั้นแต่ละดีกรีปริญญาจะต้องเรียนวิชากฎหมายอะไรบ้าง ส่วนการสอบให้ได้รับ “ดีกรีของแผ่นดิน” หรือเป็นนักกฎหมายของรัฐทั้งในระดับบาเชอลิเอร์ ออง ดรัว (Bachelier en Droit), ลิซองสิเอ ออง ดรัว (Licencié en Droit) และด๊อกเตอร์ ออง ดรัว (Docteur en Droit) ก็จำเป็นจะต้องศึกษาวิชากฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายการเมือง, กฎหมายทะเล, กฎหมายการโรงงาน และกฎหมายการจดทะเบียนการค้า เป็นต้น
- นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดสำคัญขณะช่วงเวลานั้น ได้แก่ ในประเทศฝรั่งเศสมีมหาวิทยาลัย 17 แห่ง ซึ่งรับสอนวิชากฎหมาย มหาวิทยาลัยทั้งหลายนี้ขึ้นต่อรัฐบาลและจำต้องสอนตามหลักสูตรซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งไว้ หรืออนุญาตให้สอนการเรียนมี 2 ชนิด (1) เรียนเพื่อรับดีกรีของแผ่นดิน หรือ (2) เรียนเพื่อรับประกาศนียบัตรและหนังสือสำคัญของมหาวิทยาลัย
บทนำ
'ปรีดี พนมยงค์ กับประวัติความคิดทางกฎหมาย' เป็นชุดบทความกฎหมายของนายปรีดี พนมยงค์ อันทรงคุณค่าและหายากอย่างยิ่งโดยตีพิมพ์ในนิตยสารบทบัณฑิตย์ระหว่าง พ.ศ. 2469-2474 ที่สะท้อนให้เห็นการทำงานด้านกฎหมาย ความคิด และความสนใจทางกฎหมายของนายปรีดีก่อนการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 โดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอคัดเลือกมาเผยแพร่จำนวน 5 บทความ ดังนี้
- การเรียนกฎหมายในฝรั่งเศสโดยย่อ เรียบเรียงตามกฎประธานาธิบดีและกฎเสนาบดี ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 4 ตอนที่ 11 (พ.ศ. 2469)
- เกล็ดประมวลกฎหมายเรื่องพระเจ้านโปเลออง(นโปเลียน) กับประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 5 ตอนที่ 9 (พฤศจิกายน พ.ศ. 2471)
- ฐานะของชาวรุสเซียผู้ถูกถอนสัญชาติ (เฉพาะที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องความสามารถของบุคคลในกฎหมายระวางประเทศแผนกคดีบุคคล) ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 6 ตอนที่ 5 (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473)
- คดีปกครองในประเทศฝรั่งเศส ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 6 ตอนที่ 3 (กรกฎาคม พ.ศ. 2473)
- สิทธิของรัฐในทรัพย์มฤดกตามกฎหมายโซเวียต ใน บทบัณฑิตย์ เล่ม 6 ตอนที่ 10 (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474)
ใน พ.ศ. 2473 นายปรีดี พนมยงค์ ยังได้รับการอนุญาตให้เป็นบรรณาธิการนิตยสารบทบัณฑิตย์ และเขียนบทความทางกฎหมายลงในนิตยสารอย่างสม่ำเสมอ
ในประเทศฝรั่งเศส มีมหาวิทยาลัย ๑๗ แห่ง ซึ่งรับสอนวิชากฎหมาย มหาวิทยาลัยทั้งหลายนี้ขึ้นต่อรัฐบาลและจำต้องสอนตามหลักสูตรซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งไว้ หรืออนุญาตให้สอน
การเรียนมี ๒ ชนิด
๑) เรียนเพื่อรับดีกรีของแผ่นดิน หรือ
๒) เรียนเพื่อรับประกาศนียบัตรและหนังสือสำคัญของมหาวิทยาลัย
๑) เรียนเพื่อรับดีกรีของแผ่นดิน
ผู้ซึ่งจะเรียนในทางนี้ได้จำต้องสอบไล่วิชาอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้เสียก่อน
(ก) สอบไล่ได้เปนบาเชอลิเอร์ในทางอักษรศาสตร์ (B ès Lettres)
(ข) หรือ บาเชอลิเอร์ในทางวิทยาศาสตร์ (B. ès Sc)
(ค) สอบไล่วิชาใด ๆ ในประเทศฝรั่งเศส หรือในต่างประเทศซึ่งเทียบเท่าหรือสูงกว่าการเปนบาเชอลิเอร์ดังกล่าวแล้วแลเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้เปนพิเศษ
(ง) นักเรียนต่างประเทศที่มิได้สอบไล่ได้ดังกล่าวแล้ว ก็มีทางที่จะเรียนได้ โดยขออนุญาตเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการสอบไล่ Examen d’ Equivalence de Baccalauréat
ดีกรีของแผ่นดินมี ๓ ชั้น
๑. บาเชอลิเอร์ ออง ดรัว (Bachelier en Droit) หรือบาเชอลิเอร์กฎหมาย
๒. ลิซองสิเอ ออง ดรัว (Licencié en Droit) (ซึ่งเท่ากับนิติศาสตร์บัณฑิต)
๓. ด๊อกเตอร์ ออง ดรัว (Docteur en Droit) หรือด๊อกเตอร์กฎหมาย
การเล่าเรียนแบ่งออกเปนกำหนดดังนี้
ปีที่ ๑ (หรือชั้นบาเชอลิเอร์กฎหมาย ภาคที่ ๑)
(๑) พงศาวดารกฎหมาย
(๒) กฎหมายโรมัน (บุคคล และ ทรัพย์มฤดก)
(๓) กฎหมายแพ่ง (บุคคล และ ทรัพย์)
(๔) กฎหมายว่าด้วยการปกครองแผ่นดิน (Droit constitutionnel)
(๕) เศรษฐวิทยา (ตอนที่ ๑ และ ที่ ๒)
การสอบไล่แบ่งออกเปน ๒ ภาค ดังนี้
(ก) ภาคเขียน มีวิชา
(๑) กฎหมายแพ่ง
(๒) วิชาอีกอย่างหนึ่ง นอกจากกฎ หมาย แพ่ง ซึ่ง กรรมการเลือกเอาโดยวิธีจับฉลาก
นักเรียนต้องได้คะแนนรวมอย่างน้อย ๕๐% หรือเศษ ๒๐ ในส่วน ๔๐ วิชาอย่างหนึ่งมีคะแนนเต็ม ๒๐ ถ้านักเรียนได้คะแนนน้อยกว่าเศษ ๕ ส่วน ๒๐ ในลักษณใดแล้ว ถึงแม้ว่าคะแนนรวมจะได้เกินกว่า ๒๐ ในส่วน ๔๐ ก็อาจจะตกได้เมื่อกรรมการเห็นสมควร เมื่อสอบเขียนได้แล้ว จึงจะเข้าสอบภาคปากเปล่า
(ข) ภาคปากเปล่า
(๑) กฎหมายแพ่ง
(๒) และ (๓) และ (๔) วิชาอีก ๓ อย่าง ซึ่งไม่มีในการสอบเขียน
เมื่อสอบปากเปล่าเสร็จแล้ว มีการรวมคะแนนทั้ง ๒ ภาค นักเรียนต้องได้คะแนนรวมทั้งหมดอย่างน้อย ๕๐% ผู้ซึ่งได้คะแนนเกินกว่านี้ได้ “มองซีออง” ซึ่งคล้าย ๆ กับออนเนอร์ของการสอบไล่กฎหมายในประเทศอังกฤษ
มองซีออง (Mention) มี ๔ ชั้น ดังนี้
๑. พอใช้ได้ (Passable) คะแนนรวมตั้งแต่ ๕๐% ถึง ๖๙%
๒. ดีพอ (Assez bien) “____________________” ๗๐% ถึง ๗๙%
๓. ดี (Bien) “____________________” ๘๐% ถึง ๘๙%
๔. ดีมาก (Très bien ) “____________________” ๙๐% ถึง ๑๐๐%
ปีที่ ๒ (หรือชั้นบาเชอลิเอร์กฎหมาย ภาคที่ ๒)
(๑) กฎหมายโรมัน (ลักษณหนี้)
(๒) กฎหมายแพ่ง (ลักษณหนี้)
(๓) กฎหมายลักษณอาญาและวิธีพิจารณาอาญา
(๔) กฎหมายลักษณปกครองท้องที่ (Droit Administratif)
(๕) เศรษฐวิทยา (ตอนที่ ๓)
การสอบไล่แบ่งออกเปน ๒ ภาค และการให้คะแนน ฯลฯ คล้ายในปีที่ ๑
เมื่อสอบไล่ปีที่ ๒ ได้แล้ว นักเรียนจะได้รับดีกรีของแผ่นดินเปนบาเซอลิเอร์กฎหมาย และมีอำนาจหาอาชีวะซึ่งเกี่ยวแก่ทางกฎหมายได้ดังนี้
(ก) เปน Avoué ซึ่งมีน่าที่คล้ายโซลิซิเตอร์ในประเทศอังกฤษ
(ข) เปนNotaire คือเจ้าพนักงานผู้มีน่าที่ทำเอกสารกรมธรรม์ ฯลฯ
(ค) เปน Huissier เจ้าพนักงานกองหมาย
ปีที่ ๓ ถ้าบาเชอลิเอร์ต้องการเอาดีกรีสูงขึ้นไปก็ต้องเรียนในปี ที่ ๓ หรือชั้นนิติศาสตร์บัณฑิต ซึ่งมีวิชาดังนี้
(๑) กฎหมายแพ่ง (ลักษณมฤดก แลทรัพย์สินในระหว่างผัวเมีย)
(๒) กฎหมายการค้าขาย
(๓) วิธีพิจารณาความแพ่งและค้าขาย
(๔) กฎหมายนานาประเทศแพนกคดีบุคคล
(๕) กฎหมายการคลัง
(๖) และ (๗) นักเรียนมีอำนาจที่จะเลือกเรียนกฎหมาย ๒ ลักษณในจำพวกต่อไปนี้
(ก) กฎหมายการค้าขายเพิ่มเติม
(ข) กฎหมายการจดทะเบียน
(ค) กฎหมายการโรงงาน
(ง) กฎหมายการเมือง
(จ) กฎหมายทะเล
(ฉ) กฎหมายการเมืองขึ้นและประเทศราช
(ช) กฎหมายนานาประเทศแพนกคดีเมือง
(ซ) กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติการให้เปนไปตามคำพิพากษาและตามคำสั่งของศาล
การสอบดำเนินตามอย่างปีที่แล้ว ๆ มา เมื่อสอบได้แล้วนักเรียนได้ดีกรีของแผ่นดินเปน ลิซองสิเอ ออง ดรัว ซึ่งเท่ากับนิติศาสตร์บัณฑิต มีอำนาจหาอาชีวะมากกว่าบาเชอลิเอร์กฎหมายหลายอย่าง เช่น
(๑) มีอำนาจเปนทนายความ
(๒) มีอำนาจเปนผู้พิพากษา อัยการ
(๓) มีอำนาจเข้าสอบแข่งขันเปนเลขานุการในกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย ต่างประเทศ ฯลฯ
ชั้นด๊อกเตอร์กฎหมาย
นักเรียนชั้นด๊อกเตอร์กฎหมายมี ๓ ชนิด
(๑) นักเรียนชั้นด๊อกเตอร์กฎหมาย ซึ่งเรียนเหมือนกับคนสัญชาติฝรั่งเศส ผู้ซึ่งจะเปนนักเรียนชนิดนี้ได้ จำต้องสอบไล่ได้เปน ลิซองสิเอ ออง ดรัว ฝรั่งเศส (คนต่างประเทศที่สอบไล่ได้ดีกรีดังกล่าวนี้ ก็มีสิทธิที่จะเรียนชั้นด๊อกเตอร์กฎหมายชนิดนี้เหมือนกัน)
(๒) นักเรียนชั้นด๊อกเตอร์กฎหมาย ซึ่งเรียนโดยขอความยกเว้นเปนเศษ ไม่ต้องสอบไล่ได้เปน ลิซองสิเอ ออง ดรัว ฝรั่งเศส กล่าวคือผู้ซึ่งจะเรียนชนิดนี้นำหลักฐานมาแสดงว่า ตนได้สอบไล่วิชากฎหมายในเมืองต่างประเทศได้ดีกรีซึ่งเทียบเท่าหรือสูงกว่าดีกรีลิซองสิเอ ออง ดรัว ฝรั่งเศส ดีกรีดังกล่าวนี้มีแจ้งอยู่ในกฎเสนาบดีศึกษาธิการ ค.ศ. ๑๙๒๒ เช่น
อังกฤษ ดีกรี LLB 1st Class honour ของมหาวิทยาลัยลอนดอนและมหาวิทยาลัยในหัวเมืองอื่น ๆ
สหปาลีรัฐอเมริกา ดีกรี M. A. ของมหาวิทยาลัยซึ่งปรากฎนามในกฎเสนาบดีฉบับนั้น เช่น มหาวิทยาลัยฮาวาส โกลัมเบีย คอร์เนลล์ ฯลฯ
เบลเยียม ดีกรีด๊อกเตอร์กฎหมาย (ดีกรีของแผ่นดิน) ฯลฯ ฯลฯ
ผู้ซึ่งไม่ได้ดีกรีดังกล่าวนี้ ก็มีโอกาศที่จะเรียนได้ โดยนำเอาหลักฐานมาแสดงว่า ตนได้ศึกษาวิชากฎหมายในเมืองต่างประเทศ ซึ่งเทียบเท่ากับการเปนลิซองสิเอ ออง ดรัว ฝรั่งเศส แต่ต้องได้รับอนุญาตเปนพิเศษจากเสนาบดีกระทรวงศึกษาฯ
(๓) นักเรียนชั้นด๊อกเตอร์กฎหมายมหาวิทยาลัยกรุงปารีส (จำเป็นต้องออกนามมหาวิทยาลัยด้วย เพราะดีกรีชนิดนี้ไม่ใช่เปนของรัฐบาล และไม่ให้สิทธิของการเปนด๊อกเตอร์กฎหมาย ดังเช่นดีกรีของรัฐบาล การเรียนชนิดนี้ได้ตั้งขึ้นโดยกฎเสนาบดีกระทรวงศึกษา ปี ค.ศ. ๑๙๑๒)
ผู้ซึ่งจะเรียนในทางนี้ได้จำต้อง
(๑) เปนคนต่างประเทศ คนสัญชาติฝรั่งเศสเรียนไม่ได้
(๒) นำหลักฐานมาแสดงว่า ได้เรียนวิชากฎหมายในเมืองต่างประเทศซึ่งเทียบกับลิซองสิเอ ออง ดรัว ฝรั่งเศส เมื่อเสนาบดีกระทรวงศึกษาฯ อนุญาตให้เปนพิเศษแล้ว ก็มีอำนาจเรียนเปนด๊อกเตอร์กฎหมายในทางนี้ได้
ข้อต่างกันในระหว่างดอกเตอร์กฎหมายทั้ง ๓ ชนิด
(๑) ในประกาศนียบัตร์ของด๊อกเตอร์กฎหมายชนิดที่ ๑ มีบอกว่า ได้รับดีกรีเปนด๊อกเตอร์กฎหมาย ในประกาศนียบัตร์ของด๊อกเตอร์ชนิดที่ ๒ จะมีหมายเหตุไว้ด้วยว่าด๊อกเตอร์ผู้นั้นได้รับความยกเว้นไม่ต้องเรียนเปนลิซองสิเอ ออง ดรัว ในประกาศนียบัตร์ ของด๊อกเตอร์ชนิดที่ ๓ จะบอกไว้ด้วยว่าเปนด๊อกเตอร์มหาวิทยาลัย และคณะบัญชาการมหาวิทยาลัยเปนผู้ให้ประกาศนียบัตร์ ส่วนด๊อกเตอร์ชนิดที่ ๑ แลที่ ๒ นั้น ประกาศนียบัตร์ออกให้โดยเสนาบดีกระทรวงศึกษา ฯ ในนามของแผ่นดิน (ธรรมเนียมในคอนติเนนท์ ดีกรีของแผ่นดินสูงกว่าดีกรีของมหาวิทยาลัย)
(๒) ผู้ซึ่งได้เปนด๊อกเตอร์กฎหมายชนิดที่ ๑ เท่านั้น มีอำนาจเข้ารับตำแหน่งในการสอนได้ กล่าวคือ ถ้าในตำแหน่งใดต้องการผู้ซึ่งเปนด๊อกเตอร์กฎหมายแล้ว ให้หมายความคำว่าด๊อกเตอร์กฎหมายในที่นี้ คือผู้ซึ่งสอบไล่ได้อย่างชนิดที่ ๑ เท่านั้น ส่วนผู้ซึ่งสอบได้อย่างชนิดที่ ๒ ไม่มีอำนาจนอกจากสภาชั้นสูงแห่งการศึกษาจะอนุญาตให้เปนพิเศษ (มาตรา ๕ แห่งกฎประธานาธิบดี ค.ศ. ๑๙๒๑) ผู้ซึ่งเปนด๊อกเตอร์ชนิดที่ ๓ ไม่มีสิทธิเลย
(๓) ผู้ซึ่งได้เปนด๊อกเตอร์ชนิดที่ ๒ และที่ ๓ โดยที่ได้รับการยกเว้นเปนพิเศษดังกล่าวมาแล้วนั้น การยกเว้นนี้จะถือเหมือนได้เปนลิซองสิเอ ออง ดรัว ทีเดียวไม่ได้ (มาตรา ๖ แห่งกฎประธานาธิบดี ค.ศ. ๑๙๒๑) กล่าว คือ ไม่มีสิทธิเหมือนเช่นคนที่ได้เปนลิซองสิเอ ออง ดรัว สิทธิอันนี้คือ เปนทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ ฯลฯ ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น
สรุปรวมความว่าดีกรีด๊อกเตอร์กฎหมายอย่างชนิดที่ ๑ เท่านั้นเปนดีกรีที่ให้สิทธิโดยบริบูรณ์ เพราะจะเห็นได้ในต่อไปนี้ว่า นักเรียนชนิดที่ ๒ และที่ ๓ มาจับเรียนกฎหมายฝรั่งเศสในตอนปลายเท่านั้น ส่วนวิชาอื่น ๆ ซึ่งต้องเรียนในปีที่ ๑ ปีที่ ๒ และปีที่ ๓ นั้น หลายลักษณไม่ได้เรียนซ้ำในชั้นด๊อกเตอร์กฎหมาย เพราะฉนั้นจึงเปนอันว่าด๊อกเตอร์ชนิดที่ ๒ และ ที่ ๓ นั้นไม่ได้เรียนวิชาดังกล่าวมาแล้ว และในบางประเทศวิชาบางอย่างก็ไม่ได้สอนในการเรียนกฎหมาย ซึ่งนักเรียนอ้างว่าเทียบเท่าการเปนลิซองสิเอ ออง ดรัว จึงเปนอันว่าดีกรีของต๊อกเตอร์ชนิดที่ ๒ เเละที่ ๓ นั้นเปนเกียรติยศพิเศษอันหนึ่ง
วิชาชั้นด๊อกเตอร์กฎหมาย
ตามกฎประธานาธิบดี ค.ศ. ๑๘๙๕ การเรียนเปนด๊อกเตอร์กฎหมายมี ๒ ประเภท
(๑) ด๊อกเตอร์กฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ = Docteur en Droit (mention sciences juridiques)
(๒) ด๊อกเตอร์กฎหมายฝ่ายรัฐประศาสน์และเศรษฐศาสตร์ = Doctour en Droit (mention sciences politiques et économiques)
ตามธรรมดาเปนวิชาที่เคยเรียนมาแล้วในปีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ในชั้นด๊อกเตอร์กฎหมายเปนการเรียนทวนต้นและเลือกวิชาที่สำคัญ ๆ มาเรียนให้พิศดารและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
(ก) ด๊อกเตอร์กฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ การเรียนแบ่งออกเปน ๓ ภาค
ภาคที่ ๑ มีวิชาดังนี้
(๑) พงศาวดารกฎหมายอย่างพิศดาร
(๒) แปลและวินิจฉัยบทกฎหมายโรมัน
(๓) และ (๔) กฎหมายโรมันอย่างพิศดารและลึกซึ้ง
การสอบไล่นั้นเปนการสอบปากเปล่าไม่มีเขียน นักเรียนต้องได้คะแนนรวมอย่างน้อยเศษ ๑๔ ในส่วน ๒๐ หรือ ๗๐% จึงจะสอบไล่ได้
ภาคที่ ๒ มีวิชาดังนี้
(๑) และ (๒) และ (๓) กฎหมายแพ่งอย่างพิศดารเเละลึกซึ้งทั้ง ๓ ตอน
(๔) นักเรียนเลือกเอาวิชาอันหนึ่งอันใดต่อไปนี้
(ก) กฎหมายแพ่งของประเทศอื่น (เรียนโดยใช้วิธีเปรียบเทียบ)
(ข) กฎหมายอาญาของประเทศอื่น (เรียนโดยใช้ วิธีเปรียบเทียบ)
(ค) กฎหมายลักษณปกครองท้องที่ (ตอนที่กล่าวถึงศาลของทางปกครอง)
(ง) กฎหมายการค้าขาย ( พิศดาร)
(จ) วิธีพิจารณา และปฏิบัติการให้เปนไปตามคำพิพากษา
ภาคที่ ๓ การเขียนตำรากฎหมาย (Thèse)
นักเรียนต้องเขียนตำรากฎหมายเล่มหนึ่ง ก่อนที่จะลงมือเขียนต้องนำเอาหัวข้อที่จะแต่งไปให้หัวน่าศาตราจารย์กฎหมายและผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยพิจารณา เมื่อได้รับอนุญาตจากท่านทั้ง ๒ นี้แล้วก็ลงมือเขียนได้
นักเรียนจำต้องเลือกศาสตราจารย์คนหนึ่งเปนประธานในการแต่งตำรานี้ ซึ่งจะตักเตือนและแนะนำในการแต่ง
เมื่อนักเรียนแต่งเสร็จแล้ว นำเอาตำราไปให้ศาสตราจารย์ผู้นี้ตรวจเสียก่อน ถ้าท่านศาสตราจารย์เห็นว่าสมควรที่จะนำเสนอมหาวิทยาลัยเเล้ว ก็แสดงความเห็นในท้ายตำรา
นักเรียนต้องนำเอาตำรานี้ไปขออนุญาตท่านผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยพิมพ์
เมื่อท่านอนุญาตแล้วจึงจะพิมพ์ได้
เมื่อจัดการพิมพ์เสร็จแล้ว นักเรียนต้องนำเอาตำรานี้เปนจำนวน ๙๕ ฉบับไปมอบไว้ที่ทำการมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยจัดตั้งกรรมการ ๓ คนเปนผู้ตรวจตำรานี้ แลมอบตำรานี้ไปให้ท่านทั้ง ๓ อ่านเปนเวลาอย่างน้อย ๑ เดือน เมื่อพ้นกำหนดนี้เเล้ว มหาวิทยาลัยนัดการสอบปากเปล่าอีกครั้งหนึ่ง คือ กรรมการทั้ง ๓ นี้ถามความเห็นของนักเรียน เพื่อสอบสวนดูว่าการที่เขียนไปนั้นเปนความเห็นของนักเรียน หรือไปลอกคัดเอามาจากที่ไหน กรรมการมีอำนาจถามความรู้ทั่วไปของนักเรียนได้นอกจากเรื่องที่นักเรียนเขียน การสอบปากเปล่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๑ นาฬิกากับ ๑ ภาค
เสร็จแล้วกรรมการลงคะแนน นักเรียนต้องได้คะแนนรวมเศษ ๑๔ ในส่วน ๒๐ หรือ ๗๐% จึงจะได้รับดีกรีเปนด๊อกเตอร์กฎหมาย
(ข) ด๊อกเตอร์กฎหมายฝ่ายรัฐประศาสน์และเศรษฐศาสตร์ การเรียนเเบ่งออกเปน
๓ ภาค
ภาคที่ ๑
(๑) พงศาวดารคดีการเมือง
(๒) กฎหมายนานาประเทศเเพนกคดีเมือง
(๓) กฎหมายลักษณปกครองท้องที่
(๔) นักเรียนต้องเลือกเอาวิชาอีกลักษณหนึ่งต่อไปนี้
(ก) กฎหมายว่าด้วยการปกครองประเทศของประเทศต่าง ๆ เรียนโดยใช้วิธีเปรียบเทียบ
(ข) หัวข้อกฎหมายคดีเมือง การสอบไล่ต้องได้คะเเนนอย่างน้อย ๗๐%
ภาคที่ ๒
(๑) เศรษฐวิทยาทั่วไป
(๒) พงศาวดารของลัทธิเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ
(๓) กฎหมายและศาสตร์ของการคลัง
(๔) นักเรียนต้องเลือกเอาวิชาอีกลักษณหนึ่งต่อไปนี้
(ก) กฎหมายเเละศาสตร์การโรงงาน
(ข) ” และเศรษฐศาสตร์ของพื้นดิน
(ค) ” และ ” ” ในเมืองขึ้น
การสอบไล่ดำเนิรการเหมือนกับในภาคอื่น
ภาคที่ ๓ การเขียนตำรากฎหมาย (Thèse) ในวิชาอย่างหนึ่งอย่างใดข้างบนนี้
การสอบเเละการแต่งดำเนินการเหมือนกับด๊อกเตอร์กฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์
เรียนเปนด๊อกเตอร์กฎหมายทั้งฝ่ายนิติศาสตร์ และฝ่ายรัฐประศาสน์กับเศรษฐศาสตร์
ด๊อกเตอร์กฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ซึ่งประสงค์จะได้ดีกรีฝ่ายรัฐประศาสน์กับเศรษฐศาสตร์ด้วย ต้องสอบไล่วิชา ๒ ภาค
ภาคที่ ๑ ปากเปล่า
(๑) เศรษฐวิทยาทั่วไป
(๒) พงศาวดารของลัทธิเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ
(๓) กฎหมายและศาสตร์ของการคลัง หรือกฎหมายและศาสตร์ของการโรงงาน
ภาคที่ ๒ แต่งตำรากฎหมาย Thèse ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐประศาสน์หรือเศรษฐศาสตร์ วิธีเเต่งดำเนิรการเหมือนกับในชั้นด๊อกเตอร์กฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ด๊อกเตอร์กฎหมายฝ่ายรัฐประศาสน์เเละเศรษฐศาสตร์ ซึ่งประสงค์จะรับดีกรีฝ่ายนิติศาสตร์ด้วย ต้องสอบไล่อีก ๒ ภาค
ภาค ๑
ปากเปล่า
(๑) กฎหมายโรมัน (ลักษณหนี้)
(๒) กฎหมายแพ่งฝรั่งเศส (ลักษณหนี้)
ภาคที่ ๒ แต่งตำรากฎหมาย Thèse ในเรื่องที่เกี่ยวในทางนิติศาสตร์ วิธีแต่งดำเนิรการเหมือนกับชั้นด๊อกเตอร์กฎหมายที่ต่อไปนี้แล้ว ๆ มา
สิทธิของต๊อกเตอร์ กฎหมายทั้งฝ่ายนิติศาสตร์ และฝ่ายรัฐประศาสน์และเศรษฐศาสตร์
๑) เปนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในมหาวิทยาลัย
๒) เข้าสอบไล่แข่งขัน เปนศาสตราจารย์ ในมหาวิทยาลัย
การเข้าสอบแข่งขันเปนศาสตราจารย์ ในมหาวิทยาลัยกฎหมาย
การเข้าสอบไล่แข่งขันทั้งนี้เเบ่งออกเปน ๔ แพนก
(๑) เเพนกกฎหมายคดีบุคคลแลกฎหมายอาญา = Droit privé et Droit criminel
(๒) แพนกกฎหมายคดีเมือง = Droit public
(๓) แพนกเศรษฐศาสตร์ = Sciences économiques
(๔) แพนกพงศาวดารกฎหมาย = Histoire du Droit ผู้ซึ่งจะเข้าสอบไล่เเข่งขันได้จำต้อง
(ก) เปนด๊อกเตอร์กฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ฝ่ายการเมืองและเศรษฐศาสตร์
(ข) เปนคนสัญชาติฝรั่งเศส และมีสิทธิบริบูรณ์ในทางการเมือง
(ค) มีอายุอย่างน้อยที่สุด ๒๕ ปีเต็ม
(๑) แพนกกฎหมายคดีบุคคลและกฎหมายอาญา
(ก) แต่งเรื่องในกฎหมายโรมัน ซึ่งกรรมการจะกะให้
(ข) ปาฐะกถาว่าด้วยกฎหมายแพ่ง
(ค) ” ในกฎหมายค้าขายและกฎหมายทะเล
(ง) ” ” ” ลักษณอาญา
(จ) ” ในวิธีพิจารณา หรือกฎหมายนานาประเทศเเพนกคดีบุคคล
(๒) แพนกกฎหมายคดีเมือง
(ก) เเต่งเรื่องในกฎหมายนานาประเทศ แพนกคดีบุคคล หรือในกฎหมายว่าด้วยการปกครองบ้านเมือง
(ข) ปาฐะกถาในกฎหมายการปกครองบ้านเมือง
(ค) ” ” ” ” ท้องที่
(ง) ” ” ” การคลัง
(จ) ” ” ” นานาประเทศแพนก
(๓) แพนกพงศาวดารกฎหมาย
(ก) แต่งเรื่องในพงศาวดารกฎหมาย
(ข) ปาฐะกถาในกฎหมายโรมัน
(ค) ” ในพงศาวดารกฎหมายคดีเมือง
(ง) อธิบายและตำหนิบทกฎหมายโรมันซึ่งปรากฏอยู่ใน หรือในตำราของศาสตราจารย์ครั้งโรมัน
(๔) แพนกเศรษฐศาสตร์
(ก) แต่งเรื่องในเศรษฐวิทยา
(ข) ปาฐะกถาในเศรษฐวิทยา
(ค) ” พงศาวดารของลัทธิแห่งเศรษฐศาสตร์
(ง) ” กฎหมายและศาสตร์การคลัง
(จ) ” ” การโรงงาน หรือหัวเมืองขึ้น หรือในกฎหมายเกี่ยวแก่การที่ดิน
การสอบแข่งขันนี้มีทุก ๆ ๒ ปี กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ทราบล่วงน่าว่ามีตำแหน่งว่างอยู่เท่าใด ผู้ซึ่งได้คะแนนดีที่สุดจึงจะมีอำนาจเข้ามาเปนศาสตราจารย์สำรองอยู่ก่อน เมื่อเสนาบดีเห็นสมควรแล้วจึงจะตั้งเปนศาสตราจารย์ประจำตำแหน่ง
(ตามธรรมดาเสนาบดีตั้งเมื่อคณะศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยประชุมกันเสนอรายชื่อผู้ซึ่งสมควร)
(ในคราวน่าจะแปลข้อบังคับใหม่ ค.ศ. ๑๙๒๔ ว่าด้วยการเรียนเปนด๊อกเตอร์กฎหมาย)
หมายเหตุ :
- คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
- ภาพประกอบจากบทความการเรียนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสโดยย่อ เรียบเรียงตามกฎประธานาธิบดีและกฎเสนาบดี โดยนายปรีดี พนมยงค์ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติ
- กฎประธานาธิบดีและกฎเสนาบดี ประกอบด้วยกฎประธานาธิบดี ค.ศ. 1895, กฎประธานาธิบดี ค.ศ. 1921 และกฎเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ค.ศ. 1912
หลักฐานชั้นต้น :
- ปรีดี พนมยงค์, การเรียนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศส โดยย่อเรียบเรียงตามกฎประธานาธิบดีและกฎเสนาบดี โดยนายปรีดี พนมยงค์ เนติบัณฑิตสยาม และ Licencié en Droit ฝรั่งเศส และนักเรียน ชั้นด๊อกเตอร์กฎหมาย ภาค 3 (Thèse), บทบัณฑิตย์, เล่ม 4 ตอน 11, (2469)
- ปรีดี พนมยงค์
- Pridi on legal thougths
- การเรียนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศส
- กฎประธานาธิบดี ค.ศ. 1895
- กฎประธานาธิบดี ค.ศ. 1921
- กฎเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ค.ศ. 1912
- กฎหมายแพ่ง
- กฎหมายว่าด้วยการปกครองแผ่นดิน
- กฎหมายการเมือง
- กฎหมายการเมืองขึ้นและประเทศราช
- พงศาวดารของลัทธิแห่งเศรษฐศาสตร์
- กฎหมายและศาสตร์การคลัง
- เศรษฐวิทยา