ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #24: 112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ “การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิและสันติภาพ” เนื่องในวาระ 112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

15
มกราคม
2567

วานนี้ (14 มกราคม 2567) “สถาบันปรีดี พนมยงค์” จัดงานเสวนา PRIDI Talks #24: 112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ “การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิและสันติภาพ” ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี เพื่อรำลึกถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านการต่อสู้เรื่องสิทธิและสันติภาพของผู้หญิง ในบทบาทต่างๆ ทั้งการต่อสู่เรื่องสิทธิมนุษยชน การต่อสู้ในเรื่องของสื่อมวลชน ตลอดจนการต่อสู้เรื่องสันติภาพ เรื่องความรุนแรงในพม่า ที่จะฉายภาพให้เห็นถึงการต่อสู้หญิงเพื่อสิทธิและสันติภาพ

ภายในงานเริ่มด้วยสัมภาษณ์พิเศษ BBC Thai Service รายการดนตรีในหัวใจ เมษายน 2543 ณ บ้านสวนพลู โดย คุณรุ่งมณี เมฆโสภณ และการแสดงเปียโนจาก คุณสุดา พนมยงค์ บุตรีคนที่ 3 ของนายปรีดี-ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และ ไวโอลินจาก คุณพลศิษฎ์ โสภณสิริ ในบทเพลง One Fine Day และ เพลง Gypsy Moon ซึ่งเป็นเพลงที่มีความหมายลึกซึ้งต่อครอบครัวปรีดี-พูนศุข

หลังจากนั้น ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวเปิดงานโดยกล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ ทั้งประเด็นสิทธิและสันติภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับท่านผู้หญิงพูนศุข โดยท่านผู้หญิงพูนศุข มักเน้นย้ำถึงคุณค่าของการอโหสิกรรม และความกล้าหาญในการทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ลำดับถัดไปเป็นการเสวนาในหัวข้อ  “การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิและสันติภาพ” ร่วมเสวนาโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ดำเนินรายการโดย ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ กล่าวถึง ท่านผู้หญิงพูนศุข ในประวัติศาสตร์ไทย ที่มีบทบาทสำคัญในหลากหลายเหตุการณ์ทั้งในด้านการสร้างสันติภาพ เทียบได้เท่ากับแม่ชีเทเรซ่า หรือมหาตมะ คานธี อีกประเด็นที่สำคัญ คือ ช่วงเวลาที่ท่านผู้หญิงเป็นคู่คิดของนายปรีดี พนมยงค์ ส่งเสริมบทบาทของสตรีและคนตัวเล็กตัวน้อย ให้มีบทบาทมากขึ้นในสังคมไทย 

ในลำดับถัดไป ฐปณีย์ เอียดศรีไชย กล่าวถึงในการทำงานด้านสื่อสารมวลชนในฐานะผู้หญิง การเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงประเด็นสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ซับซ้อน และการที่จะก้าวข้ามจากความหวาดกลัว เพื่อทำให้เกิดความกล้าหาญ ถึงแม้ว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถนำเสนอในสิ่งที่สนใจได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่ใช่เจ้าของสื่อโดยตรง จนนำไปสู่การจัดตั้งสำนักข่าว The Reporters เพื่อที่จะนำเสนอในประเด็นต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ 

ลำดับถัดมา ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมไทย ผู้หญิงมักถูกสบประมาทจากคนรอบข้างในอาชีพที่ต้องใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญสูง เช่น ทนายความ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อผู้หญิง เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงโอกาสและสิทธิต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย

และ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวถึงปัญหาสังคมชายเป็นใหญ่ ที่เป็นปัญหาฝังรากลึกในสังคมไทย ซึ่งส่งผลต่อโอกาสและสิทธิของผู้หญิงในหลายๆ ด้าน เช่น การเข้าถึงการศึกษา การทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคมอย่างเท่าเทียม โดยปัญหาต่างๆ เหล่านี้ จะสามารถแก้ไขได้ โดยการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อเพศหญิง และแก้ไขกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อความเท่าเทียมทางเพศ

โดยในช่วงท้าย เป็นการมอบของที่ระลึกโดย คุณสุดา พนมยงค์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ก่อนปิดกิจกรรม  อาจารย์หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ ศิลปินผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเขียนภาพเหมือน นำภาพเขียนท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ขนาด 120*80 เซนติเมตร มอบให้สถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นที่ระลึก รับมอบโดย คุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์

งานเสวนาครั้งนี้ ได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ ทายาทปรีดี - พูนศุข พนมยงค์, คุณชรินทร์ หาญสืบสาย กรรมการกลางมูลนิธิปรีดี พนมยงค์, คุณสันติสุข โสภณศิริ กรรมการกลางมูลนิธิปรีดี พนมยงค์, รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา, พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ทายาทพระยาพหลพลพยุหเสนา, คุณศราพัส บำรุงพงศ์-ปทุมรส ทายาทคุณเฉลียว ปทุมรส, กังวาฬ พุทธิวนิช เป็นต้น