ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

“เพลงรัก เอกลักษณ์แห่งยุคสมัย” จากใจ สุรักษ์ สุขเสวี

22
กุมภาพันธ์
2568

Focus

  • สุรักษ์ สุขเสวี มองว่าประสบการณ์ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์งานเพลง เขาเชื่อว่าการที่นักแต่งเพลงมีประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายจะช่วยให้งานเพลงมีพลังและมีความลึกซึ้ง นอกจากนี้ เขายังให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาและการเรียบเรียงทำนองให้สอดคล้องกับเนื้อหาเพลง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เพลงของเขาจับใจผู้ฟัง
  • คำที่เราเลือกใส่ลงไปในเพลงจะน้อยลง แต่มันจะต้องถูกแทนที่ด้วย ‘ความคิด’ ในทุก ๆ จังหวะเคลื่อนไหวของคำร้องในเนื้อเพลง ดังนั้นในยุคของการใช้ภาษาพูดในการแต่งเพลง จึงเป็นยุคของการนำเสนอ ‘มุมมอง’ ที่ชี้นำความคิดมากมาย เรามี “ลุงคิดกับชิดชัย” กับ “แดนศิวิไลซ์สุดขอบฟ้า” เรามี “ดอกไม้พลาสติค” เรามี “ผักชีโรยหน้า”  มี “สายล่อฟ้า” มี “สองเราเท่ากัน” (สุรักษ์กล่าวถึงเพลงยุค “ภาษาพูด”)
  • สุรักษ์ยังคงทำงานในวงการเพลงและมีโครงการใหม่ ๆ ที่เขาต้องการทำ เช่น การแต่งเพลงแนว Retro Music ที่เขาชื่นชอบ หรือการทำละครเพลงจากบทเพลงที่เขาแต่ง เขายังหวังว่าจะมีโอกาสได้จัดคอนเสิร์ตที่เน้นเพลงที่ใช้ภาษาสวยงามและมีคุณค่าทางศิลปะ แม้ว่าจะไม่ใช่เพลงฮิตก็ตาม

 

 


photo : www.ifeelfinemusic.com ; ปกหน้าหนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” 

 

 

บน ‘ถนนสายดนตรี’ ของ สุรักษ์ สุขเสวี

สุรักษ์ สุขเสวี อดีตนักแต่งเพลงมือทองของค่ายใหญ่ ผู้นำวัฒนธรรมใหม่สู่วงการเพลงไทย ปัจจุบันเขาเป็นนักแต่งเพลงอิสระที่มีศิลปะของการใช้ ‘ภาษากวี’ ในการแต่งเพลงได้อย่างละมุนใจ ท่ามกลางโสตนิยมที่ต้องสาด “ภาษาโฆษณา” เพื่อสื่อสารให้เหมาะสมกับยุคสมัย และต้องกระแทกใจในทันทีที่ได้ยินโดยไม่ต้องแปล เพราะความเป็นชนที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนสอง generation จึงเสมือนส่วนผสมของศิลปะสองประเภทที่ให้ความงดงามลงตัวระหว่าง classic & modern เป็นความต่างที่สร้างให้งานเพลงของสุรักษ์เปี่ยมไปด้วย ‘เอกอัตลักษณ์’ ที่ฉายชัดด้วยฉากทัศน์ของความคิด ชีวิต อารมณ์ ผสมกันเป็นความรื่นรมย์ที่สมจริง) ทั้งผลงาน ‘ตอบโจทย์’ ช่วงที่ร่วมงานกับบริษัท GMM Grammy (มหาชน) กว่า 10 ปี, ผลงานเพลงอิสระโดย I Feel Fine Music (Mind Medley Co., Ltd) ที่ ‘ตอบใจ’ ตัวเอง, บทเพลงเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรให้กับบริษัท หรือสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งหมดแล้วมากกว่า 500 เพลง ล้วนมี ‘ลายเซ็นต์’ เป็นของตัวเอง หนุนให้ชื่อของคุณสุรักษ์โดดเด่นเป็น ‘หนึ่งในผู้นำแถวหน้า’ ของนักแต่งเพลงในรุ่นเดียวกันอย่างยากที่จะหาใครเทียบได้ สิ่งที่น่าสนใจคือความลุ่มหลง (passion) ที่อยู่เบื้องหลังความหาญกล้าท้าชน ดั้นด้นผจญทุกด่านเพื่อวางฐานสานฝัน ในขณะเดียวกันความเป็นปัจเจกที่เสกสรรค์งานก็เป็นอีกมิติที่น่าค้นหาตัวไม่ต่างกัน เพราะมันคือด่านแรกสุดที่สำคัญมากหากจะก้าวอย่างมีจุดหมาย และปลายทางคือการสร้างงานที่เป็น ‘อมตะ’ ประดับไว้ในใจคน

สุรักษ์ สุขเสวี เป็นคนราชบุรีโดยกำเนิด และเกิดมาเพื่อเป็นนักเดินทางที่ถูกจัดวางไว้บน ‘ถนนสายดนตรี’ มาตั้งแต่เด็ก ด้วยครอบครัวมีอาชีพค้าส่งผลไม้ จึงมักมีโอกาสได้ท่องเที่ยวต่างจังหวัดทุกภาคของประเทศไทยเป็นประจำ รถบรรทุกจึงกลายเป็นห้องเรียนแรกที่เพาะเมล็ดพันธุ์ปัญญา สุรักษ์ได้ซึมซับรับมาทั้งบทเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพลงสากลในยุค 1970 ที่ทั้งพี่ชายและคนขับรถบรรทุกผลัดเปลี่ยนกันเปิด เป็นบทเรียนแรกพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เขาได้รู้จักความสละสลวยในภาษาไทย และท่วงทำนองของบทเพลงแต่ละประเภท ทั้งเพลงไทยและสากล หล่อหลอมให้สุรักษ์เป็นหนึ่งในนักแต่งเพลงจำนวนน้อยคนที่สามารถรังสรรค์บทเพลงด้วย ‘ภาษากวี’ ได้อย่างมีเอกลักษณ์ อาทิ เพลง “วิมานดิน” (นันทิดา แก้วบัวสาย) หรือ “ลมหนาวและดาวเดือน” (ปนัดดา เรืองวุฒิ), “รัตนโกสินทร์” (สุรสีห์ อิทธิกุล), “King Of Kings” (รวมศิลปิน อัลบั้ม H.M.Blues) ฯลฯ

 


photo : www.ifeelfinemusic.com : Album “ดนตรีสีคราม”

 

ผลงานอัลบั้มเพลงและหนังสือ

  • อัลบั้ม “ดนตรีสีคราม” (2544) เปิดค่ายด้วยท้องฟ้าแห่งความหวังหลังแยกตัวจาก GMM Grammy สู่การเป็นศิลปินเดี่ยวเกี่ยวพลังน้องพี่คนดนตรีระดับแนวหน้าของเมืองไทยมากมายมาร่วมสร้างงานแบบ Indy ในแนวเพลง Pop Rock ที่ไม่อยู่ในกระแสหลักตามแนวตลาด และขาดการทำ promotion นั่นเป็นเหตุให้อัลบั้มแรกกลายเป็นของดีที่ต้องสะสมสำหรับผู้ที่ชื่นชมผลงานของ สุรักษ์ สุขเสวี ที่รับเหมาเป็นทั้ง โปรดิวเซอร์ แต่งเองทั้งคำร้อง - ทำนอง และขับร้องเอง เป็นอัลบั้มที่มีกลิ่นอายสายดนตรีตามแบบศิลปินต่างประเทศที่สุรักษ์ชื่นชอบคือ Phil Collins, Bryan Adams, Toto , The Moody Blues
  • อัลบั้ม “ภาพผ่านวันเขียนเพลง” (2545) เป็นซีดีรวมผลงานการแต่งเพลงของสุรักษ์ สุขเสวี มีเพลงฮิตที่คุ้นหูคนฟังมากมายในอัลบั้ม อาทิ เธอผู้ไม่แพ้ (ธงไชย), ชายคนหนึ่ง (ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล), วิมานดิน (นันทิดา),ลมหนาวและดาวเดือน(ปนัดดา), เก็บมันเอาไว้ (เจตริน) ฯล ออกในสังกัด Grammy Big
  • อัลบั้ม “ALL STARS FOR CARE” (2546) เป็นอัลบั้มเพลงรักการกุศลเพื่อมูลนิธิรักษ์ไทย - องค์การแคร์ ที่ สุรักษ์ สุขเสวี รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์และแต่งเพลงเองทั้งหมด โดยมีดาราและ VJ ระดับแนวหน้าของเมืองไทย รับเชิญมาเป็นศิลปินร่วมร้องเพลงในอัลบั้มนี้ อาทิ นุ่น – สินิทธา, พลอย – เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์, เชอรี่ เข็มอัปสร , นาเดีย นิมิตวานิช, เติ้ง,เอก,บอส,วุ้นเส้น VJ จาก Channel V, แพท พัทสน, เอ็ม อภินันท์ , ชาย – ออม นวดี, ธัญญาเรศ รามณรงค์ , ครีม เปรมสินี และน้อง ๆ จากสถาบันสอนภาษาครูเคท
  • อัลบั้ม “THE WINTER SONG” (2547) เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มแบบ Indy ที่ สุรักษ์ สุขเสวี รับหน้าที่โปรดิวซ์และแต่งเพลงเองทั้งอัลบั้ม ชวนนักร้องที่ทำงานอยู่เบื้องหลังมาเป็นศิลปินรับเชิญ ทุกเพลงในอัลบั้มนี้มีแนวเพลงเป็น Pop Jazz ที่เน้นอารมณ์ เนื้อหา และเรื่องราวของเทศกาลปีใหม่ มีทั้งเพลงสนุก เศร้า เหงา อบอุ่น เพลงบรรเลง และเพลงที่หลายคนคุ้นหูกันดีในอัลบั้มนี้คือ “ถือว่าเป็นอีกปีที่ฉันพอใจ” ที่ แอม เสาวลักษณ์ นำไป Cover ใหม่ เมื่อต้นปี 2551
  • อัลบั้ม  “Playlist By สุรักษ์ สุขเสวี” (2551) เป็นอัลบั้มรวมผลงานของนักแต่งเพลงระดับหัวกะทิของค่าย GMM Grammy ในโครงการ 25 ปี Grammy  โดยออกเป็นชุด Remastering เสียงจากเพลงต้นฉบับ ด้วยแผ่น cd คู่ ในรูปแบบ cd & vcd รวมผลงานเพลงของสุรักษ์ เช่น วิมานดิน (นันทิดา), คู่แท้ (เบิร์ด), นิยามรัก (นูโว), นาทีที่ยิ่งใหญ่ (คริสติน่า) ฯลฯ

 


photo: www.ifeelfinemusic.com : หนังสือ “เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง”

 

  • หนังสือ “ความรักเขียนเพลง” (2545) สุรักษ์ได้ชักชวนเพื่อนนักแต่งเพลง 15 คน จากค่ายเพลงต่าง ๆ ให้เลือกเพลงที่ตัวเองแต่งมาเขียนถึงแรงบันดาลใจที่มาของเพลงนั้น ๆ มีตัวอย่างลายมือของผู้แต่งแต่ละเพลงด้วย นักแต่งเพลงที่รับเชิญมาร่วมเขียนในพ๊อคเก็ตบุ๊คเล่มนี้ อาทิ ครูสลา คุณวุฒิ เพลง “เหนื่อยไหมคนดี”, กมลศักดิ์ สุนทานนท์ เพลง “เล่าสู่กันฟัง”, สารภี ศิริสัมพันธ์ เพลง “ลึกสุดใจ”, วรรธนา วีรยวรรธน เพลง “เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม” ฯลฯ
  • หนังสือ “เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง” [1] เป็นเพียงปกเดียวที่ยังเหลืออยู่ขณะนี้ (ตีพิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2548 โดยสำนักพิมพ์ Bliss Publishing ในเครือ Image – GMM) รวมแรงบันดาลใจและมุมมองส่วนตัวที่มีต่อ 24 บทเพลงประทับใจ จากปลายปากกาของ สุรักษ์ สุขเสวี ที่ต้องจัดพิมพ์ถึง 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 2-3 ได้เพิ่มจำนวนเพลงจาก 24 เพลงในเล่มเดิม เป็น 60 เพลง และเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น “ชีวิตลิขิตเพลง” ในการพิมพ์ครั้งที่ 4  จนมาถึงการพิมพ์ครั้งที่ 5 จึงกลับมาใช้ชื่อเดิมคือ “เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง” ด้วยเหตุผลเพื่อสะดวกต่อการค้นหาผลงานทาง Internet
    เป็นหนังสือที่รวมประวัติการทำงาน แรงบันดาลใจ ที่มาของ 60 บทเพลง ที่แฟนเพลง ‘ยุคล้านตลับ’ รักและรู้จักกันดี อาทิ “ทำไมต้องเธอ”-ธงไชย, “คู่แท้”-ธงไชย,  “หัวใจขอมา”- คริสติน่า,  “แทนคำนั้น”-วสันต์ โชติกุล, “ตัวจริงของเธอ”-จั๊ก ชวิน ดับเบิ้ลยู, “นิยามรัก”-นูโว, “ลาก่อน”-อัสนี -วสันต์, “หมากเกมนี้”-อินคา, “นาทีที่ยิ่งใหญ่”-คริสติน่า, “ชายคนหนึ่ง”-ปีเตอร์ คอร์ป, “ลมหนาวและดาวเดือน”-ปนัดดา, “วิมานดิน”-นันทิดา ฯลฯ  มีซีดีเพลงจำนวน 16 เพลงแถมมากับหนังสือด้วย ยังเหลือจำนวนจำกัด สั่งซื้อได้ที่ www.ifeelfinemusic.com หรือ facebook : page “เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง”
  • หนังสือ “ท้องฟ้าริมหน้าต่าง” (2551) เป็นหนังสือที่เป็นภาคต่อจากเล่ม “เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง”  บอกเล่าถึงที่มาของเพลงที่สุรักษ์แต่งให้กับศิลปินในค่าย GMM - Grammy จำนวน 21 เพลง อาทิ เพลง “หากันจนเจอ” (กบ ทรงสิทธิ์ – กบ เสาวนิตย์), “หมากเกมนี้” (อินคา), “แทนคำนั้น” (วสันต์),  “ยอม” (ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล), “ฉันจะจำเธอแบบนี้” (โบ สุนิตา), “เจ้าของฉันคือเธอ” (มาช่า) ฯลฯ มีซีดีแถมให้ 16 เพลงเหมือนเล่มแรก (สำนักพิมพ์ Bliss Publishing)
  • หนังสือนวนิยาย “มิวส์กับหมู่ดาวกีตาร์” (2551) เป็นนิยายเรื่องแรกในชีวิตการเขียนหนังสือของสุรักษ์ เล่าประสบการณ์ในเส้นทางการตามหาความฝันด้านดนตรีของเขา ผ่านตัวละครผู้หญิงที่ชื่อ “มิวส์” และยังคงความเป็นนักแต่งเพลงไว้ ด้วยการแต่งเพลงถึง 10 เพลงเพื่อเป็น Sound Track ประกอบหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ มีเพลงที่คุ้นหูสำหรับนักฟังเพลง อาทิ “โปสการ์ดจากคนไกล” (แอน ฐิติมา), “ภาพฉันในวันเดิม ๆ” (ศักดา พัทธสีมา), “หนาวเที่ยงวัน” (พลอย พัชรพร), “เรื่องยาว ๆ ของเธอกับฉัน” (นัท มีเรีย) ฯลฯ
  • หนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” The Joruney Through Songs (2562) บอกเล่าแรงบันดาลใจที่มาของบทเพลงจากปลายปากกาของ สุรักษ์ สุขเสวี พร้อม CD. MP3 คุณภาพไฟล์ 320 Kbps จำนวน 60 เพลง

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี @ www.ifeelfinemusic.com

 

EXCLUSIVE INTERVIEW

ในภาพลักษณ์ที่คุณสุรักษ์เป็น ‘นักแต่งเพลงรัก’ คุณให้ ‘นิยาม’ ของ ‘ความรัก’ ว่ายังไง หลังตกผลึกกับชีวิต มีวุฒิภาวะที่นิ่งได้กับทุกสิ่งที่จะเข้ามา จนสามารถเผชิญทุกความผันผวนแม้ชวนผิดหวัง

“ในฐานะของคนที่เคยเขียนคำร้องเพลงฮิต “นิยามรัก” ของ วงนูโว (NUVO วงดนตรีแนวเพลง POP ที่โด่งดังในยุค 90 peak สุดในช่วง ปี 2531-2535 มีนักร้องนำเป็นดาวเด่นประจำวงคือ  จิรายุส วรรธนะสิน (โจ), สหรัถ สังคปรีชา (ก้อง) และ นรศักดิ์ รัตนเวโรจน์ (จอห์น) ) คงจำก้องกับโจร้องเพลงนี้กันได้ดีนะครับ ต้องย้อนระลึกชาติกันหน่อยว่า วันนั้นผมได้ให้นิยามความรักไว้สองแบบในเพลงเดียวกัน คือทั้งบวกและลบ สุขและเศร้า ขึ้นอยู่ว่าใครกำลังเจอกับสถานการณ์แบบไหน  ความรักมันก็ทำหน้าที่ของมันแบบสม่ำเสมอนะครับ มีทั้งส่วนที่ผลิดอกออกผลให้เก็บกิน และช่วงเช็คบิล ต้นทุน ค่าใช้จ่าย ผมเองเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เคยผ่านช่วงเวลาที่นึกถึงหน้าใครบางคนจนนอนไม่หลับ ได้แค่มองหน้าต่างบ้านเค้าก็ยังดี

จนถึงตอนนี้ที่คุณเรียกว่าตกผลึกหรือมีวุฒิภาวะก็ตามแต่ ผมกลับไม่ค่อยเข้าใจ ได้แต่อมยิ้มเวลาเห็นคนนั้นคนนี้ทำเรื่องไปได้ต่าง ๆ นา ๆ เพราะความรัก สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้และมั่นใจคือ เราทำอะไรได้ไม่มากนัก เราทำได้ตามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์เรามา เราถูกออกแบบมาแบบนี้  นิยามรักของผมในนาทีนี้คือ “ตามนั้น! เอาตามที่คุณคิดเลย” ผมคงอยู่กับดนตรีอยู่กับเพลง ลงลึกกับความรู้สึกผ่านเพลงที่ตัวเองแต่ง และคงใช้งานตัวเองมามากไป ตอนนี้เหมือนมีอุปกรณ์ทางอารมณ์บางตัวมันเสีย ผมไม่หลงรักใครอีก ไม่เสียใจ ไม่น้อยใจ มักจะพูดคำเดิม ๆ กับตัวเองบ่อย ๆ อยู่ในใจคนเดียวว่า ‘กูว่าแล้ว’ หรือ ‘ธรรมดา’ ”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี

 

คุณสุรักษ์เป็น ‘ที่รัก’ ในหมู่ผู้คนที่สัมพันธ์กันมากมาย กลายเป็น ‘คนพิเศษ’ สถานะที่ปฏิเสธไม่ได้ จัดวางตัวยังไงคะเมื่อถูกรุมรัก โดยเฉพาะกรณีพิเศษที่ต้องถนอมน้ำใจ

“ผมมักจะบอกกับคนสนิทใกล้ชิดเสมอว่า ผมได้รับพรพิเศษมาข้อหนึ่ง ผมเรียกมันขำ ๆ ว่า “พรนรก” เพราะผมเป็นคนที่สามารถทำอะไรผิด ๆ เพี้ยน ๆ พิลึก ๆ แปลก ๆ กับผู้คนรอบ ๆ ตัวได้ในระดับหนึ่ง โดยจะไม่ถูกตำหนิ  นั่นเพราะคนรอบ ๆ ตัวผมจะอธิบายพฤติกรรมเหล่านี้ว่า “สุรักษ์ เขาเป็นคนอารมณ์ศิลปิน” จะมาช้าไปบ้าง จะแต่งตัวไม่ตรง Concept หรือผิดกาลเทศะไปนิดหน่อยก็จะเป็นเรื่องที่ให้อภัยได้ ทุกคนโอเคกับมัน  นอกจากนี้ผมได้รับสิทธิ์พิเศษในการเข้าถึงเนื้อถึงตัวทั้งผู้ชายผู้หญิง ด้วยการจับมือถือแขนหรือแม้แต่การสวมกอด เพราะผมทำมันด้วยความบริสุทธิ์ใจ และทุกคนสามารถรับรู้ได้ถึงจิตของผมตรงนั้น ความจริงคนยุโรปเค้าก็ทำเรื่องนี้กันเป็นเรื่องปกติมาก ๆ นะ ผมว่ามันน่ารักดี แต่ถ้าคนไทยจะถือสา ยกมือสวัสดีไม่ต้องสัมผัสตัวกันผมก็ไม่ว่าอะไร กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ น้าๆ ที่เรารู้จักนี่เจอกันผมจะเข้าไปกอดเพราะผมดีใจที่ได้เจอจริง ๆ ถ้าจะบอกว่าผมมีเสน่ห์ แล้วต้องบริหารเสน่ห์ยังไง ผมมีต้นทุนอยู่สักอย่างสองอย่างในเรื่องนี้ คือ ผมทำมันด้วยความจริงใจ และอีกสักข้อคือ ผมไม่เคยคิดร้ายกับใคร  คนไหนมีพฤติกรรมส่อว่าเป็นคนไม่น่าคบผมจะยิ้ม ๆ ให้เขา แต่จะไม่เปิดช่องเพื่อสานต่อความสัมพันธ์ใด ๆ ในเวลาที่คนคาดหวังให้ผมทำอะไรสักอย่าง ถ้าเป็นสิ่งที่สมควรทำผมจะรับปากและยินดีช่วยเหลือแบบไร้เงื่อนไขเลย   แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่อยากทำเพราะอะไรก็ตาม ผมจะบอกกับเขาตรง ๆ ว่าผมติดข้องเรื่องอะไร แม้กระทั่งเป็นเรื่องทางความคิด อุดมการณ์  คนที่มีความคิดปกติดีเขาจะรู้ว่าที่ผมปฏิเสธไม่ใช่เพราะเรื่องส่วนตัว แต่มันเป็นไปตามธรรมชาติในตัวตนของผม  ที่คนรอบ ๆ ตัวไม่ค่อยเกลียดผม เพราะพวกเขารู้ว่าผมทำแบบนี้กับทุกเรื่องกับทุกคน และผมมีมาตรฐานเดียว”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี (กลาง)
ซ้าย : สดุดี ศรีประทุม (กล้า) Sound Engineer เจ้าของ Koolga Studio
(ห้องบันทึกเสียง ที่เป็นเสมือนห้องสมุดดนตรีและคลังเพลงของ สุรักษ์ สุขเสวี)
ขวา : จิราพัชร์ ธำรงชัยพิศุทธิ์ (อู๋) น้องรักนักดนตรี

 

ประสบการณ์ชีวิตมีความจำเป็นต่อการทำงานแค่ไหนคะ เพื่อนำอารมณ์ความรู้สึกมาใช้เป็นแรงดลใจเพื่อให้งานเพลงมีพลัง (ต้องกำลังมีความรัก หรือตกหลุมรักใครสักคนช่วยดลใจ)

“ประสบการณ์ชีวิตเป็นสารตั้งต้นสำคัญของความเป็นนักเขียนทุกประเภทครับ ไม่ว่าจะเขียนบทภาพยนตร์ เขียนนิยาย ปรัชญา แม้แต่นักแต่งเพลงก็ต้องมีประสบการณ์ชีวิตที่คัดกรองกลั่นออกมาจากสิ่งที่ตัวเองได้เคยพบเห็นและเข้าใจ ถึงเวลาหนึ่งเราจะเลือกมุมที่เรา จำได้ ออกมาถ่ายทอด เสริมด้วย จินตนาการ และ ทักษะในการประพันธ์คำร้อง-ทำนอง มันจะกลายเป็นผลงานที่มีชีวิตจิตใจ สิ่งที่ผมถนัดที่สุดคือการนำพฤติกรรมและความรู้สึกของคน ๆ หนึ่ง ที่เค้าปฏิบัติต่อเรา มาเปลี่ยนให้เป็น ‘วรรณกรรม’ นอกจากมันจะสร้างความเพลิดเพลินจรรโลงใจให้ผู้คนแล้ว มันยังใช้ทำมาหากินก็ได้ด้วย”

“ผมเป็นนักแต่งเพลงที่ไม่เคยสัมผัสกับความรู้สึกแนวหัวใจสลาย หรือดำดิ่งทางอารมณ์นะ เพลงที่ผมเขียนบางเพลงอาจมีเนื้อหาแนวนี้อยู่บ้างนิดหน่อย แต่ไม่ใช่วิธีคิดและตัวตนของผม มันถูกแต่งออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับตัวศิลปินและแนวเพลงมากกว่า  แนวทางในเพลงที่ไม่สมหวังของผม มักจะเขียนออกมาเป็นเรื่องราวและถ้อยคำของความเสียใจที่มีความเข้าใจ ไม่โกรธแค้น ไม่ฟูมฟาย มีความเสียใจ น้อยใจ เศร้าใจอยู่บ้าง แต่ก็จะทำอะไรได้ล่ะ งานของผมมาแนวนี้มากกว่า เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับการแต่งเพลงของผม เป็นเพลงแนวอบอุ่น มากกว่าด้วยซ้ำ เช่น “ชายคนหนึ่ง” “ทำไมต้องเธอ” “คู่แท้” “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหัวใจ” หรือเป็นแนวเพลง ให้กำลังใจ แบบ “นาทีที่ยิ่งใหญ่” “เธอผู้ไม่แพ้” แต่ถ้าจะให้ผมยกตัวอย่างเพลงที่สะท้อนถึงความไม่สมหวังในความรักของผม ผมอยากจะให้ลองไปฟัง “เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง” ที่ผมร้องไว้เองนะครับ นั่นคือ เสียใจ แต่เข้าใจและพร้อมไปต่อ”

 

 

เพลงพิเศษของคุณสุรักษ์ ที่มาจากประวัติชีวิตรัก กลั่นออกมาเป็นเพลงรักอมตะ

“สำหรับคำถามนี้ผมขอย้ำว่า คำตอบไม่ใช่เพลงที่ผมชอบที่สุด 10 เพลง ในชีวิตการแต่งเพลงของผมนะครับ แต่หมายถึง 10 บทเพลงรัก ที่ผมมีประสบการณ์ตรงทางความรู้สึกจริง ๆ จัง ๆ กับใครสักคน แล้วได้มีโอกาสถ่ายทอดมันออกมาเป็นเพลง และผมไม่สามารถเล่ารายละเอียดในแต่ละเพลงได้ เพราะต้องให้เกียรติกับคนที่เค้าอาจจะรู้สึกไม่โอเคที่จะเอาเรื่องส่วนตัวของผมกับเขามาเล่า ถือซะว่าเป็น ‘ลายแทง’ 10 เพลง ที่ผมเขียนจากใจตัวเองให้ใครสักคน ก็มีที่เลือกไว้ดังนี้ครับ”

  1. หากันจนเจอ (กบ ทรงสิทธิ์ - กบ เสาวนิตย์) [2]
  2. คนที่แสนดี (นันทิดา แก้วบัวสาย) [3] *เขียนแบบกลับด้าน
  3. เกินห้ามใจ (สุรักษ์ สุขเสวี) [4]
  4. พูดมาเลย (อัสนี โชติกุล) [5] *เขียนแบบกลับด้าน
  5. วันที่อ่อนไหว [6] (นิโคล เทริโอ)
  6. ถนนสายนี้ (ใหม่ เจริญปุระ) [7]
  7. อธิษฐาน (สุนิตา ลีติกุล) [8]
  8. หน้าต่างบานนั้น [9] (เจตริน วรรธนะสิน)
  9. สายน้ำ [10] (สุรสีห์ อิทธิกุล)
  10. ฉันเองก็เสียใจ [11] (วสันต์ โชติกุล)

 

ความหมายของคำว่า ‘เขียนแบบกลับด้าน’ คือการให้ทัศนะด้านดี พิจารณาเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจ ก่อนเขียนในความหมายที่มีมองมุมตรงข้ามใช่ไหม หรือเป็นแบบไหนคะ

“คือการเขียนในเหตุการณ์ที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เป็นจริง อย่างเช่นเพลง “คนที่แสนดี” (นันทิดา แก้วบัวสาย) เขียนว่า... “ก่อนนอนเธอเคยจับมือ ร่วมเรียงอยู่เคียงหมอน วางแขนให้ฉันนอนฝันดี” มันมาจากที่ว่าผมวางแขนให้แฟนเก่าเป็นคนนอนหนุน แต่ผมเขียนกลับกัน เพราะจริง ๆ แล้วผมเป็นคนวางแขนให้เขานอนเอง (แต่เปลี่ยนให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายถ่ายทอดความรู้สึกแทน) / แล้วอย่างเพลง “พูดมาเลย” (อัสนี โชติกุล) ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ผมได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งรู้จัก คบหา สนิทอยู่กับผู้หญิงคนหนึ่งเหมือนกัน ในมุมที่มันเป็นอยู่ก็คือ ผมเป็นฝ่ายวางท่าทีว่าจะไม่อยากเป็นแฟนกับเธอ แต่ในเนื้อเพลงผู้ชายเป็นฝ่ายพูดว่า “พูดมาเลยว่าไม่รัก บอกว่าไม่รักสักคำจะได้ไป ถ้าเธอไม่เห็นความดี ก็ไม่เป็นไร แค่บอกฉัน เท่านั้นเอง” เพราะความจริงเป็นไปในทางกลับกัน ผมเป็นคนทำสิ่งนี้เอง (ทำท่าทีที่ไม่รักต่อฝ่ายหญิง) คือความหมายของคำว่า ‘กลับด้าน’ ในการเขียนเพลงของผมครับ”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี & ชวิน จิตรสมบูรณ์ (จั๊ก "Double U" )

 

รุ่นใหญ่ในวงการเรียกคุณว่า ‘Music Guru’ มีวิธีการแต่งเพลงที่เป็นเทคนิคส่วนตัวยังไงคะงานจึงเข้าถึง จับใจคนฟัง (แทรกทฤษฎีที่เป็นวิชาการกับประสบการณ์ การใช้ภาษากวี วิธีใส่ทำนองให้สอดคล้องเนื้อหา)

“ผมเชื่อว่านักแต่งเพลงแต่ละคนจะมีวิธีการและเคล็ดลับในการแต่งเพลงของตัวเอง  ส่วนตัวแล้วงานที่ผมเขียน ถ้าจะแตกต่างจากนักแต่งเพลงท่านอื่น ๆ และมีคนชอบ คือคนฟังจะบอกว่าผมใช้ภาษาได้สวย ผมไม่รู้เหมือนกันนะว่าในคำว่า “ภาษาสวย” ที่คนเขาให้นิยามกับงานผม มันจะประกอบไปด้วยธาตุอะไรบ้างที่อยู่ในภาษาไทย บางทีผมอาจจะเลือกนำเสนอเรื่องที่ตัวเองจะเขียนจากมุมมองความคิดที่ละเอียดอ่อน และซับซ้อนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เพลง “ตัวจริงของเธอ” ของ จั๊ก ชวิน ผมนำเสนอสถานการณ์ที่มีอยู่จริง เยอะด้วย แต่ไม่เคยมีใครนำเสนอเป็นเพลงมาก่อน คือในเพลงจะบอกว่า ฉันกับเธอก็ยังรักกันคบกันดีอยู่  แต่ฉันรู้นะว่าเธอยังไม่ลืมคนเก่าที่เธอรัก ฉันหวังว่าเธอจะลืมเค้าได้เร็ว ๆ นะ ทางนี้รู้สึกไม่ค่อยดี (“อยากเก็บเขาไว้ คงไม่ฝืนหัวใจเธอ ไม่ต้องการอะไรจากเธอ ถ้าต้องฝืนใจให้กัน อยากเก็บเขาไว้ไม่เป็นไรไม่ว่ากัน จงรู้ไว้เท่านั้นว่าฉันเป็นตัวจริงของเธอ”) ก็จะเป็นมุมมองประมาณนี้  และเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับคนมากมาย ฝังใจกับคนรักเก่า ไม่ลืมความรักครั้งแรก เจอหน้ากับอดีตคนที่เรารักแล้วเก็บอาการไม่อยู่ เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในโลกนี้มีประสบการณ์ตรง 

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี & ศักดา พัทธสีมา (ดา) วงอินคา คู่แจ้งเกิด เพลง “หมากเกมนี้”  

 

หรืออย่างเพลง “หมากเกมนี้” ของวง “อินคา” (เป็นเพลงเปิดตัววง อินคา ที่ทะลุล้าน copy) ผมก็จะนำเสนอในมุมมองที่มีอยู่จริงอีกเช่นกัน คือ การที่เรามีโอกาส มีช่วงเวลาหนึ่ง ได้สนิท ได้ใกล้ชิด ได้ดูแล ใครสักคนที่เรารัก เพราะเค้ากำลังทะเลาะกับแฟน และในที่สุดอาจจะเลิกกัน แล้วเราก็จะเป็นคนใหม่ของเค้า แต่มันก็มีสถานการณ์ที่เรียกว่า พอเค้าได้กลับมาคุย มาปรับความเข้าใจกัน ก็กลับไปเป็นแฟนกันเหมือนเดิม และเราก็เลยเป็นแค่ “คนคั่นเวลา” เรื่องในเพลงเป็นแบบนี้ (“วันที่ใจเธอเจ็บ เธอก็ดึงฉันมา เพียงเพื่อลืมเวลาที่ปวดร้าว ทำเพื่อเธอเท่าไหร่ก็คงไม่เหมือนคนเก่า เป็นแค่เพียงคนคั่นเวลา”) เป็นสถานการณ์ที่มีจริงและเกิดขึ้นมากมาย พอหยิบมุมนี้มาเขียน คนฟังก็จะรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องในชีวิตจริงของเขาเลย  แต่ก็ยังต้องใช้การเปรียบเทียบเลือกถ้อยคำที่น่าสนใจ อย่างคำว่า “หมากเกมนี้ ฉันก็รู้ว่าจะต้องลงเอยอย่างไร” จัดวางให้มันอยู่ถูกที่บนทำนอง เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะทำให้เพลงที่เราแต่งถูกจดจำได้

จะยกตัวอย่างอีกสักเพลงนะครับ อย่างเพลง “หัวใจขอมา” ก็เป็นมุมมองที่ละเอียดอ่อน ไม่เคยมีใครนำเสนอ คำว่า “กลับมายืนที่เดิม” มันเป็นปลายเปิดที่เปิดกว้างมากนะครับ เพราะทุก ๆ คนมีสถานที่ในความทรงจำที่ตัวเองฝังใจ  จะเป็นชายทะเล  ย่านเก่าบ้านเกิด โรงเรียนเก่า มันคือสิ่งที่ทุกคนต้องมีภาพเหล่านี้อยู่ในใจ (“กลับมาคราวนี้ เพราะหัวใจมันขอมา ให้ตามหา ความทรงจำ ปล่อยใจตัวเอง ให้มันชื่นฉ่ำ กับความทรงจำ ที่เคยมี”) เมื่อผมนำมุมนี้มาเขียนเป็นเพลง ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกว่าเพลงนี้ นำพาเขากลับไปสถานที่ที่เขาจะได้พบกับใครบางคน ที่เขารัก และไม่ได้อยู่ในชีวิตจริงในปัจจุบัน  มีคนรักเพลงนี้เยอะครับ  ที่เล่ามาทั้งหมดผมอยากจะบอกว่า ผมมีมุมมองในเพลงที่ถูกโฟกัสให้เล็กลงนิดนึง และผมก็ลงถ้อยคำไปในฉากนั้น ๆ  มันกลายเป็นเอกลักษณ์ในการเขียนเพลงของผมครับ

“ภาษาสวย” ที่หลาย ๆ คนพูด น่าจะมีภาษาสวยอีกแบบที่คนฟังสัมผัสได้ ผมคิดว่าถึงจะเป็นนักแต่งเพลงในยุคที่ใช้ ‘ภาษาพูด’ ในการแต่งคำร้อง แต่ก็มีบางเพลงที่ผมแอบใส่ ‘ภาษาเขียน’ แบบบทกลอน บทกวี ลงไปในเพลงเหล่านั้น อย่างเช่นเพลง “ลมหนาวและดาวเดือน”, “วิมานดิน”, “นักเดินทาง” ฯลฯ  โดยเฉพาะเพลง “นักเดินทาง” นี่ยืนหนึ่ง โดดเด่นเป็นหนึ่งเดียวเลยนะครับ มันดูเหมือนจะพูดจะเขียนอะไรที่ฟังไม่รู้เรื่อง เบลอ ๆ ลงไปในเพลงนี้ “จากทางไกลที่เดินมา สู่เวลาที่เดินไป”  “เก็บความจริงในการค้นหา เป็นบันทึกล้ำค่าและยิ่งใหญ่ เขียนเรื่องราวเอาไว้ในใจ” มีคนเปรียบเทียบว่าเพลงนี้เหมือนผมใส่ฟิลเตอร์อะไรสักอย่างบนเลนส์ Wide Angle เนื้อเพลงออกมาใหญ่ ๆ มีสีสันสวย เห็นภาพรวมกว้าง ๆ แต่ไม่รู้ว่ามีอะไร มีใครอยู่ในภาพนั้นบ้าง  เป็นผลงานที่ผมภูมิใจที่ได้สร้างมันไว้  ไม่เหมือนเพลงไหน ๆ ใน GMM ทั้งหมด”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี & วินัย พันธุรักษ์ ผู้ก่อตั้งวง The Impossible
และเป็นรุ่นพี่ที่ มทร.พระนคร

 

ใครคือครูที่เป็น ‘แม่แบบ’ ในการแต่งเพลงของคุณสุรักษ์คะ เพราะความโดดเด่นด้านใด แล้วนักแต่งเพลงรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ในความต่างมีอะไรเป็นโจทย์กำหนด บริบทของสังคม วัฒนธรรม หรือความเป็นปัจเจกที่สามารถเสกสรรได้ไร้สิ่งปิดกั้นใด ๆ

“ผมมี Idol ของการเป็นนักแต่งเพลงอยู่ 2 ท่านคือ ครูพยงค์ มุกดา และครูไพบูลย์ บุตรขัน  ถ้าจะถามถึงความเป็นนักแต่งเพลงรุ่นเก่าและรุ่นใหม่  ผมขออนุญาตแบ่งนักแต่งเพลงออกเป็น 3 รุ่นละกันนะครับ

  • หนึ่งคือรุ่นที่ผมนับถือเป็นครู เรียกว่า ‘ยุคครูเพลง’ ก็ได้ 
  • สองคือรุ่นที่ผมและเพื่อนพี่น้องในวงการได้มีโอกาสสร้างสรรค์เพลงเอง 
  • สามคือนักแต่งเพลงรุ่นน้อง รุ่นลูก ในปัจจุบัน

ผมต้องบอกว่าส่วนตัวแล้วผมเป็นผู้ที่รู้ซึ้งและซาบซึ้ง เห็นคุณค่าของสิ่งที่คนรุ่นครูเพลงได้สร้างเอาไว้อย่างสูงสุดคนหนึ่ง  ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณที่คงไม่มีวันได้ตอบแทนต่อความสุข ความเจริญใจจากเพลงยุคเก่า ๆ ที่ผมได้รับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเสียง คนที่ไม่เข้าใจในเรื่องการประพันธ์เพลง มักจะพูดให้ได้ยินบ่อย ๆ ว่า “งานยุคครูเพลง มีแต่ชมธรรมชาติ กลอนพาไป” ผมกลับเห็นอีกแบบ ผมรู้สึกว่ามันช่างเปี่ยมไปด้วยความสุนทรี เป็นศิลปะในการสื่อสารชั้นสูง สะท้อนทั้งอารมณ์และความรู้สึกนึกคิด สภาพสังคมในเวลานั้น

ผมขอยกตัวอย่างแบบคิดเร็ว ๆ สักเพลงนะ ผมจะถามว่า เมื่อคุณได้ยินเพลง “ข้างขึ้นเดือนหงาย” (คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล - ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน) แล้วคุณคิดว่ามันเป็นแค่เพลงชมธรรมชาติและกลอนพาไปจริงๆเหรอ?  “เราขี่ควายชมจันทร์”… “โคมสวรรค์พราวพราย”…  “เป่าขลุ่ยเพลงหนัง บนหลังควาย”… คุณไม่เห็นภาพของหนุ่มสาวชาวนาที่ออกมาพบกันตอนกลางคืน เพื่อเรียนรู้ทำความรู้จักและแสดงความรักต่อกัน บนพาหนะที่เป็นสิ่งมีชีวิตตัวใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ที่เราเรียกเขาว่า “ควาย” ไม่เห็นจริง ๆ เหรอว่ามันเป็นภาพที่สะท้อนทั้งความจริงและสภาพสังคมในช่วงเวลาหนึ่งของประเทศไทย คุณไม่เห็นภาพเหรอว่า การไขว่ห้างนั่งเฉย เอ้อระเหยลอยชาย...บนหลังควาย มันเป็นท่วงท่าที่งดงามแค่ไหน  คน ๆ นั้นต้องเป็นคนที่รู้จักและเข้าใจจังหวะการเยื้องย่างของควาย มีความเข้าอกเข้าใจและไว้วางใจกันระหว่างคนกับควาย  รู้จักการจัดระเบียบร่างกายที่จะนั่งไขว่ห้างได้แบบชิล ๆ สบาย ๆ ได้จริง ๆ 

ผมยกตัวอย่างเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะบอกว่า มีผลงานของยุคครูเพลงหลายร้อยบทเพลง เอาเฉพาะที่ผมรู้จักสามารถกล่าวยกย่องผลงานของท่านได้ ในลักษณะของการประพันธ์เพลงอย่างมีหลักวิชาทางดนตรีสากล กับหลักการใช้ภาษา ซึ่งภาษาไทยนี่มันช่างซับซ้อน แพรวพราวเอื้อต่อการเลือกใช้ถ้อยคำ และสัมผัสระหว่างวรรค แถมด้วยสัมผัสระหว่างท่อนเพลงอีกต่างหาก  คุณคิดว่าการแต่งเพลงมันทำง่ายจริง ๆ เหรอ?  ผมคงไม่สามารถใช้พื้นที่นี้พูดถึงชื่อเพลง หรือชื่อของครูเพลงมากมายที่ผมเคารพยกย่องผลงานของท่านได้ทั้งหมด  แต่รวม ๆ แล้ว ผมอยากจะบอกว่า ผลงานของครู ๆ เหล่านี้ คือวรรณกรรม เป็นสมบัติของชาติไทย สะท้อนรากเหง้า วิถีชีวิต ความคิด ความเป็นอยู่ของคนไทย ในช่วงเวลาหนึ่ง และเป็นต้นทางของความเป็น ‘เพลงไทย’  ยิ่งโลกเปลี่ยนฉากทัศน์ไปมากแค่ไหน บทเพลงเหล่านี้กลับยิ่งทวีคุณค่า นี่คือสิ่งที่ผมคิดต่องานเพลงในรุ่นที่ผมเรียกผลงานของท่านว่า “ยุคครูเพลง”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี & เรวัต พุทธินันทน์ และครอบครัว

 

มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในยุคที่ผมเป็นนักแต่งเพลง นั่นคือยุคที่ปรับภาษาในการเขียน เปลี่ยนมาเป็น ‘ภาษาพูด’ อาจจะมีคนรุ่นครูเพลงบางท่านไม่ค่อยชอบกับการเปลี่ยนแปลงนี้นัก แต่การเปลี่ยนจาก ‘ภาษาเขียน’ เป็น ‘ภาษาพูด’ คนที่วางกรอบความคิดนี้ไว้ก็คือ เรวัต พุทธินันทน์ ผู้ที่ก่อตั้งบริษัท Grammy Entertainment หรือ GMM Music ในปัจจุบัน

การมาถึงของภาษาพูดในเพลง ทำให้มีการลดทอนในเรื่องของสัมผัสระหว่างวรรค ระหว่างท่อนลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีอยู่และรู้สึกได้ว่ามันมีความคล้องจอง  เนื่องจากภาษาพูดแบบที่เราพูดกันอยู่ทุก ๆ วัน เราจะไม่พูดคำว่า ฤทัย ดวงฤดี อุรา ขวัญตา และอีกนับพันถ้อยคำที่อยู่ในโหมดนี้  คำที่เราเลือกใส่ลงไปในเพลงจะน้อยลง แต่มันจะต้องถูกแทนที่ด้วย ‘ความคิด’ ในทุก ๆ จังหวะเคลื่อนไหวของคำร้องในเนื้อเพลง ดังนั้นในยุคของการใช้ภาษาพูดในการแต่งเพลง จึงเป็นยุคของการนำเสนอ ‘มุมมอง’ ที่ชี้นำความคิดมากมาย เรามี “ลุงคิดกับชิดชัย” กับ “แดนศิวิไลซ์สุดขอบฟ้า” เรามี “ดอกไม้พลาสติค” เรามี “ผักชีโรยหน้า”  มี “สายล่อฟ้า” มี “สองเราเท่ากัน” และอีกหลายร้อยหลายพันเพลงที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาด้วยภาษาพูดในยุคนี้ มันสอดคล้องพอดีกับแนวดนตรีจากตะวันตกที่หลากหลายและหลั่งไหลกันเข้ามา ผสมผสานกลมกลืนกับความเป็นเพลงไทยได้อย่างลงตัวและพอดิบพอดีครับ

เมื่อมันจะต้องเป็นเพลงรัก สุขใจหรือเสียใจ มันก็จะถูกร้อยเรียง เรียบเรียง ออกมาด้วยภาษาพูดเช่นกัน เราเลือกใช้ถ้อยคำที่มีทั้งความคิดและมีอารมณ์สอดคล้องกับเพลง มีท่อนสำคัญของเพลงที่เลือกใช้คำที่ชวนให้จดจำ และร้องตามได้เมื่อเพลงมาถึงท่อนนี้ แล้วมันประสบความสำเร็จนะครับ วัดได้จากยอดขาย ที่เรียกกันว่ายุค “ล้านตลับ”  เรามีคอนเสิร์ตที่มีคนดูเป็นหมื่นคน ที่ร่วมกันร้องเพลงกับศิลปินที่พวกเขารักได้ตลอดทั้งคอนเสิร์ต มีรายการเพลงมากมายเกิดขึ้นทั้งในทีวีและในรายการวิทยุ มีสปอนเซอร์ มีกิจกรรมประกวดดนตรี ประกวดร้องเพลงเกิดขึ้นมากมาย  มีโรงเรียนดนตรี ที่สอนทั้งร้องทั้งเต้น แถมยังมีคาราโอเกะให้เราได้โชว์การร้องเพลงในหมู่เพื่อน ๆ ผมอยากจะเปรียบเทียบว่ามันคือ ‘ขบวนรถไฟแห่งความสุข’ เป็น ‘ขบวน Entertainment’ ยาวเหยียดที่เกิดขึ้นในวันนั้น  นี่คือสิ่งที่คนรุ่นผมภาคภูมิใจนำเสนอผลงานของคนทำงานดนตรีในยุคของผมครับ

ส่วนนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ผมจะต้องนับว่าเป็นรุ่นลูก ที่กำลังทำงานดนตรีกันอยู่ทุกวันนี้ผมคิดว่าพวกเขาก็มีแนวทางในการสร้างสรรค์งานของเขานะ และน่าเห็นใจ เพราะพวกเขาต้องพยายามหาวิธีการ เทคนิคและความคิดใหม่ ๆ เพื่อที่จะหลบเลี่ยงผลงานที่คนในยุคของผมสร้างไว้  พวกเขาเจอโลกที่เปลี่ยนไปพร้อมเทคโนโลยีทางมือถือ ซึ่งทำให้เพลงที่เขาสร้างอาจไม่ได้สำคัญเท่ากับภาพที่ปรากฏอยู่ในเพลงนั้น บางทีมันอาจไม่ใช่ยุคเบ่งบานของ ‘ดอกไม้ดนตรี’ อีกต่อไปแล้วก็ได้ ผมยังคงชื่นชมเพลงบางเพลงที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาจากนักดนตรีนักแต่งเพลงรุ่นนี้  และเป็นกำลังใจให้พวกเขาหาวิธีที่จะอยู่กับมันให้ได้ อย่างมีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำด้วยครับ”

 

‘คำร้อง’ มีผลเชื่อมโยงกับ ‘เทคนิคการร้อง’ แค่ไหน หรือไม่ วิธีการร้องที่ออกเสียงไทยไม่ชัด ดัดให้เป็นสำเนียงมีหางเสียงภาษาอังกฤษจำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องเป็นแบบนั้นคะ หรือนั่นคือพัฒนาการงานล้ำสมัยที่ต้องเป็นไปตามกระแสนิยม

เรื่องรสนิยมทางดนตรีของน้อง ๆ ผมมักจะไม่ค่อยเข้าไปแตะ เพราะพวกเขาต้องสร้างผลงานของ generation และควรจะทำด้วยความมั่นใจ  ถ้าพวกเขาจะออกแบบให้นักร้องร้องเสียงไม่ค่อยชัด ต้องตั้งใจฟังอีกรอบว่าคำนั้นมันร้องว่าอะไรวะ ผมก็ไม่ถือสานะ เค้าอาจจะชอบกันแบบนั้นจริง ๆ ก็ได้ ไม่งั้นจะร้องกันออกมาเป็น master มากมายทำไม แต่ผมเชื่อว่าอะไรที่มันถึงจุดสูงสุดของความนิยมในแบบนั้นไปแล้ว เดี๋ยวคนรุ่นหลังถัดจากพวกเขาที่เติบโตขึ้นมาทำงานต่อ ก็จะเปลี่ยนแปลงมันเองแหละ เพราะคนสร้างสรรค์มักจะไม่ชอบย่ำรอยเดิม หรือเดินตามรอยเท้าของใคร พวกเขายกย่องสิ่งที่พวกเราทำนะ แต่ไม่เดินตาม ไม่ต่างอะไรกับนักแต่งเพลงรุ่นผม ที่เคารพยกย่องงานของครูเพลง แต่ไม่ได้ทำสิ่งเดียวกับท่าน เป็นเรื่องธรรมดามาก ๆ ครับ”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี กับศิษย์ในคลาสสอนแต่งเพลง

 

คุณคิดยังไงที่มีคนให้ความเห็นว่า “เนื้อหาของเพลงไทยส่วนใหญ่วนอยู่กับ รัก ไคร่” แล้วอะไรคือตัวกำหนด การตลาด? หรือแท้จริงมันคือธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมดาของชีวิต ที่คนเราจะรับได้ ไวต่อความรู้สึกส่วนนี้ที่อ่อนไหวเป็นพิเศษ ทำให้กลายเป็นทฤษฎี (สูตรสำเร็จ) ในการเขียนเพลง?

“ความเป็นเพลงนั้น นอกจากเป็นเรื่องของศิลปะ ทักษะในการประพันธ์ทำนอง และการเขียนคำร้องแล้ว สิ่งที่ทำให้เพลงเป็นเพลง และมีคุณค่าของความเป็นเพลงคือการโน้มน้าวให้เกิดอารมณ์ร่วมตาม ความรู้สึก เป็นสุขใจ ดีใจและความเสียใจ เป็นอารมณ์พื้นฐานที่ดนตรีและคำร้องสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด ความสนุกสนาน อารมณ์ขัน ความรู้สึกรัก ความเป็นห่วง ความน้อยใจ ความหดหู่สิ้นหวัง เหล่านี้คืออารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานของความเป็นมนุษย์  ในยุคสมัยที่ธุรกิจดนตรีได้รับความนิยม  พวกเราสร้างสรรค์อารมณ์เหล่านี้ ออกมาเป็นเพลง และผู้คนก็ชอบฟัง เราคงมีเพลงรักอยู่ในโลกนี้เป็นร้อยล้านเพลง  แน่นอนว่ามันขายได้ มันสร้างรายได้ให้คนที่มีวิชาชีพอยู่กับดนตรีมีกินมีใช้ ดูแลคนในครอบครัวได้ คนฟังได้เทปได้ซีดีไป ก็เอาไปฟังและแกะเพลงเพื่อจะได้หัดร้องหัดเล่นให้เพื่อนให้แฟนตัวเองฟัง เพลงที่ไม่ซับซ้อน คอร์ดไม่ยาก โน้ตร้องไม่ยาก เป็นเพลงฮิต จึงเป็นเรื่องธรรมดา และต้องมีติดอัลบั้ม

ผมเชื่อว่าพวกเรามีความรู้สึกพื้นฐานเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มต้นสายพันธ์มนุษย์ Homo erectus หรือ Homo Sapiens แล้ว  เพียงแต่ฉากและเหตุการณ์ต่าง ๆ มันไม่เหมือนกัน มนุษย์ถ้ำเองก็รักผู้หญิงของตัวเองแบบเพลง “ชายคนหนึ่ง” ที่ผมเขียนให้ ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล ร้อง แต่ชายคนหนึ่งยุคล้านยุคแสนปีก่อนแสดงความรักด้วยการถือกระบองไม้ ถือขวานหินเพื่อปกป้องเธอ  ส่วนมนุษย์คอนโดมิเนียมในยุคนี้แสดงความรักด้วยการเปิดวิว ชิล ๆ เห็นหน้ากันทางมือถือ ให้รู้ว่าอีกฝ่ายอยู่สุขสบายดีก็อบอุ่นหัวใจแล้ว อีกร้อยหรือสองร้อยปีหรือพันปีข้างหน้า ฉากทัศน์รอบ ๆ ตัวเราก็จะเปลี่ยนไปอีก เราคงจะส่งความคิดถึงกันข้ามดวงดาว เราคงจะเรียกโดรนสาธารณะไปหาคนที่เรารักที่บ้านมั้งครับ อะไรแบบนี้

แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากความรัก ความเสียใจ สมหวัง ผิดหวัง ซึ่งเป็นอารมณ์พื้นฐาน เป็นสิ่งที่เราทำอะไรแตกต่างกันไม่ค่อยได้มากนัก เพราะมันอยู่ใน DNA เรา  ถึงวันนั้นผลงานเพลงที่คนยุคผมสร้างไว้จะยังคงอยู่และได้รับการส่งต่อ ในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางดนตรี คำร้องเพลงจะบอกเล่าประวัติศาสตร์ทางสังคม เป็นสิ่งดี ๆ ที่มนุษย์คิดค้นและสร้างสรรค์เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสและรับรู้ แต่ถึงวันนั้นบทเพลงจะได้รับความนิยมแค่ไหน มนุษย์ในโลกจะยังฟังเพลง จะยังคงมีเพลงใหม่ ๆ ถูกแต่งขึ้นหรือเปล่า ผมไม่สามารถจะรู้ได้จริง ๆ  สิ่งเดียวที่ผมมั่นใจคือ การผสมผสานเสียง…และถ้อยคำ จะยังนำพาความรู้สึกต่าง ๆ สื่อสารให้มนุษย์รับรู้ถึงความรู้สึกถึงกันและกันอยู่เหมือนเดิม นั่นก็เพราะเรายังมีหูไว้ได้ยินเสียง มีสมองและมีจินตนาการไว้แปลความหมายที่แตกต่างกันไป เมื่อได้ยินเสียงเหล่านั้น

เช่นเดียวกับคนยุคโบราณที่ได้ยินเสียงใบไม้ไหว เสียงสายลมพัด เสียงคลื่นเซาะชายหาด เสียงธารน้ำไหล เสียงนกร้อง แล้วรู้สึกเป็นสุข  และรู้สึกหวาดกลัวเมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ถ้าในโลกอนาคตจะยังมีผู้สร้างสรรค์เพลงหรือดนตรีอยู่  คุณก็จะยังได้ยินเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ และตัวโน้ตที่เอามาผสมผสานกันเป็นคอร์ด ฟังแล้วให้อารมณ์สุข หรือเศร้า เหงา สนุก เมื่อได้ยินเสียงเหล่านี้  มันก็จะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปตามธรรมชาติแหละครับ”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี

 

งานแต่งเพลงกับการดำรงอยู่ในปัจจุบัน ต้องต่อสู้กับอะไรเป็นสำคัญในวิถีที่ได้เลือกแล้ว ระบบรัฐสวัสดิการเอื้อต่องานสายนี้แค่ไหน อยากเสนออะไรบ้างไหมคะ

“ผมคิดว่านักดนตรีนักแต่งเพลงจะต้องแม่นยำกับเส้นทางที่ตัวเองเลือกนะ อยากรวยต้องไปค้าขาย อยากก้าวหน้าให้ไปไขว่คว้าตำแหน่งและเงินเดือนในองค์กรใหญ่   แต่ถ้าอยากมีความสุข ถ้าความสุขเป็นสิ่งแรกที่สำคัญกับชีวิตคุณ เป็นนักดนตรีก็ได้นะ แต่ก็ต้องยอมรับวิถีความเป็นอยู่อย่างศิลปินให้ได้ด้วย บางครั้งเราก็ได้เงินเยอะจากสิ่งที่เราทำนะ บางครั้งก็ได้น้อยหรือไม่ได้ก็มี แต่อยู่กับสิ่งที่เรารักทุกวัน คือสิ่งที่คนทำอาชีพอื่น ๆ เค้าไม่ได้กัน ก็ต้องยอมแลก นักดนตรีหลาย ๆ คนมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจจากครอบครัวที่ดี ก็โชคดีไป แต่ถ้าใครมาจากครอบครัวที่ไม่ได้พร้อมสนับสนุน เวลางานไม่มี เวลาที่ชีวิตยากลำบาก ก็ต้องหาภาระให้ตัวเองน้อย ๆ ไว้แต่เนิ่น ๆ โดยส่วนใหญ่พวกเราก็ไม่ได้ชอบทำตัวหรูหราฟุ่มเฟือยกันอยู่แล้ว  ผมนึกไม่ออกว่าจะเรียกร้องความช่วยเหลืออะไรจากรัฐ  แค่หาทางดูแลคนไทยทุก ๆ คน ไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรีด้วยซ้ำ ทำทุกสิ่งที่ควรทำให้เต็มที่ตามที่รัฐจะทำได้   ให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์และมีความยุติธรรมแบบไร้เส้นสาย ผมก็หวังน้อย ๆ แค่นี้แหละครับ”

 


photo : www.ifeelfinemusic.com : Album  “ส.พ.ส. ส่งเพลงสุข”

 

ถ้าได้โจทย์ที่ไม่เกี่ยวกับ ‘ธุรกิจ’ อยากแต่งเพลงแนวไหน เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร เลือกใครมาร่วมงาน หรืออยากให้ใครเป็นผู้สนับสนุน เหตุผลเพราะอะไรคะ

 

“เป็นความฝันสูงสุดของผมเลยทีเดียวถ้าจะมีคนออกเงิน ออกค่าใช้จ่ายให้ผมทำอะไรก็ได้เกี่ยวกับศิลปะดนตรี โดยผลตอบแทนที่ผมจะให้กับผู้ลงทุนคือชิ้นงานที่สัมผัสได้ถึงคุณค่า แต่สิ่งเหล่านี้คงจะไม่เกิดขึ้นจริง เพราะบางทีสิ่งที่ผมอยากทำก็อาจเป็นแค่รสนิยมทางดนตรีส่วนตัว เช่น ผมอยากทำเพลงเพลงปีใหม่ ที่การประพันธ์เพลงเป็นสไตล์แบบที่นักแต่งเพลงในยุโรปและอเมริกานิยมแต่งกันในช่วงปี 1940 -1960 ผมรู้สึกว่ามันสวยงาม ละเมียดละไม เป็นบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความรัก เต็มไปด้วยทักษะของการเลือกใช้โน้ต ใช้คอร์ด การเรียบเรียงดนตรี การบันทึกเสียงด้วยเครื่องดนตรีจริงทั้งหมดจากความสามารถของมนุษย์ สร้างบทเพลงรักที่สวยงามขึ้นมา มีกลุ่มคนที่นิยมการเต้นรำนำบทเพลงเหล่านี้ไปใช้เต้นในงานเลี้ยงหรู ๆ  สำหรับคนมีเงินหรือธุรกิจที่มีเงินทุนหมุนเวียนเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน มันเป็นเงินที่เล็กน้อยมาก ๆ ที่คุณจะสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ แต่ที่พวกเขาไม่สนับสนุนเพราะพวกเขาอาจไม่ได้ฝันอยากจะได้ยินสิ่งเดียวกับผม

เราจะถกเถียงกันเรื่องรสนิยมทางดนตรีกันได้ด้วยหรือ?  ผมยกตัวอย่างเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเพราะเมื่อต้นปี 2566 ผมได้ทำอัลบั้มขึ้นมาชุดหนึ่ง ชื่อ “ส.พ.ส. ส่งเพลงของความสุข” เป็นเพลงแนว ๆ ดังกล่าว ออกมาจำนวน 12 เพลง ใช้เงินตัวเองทำ  คนมีชื่อเสียง นักดนตรีเก่ง ๆ มาร่วมงานในอัลบั้มนี้ไม่น้อย อัดเสียงด้วยเครื่องดนตรีจริงทุกชิ้น แต่ก็เป็นแบบที่ผมคิดไว้ เพราะมันเป็นแค่ ‘รสนิยมส่วนตัว’ ที่น่าขำคือมีคนเข้าใจว่ามันเชย เพียงเพราะผมไม่ได้บอกว่ามันคืองาน Retro Music ที่จงใจสร้างออกมาเพื่อให้เกิดบรรยากาศแบบนี้ และผมไม่สามารถอธิบายเรื่องเหล่านี้กับทุกคนที่มีความคิดความเห็นได้หรอกนะ ผมได้แค่ทำ และไม่แปลกใจที่มันถูกเผยแพร่อยู่ในกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่รักผลงานของผมจริง ๆ เท่านั้น ได้ตอบโจทย์แค่นี้ก็สบายใจแล้ว ความจริงผมยังมีเพลงในฝันที่อยากทำอยู่ในหัวอีกหลายแบบนะ แต่มันต้องการเงินสนับสนุนจากองค์กรธุรกิจหรือหน่วยงานรัฐ ซึ่งผมเหนื่อยใจตั้งแต่เริ่มคิดจะไปขอรับการสนับสนุนแล้ว ข้อเสียของผมคือผมไม่ค่อยชอบความรู้สึกเวลาที่ต้องไปเอ่ยปากขออะไรจากใครครับ”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี &  ดร.ศาสตร์ธนิก จุลมณี

 

งาน Retro Music ได้รับการชื่นชมจาก แจ๋วริมจอ : บันเทิงไทยรัฐ

“งานมาสเตอร์พีซชิ้นล่าสุดส่งท้ายพุทธศักราช 2565 ของ “เอตทัคคะคนเขียนเพลง” มือสร้างตำนาน “วิมานดิน-เธอผู้ไม่แพ้” ผู้บรรจงสรรค์นิรมิต “ส.พ.ส.-ส่งเพลงสุข” มากำนัลบรรณาการคนไทย-แฟนเพลงทั่วประเทศและทั่วทุกมุมโลก...ที่มีชีวิตคนไทยอาศัยอยู่

“สุรักษ์ สุขเสวี” โปรดิวเซอร์ เขียนรักเขียนเพลงเขียนชีวิต คล้องหัวใจ “บี อีทีซี-โสตถินันท์ ไชยลังการณ์” เรียบเรียงดนตรีทั้งหมด บันทึกเสียงด้วยเครื่องดนตรีจริงทั้งอัลบั้ม รังสรรค์สร้าง 12 เพลงสุขออกมาในแนวป๊อปแจ๊ส รวมศิลปินหลากเจ็นตัวเด็ดเด่นอย่าง ปีเตอร์ คอร์ป ในเพลง “คนสำคัญจะมา”, ว่าน-ธนกฤต “โลกนี้เหมือนมีเราอยู่สองคน”, ลูกหว้า-พิจิกา “กาลครั้งหนึ่ง”, ปิงปอง-พัดชา “ฉันยังต้องการอะไรมากไปกว่านี้”, หนึ่ง อีทีซี อภิวัฒน์ “นับข้ามเวลาไปพร้อมกับเธอ”, วรวรรณ ส่องทองธรรม “เก็บไว้ใช้ในฤดูหนาว”, สุรักษ์ สุขเสวี “12 จักรราศี” ฯลฯ กับ 32 ปีเต็มประสบการณ์รังสรรค์สร้างงานเพลง แจ้งเกิดให้หลากเหล่าชีวิตศิลปินแถวหน้ายืนหนึ่งนับไม่ถ้วนชีวิต เป็น “คนดนตรีตัวตึงแท้จริง” หยั่งรากลึกกล้าคมคงลงในจิตวิญญาณ

“สุรักษ์จักรราศี” ตั้งจิตรังสรรค์ “ส.พ.ส. ส่งเพลงสุข” รับ 2566 อันอบอุ่น-อิ่มอุ่นด้วยโอบไอกลิ่นอายยุคเพลงคาสเซตและซีดีมาบรรณาการแฟนานุแฟนเพลงทุกคน

เขายังได้จัดทำทัมบ์ไดรฟ์ ยูเอสบี คาสเซตและแผ่นซีดีให้เราได้เก็บสะสมอัลบั้มนี้ด้วย

ติดตามชมเอ็มวีได้ทาง บางรัก เร็คคอร์ดส์ - ยูทูบ แชนแนล และทุกแพลตฟอร์ม ในระบบดิจิทัลดาวน์โหลด ได้ตั้งแต่วันนี้เลยครับ.” (ดร.ศาสตร์ธนิก จุลมณี)

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี & GMM Grammy

 

เติบโตมากับพี่ ๆ น้อง ๆ นักแต่งเพลงยุค 80-90 เหมือนร่วมปฏิรูปวงการเพลงไทยด้วยวัฒนธรรมใหม่ของ Grammy เป็นสุดยอดความสำเร็จที่น่าภูมิใจนะคะ

“นักแต่งเพลงในยุคเดียวกันผมขออนุญาตแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม นะครับ

  • กลุ่มแรกคือเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะหมายถึงพี่ ๆ ที่ผมร่วมงานด้วยโดยตรง เพราะอยู่ในทีมแต่งเพลงเดียวกัน
  • กลุ่มที่สองคือเพื่อนร่วมรุ่นที่อายุใกล้เคียงกัน เริ่มงานใกล้ ๆ กัน และเป็นเพื่อนสนิทกัน

จะเล่าถึงเพื่อนร่วมงานก่อนว่า ผมเริ่มเข้าทำงานที่แกรมมี่ในปี 2533 ในปีที่ผมทำงานแต่งเพลงปีที่ 7 ของค่าย Grammy  ทีมแต่งเพลงหลักของ Grammy ในเวลานั้นคือทีมของ พี่เต๋อ เรวัต พุฒินันท์ ที่มี พี่ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค เป็นคนดูแลเรื่องเนื้อเพลง ซึ่งสุดท้ายแล้วคนที่จะเคาะผ่านทั้งหมดก็คือพี่เต๋อนั่นแหละครับ เชื่อว่าในฝ่ายแต่งทำนองพี่เต๋อเองคงได้เลือกชวนคนทำงานเข้ามาอยู่ในทีมด้วยตัวเอง เมื่อมีเป้าหมายทางการตลาดว่า ทีมของพี่เต๋อจะสร้างผลงานออกมาปีละ 10 ชุด เพื่อเป็นหลักให้กับธุรกิจดนตรีของ Grammy จึงได้มีการเฟ้นหานักแต่งเพลงเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและพอเหมาะพอดี มีความเป็นไปได้ที่จะได้งานที่มีคุณภาพ 10 ชุดต่อปีตามที่วางแผนไว้

ทีมแต่งทำนองของพี่เต๋อในยุคนั้นก็มี วิชัย อึ้งอัมพร, ไพฑูรย์ วาทยกร, จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, สมชาย กฤษณะเศรณี, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา, อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ (ธนวัฒน์), โสฬส ปุณกะบุตร, ชาตรี คงสุวรรณ, อภิไชย เย็นพูนสุข, ชุมพล สุปัญโญ, พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ธนา ลวสุต ส่วนทีมแต่งคำร้องเพลง ก็มี นิติพงษ์ ห่อนาค, เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, ประชา พงษ์สุพัฒน์, อรรณพ จันสุตะ, สีฟ้า (กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์), นวฉัตร (สมควร มีศิลปสุข), วรัชยา พรหมสถิต, วีระเกียรติ รุจิรกุล, จักราวุธ แสวงผล และมีผมเข้ามาเป็นคนที่ 10  สรุปว่าทีมพี่เต๋อ มีคนแต่งทำนอง 10 คน คำร้อง 10 คน เฉลี่ยแล้วปีหนึ่งแต่ละคนแต่งเพลงผ่านเดือนละเพลง ก็ถือว่าสอบผ่าน ฟังดูแล้วนักแต่งเพลงอาชีพแต่งเพลงได้เดือนละเพลง ถือว่าน้อยนะครับ แต่คุณต้องเข้ามาอยู่ในระบบการกลั่นกรองของ Grammy แล้วจะรู้ว่ากว่าเพลงจะผ่านได้ ต้องลุ้นแล้วลุ้นอีก เคาะแล้วก็ยังมีรื้อ ถ้ายังไม่มั่นใจ นี่อาจจะเป็นคำตอบหนึ่งว่าทำไม Grammy ถึงประสบความสำเร็จและยืนหยัดมาได้อย่างมั่นคงจนถึงทุกวันนี้

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี & นิติพงษ์ ห่อนาค

 

แต่สิ่งหนึ่งที่จริงที่สุดก็คือ ทั้งทีมแต่งทำนองและทีมแต่งคำร้องของพี่เต๋อ พี่ดี้ มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ส่วนผสมที่กลมกลืน’ ของลายเซ็นต์ ลายมือ แนวทางในการแต่งเพลงของแต่ละคน ที่จะมีความโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่งออกมา เมื่อเราทำเพลงสนุกก็จะมี ประชา พงษ์สุพัฒน์ และ อรรณพ จันสุตะ เป็นหัวหอก และรุ่นใหม่ที่เข้ามาเติมเนื้อเพลงสนุก ๆ ก็คือ แว่น จักราวุธ แสวงผล ที่เข้ามาทำงานพร้อมผม  เมื่อเราทำ ‘เพลงสูตร’ เพลงเ ศร้า อกหัก  เราก็มี นิติพงษ์ ห่อนาค และ พี่นิ่ม สีฟ้า เป็นตัวหลักในการเขียน  และเติมด้วย ตุ๊ก วรัชยา พรหมสถิต ที่เข้ามาใหม่  เมื่อต้องการเพลงแบบปรัชญา ช่างคิด เรามี เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ เป็นมือหลัก  เมื่อต้องการเพลงรักที่อบอุ่น ละมุน ๆ ภาษาดอกไม้ หรือให้กำลังใจ ผมได้เข้ามารับหน้าที่แต่งคำร้องเพลงแนวนี้  ผมคิดว่าเหล่านี้คือ Variety ที่ทำให้เพลงของ Grammy ในทีมพี่เต๋อมีความหลากหลายและแข็งแรง มันแข็งแรงมากจนกระทั่งสร้างความมั่นใจให้คนฟังในยุคนั้น ถึงขนาดว่า ถ้าเป็นอัลบั้มจากค่าย Grammy ให้ซื้อได้เลย เพราะทุกเพลง!  ในวันนั้นเราสร้าง Brand Loyalty กันได้ถึงระดับนี้เลยนะครับ และนั่นก็ส่งผลให้กลายเป็น ‘ยุคล้านตลับ’ ที่เกิดขึ้นมากมายหลายอัลบั้มครับ

ผมเคารพและชื่นชมพี่ ๆ นักแต่งเพลงที่ร่วมทีมของผมทุกท่าน เวลาจะส่งเพลง พวกเราจะตื่นเต้นกันว่าวันนี้ น้าประชา วันนี้พี่ป๋อง พี่เขตต์ พี่นิ่มสีฟ้า จะส่งเนื้อเพลงอะไร ยังไง มาให้พวกเราได้มั่นใจว่าอัลบั้มนี้ต้องปัง ต้องดังแน่นอน มันเป็นการทำงานที่สนุกมาก ๆ ครับ มีเนื้อเพลงมากมายที่ผ่านตาพวกเรา และมันไม่ได้ถูกใช้งาน เพราะมันสนุกหรือตลกจนเกินไปบ้างก็มี และในทางกลับกัน ผมคิดว่าพี่ ๆ เอง ก็ยอมรับในผลงานของหน้าใหม่ 5 คนที่เข้ามาเติมทีมเหมือนกัน

 


Photo : สุรักษ์ สุขเสวี (คำร้อง)
ทีม “วิมานดิน” อภิไชย เย็นพูนสุข (ทำนอง) , นันทิดา แก้วบัวสาย (ขับร้อง)

 

ส่วนกลุ่มที่สอง ที่อาจไม่ได้ร่วมทีมแต่งเพลงเดียวกับผม แต่เข้ามาทำงานในเวลาใกล้ ๆ กัน ผมจะพูดถึงนักแต่งเพลงผู้ชายอีก 3 คน คือนอกจากผมกับ แว่น จักราวุธ ซึ่งอยู่ในทีมเดียวกันแล้ว ก็ยังมี มัสท์ กฤชยศ เลิศประไพ, เป็ด มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร และ นัท ชนะ เสวิกุล ทั้งหมดนี้คือเพื่อนนักแต่งเพลงร่วมรุ่น อายุใกล้ ๆ กัน ทำงานมาพร้อม ๆ กัน ตกค่ำชวนกันไปที่นั่นที่นี่ ผับไหนดังต้องลองไปนั่ง ออกแนวดื่มไม่เก่งแต่คุยเก่ง อำกันตลอดเวลา แบบไม่ค่อยมีใครยอมใคร มีเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจ คือครั้งหนึ่งเราเคยไปเที่ยวภูกระดึงด้วยกัน สมัยนั้นภูกระดึงยังอนุญาตให้ก่อกองไฟได้ เราก็ใช้สิทธิ์นั้น แล้วพอตกค่ำพวกเราก็มานั่งล้อมวงร้องเพลงเล่นกีต้าร์กัน อาศัยความเป็นนักแต่งเพลง ที่เข้าใจเรื่องการเล่นดนตรีและร้องเพลง ร้องเสียงประสานกันอยู่แล้ว พวกเราก็เล่นเพลงฮิตในยุคนั้น สักพักก็มีคนเข้ามาขอนั่งฟังด้วย จนกลายเป็นวงใหญ่

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี กับเพื่อนบน ภูกระดึง จ.เลย

 

เหตุการณ์ที่ผมจำไม่ลืมคือตอนนั้นเพลง “ไม่ยากหรอก” ของ คริสติน่า เพิ่งจะถูกปล่อยออกอากาศทางวิทยุได้ไม่นาน น้อง ๆ ที่ขอเข้ามานั่งฟังเค้าดูจะตื่นเต้นกับความ update พวกเราเล่นเพลงใหม่เพลงนี้ก็ได้ด้วย ที่ผมขำคือเพลง “ไม่ยากหรอก” มันเป็นเพลงที่ไม่ควรจะเอามาร้องรอบกองไฟอย่างที่สุด เป็นสิ่งที่เหนือความคาดคิดของน้อง ๆ ที่นั่งฟังอยู่แล้ว และขำที่สุดคือพอถึงช่วงร้อง Rap เสียงผู้ชายที่ร้องเสียงต่ำ ๆ แทรกในเนื้อเพลงที่ร้องว่า ‘รักกันไปเถอะน่า ไม่ต้องคิดอะไรหรอกน่า’ (“รักกันใหม่น่า ก็มารักกันใหม่เหอะน่า ไม่ต้องคิดล่ะน่า รักกันใหม่เหอะน่า ที่แล้วก็ให้แล้ว ไอ้ที่แล้วก็แล้ว ก็ให้แล้วไปเหอะ”) แว่น จักราวุธ แสวงผล ก็ร้องท่อนนี้ น้อง ๆ นี่ตกใจแบบช็อคไปเลย เพราะมันเหมือนกับเสียงที่เค้าได้ยินในวิทยุมาก ๆ จะไม่เหมือนได้ยังไงครับ เพราะนอกจากแต่งเพลงนี้แล้วแว่นก็ยังเป็นคนร้องเสียงนี้ในมาสเตอร์เพลงนี้ด้วย พอมีจังหวะได้คุยกันน้อง ๆ ก็ได้รู้ว่าพวกเราเป็นนักแต่งเพลง จากนั้นมันก็กลายเป็นค่ำคืนในความทรงจำของทุกคนไปเลย เพื่อน ๆ ผมเก่งทุกคน ทุกคนมีเพลงฮิตที่แต่งไว้ พวกเรายกย่องซึ่งกันและกัน ทุกคนมีอะไรบางอย่างที่ผมไม่สามารถทำแบบเขาได้ในงานเขียนเพลง นี่คือกลุ่มเพื่อนที่ผมภูมิใจและมีความสุขทุกครั้งที่ได้พูดถึงครับ

หลังพี่เต๋อจากพวกเราไปก็มีการจัดระบบระเบียบโครงสร้างทีมแต่งเพลงกันใหม่ ในทีมของพี่ดี้ก็มี พี่เจี๊ยบ สารภี ศิริสัมพันธ์, เปิ้ล วิวัฒน์ ฉัตรธีรภาพ, ภัทราพร เหลืองตระกูล และบอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ เข้ามาเสริมทีมเขียนเนื้อเพลง เป็นจังหวะที่ผมค่อย ๆ ปรับตัวเพื่อไปเป็นนักแต่งเพลงอิสระ  นั่นคือจุดเริ่มของการแต่งเพลง Corporate ของผม อยากเล่าเสริมว่านอกจากทีมแต่งเพลงทีมนี้แล้ว Grammy ก็ยังมีนักแต่งทีมอื่น ท่านอื่น ๆ ที่เก่งกาจ มีผลงานเพลงฮิตมากมาย แฟนเพลงตัวจริงคงพอจดจำเครดิตของพวกเขาได้นะครับ

ทุกคนเป็นมือขั้นเทพ เป็นปรมาจารย์ในการเขียนเพลงกันทุกคน เช่น  พี่ตี่ กริช ทอมมัส, พี่ตุ่น พนเทพ สุวรรณบุณย์, พี่ตุ้ย ธนา ชัยวรภัทร์, ตู๋ ปิติ ลิ้มเจริญ, น้าเป๋า กมลศักดิ์ สุนทรานนท์, พี่ใหญ่ อาทิตย์ สาระจูฑะ, พี่ต้อ กุลวัฒน์ พรหมสถิต, Bruno Brugnano, พี่ตึ้ก ชนชิต จรรย์สืบศรี, ตุ๊ก มณฑวรรณ ศรีวิเชียร, อั๋น ปธัย วิจิตรเวชการ, ฟั่น โกมล บุญเพียรผล, หนึ่ง ณรงค์วิทย์ เตชะธนวัฒน์, พี่น้อง อพิสิษฎ์ ณ ตะกั่วทุ่ง, พี่เหวิน เรืองกิจ ยงปิยะกุล, เอก ผาเรือง ยั่งยืน และมีนักแต่งเพลงหน้าใหม่ ๆ อีกมากมายที่เข้ามาทำงานหลังจากผมออกไปแล้ว ขออภัยด้วยจริง ๆ ครับ ถ้าเอ่ยชื่อกันไม่หมด”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี (คลาสแรกสอนแต่งเพลงครั้งแรก)

 

งานปัจจุบันในฐานะ ‘ครูเขียนเพลง’ ที่ทำงานกับคนรุ่นใหม่ ความคิดเห็นต่อคนรุ่นนี้กับงานเพลง ใช้เทคนิค จิตวิทยาอย่างไรในการสอน เพื่อแนะแนวทางคะ

“เวลามีโอกาสได้ทำงานกับนักดนตรีรุ่นน้อง ๆ จากเครดิตการทำงาน ผมมักจะได้รับความเคารพจากน้อง ๆ บางทีพวกเขาก็เปิดผลงานของตัวเองให้ฟัง ผมก็ชื่นชมนะ งานที่พวกเขาสร้าง ไม่จำเป็นต้องยึดถือสิ่งที่รุ่นพี่ทำกันมาทั้งหมดหรอก แต่หลาย ๆ ครั้งที่ผมไปเยี่ยมเยือนห้องอัดเสียง ห้องทำงานของน้อง ๆ ก็ต้องเข้าใจเขานะครับ ว่าการซื้อหาอุปกรณ์ในการทำงาน เมื่อเริ่มต้นผจญภัยกันเอง จะให้ได้คุณภาพ Production แบบรุ่นพี่ ๆ ในค่ายใหญ่ มันคงเป็นไปไม่ได้หรอก บางทีความเป็นค่ายเพลง โดยเฉพาะค่ายใหญ่ที่มีเงินลงทุนเยอะ ๆ ก็จะได้เปรียบตรงนี้  ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหา

ความเป็นจริงคือ จะมีน้อง ๆ บางคน ที่พิสูจน์ฝีมือตัวเอง ได้รับการยอมรับในผลงาน ถูกคัดสรรเข้าไปทำงานกับค่ายเพลงใหญ่ ซึ่งมีคนเก่ง ๆ ทำงานเยอะ มีระบบตรวจสอบการให้เพลงผ่านไม่ผ่านตามโครงสร้างธุรกิจของค่าย ผมพูดในฐานะที่เคยเป็นคนหนึ่งที่ต้องดิ้นรนหาทางเข้าทำงานกับค่ายใหญ่ เมื่อมีโอกาสแล้วคุณต้องใช้มันให้เต็มที่ จะได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวจริงในวงการ ต้องดูกันยาว ๆ ผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ครับ”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี

 

อะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำ  หรือกำลังเตรียมงานโครงการใหม่ในขณะนี้คะ

“ชีวิตของคนเขียนเพลงตามปกติเราจะไม่ค่อยมีแพลนที่จะทำอะไรกันนะครับ อยู่ที่ว่าวันไหนจะมีงาน มีข้อเสนออะไรมา ถ้าทำได้และอยากทำก็จะมีโปรเจ็คท์หรือ event เกิดขึ้น ผมเองอยู่ในวงการมาเกิน 30 ปี ทุกวันนี้บอกกับตัวเองว่าพอใจมาก ๆ กับสิ่งที่ตัวเองได้ทำมา ความจริงมีหลายสิ่งที่ผมทำมากกว่าเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ นักแต่งเพลงในรุ่นเดียวกัน ผมเขียนหนังสือ เขียนนิยายที่มีเพลงประกอบ มีอัลบั้มการกุศล มีทัวร์สอนแต่งเพลง มีอัลบั้มของตัวเอง มีคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ที่อบอุ่น มีอัลบั้มที่ตัวเองอยากทำและได้ทำแล้ว มีผลงานเพลง Pop ที่ถูกใช้ซ้ำ ถูก Cover มากมายโดยศิลปินรุ่นใหม่ ๆ  มีโอกาสได้แต่งเพลงให้หลาย ๆ วาระสำคัญของประเทศนี้  ได้แต่งเพลงให้หน่วยงานรัฐและเอกชนใหญ่ ๆ มากมาย  ที่ได้ทำมาทั้งหมด ผมคงไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้มากกว่านี้แล้ว

แต่ถ้าจะให้คิดเล่น ๆ ถือว่าตอบเล่น ๆ ผมรอว่าเมื่อไหร่จะมีคนนำเอาเพลงที่ผมแต่งไปทำเป็นละครเพลง หรือถ้ามีใครมาชวนให้ผมแต่งเพลงใหม่ทั้งหมดเลย เพื่อทำละครเพลงสักเรื่องหนึ่ง ผมก็อยากทำนะ อาจช่วยคิดโครงเรื่องและช่วยเขียนบทได้เลยด้วยซ้ำ  แต่ถ้าไม่มีสายลมกระแสนี้พัดมา ผมก็เฉย ๆ นะ

อ๋อ…ผมอยากให้มีคนจัดคอนเสิร์ตที่เน้นเฉพาะเพลง เป็นผลงานที่ใช้ภาษาเพลงที่ผมภูมิใจ ไม่เน้นเพลงฮิต กลุ่มคนดูสัก 500-1,000 คน มีนักดนตรีเก่ง ๆ มีศิลปินรับเชิญที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงมาร่วมเล่น แต่พอคิดว่าเป็นคอนเสิร์ตเพลงไม่ฮิต คิดอะไรแบบนี้ มันไม่ค่อยตอบโจทย์ทางธุรกิจ ผมเข้าใจความจริงข้อนี้อยู่  แต่ผมชอบทำอะไรแบบนี้จริง ๆ มันเป็นเรื่องของนำเสนอศิลปะดนตรีที่มีคุณค่าและจรรโลงใจ ถือว่าพูดไว้เล่น ๆ พูดลอย ๆ นะครับ”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี

 

พัฒนาการในวงการเพลงไทยนับจากวันที่ใช้เวลาเตรียมตัว 2 ปี ก่อนเข้า Grammy  พ้น probation 6 เดือน ได้เป็นนักแต่งเพลงมืออาชีพตามความฝัน จนถึงวันนี้ที่เป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัว อะไรคือสิ่งทำให้มีความภูมิใจสูงสุดคะ

“หลาย ๆ ครั้งที่ผมนึกย้อนภาพตัวเองในวันที่เป็นเด็ก เป็นแค่คนที่ได้ยินเสียงต่าง ๆ ที่ผสมผสานกันอยู่ในเพลง ในดนตรี ผมไม่อยากจะเชื่อว่าด้วยสารตั้งต้นเหล่านี้จะพาชีวิตของผมมาข้องเกี่ยวและได้ทำงานดนตรีที่ผมรัก แล้วมันดูจะกลายเป็นเรื่องสำคัญเพราะผมได้ทำงานกับศิลปินที่เก่งระดับชาติ เป็นตัวเลือกและทางเลือกที่ดีที่สุดของประเทศนี้หลาย ๆ คน นอกเหนือจากงานที่ตัวเองได้ทำไว้แล้ว ผมภูมิใจที่ได้แต่งเพลงให้กับศิลปินเหล่านี้นะครับ

ถ้าจะถามว่าผมภูมิใจกับ moment ไหนมากที่สุด ก็คงต้องตอบว่า ผมไม่เคยลืมวันแรก ทีได้เข้าร่วมประชุมในห้องเดียวกับ นักแต่งเพลงรุ่นพี่ที่ผมชื่นชมในผลงาน วันนั้นน่าจะเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจที่สุดสำหรับผมแล้ว จำได้ว่าในห้องประชุมวันนั้น มีพี่เต๋อ เรวัต, มีคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม, มีพี่ดี้ นิติพงษ์, พี่นิ่ม สีฟ้า กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์, พี่ป้อม อภิไชย เย็นพูนสุข, พี่จ๊อด กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา, พี่ตั๋ม จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, พี่ป๋อง อรรณพ จันสุตะ, พี่เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, น้าประชา พงษ์สุพัฒน์. คนเหล่านี้เป็นคนที่ถูกเลือกถูกชวนให้เข้ามาร่วมทีมแต่งเพลงภายใต้การนำของพี่เต๋อ ถ้าเป็นทีมกีฬา นี่ก็คือ Dream Team โดยมีผมซึ่งเป็นนักแต่งเพลงหน้าใหม่ที่มีแค่ ‘แนวโน้ม’ ว่าจะแต่งเพลงได้นั่งประชุมอยู่ด้วย พร้อมหน้าใหม่อีก 4 คน ที่ถูกเลือกเข้ามาพร้อม ๆ กัน คือ จักราวุธ แสวงผล, วรัชยา พรหมสถิต, นวฉัตร, วีระเกียรติ รุจิรกุล. ผมรักช่วงเวลาสิบกว่าปีที่คลุกคลีอยู่กับคนกลุ่มนี้  ทุกคนมี Skill ของการแต่งเพลงขั้นเทพ เป็นคนเก่ง  มีความเป็นพี่เป็นน้องให้แบบสนิทใจ  ผมจะไปหาเพื่อนหรือจะเรียกว่า “พี่” ร่วมงานแบบนี้ได้อีกที่ไหน เข้า Office ทุกครั้ง มีแต่เสียงหัวเราะ

อาทิตย์หนึ่งเข้า Office แค่ 2 วัน คือวันจันทร์และวันพฤหัสแล้วเข้าตอนบ่ายด้วย  พวกเรามีอิสระ และมันเปิดโอกาสให้ผมได้ท่องประเทศไทยแบบหนำใจไปเลยในระหว่างที่ทำงานอยู่ในทีม คุณจะมีโอกาสพบเห็นผมได้ประจำที่เกาะเสม็ด ทั้งวันธรรมดาและวันหยุด มีบางเวลาที่ผมเดินผ่านกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่นั่งเล่นกีตาร์แล้วร้องเพลงกันริมหาด แล้วพวกเขาก็ร้องเพลงที่ผมแต่ง เมื่อกลับไปร่วมงานเลี้ยงรุ่นหรืองานรวมศิษย์เก่า เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ของผม พวกเขาเข้ามาบอกว่าชอบเพลงนั้นชอบเพลงนี้ที่ผมแต่ง และพวกเขาก็ร้องมันได้ ช่วงครึ่งทางแรกของเส้นทางสายนักแต่งเพลงของผมเป็นแบบนี้ครับ

อีกครึ่งทางหลัง ผมได้ออกไปส่งต่อความรู้-ประสบการณ์ให้กับน้อง ๆ กับคนที่สนใจในเรื่องการประพันธ์เพลง และมีโอกาสได้ ‘บินเดี่ยว’ สร้างผลงานในลักษณะเพลง Corporate Image (ส่งเสริมภาพลักษณ์องคกร) ให้กับบริษัทต่าง ๆ องค์กร เอกชน หน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกมากมายนับร้อยเพลง ถ้ามีอะไรที่ผมจะได้สร้างสรรค์ต่อไปอีกหลังจากวันนี้ ผมก็ยังเชื่อว่าจะเป็นเรื่องของการเติมความสุขผ่านเสียงเพลงให้กับผู้คน ตั้งแต่หนึ่งคนถึงหลายสิบล้านคนอยู่ดี  นี่คือเส้นทางของผม และผมตั้งใจว่าจะไม่แวะไปทางไหน มันจะเกี่ยวข้องกับเพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรักตลอดชีวิตครับ”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี ศิษย์เก่าดีเด่นประจำปี 2557
& รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

 

จากบันทึกการทำงานของ สุรักษ์ สุขเสวี [12] เขาได้รับมอบหมายให้แต่งเพลงให้กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สถาบันการศึกษาที่เป็นศิษย์เก่า เขาได้ชักชวน วินัย พันธุรักษ์ ผู้ก่อตั้งวงดนตรี The Impossible ที่โด่งดังในยุค 70 ซึ่งเคยร่วมงานและเป็นรุ่นพี่ที่ มทร.พระนคร เข้าร่วมขับร้องด้วย ยืนยันปณิธานการสร้างงานด้วยเกียรติยศ เป็นความภูมิใจสูงสุดของชีวิตนักแต่งเพลง

เมื่อท่าน อาจารย์สุภัทรา โกไศยกานนท์ ได้ขึ้นมาเป็นอธิการบดี มทร.พระนคร ผมจึงได้มีโอกาสนำแนวทางเพลง (ที่จะประพันธ์ขึ้นใหม่ให้เป็นเพลงร่วมสมัย เพิ่มเติมจากเพลงดั้งเดิมที่มีอยู่ ซึ่งแต่งไว้ในลักษณะเพลงมาร์ช) มานำเสนอต่อท่านและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ  โดยผมเสนอให้แต่งเพลงไว้สำหรับกิจกรรมหลัก ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยต้องทำอยู่เป็นประจำทุกปี เช่น พิธีรับปริญญา พิธีไหว้ครู การแข่งขันกีฬาภายในประจำปี การรับน้องใหม่ เพลงที่เป็นสัญญลักษณ์ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย เพลงประจำมหาวิทยาลัย และอื่น ๆ ซึ่งสรุปแล้วผมได้ประพันธ์เพลงให้กับ มทร.พระนคร เป็นจำนวนถึง 13 เพลง บนความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวันนั้น

เชื่อว่าคงจะมีคนไม่มากก็น้อยที่คิดเอาเองว่า การรับงานแต่งเพลงให้กับทาง มทร.พระนคร คงทำให้ผมได้รับเงินก้อนใหญ่ ก็คงต้องให้คิดกันไป แต่บนความเป็นจริงแล้ว 13 เพลง ที่ผมแต่งให้กับทางมหาวิทยาลัยนี้ ผมมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ทีมงานค่อนข้างเยอะจากราคาต่อเพลงที่ผมรับทำ ทั้งค่าห้องอัดเสียง ค่านักดนตรี ค่าเรียบเรียงเสียงประสาน คอรัส มิกซ์เสียง สำหรับผมแล้วค่าตอบแทนในการทำงานที่เหลือมาถึงผมจริง ๆ ไม่คุ้มกับค่าเหนื่อยครับ ในทางปฏิบัติผมต้องทำเพลงให้กับเอกชนและหน่วยงานรัฐรายอื่น ๆ เพื่อดูแลตัวเองไปด้วยในระหว่างการทำเพลงให้กับ มทร.พระนคร

แต่สิ่งที่ทำให้ผมจบภารกิจนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อยู่บนความรู้สึกและความคิดที่ว่า การได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แต่งเพลงให้กับมหาวิทยาลัย คือสิ่งที่เป็นเกียรติและความภาคภูมิใจสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิต เพราะไม่ใช่ว่าใคร ๆ จะได้รับโอกาสเช่นนี้ง่าย ๆ ทุกท่านคงไม่คิดว่ามันจะง่ายนะครับ เมื่อทุกเพลงที่แต่งออกมาผมจะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย ที่เชียวชาญในด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้านดนตรี ด้านภาษาไทย ด้านวรรณกรรม แต่ตลอดเวลาที่ทำงาน Project นี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมมีความสุขมากคือ "วิสัยทัศน์" ของท่านอธิการบดี รศ. สุภัทรา โกไศยกานนท์ นั่นเอง เพราะท่านเป็นคนร่วมสมัย ทันสมัย และมองการณ์ไกล ท่านมักจะบอกผมเสมอว่า เพลงที่แต่งขึ้นนั้นได้รับการตอบรับที่ดีมาก ๆ มีที่มีทาง มีวาระที่จะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์จริง ๆ และผมมักจะบอกกับท่านแบบส่วนตัวว่า “ผมเชื่อว่าเพลงประจำมหาวิทยาลัยของ มทร.พระนคร ทันสมัยและเท่ที่สุดแล้วครับ”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี

 

อะไรที่ไม่ได้ถามแต่อยากตอบมอบเป็นวิทยาทาน

“มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ไม่เคยมีใครถาม แล้วผมก็ไม่เคยบอกใคร ผมอยากจะบอกว่า ตลอดชีวิตผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองทำงาน  ผมทำเพลง แต่ไม่ได้ทำงานครับ’ ”

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี

 

คำตอบสุดท้าย… คือจุดหมายสูงสุดสู่ครรลองของการปรับสมดุลย์เพื่อคุณภาพชีวิต ที่สายชีวจิตต่างต้องเพียรพยายามอย่างสูง เพราะสิ่งชักจูงมากมายที่บ่อนทำลายการแสวงหาความหมายของ ‘วิถีแห่งสุขแท้’ แม้ไม่ง่ายแต่ก็กลายเป็นเป้าหมายที่ทุกคนปรารถนา ไม่ต่างจากการปฏิบัติภาวนาเพื่อมุ่งสู่ ‘นิพพาน’ แต่ก็น้อยนักที่จะบรรลุผล โดยเฉพาะผู้คนใน ‘ยุคเศรษฐกิจพิฆาต’ อำนาจต่อรองคือต้องเลี้ยงชีพให้รอด แต่ยังมียอดกุญแจ (Key Stone) อยู่ดอกหนึ่งซึ่งสามารถไขไปสู่ ‘หัวใจ’ ของเส้นทางนี้ได้ คือต้อง ‘รักในสิ่งที่ทำและได้ทำในสิ่งที่รัก’ อีกด้วยเพราะความรักต่องานเท่านั้นถึงจะทำให้ปัญหาเป็นแค่เรื่องท้าทาย ความเหนื่อยหน่ายก็จะกลายเป็นเพียงเงื่อนไขและกลไกการพิศูจน์ความตั้งใจของ ‘คนจริง’.

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี

 

Exclusive Deepest Bonding : "อิ่มรัก เอมชีวิต อาบปัญญา"

โดย ดร.ศาสตร์ธนิก จุลมณี ‘แจ๋วริมจอ’ (ปีกซ้าย บันเทิง:ไทยรัฐ)

หนึ่งใน “เธอผู้ไม่แพ้” ซึ่งมีบทเพลงของสุรักษ์ ‘รักษาใจในวิกฤต’

บางส่วนของบทเพลงในดวงใจจากปลายปากกาของ สุรักษ์ สุขเสวี ที่มี ‘ความหมายพิเศษ’ ต่อ ‘ตุ๊ ครับผม’ (ดร.ศาสตร์ธนิก จุลมณี) ผู้เป็นทั้งพี่และเพื่อนของเขา อาทิ เธอผู้ไม่แพ้ / วิมานดิน (นันทดา) / ทุกที่มีแต่เธอ (นัท มีเรีย) / ถนนสายนี้ (ใหม่ เจริญปุระ) / เพียงเท่านี้ (อินคา) / หมากเกมนี้ อินคา / ฉันเองก็เสียใจ (อัสนี วสันต์) / ลาก่อน (อัสนี วสันต์) / อยากให้เธอเห็น (สุรักษ์) ฯลฯ พี่ตุ๊ กลั่นความในใจจากความผูกพันลึกซึ้งถึง ‘คนพิเศษ’ ว่า…

 

สุรักษ์ สุขเสวี เกิดมาเป็น ‘นักรังสรรค์ดวงชีวิต’ ด้วยการมีลมหายใจเป็น ‘ค น เ ขี ย น เ พ ล ง’

เขาเป็น ‘นั ก บ อ ก เ ล่ า ชี วิ ต’ (Life Narrator) ผ่านทุกตัวหนังสือ ในทุกบทเพลงที่เขาประณีต ‘สร้างรังสรรค์’ ออกมา

เพื่อถ่ายทอด ‘จิตวิญญาณ’ เพื่อถ่ายเททุก ‘กระแสเลือดเนื้อ’ ออกมา ด้วยดวงตาและดวงใจในความเป็น ‘ศิลปิน’ แห่ง ‘ตัวตนจริงแท้’ ของเขา งานเขียนเพลงในแนวทางของ ‘สุรักษ์ สุขเสวี’ จึงมีความเป็น ‘เอกอัตลักษณ์’ สูงส่ง ที่ไม่ ‘ซ้ำรอยเท้า’ นักแต่งเพลงคนใดใน ‘เพลงพิภพปฐพี’ นี้

ความรัก ความหลัง ความใฝ่ฝัน ความเจ็บปวด ความฮึกเหิมฮึดสู้ ความโอบเอื้ออาทร ความเจ็บปวดรวดร้าว ความหนาว ความเหงา ความมีพลังพลานุภาพ และอีกมากมายความในจิตใจ ในอารมณ์ ในความรู้สึก ในเลือดเนื้อของความเป็น ‘ปุถุชน’ ถูกบรรจุท่วมท้นอยู่ในทุก ‘วิถี-วิธี’ ลิขิตเขียน-สร้างรังสรรค์เพลงของเขา ทำให้ทุกเพลง ‘ไร้ยุคสมัย-ไร้กาลเวลา’ หากแต่ ‘เป็นนิรันดร์’ ทศวรรษแล้วทศวรรษเล่าพากาลเวลาเคลื่อนผ่านไป … ไหลล่องไปประหนึ่งกระแสน้ำเชี่ยว แต่ทุกตัวหนังสือในตัวโน้ตงานเพลงของเขายังคงมีลมหายใจ มีชีวิต เปี่ยมล้นชีวาไม่รู้จบรู้สิ้น

ยังคงรังสรรค์สร้าง ‘ฝากไว้ในแผ่นดิน’ ให้ทุกชีวิตแล้วชีวิตเล่า ยุคสมัยแล้วยุคสมัยเล่า ไม่ว่าชีวิตใดจะลับล่วงล่องลมหายใจไปก่อนหน้า หรือชีวิตใดจะยังคงมีลมหายใจอยู่  แต่ทุกอณูเนื้อลมหายใจในตัวหนังสือทุกตัวของทุกบทเพลงแห่งเขา จะยังคง ‘อิ่มรัก เอมชีวิต อาบปัญญา’ ให้กับทุกผองชน … ไปชั่วชีวิตกันและกัน ชั่วกัลปาสานของอสงไขยกาลเวลา.

 


photo : สุรักษ์ สุขเสวี &  ดร.ศาสตร์ธนิก จุลมณี

 


[1] หนังสือ “เราจะนอนมองฟ้าด้วยกันอีกครั้ง” , www.ifeelfinemusic.com ,  สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2568,  https://www.ifeelfinemusic.com/about-surak/หน-งส-อ-เราจะนอนมองฟ-าด-วยก-นอ-กคร-ง

[2]  หากันจนเจอ - กบ ทรงสิทธิ์ ;กบ เสาวนิตย์ , GMM GRAMMY OFFICIAL , สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2568, https://youtu.be/E31oirzTfP4?si=BBiW83JVSlCvtV7A.

[3]  คนที่แสนดี - นันทิดา แก้วบัวสาย NANTIDA KAEWBUASAI ALBUM THE JOURNEY THROUGH SONG ชีวิตลิขิตเพลง , THAMM NATAPOHN , สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2568,  https://youtu.be/c8Dsp97Z5Z8?si=myNUKfY6hMFVPN2K.

[4]  เพลง เกินห้ามใจ - สุรักษ์ สุขเสวี , super wings 37 , สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2568, https://youtu.be/XHlF_32XQIY?si=qhvFcsaI2RUgj2kh.

[5] พูดมาเลย - อัสนี โชติกุล , Move Records , สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2568,  https://youtu.be/8MOngVWFWZA?si=dGYl9K6fOw3MXcae.

[6]  วันที่อ่อนไหว - นิโคล เทริโอ , GMM GRAMMY OFFICIAL , สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2568, https://youtu.be/mxqqwAkTti8?si=U_snnZMp-XOEZEI2.

[7] ถนนสายนี้ - ใหม่ เจริญปุระ ,  GMM GRAMMY OFFICIAL ,  สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2568, https://youtu.be/NAQqYwTgyMY?si=P1zRj-z0e5j__Xqm.

[8] อธิษฐาน - โบ สุนิตา , GMM GRAMMY OFFICIAL ,  สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2568,  https://youtu.be/rkeinTIxPxU?si=_3747kKpkZ_PMnX1.

[9] หน้าต่างบานนั้น (เจตริน วรรธนะสิน) , THAMM NATAPOHN , สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2568, https://youtu.be/APVglQ0CuM4?si=sQWXc46ru1Skg5kn.

[10] สายน้ำ# (สุรสีห์ อิทธิกุล) , THAMM NATAPOHN ,  สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2568, https://youtu.be/APVglQ0CuM4?si=lU1eIvO8GWZorquH.

[11]  ฉันเองก็เสียใจ - วสันต์ โชติกุล ,  สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2568  GMM GRAMMY OFFICIAL , https://youtu.be/ELvP3Wy34RI?si=YEpeSvjPntlmnnA8.

[12]  สุรักษ์ สุขเสวี,รักครูติ๋ม - ท่านอาจารย์ รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ , สืบค้น 14 กุมภาพันธ์ 2568,  https://www.facebook.com/photo/?fbid=10159939217373012&set=t.782858011&locale=th_TH.