Focus
- 12 กุมภาพันธ์ 2568 ศิลปินกลุ่ม “คิดบวกสิปป์” ถือเป็นฤกษ์ดีประกาศให้สาธารณะรับรู้ในวงกว้างถึงการก่อเกิดของ “โรงวัฒนธรรม คิดบวกสิปป์” อย่างเป็นทางการ โดยยืนยันพัฒนาการของกลุ่มที่มั่นคงต่ออุดมคติ และยึดมั่นต่ออุดมการณ์ ประคับประคองให้พี่น้องได้ทำงานผสานศิลป์อย่างต่อเนื่องตลอดมานับตั้งแต่เริ่มเปิดบ้านเมื่อปี 2563
- วิธีคิดแบบ ‘บวกสิปป์’ เริ่มต้นจากนักศึกษานาฏศิลป์ที่รักในนาฏกรรมสร้างสรรค์ ได้จัดตั้งโครงการศิลปะบำรุงธรรมบนพื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน รังสรรค์งานศิลป์เป็น Arts Space แห่งใหม่ในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ที่มีชื่อ “ โรงวัฒนธรรม คิดบวกสิปป์” ด้วยปณิธาณการสร้างโอกาสให้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะ ทุกสถานะ ได้ชมการแสดงทุกครั้งอย่างเสมอภาค และเข้าชมได้ฟรีโดยไม่มีเงื่อนไข

photo : โรงวัฒนธรรม “คิดบวกสิปป์” โดย Supot Yuadyingyong
ไม่ง่ายนักกับการดำรงตนบนสถานะศิลปินสาย Fine Art ในประเทศนี้ และที่ยากยิ่งกว่าคือการแสวงหาพื้นที่เพื่อการเติบโตอย่างคนที่พร้อมจะเป็น ‘ผู้ให้’ เพื่อการถ่ายทอด ต่อยอด และสร้างสรรค์ ในแนวทางการสร้างงานที่แตกต่างอย่างมีส่วนร่วม ล้วนต้องแลกด้วยประสบการณ์ที่ทรหดจากบททดสอบที่ไม่ธรรมดา แต่พวกเขาก็ผ่านทุกด่านมาได้ด้วยการฝึกจิตให้มีวิธีคิดแบบ ‘บวกสิปป์’ … จากนักศึกษานาฏศิลป์ที่รักในนาฏกรรมสร้างสรรค์รวมศาสตร์ วันนี้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนให้โลกจารึกด้วย “โครงการศิลปะบำรุงธรรม” บนพื้นที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน รังสรรค์งานศิลป์ได้อย่างไร้ขอบเขตบน Arts Space แห่งใหม่ในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี มีชื่อ “ โรงวัฒนธรรม คิดบวกสิปป์” ศิลปสถานเพื่อการพัฒนา ด้วยปณิธาณการสร้างโอกาสให้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะ ทุกสถานะ ได้ชมการแสดงทุกครั้งอย่างเท่าเทียม ฟรี โดยไม่มีเงื่อนไข “ไม่ใช่พวกเราไม่ลงทุนสร้างงานให้ดีที่สุด แต่เพราะพวกเราคือเด็กที่เคยขาดโอกาสเหล่านั้น เราจึงเข้าใจคนที่ ‘ใจรัก’ และพร้อมสร้างโอกาสให้กับทุกคน” จากใจ คิดบวกสิปป์

photo : โรงวัฒนธรรม “คิดบวกสิปป์” โดย Supot Yuadyingyong
ในยุคเก่า จำเป็นมากที่ ‘โรงละคร’ ต้องอยู่ในย่านชุมชนที่เป็นแหล่งธุรกิจ หรือใกล้สถานศึกษา ฯลฯ แต่ปัจจุบันได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ผู้คนที่เห็นคุณค่าได้ให้ความสำคัญต่างดั้นด้นไปแม้อยู่ไกลกัน เพราะผลงานที่สร้างสรรค์กับวัตถุประสงค์คือสิ่งดำรงคุณค่า ทำให้ ‘ศิลปะการแสดง’ ที่คนทั่วไปจัดให้อยู่ในงานประเภทการบันเทิงเป็นได้มากกว่า ‘มหรสพ’ เช่นเดียวกับ ครูเอ็ม ยุทธนา อัครเดชานัฏ หัวหน้ากลุ่มผู้ก่อตั้งคณะนาฏศิลปิน “คิดบวกสิปป์” เป็นกำลังสำคัญในการสร้างศิลปสถานทั้งด้านทุนทรัพย์และดำเนินงานสร้าง (ด้วยเงินออมที่รวบรวมมาได้จากการรับงานแสดงของคณะ “คิดบวกสิปป์” ออกแบบและจัดการงานสร้างด้วยตัวเองร่วมกับ ครูอั๋น กล้ากูล อัครเดชานัฏ) โดยเริ่มจากโครงบ้านเดิมต่อเติมเป็นกองอำนวยการ ลานเวที renovate บ้านชั้นเดียวบนพื้นที่ 120 ตารางวา ให้เป็นสองชั้น คำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องเพิ่มพื้นที่ในการใช้งานเป็นหลัก จึงเป็นทั้งที่ทำงานและบ้านพักของนักแสดง ต่อมาได้ซื้อที่ดินติดกันเพิ่มอีกแปลงเพื่อต่อเติมเป็น Black Box ถูกออกแบบจัดการให้ใช้สอยได้มากที่สุด มีความงามอย่างลงตัวด้วยลักษณะของศิลปะผสม (Thai Modern & Loft) ไม่ต่างจากผลงานการแสดงที่ “คิดบวกสิปป์” สร้างอย่างมีเอกลักษณ งดงามด้วยศิลปะร่วมสมัยในนาฏยศาสตร์ จึงวันนี้คนรักงานศิลปะที่อยู่แถบชานเมืองโชคดีได้มี Community Theatre แห่งใหม่ในจังหวัดนนทบุรี บนพื้นที่ 200 ตารางวา ณ อำเภอบางใหญ่ ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เลย

photo : ยุทธนา อัครเดชานัฏ (ครูเอ็ม) โดย Supot Yuadyingyong
Exclusive Interview ยุทธนา อัครเดชานัฏ (ครูเอ็ม)
ประธานสาขานาฏยศาสตร์การแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา / หัวหน้ากลุ่ม คิดบวกสิปป์
“ตั้งแต่ยังเป็นเด็กผมชอบทำกิจกรรมได้ไปทำงานกับที่ต่าง ๆ โรงละครครูเล็กด้วย (ภัทราวดี เธียเตอร์ ซอยวัดระฆัง วังหลัง) สมัยเรียนนาฏศิลป์เราไม่มีพื้นที่ในการทำงาน รู้สึกว่าถ้าเรามีพื้นที่ของตัวเองก็ดีเหมือนกัน แต่ก็เป็นแค่ความฝัน เพราะมันต้องใช้ทุนเยอะเราไม่คิดว่าจะทำมาได้ขนาดนี้ แต่ผมก็หางานนอกไป เก็บหอมรอมริบไป เมื่อก่อนช่วงกำลังเรียนรู้เราต้องไปเช่าตึกเขาทำสตูดิโอ ต้องหาเงินมาผ่อนค่าเช่าทุกวันเลย รายได้หมดไปกับค่าเช่าตึก ผ่านมาทั้งหมด 6 แห่ง กว่าจะถึงจุดนี้
เริ่มแรกแถวอรุณอมรินทร์เป็นตึกแถว 3 คูหา ห่างกันสองคูหากับพี่นาย (ครูนาย มานพ มีจำรัส ศิลปินศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดง เปิดร้านอาหาร) ผมไปอยู่ก่อนนะแรกพี่นายก็สงสัยใครทำเหมือนเราเลยได้คุยกัน ค่าเช่าแพงมาก 50,000 จนเราทำงานไม่ไหว ก็รู้สึกว่าต้องทำงานมาให้เขาเดือนละห้าหมื่นมันหนักมาก ได้คิดว่าถ้าเราทำงานแล้วเก็บเงินซื้อล่ะ ก็จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าเขา ก็เลยทำให้พื้นที่ค่อย ๆ เล็กลง ๆ เรื่อย ๆ เช่าบ้านสองชั้นแค่ใช้เก็บเสื้อผ้าในการแสดงทั้งหมด มีห้องซ้อมเล็ก ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนเก็บเงินพอจะซื้อที่ดินแถวนี้ได้ เริ่มตั้งแต่เกือบสิบปีก่อนที่ผมมาอยู่บางใหญ่ เลยหาพื้นที่ที่เราจะทำงานไม่ไกลบ้าน ไม่อยากตื่นมาแล้วต้องขับรถไปไกล ๆ ก็มาเจอประกาศขายที่เป็นแปลง มีกำลังซื้อเอาเท่าที่ได้ก่อน ติดกับวัด (สถานปฏิบัติธรรมศรีมงคล) ผมสร้างสะพานสาธารณะให้ข้ามไปเขตวัด หลวงพ่อท่านเมตตาช่วยเหลือทุกอย่างบอกว่าดีเผื่อเวลาเรามีงาน โชคดีได้อาศัยที่จอดรถเพราะมันสำคัญมากกับคนเดินทางมาถ้าไม่มีที่จอดจะลำบากมากครับ
บ้านผมอยู่ใกล้ ๆ แถวนี้ไม่ได้พักที่นี่ครับ ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ทีเดียวจบเพราะต้องใช้ทุนทรัพย์สูงมาก ต้องใช้เวลาพักใหญ่ ๆ เลยครับกว่าจะทำได้ขนาดนี้ ฝั่งที่เพิ่มขึ้นมาต้องไปกู้เงิน แค่ค่าเหล็กบีมอย่างเดียวล้านสองแล้วครับ (เหล็กหน้าตัดรูปตัวเอช H-Beam Steel สามารถรับน้ำหนักมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม) ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ารวมแล้วหมดไปกี่ล้านไม่กล้านับ บางทีก็มีช่างทิ้งงานไปด้วย อะไรอีกหลายอย่าง ฝั่งที่ต่อเติมใหม่ (Black Box) ให้เขาตีราคาส่งมา 12 ล้าน จ้างผู้รับเหมาไม่ไหวก็เลยทำเอง ออกแบบเอง หาช่างเอง งบที่ใช้ลดลงมาครึ่งต่อครึ่ง โดนโกงไปครึ่งล้านทำให้ล่าช้าเพราะผู้รับเหมา ก็สู้มาเรื่อย ๆ กว่าจะได้มาเจอผู้รับเหมาที่ทำได้ เสร็จจาก Black Box ถึงได้มาทุบบ้านต่อเป็นสองชั้นครับ

photo : ยุทธนา อัครเดชานัฏ (ครูเอ็ม) โดย Supot Yuadyingyong
ช่วงที่เริ่มฟอร์มทีม “คิดบวกสิปป์” ผมเพิ่งจบปริญญาตรีมาประมาณสองปี ประมาณปี 2548 - 2549 ปกติเราทำกิจกรรมอยู่แล้วก็ชวนน้อง ๆ มารับงาน พอเป็น “คิดบวกสิปป์” ก็มีระบบมากขึ้น พอเราเข้าไปแข่ง “Thailand’s Got Talent” (ปี 2554) ก็เป็นคณะมีชื่อเสียงคนรู้จักมากขึ้น เป็นช่วงที่มีงานเข้ามา ทำให้เราเก็บเงินไปด้วยทำสตูดิโอด้วย ครั้งแรกที่อรุณอมรินทร์ แล้วย้ายมาเช่าบ้านอยู่ที่ตลิ่งชันเสียเงินลดลงจาก 5 เป็น 2 คิดว่าแค่เก็บของแล้วหาพื้นที่ที่เราซ้อมได้ จะทำให้ประหยัดขึ้นไหมก็หาวิธี จนย้ายมายู่แถวบ้าน หาบ้านเช่าแถวนี้แล้วเก็บเงินจนซื้อที่ได้ ผมค่อย ๆ สร้าง ค่อย ๆ สร้างวางแผนออกแบบฟังก์ชันวิธีการใช้ขึ้นมา รูปร่างหน้าตาเป็นยังไงแล้วไปว่าจ้างเขาเขียนแบบ อย่างโรงละครกลางแจ้งตอนนั้นที่ทำไม่มีเงินเยอะก็แค่เทปูน ลงเสาเหล็ก หลังคาเป็น Metal Sheet เฉียง ๆ ไม่มีสองชั้น พอกู้เงินมาทำ Black Box ก็เลยทุบต่อให้มีชั้นดาดฟ้าขึ้นไปด้วย
งานออกแบบที่นี่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตมากกว่าครับ ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ อย่างผมเคยอยู่อยุธยามาก่อน ตรงบ้านพักอยากให้เป็น Loft ไหม ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่เป็นตึกที่ให้มีความเป็นไทย ไม่ใช่ต้องเป็นบ้านเรือนไทย มีจิตวิญญาณของความเป็นเรา แต่ก็ยังมีความทันสมัยผสมเข้าไป ด้านตึกใหม่เราเคยไปต่างประเทศไปซ้อมเต้นกับทีมอื่น หรือ Company ที่เขามีสถานที่รูปทรง อะไรที่เรารู้สึกมันสวยดี ได้หยิบโครงสร้างบางอย่างมาใช้ ไปเดินจตุจักรเห็นอันไหนสวยดี ของเก่าบ้าง ใหม่บ้าง ก็เก็บมาผสมผสานใส่รวมกัน
ที่นี่ผมอยากให้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนมาทำอะไรร่วมกันจริง ๆ เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2558 จำได้ว่าผมเรียนจบโทตอนปี 2559 ในปี 2560 ช่วงโควิดก็มีเด็ก ๆ มาถ่ายวิดีโอทำนั่นทำนี่กันตลอด สถานที่ทำประโยชน์ให้คนได้เราก็รู้สึกคุ้มแล้วดีใจมาก ปีนี้ก็เป็นปีที่ 6-7 ปี จนจบปริญญาเอก ผมทำสื่อก็ถ่ายที่นี่ใน Black Box (ทำสื่อขณะศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต - ผลงานการวิจัย ทดลอง สื่อสร้างสรรค์ เพื่อเยาวชน ในหัวข้อ "นิทานรามเกียรติ์" โดยการทดลองใช้ Devised Theater, improvise movement และ Experiemental ในการสร้างงานกับนักแสดง หลายช่วงวัย ประกอบกับเก็บข้อมูลความชอบของเยาวชนในการเสพสื่อ สร้างเป็นผลงาน เพื่อนำร่องการเรียนการสอนในเนื้อหา “รามเกียรติ์” สำหรับเยาวชน ผ่านเครื่องแต่งกายในรูปแบบ Sustainable ทั้ง Reuse Recycle Upcycle และ Repair)
ช่วงล้มลุกคลุกคลานที่ผ่านมาก็สาหัสที่สุดของที่สุดจริง ๆ นั่งเล่ากันสามวันไม่จบ หลายอย่างกว่าจะเดินทางเติบโตมาได้ขนาดนี้ ถึงวันนี้เวลาทำงานผมก็ดีใจทุกครั้งที่มีคนมาดูเราสนับสนุนเรา ทีมงานที่กำลังนั่งกินข้าวกันอยู่หน้าห้องนี่ก็เหมือนเป็นครอบครัวแล้วเรามาทำงานร่วมกัน มาส่งสิ่งดี ๆ ให้ผู้คนร่วมกัน ไม่ได้เป็นรูปแบบธุรกิจ ผมเป็นคนทำกับข้าวเองนะ ก่อนไปเล่นละครก็ทำเตรียมไว้ก่อน เสร็จงานมานั่งกินข้าวพูดคุยกันผมว่ามันคือชีวิต สมาชิกในรุ่นพี่ที่อยู่กันมาประมาณสิบกว่าคน จนมีหลานน้อยมาสามสี่คนแล้ว นับเป็นคนไม่ได้แต่จะเป็นทั้งครอบครัวเลยครับ อยู่กันมาตั้งแต่เป็นนักเรียนที่ผมสอนจนแต่งงานกัน แตกต่อยอดไปแต่สุดท้ายก็กลับมาเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่เป็นน้องที่เติบโตมาด้วยกันจนถึงทุกวันนี้ แต่ถ้าเป็นรุ่นลูกศิษย์ลูกหาก็ค่อนข้างเยอะครับ มีนักแสดงเด็ก ๆ เป็นลูกศิษย์ที่เราสอนก็ชวนมาเรียนมาฝึกวิธีการทำงานต่าง ๆ

photo : Supot Yuadyingyong
แนวทางการทำงานของเราถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนการทำอาหาร Fusion Food ทุกวันนี้คนกินอาหารแนวนี้เขาเข้าถึงเข้าใจ เราจะทำยังไงให้คุณค่าทางวัฒนธรรมที่เรามีซึ่งดีมากยังคงอยู่ ถ้าเอาแบบเพียว ๆ (pure) ไปให้เลยบางคนเขารับไม่ได้ขนาดเรา เราต้องเป็นตัวกลางให้คุณค่าในสิ่งเหล่านั้นมันถูก Fusion ก่อนส่งไปให้เขากินง่ายย่อยได้ง่าย (เข้าถึงเข้าใจได้ง่ายขึ้น) เป็นมุมมองและหน้าที่ของเราที่ต้องสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนในสังคม เราคือ gap คือ ‘ตรงกลาง’ (ความแตกต่าง ที่มาอุดช่องว่างสร้างความเข้าใจ)
ตอนนี้ยังไม่มีแผนงานอย่างเป็นทางการที่ชัดเจนครับ แต่เรามีการประชุมในกลุ่มน้อง ๆ ที่มาช่วยงานว่าจะทำยังไงกันต่อไปเกี่ยวกับเรื่องหลักสูตร เช่น ถ้าเป็น รำ ควรจะมีอะไรบ้าง ในวัยนี้ควรจะสอนแบบไหน เพราะคิดว่าถ้าเราไปอิงกับหลักสูตรนาฏศิลป์จริง ๆ เลย ก็จะเป็นหลักสูตร ชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นสูง ตามระดับนั้นไป แต่เรารู้สึกว่าน่าจะมองถึงความเป็นไปได้ของผู้คน อย่างเช่นถ้าเราทำหลักสูตรผู้สูงวัย คิดว่าเราน่าจะทำเพลงรำให้เขาได้ออกกำลังกายแบบไม่รู้สึกหนักเกินไป แต่ได้เคลื่อนไหวทำให้สุขภาพแข็งแรง ได้เรื่องความจำให้สมองได้ทำงานประมาณนี้ เพราะผมมองว่าประเทศเรามีสังคมผู้สูงอายุอยู่เยอะ ผมก็มีปู่ย่าตายายมีหลานมีคนในทุกเจน (Generation) เลยคิดว่าถ้าเราทำที่นี่ให้เป็น ‘ที่ของคน’ ทุกเจนมาใช้งานร่วมกันได้ผมคิดว่ามันน่าจะสนุกครับ
ที่นี่เราตั้งใจจะเปิดการเรียนการสอนเป็นคลาส ส่วนใหญ่จะเป็นนาฏศิลป์สำนักงานสังคีต จะเปิดสอนสำหรับทุกเพศทุกวัยครับ ไม่ใช่สอนเด็ก ๆ อย่างเดียว บางทีคนสูงอายุถ้าว่างมีกิจกรรมอะไรอยากทำก็มาได้ ผมตั้งใจให้เป็นศิลปะหลายแขนงไม่ใช่แค่การแสดงอย่างเดียว เช่น workshop การปักผ้าไทย ๆ หรือว่าทำหัวโขน ใครสนใจด้านงานช่างก็มาทำ หรือจะเป็นการร้อยดอกไม้ไทย ๆ ก็มาเรียนรู้ไป ใครสนใจการทำอาหารไทยก็มาทำได้ ก่อนหน้านี้ที่เคยทำก็มีสอนการแสดงงิ้ว จากครูงิ้วที่เป็นคนไทยคนเดียวไปเรียนงิ้วที่ปักกิ่ง ปกติงิ้วในประเทศไทยจะเป็นงิ้วแต้จิ๋ว แต่งิ้วปักกิ่งเป็นงิ้วราชสำนัก วิธีการร้อง ดนตรี ต่างกัน ครูอั๋น (กล้ากูล อัครเดชานัฏ นักแสดง รองหัวหน้ากลุ่มผู้เป็นกำลังสำคัญของ คิดบวกสิปป์) ก็เป็นลูกศิษย์ครูแตงด้วย ได้เรียนการแสดงเป็นตัวละครผู้หญิง (นัฏฐ์พิชา อารีย์วิวัฒนา) งิ้วปักกิ่งจะเป็นกึ่งละครโบราณที่ใช้ผู้ชายแสดงล้วน พระเอกนางเอกก็ต้องใช้ผู้ชาย

photo : Supot Yuadyingyong
“คิดบวกสิปป์” ทำงานหลายรูปแบบ แบ่งให้ชัดเจนแยกส่วนก็คือ
1. ‘ศิลปะการแสดงเพื่อสังคม’ ทำงานที่ทำนุบำรุงศาสนา ที่เราประกาศกันอยู่ คือ “โครงการศิลปะบำรุงธรรม”
- คือปณิธาน ที่เราชอบเราอยากเอาศิลปะ ตัวตนที่เราเป็นไปทำอะไรให้เกิด
- อย่างที่หนึ่งเกิดประโยชน์กับตัวเองก่อน
- อย่างที่สองเกิดประโยชน์กับคนอื่นด้วย
- อย่างที่สามเกิดประโยชน์ต่อสังคม
- อย่างที่สี่คือเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ คือเรามองเป็นภาพใหญ่ เมื่อไรก็ตามที่เรามองแบบนี้จะทำให้เรารู้สึกว่า เราทำแล้วเกิดประโยชน์ไม่ใช่แค่เราแล้วจบ
- ถ้าเราทำหนึ่งอย่างแล้วเกิดประโยชน์ได้ครบ มันคือสิ่งดี เต็มที่สำหรับเราแล้ว
2. EVENT ถ้าในนักแสดงที่เป็น Pure Art จะรู้สึกว่าความเป็น event มันฉาบฉวย มันไม่ลึกซึ้ง แต่สำหรับผม ผมมองในอีกแง่มุมหนึ่งว่า ปัจจุบันสิ่งสำคัญทุกวันนี้ที่ผมมีอย่างนี้ได้ในมันก็มาจาก event เพราะชีวิตคนเราสำคัญคือการกินอยู่ บางคนอาจมองว่าเงินไม่สำคัญ แต่ผมคิดว่ามันเป็นปัจจัยในชีวิตที่ค่อนข้างสำคัญครับ เลยเป็นอีกก้อนที่เรามองว่าต้องพัฒนาและรู้ให้เท่าทันว่าโลกปัจจุบันงาน event เขาเดินทางแบบไหน กลุ่ม event ต่าง ๆ มีวิธีการยังไง แต่ละกลุ่มเป็นยังไงเราก็ต้องสร้างความเป็นตัวเป็นตน ความเป็น UNIQUE ของเรา (ลักษณะพิเศษเฉพาะ) แล้วก็เลือกตลาดที่เราจะอยู่ ว่าจะจับตลาดระดับไหน ส่วนใหญ่คนทั่วไปจะไม่ค่อยจ้างคิดบวกสิปป์ ต้องเป็นกลุ่มเฉพาะที่เขาต้องการแบบ by order ว่าขอทีมนี้ “คิดบวกสิปป์” งานนี้ต้องทีมนี้ ลูกค้าเราจะเป็นกลุ่มประมาณนี้ แบบนี้ครับ ส่วนที่จัดงาน event ทั่วไปก็จะไม่เรียกเรา
3. ศิลปะสำหรับเยาวชน เรื่องของเยาวชน “คิดบวกสิปป์” ทำงานกับเด็ก ๆ มาตลอด ผมมีลูกหลานเราเล่นกับเขาก็จะรู้สึกว่า จริง ๆ ศิลปะคือชีวิตนะ เพราะตัวตนของผมเติบโตมากับศิลปะ ผมเป็นเด็กคลองเตยอยู่ในชุมชนแออัด พ่อผมทำงานท่าเรือ เราก็อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นคนฉีดผงดมกาว แต่ด้วยเราได้เรียนในโรงเรียนมีคุณครูที่ดีคือ ครูณัชตา ธรรมธนาคม[1] สอน พัฒนาลูกศิษย์จนเติบโตได้ดีหลายรุ่น (คุณครูนาฏศิลป์ โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ เป็นครูรางวัลคุณากร “ครูผู้ขุดเพชรในโคลนตม สร้างคนดีด้วยหัวใจ” จาก มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ที่ใช้นาฏศิลป์ในการเจียระไนเด็กผู้ด้อยโอกาสในสลัมให้กลายเป็นเพชรที่เปล่งประกาย)

photo : อนุชา สุมามาลย์ (ครูเติ้ง) โดย Supot Yuadyingyong
ครูณัชตา ธรรมธนาคม ท่านเป็น ‘ครูเจ้าฟ้า’ คนเดียวที่บรรจุเป็นครูของ กทม. (สังกัดกรุงเทพมหานคร) บ้านอยู่จอมทอง แต่เลือกมาลงที่คลองเตย เพราะอยากให้โอกาสกับเด็ก ๆ แล้วครูก็ทำทุกอย่าง สอนพี่ ๆ เข้าประกวด KPN ชนะเป็นนักร้อง ปัจจุบันบางคนก็เป็นนักร้อง OPERA ระดับโลกไปแล้ว ท่านทำงานเกี่ยวกับเด็กในชุมชนแออัด ด้วยการเอาศิลปะไปสอนเด็กให้ได้เต้น ได้รำ ได้ร้อง ทำการแสดงละคร สอนร้องเพลง ให้ไปทำงานได้เงินด้วยครับ ตอนเด็กประถมผมได้ไปเต้นออกรายการ “07 SHOW” รายการ “จันทร์กระพริบ” ได้ไปทำงานก็เพราะคุณครูคนนี้ ผมเองก็เดินมาทางสายนี้เติบโตมากับครู จริง ๆ ผมไม่รู้จักวิทยาลัยนาฏศิลป์ คนที่ให้ผมมาเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์คือครูคนนี้
ครูณัชตา เป็นคุณครูที่เก่งด้านการสอนและพัฒนาผู้คน รางวัลนี้เป็นของสมเด็จพระเทพฯ (รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี) ท่านปณิธานออกมาตรัสว่าคนสำคัญที่สุดคือครู ครูจะสามารถพัฒนา เปลี่ยนแปลงบุคลากร เปลี่ยนแปลงมนุษย์ได้ เลยสร้างรางวัลนี้ขึ้นมาเพื่อค้นหาครูที่สร้างมนุษย์ และเปลี่ยนแปลงทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นคนดีของสังคมต่อไปได้ มีคนเสนอชื่อครูไป กรรมการต้องโทรกลับมาสืบค้นประวัติของลูกศิษย์ทุกคน ว่าจริงไหมที่ครูสอนแล้วเขาเป็นยังไง ทำอะไรได้ต่อไป แล้วสัมภาษณ์แต่ละคน ผมด้วย เราก็บอกว่าได้อะไรจากครูมาบ้าง เห็นอะไรบ้าง จนวันนี้เราได้มาทำอะไรต่อยอดจากการสอนของครู
ครูให้โอกาสตั้งแต่ผมไปอยู่ในชมรมนาฏศิลป์ (ร.ร.ศูนย์รวมน้ำใจ คลองเตย) ได้ฝึก ได้ซ้อม ได้รำ ผมรำไม่ค่อยเป็นก็ฝึกผมจนส่งไปประกวดที่ญี่ปุ่นตอนประถม 4 ประมาณ 9 ขวบ หลังจากทำงานกับครูมาเรามีโอกาสได้ไปต่างประเทศ ตอนนั้นเด็ก 9 ขวบการไปต่างประเทศมันคือที่สุดของชีวิต เราไม่เคยขึ้นเครื่องบิน คุณครูฝึกสอนให้รำ ทำการแสดงต่าง ๆ ส่งไปแข่งขันกันในโรงเรียนของกรุงเทพมหานคร เด็กทั้งหมดประมาณ 100 กว่าโรงเรียน ร่วมประกวดในโครงการคัดเลือกเด็กไทยไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่น มีเด็กญี่ปุ่นมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ไทยด้วย ผมได้ลำดับที่ 1 เป็นเด็กคนเดียวของกรุงเทพมหานคร ได้เป็นยุวทูตตัวแทนประเทศไทยส่งไปญี่ปุ่น คุณครูสอนผมเอารำกลองยาวไปโชว์ที่นั่น คุณครูที่สอนก็เลยได้ไปดูแลด้วย ตอนเป็นเด็กเราได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ไปดิสนีย์แลนด์ ได้เห็นผู้คนที่เขาแสดง เห็นสถานที่ เป็นสองสัปดาห์ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าครั้งนั้นมันเป็นประสบการณ์ที่ดี ได้เรียนรู้หลายอย่าง
photo : ยุทธนา อัครเดชานัฏ (ครูเอ็ม) โดย Supot Yuadyingyong
หลังกลับมาเรารู้สึกว่าศิลปะนำพาให้ชีวิตเราเห็นโลกกว้างขึ้น จากที่เป็นเด็กในสลัมคลองเตยได้เห็นสิ่งแวดล้อมว่ามันก็เป็นอย่างนี้แหละ เราก็ต้องใช้ชีวิตแบบนี้ไป พอเราได้โอกาสมาก็รู้แล้วว่าเราชอบทางนี้ ครูก็เห็นแววแนะนำเราว่าถ้าจบ ป.6 ให้ไปเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ เพราะคุณครูจบที่นั่นมา ต้องสอบรำกับสอบสัมภาษณ์ ต้องมีพื้นฐาน แต่ว่าตอนนั้นผมก็ไม่รู้จักเลยนะว่าโขนคืออะไร ไม่รู้ด้วยว่ามีวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่สอนการแสดงอยู่ในประเทศไทย ก็มีคุณครูณัชตานี่แหละแนะว่าเธอต้องไปเรียนที่นี่ พอมาเรียนก็ได้ครูอีกหลายท่านส่งต่อประสบการณ์ต่าง ๆ อย่างครูจุลชาติ ผมก็เป็นลูกรักท่านเลย (ผศ.ดร.จุลชาติ อรัณยะนาค รองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) เอาผมซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปดูงานโรงละคร ได้เห็นงานเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก เรียนรู้เติบโตต่อมาจนจบปริญญาเอกก็ที่นี่ครับ
พอได้มองเห็นข้อนี้ทำให้เราคิดว่า ศิลปะกับเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ แล้วเยาวชนก็มีความไม่เท่าเทียมกันด้วย เราจะทำยังไงเพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคน เวลาผมทำกิจกรรมค่าย ถ้ามีคนสนับสนุนผมก็จะเปิดฟรีให้ทุกคนได้มีโอกาส แต่ถ้าต้องทำค่ายแบบเก็บเงินเราก็จะเก็บแค่นี้ แล้วก็มีอีกส่วนเท่านี้ที่เอามาสมทบ เพื่อให้เขามีโอกาสได้เข้าร่วม ผมพยายามทำให้มันสมดุลกันในสิ่งที่เราทำ เพราะเรารู้ว่าโอกาสเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับผมผมคิดว่าศิลปะสามารถพัฒนาคนได้ ถ้าคนมี Inspiration ผมคิดว่าบางทีเขาอยู่ในจุดนี้แล้วเขามี Inspiration ถ้ามีโอกาส จะเป็นแรงขับแรงผลักดันให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองเดินทางไปข้างหน้าเหมือนผมได้ เวลาทำอะไรผมชอบมองที่ตัวเองว่า วันนั้นที่ลองทำจนได้ขนาดนี้ มันเริ่มจากที่เรามีศิลปะแล้วก็มีโอกาส

การจัดไฟในช่วงที่น้ายังเป็นมนุษย์ก่อนแปลงร่างเป็นเปรต แสง จะชัดเจน - สุพจน์ ยวดยิ่งยง
photo : Supot Yuadyingyong
โชคดีที่เรามีโอกาสได้ทำงานเป็นตัวแทนประเทศไทย ได้ไปเจอเพื่อนต่างชาติ ไปโรงละครต่างเมือง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เห็นโลกเยอะขึ้น เอามาพัฒนาตัวเราด้วย คิดว่าจะเอาสิ่งเหล่านี้มาส่งต่อให้กับเด็ก ๆ ผู้คนในสังคมประเทศเรายังไงได้บ้าง เวลาพูดมันจะอุ๊ย ดูยิ่งใหญ่ดีนะ แต่จริง ๆ มันเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่คิดว่าถ้าเราไม่ทำส่วนเล็ก ๆ ในขณะที่มีแรงแค่นี้จะให้ไปทำระดับประเทศเราจะทำได้แค่ไหน ก็ทำเท่าที่แรงเราจะทำได้ เต็มที่เต็มพลังของเราที่สุดอย่างนี้มากกว่า ดีกว่าที่จะมัวบ่นว่า “ไม่มีใครสนับสนุนเราเลย ไม่มีใครให้เงินเลยก็อยู่ไปอย่างนี้แหละ” แต่ผมมองต่างว่า ผมไม่ได้ลองของว่า “ต้องให้ทุนฉันสิ ฉันทำอย่างนี้ดีนะ” แต่ผมมองว่า ทำเท่าที่เราทำได้ไปก่อน ถ้ามีคนเห็นแล้วเขาอยากสนับสนุนเรายินดีครับ
ในการทำโปรดักชั่นส่วนใหญ่ที่ทำมาเราใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว ไม่มีหน่วยงานรัฐให้การสนับสนุน แต่ก็ยังติดต่อกับฝ่ายรัฐที่บางทีมีงาน event ส่งต่อมาให้เราไปทำงานให้เขาอย่างนี้มากกว่า เคยมีเสนอโครงการเหมือนกันนะครับ ตอนนั้นทำกับเด็ก ๆ ที่ชุมชนคลองเตย ผมคิดว่าเราเดินมาถึงจุดนี้ก็อยากจะกลับไปหาเด็ก ๆ ให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ศิลปะหลาย ๆ อย่าง เพื่อพัฒนาตัวเขา ตอนนั้นเขียนโครงการไปที่ กระทรวงวัฒนธรรม สศร. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) ได้ผ่านการพิจารณาได้ทุนมา รู้จักกับผู้ใหญ่ที่รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ก็เลยช่วยชงให้คิดบวกสิปป์ มันต้องมีการการันตีด้วยถึงจะได้ แต่ส่วนใหญ่เหมือนเราไม่ค่อยได้ บางทีคนที่พิจารณาอาจเป็นกลุ่มที่ไม่รู้จักเรา บางทีอาจจะเป็นเพราะมันมีกลุ่มที่เขาเคยทำไว้ก่อนอยู่แล้วประจำทุกปี มีผลงานให้เห็นชัดเจนรู้แล้วว่าทำอะไรกัน บางทีอาจเป็นระบบระเบียบประมาณนั้นครับ แต่ตอนนี้ก็พยายามทำอยู่ครับ วันหนึ่งถ้าผู้ใหญ่มองเห็นเราอย่างจริง ๆ ก็คงจะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ
บางทีเขาอาจรู้สึกว่าเราไม่ได้มี connection กับเขา แต่บางกลุ่มเขา connect กันอยู่แล้วก็ใช้งานส่งต่อกันไป เราอาจต้องทำไปเรื่อย ๆ แล้วค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปให้เขาเห็นชัดเจน วันหนึ่งอาจได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ตั้งแต่เริ่มตั้งคณะมา “คิดบวกสิปป์” ก็จะ 20 ปีแล้วนะครับ เริ่มตั้งแต่ผมจบปริญญาตรีตอนนั้นผมอายุ 21 ตอนนี้ผมอายุ 41 แล้ว มีพัฒนาการที่เร็วในทุกขั้นตอนเพราะผมรีบครับ ผมไม่รู้ว่าผมจะตายวันไหน ผมคิดอย่างนี้เสมอ วันนี้ละครเรื่องนี้จริง ๆ ก็ไม่พร้อม ยุ่งหลาย ๆ อย่าง แต่รู้สึกว่าต้องทำว่ะเราคิดมาปีหนึ่งแล้วน่ะ ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ว่าจะได้ทำวันไหน บางทีถ้าเราบอก “ยังไม่พร้อม รอพร้อมก่อน” บางทีมันจะไม่ได้ทำ

photo : Supot Yuadyingyong
ครอบครัวผมปานกลางไม่ได้ร่ำรวยอยู่กินตามอัตภาพในช่วงเป็นเด็ก สำหรับเรื่องศิลปะครอบครัวไม่เคยขัดขวางครับ แต่อาจไม่ได้เป็นคนอินด้านศิลปะ แม่ก็พนักงานพ่อก็ทำงานการท่าเรือชีวิตไม่ได้อยู่ในสารบทของศิลปะ แต่พอเราได้เรียนสายนี้เขาก็ “เออก็ทำไป” ไปทำงานข้างนอกเราได้เงินเก็บเขาก็ “เออมันก็ดี” แต่เราทำอันนี้แล้วมันได้เงินก็รู้สึกเราอยากเดินทางสายนี้ต่อ ได้เงินด้วยเพราะชอบมันด้วย ก็ยิ่งเป็นข้อดีมากเลย กลายเป็นว่าทุกวันนี้เราได้เข้าวงการเป็นคุณครูสอนศิลปะ ได้เจอลูกศิษย์ ได้เงินมาหล่อเลี้ยงชีวิตเรา รู้สึกเป็นพรที่วิเศษสำหรับเรา เพราะคนเราถ้าได้ทำงานที่เรารัก แล้วได้เงินด้วยมันคือสิ่งที่พิเศษมาก
ช่วงท้อมันมีอยู่แล้วครับ แต่ผมชอบเปลี่ยนความท้อให้เป็นพลัง เพราะคนรอบข้างครับ ขณะที่เรา… “ไม่ไหวว่ะ ไม่มีเงินเลย อันนี้ก็ต้องทำมันจะทำได้ไหม” มันมีเรื่องพวกนี้ปัจจัยหลาย ๆ อย่างเข้ามา แต่ทุกครั้งที่เรารู้สึกท้อ ไม่อยากทำต่อแล้วหรืออะไร “อยากจะหยุดดีไหม ทำไมเราต้องมานั่งทำวะ เราเอาเงินไปใช้ไปเที่ยวก็ได้มานั่งเก็บตังค์ทำไม” มันก็มีนะในช่วงที่คิด แต่พอสุดท้ายแล้วมาได้คิด แต่มันเกิดประโยชน์นะ เราไปเที่ยวหาความสุขใส่ตัวมันประโยชน์เราคนเดียว แต่ถ้ามาทำอย่างนี้ มันประโยชน์ 1 2 3 4 5 แล้วก็มีครอบครัวที่น่ารักอย่างนี้ไง หลานคอยถามลุงเป็นไงบ้าง พอเราเห็นเขาเรารู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่เขาต้องเติบโตต่อไป แล้วเขายืนเคียงข้างเรา
ครอบครัวยืนอยู่เคียงข้างเรา ทุกคนจับมือกันเดินไปด้วยกัน เวลามีงานทุกคนมาช่วยพร้อมหน้าพร้อมตา ทำงานเสร็จรีบขับรถกลับเพื่อมาช่วยงานที่บ้านนี้ ทั้งศิลปิน ครูบาอาจารย์ พี่น้องที่เรารู้จักทุกคนมาช่วยกัน อยากทำงานนี้แต่เราไม่มีเงินเลยนะ พี่ปุ้ย (ดวงพร พงศ์ผาสุก) ตอบว่า “มา!!” ซึ่งจริง ๆ พี่ปุ้ยไปร้องเพลงคิวหนึ่งได้เงินตั้งเท่าไหร่ แต่พี่บอกว่าไม่ไปคิวนั้นมาทำงานให้น้อง รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้คือกำลังใจที่คอยเติมเรา เมื่อไรที่ท้อเรายังมีคนพวกนี้ เขายังยืนอยู่เคียงข้างเรา แล้วเราจะหยุดเหรอ เราต้องไม่หยุดสิ ต้องมีพลังต่อไปสิ เพราะทุกคนเป็นพลังให้เรา ทุกวันนี้อาจเพราะเราอยู่กับคนใกล้ชิด คนรอบข้างมีผล ลูกศิษย์ลูกหามาช่วยงานเต็มที่กันหมด ผมรู้สึกครอบครัวผมดี คนรอบข้างผมดี มันก็เลยเป็นพลังงานบวกที่ทำให้เราเดินต่อไปข้างหน้า
คุณพ่อผมเสียแล้ว มีอีกหลายอย่างที่ผมยังไม่ได้ทำให้แต่เขาตายไปแล้ว ก็เลยคิดวันนี้มีอะไรที่เราพอจะทำได้ต้องรีบทำ ก็เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจตัวเองว่า ทำอะไรทุกอย่างต้องรีบ ตอนนี้เราเห็นภาพว่าเรามีแล้ว เห็นฝันที่เราสร้างได้แล้ว ทำอะไรต่อต้องคิด เรานั่งคุยกันวันนี้พรุ่งนี้เราอาจจะไม่ได้คุยกันอีกแล้วก็ได้
ที่ผมตั้งชื่อกลุ่ม “คิดบวกสิปป์” เพราะว่ามันมาจากตัวตผม ผมคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องบวกหมด อย่างเรื่องไม่มีคนสนับสนุนศิลปินอาจน้อยใจท้อแท้ สำหรับผมผมไม่ท้อแท้ เพราะผมรู้สึกว่ามีคนมานั่งดูผมนี่คือคนที่สนับสนุนผม อาจไม่ใช่เป็นแรงเงิน แต่เป็นแรงผลักดัน กำลังใจ ชื่นชม ความรัก เขายืนอยู่เคียงข้างเรา เราก็ต้องทำยังไงก็ได้ให้มันเกิดขึ้น เพื่อให้พวกราทุกคนมีความสุขไปด้วยกันเดินไปด้วยกัน ผมมีมุมมองอย่างนี้มากกว่าครับ คนเราไม่รู้วันไหนจะหมดลมหายใจ ถ้าหมดลมหายใจไปก่อนเราจะไม่มีโอกาสได้ทำแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ายังมีลมหายใจทำอะไรได้ให้รีบทำ”

photo : คิดบวกสิปป์
“เปรต แม่ วันทอง” วาระเปิด โรงวัฒนธรรม “คิดบวกสิปป์”
ในวาระมงคลเปิด “โรงวัฒนธรรม คิดบวกสิปป์” ได้มีการจัดแสดงละครเวทีเรื่อง “เปรต แม่ วันทอง” เบิกโรงเมื่อวันที่ 11 - 12 - 13 - 14 กุมภาพันธ์ 2568 ท่ามกลางความ ‘ไม่พร้อม’ แต่ก็ต้องเดินหน้า เพราะถ้ารอให้ ‘พร้อม’ โดยไม่ขาดอาจไม่ได้ทำ เพราะความสมบูรณ์แท้ไม่มีอยู่จริงในวิถีการสร้างงานของศิลปิน
“เปรต แม่ วันทอง” ละครเวทีแนว Devised Theatre การพบกันของ ละครตะวันตก (West) กับ ละครไทย (East) กำกับการแสดง โดย ยุทธนา อัครเดชานัฏ เป็นการแสดงแบบร่วมสมัย เพื่อสมทบทุนสร้าง “โครงการ ศิลปะบำรุงธรรม” เป็นละครเวทีคุณธรรมที่กล่าวถึง เปตุภูมิ หรือ ภูมิเปรต ด้วยวาระจิตสุดท้าย คือช่วง ‘มรณาสันนกาล’[2] สู่ ‘มรณาสันณวิถี (‘มรณาสันนกาล’ หมายถึง ช่วงเวลาใกล้จะตาย ผู้ที่อยู่ในช่วงเวลานี้จะมีอารมณ์อยู่เสมอไม่ทวารใดก็ทวารหนึ่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สำหรับผู้ที่ถึงแก่วิสัญญีคือสลบหรือหมดสติไปอารมณ์จะเกิดขึ้นเฉพาะทางใจเท่านั้น / ‘มรณาสันณวิถี [3] หมายความถึงวิถีจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร คือวิถีจิตสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด) ละครสะท้อนภาพและผลของอารมณ์แห่งความยึดติด ห่วงหา ด้วยอำนาจกิเลส โลภะ จึงนำสู่ ‘อบายภูมิ’ ในเรื่องคือ ‘ภูมิเปรต’ ของแม่ คือ วันทอง)
“เปรต แม่ วันทอง” เป็นการตีความใหม่ในรูปแบบร่วมสมัยโดย ยุทธนา อัครเดชานัฏ หัวหน้ากลุ่มศิลปินคิดบวกสิปป์ และผู้กำกับการแสดง นำเสนอในรูปแบบละครพูด รำ เต้น เล่นบนเวที มีการร้องและบรรเลงสดบทเพลงไพเราะ สะท้อนเรื่องราวชีวิตการพลัดพราก ความรัก ความห่วงใย ระหว่างแม่ “นางวันทอง” ที่มีต่อลูก “พระไวย” จากวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” นำมาประพันธ์บทใหม่ออกแบบจัดทำท่ารำใหม่ ใส่เครื่องแต่งกาย ดนตรี ฯลฯ เป็นการแสดงภายใต้ โครงการนาฏกรรมรังสรรค์ “ศิลปะบำรุงธรรม” ครั้งที่ 4 โดยกลุ่มศิลปิน “คิดบวกสิปป์” ที่ได้จัดการแสดงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการนำศิลปะไทยหลายแขนง อาทิ นาฏศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม จิตรกรรม และหัตถศิลป์ สร้างสรรค์เป็นการแสดงร่วมสมัย วิจิตรละเมียดละไมเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา คุณค่าแห่งชีวิต จารีตดีงามของไทย ปรารถนาให้เกิดการตระหนักรู้ รัก หวงแหน และต่อยอดสู่การร่วมกันอนุรักษ์ศิลป์สมบัติของชาติไทยในทุกแขนง

photo : Supot Yuadyingyong
รวม ‘GURU’ ผู้รับบท ‘นักแสดง’
ปัณณทัต โพธิเวชกุล (ครูหนุน) รับบทเป็น แม่
อนุชา สุมามาลย์ (ครูเติ้ง) รับบทเป็น วันทอง
ยุทธนา อัครเดชานัฏ (ครูเอ็ม) รับบทเป็น พระไวย
กล้ากูล อัครเดชานัฏ (ครูอั๋น) รับบทเป็น น้า
ครูเติ้ง อนุชา สุมามาลย์ (นาฏศิลปินสำนักการสังคีต กรมศิลปากร) ผู้มากความสามารถทั้งในรูปแบบนาฏศิลป์เชิงอนุรักษ์ และนาฏศิลป์ร่วมสมัย ทั้งในระดับชาติ และ ระดับนานาชาติ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย
ครูหนุน อ.ปัณณทัต โพธิเวชกุล
การศึกษา
- M.F.A. (Theater Performance) Chicago College of Performing Arts, Roosevelt University (2001)
- Certificate (Film, Television, and Video) UCLA Extension, University of California, USA (1996)
- Certificate (Acting) American Conservatory Theater, USA (1994)
- นศ.บ. (ศิลปะการแสดง) เกียรตินิยมอันดับ 2 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (2534)
ผลงาน
- อาจารย์สอน Acting มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มรภ. นครปฐม, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ฯลฯ
- acting coach ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “รักที่ขอนแก่น” กำกับโดย เจ้ย อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล / acting Coach ให้กับละครโทรทัศน์เรื่อง “อยู่กับก๋ง” , “ตามรอยพ่อ” , “ขบวนการปุกปุย”, นาคบรรพ์ ฯลฯ
- ผู้ฝึกสอนการแสดงร่วมในละครเรื่อง “สี่แผ่นดิน” / exercises เรื่อง “ทะเลฤๅอิ่ม”

photo : Kawinporn Charoensri
DIVA (singer) ผู้สามารถขับร้องไทยเดิม และ การร้องแบบสากล ดวงพร พงศ์ผาสุก (ปุ้ย) ศิลปินมากคุณภาพเป็นที่รู้จักระดับชาติ และ ระดับนานาชาติ ผู้ผ่านเวทีการันตี จากรายการ The Voice และ Golden Song และ เพลงอันเป็นที่รู้จัก "ลาวคำหอม" จากเพลงประกอบละคร สี่แผ่นดิน และ ลาวดวงเดือน คือ บทเพลงที่สร้างชื่อที่ทำให้คนจดจำ และได้เผยแพร่ไปทั่วโลก
Music composer/Music creater/Musician เป็นทุกอย่างในคนเดียวกันให้อัศจรรย์เป็นที่สุดใน "เปรตแม่วันทอง" The Mother's Ghost
มารุต นพรัตน์ (อ๊อพ) ผู้ออกแบบ - กำกับเสียง เป็นศิลปีที่มากความสามารถ ทั้งดนตรีสากล ไทย และอาเซียน มีผลงานร่วมกับศิลปินแนวหน้าของประเทศมากมาย อาทิ ภัทราวดี เธียเตอร์ คิดบวกสิปป์ หรือเพลงประกอบละคร ทางช่อง 3 เรื่อง “หวานรักต้องห้าม” ฯลฯ
(ครูอั๋น) กล้ากูล อัครเดชานัฏ ออกแบบการแสดง รวมถึงเป็นศิลปินอิสระ และสอนในฐานะอาจารย์พิเศษ หลากหลายมหาลัย ที่มีผลงานทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ เป็นที่รู้จักมากมาย
(ครูเอ็ม) ดร. ยุทธนา อัครเดชานัฏ หัวหน้ากลุ่มศิลปิน คิดบวกสิปป์ ประธานสาขานาฏยศาสตร์และการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผู้กำกับ ออกแบบการแสดง รวมถึงเป็นศิลปิน ที่มีผลงานทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ เป็นที่รู้จักมากมาย

photo : Supot Yuadyingyong
ละครเวที "เปรต แม่ วันทอง" : โดย คิดบวกสิปป์
กำกับการแสดงโดย ครูเอ็ม (ยุทธนา อัครเดชานัฏ)
ในละคร "เปรต แม่ วันทอง" ฉากเปิดเรื่องด้วยรำ “ฉุยฉาย” ร่ายลีลาสง่างาม ความคิดออกแบบตัวละคร ‘แม่’ ซึ่งเป็น ‘เปรตวันทอง’ ที่ต้องจำแลงร่างเป็นสาวงามเยื้องย่างมาหย่าทัพ ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพของ ครูจำเรียง พุธประดับ (ศิลปินแห่งชาติ) ปรมาจารย์ทางด้านนาฏศิลป์ไทย ละครนาง ที่ทุกคนในวงการต่างรู้จักเคารพรักและศรัทธา นำมาสู่การ design เครื่องแต่งกาย หน้าผม ให้กับ ครูเติ้ง อนุชา สุมามาลย์ สวมวิญญาณผ่านความรักความผูกพันที่แม่มีต่อลูก พระไวย ไม่สำคัญว่าการต่อท่ารำจะศึกษาโดยตรงจากครูผู้สอน (เฉลย ศุขะวนิช ศิลปินแห่งชาติ) หรือผ่านสื่อการสอน platform ไหน แต่การถ่ายทอดแบบถอดจิตวิญญาณผสานลีลาท่ารำจากรากทฤษฎีที่มาจากข้างใน นั่นคือหัวใจแท้จริงของนาฏศิลป์
ตลอดเวลาที่ฉุยฉายเยื้องย่างหว่างเส้นเชือกที่ถูกผูกปมระโยงระยางกลางป่าในจินตนาการ กลายเป็นภาพจำล้ำลึกของเรื่องราว เพราะองค์ประกอบรอบด้านทั้งท่วงท่าที่แหวกผ่านเชือกปม (ปริศนาคาใจของสองแม่ลูก) แสงไฟถูกออกแบบไปเท่าที่มี ข้อจำกัดกลายเป็นจุดดีที่ช่วยขับเน้นตัวละครให้เด่นด้วยท่วงท่าสง่ารำ รวมเสียงร้องพ้องบรรยากาศที่วาดไว้ให้มีมนต์ ตรึงผู้คนตะลึงยลความงาม ‘หวามความหมาย’ ผ่านลีลาเยื้องกราย กอร์ปประกายตาเศร้าหมองของครูเติ้ง เสริมสดด้วยอรรถรสดนตรีทวีพลัง นับเป็นการเปิดเวทีที่เข้มขลังอลังการด้วยงานคุณภาพจากทุกฝ่ายอย่างจริงแท้ … แม่วันทอง

photo : คิดบวกสิปป์
ส่วนหนึ่งของวรรณคดี เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่ 40 “พระไวยแตกทัพ”
– ร้องเพลงฉุยฉาย –
ฉุยฉายเอย เจ้าช่างจำแลงแปลงกายงามคล้ายบุษบา
หน้าเป็นใยเหมือนไข่ปอก เจ้าทัดแต่ดอกจำปา
โอ้พระไวยสายใจ อีกสักเมื่อไรจึงจะมา
ฉุยฉายเอย เยื้องย่างเจ้าช่างกรายลอยชายมาในดง
รู้ว่าพ่อไวยจะไปทัพ แม่มาคอยรับคอยส่ง
ชะกระไรหนอใจบิดา จะแกล้งฆ่าให้ปลดปลง
– ร้องแม่ศรี –
แม่ศรีเอย แม่ศรีสาคร
ร่างเจ้าเอี่ยมอรชร เหมือนกินนรไกรลาศ
ใส่กรอบพักตร์ประดับเพชร บั้นเอวเจ้าจะเด็ดขาด
จมื่นไวยจงใจสวาท ด้วยโฉมประหลาดตาเอย
แม่ศรีเอย แม่ศรีสาวหงส์
เยื้องย่างมากลางดง เหมือนหนึ่งหงส์เหมราช
ผิวเจ้างามเมื่อยามพิศ งามจริตเมื่อยามผาด
อ่อนระทวยนวยนาด เยื้องยาตรมาเอย

photo : Supot Yuadyingyong
บางส่วนของบทละครโบราณ เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอน “พระไวยแตกทัพ” ร้อยสลับกับบทละคร "เปรต แม่ วันทอง" (The mother's Ghost) แบบละครร้องคลอไปกับเสียงเปียโน คลอไปกับเสียงเปียโนหวานเศร้า โดย มารุต นพรัตน์ (อ๊อพ) ศิลปินผู้ออกแบบเสียงและดนตรีบรรเลงสด สะกดใจด้วยเสียงร้องของ ดวงพร พงศ์ผาสุก (ปุ้ย)
๏ ครานั้นนางเปรตอสุรกาย
แยบคายเชิงดีไม่มีสอง
เห็นลูกชายและเลียมเทียมคะนอง
ก็โผนผาดแผดร้องระงมไพร
ตวาดมาว่าเหวยพลายงามลูก
มาดูถูกข่มเหงหาเกรงไม่
ลุ่มหลงโลภว่าประสาใจ
กูไซร้สาธารณ์คือมารดา
ชื่อว่าวันทองที่ต้องโทษ
พระกริ้วโกรธสั่งให้ไปเข่นฆ่า
ตายไปใจผูกด้วยลูกยา
ตามมาจะบอกซึ่งร้ายดี
ตัวเจ้าจะยกออกไปทัพ
น่าจะยับเยินย่อยถอยหนี
ศึกนี้หนักหนาสง่ามี
ไพรีเรี่ยวแรงจะรุกราน
รอรั้งระวังให้จงดี
จะเสียทีอย่าโหมเข้าหักหาญ
ว่าแล้วเผ่นโผนโจนทะยาน
เสียงสะท้านทั่วท้องพนาวัน
สูญหายกลับกลายไปตามเพศ
เป็นเปรตสูงเยี่ยมเทียมสวรรค์
ไม่มีหัวตัวทะมื่นยืนยัน
เหียนหันหายวับไปกับตา ฯ
๏ พระไวยหวั่นหวาดอนาถนัก
เห็นประจักษ์ว่าแม่แน่หนักหนา
สยดสยองพองหัวกลัวมารดา
น้ำตาพรากพรากลงพร่างพราย
โอ้แม่เจ้าประคุณของลูกแก้ว
สิ้นซากศพแล้วไม่สูญหาย
ลูกทำบุญส่งให้ไปมากมาย
ยังไม่วายความชั่วที่ตัวทำ
เอาเพศเป็นเปรตอสุรกาย
กลับกลายตามมาเวลาค่ำ
สั่งสอนวอนบอกให้ลูกจำ
มีพระคุณเช้าค่ำแต่เป็นคน
แม่ตายหายลับมาหลายปี
พึ่งมาเห็นวันนี้ในไพรสณฑ์
ห้ามลูกมิให้ไปประจญ
จะเสียตนตายด้วยฝีมือมอญ
ท่านขุนแผนพ่อก็ตายแล้ว
สุดที่ลูกแก้วจะผันผ่อน
ถึงคืนทัพกลับเข้าพระนคร
พระทรงธรรม์บั่นรอนก็บรรลัย
ชาติชายเป็นตายไม่ย่อท้อ
จะแก้แค้นแทนพ่อให้จงได้
แม่อย่าเป็นห่วงบ่วงใย
พลางกราบไหว้สะอื้นกลืนน้ำตา
แล้วมาขึ้นม้าพาพวกพล
ดั้นด้นตัดทุ่งมุ่งป่า
พอแสงเดือนเคลื่อนดับลงลับฟ้า
ยกมาถึงบางกระทิงพลัน
ตัดไม้ตั้งค่ายสนามเพลาะ
หอรบครบเหมาะทุกสิ่งสรรพ์
รั้วขวากปักช่องป้องกัน
ให้ม้าใช้ไปพลันเอาเหตุมา ฯ

photo : Anatta
“The Return of Wanthong” เวลาอาจเปลี่ยนทุกสิ่งได้ แต่สัจจะในใจนั้นคงอยู่…
ในวรรณคดีเรื่องเดียวกัน “ขุนช้าง ขุนแผน” และตอนเดียวกันนี้ “พระไวยแตกทัพ” เคยได้รับการพัฒนาเป็นละครเวทีร่วมสมัยจัดแสดงมามากกว่า 5 ครั้ง นำเสนอภาพ นางวันทอง ในอีกมิติที่แตกต่าง ยืนข้างจำเลยของสังคมที่ถูกตีตราว่า ‘หลายใจ’ จนเป็นเหตุให้ถูกประหาร เป็นผู้ที่สมควรตายไปเป็น ‘เปรต’ ในความคิดของ ‘ผู้พิพากษา’ แต่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น ‘นางฟ้า’ ผ่านมุมมองที่แตกต่างในผลงานละครเวทีเรื่อง “The Return of Wanthong” นำแสดงโดย ประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2547 (เขียนบท กำกับการแสดง) วิศรุต หิมรัตน์ และ ดวงใจ หิรัญศรี ร่วมด้วยนักดนตรีปี่พาทย์บรรเลงสดสามคนและลูกคู่อีกสี่คน ในรูปแบบละครร้องร่วมสมัยแนวผสมผสานข้ามขนบ “พบกับเรื่องราวความทรงจำของจมื่นไวยวรนาถ ผู้เผชิญหน้าปีศาจนางวันทอง มารดาผู้ล่วงลับในระหว่างยกทัพไปปราบ หัวเมืองเหนือ … บางสิ่งไม่อาจลบหายไปจากจิตใจได้ทำให้เขาต้องกลับมาพบกับวิญญานนางวันทองอีกครั้ง แม้เวลาจะล่วงเลย” เจตจำนงของการตีความใหม่ ทิ้งปริศนาให้ผู้ชมร่วมค้นหา การกลับมาอีกครั้งของนางวันทอง จะเปลี่ยนความทรงจำเกี่ยวกับ ‘หญิงคนนี้’ ไปอย่างไร
ครั้งที่ 1 “วันทอง” The Return of Wanthong เปิดตัวเป็นครั้งแรกเป็นส่วนหนึ่งในงานนิทรรศการ "มุมมองใหม่ ขุนช้างขุนแผน" (“Re-Read Khun Chang Khun Phan”) จัดแสดงวันที่ 28-29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ณ ห้องนิทรรศการ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน (JIM THOMSON ART CENTER)
ครั้งที่ 2 “The Return of Wanthong” วันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2555 ณ หอศิลป์ศิลปกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
ครั้งที่ 3 “กลับมาเถิดวันทอง” The Return of Wanthong ร่วมฉลองปีที่ 10 เทศกาลละครกรุงเทพ (10th Anniversary Celebration of Bangkok Theatre festival (BTF2011) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2555 (เว้น 27, 28 ก.พ)
ครั้งที่ 4 “The Return of Wanthong” วันที่ 23-27-30 พฤศจิกายน และ 2-4 ธันวาคม 2555 จัดแสดงที่ Blue Box Studio ณ โรงละคร M Theatre
ครั้งที่ 5 “วันทอง” The Return of Wanthong 2018 วันที่ 4-5 กันยายน 2561 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน สนับสนุนโดย กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
และ จัดแสดงที่ 11-23 กันยายน 2561 (ยกเว้นวันที่16) ณ Warehouse 30 ถ. เจริญกรุง
และ จัดแสดงที่ THONG LOR ART SPACE (Sukhumvit 55) 12-16,19-23 กันยายน 2561
ในการแสดงครั้งแรกผู้กำกับ ประดิษฐ ประสาททอง ได้สำทับแนวคิดการทำงานผ่านสื่อ ผู้จัดการ ไว้ว่า “ที่ผ่านมาใครจะแต่งเติมให้นางวันทองตายไปเป็นผี เป็นเปรต หรืออะไรอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะเห็นว่าสิ่งที่นางวันทองทำขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นบาป แต่ในละครของผม แม้พระไวย จะได้รับฟังการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ของตัวเอง จากปากบุคคลนั้น บุคคลนี้ แต่วันหนึ่งพระไวยก็ย่อยสิ่งที่ได้รับฟังมาเหล่านั้น แล้วนึกถึงแม่ในมุมของตัวเอง ซึ่งแตกต่างไปจากที่คนอื่น ๆ รับรู้ นั่นคือไม่ได้มองในสิ่งที่แม่ทำว่าเป็นบาป ฉะนั้น นางวันทองในสายตาของพระไวยจึงไม่ใช่เปรต” เสน่ห์ของความเป็น “ขุนช้าง ขุนแผน” นอกจากอรรถรสด้านวรรณศิลป์คือ เนื้อหาเรื่องใกล้ตัวล้วนดีชั่วในโลกีย์ชน ชวนผู้คนเปิดการรับรู้ เปิดหู เปิดตา เปิดปัญญา เปิดทางให้ต่างคิด ต่างทำ จึงต่างนำเสนอการแสดงได้ในหลากหลายมิติต่อยอดความเป็นอมตะของวรรณคดี

photo : Supot Yuadyingyong
“มนุษย์นั้นมีแสง ส่วนเปรตไร้แสง ได้รับเพียงแสงสะท้อนจากมนุษย์” (สุพจน์ ยวดยิ่งยง)
จุดเด่นของวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้าง ขุนแผน” ตอน “พระไวยแตกทัพ” พรรณนาสาระความสะเทือนใจในอานุภาพของความรักที่แม่มีต่อลูกแม้อยู่กันคนละภพ วันทองคนบาปต้องละสภาพเปรตปลอมตัวเป็นหญิงงามมาหย่าทัพ ก่อนที่ลูก (พระไวย) กับพ่อ (ขุนแผน) จะฆ่ากัน ความหลงไหลในสาวงามของพระไวยทำให้วันทองต้องสารภาพความจริง เพื่อยับยั้งความลุ่มหลง ความงามของวรรณคดีมีรายละเอียดในสัญญะระหว่างแม่กับลูกที่ถูก ‘ความจริง’ กระเทาะบางสิ่งที่เคยเคลือบแคลงให้แสดงตน จนเมื่อถึงเวลาต้องหยุด … ทุกข์ที่สุดของมนุษย์คือการพลัดพราก แม้เมื่อจากแต่หากจิตยังติดยึดย่อมยากจะปล่อยวาง ทางแห่งการจุติใหม่ในภพภูมิที่ดียิ่งไม่มี
“เปรต แม่ วันทอง” ในท่วงทำนองของการแสดงแนว Devise ให้ภาพรวมงามราวกับงาน Collage Art ที่ถูกวาดด้วยจิตรกรรมนำเรื่องราวสามองก์มาชงรวมกัน แม่วันทอง แม่น้า แม่เปรต ต้นเหตุจาก ‘แม่วันทอง’ ของพ่อไวย รักของผู้ให้กำเนิด ส่งให้เกิด ‘แม่น้า’ พลังของรักห้อมที่ล้อมอยู่ด้วยผู้คน จนกลายเป็น ‘แม่เปรต’ เพราะล้วนกิเลสที่เกิดจากรักที่ทั้ง ‘ผูก’ และ ‘พัน’ เสมือน ‘ปม’ ยึดมั่นไว้เป็นสรณะ ราวภาพศิลป์ ‘ตัดปะ’ ที่ตั้งใจให้เป็น Theme เดียว ‘ยึดเหนี่ยวคือทุกข์’ ทั้งสามองก์ส่งสารสอนใจไว้สามระดับของการรับรู้ ทั้ง ซับซ้อน อ่อนไหว ใจสลาย ตามลำดับ ในทุกองก์สามนักแสดงนำ ครูหนุน ครูเอ็ม ครูอั๋น นั้นเสมือน ‘แม่ครู’ ทุกคนเปล่งประกายฉาย ‘องค์’ ส่งพลังจิต ให้ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ ไวต่อความคิด แม้จะตีความกันคนละทิศตามประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน
และในมุมของการสร้างงาน การตีความในวรรณคดีเรื่องเดียวกัน ตอนเดียวกัน ทุกครั้งเมื่อศิลปินรังสรรค์งานการแสดง ย่อมแตกต่างอย่างมีมิติที่น่าสนใจใน ‘เจตจำนง’ เพราะมีนัยให้น่าค้นหาถึงที่มาของวิธีคิด เมื่อนำเสนอออกไปแล้วผู้ชมร่วมตีความ ต่อยอดทางความคิดออกไปได้อีกมากมาย นั่นคือหมุดหมายแท้จริงของการทำงานสร้างสรรค์ เพื่อแบ่งปันให้คิดต่างสร้างปัญญา ครูเอ็มเล่าที่มาของละคร “เปรต แม่ วันทอง” จากประสบการณ์ผสานกับวรรณคดีใน Theme เดียว

“เปรต แม่ วันทอง” ผมเลือกมาจากวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้าง ขุนแผน” ตอน “พระไวยแตกทัพ” ซึ่งเป็นตอนที่นางวันทองตายแล้ว เป็นตอนที่ขุนแผนปลอมตัวกับลูกอีกคนมารบกับพระไวยที่มียศขึ้นเป็น เจ้าพระยา แล้ว แต่แม่เป็นคนที่รู้ว่านี่ลูกนั่นพ่อเดี๋ยวต้องมาเจอกันแล้วต้องรบกันอาจต้องฆ่ากัน ก็เลยรวบรวมพลังงานทั้งหมดที่ตัวเองมีแปลงกายเป็นผู้หญิงสวยเพื่อมา ‘หย่าทัพ’ คือการชะลอเอาไว้เพื่อไม่ให้พระไวยไปทัพนั้น แล้วขุนแผนก็ยกทัพกลับไป แต่มันเกินเลยเพราะพอพระไวยเห็นก็มาเกี้ยวอยากได้เป็นเมีย หลงไหลมากจนแม่ทนไม่ไหว นี่เขาเป็นลูกแล้วเราแม่ ก็เลยต้องแปลงร่างกลับมา ลูกก็กลัวแม่ในร่างเปรต สุดท้ายแม่ก็สารภาพว่ามาช่วยลูกนะ แล้วแม่ต้องกลับไปอยู่ในภพภูมิของตัวเอง
แรกเลยเรามองเห็นว่าจริง ๆ แล้วความรักของผู้คนน่ะมันยิ่งใหญ่มาก อย่างแม่วันทอง แม้กระทั่งเขาตายไปแล้ว ความรักลูกสามารถบันดาลได้ทุกอย่างเพื่อให้กลับมาหาคนที่เรารักได้ ประเด็นที่สองผู้คนบอกว่าแม่วันทองเหมือนคนที่ทำบาปเยอะตายไปก็เลยเป็นเปรต จริง ๆ เปรตในทางพุทธศาสนาคือสภาวะธรรมหนึ่งที่เราอุปทานขึ้นมาแล้วยึดติด ตัวกูของกูไม่สามารถปล่อยวางได้ ในจิตสุดท้ายก่อนตายจะเป็นกรรมหนึ่งที่ทำให้ตายแล้วไปเป็นเปรต เราก็รู้สึกว่าหรือแม่วันทองอาจจะยึดติดกับความรักลูก ในสภาวะนั้นเราไม่รู้ ตีความให้ใกล้เคียงที่สุดสิ่งนี้สื่อสารกับผู้คนได้ว่า ถ้าปล่อยวางไม่เป็นเรามีสิทธิ์เดินทางไปเป็นสิ่งนี้ได้นะ เลยเป็นสองประเด็นที่เอามารวมกันครับ

photo : Supot Yuadyingyong
“เป็นอีกภาพที่ผมชอบ แสงลงมาที่ตัวครูเอ็ม ที่รับบทเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน แต่บนตัวเปรตที่อยู่บนเก้าอี้ มีเพียงแสงสะท้อนจากมนุษย์เท่านั้น ที่สาดส่องไปถึง” (สุพจน์ ยวดยิ่งยง)
“มีอีกสิ่งที่ผมตั้งใจ คือ แสงที่มาจากสองด้านมีคนละสี ผมเลือใช้สี แดง-ส้ม (ร้อนรน) กับ สีฟ้า (มืดหม่น) ให้ลงมาปะทะที่นักแสดงในฉากนี้ เพื่อให้เกิดมิติของแสงที่เล่าอารมณ์ช่วงกลางคืน เพื่อให้ความรู้สึกการ ‘ต่อสู้’ ของอารมณ์การแสดงครับ” (Sutharin Sangchai ออกแบบแสง)
หลังจากนั้นเราก็คิดว่าจะนำเสนอยังไงให้เป็นละครไทยกับละครตะวันตก ก็เลยเป็นเรื่องคู่ขนานระหว่างวันทองกับครอบครัวหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วก็ทำให้มองเห็นว่าจริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่แม่นะที่เป็นคนที่รักเราได้มากที่สุด เพราะสังคมครอบครัวในปัจจุบันนี้เราจะต้องอยู่กับยาย อยู่กับย่า อยู่กับป้า อยู่กับน้า อยู่กับอา คนเหล่านั้น ความรักที่สุดไม่ได้เกิดขึ้นแค่แม่ แต่ทุกคนสามารถรักคนคนหนึ่ง หรือคิดถึง ยึดติดกับคนคนหนึ่งได้อยู่ตลอดไป หรือบางทีเราอาจยึดติดกับสิ่งของก็ได้ แล้วสุดท้ายเราจะปล่อยวางกับสิ่งนี้กันยังไง
เป็นข้อหนึ่งที่อยากให้คนในปัจจุบันได้คิดว่า จริง ๆ แล้วความรักเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่กับแม่ที่รักกัน การที่บ่นกัน ด่ากัน บางทีอาจจะเป็นเพราะเขารักเราก็ได้ เลยแสดงออกมาเป็นรูปแบบนั้น เป็นการมองเห็นชีวิตจริงให้คนดูไปเชื่อมโยงกับตัวเอง ประสบการณ์ของเรากับครอบครัว กับแม่ กับคนที่เรารักเป็นแบบไหน เป็นการบอกว่าถึงยังไงสุดท้ายเราก็ต้องจากกัน ไม่มีใครที่จะอยู่กันได้ตลอดไป เหมือนที่ผมพูดว่า วันนี้เราควรจะทำดีอะไรต่อกัน วันนี้เราอยากทำอะไร วันนี้เราอยากเป็นไง ควรจะรีบทำ ก่อนมันจะเป็นวันสุดท้ายที่เรามานั่งกอดเก้าอี้แล้วก็แค่คิดถึงเขา สุดท้ายแล้วความรักถึงจะรักกันมากแค่ไหน สิ่งสำคัญที่สุดมันจะเป็นความทรงจำที่อยู่กับเรา

photo : Supot Yuadyingyong
“มนุษย์นั้นมีแสง ส่วนเปรตไร้แสง ได้รับเพียงแสงสะท้อนจากมนุษย์” (สุพจน์ ยวดยิ่งยง)
การเล่าเรื่องตอนเริ่มต้นผมมองว่าละครเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผีทั้งหมด ก็เลยเอาตอนเริ่มต้นมาเป็นเรื่องผีที่จะเชื่อมเรื่องตอนแม่วันทองกลับมา เริ่มด้วย ‘ฉุยฉาย’ การแปลงกายจากเปรตมาเป็นคนสวย คือการกลับมาของวิญญาณ เอามาเชื่อมโยงกับการเล่าเรื่องผีในปัจจุบัน มีรายการวิทยุหนึ่งชื่อ “THE GHOST RADIO” (เดอะโกสท์เรดิโอ คลื่นสยองของคนรุ่นใหม่) คนชอบโทรไปเล่าเรื่องผี มีประสบการณ์จากชีวิตของคนที่เจอเรื่องราวต่าง ๆ ในละครจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับผู้หญิงคนหนึ่งที่กลับมาช่วยผู้ชายคนหนึ่งในความฝัน โครงเรื่องทั้งหมดผมดัดแปลงมาจากประสบการณ์จริงที่เคยเจอ ในเรื่องนี้ไม่มีผู้หญิงคนนั้น แต่ผู้ชายคนนี้มาเจอกับผมตลอดสามวัน เอาประสบการณ์ที่เจอเข้าไปเชื่อมโยงไปกับเรื่อง ผู้หญิงที่มาช่วยคือวิญญาณของแม่ สุดท้ายก็มาเฉลยว่าจริง ๆ คนที่มาช่วยไม่ใช่วิญญาณของแม่ แต่เป็นวิญญาณของน้า เพราะว่าเป็นคนที่รักเราที่สุด แม่อาจจะรักเรา แต่คนที่ยึดติดและรักเราอาจไม่ใช่คนที่ให้กำเนิดเราก็ได้ แต่เขาเป็นห่วงเขาตามมาโดยไม่รู้ตัว วันนี้ถ้าเราอยู่กับย่า ย่าอาจจะเป็นคนที่รักเราที่สุด ถ้าอยู่กับน้า น้าก็จะเป็นคนที่รักเราที่สุด เพราะประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนมีความแตกต่าง
“เปรต แม่ วันทอง” สำหรับผมเป็นการมาเจอกันทั้งสองอย่างระหว่างละครตะวันออกกับละครตวันตก ผมเรียนการละครมาตั้งแต่เด็ก เรารู้วิธีการเล่นของตะวันออกเป็นยังไง แต่ครูหนุน (ปัณณทัต โพธิเวชกุล รับบทแม่ใจดีที่เป็นคน)
นี่เป็นการละครตะวันตกเลย เราเอาสองอย่างมาเจอกันแล้วทำงานร่วมกัน แต่กระบวนการใช้ของ Devised Theatre[4] (กระบวนการที่ทุกคนมีหน้าที่ในการสร้างสรรค์งานเท่า ๆ กัน ไม่มีใครเป็นผู้นำผู้ตามชัดเจน และร่วมกันสร้างงานใหม่ (Original Work) ผ่านประเด็นหนึ่ง ๆ ที่สมาชิกต้องการสื่อสาร หรือต้องการหยิบยกปัญหาเหล่านั้นเล่าสู่สังคม) เราเขียนบทมาทั้งหมดแล้วโยนว่าคุณต้องทำอย่างนี้นะ 1 2 3 4 5 ผมออกแบบ ‘โครงสร้าง’ ของเรื่องมาก่อน ว่ามีตัวละครกี่ ใครเป็นยังไง เรื่องราวเป็นแบบไหน หลังจากนั้นมาดูว่าทรัพยากรที่มีเป็นยังไงบ้าง ความสามารถ เขาจะมาอยู่จุดไหน บทบาทเป็นยังไง
หลังจากนั้นก็ทำ workshop แต่ละ scene เล่าเหตุการณ์ให้ฟังก่อนเป็นยังไง พูดอะไรในเรื่องราวที่เกิดขึ้น movement วิธีการ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตัวอย่างเช่นตอนพี่ปุ้ยเป็นคนร้องเพลง “ฉุยฉาย” พี่เติ้งเป็นคนรำ พี่ปุ้ยร้องเพลงแล้วตีความว่ารู้สึกยังไงกับความเป็นฉุยฉาย ความรู้สึกจากเสียง เรื่องราวเป็นยังงี้ ๆ (แม่วันทองแปลงตัวเป็นสาวงามเพื่อมาช่วยลูกก่อนไปรบกับพ่อ) เล่าให้พี่ปุ้ยฟัง หลังจากให้พี่ปุ้ยร้องแล้วรู้สึกยังไงกับเสียง ผมต้องการเสียงรูปปากเป็นสระอูรูปปากเหมือนเปรตได้ไหม เป็นเสียงของเปรตฟังดูต่ำลง อะไรแบบนี้ หลังจากนั้นผมก็เลือกตามต้องการ จริง ๆ การทำงานจะเป็นกึ่งประชาธิปไตยนะครับ การทำละครแนวนี้ผู้กำกับไม่ได้เป็นใหญ่ที่สุด แต่ว่าทุกคนนำเสนอมาก่อนจากโครงสร้างงานที่ผู้กำกับอยากได้ หน้าที่ของผู้กำกับคือต้องมาเรียบเรียง แล้วคัดเลือกสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด ในกระบวนการ workshop ที่ทำเรื่อย ๆ เอาดนตรีมาเจอกับเสียง เอาเสียงมาเจอกับรำ เอาเสียงมาเจอกับละคร แล้วเก็บมาไล่เรียงตามโครงสร้างที่เรามีอยู่

photo : Supot Yuadyingyong
“มนุษย์นั้นมีแสง ส่วนเปรตไร้แสง ได้รับเพียงแสงสะท้อนจากมนุษย์ พอครูอั๋นเปิดภาพคลุมหน้าออก แสงก็ตกมาบนหน้า เป็นได้อย่างแจ่มแจ้ง” (สุพจน์ ยวดยิ่งยง)
หลังนำเสนอ มีการตีความที่แตกต่างกันสำหรับผมผมมองว่าเป็นความรู้สึกนึกคิดของแต่ละบุคคล เพราะจริง ๆ แล้วศิลปะไม่ได้ตัดสินว่าคุณต้องเข้าใจอย่างที่ฉันคิดนะ แต่มันแค่เราทำสิ่งนี้เรารู้สึกอย่างนี้ การเชื่อมโยงกับคนดูต้องมีความแตกต่างอยู่แล้ว หรือความชอบ รสนิยม ประสบการณ์ชีวิต อะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวบุคคลผมคิดว่ามันเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องคิดแตกต่างกัน เพราะคนไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะต้องเหมือนกัน แม้กระทั่งการกิน เราต่างก็เลือกลิ้มในรสที่เราชอบเพราะเรากินได้ เข้าใจเลยครับว่ามันต้องไม่เหมือนกันน่ะถูกต้องแล้ว แต่ละคนจะรู้สึกยังไง ในประเด็นไหน บางคนอาจจะรู้สึกในประเด็นธรรมะ ประเด็นความรัก ประเด็นการพลัดพราก ประเด็นวรรณกรรม วรรณคดี จะมีประเด็นที่แตกต่างกัน ผมรู้สึกนั่นคือถูกต้องแล้ว ผมอยากได้สิ่งนี้ เพราะผมไม่ได้ทำละครมาเพื่อจัดให้ทุกคนคิดอย่างที่ฉันคิดสิ ต้องเข้าใจอย่างที่ฉันเข้าใจสิ เป็นอย่างนั้นมากกว่าครับ
ย้อนไปตอนเป็นเด็ก ทุกปิดเทอมผมต้องกลับไปอยู่กับปู่ย่า คนเจ็นใหม่ไม่มีที่ให้ยึดเหนี่ยว ผมสอนคนรุ่นใหม่เยอะเขาไม่รู้จะยึดกับอะไร อะไรเป็นสิ่งที่เขาควรทำไม่ควรทำ จนบางทีเขาไม่เข้าใจไปหมด มุมมองนี้พอมันเกิดขึ้นแล้วผมเป็นคุณครูจะชอบคุยกับเด็ก ก่อนเลิกเรียนให้เด็ก ๆ ตั้งคำถามคนละ 10 คำถาม ถามเรื่องอะไรก็ได้ แบบนี้จะทำให้เราใกล้ชิดกับเขามากขึ้น พอถามไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เขาจะถามเรากลับมาเขาจะเริ่มถามประเด็นชีวิตตัวเอง แล้วเราจะได้เห็นชีวิตเขาว่าเป็นยังไง
ส่วนใหญ่ที่ผมได้ยินคือเด็กจะชอบถามว่า “เวลาที่เรามีความทุกข์ท้อแท้เราควรทำยังไงคะครู” ก็เลยรู้สึกว่าเด็กยุคนี้ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว บางทีไม่รู้เขาจะไปคุยกับใคร เขาไม่รู้ว่าหนทางที่จะเดินไป ความสุขของชีวิตมันจะเป็นยังไง ผมตอบว่าสิ่งที่หนูควรทำเวลาท้อแท้อาจจะต้องหายใจลึก ๆ สักสิบครั้ง แล้วเอาโทรศัพท์วางไว้ไกล ๆ ตัว เพื่อว่าเราจะได้ไม่ต้องเห็นอะไรข้างนอก เพราะทุกวันนี้เขานั่งมองแต่คนอื่น แต่ลืมกลับมาดูตัวเอง มาดูแลตัวเรา เพราะการหายใจลึก ๆ จะทำให้มีสติแล้วกลับมาที่ตัวเรา ว่าเรารู้สึกยังไง เราเป็นอะไร สุดท้ายจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ ถ้าเรารู้จักการรักตัวเองก่อนมันจะรอด เป็นวิธีการสอนแบบหนึ่งของผมครับ
ช่องว่างระหว่างอายุ มันอาจทำให้ไม่มีจุดเชื่อมเข้าหากันเพราะเจ็นมันเปลี่ยน (generation) วิธีคิด กระบวนการ ของคนแต่ละเจ็นมันต่างกันมาก ผมรู้สึกเจอคนหลายเจ็นแล้วเราเหมือนเป็นคนกลาง ผมเข้าใจว่าผู้ใหญ่คิดแบบนี้ เขามีวิธีคิดแบบนี้ คนที่เป็นเด็กไม่ได้คิดเหมือนกัน จะทำยังไงให้คนแต่ละเจ็น blend เข้าหากันได้ จะไปมองมุมเดียวที่เด็กก็ไม่ได้ ถ้าเป็นตัวผมมองว่า ผู้ใหญ่ก็ต้องปรับถึงจะเจอกันตรงกลางได้ เพราะถ้าผู้ใหญ่ตั้งอยู่อย่างเดียวแล้วให้เด็กเป็นฝ่ายเปลี่ยน ๆ ๆ ผมมองว่ามันยาก แต่ถ้า ‘มอง’ (ด้วยเมตตา) ซึ่งกันและกันแล้วมันจะถูกปรับ เหมือนละครเรื่องนี้ถ้าเข้าใจกัน รู้ว่าเขาบ่นเพราะอะไร ทำแบบนี้เพราะอะไร ก็จะได้บอกกันว่า “ไม่ต้องบ่นก็ได้ บอกแค่นี้เข้าใจแล้ว” ผมคิดว่าสังคมปัจจุบันนี้เราคุยกันน้อยลง ถ้ามีการคุยกันมากขึ้นอย่างในอดีตที่กินข้าวด้วยกันก็ได้พูดคุยกันในวงกับข้าว แต่ปัจจุบันพ่อแม่ทำงานก็กินข้าวมาเลย ลูกไปเรียนทำหลายอย่าง วิถีชีวิตมันเปลี่ยนไปด้วยครับ เลยทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของผู้คน สังคม มากขึ้น
วิธีแก้ปัญหากับการสอนผมจะนำมาใส่ไว้ในหลักสูตรครับ เราสอดแทรกอยู่ในทุกการเรียนรู้หมดแล้ว ผมจะไม่ยัดเยียดให้เขาเพราะรู้สึกว่าถ้าเด็กบางคนเขาไม่ชอบสิ่งนี้ เขาก็ยิ่งจะต่อต้าน แต่ถ้าเราทำสิ่งนี้แล้วค่อย ๆ สอดแทรก แทรกซึมไป ถ้าเขาเก็ตเขามองเห็นมันก็จะได้ เพราะเราไม่ได้บังคับ พอเราไม่ได้บังคับเขาจะไม่หนี เราต้องให้เขาชิมไปก่อน ไม่ให้เขารู้ ค่อย ๆ แทรกซึม การทำงนกับเด็ก ๆ ต้องค่อย ๆ เพราะว่าเมื่อไหร่ที่เราบังคับเขาจะยิ่งหนี อย่างละครเรื่องนี้ผมก็ถามผู้ชม มันอาจเขื่อมโยงกับเขา มีพี่คนหนึ่งบอกว่า ดีจังเลยละครเรื่องนี้เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยฟังผู้ใหญ่ เขาหวังดีจะตายดูสิแม้ลมหายใจสุดท้ายยังกลับมาช่วยเหลืออยู่เลย เป็นอีกมุมมองที่เราไม่เคยคิด อีกคนให้อีกการเชื่อมโยงหนึ่งมองว่า เด็กสมัยนี้ไม่เอาผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่ยังคงรัก ‘ความเป็นลูกหลาน’ ของเด็ก ๆ อยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนเลย”

photo : Kawinporn Charoensri
12 กุมภาพันธ์ 2568 วันมาฆบูชา ศิลปินกลุ่ม “คิดบวกสิปป์” ถือเป็นฤกษ์ดีประกาศให้สาธารณะรับรู้ในวงกว้างถึงการก่อเกิดของ “โรงวัฒนธรรม คิดบวกสิปป์” อย่างเป็นทางการ ยืนยันพัฒนาการของกลุ่มที่มั่นคงต่ออุดมคติ และยึดมั่นต่ออุดมการณ์ ประคับประคองให้พี่น้องได้ทำงานผสานศิลป์อย่างต่อเนื่องตลอดมานับตั้งแต่เริ่มเปิดบ้านเมื่อปี 2563 การมาเยือนของครูผู้มีพระคุณเคยประสิทธิ์ประสาทศิลป์นับเป็นศิริมงคล เสมือนญาติผู้ใหญ่ที่เฝ้าติดตามการเติบโตตลอดมา ด้วยความภูมิใจในตัวศิษย์และพร้อมส่งเสริม อาทิ …
- ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและภาพยนต์) ให้ความเห็นด้วยความตื้นตันใจว่า ดีใจที่ต่อยอด ภูมิใจในตัวลูกศิษย์มาก
- ครูน้อย ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) ผู้กำกับโขนพระราชทานแห่งแผ่นดิน
- ครูโจ้ สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์สากล) ผู้เป็นกรรมการจากรายการดัง Goldensong
- ครูตั้ว ประดิษฐ์ ปราสาททอง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ละครร่วมสมัย) ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงละครพื้นบ้านสู่สากล
ในบรรยากาศ ‘เปิดบ้าน’ เหมือนงานรวมพลคนรักศิลปะ มีผู้ใหญ่ในแวดวงมาร่วมชมการแสดง มองเห็นความพยายามทุ่มเทสร้างงานแม้ในความไม่พร้อม กล่าวน้อมสนับสนุนโดยเฉพาะ คุณบุรณี รัชไชยบุญ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์โฆษณา เจ้าของบริษัท Ovation Studio ฯลฯ (ศิษย์เก่า อักษรศาสตร์ สาขาศิลปะการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทสาขา Theatre and Drama จาก มหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา) ได้ปวารณาตัวช่วยเหลือเรื่องไฟที่จะใช้ในการแสดง เพียงแจ้งให้ทราบ นำความปลาบปลื้มใจถ้วนหน้า นับว่าเป็นการเกื้อกูลของคนรักงานศิลปะการแสดง เพราะแจ้งใจในวิถีถางทาง ที่ต้องบากบั่นสรรสร้างอย่างประณีต เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมสมเจตจำนงดีงาม พลังงานดีมักดึงดูดสิ่งดีเข้าหากัน ความเป็น‘ผู้ให้’ ไม่ใช่แค่ ‘ได้รับ’ ความสุขตอบแทนเท่านั้น แต่กลับจะกลายเป็น ‘ผู้รับ’ ได้เสมอเมื่อถึงเวลา.
[1] อรชุมา มีวงศ์อุโฆษ, นาฏศิลป์ ปั้นดินเป็นดาว, สืบค้น 13 กุมภาพันธ์ 2568, https://www.trueplookpanya.com/tcas/article/detail/23885.
[2] มรณาสันนกาล-ประสาทชีววิทยาของภาวะใกล้ตาย, psychiatry.or.th, สืบค้น 28 กุมภาพันธ์ 2568 https://www.psychiatry.or.th/JOURNAL/v4317f.html
[3] มรณาสันณวิถีคืออะไร, dhammahome.com, สืบค้น 28 กุมภาพันธ์ 2568 https://www.dhammahome.com/audio/topic/4679
[4] Devised Theatre สร้างสรรค์ละครเพื่อพัฒนาการเรียนรู้, www.arts.chula.ac.th, สืบค้น 11 กุมภาพันธ์ 2568, https://www.arts.chula.ac.th/~sandbox/devalai/index.php/2020/09/14/3712/