Focus
- หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงวิกฤต และได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรถึงความจำเป็นในการร่วมมือฟื้นฟูประเทศจากความยากลำบาก โดยเสนอแนวนโยบายหลายด้าน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, การทหาร, การคลัง, เศรษฐกิจ, การเกษตร, สาธารณสุข, และการศึกษา เป็นต้น เพื่อวางรากฐานประชาธิปไตยและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนที่บอบช้ำหลังสงครามได้กลืนกินหลายสิ่งไป

นายปรีดี พนมยงค์ แถลงนโยบายต่อรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎรใน พ.ศ. 2489
คําแถลงนโยบายของรัฐบาล[1]
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรและท่านสมาชิกผู้มีเกียรติทั้งหลาย
เพื่อสนองตามความต้องการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนมากที่จะให้ข้าพเจ้ารับใช้ประเทศชาติในยามคับขัน ข้าพเจ้าก็จําเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามความประสงค์ของท่าน
บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ 24 มีนาคม พุทธศักราช 2489 ซึ่งที่ท่านทราบแล้ว รัฐบาลจึงขอแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรดั่งต่อไปนี้

1. เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่า ขณะนี้ประเทศไทยก็คล้ายกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศที่ต้องตกอยู่ในภาวะอันยากแค้นซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากมหาสงคราม ฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลใดที่จะเข้ามาบริหาร ย่อมจะต้องเผชิญกับปัญหามากมายหลายประการรัฐบาลนี้มิได้มองข้ามความยากลําบากที่จะต้องประสบ แต่ก็จะพยายามฝ่าฟันอุปสรรคให้ได้ผลดีแก่ประเทศชาติมากที่สุดเท่าที่จะทําได้
2. เป็นความจําเป็นที่ประเทศไทยจะต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรี ตลอดทั้งความเข้าใจอันดีให้สนิทสนมกับสหประชาชาติ และร่วมมือตามอุดมคติซึ่งสหประชาชาติได้วางไว้ และดำเนินการเจรจากับสหประชาชาติและนานาประเทศอื่น เพื่อปลดเปลื้องและผ่อนผันภาระให้หมดหรือลดน้อยลงไป เพื่อปลดเปลื้องและผ่อนผันภาระให้หมดหรือลดน้อยลงไป ในการนี้จึงจําเป็นที่คนไทยทั้งหลายจะต้องมีความสามัคคีกลมเกลียวและแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงภายในประเทศอันจะเป็นรากถานที่แสดงให้นานาประเทศเห็นถึงความเป็นปึกแผ่นและกําลังจิตใจของประชาชนคนไทย
3. ขณะนี้การครองชีพและความสงบเรียบร้อยภายในเป็นปัญหาอันใหญ่สำหรับประชาชนภายในทั่วทั้งประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะได้เอาใจใส่เป็นพิเศษ ในการนี้จะต้องอาศัยความสมานและประสานนโยบายภายในต่าง ๆ ดั่งจะได้กล่าวในข้อต่อ ๆ ไป
4. การทหาร รัฐบาลนี้ถือว่ากําลังทหารที่มีอยู่นั้นเป็นของประเทศชาติโดยฉะเพาะ และจะได้ปรับปรุงการจัดการปกครองทางทหารให้สอดคล้องกับการปกครองแบบประชาธิปไตยตามที่เหมาะสมกับประเทศของเรา
จะจัดการให้ทหารได้รับการเลี้ยงดูดีขึ้นโดยเร็ว และจะให้ทหารเป็นกําลังหนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการปราปรามโจรผู้ร้ายเพื่อความสงบสุขของประชาชน
5. การคลัง
(1) จะพยายามหาทางเจรจาขอให้สหประชาชาติถอนการยึดเงินของประเทศไทยซึ่งจะเป็นทางให้ประเทศไทยได้นําเงินมาซื้อของที่จําเป็นให้พลเมือง
(2) จะพยายามให้ได้เปิดการปริวรรตเงินกับต่างประเทศโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การค้ากับต่างประเทศดําเนินไปได้
(3) จะเริ่มการปรับปรุงรายได้รายจ่ายให้เหมาะสมแก่กาละ และเป็นเงินตราไทยธรรมแก่สังคม
(4) จะดำเนินการไปสู่รากงานในอันที่จะธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตรา
อนึ่ง รัฐบาลได้นึงเห็นว่า กิจการของประเทศจะดำเนินไปโดยเรียบร้อยได้ก็ด้วยอาศัยข้าราชการเป็นตัวจักรสําคัญ และโดยเหตุที่ข้าราชการในปัจจุบันนี้ตกอยู่ในฐานะลําบาก รัฐบาลจึงเห็นสมควรที่จะช่วยเหลือให้ข้าราชการทุกฝ่ายมีการครองชีพอันสมควรแก่อัตตภาพ
6. การเกษตร รัฐบาลจะให้ความสนใจพิเศษ อาทิเช่น จะเพาะและส่งเสริมการสหกรณ์และให้มีกสิกรชั้นกลางขึ้นให้มากที่สุดที่จะมากได้ จะเร่งบํารุงและส่งเสริมพืช 4 ชะนิดเป็นการใหญ่ คือ ข้าว ถั่วเหลือง ฝ้าย และยาสูบ การเผยแพร่พันธุ์ข้าวที่รัฐบาลได้บำรุงคัดเลือกแล้วให้มีปริมาณแพร่หลายยิ่งขึ้น จะบํารุงสัตว์พันธุ์พื้นเมืองให้ได้พันธุ์ที่ตีแทนที่จะมุ่งนำพันธุ์สัตว์จากต่างประเทศมาสืบพันธุ์แต่ทางเดียว จะให้บรรดาสหกรณ์ชาวนาเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทข้าวไทยจำกัด จะได้ดําเนินการก่อสร้างการชลประทานที่ได้วางไว้ให้สำเร็จรูป และจะได้สํารวจดูด้วยว่านอกจากในภาคกลางแล้วจะมีทางทําการชลประทานเพื่อช่วยเหลือการกสิกรรมในภาคนั้น ๆ ได้เพียงใดหรือไม่ นโยบายดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้บางอย่างเป็นนโยบายที่จะต้องกระทําในระยะเวลานาน ซึ่งรัฐบาลนี้แถลงให้ทราบเพื่อเป็นอุดมคติอันมุ่งไปสู่เท่านั้น แต่เพียงในระยะเวลาอันสั้นนี้ จะพยายามรีบเร่งกระทําดังนี้
(1) จะดําเนินการห้ามการฆ่ากระบือ ซึ่งเป็นเครื่องมือสาคัญของชาวนา
(2) จะรีบเร่งหาพันธุ์ข้าวปลูกให้ราษฎรชาวนาขัดสนได้ยืมไปทำพันธุ์ในฤดูการทํานาที่จะถึงนี้ อันเป็นการสอดคล้องกับโครงการที่รัฐบาลชุดก่อน ๆ ได้วางไว้สืบเนื่องกันมา
(3) จะระดมสัตวแพทย์ให้มาป้องกันและปราบปรามโรคระบาดสัตว์ซึ่งเวลานี้กระบือในจังหวัดภาคกลางและภาคที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำได้ประสพภัยนี้อยู่
(4) จะเริ่มวางวิธีการให้สหกรณ์ชาวนาเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทข้าวไทยจํากัด
7. การคมนาคม รัฐบาลจะส่งเสริมการบํารุงและบูรณะให้ได้มากที่สุดเท่าที่กําลังเงินจะทําได้ โดยจะจัดการให้ได้สิ่งของที่จําเป็นสําหรับการนี้มาจากต่างประเทศโดยเร็วที่สุด
8. การพาณิชย์และอุตสาหกรรม ในระยะเวลาอันสั้นนี้ รัฐบาลจะได้พยายามแก้ปัญหาเรื่องราคาเครื่องอุปโภคและบริโภคสูง ซึ่งเป็นการเดือดร้อนแก่ราษฎรอยู่ในเวลาโดยด่วน ทั้งนี้จะได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในเรื่องเร่งรัดปราบปรามโจรผู้ร้ายเพื่อให้การขนส่งปลอดภัยแก่พ่อค้าและสินค้าและร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อให้การขนส่งสะดวกและประหยัดขึ้น นอกจากนั้นรัฐบาลจะได้รับเจรจาขอซื้อสินค้าอันจําเป็น เพื่อส่งเสริมให้เครื่องอุปโภคมีราคาย่อมเยาว์ลง
ในทางอุตสาหกรรม รัฐบาลจะได้ปรับปรุงกิจการภายในโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นของรัฐบาลให้มีสมรรถภาพในการผลิตยิ่งขึ้น และจะได้ส่งเสริมการอุตสาหกรรมของสหกรณ์และของเอกชนให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น
9. การมหาดไทย เพื่อให้บังเกิดความสงบเรียบร้อยภายในและความปลอดภัยของประชาชนซึ่งเป็นที่ปรารถนาอยู่โดยทั่วกันนั้นโดยเร็ว จะได้เร่งรัดจัดการให้เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายปราบปรามได้ประสานงานกันโดยใกล้ชิด และส่งเสริมให้มีสมรรถภาพยิ่งขึ้น และถ้าจําเป็นก็จะได้ร่วมมือกับฝ่ายทหารเพื่อให้เป็นกำลังหนุนในการปราบปรามนี้ด้วย
โดยฉะเพาะเส้นทางคมนาคม ซึ่งไม่ปลอดภัยในการขนส่ง จะได้ดําเนินการป้องกันเพื่อให้การขนส่งมีความสะดวกและปลอดภัยเป็นพิเศษ
10. การสาธารณสุข เพื่อที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของประชาชนในด้านโรคภัย รัฐบาลจะได้พยายามเร่งรัดจัดการปราบปรามและป้องกันโรคระบาด ซึ่งกําลังเกิดแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ให้บันเทาเบาบางลงโดยเร็ว และจะได้ดําเนินการเพิ่มพูนปริมาณยารักษาโรคชะนิดที่จําเป็นโดยการคิดทําขึ้นหรือหาซื้อจากทั้งภายในภายนอกประเทศ เพื่อสําหรับใช้และจําหน่ายให้เป็นความสะดวกแก่ประชาชนที่จะซื้อหา และได้ราคาย่อมเยาว์ลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
อนึ่ง ในเรื่องสถานพยาบาลและปริมาณจํานวนนายแพทย์ ซึ่งขณะนี้ยังมีไม่พอแก่การดั่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว และรัฐบาลชุดก่อน ๆ ได้ดำริในอันที่จะจัดการให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นให้ได้จํานวนพอควรแก่การนั้น รัฐบาลนี้ก็จะได้ดําเนินการสืบเนื่องต่อไป เพื่อให้บังเกิดผลสมปรารถนาในอนาคต
11. การศึกษา รัฐบาลนี้ดียอมรับการเข้าร่วมมือของเอกชนในการจัดตั้งโรงเรียน และการจัดทําตําราเรียน และในระยะเวลาอันใกล้กับการเปิดสมัยการศึกษานี้ รัฐบาลจะเอาใจใส่เป็นพิเศษในเรื่องสถานที่เล่าเรียนและตําราที่ใช้ในการเรียน รัฐบาลจะจัดการตามความสามารถให้นักเรียนมีที่เรียนและมีตําราเรียนให้ทั่วถึง
12. การศาล รัฐบาลจะรักษาฐานะของผู้พิพากษาตามควรแก่อิสสระที่มีในการพิจารณาคดีและจะได้สอดส่องให้กระบวนพิจารณาในศาลได้ดําเนินไปโดยเร็วตามควร
ในที่สุดนี้ หวังว่าสภาผู้แทนราษฎรคงจะได้รับฟังนโยบายของรัฐบาลนี้ด้วยดีและพิจารณาดําเนินการตามมาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญ
หมายเหตุ :
- คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
- บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก คำแถลงนโยบายของรัฐบาล 25 มีนาคม 2489 เป็นคำมั่นสัญญาหลังมหาสงคราม คำแถลงของคณะรัฐมตรี นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี 24 มีนาคม - 11 มิถุนายน 2489
[1] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ม-(2)สร 0201.43 กล่องที่ 2 ปึกที่ 15. เอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง คำแถลงนโยบายของรัฐบาล (รัฐบาล พ.ศ. 2475 ถึงรัฐบาล พ.ศ. 2490)