เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เวลา 17.15 น. โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์, พระยาศรีวิสาร, พระยาปรีชาชลยุทธ, พระยาพหล, กับหลวงประดิษฐมนูธรรม มาเฝ้าฯ ที่วังสุโขทัย มีพระราชดํารัสว่า อยากจะสอบถามความบางข้อ และบอกความจริงใจ ตั้งแต่ได้รับราชสมบัติ ทรงนึกว่า ถูกเลือกทําไม บางทีเทวดาต้องการให้พระองค์ ทํา อะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง
1. คงต้องการให้ลบล้างกิจการที่รัชกาลที่ 5 ทําไว้ จึงได้ทรงพยายามใช้หนี้ และแก้ไขให้ฐานะการเงินเพื่องฟูขึ้น ครั้นเสด็จไปอเมริกากลับมา การเงินเพลียลง ทรงรู้สึกว่า ไม่ใช่โทษผิดของพระองค์ เป็นเพราะเหตุการณ์ภายนอก แต่ก็ทรงรู้สึกว่าได้แก้ไขช้าไปบ้าง และอ่อนไปบ้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะรู้สึกว่าจะดันทุรังไปก็ไม่ใคร่ได้ ด้วยมีผู้ใหญ่ที่ชํานาญการห้อมล้อมอยู่
2. อีกอย่างหนึ่ง ทรงเห็นว่าควรจะต้องให้ Constitution มาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 แล้ว และเมื่อทรงรับราชสมบัติ ก็มั่นพระราชหฤทัยว่าเป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ ครั้นเมื่อพระยากัลยา (F.B. Sayre) เข้ามา ได้ทรงปรึกษาร่างโครงขึ้น ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรี
ในส่วนพระราชดําริ ในขั้นต้นอยากจะทําเป็น 2 ทาง ทั้งล่างทั้งบน ข้างล่างให้มีเทศบาลเพื่อสอนราษฎรให้รู้จักเลือกผู้แทน จึงโปรดให้กรมร่างกฎหมายร่างขึ้น ดังที่หลวงประดิษฐอยู่ทราบอยู่แล้ว แต่การณ์ก็ช้าไป ในส่วนข้างบนได้ทรง ตั้งกรรมการองคมนตรีขึ้นเพื่อฝึกสอนข้าราชการ เพราะเห็นพูดจาไม่ค่อยเป็น จึงตั้งที่ประชุมขึ้น หวังให้มีที่คิดอ่านและพูดจา
ครั้นเสด็จไปอเมริกาก็ได้ให้ interview ว่าจะได้ให้ Constitution เมื่อเสด็จกลับมายิ่งรู้สึกแน่ว่า จะกักไว้อีกไม่สมควรเป็นแท้ จึงได้ให้ปรึกษานายสตีเวนส์ ๆ กลับว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงเวลา ฝ่ายพระยาศรีวิสารที่โปรดให้ปรึกษาด้วยอีกผู้หนึ่ง ก็ influence ไปด้วยกับนายสตีเวนส์ เมื่อพระยาศรีวิสารและนายสตีเวนส์ ขัดข้องเสียดังนี้ การก็เลยเหลวอีก
ต่อมาได้เตรียมว่า จะไม่ประกาศก่อนงานสมโภชพระนคร 150 ปี แล้ว เพราะจะเป็นขี้ขลาด รอว่าพองานแล้วจะประกาศ ได้เสนอในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี เนื่องจากนายสตีเวนส์ไม่เห็นด้วย ที่ประชุมก็ขัดข้องว่ากําลังเป็นเวลาโภคกิจตกต่ํา ถึงกระนั้นก่อนเสด็จไปหัวหิน ก็ได้ทรงพระราชดําริอีกที่จะให้มี Prime Minister ให้มีสภา interpellate เสนาบดีได้ ให้ถวายฎีกาขอเปลี่ยนเสนาบดีได้ และให้มีผู้แทนจากหัวเมือง แต่ว่าคละอย่าง ๆ จะเป็นได้ก็ลําบากเหลือเกิน หวังว่าจะเห็นด้วยว่าพระองค์ยากที่จะขัดผู้ใหญ่ ที่ได้ทําการมานานตั้ง 20 ปีก่อนพระองค์
แปลนที่ 2 คิดจะให้เสนาบดีมุรธาธร (preside) เป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดี พระองค์จะไม่ประทับในที่ประชุม และขยายจํานวนกรรมการองคมนตรี ทําหน้าที่อย่างรัฐสภา ได้ทรงเตรียมไว้ 2 แปลนอย่างนี้ เอาติดพระองค์ไปหัวหินด้วย เพื่อจะทํา (memo) บันทึกเสนอเสนาบดีสภา
ครั้นได้ข่าวเรื่องนี้ก็ปรากฏว่าช้าไปอีก ที่คณะราษฎรทําไปไม่ทรงโกรธกริ้วและเห็นใจ เพราะไม่รู้เรื่องกัน พอทรงทราบเรื่องก็คาดแล้วว่า คงจะเป็นเรื่องการปกครอง เสียพระราชหฤทัยที่ได้ช้าไป ทําความเสื่อมเสียให้เป็นอันมาก ในวันนั้นได้ทรงฟังประกาศ ของคณะราษฎรทางวิทยุ ทรงรู้สึกเสียใจและเจ็บใจมากที่กล่าวหาร้ายกาจมากมายอันไม่ใช่ความจริงเลย
เมื่อได้ทรงฟังประกาศดังนี้รู้สึกว่า เห็นจะเป็นขบถกระมัง จึงปรึกษา มีทาง 3 ทาง ถ้าจะหนีก็มีเวลาทั้ง 24 ชั่วโมง พอหนีได้ จะสู้ ก็ยังมีกําลังทหารทางหัวเมือง แต่ทรงพระราชดําริว่า ถ้าหนีจะร้ายใหญ่ อาจฆ่ากันตาย และร้ายแก่พระราชวงศ์ การจะต่อสู้ก็ไม่อยากจะทํา จึงได้ทรงรับโดยไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ
ในการที่ทรงรับได้กล่าวไว้แล้วว่า พระองค์มีพระอาการทุพพลภาพ ไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ที่ทรงรับกลับเข้ามาโดยตั้งพระราชหฤทัยจะสนับสนุนคณะราษฎร ให้จัดตั้งพระธรรมนูญการปกครองให้เป็นปึกแผ่น ทั้งนี้อาจมีพวกเจ้านายรู้สึกว่าเป็นทางขลาดก็ได้
ในประกาศของคณะราษฎรที่กล่าวหาว่าพระองค์ตั้งแต่คนสอพลอนั้น ไม่จริง ได้ทรงปลดคนที่โกงออกก็มาก แต่ลําพังพระองค์ ๆ เดียวจะเที่ยวจับคนที่โกงให้หมดเมืองอย่างไรได้ แม้คณะนี้ก็คอยดูไป คงจะได้พบคนโกงเหมือนกัน ทรงเชื่อว่าพระราชวงศ์ทุกพระองค์ได้ตั้งพระทัยช่วยราชการโดยจริง ที่ว่าเอาราษฎรเป็นทาสหรือว่าหลอกลวงก็ไม่จริง และเป็นการเสียหายอย่างยิ่ง แต่อาจจะเป็นได้ว่าได้ปฏิบัติการช้าไป ที่ว่าราษฎรช่วยกันกู้ประเทศนั้นก็เป็นความจริง แต่พระราชวงศ์จักรีเป็นผู้นํา และผู้นํานั้นสําคัญ เสียใจที่ได้ทิ้งเสีย ไม่กล่าวถึงพระคุณควบไปด้วย เป็นการเท่ากับด่าถึงบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นเสียใจมาก
เมื่อได้เห็นประกาศ ไม่อยากจะรับเป็นกษัตริย์ แต่โดยความรู้สึกดังกล่าวมาข้างต้น ว่าเทวดาสั่งเพื่อให้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยราบคาบ จึงจะทรงอยู่ไปจนรัฐบาลใหม่เป็นปึกแผ่น เมื่อถึงเวลานั้นแล้วจะทรงลาออกจากกษัตริย์ เมื่อเขียนประกาศทำไมไม่นึก เมื่อจะอาศัยกัน ทําไมไม่พูดให้ดีกว่านั้น และเมื่อพูดทั้งนั้นแล้วทําไมไม่เปลี่ยนเป็น Republic เสียทีเดียว
ไม่ทรงทราบว่าใครเป็นผู้เขียนประกาศนั้น แต่ทรงคิดว่าหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นผู้เขียน จึงทรงต่อว่าการเขียนประกาศกับการกระทําของคณะราษฎร เปรียบเหมือนเอาผ้ามาจะทำธง แล้วเอามาเหยียบย่ำเสียให้เปรอะเปื้อน แล้วเอามากชักขึ้นเป็นธงจะเป็นเกียรติยศงดงามแก่ชาติหรือ จึงทรงรู้สึกว่าจะรับเป็นกษัตริย์ต่อไปไม่ควร
อีกประการ 1 ประกาศนี้คงตกอยู่ในมือราษฎรเป็นอันมาก ทําให้ขาดเสียความนิยม เมื่อไม่นับถือกันแล้วจะให้เป็นกษัตริย์ทําไม เท่ากับจับลิงที่ดุมาใส่กรงไว้ จึงมีพระราชประสงค์จะออกเสีย เพราะรู้สึกว่าเสีย credit ทุกชั้น ทําให้คนเกลียดหมด แต่จะทรงยอมอยู่ไปจนเหตุการณ์สงบ เวลานี้จะดูหน้าใครไม่ได้ จะรับแขกไม่ได้ จะอยู่โดยเงียบ ๆ แต่จะเชิญเสด็จให้ไปที่สภา ก็จะเสด็จ เพื่อช่วยความมั่นคง เมื่อการงานของประเทศเรียบร้อยแล้ว ขออนุญาตไปพักผ่อนเงียบ ๆ ไม่ได้ต้องการเงินทอง ขอแต่ให้ได้ใช้สอย ทรัพย์สมบัติเดิมที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพอกินไป
อีกอย่าง 1 อยากจะแนะนําเรื่องสืบสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า และพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยทรงพระราชดําริจะออกจากราชสมบัติเมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกัน ในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติ คงทนงานไปไม่ได้นาน เมื่อการณ์ปกติแล้ว จึงอยากจะลาออกเสีย ทรงพระราชดําริเห็นว่าพระราชโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ก็ถูกข้ามมาแล้ว ผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปควรจะเป็นโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ตั้งกรมขุนชัยนาทเป็น Regent ก็สมควร จะให้เป็นการล้างเก่าตั้งต้นใหม่ เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นานไปก็จะไม่มีผู้นับถือ หรือคณะราษฎรจะเห็นควรกล่าวแก้ไข ประกาศนั้นเสียเพียงใดหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่จะเห็นควร
หลวงประดิษฐมนูธรรม กราบบังคมทูลว่า พวกคณะราษฎรไม่ทราบเกล้า ว่าจะพระราชทาน Constitution คิดว่าการเปลี่ยนแปลงอาจไม่เสด็จกลับ อาจไม่พระราชทานตามที่ขอร้อง เป็นด้วยไม่รู้เท่าถึงการถึงพระบรมราชประสงค์ ไม่ใช่เป็นการมุ่งร้ายต่อพระองค์ เมื่อได้ทราบเกล้าฯ ดังนี้ ก็จะไม่มีความเข้าใจผิดอีกต่อไป และคงมีความเคารพนับถือในพระบารมีอยู่ตามเดิม
มีพระราชดํารัสว่า กระดาษที่ประกาศออกไปเกลื่อนเมือง ล้วนเป็นคำเสียหาย จะปรากฏในพงศาวดาร เมื่อมีดังนี้แล้วถึงจะแก้ไขใหม่ก็ลําบาก เมื่อสิ้นธุระแล้วขอให้ปล่อยพระองค์ออกจากกษัตริย์ดีกว่า เพราะทรงรู้สึกว่าคณะราษฎรเอาพระองค์ใส่ลงในที่ ๆ เลวทราม หรือมิฉะนั้นพระองค์ก็ตาขาวเต็มที ซึ่งที่จริงมีถึง 3 ทาง ทั้งสู้ทั้งหนี คนไม่รู้หาว่าขี้ขลาด
มีความอีกข้อ 1 ได้ทรงทราบข่าวเรื่องจะยึดเงิน ไม่ทราบว่าจะทำจริงหรือไม่เพียงไร ถ้าจะริบ ทรงขอลาออกเสียก่อน เพราะจะยอมเป็นหัวหน้าบอลเชวิคร่วมมือริบทรัพย์ญาติด้วยไม่ได้ เป็นยอมตาย
ที่คณะราษฎรจะคิดหาเงินจากคนมั่งมีด้วย taxation นั้นทรงยอมให้ แต่ในประกาศของคณะราษฎรที่พูดออกไปนั้น ทําให้ต่างประเทศมีความสงสัย ทรงขอบอกว่าเมืองไทยจะทําอย่างเมืองจีนไม่ได้ และจะเปรียบกับอาฟกานิสตานก็ไม่ได้ เพราะภูมิประเทศผิดกัน เมืองไทยประเทศใกล้เคียงเอาเรือรบมาเมื่อไรก็ได้ จึงทรงขอทราบว่าคณะราษฎร ได้คิดดังนั้นจริงหรือ
พระยามโนปกรณ์ กราบบังคมทูลว่า คณะราษฎรไม่ได้คิดดังนั้นเลย คิดจะหาเงินโดยทางภาษีกับทาง internal loan เท่านั้น
มีพระราชดํารัสว่า เมื่อได้รับคํายืนยันว่าไม่ริบทรัพย์ จะจัดทางภาษีและทางกู้เงินในประเทศ จะทรงช่วยได้ พระคลังข้างที่มีอยู่ 6 ล้าน จะยอมให้ แต่เงินนี้เป็นหลายเจ้าของด้วยกัน และมีทางอื่นที่ได้ทรงช่วยอยู่หลายประกร เช่น ในเรื่องลดเงินพระคลังข้างที่ และช่วยแบงค์สยาม ซึ่งเสนาบดีคลังและที่ปรึกษาในครั้งนั้นแนะนําให้ล้มเสีย ได้ทรงให้แบงค์ยืมโดยไม่เอาดอกเบี้ย ได้ทำโดยตั้งใจดีทุกอย่าง จึงเสียใจและน้อยใจมากที่คณะราษฎรได้ออกประกาศไปดังนั้น
อีกอย่าง 1 ขอบอกว่าที่มีเสียงต่าง ๆ ว่าจะให้ถอดเจ้านั้น ทําไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อ คณะราษฎรจะทํา ก็ขอให้พระองค์ออกจากกษัตริย์ก่อน ทรงเห็นว่าจะทําอย่างนี้ได้ คือในฝรั่ง อย่าให้เรียกหม่อมเจ้าว่า His Highness ให้เรียกแต่ว่าหม่อมเจ้าเฉย ๆ และที่จะให้เจ้ามีน้อย ทรงเห็นด้วย เพราะเดี๋ยวนี้มีมากนัก แต่จะถอดถอนไม่ได้ ต้องปล่อยให้ตายไปเอง แล้วตีวงจํากัดเสียสําหรับภายหน้า
พระยามโนปกรณ์ กราบบังคมทูลว่า เรื่องถอดเจ้ายังไม่ได้คิด
มีพระราชดํารัสว่า ใน 2 อย่างเป็นไม่ยอมทํา คือ ริบทรัพย์ กับถอดเจ้า พระองค์ได้มีพระราชประสงค์อยู่ในการที่จะช่วยราษฎร ให้ราษฎรทุกคนได้ถือที่ดินและมีนาของตนเอง ไม่ควรให้ที่ดินตกไปในมือชาวต่างประเทศ แต่ยังทําลงไปไม่เป็นผล ด้วยถูกสัญญาทางพระราชไมตรีผูกมัด มีหลายข้อที่ได้ทรงพระราชดําริไว้ อาจเป็นประโยชน์ที่จะดําเนินต่อไป
มีเรื่องธุระที่ได้ทรงพระราชดําริไว้ คือ พระองค์เจ้าบวรเดช กราบบังคมทูลว่า มิสเตอร์กรุด มีโทรเลขมาว่า เวลานี้ bond สยามราคาตกลง 4% ถ้ายังมีการเกาะกุม แสดงว่าการเป็นไปยังไม่เรียบร้อย ต่างประเทศคงยังไม่วางใจ ในเวลานี้ไม่ทรงทราบว่า คณะราษฎรได้ปล่อยใครไปบ้าง
พระยาพหล กราบบังคมทูลว่า ได้ปล่อยสมเด็จ 2 องค์ พระองค์เจ้าภาณุ กับหม่อมเจ้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์
มีพระราชดํารัสว่า การเกาะกุมจะเป็นไปนานเท่าไร ถ้าเลิกเสียได้ยิ่งดี
พระยาพหล กราบบังคมทูลว่า คณะราษฎรอยากจะทําเช่นนั้นเหมือนกัน แต่มีบางคนไม่ยอมทําสัตย์ปฏิญาณ เช่น พระยาสีหราชเดโช ถึงจะเอาชีวิต
มีพระราชดํารัสว่า มีใครบ้างที่ไม่ยอมให้สัตย์ ขอให้ๆ ชื่อ จะได้ทรงมีลายพระราชหัตถเลขาไปแนะนำ เพราะว่า ถ้ามัวแต่คิดไม่หยุด เมืองไทยก็จะกลายเป็นเม็กซิโก ยิ่งกักไว้นาน ทําให้รู้ว่าการภายในไม่ปกติ จะร้าย ที่สําคัญที่สุดนั้นคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์...
คัดจากหนังสือ เรื่องของคนห้าแผ่นดิน (2518) ของท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล หน้า 97-100