Focus
- บันทึกฉบับ 6 มีนาคม 2526 ของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่อง ตอบคำถามบางประการของนิสิตนักศึกษา เป็นบันทึกที่นายปรีดี พนมยงค์ แสดงถึงสัจจะทางประวัติศาสตร์ในช่วงก่อนการอภิวัฒน์ 2475 จากหลักฐานเอกสาร (authentic documents) หายากชิ้นสำคัญและเป็นบันทึกในช่วงสุดท้ายก่อนที่นายปรีดีจะถึงแก่อสัญกรรมเพียง 2 เดือน
- บทความนี้เสนอให้เห็น 2 เรื่องหลักที่เป็นมายาคติก่อนการอภิวัฒน์ 2475 ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน และกฎหมายเทศบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7
- การเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จากบันทึกของนายปรีดีฉบับนี้แสดงให้เห็นว่ามีการลดทอนความเหตุการณ์การอภิวัฒน์ 2475 จากการสร้างมายาคติให้กฎหมายเทศบาลและเอกสารการปกครองมีค่าเสมอรัฐธรรมนูญของสมัยคณะราษฎรแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทั้งหลักฐานเอกสารของรัฐบาลและจากการเปิดเผยหลักฐานทางชั้นต้นในภายหลังกลับพบว่า เอกสารทั้งสองชิ้นไม่ใช่รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยในรูปแบบที่ดำเนินการตามหลักการของคณะราษฎรในช่วงหลังการอภิวัฒน์ 2475
๑. เรื่องนายปรีดีรู้เมื่อใดว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน
๑.๑ อาจารย์ประวัดิศาสตร์, อาจารย์รัฐศาสตร์, อาจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญ, คงรู้แล้วหรือควรรู้จากหลักฐานเอกสาร (authentic documents) คือ บันทึกลับที่เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการเป็นผู้จดพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่พระราชทานเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๕ แก่ผู้ที่รับสั่งให้เข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย ๕ คน คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, พระยาศรีวิสารวาจา, พระยาปรีชาชลยุทธ, พระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม บันทึกลับฉบับนั้นได้พิมพ์เปิดเผยภายหลังพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติ และต่อมาท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ธิดาเจ้าพระยามหิธรฯ ได้นำมาลงพิมพ์ในหนังสือชื่อ “เรื่องคนห้าแผ่นดิน” และมีผู้อื่นได้ตีพิมพ์บันทึกนั้นเปิดเผยอีกหลายราย ความในบันทึกนั้นมีความตอนหนึ่งดังนี้
“แปลนที่ ๒ คิดจะให้เสนาบดีมุรธาธร (preside) เป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดีพระองค์จะไม่ประทับในที่ประชุม และขยายจำนวนกรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่อย่างรัฐสภาได้ทรงเตรียมไว้ ๒ แปลนอย่างนี้ เอาติดพระองค์ไปหัวหินด้วย เพื่อจะทำ (memo) บันทึกเสนอเสนาบดีสภา ครั้นได้ข่าวเรื่องนี้ก็ปรากฏว่าช้าไปอีก ที่คณะราษฎรทำไปไม่ทรงโกรธกริ้วและเห็นใจ เพราะไม่รู้เรื่องกัน”
ทั้งนี้เป็นหลักฐานแสดงว่าปรีดีฯ มิได้รู้เรื่องที่จะพระราชทานธรรมนูญฯ ก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
๑.๒ หนึ่งวันภายหลังวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คือ ในวันที่ ๒๕ เดือนนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร (พระยาพหลพลพยุนเสนา, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิอัคเนย์) มีความดังต่อไปนี้
สวนไกลกังวล หัวหิน
วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕
ถึง ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร
ด้วยได้ทราบตามสำเนาหนังสือที่ส่งไปยังกระทรวงมุรธาธร คณะทหารมีความปรารถนา จะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้ติดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าถ้าข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศคงจะไม่ยอมรับรองรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ ความจริงข้าพเจ้าเองในเวลานี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่ามีอาการทุพพลภาพและไม่มีลูกสืบวงศ์สกุล และจะไม่ทนงานไปนานเท่าใดนัก ทั้งไม่มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์และความสามารถ ที่จะช่วยพยุงชาติของเราให้เจริญเทียมหน้าเขาบ้างพูดมานี้เป็นความจริงใจเสมอ
(พระปรมาภิไธย) ประชาธิปก ป.ร.
ต่อมาในตอนค่ำวันที่ ๒๕ มิถุนายนนั้น พระยาพหลฯ จึงเชิญพระยานิติศาสตร์ไพศาล อดีตอธิบดีกรมกฤษฎีกาแห่งกระทรวงมุรธาธร ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่พิจารณาตรวจร่างกฎหมายก่อนที่พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณานั้นไปร่วมพิจารณากับคณะราษฎร ๓ คน (พระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิฯ) และปรีดี หัวหน้าฝ่ายพลเรือน เรื่องร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมและร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งปรีดีเป็นผู้ร่างเบื้องต้นไว้นั้น เพื่อจะนำไปถวายพระมหากษัตริย์ในวันที่ ๒๖ เดือนนั้น ณ วังสุโขทัย พระยานิติศาสตร์ฯ ยืนยันว่าในหลวงเคยมี พระราชดำริที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน แต่ถูกอภิรัฐมนตรีและนายสดีเวนส์ (ที่ปรึกษาการต่างประเทศ) กับพระยาศรีวิศาลฯ (ปลัดทูลฉลอง) ได้คัดค้านไว้ หัวหน้าคณะ ราษฎรจึงปรารภแก่พระยานิติศาสตร์ฯ ว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ในหลวงมิได้ประกาศพระราชดำริให้ประชาชนทราบ ถ้าคณะราษฎรทราบก่อนแล้วก็จะไม่เอาชีวิตมาเสี่ยงในเรื่องที่จะได้อยู่แล้ว
พระยานิติศาสตร์ขอให้ฝ่ายคณะราษฎรกล่าวไว้ในอารัมภบทตามใจความที่ในหลวงทรงรับสั่งในพระราชหัตถเลขาฉบับ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๕ ว่า
“อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมี พระธรรมนูญการปกครองนี้ เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่คณะราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ด้วยและด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ อาณาประชาชนแท้ ๆ จะหาการกระทำหรือเพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยก็มิได้”
ฝ่ายคณะราษฎรได้ตกลงตามที่พระยานิติศาสตร์ฯ เสนอ (ดูพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕)
เมื่อผู้แทนคณะราษฎรได้นำร่างพระราชกำหนดดังกล่าวทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่วังสุโขทัยเมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น พระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานทันที
แด่รายละเอียดของพระราชดำริที่จะพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น คณะราษฎรเพิ่งทราบเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ จากพระราชกระแสที่พระราชทานแก่ ผู้แทนคณะราษฎร ๕ คนที่มีรับสั่งให้เข้าเฝ้า คือ พระยามโนปกรณ์ฯ, พระยาศรีวิศาลฯ, พระยาปรีชาชลยุทธ, พระยาพหลฯ, หลวงประดิษฐ์ฯ โดยมีเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เป็นผู้จดบันทึก”
๒. ปรีดีฯ รู้เรื่องร่างพ.ร.บ. เทศบาลเมื่อใด และจัดการอย่างไร
๒.๑ อาจารย์ประวัติศาสตร์, อาจารย์รัฐศาสตร์, อาจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญทราบหรือควรทราบดังต่อไปนี้
(๑.) กฎหมายเทศบาลนั้นเป็นกฎหมายปกครองท้องถิ่น (Administrative Law on local government) ฉะนั้น ในประเทศฝรั่งเศสและอีกหลายอารยะประเทศซึ่งสอนกฎหมายและระเบียบเทศบาลไว้ในวิชาที่เรียกว่า “กฎหมายปกครอง” (droit administratif) มิใช่ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเพราะกฎหมายเทศบาลมิใช่รัฐธรรมนูญ
(๒.) กรมร่างกฎหมายก่อนอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน นั้น เป็นกรมที่ขึ้นตรงกับเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม โดยมีกรรมการร่างกฎหมายเป็นผู้บังคับบัญชา และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการคือ เลขานุการ ๑ คน กับผู้ช่วยเลขานุการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รับคำสั่งจากเสนาบดีและกรรมการร่างกฎหมาย มิใช่เป็นผู้บังคับบัญชา เสนาบดีและคณะกรรมการร่างกฎหมาย
ร่างกฎหมายใดที่ส่งมายังกระทรวงยุติธรรมเพื่อส่งต่อมายังกรมร่างกฎหมายนั้น เสนาบดีเป็นผู้สั่งให้นำเรื่องใดเข้าระเบียบวาระก่อนและหลัง มิใช่เลขาหรือผู้ช่วยเลขาฯ เป็นผู้มีอำนาจจัดระเบียบวาระการประชุมตามความพอใจของตน
(๓.) ก่อนอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ปรีดีฯ มีตำแหน่งเพียงเป็น “ผู้ช่วยเลขานุการ” อยู่ใต้บังคับบัญชาของ “เลขานุการ” จึงต่างกับที่บางคนโฆษณาให้นิสิตนักศึกษาประพฤติผิดระเบียบราชการโดยผู้น้อยมีอำนาจทำงานข้ามหน้าผู้ใหญ่ได้ซึ่งเสียวินัยข้าราชการ
(๔.) กระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายที่ส่งร่าง พ.ร.บ.เทศบาลมายังกระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ปรีดีฯ ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายทราบว่ามีร่างพ.ร.บ. เทศบาลส่งต่อมาจนถึงกรมร่างกฎหมาย แต่กฎหมายที่คั่งค้างอยู่ที่กรมร่างกฎหมายมีมากมายหลายฉบับ เสนาบดีจึงเป็นผู้กำหนดให้นำฉบับใดพิจารณาก่อนและหลัง โดยเฉพาะ พ.ร.บ. เทศบาลนั้นเกิดปัญหาเนื่องจากกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยได้ทรงมีความเห็นคัดค้านไว้ตามหนังสือที่ ก. ๔๕๖/๑๘,๙๒๑ ถึงราชเลขาธิการขอให้นำความกราบบังคมทูล มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้
“ความเห็นของกระทรวงต่างประเทศที่จะค้ดค้านหลักการบางแห่งในร่างพระราชบัญญัติมีดังนี้คือ เทศบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยพระราชบัญญัตินั้นมีสภามนตรีซึ่งบุคคลที่พำนักอยู่ในเขตนั้นเลือกตั้งขึ้นเป็นผู้ควบคุม และไม่มีบทบังคับจำกัดสิทธิในการเลือกหรือเป็นเทศมนตรีให้แก่เฉพาะคนพื้นเมือง ไม่ว่าบุคคลใดสักแต่ว่าได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในกรุงสยามไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี และมีทรัพย์อันมีค่าที่จะเก็บจังกอบของเทศบาลได้ฯลฯ ตามความในมาตรา ๑๙ และ ๒๐ แล้วเป็นผู้เลือกและเป็นเทศมนตรีได้ทั้งนั้น หลักการนี้ประเทศที่เป็นเอกราชย่อมไม่ใช้กันเลย ทั้งเป็นภัยแก่กรุงสยามโดยเฉพาะ ด้วยสิทธิทางการเมืองนั้นรัฐบาลย่อมไม่ให้แกใครนอกจากคนพื้นเมือง ในกรุงสยามตามจังหวัดและเมืองมีบุคคลที่เป็นจีนอยู่เป็นจำนวนมาก และในจำนวนนั้นคงจะมีจีนหลายคนที่จะเป็นผู้เลือก และเป็นเทศมนตรีได้ ตามเกณฑ์ที่มีทรัพย์ และมีภูมิลำเนาในกรุงสยามไม่น้อยกว่า ๑๕ ปี ตามบทบังคับในมาตรา ๑๙ และ ๒๐ แห่งร่างพระราชบัญญัติ ผลที่จะได้รับก็คืออนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งมีความสวามิภักดิ์ต่อประเทศอื่นมามีอำนาจใหญ่ในกิจการของเทศบาลกรุงสยาม บางแห่งอาจมีอำนาจควบคุมกิจการเทศบาลอย่างสมบูรณ์ เช่นกับที่มณฑลภูเก็ตเป็นต้น ซึ่งมีคนด่างด้าวตั้งภูมิลำเนาอยู่เป็นจำนวนมาก ในปรัตยุบันนี้ จีนมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงสยามเป็นจำนวนมาก ทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจก็อยู่ในมือเขาเกือบทั้งหมดแล้ว ฉะนั้นถ้าฝ่ายเราจะออกพระราชบัญญัติตามหลักการที่กล่าวข้างบนนี้ก็เท่ากับเราให้อำนาจในการเมืองแก่จีนด้วยเท่าที่กระทรวงการต่างประเทศทราบ ดูเหมือนมีน้อยรายที่อนุญาตให้คนต่างด้าวและคนพื้นเมืองมีสิทธิในการเลือก จะมีอยู่ก็แต่เทศบาลของเมืองขึ้น เช่นกับ ฮ่องกง, พม่า, สิงคโปร์, เซียงไฮ้, และมนิลา เป็นต้น แต่ลักษณะการของเมืองเหล่านี้ผิดกับที่เป็นอยู่ในกรุงสยามเป็นอีกมาก”
(๕.) สมัยก่อนอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน นั้น สยามถูกผูกมัดจากจักรวรรดินิยมหลายประเทศในการต้องจ้างที่ปรึกษามาประจำทำงาน และโดยเฉพาะการร่างประมวลกฎหมายและกฎหมายสำคัญที่จะใช้บังคับด่างด้าวด้วยนั้น จะต้องให้ประเทศที่มีอำนาจพิเศษทางศาลทราบไว้ และแก้ไขข้อท้วงติงให้เป็นที่พอใจของเขา เขาจึงจะใช้กฎหมายไทยนั้นๆ ต่อศาลกงสุลของเขาได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลสยามจึงต้องจ้างชาวฝรั่งเศสหลายคนเป็นที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย
การพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละฉบับยุ่งยากมาก เพราะที่ปรึกษาชาวฝรั่งเศสก็ไม่รู้ภาษาไทย แต่รู้ภาษาอังกฤษ ส่วนกรรมการฝ่ายไทยชั้นผู้ใหญ่เวลานั้นก็รู้ภาษาอังกฤษ แต่ไม่รู้ภาษาฝรั่งเศส ฉะนั้นร่างกฎหมายที่เป็นภาษาไทยส่งมาถึงกรมร่างกฎหมายนั้น กรมร่างกฎหมายก็ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายไทยพิจารณาได้ การพิจารณาก็ทำกันอย่างละเอียด ๓ วาระ ภาษาอังกฤษเสร็จแล้วจึงแปลฉบับภาษาอังกฤษที่ตกลงเป็นวาระสุดท้ายนั้นเป็นภาษาไทย และฝ่ายไทยตรวจฉบับภาษาไทยอีก ๓ วาระ จึงต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับการคิดศัพท์เทคนิคในทางกฎหมายขึ้นใหม่อีกหลายศัพท์ จึงไม่อาจทำอย่างลวกๆ หรือสุกเอาเผากิน บางศัพท์ก็ต้องไปขอให้พระผู้ใหญ่ที่มีความรู้ภาษาบาลีและอังกฤษช่วยคิดค้นให้
๒.๒ การที่ต้องยึดเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เทศบาล ปรากฏตามสำเนาจดหมายของเสนาบดียุติธรรม ๒ ฉบับต่อไปนี้
๒.๓ มีผู้ปราศจาก “หิริโอตตัปปะ” ได้ปั้นแต่งเรื่องว่าปรีดีฯ รู้ว่ารัฐบาลส่งร่าง พ.ร.บ. เทศบาลมายังกรมร่างกฎหมายแต่ปรีดีฯ ปิดบังผู้ก่อการไว้มิให้รู้ เพราะเกรงว่าถ้าผู้ก่อการฯ คนอื่นรู้ก็จะพอใจกฎหมายนั้น แล้วไม่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ปรีดีฯ ขออ้างหลักฐานว่าปรีดีฯ ไม่มีทางปิดข่าวเรื่อง พ.ร.บ. เทศบาลนั้น เพราะเป็นเรื่องเปิดเผยที่คนไทยจำนวนไม่น้อยก็รู้ แม้หนังสือพิมพ์รายวันเช่นบางกอกการเมือง ฉบับ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ก็ลงพิมพ์จำหน่ายแพร่หลาย ดังต่อไปนี้
“ถ้าใช้เทศบาลไม่รัฐบาลก็พลเมืองจะแย่
จึงลือกันหนาหูว่าเทศบาลออกไม่ได้แน่
เกี่ยวด้วยเศรษฐกิจตกต่ำและกำลังพลเมืองที่จะเสียภาษี”
ตามข่าวที่เราได้นำมาลงแล้วถึงเรื่องร่างพระราชบัญญัติเทศบาล ซึ่งผู้แทนของเราได้เรียนถามพระยาราชนุกูลฯ ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย และได้คำจากเลขานุการของพระยาราชนุกูลว่า ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล กระทรวงมหาดไทยได้ส่งไปยังกรมราชเลขาธิการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระราชวินิจฉัยต่อไปนานแล้ว และซึ่งพอเรานำลงพิมพ์ รุ่งขึ้นก็ได้รับจดหมายว่าความนั้นคลาดเคลื่อน คือ เลขานุการพระยาราชนุกูลมิได้บอกยึดยาวเช่นนั้น บอกเพียงว่าได้ส่งพ้นกระทรวงมหาดไทยไปแล้วนั้น
เรามีความยินดีที่จะยืนยันข่าวเรื่องนี้ของเราอีกครั้งหนึ่งว่า ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลนี้กระทรวงมหาดไทยได้ส่งไปยังกรมราชเลขาธิการ (ซึ่งเปลี่ยนฐานะนามเป็นกระทรวงมุรธาธรแล้ว) เป็นเวลานานหนักหนาแล้ว และกรมราชเลขาธิการได้นำทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงราชวินิจฉัยแล้ว ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งร่างไปยังกรมร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาเทียบเคียงหลักกฎหมายชนิดนี้ซึ่งมีอยู่ ณ นานาประเทศชั้นหนึ่งก่อน
เราได้ทราบว่า กรมร่างกฎหมายได้ตรวจร่างเทศบาลเรียบร้อยและได้ส่งกลับคืนไปยังกระทรวง มุรธาธรประมาณสักเดือนหนึ่งได้แล้ว แต่ต่อจากนั้นจะไปอยู่ที่ใดข่าวยังเงียบอยู่
อย่างไรก็ดี มีข่าวลือกันหนาหูเต็มทีว่าอย่างไรเสียพระราชบัญญัดิเทศบาลจะออกไม่ได้เป็นเด็ดขาด ในระหว่างความยุ่งยากทางเศรษฐกิจนี้ เพราะรายได้จากผู้เสียภาษีแก่เทศบาลจะกระทบกระเทือนไปถึงรัฐบาลอย่างน่าวิตกทีเดียว”
ทั้งนี้แสดงว่าประชาชนไทยและหนังสือพิมพ์สมัยนั้นไม่พอใจ พ.ร.บ. เทศบาลตามที่รัฐบาลส่งมาให้กรมร่างกฎหมายพิจารณาว่าเป็นกฎหมายที่จะเก็บภาษีราษฎรให้หนักขึ้น
หมายเหตุ :
- คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค การเน้นข้อความด้วยตัวหนา และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
บรรณานุกรม :
- วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์ บรรณาธิการ, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535)