ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 7)

10
กรกฎาคม
2567

Focus

  • ข้อ 8. ของบันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ มีประเด็นที่นายปรีดี พนมยงค์ โต้แย้งข้อเท็จในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าฯ ในเรื่องการนำรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยในบทความนี้ได้โต้แย้งประเด็นที่บิดเบือนสำคัญคือ ความคลาดเคลื่อนวันเวลาที่ผู้แทนคณะราษฎรเข้าเฝ้า และฝ่าฝืนความจริงเกี่ยวกับบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ
  • ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่งเรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี การฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป

 

 
ข้อ 8. บันทึกประกอบคำประท้วงฯ

 

พิเคราะห์สิ่งที่สํานักพิมพ์บรรณกิจและผู้สนับสนุนเรียกว่า “ข้อเท็จจริงที่เป็นจริงละเอียดลออ” ของพล.ท.ประยูรฯ

เรื่อง

การนำรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

พล.ท.ประยูรฯ ได้บันทึกไว้ละเอียดลออจนเกินเลยความจริงมากในหนังสือของท่านหน้า 173-177 มีความดังต่อไปนี้

 

การนํารัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

ในการนํารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ณ วังสุโขทัย เมื่อบ่ายวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ในการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในวาระนี้ได้มีบุคคลรวมเป็นคณะ 9 คน คือ พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ พ.ต.หลวงวรโยธา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง นายสงวน ตุลารักษ์ และข้าพเจ้า ส่วน พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาไม่ได้ร่วมคณะ เพราะได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้มีหน้าที่เป็นราชองครักษ์จึงขอตัวไว้

ก่อนที่จะเข้าเฝ้า พล.ท. พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร สมุหราชองค์รักษ์ได้นําพระราชปรารภมาบอกกล่าว ให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถจะทรงเจรจากับคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองภายใต้การขู่เข็ญของรถถังได้ ครั้นเมื่อได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านได้ทรงต้อนรับด้วยพระอาการอันปกติ ครั้นแล้วได้ทรงปรารภว่า พระองค์ไม่เคยคิดที่จะได้มาเป็นพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นราชโอรสอยู่ในอันดับที่ 4 คงจะไม่มีโอกาสจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจึงไม่ได้เตรียมที่จะมาขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงมีพระราชประสงค์เจตน์จํานงอันแรงกล้าอย่างจริงใจที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอันเป็นรากฐานเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติสืบไป

ซึ่งจะเป็นอนุสรณ์ของพระราชวงศ์จักรีและของพระองค์อีกด้วย แต่มีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ และข้าราชการผู้ใหญ่หลายคนได้ประท้วงกันไว้ แม้แต่พระราชบัญญัติเทศบาลปกครองท้องถิ่นที่ใช้ปกครองบ้านเมืองขึ้นนี้ก็เป็นความประสงค์สอดคล้องต้องกัน มีกระแสพระราชดํารัสตอนหนึ่งว่า ฉันยินดีที่จะสนับสนุนอย่างจริงใจ ให้แก่…(ตัวหนังสือเลือน-กองบรรณาธิการ)โทรเลขมาว่าพร้อมที่จะยกกําลังทหารเข้ามาต่อต้าน ฉันก็ระงับไว้ เพื่อมิให้มีการรบราฆ่าฟันกันเองกับทั้งหวังว่าจะประนีประนอม ความเข้าใจร่วมมือกับได้ด้วยดี

และโปรดเกล้าฯ ให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมนํารัฐธรรมนูญขึ้นมาทูลเกล้าฯ ถวาย ได้ทรงพิจารณา รู้สึกพระองค์สนใจทรงอ่านด้วยความพินิจพิเคราะห์ ครั้นแล้วรู้สึกว่าทรงอ้ำอึ้งในข้อความบางประการ ซึ่งในที่สุดก็ทรงรับสั่งถามพระยาทรงสุรเดชว่า ได้อ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อนแล้วหรือยัง พระยาทรงสุรเดชก็กราบทูลว่ายังมิได้อ่าน แล้วหันมาถามว่าข้าพเจ้าว่า คุณประยูรได้อ่านมาบ้างหรือเปล่า ข้าพเจ้าก็กราบทูลว่ายังมิได้อ่าน เพราะไม่ใช่หน้าที่โดยเฉพาะ แต่ท่านเจ้าคุณทรงสุรเดชได้ประชุมกําชับหลวงประดิษฐ์ฯ ไว้มั่นคงแล้วว่าให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแบบอังกฤษ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญ จึงทรงรับสั่งว่าถูกต้องแล้วต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น แต่เรื่องอะไรกันจึงต้องใช้คําแทนเสนาบดีว่า “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งเป็นแบบรัสเซีย แบบคอมมิวนิสต์ พระยาทรงสุรเดชรู้สึก ตะลึงอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วลุกขึ้นถวายคํานับว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานสารภาพผิด ข้าพระพุทธเจ้ามิได้อ่านมาก่อน ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานอภัยและขอถวายสัตย์ว่าจะไปร่างมาใหม่ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงนิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง น้ำพระเนตรขุ่น รู้สึกอัดอั้นพระทัยเป็นอย่างยิ่งแล้วรับสั่งว่า ถ้าพระยาทรงสุรเดชรับรองว่าจะไปแก้กันใหม่ฉันก็ยอมเชื่อพระยาทรงฯ แต่อย่างไรก็ตามวันนี้ไม่ยอมเซ็น แล้วขอให้เป็นวันที่ 27 แล้วก็เสด็จขึ้น พวกเราทุกคนต่างก็ตะลึงพรึงเพริด ทยอยกันออกไปยืนที่ลานพระราชวัง พระยาทรงฯ ชี้หน้าหลวงประดิษฐ์ฯ ว่า “คุณหลวงทําปนปี้ ไม่ทําตามที่บอกกล่าวกันไว้ ทําอะไรนอกเรื่อง” พระยาทรงฯ ชี้หน้าและทุกอย่างเคืองแค้น แล้วรีบเดินไปขึ้นรถเป็นอันว่าความสัมพันธ์ระหว่าง พ.อ.พระยาทรงสุรเดช กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้แตกสลายไปอย่างไม่มีทางจะประสานกันได้

ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ชักธงชาติขึ้นที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

ครั้นแล้วต่อมาในวันที่ 27 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้เป็นผู้นํารัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธยที่พระที่นั่งจิตรลดา และในตอนบ่ายวันนั้นก็มิได้มีการชักธงชาติขึ้นสู่พระที่นั่งอนันตสมาคม และได้ประกาศเป็นทางการทั่วประเทศที่ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย มีประชาชนมาชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปนับแสน ได้เปล่งเสียงไชโยกึกก้อง นับเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทยกันสำคัญยิ่ง

นักศึกษาหลายคนที่ในขั้นแรกหลงเชื่อตามค่าโฆษณาของสํานักพิมพ์ฯ และผู้สนับสนุนว่าข้อเขียนของพล.ท. ประยูรฯ เป็น “ข้อเท็จจริงที่เป็นจริงละเอียดลออ” นั้นแล้ว ต่อมาได้พบว่าคำอ้างนั้นหลายประการฝ่าฝืน ความจริง และไม่สมเหตุสมผลตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการไว้วางไว้ ข้าพเจ้าจึงขอเสนอค่าวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาหลายคนพร้อมทั้งคำชี้แจงเพิ่มเติมของข้าพเจ้าในข้อ 8.1, 8.2, 8.5, และในข้อ 9. ข้อ 10, ดังต่อไปนี้

 

8.1.

ความคลาดเคลื่อนวันเวลาที่ผู้แทนคณะราษฎรเข้าเฝ้า

วันที่ผู้แทนคณะราษฎร เฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพื่อขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้นเป็นวันสําคัญวันหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้ว่าเป็นวันที่ 25 มิถุนายน 2475 เวลาบ่ายซึ่งคลาดเคลื่อนจากเอกสารหลักฐานซึ่งคนไทยจำนวนมากสมัยนั้นทราบอยู่แล้วจากข่าวในพระราชสํานักและจากโทรเลขรายงานของนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย และรายงานการเดินรถของกรมรถไฟซึ่งทางการสมัยนั้นได้ประกาศให้มหาชนได้ทราบทั่วกันแล้ว ดังปรากฏในหนังสือชื่อ “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี” ซึ่งนายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภาได้รวบรวมเอกสารหลักฐานดังกล่าวมาพิมพ์ไว้ในหน้า 14 ซึ่งนักศึกษารุ่นปัจจุบันหลายคนได้อ่านพบความจริง มีความดังต่อไปนี้

วันที่ 25 มิถุนายน ได้รับโทรเลขนายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย จากเรือหลวงสุโขทัยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พร้อมด้วยกรมพระกําแพงเพชรอัครโยธินจะเสด็จกลับจากหัวหินโดยทางรถไฟ ไม่มีกองทหารติดตาม” ดังนั้น หัวหน้าคณะราษฎรจึงสั่งให้กระทรวงการเจ้าหน้าที่ถวายความสะดวกทุกประการ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรม ราชินีได้เสด็จจากหัวหินกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟพิเศษในวันที่ 25 มิถุนายน เวลา 19.45 น. เสด็จลงที่สถานีรถไฟจิตรลดา วันที่ 26 มิถุนายน เวลา 0.37 นาฬิกา แล้วเสด็จทรงไปประทับที่วังสุโขทัย ในวันที่ 26 มิถุนายน โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย เวลา 11.00 น.

ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้แทนคณะราษฎรไปเฝ้าในหลวงพระองค์นั้นเพื่อขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินในวันที่ 25 มิถุนายน 2475 เวลาบ่ายตามที่พล.ท. ประยูรฯ อ้างไว้

 

8.2

ฝ่าฝืนความจริงเกี่ยวกับบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ

เรื่องนี้สําคัญมากเพราะข้อความหลายแห่งที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้นั้นอ้างถึงพระยาทรงสุรเดชว่าเป็นผู้กราบทูลในหลวงวันนั้นหลายประการและพระยาทรงฯ เป็นผู้อาละวาดเอาเรื่องกับข้าพเจ้ามากมาย พล.ท. ประยูรฯจึงแต่งเรื่องไว้ว่าพระยาทรงสุรเดชและพระยาฤทธิ์อัดเป็นได้ร่วมกับบุคคลอื่นไปเฝ้าในหลวงวันนั้นด้วย คือ พล.ท.ประยูรฯได้เขียนไว้ว่า

ในวาระนี้ได้มีบุคคลรวมเป็นคณะ 9 คน คือ พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี, พ.อ. พระยาทรงสุรเดช, พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์, พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ, พ.ต.หลวงวีรโยธา, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง, นายสงวน ตุลารักษ์, และข้าพเจ้า (ประยูรฯ) ส่วน พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาไม่ได้ร่วมคณะ เพราะได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้มีหน้าที่เป็นราชองครักษ์จึงขอตัวไว้

 

นักศึกษาหลายคนได้สอบสวนเอกสารหลักฐานแล้ว จึงวิเคราะห์วิจารณ์ว่า

พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์ซึ่งเป็นราชองครักษ์เช่นเดียวกับพระยาพหลฯ นั้น มิได้ไปเฝ้าในหลวงวันนั้น

ฉะนั้นข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ ที่อ้างถึงในหลวงมีรับสั่งแก่พระยาทรงฯ และพระยาทรงฯ กราบทูลและอาละวาดเอาเรื่องกับข้าพเจ้านั้น จึงไม่เป็นความจริง

หลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าพระยาทรงฯ กับพระยาฤทธิ์ฯ มิได้ไปเฝ้าในหลวงวันดังต่อไปนี้

 

ประการที่ 1

หนังสือชื่อ “บันทึกพระยาทรงสุรเดช” เล่มที่อ้างถึงในจดหมายของข้าพเจ้าที่ประท้วง “คณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2519” นั้น หน้า 61-62 มีความดังต่อไปนี้

เป็นอันว่าการยึดอํานาจปกครองโดยคณะปฏิวัติได้สําเร็จ ต่อไปนี้ก็รอคําตอบของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งถ้ามิทรงตอบรับก็จะได้ตั้งพระองค์อื่นขึ้นแทน แต่ก็เป็นโชคดี เมื่อในหลวงเสด็จถึงพระนครแล้ว ผู้อํานวยการฝ่ายทหารได้สั่งให้พระประศาสน์ฯ ไปเข้าเฝ้าร่วมกับคณะกราบทูลในหลวงทรงด้วยดี ยินยอมประนีประนอม มิได้ปฏิเสธ นับว่าได้รับรัฐธรรมนูญโดยราบรื่น ในวันที่ 27 มิถุนายน

คําว่า “ผู้อํานวยการฝ่ายทหาร” นั้น เป็นชื่อที่พระยาทรงฯ เรียกตัวท่านเองซึ่งแสดงชัดแจ้งว่าท่านมิได้ไปเฝ้าในหลวง หากท่าน “ได้สั่งให้พระประศาสน์ฯ ไปเข้าเฝ้าร่วมกับคณะ

 

ประการที่ 2

หนังสือชื่อ “ชีวิตทางการเมืองของพระยาฤทธิอัคเนย์” เล่มที่อ้างถึงในประท้วงต่อ “คณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2519” นั้นแล้ว หน้า 95-97 มีความดังต่อไปนี้

นิรโทษกรรม

26 มิถุนายน 2475... เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ เสด็จกลับคืนสู่พระนครแล้ว มหาเสวกเอก เจ้าพระยาวรพงศ์ เสนาบดีกระทรวงวังได้มาเจรจากับคณะราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมรับผู้แทนคณะราษฎร ซึ่งจะได้นําอักษรสารสําคัญไปทูลเกล้าฯ ถวาย 2 เรื่อง คือ

1. พระราชบัญญัติพระธรรมนูญการปกครองประเทศสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (ซึ่งเรียกกันปัจจุบันนี้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว)

2.พระราชกําหนดนิรโทษกรรม

ผู้แทนของคณะปฏิวัติ หรือที่ใช้นามขณะนั้นว่า “คณะราษฎร” ซึ่งได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในการนี้คือ

1. พล.ร.ท. พระยาศรยุทธเสนี

2. พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ

3. พ.ต.หลวงวีระโยธา

4. อ.ต.หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

5. ร.อ. ประยูร ภมรมนตรี

6. นายจรูญ ณ บางช้าง

และ 7.นายสงวน ตุลารักษ์

พอได้เวลา 10.45 น. รถยนตร์หลวง 2 คัน ก็นำผู้แทนคณะปฏิวัติออกจากพระที่นั่งอนันต์ฯ พร้อมด้วยขบวนเกียรติยศอันประกอบด้วยรถเกราะปืนกลของทหารวิ่งนําหน้าขบวนไปยังวังสุโขทัย

เมื่อไปถึงวังสุโขทัย พระยาสุรวงศ์ สมุหราชมณเฑียรได้ออกมาต้อนรับผู้แทนคณะปฏิวัติอยู่ที่หน้าประตูวัง แล้วนําเข้าไปนั่งรอการเสด็จอยู่ที่ห้องพัก ซึ่งอยู่ในท้องพระโรงด้านตะวันออก พระยาสุรวงศ์ได้ขึ้นไปบนพระตําหนักราว 5 นาทีก็กลับลงมาแจ้งว่า กําลังเสด็จลงมาแล้ว และเชิญให้เข้าไปเฝ้ายังท้องพระโรงอีกแห่งหนึ่ง จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์ ชุดเครื่องแบบทหารก็เสด็จลงมา

พระยาสุรวงศ์ฯ กราบบังคมทูลว่า บัดนี้ คณะราษฎรให้ส่งผู้แทนมาทูลเกล้าฯ ถวายหน้าหนังสือ แล้วพระยาศรยุทธเสนีกราบบังคมทูลเบิกรายตัวของคณะผู้แทนครบทุกคน จากนั้นหลวงประดิษฐ์ฯ ได้กราบบังคมทูลขอพระกรุณาอภัยโทษในการกระทําของคณะปฏิวัติ แล้วได้อ่านร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมทูลเกล้าฯ ถวาย ดังต่อไปนี้

ดังนั้นท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมย่อมเห็นได้ว่า พระยาฤทธิ์ฯ และพระยาทรงฯ ได้ไปเฝ้าในหลวงวันนั้น หากมีบุคคลเพียง 7 คนที่ไปเฝ้าในนามคณะราษฎร คือ

1. พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี

2. พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ

3. พ.ต.หลวงวีระโยธา

4. อ.ต. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

5. ร.อ.อ. ประยูร ภมรมนตรี

6. นายจรูญ ณ บางช้าง

และ 7.นายสงวน ตุลารักษ์

 

โปรดติดตามบันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 ต่อไปในตอนที่ 8

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

 

ภาคผนวก:

คำขอขมาของห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้งและประกาศกระทรวงศึกษาธิการเพิกถอนคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือชื่อ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” โดย พล.ท. ประยูร ภมรมนตรี

 

 

ประกาศกระทรวงศีกษาธิการ

 

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :