ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

จากโชเฟอร์สู่เสรีไทยลูกอีสาน - จำลอง ดาวเรือง

26
กรกฎาคม
2563

 

“ข้าพเจ้ามีเลือดนักสู้อย่างพร้อมบูรณ์ และเตรียมพร้อมทุกอย่างเพื่อการต่อสู้ และได้เรียนรู้ไว้ว่าจะสู้จนโลหิตหยดสุดท้าย ข้าพเจ้าจะต้องรักษาคำพูดประโยคนี้ไว้อย่างมั่นคง” 

(คำประกาศของนายจำลอง ดาวเรือง, 2481)

เมื่อกล่าวถึงสมาชิกขบวนการเสรีไทยในภาคอีสาน หลายท่านคงจะนึกถึงนายเตียง ศิริขันธ์ เจ้าของฉายา “ขุนพลภูพาน” เพราะคำว่า “ภูพาน” หมายถึง เทือกเขาภูพาน บริเวณจังหวัดสกลนคร ฐานบัญชาการมั่นหมายของขบวนการเสรีไทยภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ใต้อิทธิพลของนายเตียง ศิริขันธ์ อีกทั้งยังมีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าเสรีไทยภาคอีสานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งคนที่มีบทบาทในฐานะ “มิตรแท้เคียงบ่าง เพื่อนแท้ยามศึก” ของนายเตียง ศิริขันธ์  จนถึงขั้นถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในเดอะแกงค์ “สี่เสืออีสาน” มีชื่อเสียงเรียงนามว่า “นายจำลอง ดาวเรือง”

คนสู้ชีวิต

 

จำลอง ดาวเรือง (9 ตุลาคม พ.ศ. 2453 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2492)
จำลอง ดาวเรือง (9 ตุลาคม พ.ศ. 2453 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2492)

 

นายจำลอง ดาวเรือง พื้นเพเป็นลูกอีสานคนมหาสารคาม ครอบครัวมีฐานะยากจน แต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีใจรักใฝ่รู้ใฝ่เรียน เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนแล้ว จึงได้เข้ามาศึกษาต่อด้านช่างเครื่องยนต์ ณ โรงเรียนช่างกล ในกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนจากหลวงพิศิษฐ์ศุภกร (เจ๊กหยงนี) ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทรถขนส่งในจังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนช่างกลแล้ว จึงได้เดินทางกลับมาประกอบอาชีพโชเฟอร์ขับรถ รับส่งของและผู้โดยสารจากจังหวัดร้อยเอ็ด - สุรินทร์ ให้กับบริษัทของหลวงพิศิษฐ์ศุภกรราว ๆ 2-3 ปี โดยได้รับเงินเดือนเดือนละ 50 บาท จนกระทั่งมีเงินเก็บมากพอ เขาจึงตัดสินใจซื้อรถยนต์ขนส่งมาครอบครองและออกทำงานรับส่งด้วยตนเองได้ในที่สุด

เมื่ออายุได้ 21 ปี ในปี พ.ศ. 2474 นายจำลองได้ขายรถยนต์ขนส่งของตนเนื่องจากขาดทุน แล้วย้ายไปทำมาหากินอยู่ที่นครจำปาศักดิ์ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส นายจำลองต้องดิ้นรนต่อสู้อย่างยากลำบากด้วยการประกอบอาชีพเป็นนายท้ายเรือขึ้นล่องตามแม่น้ำโขง หรือกระทั่งต้องขึ้นชกมวยเพื่อเลี้ยงปากท้องตนเองให้มีชีวิตรอดต่อไป

แต่กระนั้นก็ตาม ด้วยนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนที่ติดตัวมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์วัย ทำให้เขาถือโอกาสนี้ฝึกฝนทักษะภาษาฝรั่งเศส ภาษาญวณ และภาษาเขมรไปในตัว ส่งผลให้นายจำลองนั้นสามารถใช้งานสามภาษาเหล่านี้ได้ดีในระดับ “อ่านเขียนพูดคล่อง” เลยทีเดียว

กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2476 นายจำลองถูกจับกุมในข้อหาทางการเมืองโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศส  เมื่อได้รับการปล่อยตัวแล้วจึงได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย โดยได้สมัครเป็นครูประชาบาลที่อำเภอวาปีปทุม ซึ่งเป็นพื้นที่บ้านเกิดของเขาเอง และนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนของเขาก็ได้ทำให้เขาสามารถสอบได้ประกาศนียบัตรวิชาครู และได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา

ต่อมีในปี พ.ศ. 2480 นายจำลองได้ก่อตั้งโรงเรียนเรืองวิทยาขึ้น เป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกในจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวไม่ได้มีสภาพที่หรูหราโอ่อ่ามากนัก โดยต้องเรียนบนพื้นดิน แต่ก็มีนักเรียนสมัครเข้ามาเรียนกันเป็นจำนวนมาก  ในขณะนั้นโรงเรียนเรืองวิทยาถือเป็นโรงเรียนที่มีความมั่นคงคู่กับโรงเรียนวาปีปทุม ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐบาลเลยทีเดียว

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองได้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรงขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นายจำลองเองก็ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งกับเขาด้วย  ความที่เขาเป็นคนร่าเริง อัธยาศัยดี มีความเป็นกันเองกับชาวบ้าน อีกทั้งยังมีลีลาวาทศิลป์อันคมคายที่สามารถร่ายมนตร์สะกดให้คนฟังสามารถคล้อยตามได้อย่างไม่ยากเย็น ส่งผลให้เขาสามารถชนะเลือกตั้งและได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม เขต 3 ได้ในที่สุด โดยคะแนนเสียงของเขาส่วนหนึ่งนั้นมาจากนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนเรืองวิทยาคมอีกด้วย

เสรีไทยเมืองสารคาม

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้ย่างกรายเข้าเหยียบแผ่นดินด้ามขวาน ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ในขณะนั้นได้มีการจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น ซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายมาเป็น “ขบวนการเสรีไทย”

นายปรีดี พนมยงค์ ไว้วางใจและชักชวนให้นายจำลองเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเสรีไทย และได้มอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบในเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่บ้านนาคู อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้พื้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขาภูพานด้านที่ตรงข้ามกับจังหวัดสกลนคร สร้างค่ายเป็นแนวยาวติดภูเขา ภายในค่ายนั้นมีพื้นที่สำหรับฝึกการรบและมีสนามบินสำหรับให้เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรขึ้นลงด้วย

กำลังพลในค่ายบ้านนาคูส่วนใหญ่แล้วเป็นครูจากโรงเรียนของนายจำลองเอง และครูจากโรงเรียนของรัฐบาลในพื้นที่แถบนั้น รวมทั้งนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีข้าราชการฝ่ายปกครองทั้งข้าหลวงประจำจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอเข้าร่วมอีกด้วย

 

สนามบินในค่ายเสรีไทยนาคูในปัจจุบัน อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพอากาศ (ที่มาภาพ : http://rach1968.blogspot.com/2017/08/blog-post_18.html)
สนามบินในค่ายเสรีไทยนาคูในปัจจุบัน อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพอากาศ
(ที่มาภาพ : http://rach1968.blogspot.com/2017/08/blog-post_18.html)

 

รัฐมนตรีฝีปากกล้า

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นายจำลองได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อมีอายุเพียงแค่ 35 ปีเท่านั้น 

ตลอดชีวิตทางการเมืองนั้น นายจำลองได้มีบทบาทสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเสนอการเสนอกระทู้ถามรัฐบาลเรื่องเก็บเงินอากรค่านาที่ไม่เป็นธรรม กระทู้ถามเรื่องการชลประทานหรือการศึกษาที่รัฐเน้นเฉพาะที่ส่วนกลาง รวมทั้งการเสนอร่างพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2481 การคัดค้านงบประมาณทางทหาร การคัดค้านร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 เพราะเห็นว่าเป็นวิธีการปกครองในระบอบเผด็จการกระทำกัน  รวมถึงการเสนอออกกฎพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนข้าวและสินค้าราคาแพงในช่วงหลังสงครามโลก เป็นต้น

กระทั่งในปี พ.ศ. 2492 หลังความล้มเหลวของ “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” ที่นายปรีดี พนมยงค์ พยายามกลับมาฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490  ส่งผลให้นายจำลอง ดาวเรือง และอดีตรัฐมนตรีสายนายปรีดีอีก 3 คน คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์  นายถวิล อุดล  และนายทองเปลว ชลภูมิ์ ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อนำตัวไปสอบสวนในคืนวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2492

และต่อมาในเวลาเช้ามืดของวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 อดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 คนรวมถึงนายจำลอง ได้ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในขณะที่ยังสวมกุญแจมืออยู่ด้วยน้ำมือของตำรวจ ณ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 14 ถนนพหลโยธิน ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการปิดฉากตำนานสมาชิกเสรีไทยที่ไต่เต้ามาจากการเป็นโชเฟอร์คนขับรถรับส่งด้วยวัยเพียง 39 ปีเท่านั้น

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 71 ปีแล้วที่บนโลกใบนี้ไม่มีลมหายใจและการเคลื่อนไหวของชายที่ชื่อนายจำลอง ดาวเรือง แม้ว่าตัวเขาจะตายจากไปอย่างน่าเศร้าสลด แต่อุดมการณ์ของเขามิได้จางหายไป หากยังคงไหลเวียนอยู่ในสายเลือดของบรรดานักต่อสู้และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา

นายจำลองถูกรับรู้ในหมู่คนรุ่นหลังในฐานะของนักการเมืองผู้มีอุดมการณ์อันแน่วแน่ ดังเห็นได้จากการที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นจะต้องมาไหว้ขอพรจากเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของนายจำลองที่จังหวัดมหาสารคามอยู่เสมอ

คำถามสำคัญคำถามหนึ่ง คือ วิธีการใดถือเป็นการทำความเคารพนายจำลอง ดาวเรืองได้ดีที่สุด  คำตอบของคำถามดังกล่าวนั้นคงจะเป็นการที่คนรุ่นหลังได้ยึดมั่นในความรักชาติและหวงแหนอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย ดังที่ขบวนการเสรีไทยและนายจำลองได้สละชีพเพื่อรักษาอุดมการณ์นี้ไว้ให้คงอยู่ตลอดไป ตราบชั่วนิจนิรันดร์

 

อ้างอิง

  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. 2546. ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แสงดาว. หน้า 803-806.
  • พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2558. “จำลอง ดาวเรือง นักสู้สามัญชนคนอิสาน”. (สื่อวิดีทัศน์) ใน โครงการการศีกษาและพัฒนานิทรรศการหมุนเวียนเพื่อสนับสนุนภูมิทัศน์การเรียนรู้ตลอดชีวิต. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.