เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น รัฐบาลไทยขณะนั้นได้เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น และส่งโทรเลขสั่งให้นักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกากลับประเทศไทยทั้งหมด หลายคนกลับไปตามคําสั่ง แต่ขณะเดียวกัน มีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมกลับ รัฐบาลจึงได้ส่งโทรเลขฉบับที่ 2 ตามมาว่า ถ้าไม่ยอมกลับจะต้องถูกยึดทรัพย์ แต่ก็ยังไม่เป็นผล ต่อมาส่งโทรเลขฉบับที่ 3 ซึ่งข้อความรุนแรงมากว่า ถ้าขืนยังไม่ยอมกลับก็จะต้องสูญเสียสัญชาติไทย และห้ามกลับคืนสู่ประเทศไทยตลอดไป มีผลให้บางคนยอมกลับ ส่วนคนที่ยังอยู่ก็รวมตัวกันก่อตั้งขบวนการเสรีไทย โดยมีท่านอัครราชทูต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้า
ขณะนั้นข้าพเจ้าได้ศึกษาจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และกําลังศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ท่านอัครราชทูต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขอให้ไปช่วยงานวิทยุกระจายเสียงที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งข้าพเจ้าตอบตกลงทันที เพราะเห็นว่าเป็นการทําเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อประเทศชาติ ทั้งที่ใจก็ยังอยากจะเรียนต่ออยู่ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอลาออกจากมหาวิทยาลัย และเดินทางไปร่วมปฏิบัติงานในกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีโครงการกระจายเสียงสู่ประเทศไทย
การกระจายเสียงนี้มี Mr.Cristman เป็นหัวหน้า ส่วนคนไทยที่ทํางานอยู่ด้วยกัน มีคุณบุญเยี่ยม คุณอัมพร คุณราชัน คุณนิรัตน์ คุณสวัสดิ์ และข้าพเจ้า โดยมีหน้าที่แปล อ่าน เขียน และกระจายเสียง ซึ่งมีครูแหม่มครูโรงเรียนวัฒนาเป็นผู้ตรวจทานก่อนออกอากาศ
มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการแปลของข้าพเจ้า มีข้อความที่ผู้ออกอากาศกล่าวกับคนไทยว่า ขอให้ท่านทั้งหลายช่วยกันอ้อนวอน God ให้สงครามสิ้นสุดโดยเร็ว ข้าพเจ้าใช้คำแทน God ว่า ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แทนการใช้คำว่าพระผู้เป็นเจ้า เพราะจะให้คนไทยอ้อนวอนพระเจ้านั้นไม่ถูก แต่แหม่มยืนยันว่าจะให้ใช้คำว่าพระผู้เป็นเจ้า เมื่อต่างไม่ยอมกัน Mr.Cristman ทราบเรื่องก็มาขอโทษ และเห็นด้วยกับคำของข้าพเจ้า เรื่องจึงจบลง
การกระจายเสียงนี้ ข้าพเจ้าได้ทำตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดสงคราม มีความประทับใจ Mr.Cristman มากที่มีความเป็นห่วงคนไทยอย่างมาก เพราะในการกระจายเสียงทุกครั้งต้องระบุชื่อผู้พูด จึงขอให้ผู้พูดทุกคนใช้ชื่ออื่นแทน โดยข้าพเจ้าใช้ชื่อว่า “สุนทรา”
นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังมีงานอื่น เช่น ร่วมงานกับ Dr.Haas ในการช่วยสอนภาษาไทยให้กับทหารอเมริกาส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในประเทศไทย และในเวลาว่าง ข้าพเจ้าได้รับเชิญไปพูดให้กับสมาคม โรงเรียนต่าง ๆ และบางครั้งก็ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับประเทศไทย และปัญหาที่ประเทศไทยต้องเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น ทำให้พวกเขาเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น เหมือนเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลไทย
แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ข้าพเจ้าได้กลับคืนสู่ประเทศไทย กลับพบว่า ในทะเบียนประวัติการทำงานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถูกปลดจากการเป็นข้าราชการในฐานที่ขัดขืนคำสั่งรัฐบาล และด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงบอกกับหลานว่า เมื่อทำหนังสืองานศพของข้าพเจ้าให้เอาข้อความดังกล่าวบันทึกลงไปด้วย เพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่า กราฟชีวิตของข้าพเจ้าตกต่ำถึงที่สุด แต่ในเวลานี้ข้าพเจ้ากลับได้รับการยกย่องประกาศเกียรติคุณให้เป็นผู้อาวุโสตัวอย่างจากสมาคมคลังปัญญาอาวุโสแห่งประเทศไทย
ที่มา: ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา, “ผู้หนึ่งในกลุ่มเสรีไทยอเมริกา,” ใน 62 ปี วันสันติภาพไทย 16 สิงหาคม 2550, น. 43-44.