เพราะการต่อสู้นั้นคงไม่ได้สำเร็จในเร็ววัน ดังนั้น เราจึงต้องมีความหวังเสมอไป
วันที่ผมจำได้ว่าผมรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังกับการเมืองไทยมากที่สุด ก็คือ วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นที่รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ผ่านประชามติ โดยมีคะแนนเสียงถึง 61% หรือประมาณ 16 ล้านคน ที่ตอนนั้นผมรู้สึกสิ้นหวังนั้น ไม่ใช่เพราะ 16 ล้านเสียงนี้ไม่มีความหมายแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะว่าเราได้ศึกษา ติดตามเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับคสช. และได้พยายามเขียนสรุป วิเคราะห์ และนำเสนออย่างเต็มที่อยู่ตลอดเวลาก่อนหน้าวันลงประชามติ ซึ่งเราก็ได้เห็นว่า คสช. ได้สร้างกฎเกณฑ์สืบทอดอำนาจ โดยการออกแบบระบอบการเมืองที่ผิดปกติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นอกจากนั้นยังพยายามใช้อำนาจนอกระบบ อำนาจทุกวิถีทางที่จะบังคับให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติให้ได้
ก่อนถึงวันทำประชามติ 1 วัน พวกเราเคยมานั่งกันอยู่ที่ห้องนี้ จำกันได้ไหมครับ? สิ่งที่เรามาและพูดกันที่นี่คือสิ่งง่าย ๆ ว่า “รณรงค์เป็นสิทธิ์ ไม่ผิดกฎหมาย” ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานสุด ๆ ที่เรากลับต้องมาสื่อสาร เพราะวันนั้นมีเพื่อนของพวกเราจำนวนไม่น้อยที่พยายามออกไปข้างนอก แล้วบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่างไร แต่พวกเขากลับถูกจับขึ้นศาลทหาร และต้องเข้าคุก สิ่งที่เราพยายามทำได้ คือ การมารวมตัวกันที่นี่และบอกว่า “รณรงค์เป็นสิทธิ์ ไม่ผิดกฎหมาย”
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติมา สิ่งหนึ่งที่เรารู้ว่ากำลังจะเกิดขึ้น คือ ระบอบการเมืองแบบแปลก ๆ ที่ไม่ว่าจะเลือกตั้งอย่างไรก็แล้วแต่ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามของพลเอก ประยุทธ์จะมีเสียงสนับสนุนมากกว่าฝ่ายคุณประยุทธ์มากขนาดไหน เขาก็ไม่มีทางจัดตั้งรัฐบาลได้ ซ้ำร้าย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้แก้ไขไม่ได้ และยังให้อำนาจทหารในการวางอนาคตแทนพวกเราไปอีก 20 ปี วันนั้น เมื่อเราได้รู้ผล มันจึงเป็นวันที่น่าสิ้นหวังที่สุดนะ ถ้าไม่สิ้นหวังก็คงจะแปลกอยู่
ก็เป็นวันที่รู้สึกสิ้นหวังได้มากที่สุดเท่าที่ผมจะจำได้ในชีวิตของผมเอง ดังนั้น มันเลยมีอยู่สองทางเลือก ก็คือ เราอยากจะท้อแท้ สิ้นหวัง จนเลิกทำอะไรไปเลย หรือว่าสู้ต่อเท่าที่ยังพอจะทำไหว ถ้าหากว่าเรามองเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางการเมืองไทยระดับใหญ่ ถ้าหากว่าเราอยากจะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล เราอยากจะมีรัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้ให้ได้ การเลือกที่จะสิ้นหวังก็คงจะเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า แต่ถ้าเรามองว่าเราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงในมุมเล็ก ๆ เท่าที่เราพอจะสามารถทำได้ มีอะไรที่ทำได้ก็ทำ ถ้ามองแบบนั้น การที่จะสู้ต่อมันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ทำ
เป็นเวลา 4 ปีเต็มกว่าที่พวกเรากลุ่ม iLaw เริ่มใหม่ เริ่มจับตา ติดตาม ศึกษา กระบวนการบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้มา เราเริ่มเห็นตั้งแต่การเอาคำถามพ่วงใส่ลงไปในรัฐธรรมนูญโดยการยัดไส้เข้าไปอีก แถมเราเห็นการแก้รัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า โดยผู้ที่มีอำนาจไม่ใช่โดยประชาชน เราเห็นกระบวนการออกคำสั่งและออกประกาศของ คสช. โดยมีรัฐธรรมนูญมาตราสุดท้ายรองรับไว้ว่าจะออกอย่างไรก็ได้ อย่างไรก็ไม่ผิด เราเห็นการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่แปลก ๆ และการจัดการเลือกตั้งปี 2562 ที่มันแปลกมาก เราเห็นกระบวนการเขียนแผนยุทธศาสตร์โดย คสช. คนของ คสช. เขียนเอง เพื่ออนาคตของ คสช. เอง เราเห็นกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ที่ คสช. ตั้งตัวเองเข้าไปเป็นคณะกรรมการสรรหา เลือกพี่ชายตัวเองมา เลือกตัวเองมา กลับเข้าไปเป็น สว. เพื่อจะนั่งขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็นที่ผ่านมา
ตลอดเวลาเราก็พยายามทำอย่างเต็มที่เท่าที่เราจะทำได้ อย่างทำ Infographic เขียนบทความ สรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้น เผยแพร่ ทำงานรณรงค์ ทำโปสเตอร์ จัดกิจกรรม ไปพบปะผู้คน พบปะนักเรียนนักศึกษา ทำ Workshop จัด Event เปิดให้คนมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ศึกษาประวัติศาสตร์ เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ ศึกษาข้อมูลต่างประเทศ ทำสรุปองค์ความรู้ ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เท่าที่จะคิดออก รวมถึงจัดชุมนุมเดินขบวนก็ต้องทำ เพื่ออยากจะให้ส่งสารออกไปได้กว้างมากที่สุดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอย่างไร แล้วเราต้องการรัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้อย่างไร ก็ได้ทำทั้งหมดแล้วเป็นเวลานานเหมือนกัน ซึ่งก็เป็นงานที่น่าเบื่อนะครับ ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากมาทำ ทำไปตลอดเวลาก็ไม่ใกล้เคียงกับการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ แต่ตลอดเวลาที่ส่งสารออกไป กับแววตาของผู้ที่ได้รับสารมันบอกเราว่า เรายังต้องทำต่อ ทำไปเรื่อย ๆ
แล้ววันที่ 7 สิงหาคม ปีนี้ เป็นเวลา 4 ปีเต็ม นับจากวันที่เคยรู้สึกสิ้นหวังมากที่สุดกับการเมืองไทย ก็เป็นวันแรกในฐานะประชาชนคนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจอะไรในมือ ได้เริ่มทำอะไรบางอย่างบ้างเพื่อที่จะโต้กลับ เพื่อบอกว่าจริง ๆ แล้วประชาชนต้องการที่จะเห็นรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร วันนั้นเราก็เริ่มกิจกรรมชวนให้คนมาลงชื่อให้ครบ 50,000 ชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นช่องทางตามที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดไว้ ซึ่งเราคิดไว้ว่าจะเราน่าจะสามารถทำให้เสร็จได้ภายในระยะเวลาสัก 5-6 เดือน ซึ่งถ้าหากมีคนมาช่วยกันพอก็น่าจะเป็นไปได้ แต่ปรากฏว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก มันเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น โดยเราใช้เวลาไปเพียงแค่ 43 วัน เราก็สามารถนำ 100,732 รายชื่อไปยื่นต่อสภาได้ว่า นี่คือ ข้อเสนอของประชาชนที่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันเกิดขึ้นอย่างเร็วมาก มากกว่าที่เราคิด เพราะแรงสนับสนุนจากคนจำนวนมากที่ไม่อาจนับได้
เล่าเบื้องหลังกิจกรรมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ:
เรื่องแรก สิ่งที่หลายท่านอาจจะไม่เห็น แต่ผมและทีมงานเห็น คือ ไปรษณีย์ เนื่องจากว่า การเข้าชื่อเสนอรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำทางออนไลน์ได้ ทุกคนต้องกรอกแบบฟอร์มเฉพาะ เซ็นต์ด้วยปากกาลงรายมือชื่อลงบนกระดาษจริง สิ่งนี้จึงเป็นอุปสรรค เราไม่สามารถบอกให้ทุกคนส่งชื่อมาทางออนไลน์ได้ แต่เราต้องขอให้ทุกคนทำด้วยตนเอง โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ ดาวน์โหลดแบบฟอร์มให้ถูกต้อง ถ่ายสำเนาบัตรประชาชน หาเครื่องปริ้นต์ หากระดาษเอง เซ็นต์ชื่อ พับใส่ซองติดสแตมป์ ส่งไปรษณีย์มา บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่อยากมีส่วนร่วม ปรากฏว่ามีคนจดหมายมาที่ตู้ไปรษณีย์เยอะมาก เราไปเปิดรับทุก ๆ 2-3 วัน ก็จะเห็นปรากฏที่เป็นกล่อง เป็นลัง เป็นกระสอบ เราได้รายชื่อจากคนที่ลงมือลงแรงเอง ส่งเองจากที่บ้านทั้งหมดถึง 30,959 รายชื่อ
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึง ซึ่งเป็นคนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยก่อนทำกิจกรรม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาที่ส่งข้อความเข้ามาทาง Facebook บ้าง iLaw บ้าง หรือทักเข้ามาหาผมส่วนตัวบ้าง บอกว่าอยากมาช่วยงาน มาเป็นอาสาสมัคร มาช่วยลงแรงด้วยกัน หลายคนขอโอกาสที่จะนำเอกสารไปตั้งโต๊ะลงชื่อในพื้นการศึกษาของตนเอง ในพื้นที่ของตนเอง ในร้านค้าของตนเอง คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากโดยรวมแล้ว 43 จุด ทั่วประเทศไทย ซึ่งได้รายชื่อจากที่ทุกคนช่วยกันมาแล้วรวม 20,878 รายชื่อ พอถึงวันงานใหญ่ 19 กันยายน เป็นวันเปิดโต๊ะวันสุดท้าย เราจึงชักชวนคนคนที่เปิดโต๊ะตามจุดต่าง ๆ มาร่วมกันเปิดโต๊ะบริเวณข้างสนามหลวง ซึ่งวันนั้นได้รายชื่อกว่า 18,000 รายชื่อ กิจกรรมที่ผ่านมา ถ้าหากไม่มีทุกคนมาช่วยกัน ก็คงไม่อาจสำเร็จได้ลำพังเพียงแค่พวกเรา
เล่าถึงคนอีกหลายคนที่ส่งพลังใจมาให้เราได้มาก ผมไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อน ก็จะขอเล่าที่นี่เป็นที่แรก คนแรก คือ พี่ ๆ ไปรษณีย์ไทย ซึ่งรับผิดชอบในการดูแลไปรษณีย์ของพวกเรา ซึ่งกล่องไปรษณีย์นี้จะเป็นกล่องเล็ก ๆ ใส่จดหมายได้สักสิบฉบับก็เต็ม วันแรก ๆ ที่เราไปรับจดหมายจากตู้ไปรษณีย์ก็จะโดนเขาบ่นว่าทำอะไรกันเยอะแยะเพราะว่าจดหมายมันเยอะมาก เขาก็ต้องดูแลจัดการ ใส่กระสอบเอาไว้ให้พวกเรา ภายหลัง เขาเริ่มติดตามข่าวสาร เขาก็เริ่มรู้ว่าทำอะไรก็เลยเปลี่ยนท่าทีแล้วก็บอกให้สู้ ๆ นะ ขอให้ได้ครบเร็ว ๆ นะ แล้วก็มีอยู่วันหนึ่ง เราไปรับจดหมายแล้วเขาก็บอกว่า “ของพี่ใส่ไปแล้วนะ อยู่ในนั้นแหละ” ซึ่งเจ้าหน้าที่ในไปรษณีย์ยังมีคนอีกเยอะเลยที่พร้อมจะช่วยกัน
ส่วนเพื่อน ๆ สมัยเรียนอาจจะแยกย้ายกันไป ไม่ค่อยทำงานด้วยกันมากแล้ว ไม่ค่อยได้สู้ด้วยกันแล้ว ทำงานเอกชนซึ่งไม่ได้มีเวลาเยอะ แต่พอถึงกิจกรรมใหญ่ ๆ ซึ่งเขารู้ว่าเหนื่อย พวกเขาก็รวบรวมเงินกันซื้อน้ำส้มคั้นมาเป็นเสบียงให้พวกเรา กลายเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักที่ทำให้สามารถตั้งโต๊ะกัน ซึ่งก็เป็นบทบาทที่แต่ละคนสามารถทำได้
มีลุงอยู่คนหนึ่งที่มาเข้าแถวลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ตั้งโต๊ะอยู่ที่บริเวณหอศิลป์ พอเขาต่อคิวลงชื่ออะไรเรียบร้อย เขาเข้าใจขั้นตอนทั้งหมด ซึ่งเขาก็หันไปเห็นว่าแถวมันยาว เขาก็หันไปช่วยตะโกนบอกคนข้างหลังที่กำลังต่อแถวว่าเข้าแถวตรงไหน ต้องเตรียมตัวอย่างไรและทำอย่างไรบ้าง เท่านั้นยังไม่พอ วันรุ่งขึ้นที่ตั้งโต๊ะอีก คุณลุงก็กลับมาอีกทั้งที่เขาลงชื่อไปแล้ว ซึ่งลุงก็บอกว่าเขาลางานมาวันนี้ แล้วพอมาถึงเขาก็มาช่วยตะโกนบอก ช่วยจัดแถวคนข้างหลัง และบอกคนที่มาที่หลังว่าพวกเขาจะต้องทำอะไรบ้าง จนถึงทุกวันนี้ผมก็ยังไม่ทราบชื่อคุณลุงเขาว่าชื่ออะไร
ระหว่างที่บ่น ๆ อยู่บนทวิตเตอร์ว่าอยากเช่าที่บนห้างสรรพสินค้าเพื่อตั้งโต๊ะลงชื่อ แต่ไม่มีใครให้เช่า ก็มีพี่คนหนึ่งที่มีร้านค้าอยู่แถวรถไฟฟ้าทักผมมาบอกว่า ผู้ให้เช่าไม่ยอมให้ตั้งโต๊ะ แต่หากมีอะไรให้ช่วยบอกได้นะ ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และสุดท้ายก็ได้รบกวนเขาตลอดเวลา ขอยืมโต๊ะ ขอยืมกระดาษ A4 ขอฝากของ จนกลายเป็นจุดสำคัญหนึ่งที่เราใช้บริการอยู่ตลอดโดยเขาไม่เปิดเผยตัว
ต่อมา คนถ่ายเอกสารร้านหน้าปากซอยออฟฟิศ รู้จักกันเพราะว่าเราไปถ่ายเอกสาร แล้วเขาก็เห็นเนื้อหาของเอกสารที่เอาไปถ่ายว่าเราทำอะไร นอกจากจะให้กำลังใจ ให้แรงสนับสนุน เขาก็ให้กล่องใส่กระดาษมาเต็มออฟฟิศเพื่อใส่รายชื่อที่ดำเนินการเสร็จแล้ว แล้วก็ได้ประสานติดต่อเพื่อให้เรายืมเครื่องปริ้นเตอร์ขนาดใหญ่สำหรับเอาไปตั้งโต๊ะ สำหรับวันที่คนเยอะ ๆ ก็สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ช่วยได้มาก ๆ แต่ว่าหนักมากเลยนะครับ (ขำ) แต่ก็เป็นเครื่องหลักที่สำคัญเลย
ป้าร้านซักรีดที่ผมไปใช้บริการประจำ เมื่อวานผมไปถึงหน้าร้าน เขาก็รีดผ้าอยู่ ตาหันมามองแล้วก็ยิ้ม และหันมาถามผมว่า “14 ตุลาก็ต้องไปอีกใช่ไหม” ผมก็เลยบอกว่า “พี่ไปด้วยกันนะครับ” แต่พี่เขาก็บอกว่า “ปิดร้านไม่ได้จริง ๆ แต่ก็ให้กำลังใจอยู่ เชียร์อยู่ตลอดนะ”
พี่ Grab Bike คนหนึ่ง วันนั้นทีมงานผมเรียกบริการแกร็บไบค์จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในบริเวณที่ชุมนุม ซึ่งแกร็บไบค์เป็นระบบที่ตัดเงินค่าโดยสารจากบัตรเครดิตอัตโนมัติ แต่เมื่อไปถึง เขาก็ยื่นเงินสดคืนให้ แล้วบอกว่า “ขอให้เขาได้ทำในส่วนเท่าที่เขาพอจะทำได้ก็แล้วกัน”
คนอีกมากมายที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้หมดในที่นี้ แต่มีแรงสนับสนุนเข้ามามากมายจริง ๆ
ผมไม่แน่ใจว่า กิจกรรมนี้จะทำให้รัฐธรรมนูญปี 2560 สามารถถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ หรือเปล่า หรือว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยไปได้มากแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวผมเท่าที่สายตาผมจะมองเห็น หลังจากกิจกรรมนี้ มันจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราได้เห็นแล้วว่ามันยังมีคนพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนเราตลอดเวลาขนาดไหน และเมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปแล้วมันจะย้อนกลับมาไม่ได้
ถ้าหากว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เราท้อแท้สิ้นหวัง เลิกที่จะเชื่อในคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เลิกที่จะมีความหวังในคนอีกมากมายที่เรายังไม่ได้รู้จักกันมาก่อน เราก็จะมาถึงวันนี้ไม่ได้ แต่ว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เราก็ตัดสินใจที่จะขอพยายามทำอะไรที่เราสามารถทำได้ในภาวะที่สิ้นหวังเช่นนั้น เพื่อรอให้วันนี้มาถึง ซึ่งวันนี้นั้นก็มาถึง ซึ่งมาได้เร็ว ได้ง่าย และสวยงามกว่าที่เคยคาดคิดไว้ สิ่งที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็นแล้ว
ปลายปีที่แล้วผมดูภาพยนตร์ Star wars ภาคสุดท้าย ผมได้คิดถึงการเมืองไทยขึ้นมา ในภาพยนตร์มีตัวเอกคนหนึ่งที่ชื่อโพ (Poe) พูดในห้องประชุมของนักรบที่มีคนอยู่เพียงหยิบมือเดียว ก่อนจะออกรบกับฝ่ายเผด็จการ และเอาชีวิตของเขาเข้าแลก เขาบอกว่า เรายังมีเพื่อนอีกมากเลย ทุกคนจะมาช่วยกัน ถ้าหากพวกเขารู้ว่ามันยังมีความหวังอยู่ ฝ่ายเผด็จการเขาชนะเรา ด้วยการทำให้เราคิดว่า เราไม่มีใครแล้ว แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ “Good people will fight if we lead them.” พวกเรายังมีคนอีกจำนวนมากที่พร้อมจะลุกขึ้นมาทำอะไรอีกมาก ถ้าหากเรากล้าและริเริ่มที่จะลงมือทำมันไปก่อน และผมก็เชื่ออย่างนั้น ผมเชื่อว่า มันยังมีคนอีกมากเลยจริง ๆ ที่อยากจะลงมือทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ถ้าเขารู้ว่ามีความหวัง และวิธีการที่จะทำให้ทุกคนยังมีความหวังอยู่ได้ อย่างน้อยที่สุดและง่ายที่สุดก็คือเรายังต้องมีความหวังในตัวพวกเขา เรายังต้องมีความเชื่อในตัวของพวกเขาอยู่
กิจกรรมเข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญวันแรกที่เริ่มขึ้นก็มีแค่พวกเราทีมงานแค่ไม่กี่คน แต่เราก็กล้าเริ่มมันด้วยความเชื่อที่ว่าวันหนึ่งแรงสนับสนุนอื่น ๆ มันจะตามมา เพราะเหตุนี้เราจึงต้องมีความหวังอยู่เสมอ แล้วกิจกรรมที่ผ่านมามันก็สอนให้รู้ว่า ความเชื่อความหวังของเราที่ผ่านมามันมาถูกทางแล้ว และเราต้องรักษามันไว้ เพื่อที่จะเดินทางต่อไปข้างหน้า
วันนี้เมื่อ 44 ปีที่แล้วอาจจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เจ็บปวด และเราต่างก็มีบาดแผลที่ต้องช่วยกันจดจำมันในประวัติศาสตร์ ผมเกิดไม่ทันแต่เข้าใจว่า สำหรับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของผมเอง วันนี้เมื่อ 44 ปีที่แล้วอาจจะเป็นวันที่น่าท้อแท้แล้วก็สิ้นหวังที่สุดสำหรับการเมืองไทยเท่าที่มันจะมีได้ แต่วันนี้ 44 ปีให้หลัง ผมมายืนอยู่ตรงนี้ ด้วยความรับรู้ว่า บริบททางการเมืองในวันนี้มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปและเมื่อมันเปลี่ยนแปลงมาขนาดนี้แล้ว มันก็จะย้อนกลับไปไม่ได้อีกเช่นกัน คุณลุงคุณป้าที่เคยต่อสู้ในวันนั้นก็ยังคงนั่งอยู่ที่นี่ในวันนี้ และก็ยังคงสู้อยู่ที่นี่ในวันนี้ใช่ไหมครับ เมื่อรวมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษา คนหนุ่มสาวที่กำลังเรียนรู้ เติบโต แล้วก็จะเบ่งบานไปทำอะไรอีกหลายอย่างในทางข้างหน้า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย เมื่อมีแรงกดขี่มามากเท่าไหร่ แรงต่อต้านก็จะยิ่งมีพลังมากยิ่งขึ้น วันนี้จึงเป็นวันที่การเมืองมีความหวังมากที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์ไทย
ต้องขอขอบคุณนะครับ ขอบคุณพี่ ๆ คุณลุง คุณป้า ที่ยังคงรักษาความหวังของท่านได้เสมอมา ความหวังความเชื่อในตัวคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเวลานานถึง 44 ปี แต่เราก็รู้ว่าการต่อสู้ที่จะเกิดขึ้น มันยังคงอีกยาว มันยังไม่ได้สำเร็จในเร็ววัน ดังนั้น เราก็จะต้องมีความหวังเสมอไป อย่างน้อยเพื่อรอวันที่จะได้เห็นอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เห็นด้วยกัน
ที่มา: เรียบเรียงจากคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 6 หัวข้อ “จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ: ชาติ ความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563