ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถอดบทเรียน จาก “หนักแผ่นดิน” สู่ “โรคชังชาติ” ใน PRIDI Talks ครั้งที่ 6

9
ตุลาคม
2563

เนื่องในวาระรำลึกครบรอบ “44 ปี 6 ตุลาฯ 19” วันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดเวทีอภิปรายสาธารณะ PRIDI Talks ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ: ชาติ ความเป็นไทยและประชาธิปไตยที่แปรผัน” เวลา 10.30-13.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดำเนินรายการโดย ทศ ลิ้มสดใส ผู้สื่อข่าวจาก The Reporters

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวเปิดงานในหัวข้อ “บทเรียนขบวนการคนหนุ่มสาว สันติธรรมประชาธิปไตย และการปราบปราบโดยทรรัฐ”

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวเปิดงานในหัวข้อ “บทเรียนขบวนการคนหนุ่มสาว สันติธรรมประชาธิปไตย และการปราบปราบโดยทรรัฐ” โดยกล่าวว่า สังคมไทยควรเรียนรู้บทเรียนในอดีตจากการที่ปล่อยให้มีการสร้างวาทกรรมเพื่อให้เกิดการเกลียดชังกัน การใส่ร้ายป้ายสีว่า “หนักแผ่นดิน” “ขายชาติ” “ชังชาติ” ก็ดี อันทำให้เกิดผลเสียต่อความสงบสุขของสังคม คนในสังคมก็ควรจะต้องใช้สติคิดไตร่ตรองดูเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง หรือกับดักที่ “ทรรัฐ” อาจวางไว้เพื่อปราบปรามประชาชนด้วยการใช้กำลังรุนแรงได้ ขบวนการสันติธรรมประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวนั้น ล้วนเป็นพลังที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี อยากเห็นประชาธิปไตย ปราศจากการข่มเหงรังแก ปราศจากการใช้อำนาจรัฐคุกคามคนเห็นต่าง  ซึ่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติธรรมไม่ใช่การต่อสู้วันเดียว อาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือปีเดียวจบ มันเป็นสงครามยืดเยื้อที่เราต้องต่อสู้กับพวกเผด็จการและพวกกระหายความรุนแรงและการกดขี่ การต่อสู้อาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิต เช่นเดียวกับคณะของเสรีไทย เช่นเดียวกับผู้ประศาสน์การแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ. ดร.ปรีดี พนมยงค์ เช่นเดียวกับ วีรชน 14 ตุลา วีรชน 6 ตุลา และ พฤษภา 35 นั่นเอง  

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ปรึกษามูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้ขึ้นเสวนาในหัวข้อ “อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ”

 

ลำดับต่อมา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ปรึกษามูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้ขึ้นเสวนาในหัวข้อ “อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ” โดยกล่าวว่า การจัดงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา นั้น เป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์วิปโยค รำลึกถึงอดีตที่น่าชังและขมขื่น เนื่องจากเป็นอดีตที่หลายคน “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” เช่นเดียวกับชื่อหนังสือของ ดร.ธงชัย วินิจจะกุล พร้อมกล่าวว่า หลังผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา ตัวเองเคยคิดถึงขั้นว่า ถ้ารอดจากประเทศนี้ไป คงจะไม่ขอกลับเข้ามาเมืองไทยอีก หรือไม่พูดภาษาไทยอีกต่อไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 ตนเริ่มทำใจได้และกลับมาพูดถึง 6 ตุลาอีกครั้ง โดยริเริ่มงานเขียน “6 ตุลา กับสถานะทางประวัติศาสตร์การเมืองใหม่” ในวาระรำลึกครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา พร้อมเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2519 ที่ตนเองเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐาน ซึ่งต้องจากอธิการบดีของตนเองไป นั่นก็คือ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์  พร้อมกล่าวว่า ดร.ป๋วย นับเป็นเหยื่อรายแรก ๆ ของอาชญากรรมรัฐ

อาจารย์ชาญวิทย์กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นการสังหารหมู่กลางกรุงเทพมหานครชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย อีกทั้งในทางวิชาการ เหตุการณ์ครั้งนั้น คือ การหยุดยั้งการพัฒนาประชาธิปไตย และเป็นพฤติกรรมของ “ชนชั้นเดิมผู้กุมอำนาจรัฐ โดยชนชั้นเดิมผู้กุมอำนาจรัฐ และเพื่อชนชั้นเดิมผู้กุมอำนาจรัฐ” เป็นกระบวนกาารที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย

ขอยกคำของของจอร์จ ออร์เวลมาว่า “ผู้ที่ยึดกุมอดีตไว้ได้ ก็จะยึดกุมไว้ซึ่งอนาคต และผู้ที่ยึดกุมปัจจุบันไว้ได้ ก็จะยึดกุมไว้ซึ่งอดีต” ซึ่งได้กล่าวเชื่อมโยงกับการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ว่า การจัดนิทรรศการ การบันทึกเรื่องราว เขียนบทความ กวีต่าง ๆ รวมไปถึงการตั้งอนุสาวรีย์ การตั้งชื่อถนนภายในมหาวิทยาลัย สิ่งเหล่านี้ คือ การกระทำที่จะควบคุมการตีความประวัติศาสตร์การรำลึกถึงอดีต สร้างความทรงจำของอดีตให้คนในปัจจุบันมีติดเนื้อติดตัวเพื่อเดินไปสู่อนาคตนั่นเอง

 

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส อภิปรายในหัวข้อ “สิ่งที่คนเดือนตุลาอยากบอกคนรุ่นใหม่ และสิ่งที่คนเดือนตุลากำลังเรียนรู้จากคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน”

 

จากนั้น นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส อภิปรายในหัวข้อ “สิ่งที่คนเดือนตุลาอยากบอกคนรุ่นใหม่ และสิ่งที่คนเดือนตุลากำลังเรียนรู้จากคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน”

นิธินันท์กล่าวว่า เธอคือหนึ่งในนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2516-2519 ในยุคที่คำว่า “หนักแผ่นดิน” ถูกชี้หน้ามาที่นักศึกษา ผ่านไป 4 ทศวรรษ มาจนถึงปัจจุบันก็ถูกแปะป้ายว่า “ชังชาติ” เพียงเพราะเราคิดไม่ไปในทางเดียวกับเผด็จการจารีตนิยมที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่  อีกทั้งยังเล่าย้อนถึงวาทกรรมในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการปั้นภาพให้คอมมิวนิสต์ก็กลายเป็นผีร้าย จนนายปรีดี พนมยงค์ ถูกใส่ร้ายต้องออกจากประเทศ หรือในยุคสงครามเย็นก็เช่นกัน  วาทกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งปกติมากในสังคมไทยเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมดที่ผู้มีอำนาจทำให้คนคิดต่างทั้งหมดเป็นคนนอก เป็นคนผิด เป็นคนต่างชาติ เป็นคนล้มเจ้า ทำลายเจ้า เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด  คำว่า “ชังชาติ” นั้นก็ไม่ได้บอกอะไรเลย นอกเป็นคำที่ฝ่ายเผด็จการจารีตนิยมปั้นขึ้น ส่วนคำว่า “ประชาธิปไตย” ก็ไม่มีอะไรเลยสำหรับคนพวกนั้น นอกจากมีเอาไว้อวดอ้างว่าประเทศฉันมีอารยธรรม และที่เหลือก็คือการบิดเบือน ว่าประชาธิปไตยต้องเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” ซึ่งหมายความว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของอภิสิทธิ์ชนในเครือข่ายเผด็จการจารีต ซึ่งไม่ใช่คำนิยามที่สากลยอมรับ

 

“แชมป์” ธีรชัย ระวิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ "เราที่ชังชาติ หรือชาติที่น่าชัง”

 

ลำดับต่อมา “แชมป์” ธีรชัย ระวิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ "เราที่ชังชาติ หรือชาติที่น่าชัง”

แชมป์กล่าวว่า คำว่า “ชังชาติ” เป็นวาทกรรมที่ถูกผลิตขึ้นโดยกลุ่มคนที่เข้าใจไปเองว่า ตัวเอง คือ “ผู้รักชาติ” เหนือกว่าผู้อื่นใด ทั้งที่ความจริงแล้ว หากพูดถึงคำว่า ชังชาติ ควรมองถึงต้นเหตุว่า คงจะเป็นเพราะชาตินั้นมีอะไรที่น่าชัง ซึ่งชาติในที่นี้หมายถึงสังคมที่เราอยู่ในปัจจุบัน สังคมที่เราเกิด เรียนรู้ เติบโต และจะส่งต่อไปยังรุ่นต่อ ๆ ไป  นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงประเด็นที่คนรุ่นใหม่มักโดนโจมตีว่า พวกเขาโดนล้างสมอง ก็ขอยอมรับว่า “จริง” พวกเขาโดนล้างสมองมานานมาก โดยเครื่องมืออย่างระบบและหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการนั่นเอง  พร้อมกล่าวว่า การอยู่ในสังคมเดียวกันก็เปรียบเหมือนกับเราอยู่ในบ้านร่วมกัน หากประตูมันพัง หน้าต่างมันหลุด เราก็ต้องเปลี่ยน ต้องซ่อม ต้องแก้ไขมัน  ในอดีตมีตัวอย่างให้เห็นมากมายจากการสร้างวาทกรรมชังชาติให้กับผู้เห็นต่าง อันนำไปสู่ความขัดแย้ง การสูญเสีย การล้อมฆ่าอย่างเป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เราควรร่วมมือช่วยกันเปลี่ยนแปลง ทำให้ความน่าชังในสังคมนี้ลดลง ให้ความน่าชังทั้งหลายนั้นจบในรุ่นเรา

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ (iLaw) กล่าวในหัวข้อ “เราจึงมีหวังอยู่เสมอมา”

 

หลังจากนั้น ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ (iLaw) กล่าวในหัวข้อ “เราจึงมีหวังอยู่เสมอมา”

นายยิ่งชีพกล่าวว่า เมื่อย้อนไปวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นับได้ว่าเป็นวันที่ท้อแท้และสิ้นหวังทางการเมืองไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวันที่ผลออกมาว่า มีคนกว่า 61% เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้กลุ่ม คสช. ได้สืบทอดอำนาจของตัวเอง อีกทั้งยังใช้อำนาจข่มขู่ให้ผู้คนเห็นตาม จับดำเนินคดีผู้ที่รณรงค์และให้ความรู้ว่ารัฐธรรมนูญนี้จะสืบทอดอำนาจให้ คสช. อย่างไร จนต้องมีการออกมารณรงค์กันว่า “รณรงค์เป็นสิทธิ ไม่ผิดกฎหมาย”

นอกจากนี้ นายยิ่งชีพยังเล่าถึงเบื้องหลังการล่ารายชื่อครั้งนี้ว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง ทั้งอุปสรรค ทั้งน้ำใจของกลุ่มคนที่พร้อมจะช่วยเหลือและสนับสนุน ซึ่งการล่ารายชื่อแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทำให้เขาเห็นว่า โลกรอบตัวของเขามันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ได้เห็นอยู่ตลอดเวลาว่า เรามีเพื่อนพร้อมสนับสนุนอยู่กับเรามากขนาดไหนและเมื่อมันเปลี่ยนแปลงแล้วมันจะย้อนกลับไม่ได้ พร้อมกล่าวว่าวันนี้เมื่อ 44 ปีที่แล้ว ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ได้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นและเจ็บปวดที่เราจะต้องจดจำประวัติศาสตร์ อาจจะเป็นวันหนึ่งที่คนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ รู้สึกน่าท้อแท้สิ้นหวังที่สุดสำหรับการเมืองไทยเท่าที่จะมีได้ แต่วันนี้บริบททางการเมืองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปและเมื่อมาถึงขนาดนี้แล้วมันก็จะย้อนกลับไม่ได้ หลายคนที่เคยต่อสู้ในวันนั้นก็ยังคงนั่งอยู่ที่นี่ก็ยังสูู้อยู่ไปพร้อมกับพลังคนรุ่นใหม่ที่กำลังเบ่งบานเติบโตไปทำอะไรอีกหลายอย่าง และยิ่งมีการกดขี่มากเท่าไรก็ยิ่งทำให้แรงต้านมีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งวันนี้เป็นวันที่การเมืองมีความหวังที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์ไทยและขอบคุณหลายคนที่ต่อสู้และยังมีความหวังมาตลอด 44 ปี แต่การต่อสู้นี้ยังอีกยาว เราต้องมีความหวังเสมอเพื่อที่จะได้เห็นอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นด้วยกัน

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขึ้นมากล่าวในหัวข้อ “สงครามเย็นกับโบว์ขาว: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?”

 

ลำดับสุดท้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขึ้นมากล่าวในหัวข้อ “สงครามเย็นกับโบว์ขาว: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?”

อาจารย์กนกรัตน์ถ่ายทอดประสบการณ์ว่า ตนสามารถเข้าใจโลกมากขึ้นได้ผ่านงาน 3 ชิ้นที่เขาได้ทำ คือ (1) การศึกษาเรื่องราวของคนเดือนตุลาที่ออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งพ่อของเธอก็เป็นหนึ่งในนั้น  (2) การศึกษาขบวนการต่อต้านทักษิณ ซึ่งส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมขบวนการนี้ก็เป็นกลุ่มคนเดือนตุลา ซึ่งตัวเองก็อยากจะเข้าใจว่า เหตุใดกลุ่มคนเดือนตุลาที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยกลับสนับสนุนขบวนการที่ต่อต้านประชาธิปไตย ณ ขณะนั้น พร้อมมองว่า ก่อนที่เราจะวิจารณ์อะไรในสังคมนี้ เราควรเข้าใจในสิ่งเราจะเริ่มต้นวิจารณ์เสียก่อน  และ (3) การได้พูดคุย ทำความเข้าใจเด็ก ๆ ยุคใหม่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งหากใครจะบอกว่า พวกเขาชังชาติ ก็ควรจะเข้าใจพวกเขาเสียก่อน

อาจารย์กนกรัตน์กล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งของขั้วความคิด 2 ขั้วนั้น ต่อสู้กันมายาวนานนับตั้งแต่กบฏบวรเดชกว่า 88 ปี ทั้งสองฝ่ายนั้นผลัดกันแพ้ชนะมาตลอด แต่สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายมีวิธีการที่ใช้เหมือนกันอยู่ 4 อย่าง คือ การประณาม การลดทอนความชอบธรรมของอีกฝ่าย สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง การหาทางขจัดและเอาอีกฝ่ายออกจากสังคมนี้  โดยช่วงท้ายได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยได้มาถึงทางแพร่งของความขัดแย้งโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่คนหมู่มากตื่นตัว ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง คนรากหญ้า คนในหัวเมือง และล่าสุดขบวนการนิสิตนักศึกษาได้ตื่นตัวขึ้นมาแล้วเช่นกัน

ติดตามวิดิโอการอภิปรายสาธารณะ PRIDI Talks ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ: ชาติ ความเป็นไทยและประชาธิปไตยที่แปรผัน" ได้ที่นี่

“อยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ | PRIDI Talks #6

“สิ่งที่คนเดือนตุลาอยากบอกคนรุ่นใหม่และสิ่งที่คนเดือนตุลาเรียนรู้จากคนหนุ่มสาว” นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

“เราที่ชังชาติ หรือ ชาติที่น่าชัง” โดย ธีรชัย ระวิวัฒน์ “แชมป์ ราชบุรี” | PRIDI Talks #6

“เราจึงมีหวังอยู่เสมอมา” โดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ | PRIDI Talks #6

“สงครามเย็นกับโบว์ขาว: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล