ผมไม่ทราบว่า ใครเป็นคนตั้งหัวข้อในวันนี้ “จากหนักแผ่นดิน สู่โรคชังชาติ” ผมว่า มันเป็นหัวข้อที่ทำให้เราได้คิดอะไรอีกเยอะแยะเลย และต้องขอขอบคุณมากที่ให้เกียรติผมมาพูดในวันนี้
วันนี้ครบรอบ 44 ปีของเหตุการณ์วันมหาวิปโยคที่อุบัติขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง 6 ตุลา 2519 วันนี้เป็นวันเพื่อรำลึกและทบทวนอดีตที่น่าชังและขมขื่น อดีตที่หลายคนไม่อยากจำ แต่ในขณะเดียวกันก็ลืมไม่ลง เหมือนกับชื่อหนังสือของ ดร.ธงชัย วินิจจะกุล “6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Moment of Silence, the unforgetting of the October 6, 1976 Massacre in Bangkok” ที่เพิ่งออกมาเมื่อไม่กี่วันนี้
ผมในฐานะผู้ที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์วันมหาวิปโยคดังกล่าว มีความรู้สึกคล้าย ๆ กับดร.ธงชัย คือ มีความพยายามที่จะไม่จำ ไม่อยากจะคิดถึงเหตุการณ์อันโหดเหี้ยมวันนั้น ผมพยายามหลบ หลีก เลี่ยง ที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เมื่อครั้งหลัง 6 ตุลาคมใหม่ ๆ ผมเคยคิดว่า ถ้ารอดออกไปได้จากประเทศนี้ ผมจะไม่ขอกลับเข้ามาเมืองไทยอีกต่อไป และอาจจะไปไกลถึงไม่ต้องการพูดภาษาไทยด้วยซ้ำไป
ผมเพิ่งกลับมาคิดใหม่ และรำลึกถึง เขียนถึงประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เป็นครั้งแรก ก็คือ ในบทความ “6 ตุลา กับสถานะทางประวัติศาสตร์เมือง” เมื่องาน 20 ปี 6 ตุลา เมื่อปี 2539 ตามคำเชิญชวนของอาจารย์ ดร.พนม เอี่ยมประยูร อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ นั่นหมายความว่า ผมใช้เวลากว่า 20 ปี กว่าที่จะทำใจได้
เมื่อครั้นวันที่ 6 ตุลา 2519 ผมดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐาน อธิการบดีของผม คือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ วันนั้นผมต้องจาก ดร.ป๋วย ตอนช่วงกลางวัน หลังการลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีของท่านต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย วันนั้นผมได้รับมอบหมายให้นำกระเป๋าเอกสารพร้อมด้วยรถประจำตำแหน่งไปคืนให้กับน้องสาวของท่านแถว ๆ ซอยอารีย์ ถนนพหลโยธิน หลังจากนั้นผมก็ต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้านคุณยายที่ปากน้ำ สมุทรปราการ หลายเดือนต่อมา ผมดำเนินการทำเรื่องขอลาราชการออกไปทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ไปอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 1 ปีเต็ม เมื่อผมได้ไปพบไปเยี่ยมท่านอีกครั้งที่ลอนดอน ท่านก็อยู่ในความเงียบ พูดไม่ได้เป็นเวลาถึง 22 ปี จนจากไป ดร.ป๋วย เป็นเหยื่อรายแรก ๆ พร้อมกับนักศึกษา และประชาชนของอาชญากรรมรัฐไทยเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519
เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา คืออะไร? ผมขอตอบสั้น ๆ ว่ามันคือรัฐประหาร coup d'état อีกครั้งหนึ่งในจำนวน 12 ครั้งของกองทัพไทย มันยังเป็นทั้งวันฆ่าสังหารหมู่ในคำของอาจารย์ธงชัย คือ Massacre นักศึกษาและประชาชนกลางกรุง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา และสนามหลวง ซึ่งอยู่ตรงข้ามพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว มันเป็นการสังหารหมู่กลางกรุงเทพมหานครชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย มันเป็นการใช้กำลังตำรวจตระเวนชายแดน ใช้อาวุธสงครามหนัก รวมทั้งใช้อันธพาลรับจ้าง ตลอดจนฝูงชนที่โดนปลุกระดมอย่างหนักหน่วงด้วยหน่วยงานของรัฐมาเป็นกว่า 2 ปี ที่เปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจจากความรักในชาติบ้านเมือง ให้กลายเป็นความคลั่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
กล่าวอีกนัยหนึ่งในแง่วิชาการ ในแง่การเมืองการปกครอง นี่คือกระบวนการหยุดยั้งการพัฒนาประชาธิปไตย (Democratization) นี่คือสิ่งที่เรียกย่อ ๆ ได้ว่า เป็นพฤติกรรมของชนชั้นเดิม โดยชนชั้นเดิม และเพื่อชนชั้นเดิม “ผู้กุมอำนาจรัฐ” อันเป็นกระบวนการที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยทั้งหลายทั้งปวง
ต่อคำถามที่ว่า เกิดอะไรขึ้นเมื่อ 6 ตุลา 2519 ซึ่งวันมหาวิปโยค ซึ่งเป็นวันที่จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ถูกขับไล่ออกไปจากเมืองไทยในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ได้รับอนุญาตให้บวชเป็นเณรจากสิงคโปร์แล้วกลับเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ วัดบวรนิเวศ บางลำภู กรุงเทพมหานคร ในแง่ของการตีความทางวิชาการ ความหมายทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้น ผมคิดว่าบทความของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน เรื่อง “Withdrawal symptoms: Social and cultural aspects of the October 6 coup” ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยว่า “บ้านเมืองของเราลงแดง” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งนั้น เป็นบทความที่วิเคราะห์การเมืองไทยได้อย่างดียิ่ง
อาจารย์เบนได้กล่าวว่า รัฐประหารไม่ใช่เรื่องแปลกผิด แต่รัฐประหาร 6 ตุลาคมนั้น ท่านได้วิเคราะห์ในมุมกว้าง มีการกำเนิดก่อตัวของชนชั้นกระฎุมพี หรือชนชั้นกลางที่ถือกำเนิดขึ้นมาในสมัยสงครามเย็น ซึ่งมีการทุ่มเทช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาอย่างมหาศาลในแง่ของสงคราม ความมั่นคง และเศรษฐกิจ เงินทุนและอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ บวกกับเงินทุนทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่จากญี่ปุ่น มาพร้อม ๆ กับการอ้างอิงใช้สถาบันกษัตริย์ ทั้งสถาบันและองค์บุคคลที่ช่วยรักษาอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นเวลาถึงสองทศวรรษครึ่ง
ชนชั้นกระฎุมพีไทยหรือชนชั้นกลางเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากแนวคิดชาตินิยม เผด็จการทหาร แต่ในที่สุดแล้ว ชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา เวียดนาม ลาว ตามลำดับในปี 2518 ก็ทำให้กระฎุมพีไทยที่ในตอนแรกเป็นปฏิปักษ์ชั่วคราวกับลัทธิเผด็จการทหารของถนอม-ประภาส-ณรงค์ รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนให้กับการลุกฮือของนิสิตนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลา 2516 ต่างกลับหลังหันกลายเป็นปฏิปักษ์หรือผู้ทำลายล้าง ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ข้างบ้าน ทำให้ฝ่ายกระฎุมพีไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นปกครองเดิม สถาบันและองค์กรหลัก ๆ ของเดิมของรัฐ ออกอาการวิกลจริต ตกอกตกใจ และเกิดอาการลงแดง จนหันหลังกลับเป็นปฏิปักษ์และก่ออาชญากรรมรัฐอย่างเหี้ยมโหดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กระทำการสังหารนักศึกษา ประชาชน และผู้นำระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชาวนา หรือผู้นำกรรมกร
น่าสังเกตว่า ในบทความดังกล่าว อาจารย์เบนได้จบบทความดังนี้ โดยสรุป ผลพวงของ 6 ตุลา จึงชี้ไปในสองทิศทางที่แตกต่างกัน แต่เชื่อมโยงกัน ในด้านหนึ่ง การรัฐประหารครั้งนี้ เป็นการเร่งให้เห็นชัดถึงคำอธิบายความเป็นรัฐของรัฐไทยที่เคยเป็นสิ่งน่าพิศวงของชาติตะวันตกที่ศึกษาประเทศไทย กล่าวคือ มีปรากฏการณ์ใหม่ ๆ มีการโจมตีอย่างเปิดเผยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีร่องรอยชัดเจน กลุ่มผู้คนใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะกลุ่มคนเสรีนิยม คนหัวรุนแรง เริ่มเข้าใจว่า ตนไม่มีที่ไม่มีทางในระบอบของเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร ดังนั้น ด้วยปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คนจำนวนหนึ่งจึงลี้ภัยไปต่างประเทศ หรือไปร่วมขบวนการต่อสู้ในป่า
ในอีกประการหนึ่ง แนวความคิดและสัญลักษณ์ของการเมืองฝ่ายขวาที่ครองอำนาจมานาน เป็นไปได้ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยจำนวนมากจะมองฝ่ายซ้ายได้อย่างสนิทใจว่าเป็นคนต่างด้าว เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม เป็นญวน เจ๊ก จีน แขก หรืออะไรก็ตาม ซึ่งในความเป็นจริง การต่อสู้ปราบปรามคอมมิวนิสต์ในครั้งนั้น ก็เป็นกระบวนการระดับชาติอันสูงส่ง ถึงตอนนั้นความคิดแบบนั้นกลับดูจะเป็นไปได้น้อยลง แม้แต่ต่อกลุ่มฝ่ายขวาเอง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ได้กลายเป็นตัวเร่งต่อขบวนการที่ฝ่ายขวายอมรับ โดยอาจไม่ได้ตระหนักเลยว่า ตนอาจมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมือง ซึ่งในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นเครื่องตัดสินที่สำคัญ ทั้งนี้เป็นเพราะประวัติศาสตร์สมัยใหม่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไม่มีขบวนการปฏิวัติใดจะประสบชัยชนะได้ หากมิได้พิชิตหรือได้รับสมาทานอุดมการณ์ชาตินิยม (ผมคิดว่าผมกำลังพยายามเชื่อมโยงคำพูดของอาจารย์เบนมายังสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้)
อนึ่ง ในการศึกษาเล่าเรียนวิชา Classical Study ของอาจารย์เบนนั้น ให้ความสนใจในความ Classical ของไทยเป็นอย่ายิ่ง ดังนั้น ในบทความ “บ้านเมืองของเราลงแดง” นั้น ท่านจึงประทับใจอย่างมากต่อ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ท่านได้แปลส่วนหนึ่งของบทกวีนั้น ในแง่การมองถึงสิ่งอัศจรรย์ที่เกิดขึ้น 16 ประการ
“คือดาวเดือนดินฟ้าจะอาเพศ
อุบัติเหตุเกิดทั่วทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ
เกิดนิมิตพิศดารทั้งบ้านเมือง”
และบทที่ใคร ๆ ก็จะมักจะจำได้ คือ
“ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง
ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม”
อาจารย์เบนชื่นชอบมาก เพราะทุกอย่างนั้นดูกลับกันไปหมด เมื่อกำลังจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “กลียุค” และเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า บทความที่ผมอ้างนั้น อาจารย์เบนเขียนเป็นบทความแรกเกี่ยวกับเมืองไทย ในปี 1977 (พ.ศ. 2520) ท่านหันมาศึกษาเมืองไทยต่อ หลังจากที่เข้าประเทศอินโดนีเชียไม่ได้ เนื่องจากได้ไปต่อต้านรัฐบาลทหารของนายพลซูฮาโต้ ท่านจึงหันมาศึกษาประเทศไทยและประเทศฟิลิปปินส์
ในบทความสุดท้ายซึ่งท่านเขียนเอาไว้เป็นภาษาอังกฤษและถูกนำมาตีพิมพ์หลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ชื่อบทความว่า “Riddles of yellow and red” ตีพิมพ์ในหนังสือ New Left Review เมื่อเดือนมกราคม 2516 หลังจากท่านเสียชีวิตไป แต่บทความนี้ยังไม่มีการนำมาแปลเป็นภาษาไทย อาจารย์เบนพูดถึงบทสนทนาของท่านกับคนขับแท็กซี่ซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีน ระหว่างที่ขับพาท่านไปสนามบินสุวรรณภูมิ อย่างที่อาจารย์ชอบเรียกว่า สนามบินหนองงูเห่า จากการสนทนากันวันนั้น ทำให้ท่านเขียนบทความชิ้นสุดท้ายว่า การต่อสู้ของคนใส่เสื้อสีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เป็นการต่อสู้แบบนิยายคลาสสิคของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Romance of the Three Kingdoms” หรือ “สามก๊ก” ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองในเมืองจีนที่แสนจะยาวนานหลายทศวรรษ
อาจารย์เบนได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการต่อสู้กันของสามก๊กไทยนั้น Unless one of them gets kill อันหมายความว่า ถ้าใครในระดับนำคนใดคนหนึ่งของสามก๊กถูกฆ่าตาย การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ก็จะเกิดขึ้นในสยามประเทศไทยของเรา ท่านน่าจะหมายถึงผู้นำที่ต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง ต่างอ้างความเป็นไทย รักชาติไทย น่าสนใจที่ว่า ผู้นำเหล่านี้ก็ต่างมีเชื้อสายจีนกันทั้งนั้น สามก๊กที่อาจารย์เบนหมายถึง คือ ถ้าไม่เป็นไทยเชื้อสายแต้จิ๋ว ก็เป็นไทยเชื้อสายฮากกาหรือแคะ หรือไม่ก็เชื้อสายไหหลำ ซึ่งในการต่อสู้หรือในสิ่งที่เรียกว่า สงครามกลางเมืองครั้งนี้ ถ้าหากผู้นำคนใดคนหนึ่งถูกฆ่าตายขึ้นมา การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มโหฬารก็จะบังเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา และสถานการณ์อาจร้ายแรง ดุเดือด เลือดโชก ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงทั้งระบบและระบอบก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อสักครู่ผมฟังที่คุณจตุรงค์ ฉายแสง ได้กล่าว [ปาฐกถาเนื่องในงาน 6 ตุลาฯ ณ ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาฯ … บ.ก.] ว่า ไม่เชื่อว่า วันที่ 14 ตุลาคมนี้จะเกิดความรุนแรง เหมือนกับวันที่ 19-20 กันยายน ที่ผ่านมา ก็ไม่มีความรุนแรง ผมก็เห็นด้วยเช่นนั้น เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ถ้ารุนแรง มันคงไม่ใช่ 6 ตุลา มันคงเป็น 14 ตุลา คงเป็นพฤษภา ’35
ต่อมา บทความสุดท้ายที่ทำให้ผมอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “นี่เราอยู่ในระยะเวลาอันยาวนานของสงครามกลางเมืองอันยาวสาวแสนยาว ที่ยังไม่แพ้ไม่ชนะกันอย่างเด็ดขาด ซึ่งผมคิดว่ามันกินเวลาตั้งแต่สมัยกบฏบวรเดช 2476 ต่อมาด้วยปฏิวัติ รัฐประหาร กบฎ หรือตามที่จะเรียกใด ๆ ก็ตาม ผมคิดว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามอันยืดยาว ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร 2490 ไม่ว่าจะเป็นกบฏวังหลวง 2492 ไม่ว่าจะเป็นกบฏแมนฮัตตัน 2494 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร 2500 ไม่ว่าจะเป็นปฏิวัติ 2501 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร 2514 ไม่ว่าจะเป็นปฏิวัติ 14 ตุลา 2516 ไมว่าจะเป็นปฏิรูป 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะเป็นพฤษภาทมิฬ 2535 (ซึ่งเป็นคำที่ผมนั้นไม่อยากจะใช้เสียเท่าไหร่) ไม่ว่าจะเป็นพฤษภาอำมหิต 2553
จากกบฏบวรเดชสู่พฤษภาอำมหิต นับเป็นเวลา 77 ปี เข้าไปแล้ว หากนับถึงปีนี้ (2563) ก็นับเป็น 87 ปี และนี่ก็อาจเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า “สงครามกลางเมืองของไทย” ที่การต่อสู้กันระหว่างระบอบใหม่กับระบอบเก่า เป็นสงครามกลางเมืองหนึ่งร้อยปี เราอาจจะมองว่ามันไม่ใช่ ในเมื่อเราก็อยู่อย่างสบายดี แต่หากมองโดยรวมแล้ว จาก 2475 มากบฏบวรเดช 2476 มันก็เกือบร้อยปีแล้วไม่ใช่หรือ? มันจะจบอย่างไร? มันจะจบในรุ่นนี้จริงหรือ?
ผมขอจบการเสวนาด้วยข้อความของ George Orwell หนังสือ 1984 ซึ่งหลายท่านในห้องนี้อ่านแล้วอ่านอีก
“He who control the past controls the future, He who control the present controls the past.” ซึ่งผมแปลเป็นภาษาไทยว่า “ผู้ที่ยึดกุมอดีตไว้ได้ ก็จะยึดกุมซึ่งอนาคต และผู้ที่ยึดกุมปัจจุบันไว้ได้ ก็จะยึดกุมไว้ซึ่งอดีต” ฟังดูแล้วงง ๆ เหมือนกันนะครับ ผมพยายามฟังและเรียบเรียงคำภาษาไทย ซึ่งผมพยายามขยายความเป็นภาษาไทย ดังนี้
ใครก็ตามที่ยึดกุมอดีตเอาไว้ได้ ก็น่าจะหมายถึง เขาผู้นั้นควบคุมการเขียนประวัติศาสตร์ หรือตีความอดีต ซึ่งรวมถึงการเขียนแบบเรียนประวัติศาสตร์ ตลอดจนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ก็จะสามารถกำหนดหรือควบคุมอนาคตให้ดำเนินไปในทิศทางหรือในรูปแบบที่เขาเหล่านั้นต้องการ และดังนั้น คนที่ยึดกุมปัจจุบันไว้ได้ เขาก็จะสามารถควบคุมไว้ได้ซึ่งอดีต ซึ่งหมายถึงการเขียนแบบเรียนหรือตำราประวัติศาสตร์ รวมทั้งการตีความ ตลอดจนการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนทั่วไปต้องเชื่อและปฏิบัติตามนั่นเอง
ดังนั้น การรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ในปี 2563 ในโอกาสครบรอบ 44 ปี การจัดนิทรรศการ “แขวน” ที่เราดูมา การเขียนบันทึกเรื่องราว เขียนบทความ เขียนบทกวี การสร้างอนุสาวรีย์ 6 ตุลา รวมทั้งอนุสาวรีย์อื่น ๆ บริเวณข้างหน้า ด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกัน จากหมุดของคณะราษฎร 2475 การตั้งชื่อถนนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก็คือ การกระทำที่จะควบคุมการตีความประวัติศาสตร์ การรำลึกถึงอดีต สร้างความทรงจำของอดีตให้คนในปัจจุบันมีติดเนื้อติดตัวเพื่อเดินไปสู่อนาคตนั่นเอง
งานรำลึก 2563 นี้ คนรุ่น 6 ตุลา กำลังบอกเราว่า เขาและเธอไม่ใช่คนหนักแผ่นดิน ไม่ใช่คนไม่รักชาติ ไม่ใช่เจ๊ก จีน ญวน หรือแขก พวกเขาต้องการชาติที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน เพศสภาพใด มีผิวพรรณใด จะยากหรือจะจน มีสิทธิ มีเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ดังนั้น การจัดงานรำลึกครั้งนี้ก็เพื่อแสวงหาแนวทางตัวตนของพวกเขาและพวกเธอเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับ “คนอื่น ๆ” (คำนี้นั้นศรีบูรพาชอบใช้) คนอื่น ๆ รุ่นต่อ ๆ ไป ที่จะเดินทางไปสู่อนาคตที่ดีกว่าที่เป็นมาเกือบร้อยปี
ที่มา: เรียบเรียงจากคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 6 หัวข้อ “จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ: ชาติ ความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563