ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สงครามเย็นกับโบว์ขาว: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?

11
ตุลาคม
2563

คืนก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ดิฉันอายุ 9 เดือน อยู่ในท้องคุณแม่ซึ่งขับรถโฟล์คคันหนึ่งมาดูเหตุการณ์แล้วก็กลับไป ในช่วงเช้าไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ดิฉันอยู่ในท้องคงไม่ได้รับรู้เหตุการณ์ของเช้าวันที่ 6 ตุลา หนึ่งเดือนหลังจากนั้น ดิฉันคลอด นิทานก่อนนอนในวัยเด็ก คือ หนังสือพิมพ์ 6 ตุลา ภาพการฆ่าสังหารหมู่ (เสียงสั่น) ยังคงเป็นภาพจำในวัยเด็กที่รับรู้ผ่านเรื่องเล่าของคุณพ่อ ผ่านมาแล้ว 44 ปี ดิฉันยังยืนอยู่ที่นี่ ในที่ที่คุณแม่เคยมาเมื่อ 44 ปีก่อน

ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาดิฉันไปในหลายพื้นที่หลายจังหวัด พูดคุยกับคนหนุ่มสาวเป็นร้อยคน คุยกับพวกเขา ดิฉันอยากรู้ว่า พวกเขาคิดอะไร ทำไมเขาต้องมาที่นี่ ทำไมพวกเขาต้องไปในที่ที่มีการชุมนุม

เส้นทางในชีวิตของดิฉันผ่านงานวิจัยสำคัญ 3 ชิ้นที่เป็นย่างก้าวในการเข้าใจโลกในปัจจุบันของดิฉัน

อย่างแรก แรงบันดาลใจของคุณพ่อ ดิฉันเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่องคนเดือนตุลา ดิฉันสัมภาษณ์คนเดือนตุลากว่าร้อยคน เพื่อที่จะเข้าใจว่า คนเดือนตุลาลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกันและประชาธิปไตยทำไม หลังจากนั้นสิ่งที่ดิฉันเคยเห็นเป็นแรงบันดาลใจ คือ คนเดือนตุลา พวกเขากลับทำให้ดิฉันต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่ดิฉันเคยเข้าใจ พวกเขาขัดแย้ง ต่อสู้ ถกเถียงกันท่ามกลางความขัดแย้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง

ดิฉันเริ่มต้นฉากที่สองของการทำงานวิจัย คือ ดิฉันศึกษาขบวนการต่อต้านทักษิณ ดิฉันอยากเข้าใจว่า คนเดือนตุลาหรือผู้คนจำนวนมากมาย เหตุใดจึงหันไปสนับสนุนขบวนการที่หลายคนเรียกว่า ขบวนการต่อต้านประชาธิปไตย ดิฉันอยากเข้าใจพวกเขา ดิฉันคิดว่า ในสังคมนี้ก่อนที่เราจะเริ่มต้นวิจารณ์อะไร  เราควรเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังเริ่มต้นจะวิจารณ์ งานวิจัยชิ้นที่สองผ่านไปดิฉันเข้าใจอะไรมากขึ้นหรืออาจจะไม่เข้าใจอะไรเลย  งานชิ้นที่สองผ่านไปเพียงไม่กี่ปีเราได้เห็นพลังใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้น ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาที่ดิฉันกำลังวิ่งอยู่กับพวกเขา ดิฉันไม่ได้เข้าข้างพวกเขาแต่ดิฉันคิดว่า ก่อนที่เราจะวิจารณ์ว่า พวกเขาชังชาติ เราต้องเข้าใจเขาก่อน ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการอยู่ร่วมกันในสังคม

ภาพในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นภาพการทะเลาะกันในครอบครัว ภาพการชี้หน้าถกเถียงกันในโรงเรียน การชุมนุมประท้วงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ มันไม่ใช่เรื่องของช่องว่างระหว่างวัย มันไม่ใช่เรื่องของความแตกต่างระหว่างวัย ไม่ใช่ความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่ที่มีความคิดลึกและรอบคอบกับเด็กวัยรุ่นที่มีความรู้กว้างขวางแต่ฉาบฉวย แต่มันคือความขัดแย้งทางความคิดจริง ๆ ยืนยันได้จากการทำงานวิจัยมาถึง 3 ชิ้น มันคือวิกฤติความขัดแย้งทางความคิดของคนสองกลุ่ม ผ่านชุดประสบการณ์ ความเชื่อ ผ่านบรรยากาศแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจคล้ายกับที่อาจารย์ชาญวิทย์กล่าวว่า นี่อาจเป็นสงครามกลางเมืองที่มีระยะเวลายาวกว่า 100 ปีนับตั้งแต่กบฏบวรเดช ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันมายาวนานตลอด 88 ปี ทั้งสองฝ่ายผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายกระทำต่ออีกฝ่ายเหมือนกันคือ 4 อย่าง ได้แก่ การประณาม, การลดทอนความชอบธรรมของอีกฝ่าย, การสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง และการหาทางขจัดอีกฝ่ายออกไปจากสังคม

 

 

6 ตุลา เป็นตัวอย่างของการต่อสู้ระหว่างสองกลุ่มความคิด หลังจาก 6 ตุลา ความรุนแรงก็ถูกทำให้เงียบหายไป มีการทำให้พวกเขาเงียบ ผลักพวกเขาออกจากประเทศนี้ สังคมไทยยังคงประคับประคองสังคมต่อไป แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาเชิงสังคม จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างกลุ่มพลังรากหญ้าให้มีอำนาจต่อรองในสังคมมากขึ้น อันนำไปสู่ความขัดแย้งระลอกต่อไป ซึ่งจุดจบของความขัดแย้งและนอกนั้นคือชัยชนะของกลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางระดับสูงที่ประสบความสำเร็จในการก่อรัฐประหารปี 2557 สิ่งที่เกิดขึ้นและวิธีการนั้นเหมือนเดิม คือ การทำให้เงียบ ทำให้สูญหาย ลดทอนความชอบธรรมฝ่ายตรงข้าม สร้างความชอบธรรมให้ตนเอง การทำให้อีกฝ่ายต้องออกไปจากประเทศนี้ นอกจากนั้นระบบผู้นำยังเรียนรู้ไปมากกว่าเดิมว่าจะทำอย่างไรให้ชัยชนะชั่วคราวกลายเป็นชัยชนะถาวรมากขึ้น กระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการในการยุบพรรค กระบวนการในการทำให้ฝ่ายตรงข้ามหลังเลือกตั้งไม่มีที่ยืน ที่จะสร้างชัยชนะให้ถาวรมากขึ้น

แต่มันไม่จบเนื่องจากมีกลุ่มพลังใหม่ที่ไม่พอใจกับกระบวนการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม เดือนกุมภาพันธ์เราอาจเห็นพวกเขาหายไป แต่พวกเขากลับมาอีกครั้งในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาเราเห็นความไม่พอใจจากพลังของนิสิตนักศึกษาต่อกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ความไม่พอใจของกลุ่มนักเรียนต่อทางโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองสังคม และอำนาจรัฐที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยยังคงใช้วิธีการ 4 วิธีแบบเดิมที่ดิฉันกล่าวไปเบื้องต้น ที่เพิ่มเติม คือ ความเพิกเฉย แม้จะมีการออกหมายจับน้อยลงคุกคามน้อยลงหลังวันที่ 19 กันยายน แต่กลับมีแต่ความเพิกเฉยที่ไม่ตอบรับใด ๆ จากผู้มีอำนาจว่า ข้อเรียกร้องของคนหนุ่มสาวจะเดินไปอย่างไรต่อ

แต่ในแง่มุมของคนหนุ่มสาวแล้ว การประณาม ข่มขู่ คุกคามและเพิกเฉยนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ได้ผล ดิฉันมีชุดคำถามหนึ่งที่ถามต่อพวกเขาถึงการเข้าร่วมชุมนุมแต่ละครั้งว่าอาจได้รับผลกระทบถูกคุกคาม การละเมิดสิทธิในโรงเรียน การถูกหมายเรียกหรืออาจถูกดำเนินคดี  เด็กเกิน 50% กลัว แต่เด็กเกิน 80% ที่บอกว่ากลัวนั้นไม่เลิกที่จะมาเข้าร่วมการชุมนุม เมื่อถามว่า ทำไมถึงไม่กลัว พวกเขาตอบว่า เพราะมันคือเดิมพันต่อชีวิตในอีก 60 ปีข้างหน้าของพวกเขา พร้อมตั้งคำถามว่า คนรุ่นก่อนหน้านั้นทนกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

ดิฉันมองว่า สังคมไทยมาถึงจุดที่เรียกว่า ทางแพร่งของความขัดแย้งโดยสมบูรณ์ เป็นความขัดแย้งที่คนทุกกลุ่มในสังคมตื่นตัว มิใช่อย่าง 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ที่มีเพียงคนบางกลุ่มที่เชื่อมโยงตัวเอง บทบาททางการเมืองกับการแก้ไขปัญหาในสังคม ตอนนี้มีทั้งพี่น้องเสื้อเหลือง เสื้อแดง คนรากหญ้า อีกทั้งขบวนการนิสิตนักศึกษา นักเรียน

สิ่งสำคัญ คือ ชุดความคิดของ 5-6 อย่างของกลุ่มคนที่มีชุดความคิดแบบสงครามเย็น ที่มักจะมองว่า บทบาทของมหาอำนาจในการเข้ามาแทรกแซงมีอิทธิพลเหนือการเมืองไทย ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเขาเผชิญภัยคุกคามเหล่านั้นมาจริง ๆ ถูกทำให้กลัวจากภัยคอมมิวนิสต์ที่มาจากจีน และพวกเขาเติบโตมาแบบนี้ตลอด 20-30 ปี 

ประการต่อมาคือ พวกเขาใช้ชาตินิยมเป็นเครื่องมือต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นชาติในความหมายว่า ‘ชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ หรือ ชาติ แบบที่ต่อต้านจักรวรรดิอเมริกันและโจมตีทหาร ในช่วงระหว่าง 14 ตุลา - 6 ตุลา ความคิดชุดนี้อยู่ในชุดความคิดของคนเดือนตุลา และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม สร้างความชอบธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สาม คือ คนยุคสงครามเย็นเชื่อในเรื่องการจัดตั้งองค์กรหรือแต่งตั้งผู้นำที่มีบารมี คนเดือนตุลาที่ได้ถูกสัมภาษณ์บางท่านยังกล่าวถึงขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันว่า เหตุใดถึงไม่มีผู้นำที่มีบารมี ที่เก่ง ๆ ทำไมการจัดตั้งองค์กรในปัจจุบันถึงไม่มีการจัดตั้งที่เข้มแข็ง ยิ่งใหญ่ เป็นหนึ่งเดียว และมองว่า นี่เป็นจุดอ่อนหรือเปล่า เพราะนี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการระดมมวลชนในช่วง 14 ตุลา

ประการที่สี่ คือ ความเชื่อชุดนี้ที่พวกเขาใช้อธิบายการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลัง 14 ตุลา มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การก่อตัวขึ้นของสมัชชาคนจน เสื้อเหลือง-เสื้อแดง และสะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาผ่านการต่อสู้ทางการเมืองไม่รู้กี่ครั้ง ผลัดกันแพ้ชนะ และพวกเขาไม่มีหวังต่อการเปลี่ยนแปลง ยอมที่จะอยู่กับระบบแบบนี้ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากเย็นในสายตาของทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายในปัจจุบันที่เป็นคนเดือนตุลา ซึ่งเขาอาจฝากความหวังไว้กับคนรุ่นนี้แทน หรือเขาอาจคิดว่ามันก็คงจะไม่เกิดขึ้นแล้วในช่วงชีวิตของเขา

แม้อาจเป็นการด่วนสรุปเกินไป แต่มีสิ่งนี้ที่เป็นภาพความแตกต่างของคนรุ่นโบว์ขาวและสงครามเย็น คือ เด็กยุคโบว์ขาวเขาไม่สนใจเรื่องการปลุกปั่น แทรกแซงจากองค์กรระดับโลก ต่างจากคนยุคสงครามเย็นที่เชื่อว่า ขบวนการนักศึกษายังคงโดนแทรกแซงจากพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจ แต่สำหรับคนรุ่นนี้ เขาไม่เหลือความเชื่อเหล่านี้เลย ซึ่งอาจถูกมองว่า พวกเขาตามการเมืองโลกน้อยไป เขาเพิกเฉย ถูกหลอก แต่หากถามพวกเขา ในฐานะการมาเข้าร่วมอย่างปัจเจก เขาไม่มีเรื่องเหล่านี้อยู่ใความคิดเลย เพราะพัฒนาการในความเป็นปัจเจก ความเป็นตัวตน ที่เราอาจมองเป็นแง่ลบว่า อาจทำให้พวกเขาไม่สนใจสังคมบ้าง แต่พวกเขาได้พัฒนาความเป็นตัวตนของเขา และเชื่อว่า ตัวพวกเขาเองเป็น “พลังในการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งโครงสร้างขนาดใหญ่ โดยที่ไม่สนใจการแทรกแซงของภาวะผู้นำหรือกลุ่มอะไรก็ตาม และที่สำคัญ คือ คนรุ่นนี้เชื่อในเรื่องของ “การเปลี่ยนแปลง” ว่า พวกเขาจะเป็นคนเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้น เด็กหลายคนกล่าวว่า พวกเขาจะไม่ยอมอยู่ในประเทศที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว

 

 

เมื่อเรามาถึงทางแพร่งของความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า เราจะทำอย่างไรที่เราจะไปไกลกว่าวิธีการแบบเดิม ทำให้ดิฉันกลับมาพูดคุยกับคนเดือนตุลาอีกครั้งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้าย ดิฉันอยากที่เข้าใจเรียนรู้ว่า พวกเขาคิดอย่างไรต่อคนรุ่นใหม่ เพราะภาพที่ดิฉันเห็นจากการอยู่ร่วมกันในสังคมตอนนี้คือ

1. พวกเขาไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นคนยุคสงครามเย็น หรือคนยุคโบว์ขาว พวกเขาก่อร่างสร้างความเป็นตัวตนของพวกเขาขึ้นมาผ่านการต่อสู้ ผ่านความเจ็บปวด พวกเขาไม่เปลี่ยน อย่างเช่น การพูดคุยกับพ่อของตนเอง จนกระทั่งพ่อของดิฉันเองบอกว่า “หยุดเถอะ หยุดพูดถึงเรื่องชาตินิยมที่เขาเชื่อ มันไม่มีประโยชน์อะไร.. ขอให้เขาได้เชื่อแบบนี้ของเขาเถอะ” ทำให้เห็นว่าเขาไม่เปลี่ยน

2. เราทำให้เขาเปลี่ยนไม่ได้ แม้จะใช้วิธีอย่างการข่มขู่ คุกคาม หรือแม้กระทั่งไล่พวกเขาออกนอกประเทศ ก็ไม่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิด มันเดินทางมาถึงจุดที่เราจะต้องคิดจริง ๆ ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ซึ่งเราหลีกหนีไม่ได้แล้ว และถึงเวลาที่จะต้องคิดว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

3. คนทั้งสองกลุ่มนี้ มีบทบาทในการสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงเท่า ๆ กัน ในขณะที่คนรุ่นใหม่เป็นเจ้าของอนาคต เขามีจินตนาการ ภาพที่คิดมากมายว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ในขณะที่รุ่นลุง ๆ ป้า ๆ น้า ๆ กำลังเป็นผู้กุมอำนาจอยู่ในสภา ในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ในคณะรัฐมนตรี ในกองทัพ อย่างไรการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเกิดขึ้นจากพวกเขา  ไม่มีทางที่ขบวนการนักศึกษาจะยึดกุมสถาบันต่าง ๆ แล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้  แต่ทำอย่างไรที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ สร้างสถาบัน หรือการมีระบบใหม่ที่สามารถสับเปลี่ยนกันเข้าไปมีอำนาจได้ รวมถึงการก้าวข้ามกำแพงที่เชื่อว่า เรามีทรัพยากรอย่างจำกัด การเข้ามามีส่วนร่วมของทุกคน การทำให้ทุกคนพอใจเป็นไปไม่ได้ แต่มันต้องเป็นไปได้สิคะ  นี่คือโจทย์ที่โลกทั้งโลกกำลังตั้งคำถามอยู่ มันมีนวัตกรรมมากมายที่จะสามารถขึ้นมาได้ ถ้าคนทั้งสองกลุ่มนั้นยอมรับว่า มันคือทางแพร่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้เป็นเรื่องยาก ไม่ง่าย แต่เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกหนีมันไปได้อีกแล้ว

 

ที่มา: เรียบเรียงจากคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 6 หัวข้อ "จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ: ชาติ ความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563