ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ใครคือคนดีมีค่า: ข้อคิดเรื่องความดี

18
มกราคม
2564

อาตมารู้จักกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อท่านมีอายุมากแล้ว พบแต่ละครั้งก็รู้สึกว่า ท่านเป็นคนดี  ตรงจุดนี้ขอให้ผู้อ่านหยุดอ่าน แล้วถามตัวเองว่าเข้าใจความหมายของประโยคนี้หรือเปล่า เพราะผู้เขียนสงสัยว่า หลายคนอาจจะไม่ข้าใจ เพราะสิ่งที่เรามักจะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดบ่อย ๆ คือ สิ่งง่าย ๆ ที่เราเชื่อว่ารู้แล้ว เช่น ความดี เป็นต้น

คำว่า ดี นั้นเป็นคำที่เราใช้กันเป็นประจำทุกวัน แต่เป็นอีกคำหนึ่งที่ดูเผิน ๆ เหมือนจะมีความหมายชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาอีกที อาจจะต้องยอมรับว่าลึกซึ้งกว่าที่คิด  ณ ที่นี้ อาตมาจึงขอทำความเข้าใจเรื่องความดีในทางพระพุทธศาสนาบ้างเล็กน้อย เพื่อเป็นธรรมทานแก่ผู้อ่านทั้งหลาย โดยขออุทิศส่วนกุศลอันใดที่เกิดขึ้นจากการให้ข้อคิดครั้งนี้แก่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ขอให้ท่านมีแต่ความสุขความเจริญในความดีทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ

ถึงแม้ว่าทุกลัทธิ ทุกศาสนา กล่าวถึงความดีกันทั้งนั้น เราไม่ควรสรุปว่า ทุกลัทธิ ทุกศาสนากล่าวถึงสิ่งเดียวกัน เพราะความเข้าใจในความหมายของคำว่าดีไม่ค่อยจะเหมือนกัน ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าความดีย่อมสัมพันธ์กับสิ่งที่ดีที่สุดอยู่เสมอ  ความดี คือ สิ่งที่เอื้อต่อหรือสอดคล้องกับสิ่งสูงสุด ในเมื่อสิ่งสูงสุดของแต่ละศาสนาไม่เหมือนกัน ก็เป็นเรื่องธรรมดาว่าความดีต่าง ๆ ก็ย่อมไม่เหมือนกัน

ในทางพุทธธรรม เราถือว่าความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง คือ สิ่งสูงสุดที่มนุษย์เข้าถึงได้ และควรจะพยายามเข้าถึง  ความดีของเราจึงหมายถึงการกระทำด้วยกาย วาจา และใจ ซึ่งเอื้อต่อการดับทุกข์ เพื่อประโยชน์และความสุขของสรรพสัตว์ทั้งหลาย  ความดีจึงเป็นชื่อรวมของคุณธรรมต่าง ๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสทั้งหลาย และที่ถึงพร้อมใน ศีล สมาธิ และปัญญาอันสมบูรณ์

เมื่อพระพุทธศาสนานั้นเน้นการกระทำความดี จึงมีข้อสังเกตหลายประการ เช่น เราจะดี เราต้องเรียนรู้ธรรมชาติของความไม่ดี เพื่อความฉลาดในการป้องกันและแก้ไขสิ่งที่ขัดขวางและคอยบ่อนทำลายความดี

เราต้องอยู่ด้วยความไม่ประมาท เพราะความดีของปุถุชนไม่แน่นอน ถ้าไม่ระวังเมื่อไรความดีอาจถูกความไม่ดีครอบงำได้ ความดีข้อหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว นิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องเพียรทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชีวิตในด้านที่สูงขึ้น

จากที่กล่าวมาแล้ว เราอาจจะเห็นได้ว่า ความดีในพระพุทธศาสนามีความหมายที่จำเพาะและชัดเจน เพราะความจริงของธรรมชาติเป็นที่ตั้ง ความดีในพระพุทธศาสนามีเอกลักษณ์ตรงที่ว่า เรามองคุณธรรมภายในกรอบของการพัฒนาชีวิตไปสู่ความหลุดพ้น คุณธรรมแต่ละข้อมีบทบาทในระบบการฝึกปรือ หรือระบบการศึกษาของพระพุทธองค์ และมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกับข้ออื่นในลักษณะที่ธรรมชาติกำหนดให้ เช่น ในกรณีของความเป็นคู่ระหว่างความสันโดษและความขยัน คุณธรรมทุกข้อล้วนแต่เป็นส่วนประกอบของระบบองค์รวม เราจะแยกดูทีละข้ออย่างโดดเดี่ยวไม่ได้

เพราะฉะนั้น การที่คุณธรรมบางข้อมีชื่อเดียวกันกับคุณธรรมในศาสนาอื่น ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องเดียวกันเสมอไป เราอาจจะเปรียบเทียบคุณธรรมในศาสนาต่าง ๆ เหมือนน้ำมันก็ได้ เช่น น้ำมันมะกอกกับน้ำมันดิบ ทั้งสองมีชื่อว่าน้ำมันเหมือนกัน แต่ลักษณะอาการและประโยชน์ในการใช้สอยต่างกันมาก

ในทางพุทธธรรม ผู้ทำความดีต้องรู้เท่าทันความดีว่า สักแต่ว่าของธรรมชาติเท่านั้น จึงจะไม่เป็นทุกข์เพราะความดี ยกตัวอย่างพระพุทธเจ้าสอนว่า ผู้ที่ซื่อสัตย์แล้วยึดมั่นถือมั่นในความซื่อสัตย์นั้นว่าเป็นตนหรือของตน แล้วยกตนข่มท่าน เพราะเหตุแห่งความซื่อสัตย์นั้น นับว่าเป็นพาล ใครถือว่าความดีในตนทำให้สูงกว่าคนอื่น นับว่าไม่ฉลาดในเรื่องความดี

ข้อสำคัญ คือ การนั้นที่การชำระเจตนา และการใช้ปัญญา เพราะความดีต่าง ๆ จะดีจริง ๆ ต่อเมื่อเกิดจากความเข้าใจในหน้าที่ขีดจำกัดและจุดประสงค์ของมัน เครื่องชี้วัดความดีอยู่ที่ผลต่อความรู้สึก และการกระทำ เช่น ในเรื่องความรู้สึกละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป ความไม่วุ่นวายใจ ไม่เบียดเบียนตนหรือผู้อื่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ในเมื่อความดีต่าง ๆ ต้องมีปัญญาคอยกำกับอยู่เสมอ การฝึกสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นและดับไปในจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ถ้าขาดการดูด้านในอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ความดีในความหมายของพระพุทธศาสนาจะเจริญงอกงามไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจเรื่องความดีในหมู่ชาวพุทธยังมีความสับสนอยู่บ้าง คุณธรรมมีหลายข้อ เราแต่ละคนคงมีไม่ครบ ในการมองความขาดตกบกพร่อง คำวิจารณ์ที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ คือ คนนั้นเป็นคนดี แต่ไม่ฉลาด ไม่ทันเขา หรือดีแต่ไม่เก่ง การคิดอย่างนี้น่าสนใจ และน่าพิจารณา เพราะเป็นคำพูดที่มีกลิ่นไอของมิจฉาทิฏฐิ

อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกในประเทศไทยมีมาก ตัวอย่างบางประการเช่น ความนิยมในการแต่งตัวเห็นได้ชัด แต่แนวความคิด คุณค่าต่าง ๆ มีมากหลายข้อที่ได้ซึมเข้ามาโดยที่คนส่วนมากไม่ค่อยจะรู้สึกตัว ที่น่าเป็นห่วง คือ แนวความคิดที่ไม่สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ ผิดหลักธรรม แต่กลายเป็นหลักชีวิตของผู้ที่ถือว่าตัวเองเป็นพุทธ ความขัดแย้งนี้อยู่ได้นาน เพราะความเชื่อบางอย่าง เช่น เชื่อว่าฝรั่งเก่ง รู้ดีกว่าเรา ความอ่อนแอจึงเกิดขึ้นทั้งในระดับศรัทธาในพระศรีรัตนตรัย และที่สำคัญในภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้เป็นประสบการณ์ตรงว่าอะไรเป็นอะไร

ความเข้าใจในเรื่องความดี และความสัมพันธ์ระหว่างความดีและความฉลาดหรือความเก่งเป็นข้อหนึ่งที่ชาวพุทธมองผ่านแนวความคิดของตะวันตกมานานแล้ว

ในประวัติศาสตร์ของตะวันตก วิทยาศาสตร์เคยต้องสู้กับศาสนาเป็นเวลานาน เพราะหัวใจของศาสนาตะวันตก คือ ศรัทธา  สิ่งใดที่คุกคามความมั่นคงของศรัทธา ศาสนาจึงต้องระแวงและรังเกียจเป็นธรรมดา สู้กันไปสู้กันมา ไม่มีฝ่ายใดได้ชัยชนะเด็ดขาด ต้องคอยประนีประนอมกัน ในที่สุดศาสนาและวิทยาศาสตร์แบ่งเขตแดนกัน

การใช้เหตุผล ความคิดวิเคราะห์ ฯลฯ ถือว่าเป็นเรื่องภายนอก เป็นเรื่องการอยู่ในโลก ส่วนความเชื่อถือต่าง ๆ ซึ่งอาจจะต้องงดเว้นจากการใช้เหตุผล และการวิเคราะห์บ้าง นับเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องภายใน เป็นเรื่องของศาสนา เมื่อศาสนาลดบทบาททางสังคมให้น้อยลง ความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีเริ่มทวีขึ้น

เมื่อมีการแยกระหว่างความดี และความฉลาด เริ่มมีการมองว่า คนดีขาดความฉลาดบางประการ โดยเฉพาะความรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของคนที่ฉลาดแต่ไม่ดี แนวความคิดนี้เข้ากับหลักศาสนาที่ถือศรัทธาเป็นใหญ่อยู่แล้ว เพราะศาสนาเหล่านี้สอนเรื่องบาปเดิมของมนุษย์ ซึ่งทำให้เข้าใจว่า ความไม่ดีมีความลึกซึ้งและเที่ยงแท้กว่าความดี ตอนหลังทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เช่น Darwin และ Freud เสริมความคิดอย่างนี้ให้หนักแน่นขึ้น Darwin ให้มองว่า ชีวิตจริง คือ การแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด Freud ให้เชื่อว่า ความดีเป็นแค่ม่านสวยงามที่ปกปิดความจริง คือ ความต้องการทางเพศ

แนวความคิดดังกล่าว ชาวพุทธส่วนใหญ่คงบอกว่าไม่เชื่อ ไม่ใช่ แต่สิ่งที่น่าเสียใจ ก็คือ ทุกวันนี้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยทีเดียวมองโลกผ่านความคิดและค่านิยมที่ตั้งไว้บนฐานแห่งมุมมองมนุษย์ และโลกที่ตนบอกว่าไม่เชื่อเหล่านี้ เรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร ตอบว่าเป็นไปได้ เพราะการมองด้านใน การเรียนรู้หลักความจริงของชีวิตจากประสบการณ์ตรง คือการปฏิบัติธรรมไม่ค่อยมี

ผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงใจน่าจะตระหนักได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นศาสนาที่สอนเรื่องการพัฒนาชีวิตป็นระบบองค์รวม ซึ่งเรียกว่า อริยมรรคมีองค์แปด เราไม่เคยกลัวปัญญาหรืการวิเคราะห์ด้วยเหตุผล ตรงกันข้ามเราถือว่าปัญญาเป็นคุณธรรมสูงสุด ศรัทธาเป็นเพียงส่วนประกอบของการศึกษาที่ต้องกำกับด้วยปัญญาอยู่เสมอ

ความดีแปลจากภาษาบาลีว่ากุศล รากศัพท์ของคำว่ากุศล คือ ความฉลาด กุศลจึงมีความหมายทั้งในแง่ของความดี และในแง่ความฉลาด  พุทธธรรมสอนว่า ดีแต่ไม่ฉลาด คือ ไม่ดีจริง หรือขาดความดีฝ่ายปัญญาในการพัฒนาชีวิตในระดับไตรสิกขา สมาธิ คือ การอบรมสิ่งดีงามทั้งหลาย ปัญญา คือ การดูความจริง สองข้อนี้ต้องไปด้วยกันอยู่เสมอ เพราะสมาธิที่ขาดปัญญามักจะไม่ทนทาน ปัญญาที่ขาดสมาธิมักจะไม่ลึก

ในเมื่อศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่เน้นศรัทธา แต่เน้นปัญญาและการพัฒนาชีวิตอย่างเป็นระบบองค์รวม เราไม่ควรยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาแห่งศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นการวิจารณ์ศาสนาของเราด้วย (ทั้ง ๆ ที่ผู้วิจารณ์มักจะใช้คำว่า ศาสนาทั้งหลายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยทึกทักว่าทุกศาสนาเหมือนกัน)  การที่นักวิชาการของเราไม่ชี้แจงในเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดที่ทำให้เกิดผลร้ายหลายประการ เช่น ทำให้พุทธศาสนาถูกมองว่าอาจจะนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมต่อศาสนาอื่น ทั้ง ๆ ที่ความเป็นมิตรต่อศาสนาอื่นเป็นจุดเด่นและเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจอย่างยิ่งของพระพุทธศาสนา ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาต่างกันมากกับประวัติศาสตร์ของศาสนาที่เน้นศรัทธาทั้งหลาย และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวต่างชาติหันมานับถือพระพุทธศาสนา แต่เรื่องเหล่านี้กลับถูกมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิง

จริงอยู่ ความฉลาดเฉพาะเรื่อง เฉพาะวิชา อาจจะต้องใช้แต่ความดีบางข้อ เช่น ความอดทน ความขยัน โดยไม่ต้องดีหรือฉลาดในด้านอื่น ๆ ของชีวิต คนประสบความสำเร็จทางโลก ทั้ง ๆ ที่เป็นสามีที่ไม่ดี เป็นพ่อหรือแม่ที่ไม่ดี หรือสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้คนอื่นบ่อย ๆ มีมาก  เมื่อเรามองคนประเภทนี้ เราควรจะพิจารณาว่า อะไรคือความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิต  ผู้ที่ตอบว่าเงินทอง ทรัพย์สมบัติ อำนาจ ชื่อเสียง กามสุข อาจจะตกลงว่า คนเราเอาคุณธรรมเฉพาะข้อที่เกี่ยวกับความก้าวหน้าในอาชีพก็เพียงพอแล้ว แต่ในสายตาของชาวพุทธ นั่นคือ ความคิดที่คับแคบและมืดบอด ถึงแม้ว่าบางคนเอาความรวยเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เขาเก่งและฉลาดจริง แต่สิ่งที่เขาไม่กล้าดู คือ คุณภาพของจิตใจตัวเอง และสิ่งที่เขาไม่กล้าพิจารณา คือ กฎแห่งกรรม

ความฉลาดคืออะไร ถ้าเราถือหลักว่า ความฉลาดอยู่ที่ความสามารถในการตอบปัญหาอย่างถูกต้อง ดีงาม และมีประสิทธิภาพ  คำถามต่อไปคืออะไร คือ คำตอบต่อปัญหาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย  อะไรคือคำตอบต่อปัญหาการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร

ถ้ากฎแห่กรรมมีจริง ถ้าการเวียนว่ายตายเกิดมีจริง คนฉลาดน่าจะต้องดำเนินชีวิตในทางที่จะได้รับประโยชน์จากความจริงนั้นให้มากที่สุด และประโยชน์นั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าไม่เกิดจากการฝึกตนให้ทำกรรมชั่วให้น้อยที่สุด ทำกรรมดีให้มากที่สุด คือพูดง่าย ๆ ปฏิบัติตนให้เป็นคนดี

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเกิดที่จิต รู้ที่จิต เสวยที่จิต ถ้าเราละเลยในการศึกษา และฝึกอบรมจิตแล้ว จะนับว่าฉลาดในเรื่องของชีวิตได้อย่างไร

สรุปว่า สำหรับพุทธมามกะ ความดีและความฉลาดย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะความสุขที่แท้จริงในระยะยาวอยู่ที่การศึกษาความจริงของชีวิต และทำหน้าที่ต่าง ๆ ในทางที่ลืมหูลืมตาต่อความจริง ไม่ใช่มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ในระยะสั้นด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่คอยบั่นทอนคุณงามความดีภายในและความสุขที่สูงกว่าในระยะยาว

เมืองไทยต้องการความเก่ง ต้องการคนเก่ง แต่น่าจะยกย่องความเก่งภายในกรอบความฉลาดและความดีที่กว้างขวาง และลึกซึ้ง ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นได้บรรลุ และทรงเปิดเผยให้เป็นแนวทางดำเนินชีวิตที่เลิศที่ประเสริฐให้แก่คนทั้งปวง

 

ที่มา: บทความ “ธรรมาลัย” ของชยสาโรภิกขุ (ตุลาคม 2551) ใน หวนอาลัย (2551), น. 249-255.

 

โปรโมชั่นเดือนมกราคม ชุดหนังสือ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข จากราคาเต็ม 1,150 บาท ลดเหลือ 999 บาท (จัดส่งฟรีทั่วประเทศ) ประกอบไปด้วย

โปรโมชั่นเดือนมกราคม ชุดหนังสือ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข จากราคาเต็ม 1,150 บาท ลดเหลือ 999 บาท (จัดส่งฟรีทั่วประเทศ)

1. เสื้อยืด “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” มูลค่า 350 บาท

2. หนังสือ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์” มูลค่า 300 บาท

3. หนังสือ “หวนอาลัยพูนศุข พนมยงค์” มูลค่า 500 บาท

สั่งซื้อได้ทาง https://shop.pridi.or.th/th