ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “คุ้มขุนแผน” ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

20
กรกฎาคม
2568

Focus

  • กำพล จำปาพันธ์ เสนอว่า “คุ้มขุนแผน” ไม่ใช่เรือนไทยโบราณยุคอยุธยาหรือบ้านของขุนแผนตามที่เข้าใจกันผิด หากแต่เป็นบ้านพักของ ปรีดี พนมยงค์ และ ท่านผู้หญิงพูนศุข ที่สร้างขึ้นในปี 2483 โดยปรีดีเองเป็นผู้ตั้งชื่อ “คุ้มขุนแผน” ที่อ้างอิงจากวรรณคดีขุนช้างขุนแผน กำพลตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยใช้งานของ ส. พลายน้อย ซึ่งเป็นพยานร่วมสมัย มีประสบการณ์ตรงกับพื้นที่ และใช้วิธีเทียบเคียงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อหักล้างข้อมูลราชการและงานวิชาการที่ผลิตซ้ำความเข้าใจผิดว่าเรือนไทยหลังนี้ถูกย้ายมาจากจวนเก่าของ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ บทความนี้จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการใช้หลักฐานปฐมภูมิและการกล้ายอมรับความคลาดเคลื่อนในทางประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา

 


คุ้มขุนแผน
ภาพถ่ายโดย กำพล จำปาพันธ์

 

(๑) บทนำและปัญหา

ในอุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา มีสถานที่โดดเด่นแปลกตากว่าใครเพื่อน พบเห็นได้เพียงแห่งเดียวในพื้นที่อุทยานฯ คือ “คุ้มขุนแผน” เพราะเป็นอาคารไม้เรือนไทยเพียงแห่งเดียวในจำนวนโบราณสถานที่มีอยู่มากมายในพื้นที่ดังกล่าว คุ้มขุนแผนถือเป็นอนุสรณ์ที่แสดงรูปแบบอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของคหบดีและหรือชาวบ้านสามัญชนที่พอมีอันจะกิน (ไพร่มั่งมี) นอกนั้นที่เหลือเป็นซากอิฐปูน ส่วนใหญ่เป็นประเภท “วัด” หรือไม่ก็ “วัง” ที่ประทับของชนชั้นสูงและสถานที่ประกอบกิจกรรมทางการเมืองและศาสนา โดยที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวิหารพระมงคลบพิตรและปางช้าง (เพนียดใน) มีทางเดินข้ามผ่านบึงน้ำสวยงามและร่มรื่น

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนทำงานสอนหนังสืออยู่ที่อยุธยา ได้แวะเวียนเยี่ยมชมและพักผ่อนอยู่ที่นี่บ่อยครั้ง เพราะนอกจากตัวเรือนไม้ที่โดดเด่นแล้ว สถานที่โดยรอบโดยเฉพาะบึงบัวหน้าอาคารคุ้มนี้เป็นสถานที่งดงาม มีศาลากลางน้ำ จากศาลานี้จะวิวโดยรอบสวยมาก เห็นวัดพระราม วัดเกษ วิหารพระมงคลบพิตร และปางช้าง (เพนียดใน) อีกมุมหนึ่ง ยิ่งสำหรับท่านที่รักการถ่ายภาพ บริเวณนี้นับเป็นจุดที่ไม่ควรพลาดอีกแห่งหนึ่งในบรรดาอีกหลายสถานที่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

 


บริเวณโดยรอบคุ้มขุนแผน
ภาพถ่ายโดย กำพล จำปาพันธ์

 

ผู้เขียนยังเคยได้ยินได้ฟังบรรดาไกด์นำเที่ยวหลายคน บอกเล่าประวัติที่มาของคุ้มแห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ละครั้งชวนให้รู้สึกหงุดหงิด เพราะไกด์ที่ไม่ค้นคว้าข้อมูลมาดีพอ มักจะบอกแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศว่า เป็นอาคารมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา บ้างว่าเป็นอาคารไม้หลังเดียวที่รอดพ้นจากการถูกพม่าเผาเมื่อครั้งมาตีกรุงจนกรุงแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ บ้างก็บอกว่าเป็นบ้านของขุนแผนจริงๆ

เมื่อมีจังหวะ ผู้เขียนเป็นต้องกระซิบบอกเบาๆ ว่า ไม่ใช่ คุณท่านกำลังบอกข้อมูลผิดอยู่นะ เพราะที่จริงคุ้มขุนแผนนี้ไม่ใช่อาคารไม้ที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรี เป็นอาคารที่เพิ่งปลูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ การไม่ใช่ของที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีฯ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความสำคัญ ตรงข้ามเลย เพราะนี่คือสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญอย่างรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และครอบครัว

 


ครอบครัวปรีดี-พูนศุข

 

เดิมเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่พักระหว่างกลับบ้านเดิมที่อยุธยาของปรีดี พนมยงค์ และครอบครัว ถ้าจะพูดตามศัพท์ราชการปัจจุบันก็ต้องบอกคือ “บ้านหลวง” (ของปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุข) นั่นแหละ แต่ความทรงจำตรงนี้ในหมู่ผู้คนสาธารณะเกิดพร่าเลือน ไม่มีแม้แต่ป้ายเล่าเรื่องอยู่ในสถานที่ รูปที่ติดไว้ภายในห้องกลับเป็นรูปขุนแผน (วาดตามจินตนาการ) กับพระบรมฉายาลักษณ์พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งถึงแม้พระองค์จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานที่ เพราะตัวสถานที่ยังไม่มีในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ได้ แต่ก็ควรมีรูปหรือการนำเสนอประวัติเรื่องราวของบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วย

 


ภาพถ่ายโดย กำพล จำปาพันธ์

 

เมื่อเป็นดังนั้น จะโทษไกด์ของเราก็ไม่ได้ และยิ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลวิชาการที่นำเสนอโดยหน่วยงานเกี่ยวข้อง ก็ยิ่งรู้สึกว่าจะต้องให้อภัยบรรดาไกด์ของเรามากขึ้นไปอีก บางท่าน (โดยเฉพาะที่จบจากคณะที่มีที่เดียวของประเทศไทย) ยังมักจะแสดงท่าทีมั่นๆ โต้เถียงย้อนคืนก็มี ทั้งนี้โดยอ้างว่าครูบาอาจารย์ของเขาก็สอนมาแบบนี้ สอนมาจริงหรือไม่อาจรู้ได้ แต่ทว่าเมื่อพลิกเปิดดูหนังสือของอาจารย์ของเขาบางเล่มก็พบว่าถ่ายทอดไว้แบบนั้นจริง ก็ยิ่งต้องให้อภัยน้องเขาไปมากขึ้นอีก แต่สิ่งที่ครูอาจารย์นักวิชาการสอนหรือเขียนไว้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงเสมอไป ถึงได้มีภาษิตตักเตือนกันไว้ว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” สำคัญคือพลาดแล้วรู้ตัวและแก้ไข ก็ไม่เป็นไรหรอก...

 

(๒) “คุ้มขุนแผน” กับข้อมูลวิชาการที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ถึงแม้ว่าข้อมูลวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะนำเสนออยู่ว่าคุ้มขุนแผนเป็นบ้านหลวงของปรีดี แต่ก็มีอะไรแปลกๆ แปร่งๆ เช่น ในคู่มือ “นำชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ (ซึ่งใช้กันมาจนปัจจุบัน) ได้กล่าวถึงประวัติที่มาของคุ้มขุนแผนอย่างสั้นๆ ดังนี้:

“หมู่เรือนไทยที่เรียกว่าคุ้มขุนแผนนี้ แต่เดิมเป็นจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ที่พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2437 ที่เกาะลอย บริเวณสะพานเกลือ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล ต่อมา ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ย้ายจวนหลังนี้มาสร้างในบริเวณคุกนครบาลเก่าของพระนครศรีอยุธยา ในราว พ.ศ. 2483 พร้อมทั้งสร้างบ้านไทยเพิ่มขึ้นอีก และให้ชื่อว่าเรือนไทยนี้ว่า “คุ้มขุนแผน” เพราะเชื่อว่าขุนแผนเคยติดคุกในบริเวณนี้”[1]

ข้อมูลที่ผู้เขียนบอกว่า “แปลกๆ แปร่งๆ” นั้น ก็คือข้อมูลที่ว่า คุ้มขุนแผนนี้ปรีดีได้ย้ายมาจากจวนของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ อดีตสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ที่เคยตั้งอยู่เกาะลอย เป็นไปได้อย่างไร เพราะถึงแม้ว่าใน พ.ศ. ๒๔๘๓ นั้นปรีดี พนมยงค์ จะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในคณะรัฐบาลคณะราษฎรนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (สมัยที่หนึ่ง) แต่ไม่ได้มีอำนาจถึงกับจะสั่งการให้ย้ายเอาจวนที่ว่าการเดิมของใครมาสร้างเป็นบ้านพักของตนเองได้แบบนั้น หากจะสร้างบ้านพักซักหลังหนึ่งทำไมจำเพาะจะต้องไปรื้อเอาเรือนของผู้อื่นมาแบบนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของจวนดังกล่าวนี้ยังถูกแทนที่ด้วยวิทยาลัยต่อเรือมาตั้งนานนมแล้วไปอีก  วิทยาลัยต่อเรือที่เกาะลอย อยุธยา นี้มีประวัติที่มาเกี่ยวข้องกับยุคสมัยอยุธยาหลัง ๒๔๗๕ เช่นกัน แต่ไว้จะเขียนเล่าในที่อื่นต่อไป  ในที่นี้ขอมุ่งเฉพาะเรื่องคุ้มขุนแผนเป็นหลักก่อน

อีกประเด็นคือ ก็น่าสงสัยไหมว่า จำเพาะทำไมบุคคลผู้ได้ชื่อเป็นสุภาพบุรุษคนกรุงเก่าท่านหนึ่ง ถึงได้ทำอะไรแบบนั้น (แบบไปรื้อเอาจวนที่พำนักของบุคคลสำคัญท่านอื่นมาทำบ้านพักของตน) ให้เกิดข้อครหา รวมความแล้วก็คือเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่าจะเคยเกิดขึ้นจริง บทความนี้จะพาไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร

บางท่านอาจจะบอก แต่ลำพังหนังสือคู่มือท่องเที่ยวก็แบบนี้ ไม่ใช่งานศึกษาทางวิชาการ จะเอาสาระความจริงอะไร ทว่าเมื่อไปพลิกเปิดดูงานเขียนของนักวิชาการโบราณคดีและหรือผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร ก็กลับพบการนำเสนอข้อมูลแบบเดียวกันนี้ ตัวอย่างเช่น เล่มหนึ่งที่กล่าวถึงประวัติคุ้มขุนแผนเอาไว้ดังนี้: 

“ราวปี พ.ศ. 2483 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู้ระบบประชาธิปไตย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคนหนึ่งของคณะราษฎร์ซึ่งเป็นชาวอยุธยา ได้ทำการย้ายจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยาของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์สิริพัฒน์ ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2437 จากวัดสะพานเกลือบริเวณเกาะลอย ตรงข้ามที่ว่าการมณฑล มาสร้างขึ้นในบริเวณคุกนครบาลเก่า และให้ชื่อบ้านทรงไทยกลุ่มนี้ว่า “คุ้มขุนแผน” โดยตัวของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็มักจะมาพักอยู่เสมอๆ ระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ที่กลับมาจังหวัดอยุธยา”[2]

เรื่องนี้ติดตรึงแน่นอยู่ในความทรงจำของผู้เขียน เพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๕๘ ผู้เขียนเสนอต้นฉบับหนังสือเล่มสำคัญในชีวิตการทำงานวิชาการของผู้เขียนคือเล่มเรื่อง “อยุธยา: จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก” เดิมทีเสนอให้หลายสำนักพิมพ์ แต่ไม่มีที่ไหนรับพิมพ์ มีที่เดียวรับพิมพ์คือ สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส บรรณาธิการและเจ้าของคือ คุณธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์ จริงๆ ก็เป็นเรื่องตลกอย่างหนึ่งในชีวิต เพราะหนังสือที่เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วเป็นเล่มขายดีแบบตีพิมพ์ซ้ำต่อเนื่องติดๆ กันหลายปี กลับเป็นเล่มที่ถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์อื่นๆ แต่บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส กลับมีสายตาเฉียบแหลมว่าเล็งเห็นการณ์ว่าเล่มนี้เมื่อพิมพ์ออกไปแล้วจะปัง ซึ่งก็ปังจริงๆ การันตีด้วยยอดขายพิมพ์ซ้ำหลายรอบเกลี้ยงสต็อกเท่าทุกวันนี้ ใครมีฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่งถือว่าเป็น “เซียนหนังสืออยุธยา” ท่านหนึ่งไปแล้ว

แต่กว่าจะพิมพ์ออกมาได้ก็แก้แล้วแก้อีกหลายตลบ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสำนวนภาษา แต่มีที่หนึ่งคือเรื่องคุ้มขุนแผนนี่แหละ ผู้เขียนตอนนั้นก็อ้างอิงงานของนักโบราณคดีและระบุข้อมูลไปตามข้างต้น ดีที่คุณธวัชชัย ผู้มีสายตาเฉียบแหลม ไม่พลาด ได้ส่งบทความชิ้นหนึ่งมาให้ผู้เขียนได้อ่าน เป็นบทความขนาดสั้นเขียนโดย ส. พลายน้อย (นามปากกาของสมบัติ พลายน้อย) ผู้ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่ผู้เขียนเองก็เคารพนับถือเป็นอาจารย์ทางการเขียนท่านหนึ่ง

แล้วก็ให้คิดแค้นตัวเองว่า อุตส่าห์เป็น FC ติดตามอ่านผลงานเขียนของอาจารย์ ส. พลายน้อย มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ทำไมงานชิ้นสำคัญแบบนั้นถึงหลุดรอดสายตาไปได้ โชคดีที่คุณธวัชชัยช่วยไว้ได้ทัน เมื่อได้อ่านบทความชิ้นนั้นแล้ว ผู้เขียนก็ไม่รอช้า แก้ไขข้อมูลนั้นให้ถูกต้องทันที เรื่องก็เลยไม่หลุดรอดไปยังผู้อ่านให้ทำความว้าวุ่นใจภายหลัง ต้องขอบคุณคุณธวัชชัยไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างสูง และก็เป็นอีกครั้งที่ต้องขอรำลึกถึงอาจารย์ ส. พลายน้อย ผู้ล่วงลับ 

 

(๓) ข้อมูลต่างจากนักเขียนผู้เป็น “ปราชญ์สามัญชนคนกรุงเก่า” นาม “ส. พลายน้อย”

 


ส. พลายน้อย

 

ส. พลายน้อย นักเขียนผู้ได้ชื่อเป็น “ปราชญ์สามัญชนคนกรุงเก่า” เป็นชาวอยุธยา เกิดและเติบโตมาจากเรือนแพที่อยุธยา มีผลงานเขียนเล่าเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้านสามัญชนในอยุธยาและภาคกลางเอาไว้มากมายจนนับไม่หวาดไม่ไหว ได้เคยมีบทความเล็กๆ ชิ้นหนึ่งซึ่งเขียนเกี่ยวกับ “คุ้มขุนแผน” ตีพิมพ์ไว้ในวารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ขออนุญาตนำเอามาลงไว้ทั้งหมดในที่นี้ เพราะมีขนาดไม่ยาวเท่าไรนัก ส. พลายน้อย ได้นำเสนอข้อมูลต่างเกี่ยวกับ “คุ้มขุนแผน” เอาไว้ดังความต่อไปนี้:

“ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ในเรื่อง “ขอดเกร็ดพงศาวดาร” ว่าในปัจจุบันมีบางท่านตีความเกี่ยวกับโบราณสถานในอยุธยาผิดไปจากความจริง เนื่องจากไม่ใช่คนพื้นที่ ไม่รู้เรื่องเดิมจึงสันนิษฐานไขว้เขวไปบ้าง

บัดนี้เรื่องน่าสงสัยเกิดขึ้นอีกแล้ว

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2550 อาจารย์ท่านหนึ่งส่งหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามาให้เล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่ท่านผู้เขียนได้ตรวจสอบค้นคว้าเขียนไว้ นับว่ามีประโยชน์มาก แต่มีที่สะดุดใจอยู่เรื่องหนึ่งคือเรื่อง “คุ้มขุนแผน” ที่ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

“ราวปี พ.ศ. 2483…ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคนหนึ่งของคณะราษฎร์ซึ่งเป็นชาวอยุธยา ได้ทำการย้ายจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยาของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์สิริพัฒน์ ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2437 จากวัดสะพานเกลือบริเวณเกาะลอย ตรงข้ามที่ว่าการมณฑล มาสร้างขึ้นในบริเวณคุกนครบาลเก่า และให้ชื่อบ้านทรงไทยกลุ่มนี้ว่า คุ้มขุนแผน”

โดยที่ผมเกิดในเรือที่จอดอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับจวนสมุหเทศาภิบาลหรือที่เรียกกันว่า “ตำหนักสะพานเกลือ (เมื่อ พ.ศ. 2472) และตลอดวัยหนุ่มได้พายเรือผ่านตำหนักนี้นับครั้งไม่ถ้วน ครั้งยังเรียนหนังสือที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2488-89 เพื่อนร่วมชั้นก็ได้มาอาศัยร่มไม้ชายคาที่ตำหนักนี้กับบิดาของเขาซึ่งเป็นข้าราชการย้ายมาจากต่างจังหวัด

ฉะนั้นที่กล่าวว่าท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ย้ายจวนสมุหเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. 2483 จึงคลาดเคลื่อน และเท่าที่ทราบตำหนักสะพานเกลือเพิ่งมารื้อภายหลัง พ.ศ. 2500 เพื่อขยายโรงเรียนช่างต่อเรือ

อีกประการหนึ่งที่กล่าวว่าจวนเทศาภิบาลอยู่ตรงข้ามที่ว่าการมณฑลนั้น ก็ไม่ถูกต้องทีเดียวนัก เพราะที่ว่าการมณฑลอยู่ในพระราชวังจันทรเกษมซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป ถ้าจะว่าอยู่ตรงข้ามกับสถานีตำรวจก็ฟังได้ เพราะแต่ก่อนสถานีตำรวจหรือที่เรียกกันว่าโรงพักนั้นอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้าม

เมื่อครั้งผมเป็นเด็ก บ้านพักข้าราชการปลูกเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ด้านตะวันตกคือฝั่งเกาะเมือง ตั้งแต่โรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศไปจนถึงตอนใต้พระราชวังจันทรเกษม มีทั้งบ้านพักสรรพากร อัยการ สัสดี ผู้พิพากษา ข้าหลวงประจำจังหวัด นายและพลตำรวจ บ้านเรือนทุกหลังทาสีเทารวมทั้งตำหนักสะพานเกลือด้วย ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือจะมีสะพานท่าน้ำทาสีขาวทุกแห่ง ซึ่งจะหาดูได้จากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสต้น

ความจริงเรื่องคลาดเคลื่อนดังกล่าว ผมเคยได้รับทราบมานานแล้ว เพราะมีผู้ส่งเอกสารของกรมที่ดูแลโบราณสถานของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาให้ดู เป็นประวัติของ “คุ้มขุนแผน” โดยเฉพาะ ขณะที่เขียนนี้หาไม่พบ แต่จำเนื้อหาได้ว่าทางราชการได้รื้อเรือนทรงไทยของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกาะลอยมาสร้างคุ้มขุนแผนเช่นเดียวกัน และดูเหมือนจะออกชื่อผู้ว่าราชการผู้นั้นด้วยว่าชื่อหลวงบริหารชนบท (ในครั้งนั้นยังเรียกตำแหน่งว่าข้าหลวงประจำจังหวัด)

ผมจำหลวงบริหารชนบทได้ ครั้งเป็นนักเรียนเคยถูกใช้ให้ถือหนังสือราชการไปส่งที่บ้านพักของท่านที่อยู่ในเกาะเมืองนั้นเอง แต่จำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน เพราะนานกว่า 60 ปีมาแล้ว จำได้แต่ว่าเป็นเรือนทรงไทยปลูกใหม่ บางทีผู้เขียนหนังสือดังกล่าวอาจเข้าใจผิดว่าตำหนักสะพานเกลือคงจะเป็นเรือนทรงไทยและเป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการก็เป็นได้ จึงได้กล่าวเช่นนั้น

ผมไม่มีเจตนาจะตำหนิอะไร แต่เห็นว่าถ้าเรามาช่วยกันตรวจสอบหาหลักฐานความถูกต้อง ก็จะดีกว่าปล่อยให้ผ่านไปอย่างผิดๆ”[3]

 

(๔) การผลิตซ้ำ “ข้อมูลผิด” ยังคงกระทำสืบมา

ส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่ออาจารย์ ส. พลายน้อย ไม่ใช่เพราะเป็นผลงานของอาจารย์ท่าน หากแต่เพราะโดยส่วนตัวก็รู้สึกมาตลอดว่า ข้อมูลที่ว่าคุ้มขุนแผนเกิดจากปรีดี พนมยงค์ สั่งให้ไปรื้อเอาจวนสมุหเทศาภิบาลกรุงเก่า มาสร้างเรือนที่พักของตนนี้ มันช่างเป็นข้อมูลที่น่าสงสัยเสียจริงๆ เพราะเป็นการกล่าวอ้างกันมาอย่างลอยๆ ไม่มีหลักฐานอ้างอิง แต่มีความน่าเชื่อถืออยู่หน่อยก็ตรงที่เป็นการกล่าวอ้างโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับอยุธยานี่แหล่ะ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีงานของอาจารย์ ส. พลายน้อย ออกมาโต้แย้งไว้อย่างนั้นแล้วก็ตามที เหล่าผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีกรุงศรีฯ ต่างก็ยังคงผลิตซ้ำข้อมูลวิชาการที่คลาดเคลื่อนนั้นกันต่อไป มีเพียงผู้เขียนที่ปรับแก้ข้อมูลดังกล่าว ในปีเดียวกับที่อาจารย์ ส. พลายน้อย เขียนและตีพิมพ์เรื่องนี้ (เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑) นั้นเอง ก็ปรากฏว่า กรมศิลปากรได้ออกหนังสือเล่มโตเล่มสำคัญหนึ่งซึ่งกลายเป็นเล่มมาตรฐานสำหรับผู้สนใจใคร่รู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสถานที่สำคัญในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาออกมาคือเล่มเรื่อง "โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา" มี ๒ เล่มจบ เรื่องคุ้มขุนแผนเล่าไว้ในหัวข้อเรื่อง “วัดเกษและคุ้มขุนแผน” ของเล่ม ๑ ก็ยังคงกล่าวถึงประวัติคุ้มขุนแผนด้วยชุดข้อมูลเดียวกับที่เคยเผยแพร่ผ่านหน่วยงานเกี่ยวข้องก่อนหน้านี้เหมือนกันเป๊ะราวกับ copy-paste กันมา เช่นที่มีข้อความกล่าวไว้ว่า:

“เมื่อแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย ราชธานีโยกย้ายไปตั้งในที่แห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ อยุธยาก็ถูกทอดทิ้งให้รกร้างเป็นป่าชัฏไปสิ้นทั้งเกาะ ตราบจนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2483 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาสู้ระบบประชาธิปไตย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคนหนึ่งของคณะราษฎร์ซึ่งเป็นชาวอยุธยา ได้ทำการย้ายจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยาของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์สิริพัฒน์ ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2437 จากวัดสะพานเกลือบริเวณเกาะลอย ตรงข้ามที่ว่าการมณฑล มาสร้างขึ้นในบริเวณคุกนครบาลเก่า และให้ชื่อบ้านทรงไทยกลุ่มนี้ว่า “คุ้มขุนแผน” โดยตัวของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็มักจะมาพักอยู่เสมอๆ ระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ที่กลับมาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา”[4]

อนึ่ง ที่เล่ม “โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม ๑” ได้เพิ่มเติมข้อมูลไปกว่าที่เคยมี ก็มีอยู่บ้าง เช่นที่ได้มีการอ้างอิงวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งมีเนื้อความบางตอนกล่าวถึงการติดคุกนครบาลของขุนแผน เป็นเค้าเรื่องที่นำมาสู่การตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า “คุ้มขุนแผน” แต่ก็เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว และผู้ที่ตั้งชื่อที่นี่ว่า “คุ้มขุนแผน” ก็คือ ปรีดี พนมยงค์ ด้วยเหตุผลอิงวรรณคดีขุนช้างขุนแผนนั่นแหละ สะท้อนว่าปรีดีชื่นชอบและรู้จักวรรณคดีเรื่องนี้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นที่ที่ขุนแผนมาติดคุก แต่ไม่รังเกียจที่เอามาตั้งเป็นชื่อบ้านพักของตนเอง  กลับเห็นเป็นเรื่องดีที่ได้รักษาชื่อในวรรณคดีไปอีก

การนำเสนอข้อมูลวิชาการที่ผิด ยังอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง เพราะเมื่อมีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียแล้ว ข้อมูลวิชาการที่ไม่ได้รับการตรวจสอบนี้ก็ยังคงเป็นที่เชื่อถือและผลิตซ้ำกันต่อไป ดังจะเห็นได้จาก ๓ กรณี คือ ในเว็บไซต์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เว็บไซต์การท่องเที่ยวประเทศไทย (ททท.) และจากกรณีสารานุกรมเสรี (Wikipedia)

เว็บไซต์ทางการของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงประวัติคุ้มขุนแผนเอาไว้ว่า: 

“คุ้มขุนแผน ตั้งอยู่ที่ถนนป่าโทนเป็นตัวอย่างของหมู่เรือนไทยภาคกลางในรูปแบบเรือนคหบดีไทยสมัยโบราณ เดิมเป็นจวนสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2437 ที่เกาะลอยบริเวณสะพานเกลือซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑลต่อมาในราวปี พ.ศ. 2483 ปรีดี พนมยงค์ นายรัฐบุรุษอาวุโส ได้ย้ายจวนหลังนี้มาสร้างในบริเวณคุกนครบาลเก่าของพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งสร้างเรือนไทยเพิ่มขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2499 และให้ชื่อเรือนไทยนี้ว่าคุ้มขุนแผน ซึ่งเชื่อกันว่าขุนแผนเคยต้องโทษอยู่ในคุกแห่งนี้”[5]

เว็บไซต์การท่องเที่ยวประเทศไทย (ททท.) ระบุไว้ดังนี้:

“คุ้มขุนแผน ตั้งอยู่ที่ถนนป่าโทน ในตัวเมืองอยุธยาใกล้กับวัดมงคลบพิตร สร้างขึ้นเพื่ออนุรักษ์บ้านของขุนนางในสมัยก่อนไว้ให้ชนรุ่นหลังได้มาศึกษาสถาปัตยกรรมแบบโบราณ กล่าวคือเป็นตัวอย่างของหมู่เรือนไทยภาคกลาง ในรูปแบบเรือนคหบดีไทย เดิมเรือนแห่งนี้เป็นจวนสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2437 ที่เกาะลอยบริเวณสะพานเกลือซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2483 นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสได้ย้ายจวนหลังนี้มาสร้างในบริเวณคุกนครบาลเก่าของพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งสร้างเรือนไทยเพิ่มขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2499 และให้ชื่อเรือนไทยนี้ว่า คุ้มขุนแผน ซึ่งเชื่อกันว่าขุนแผนเคยต้องโทษอยู่ในคุกแห่งนี้คุ้มขุนแผนเป็นหมู่บ้านเรือนไทยหมู่แบบโบราณ ตัวหมู่เรือนไทยนั้นอยู่กลางเกาะทางด้านใต้วิหารพระมงคลบพิตร หันหน้าสู่ถนนศรีสรรเพชญ์ และถนนป่าตอง ในตำบลประตูชัย มีหลังคาจั่วยอดแหลม สูงชันขึ้นไปช่วยระบายความร้อน ตัวคุ้มประกอบด้วยเรือนหลายหลัง เรียกว่า "หอ" โดยมีหอกลางเป็นประธานอยู่ตรงกลาง โอบด้วยหอนั่งหรือหอหน้า คือเรือนเล็กที่อยู่ด้านหน้า ต่อมาคือหอซ้ายอยู่ทางทิศเหนือ หอขวา อยู่ทางทิศใต้ และหอใหญ่ อยู่ด้านทิศตะวันตก แต่ละหอมีหน้าที่แตกต่างกันการเดินทางมายังคุ้มขุนแผนแห่งนี้ หากมาจากกรุงเทพมหานคร เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วให้ข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปเรื่อยๆ จนถึงศาลากลางจังหวัดหลังเดิม ก็จะเห็นสามแยก แล้วเลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนักจะเห็นคุ้มขุนแผนอยู่ทางซ้ายมือ คุ้มขุนแผนนี้ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น.หากใครได้มาเที่ยวชมกรุงเก่าอย่างอยุธยาและหลงใหลในอารยธรรมโบราณแล้วล่ะก็ คุ้มขุนแผนเป็นอีกที่หนึ่งที่ช่วยให้ซึมซับบรรยากาศของคนโบราณ จินตนาการความเป็นอยู่ของคนไทยในอดีตได้ง่ายขึ้น และรูปแบบบ้านไทยโบราณแบบนี้นับวันจะหมดไป หาดูได้ยากยิ่ง”[6]

สารานุกรมเสรี (Wikipedia) ระบุถึงคุ้มขุนแผนไว้สั้นๆ ในเนื้อหาหลักที่กล่าวถึง “คุกหลวงนครบาล” ดังนี้:

“คุกหลวงนครบาล เป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองและนักโทษร้ายแรงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังใช้เป็นสถานที่ในการพิพากษาคดี โดยเฉพาะการดำน้ำและลุยไฟพิสูจน์ความสัตย์ซื่อของคู่กรณีด้วย ต่อมาปี พ.ศ. 2483 ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำของคณะราษฎรซึ่งเป็นชาวอยุธยา ได้ทำการย้ายจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา มาสร้างขึ้นในบริเวณคุกหลวงนครบาลเก่าแห่งนี้ ใช้ชื่อบ้านทรงไทยนี้ว่า คุ้มขุนแผน”[7]

ไม่แปลกใจเลยที่หากไกด์นำเที่ยวหรือใครก็ตาม อยากรู้ประวัติที่มาของคุ้มขุนแผนแล้วไปเสิร์ชอินเทอร์เน็ต ข้อมูลที่หาได้ง่ายเพียงคลิกเลื่อนนิ้วมือในมือถือ ก็จะขึ้นข้อมูลเหล่านี้มาให้ และก็ดูจะเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถืออยู่เสียด้วย เพราะมาจากแหล่งที่เป็นหน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง และแม้แต่หากไปค้นคว้าจากหนังสือตั้งแต่คู่มือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ไปจนถึงงานวิชาการบางเล่ม ก็อาจได้ข้อมูลไม่ต่างจากเสิร์ชอินเทอร์เน็ต เพราะอันที่จริงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็นำมาจากหนังสือที่เล่าข้อมูลมาอย่างคลาดเคลื่อนอีกต่อหนึ่งนั่นเอง 

 

(๕) “ขุนแผนแสนสะท้าน” : วีรบุรุษไพร่สมัยกรุงศรี สู่ “ไอดอล” ของสามัญชนคนกรุงเก่า

 


ภาพ ขุนแผนฟันม่าน ตามหานางวันทอง-ขุนช้าง โดยเหม เวชกร
บนปกหนังสือ The Story Of KHUN CHANG KHUN PHAN Book Two
ที่มา: มูลนิธิ เหม เวชกร

 

แวดวงโบราณคดีไทยสนใจอยุธยากันมาก แต่ก็เป็นอยุธยาแค่ ๔๑๗ ปีนั้น ไม่มีทั้งยุคก่อนและยุคหลังจากนั้น เมื่อไม่ค่อยสนใจค้นคว้าและขุดค้นกันอย่างจริงจัง ก็เป็นธรรมดาที่จะ “ปล่อยไก่ตัวเบอเร่อ” ดังที่เห็นกันอยู่ กรณีนี้เป็นอีกกรณีที่เราต้องเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องศึกษาและให้ความสำคัญแก่ประวัติศาสตร์อยุธยาช่วงหลัง พ.ศ. ๒๓๑๐ ในเมื่อไม่ได้มีแต่ ๔๑๗ ปีนั้นที่สร้างสรรค์ความเป็นอยุธยา ในอยุธยายังมีอีกหลายสิ่งอย่างที่ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก ๔๑๗ ปีนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงในรอบ ๒ ศตวรรษหลังมานี้ก็มาก

โดยตัวพื้นที่ เราทราบกันแน่ชัดว่า เป็นที่ของ “คุกนครบาล” ในอดีตเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่เยื้องสี่แยกที่เรียกกันว่า “แยกตะแลงแกง” สถานที่จับกุมคุมขังตระเวนบกตระเวนน้ำนักโทษของอยุธยา สมัยโน้นการลงโทษผู้กระทำผิด เขานิยมทำในที่แจ้งหรือที่สาธารณะโดยเฉพาะบริเวณสี่แยกกลางเมือง ด้วยเหตุผลว่าจะได้เป็นการประจานมิให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง เมื่อมีการแต่งวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นคนสมัยอยุธยา ทำความผิดฉกาจฉกรรจ์ใช้ม้าสีหมอก ดาบฟ้าฟื้น และกุมารทอง ไปชิงเอาตัวนางพิม (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “นางวันทอง”) ไปจากขุนช้าง ขุนช้างไปกราบทูลพระพันวษา พระพันวษาก็ส่งทหารฝีมือดีออกตามล่าตัว ก็ถูกขุนแผนฆ่าทิ้งไปหมด

กระทั่งเมื่อนางพิมเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา ขุนแผนสงสารเมียกับลูกที่กำลังจะเกิดมา จะต้องลำบาก ขุนแผนก็เลยยอมมอบตัวกับทางการ แม้จะต่อสู้คดีว่าตนเองไม่ผิด ขุนช้างต่างหากที่ผิด ตนรับราชการไปทำสงครามถวายหัว ขุนช้างอยู่ข้างหลังกลับใช้เล่ห์กลหลอกครอบครัวนางพิมว่าขุนแผนเสียชีวิตแล้ว ให้มาแต่งงานใหม่กับตนจะได้ไม่เป็นม่าย แต่ทว่าความผิดที่ขุนแผนไปสังหารทหารของพระราชาก็เป็นความผิดฉกาจอยู่ดี จึงต้องรับโทษ แม้จะไม่ประหารชีวิตแล้ว ก็ยังต้องมาติดคุกนครบาล กว่าจะพ้นโทษก็เมื่อเกิดสงครามกับเชียงใหม่อีก แล้วพระพันวษาไม่มีแม่ทัพที่สามารถ จึงมีผู้กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อยตัวขุนแผนมาทำความชอบชดเชยความผิด ขุนแผนจึงได้เป็นไทแก่ตัว

อนึ่งที่คนยุธยารุ่นปรีดี พนมยงค์ จะชื่อว่าขุนแผนมีตัวตนอยู่จริง ไม่ใช่เพียงตัวละครในวรรณคดีก็ไม่ผิด เพราะเรื่องปรากฏในเอกสารสำคัญอย่าง “คำให้การชาวกรุงเก่า” ขุนแผนอยู่ในฐานะ “วีรบุรุษทางวัฒนธรรม” (Cultural hero) ของคนกรุงเก่าด้วย นอกเหนือจากเรื่องที่ว่าเป็นคนสุพรรณ อีกทั้งยังเชื่อกันด้วยว่า “ขุนแผน” เป็นชื่อตำแหน่งย่อมาจาก “ขุนแผนสท้าน” หรือ “ขุนแผนแสนสะท้าน” ตำแหน่งนี้มีในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน เป็นขุนนางอยุธยา สำหรับหมอผีขมังเวทย์ที่มีบทบาทในพิธีตัดไม้ข่มนามก่อนออกศึก พิธีนี้นิยมทำที่วัดสนามชัย (วัดนี้อยู่เลยวัดไชยวัฒนาราม ที่ออเจ้าชอบไปใส่ชุดไทยถ่ายรูปกันนั่นแหล่ะ)

ไม่เพียงเท่านั้น บริเวณใกล้ชิดติดกับพื้นที่คุ้มขุนแผนทางทิศตะวันออก ยังมีสถานที่ที่มีเรื่องราว (Story) อ้างอิงความสืบเนื่องเกี่ยวข้องกับวรรณคดีขุนช้างขุนแผนคือ “วัดแค” ปัจจุบันวัดนี้ร้างจนเหลือแต่ซากฐาน อยู่ระหว่างริมทางเดินจากปางช้างไปยังร้านค้าร้านขายข้างวิหารพระมงคลบพิตร “วัดแค” เป็นวัดที่ปรากฏชื่อในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน นอกเหนือจาก “วัดเกษ” ที่อยู่ติดกับคุกนครบาลและแยกตะแลงแกง

 


วัดแค (ร้าง)
ภาพถ่ายโดย กำพล จำปาพันธ์

 


วัดเกศ
ภาพถ่ายโดย กำพล จำปาพันธ์

 

นอกจากวัดสนามชัย, วัดแค, วัดเกษ, คุกนครบาล แล้ว อยุธยายังมีสถานที่อ้างอิงจากวรรณคดีขุนช้างขุนแผนอีก แต่โดยมากอยู่ที่บริเวณตอนเหนือของเกาะเมืองอยุธยา เช่น วัดตะไกร, วัดแค (คลองสระบัว), วัดพระยาแมน จนถึง “โพธิ์สามต้น” ก็เป็นชื่อย่านอ้างอิงจากวรรณคดีขุนช้างขุนแผน  เป็นชื่อเรียกมาแต่เดิมตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังจะเห็นได้จากเป็นที่ตั้งของค่ายสุกี้พระนายกอง ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เมื่อยกทัพกลับจากจันทบุรีมาจะเข้าตีเพื่อกอบกู้อิสรภาพ แน่นอนว่าสถานที่หลักที่อ้างอิงวรรณคดีขุนช้างขุนแผนจะอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรีและกาญจนบุรีเก่า (ที่ตำบลลาดหญ้า เชิงเขาชนไก่)[8]

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยสันนิษฐานว่า ชะรอยเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้จะเป็นเรื่องจริงที่เล่ากันมาแต่ครั้งกรุงศรี แต่เล่าพิสดารไปไกลจนเกิดเป็นนิยาย สมัยอยุธยาเคยมีขุนแผนแสนสะท้านหลายคน แล้วแต่ว่าสมัยไหนใครมาได้รับตำแหน่งนี้ แล้วก็มีขุนแผนท่านหนึ่งเป็นคนดีมีฝีมือและมีเรื่องราวเป็นที่เลื่องลือระบือนาม คือขุนแผนคนที่ไปลักพาเมียมาจากขุนช้าง เกิดเป็นความเมืองใหญ่โต ขุนแผนแสนสะท้านผู้นี้เป็น “วีรบุรุษของไพร่” อย่างไม่ต้องสงสัย เป็นไพร่ที่ได้รับความไม่เป็นธรรมแล้วลุกขึ้นสู้ โดยที่ทางการแม้ขุนนางใหญ่เจ้ากรมช้างอย่างขุนช้างจนถึงพระเจ้าแผ่นดินยังไม่อาจจัดการได้ 

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน ที่บุคคลอย่างปรีดี พนมยงค์ หรือคณะราษฎรท่านอื่นๆ ในสมัยนั้น จะรู้จักและระลึกถึง “วีรบุรุษไพร่” ในอดีต ซึ่งเป็นขวัญใจชาวประชาจนกระทั่งเกิดเป็นเสภาขับร้องกันทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างขุนแผน และเมื่อจะตั้งชื่อสถานที่บ้านพักที่เดียวกับที่อดีตวีรบุรุษของไพร่สามัญชนเคยมาติดคุก ก็จึงนำเอาชื่อวีรบุรุษไพร่ผู้นี้มาตั้งเป็นชื่อสถานที่ด้วย 

เช่นเดียวกับที่สมัยคณะราษฎรก็เคยมีการรื้อฟื้นบทบาทของกษัตริย์ที่มีพื้นเพมาจากสามัญชนอย่างเช่นสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นหนึ่งในประติมากรรมทั้ง ๖ ซึ่งสะท้อนหลัก ๖ ประการ อันเป็นนโยบายและอุดมการณ์ของคณะราษฎร ปรากฏอยู่ที่หน้าตึกศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่า  โดยประวัติการสร้างอาคารศาลากลางหลังเก่านี้ก็เกี่ยวข้องกับปรีดี พนมยงค์ อีกเช่นกัน[9] และ พ.ศ. ๒๔๘๓ ช่วงเดียวกับที่สร้างคุ้มขุนแผนนี้ก็เป็นช่วงเดียวกับที่ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังดำเนินนโยบายปรับปรุงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาใหม่หลังการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ อยู่ด้วย

 

(๖) บทสรุปและส่งท้าย

การที่สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า “คุ้มขุนแผน” นับว่าเป็นการรักษาชื่อในวรรณคดีและความรู้ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี แต่แม้เราจะรับรู้กันว่าที่นี่แท้จริงแล้วเป็น “บ้านหลวง” ที่ปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้หญิงพูนศุข และครอบครัว เคยมาพำนัก ชื่อ “คุ้มขุนแผน” ก็ยังเป็นชื่อที่สง่าและมีความเหมาะสมลงตัวกับพื้นที่ที่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อย่างน้อยตัวปรีดีเองก็เป็นผู้ให้กำเนิดชื่อนี้ เป็นชื่อที่สะท้อนการคิดตกผลึกมาเป็นอย่างดีว่าจะสามารถสื่อความสำคัญของสถานที่ได้เพียงใด จึงควรเป็นชื่อที่ต้องรักษาสืบไป  แต่ทั้งนี้ก็อย่างที่บอก เราจำเป็นต้องรู้ข้อเท็จจริงด้วยว่า สถานที่นี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องในวรรณคดีโดยตรง เป็นสถานที่สำคัญที่เป็นอนุสรณ์เกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้หญิงพูนศุข และครอบครัว อีกแห่งหนึ่ง

เมื่อปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ และถึงแม้จะพยายามเข้ามามีบทบาทอีกในเหตุการณ์กบฏวังหลวง พ.ศ. ๒๔๙๒ แต่ไม่ประสบความสำเร็จและต้องลี้ภัยเป็นการถาวรจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมที่กรุงปารีส เมื่อพ.ศ.๒๕๒๖ คุ้มขุนแผนอดีตบ้านพักของปรีดีแห่งนี้ก็เหมือนจะหลุดลอยออกจากความเกี่ยวข้องกับปรีดีและครอบครัวไปโดยปริยาย แต่ก็ไม่เคยได้ว่างเว้นผู้คนมาเยือน

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ ได้มีนโยบายบูรณะปรับปรุงเกาะเมืองอยุธยาเป็นการใหญ่อีกครั้งนับแต่ที่ปรีดีเคยวางรากฐานเอาไว้ในช่วงทศวรรษ ๒๔๘๐ คุ้มขุนแผนก็ใช้เป็นสถานที่ประชุมของคณะกรรมการปรับปรุงเกาะเมือง และในปีเดียวกันนั้นเอง เมื่ออาคารพระที่นั่งเย็นในบึงพระราม บูรณะแบบสร้างใหม่เสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการฯ ก็ได้ที่ประชุมแห่งใหม่ จอมพล ป. จึงได้โอนย้ายคุ้มขุนแผนให้ไปอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร สำหรับเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของอยุธยา

ผู้เขียนเห็นว่างานของอาจารย์ ส. พลายน้อย ที่ให้ข้อมูลต่างในส่วนของประวัติที่มาของ “คุ้มขุนแผน” นี้ เป็นข้อมูลที่เชื่อถือ เมื่อชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือตามหลักเกณฑ์ของระเบียบวิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical method) แล้ว ก็สามารถใช้อ้างอิงทางวิชาการได้ เพราะเป็นข้อมูลที่มีลักษณะชั้นต้น (primary source) บันทึกจากที่ผู้บันทึกมีประสบการณ์ตรงเห็นมาด้วยตาตัวเอง (eyes witness) ไม่ได้บันทึกตามคำบอกเล่า ตามความเชื่อ หรืออ้างตามๆ กันมา

ธรรมชาติของมนุษย์นั้นทำอะไรย่อมมีผิดบ้าง ถูกบ้าง เป็นเรื่องปกติธรรมดา สำคัญที่เมื่อพบว่าตนเองทำผิด คิดผิด เชื่อมาแบบผิดๆ แล้วยอมปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ การที่ผู้เขียนยอมรับว่าเคยเชื่อหรือเขียนผิดในเรื่องนี้มาเหมือนกัน แต่เมื่อยอมแก้ไขแต่โดยดี ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอย่างใด ตรงข้ามหากพบข้อมูลผิดแล้วยังผลิตซ้ำต่อไปด้วยท่าทีมั่นใจเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นั่นแหละจะนำความเสียหายมาให้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นข้อมูลที่ปรักปรำทำให้ผู้อื่นถูกมองไม่ดี ที่ไปรื้อเอาบ้านที่พำนักของผู้อื่นมาเป็นของตน ยิ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควร แค่ไม้แบบที่จะนำมาสร้างคุ้มแบบคุ้มขุนแผนนี้สมัยนั้นหาได้ไม่ยากหรอก ไม่จำเป็นต้องไปรื้อบ้านใครมาเลย เมื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาจะเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ก็ควรเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ตามอคติความเชื่อที่ผลิตซ้ำสืบทอดต่อกันมาแบบนั้น

“ประวัติศาสตร์” เป็นเรื่องแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ เมื่อมีหลักฐานข้อมูลใหม่ๆ ออกมา การยึดติดข้อมูลเดิมซึ่งถูกพิสูจน์หักล้างไปแล้วว่าผิด ไม่ใช่เรื่องที่นักประวัติศาสตร์หรือนักวิชาการสาขาดก็ตามพึงปฏิบัติแต่อย่างใดเลย ตรงข้ามการที่เราไม่ยึดติดและพร้อมแก้ไขจะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชนรุ่นหลังสืบไป...


 


เชิงอรรถ

[1] อเนก สีหามาตย์ (บก.). นำชุมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. (กรุงเทพฯ: ศรีเมืองการพิมพ์, ๒๕๔๖), หน้า ๙๔.

[2] ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์. แกะรอยพงศาวดารราชธานีกรุงศรีอยุธยา. (กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, ๒๕๕๐), หน้า ๑๔๘.

[3] ส. พลายน้อย (สมบัติ พลายน้อย). “คุ้มขุนแผน” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๑ (ออนไลน์) https://www.silpa-mag.com/history/article_9879 (เผยแพร่เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๐).

[4] กรมศิลปากร. โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม ๑. (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, ๒๕๕๑), หน้า ๕๑.

[5] จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. “คุ้มขุนแผน” https://ww2.ayutthaya.go.th/travel/detail/80 (เผยแพร่ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๙).

[6] การท่องเที่ยวประเทศไทย. “สิ่งที่ควรรู้: คุ้มขุนแผน อยุธยา” https://thai.tourismthailand.org/Attraction/คุ้มขุนแผน (สืบค้นเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๘).

[7] สารานุกรมเสรี (Wikipedia). “คุกหลวงนครบาล” https://th.wikipedia.org/wiki/คุกหลวงนครบาล (สืบค้นเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๘).  

[8] ดังจะเห็นได้จากที่เมืองสุพรรณบุรีมีสถานที่สำคัญในเรื่องขุนช้างขุนแผน อาทิ วัดป่าเลย์ไลยก์, วัดแค รวมถึงย่านเมืองอู่ทอง คำเรียกเดิมที่ว่า “จระเข้สามพัน” ก็อิงมาจากขุนช้างขุนแผน ตอนเถรขวาดแปลงกายเป็นจระเข้สามพันตัวหลบหนีพลายชุมพล แต่ไม่รอด ถูกพลายชุมพลจับเอาไปปิ้งย่างเป็นบาบีคิว (ล้อเล่น) ส่วนที่เมืองกาญจนบุรีเก่า ชื่อ “เขาชนไก่” ก็ได้มาจากที่ที่ขุนแผนพนันชนไก่ และมีวัดขุนแผน วัดนางพิม วัดป่าเลย์ไลยก์ ล้วนแต่อ้างอิงขุนช้างขุนแผน จนกาญจนบุรีเก่าได้ชื่อเป็นเมืองในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน เมืองนี้เป็นเมืองกาญจนบุรีมาแต่เดิมก่อนที่จะย้ายมาที่ตั้งปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ ๓

[9] อ่านเรื่องประติมากรรมดังกล่าวนี้และการสร้างตึกศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า) เมื่อพ.ศ.๒๔๘๓ ใน กำพล จำปาพันธ์. ““ศาลากลางอยุธยาหลังเก่า” :  ตึกคณะราษฎร สัญลักษณ์หลัก 6 ประการของการอภิวัฒน์ 2475” https://pridi.or.th/th/content/2025/06/2514 (เผยแพร่เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๘).