Focus
- เนื่องด้วยวาระชาตกาล นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร ลููกศิษย์นายปรีดี พนมยงค์ที่นายปรีดี ได้บันทึกความทรงจำ โดยในเหตุการณ์การอภิวัฒน์สยามนายปราโมทย์มีบทบาทในฐานะบุคคลที่จับกุมผู้มีอำนาจเก่า ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และต่อจากนี้นายปราโมทย์ พึ่งสุนทรเป็นบุคคลที่ยืนหยัดข้างผู้เป็นอาจารย์ตราบจนวาระสุดท้าย

ปราโมทย์ พึ่งสุนทร
1. ปราโมทย์ฯ ร่วมการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

ข้าพเจ้ารู้จักปราโมทย์ฯ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2475 ขณะที่ปราโมทย์ฯ เป็นนักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้สอนคนหนึ่งแห่งโรงเรียนนั้น
ปราโมทย์ ฯ เป็นนักเรียนกฎหมายคนหนึ่งในบรรดานักเรียนกฎหมายอีกหลายคนที่ได้สมัครเป็นสมาชิกคณะราษฎรอุทิศตนเพื่อเปลี่ยนการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย
ปราโมทย์ฯ สังกัดสายงานส่วนที่นายสงวน ตุลารักษ์ เนติบัณฑิตกับนายซิม วีระไวทยะ เนติบัณฑิตเป็นหัวหน้า
ปราโมทย์ฯ ได้ปฏิบัติตามวินัยของคณะฯ อย่างเคร่งครัด ด้วยความเสียสละและกล้าหาญ ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ปราโมทย์ฯ ได้ปฏิบัติการตามคําสั่งของคณะฯ ที่กําหนดให้สมาชิกพลเรือนในคณะร่วมกับสมาชิกที่เป็นนายทหารจํานวนหนึ่งไปคุมบ้านบุคคลสําคัญแห่งระบบเก่า เพื่อมิให้บุคคลสําคัญนั้น ๆ ออกมาจากบ้านซึ่งอาจจะใช้กําลังต่อต้านคณะราษฎร เมื่อคณะราษฎรได้ยึดพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อตั้งเป็นกองบัญชาการของคณะฯ เสร็จแล้วปราโมทย์ ฯ กับสมาชิกคณะราษฎรคนอื่น ๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตอนเช้าเสร็จแล้ว ก็ได้ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อช่วยงานธุรการของคณะฯ และปฏิบัติการอื่น ๆ ตามคําสั่งของกองบัญชาการในระหว่างเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น คณะราษฎรได้ตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารขึ้น 3 นาย ประกอบด้วย
1) นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า
2) นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช
3) นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์
คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ ณ สวนไกลกังวล หัวหิน ขออัญเชิญกลับสู่พระนครเพื่อทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน อนึ่งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้สั่งนายนาวาตรีหลวงศุภชลาศัยนำเรือหลวงสุโขทัยไปยังหัวหิน เพื่อกราบบังคมทูลให้เสด็จพระราชดําเนินกลับมาพระนครโดยเรือหลวงลํานั้น
ครั้นถึงวันที่ 25 มิถุนายน คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้รับโทรเลขนายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย มีความดังต่อไปนี้
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พร้อมด้วยกรมพระกําแพงเพ็ชรอัครโยธิน จะเสด็จกลับจากหัวหินโดยทางรถไฟไม่มีกองทหารติดตาม”
ดังนั้นหัวหน้าคณะราษฎรจึงสั่งให้กระทรวงการเจ้าหน้าที่ ถวายความสะดวกทุกประการ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณีฯ ได้เสด็จจากหัวหินกลับกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟพิเศษวันที่ 25 มิถุนายน เวลา 19.45 น. เสด็จลงที่สถานีรถไฟจิตรลดาวันที่ 26 มิถุนายน เวลา 00.37 น. แล้วเสด็จตรงไปประทับที่วังสุโขทัย แล้วมีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย เวลา 11.00 น. ของวันที่ 26 มิถุนายนนั้น
หัวหน้าคณะราษฎรได้แต่งตั้งผู้แทนจํานวน 7 คน ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตามพระราชกระแส
ผู้แทนคณะราษฎร ได้ถวายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวกับพระราชกําหนดนิรโทษกรรมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินพุทธศักราช 2475 ซึ่งคณะราษฎรเป็นผู้ร่างขึ้นนั้นเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชกําหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินพุทธศักราช 2475 ณ บัดนั้น ส่วนพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวทรงรับไว้พิจารณา 1 วัน ครั้นแล้วได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ฉะนั้น พระราชกําหนดนิรโทษกรรมฉบับนั้นและพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวจึงเป็นบทกฎหมายที่ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น พระองค์ยังทรงดํารงฐานะเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งทรงมีพระอํานาจลงพระปรมาภิไธยในบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโอง การอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินได้โดยลําพังพระองค์เอง คือ ไม่ต้องการมีสนองพระบรมราชโองการโดยรัฐมนตรีหรือบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งโดยถูกต้องตามกฎหมาย ให้มีอํานาจเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จึงต่างกับรัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองแผ่นดินหลายฉบับที่เป็นโมฆะ

2. ปราโมทย์ฯ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และพฤฒิสมาชิก

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วง 10 ปีแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ที่มาของภาพ: พิพิธภัณฑ์รัฐสภา
โดยที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2475 จะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 9 ธันวาคม 2480 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ชุดใหม่ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียง โดยวิธีแบ่งเขต คือ ราษฎรแต่ละเขตเลือกผู้แทนราษฎรได้เพียง 1 คน ผู้แทนราษฎรชุดนี้มีจํานวน 91 คนมากกว่าชุดก่อน 13 คน
ดังนั้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2480 ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จึงได้มีการประชุมกันเลือกผู้สมควรเป็นสมาชิกประเภทที่ 2 อีก 13 คน เพื่อให้สมาชิกประเภทที่ 2 มีจํานวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ตามรัฐธรรม นูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มาตรา 65 ปราโมทย์ฯ เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกฯ ประเภทที่ 2 ครั้งนั้น
ผู้ที่ศึกษาสิ่งพิมพ์ต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อสะดวกในการสอบไล่ได้และศึกษาจากคําบอกเล่าของบุคคลที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อคณะราษฎรใส่ความว่า สมาชิกสภาผู้ แทนราษฎรประเภทที่ 2 สนับสนุนรัฐบาลอย่างหลับหูหลับตานั้นก็อาจเข้าใจผิดว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ทุกคนได้ยกมือลงคะแนนให้รัฐบาลอย่างหลับหูหลับตาโดยไม่มีการคัดค้าน แต่ผู้ที่ศึกษาหลักฐานการปฏิบัติของสภาผู้แทนราษฎรจากรายงานการประชุมสภา และเอกสารหลักฐานแท้จริงนั้นก็ย่อมทราบความจริงว่า สมาชิกสภาประเภทที่ 2 ส่วนข้างมากได้มีจิตสํานึกในหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรโดยถือประโยชน์ของมวลราษฎรเป็นใหญ่เหนือส่วนตนและของคณะพวกพ้อง ดังปรากฏหลายครั้งที่สมาชิกประเภทที่ 2 ส่วนข้างมากได้ร่วมกันกับสมาชิกประเภทที่ 1 ทําการคัดค้านรัฐบาลอันเป็นเหตุให้รัฐบาลแพ้คะแนนเสียงส่วนข้างมากในสภาและรัฐบาลต้องลาออก อาทิ
เมื่อ พ.ศ. 2475 รัฐบาล (พหลพลพยุหเสนา) ได้ลงนามในสัญญากำหนดโควต้ายางพารากับนานาประเทศ เพื่อความมุ่งหมายที่จะให้ผู้ทําสวนยางได้รับประโยชน์และให้ยางราคาดีขึ้น ครั้นแล้วรัฐบาลได้เสนอสัญญาดังกล่าวเพื่อขออนุมัติจากสภาในการที่จะให้สัตยาบันสัญญานั้น สภาฯ ได้ประชุมพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน - 13 กันยายน ปีนั้น ในที่สุดสมาชิกประเภทที่ 2 ส่วนมากได้ร่วมกับสมาชิกประเภทที่ 1 ลงมติไม่อนุมัติให้รัฐบาลทําสัตยาบันสัญญาฉบับนั้น เพราะเห็นว่าควรทําข้อตกลงใหม่เพื่อให้ผู้ทําสวนยางได้ประโยชน์มากขึ้นอีก รัฐบาลจึงต้องลาออกตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ
ใน พ.ศ. 2487 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น รัฐบาล (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ได้ประกาศพระราชกําหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ เพื่อจะย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบูรณ์ อีกทั้งได้ประกาศพระราชกําหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลเพื่อจัดตั้งบริเวณพระพุทธบาทเป็นพุทธมณฑล เมื่อรัฐบาลได้ประกาศ พระราชกําหนด 2 ฉบับนั้นแล้ว รัฐบาลจึงได้เสนอขออนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวนั้น สมาชิกประเภทที่ 2 ส่วนมากได้ร่วมกับสมาชิกประเภทที่ 1 ลงมติด้วยคะแนนลับไม่อนุมัติพระราชกําหนด 2 ฉบับนั้น รัฐบาล (พิบูลฯ) จึงต้องลาออกจากตําแหน่งตามวิถีทางรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475
เมื่อ พ.ศ. 2488 สมาชิกสภาประเภทที่ 2 ส่วนมากได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม. 2475 เพื่อยกเลิกสมาชิกประเภทที่ 2 และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยมีรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากราษฎร กับพฤฒิสภาซึ่งสมาชิกเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งโดยทาง อ้อมจากองค์การเลือกตั้งของราษฎร คณะกรรมการวิสามัญของสภาฯ ได้พิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสนอสภาฯ สภาฯ เห็นชอบด้วยแล้วจึงได้ทูนเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อทรงพระราชวิจารณาถี่ถ้วนแล้วทั้งกระบวนความ จึงมีพระบรมราชโองการโดยคําแนะนําและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ปราโมทย์ ฯ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒิสภา
ปราโมทย์ฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนราษฎรและพฤฒิสมาชิก ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อมวลราษฎรเหมือนดั่งผู้แทนที่ดีของราษฎรทั้งหลาย
3. ปราโมทย์ฯ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นร.ม.ต.ว่าการกระทรวงมหาดไทย และต่อมาเป็น ร.ม.ต. ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลที่นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายก ร.ม.ต. (กันยายน 2477 - ธันวาคม 2481) นั้น ข้าพเจ้าได้ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนเป็นเลขานุการรัฐมนตรีแห่งตําแหน่งที่ข้าพเจ้าดํารงอยู่นั้น นอกจากนั้นข้าพเจ้าได้ขอให้ปราโมทย์ฯ ช่วยกิจการเสมือนเป็นเลขานุการส่วนตัวของข้าพเจ้า
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2481 ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลซึ่งพันเอกหลวงพิบูลสงคราม (บรรดาศักดิ์ขณะนั้น) เป็นนายก ร.ม.ต. ข้าพเจ้าเห็นว่าปราโมทย์ฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และเคยปฏิบัติหน้าที่เลขานุการส่วนตัวของข้าพเจ้ามาแล้ว ปราโมทย์ฯ จึงทราบวิธีปฏิบัติราชการและวิธีดําเนินการเมืองทางรัฐสภาพอสมควรประกอบด้วยปราโมทย์ฯ แสดงให้ประจักษ์ว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย ข้าพเจ้าจึงได้แต่งตั้งปราโมทย์ฯ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปราโมทย์ฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการแบ่งเบาภาระของข้าพเจ้าได้หลายประการ
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ข้าพเจ้าจึงพ้นจากตําแหน่ง ร.ม.ต.ว่าการกระทรวงการคลัง และปราโมทย์ฯ ก็ต้องพ้นจากตําแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีซึ่งข้าพเจ้าดํารงอยู่นั้นด้วย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ก็ได้แต่งตั้งให้ปราโมทย์ฯ เป็นเลขานุการ ร.ม.ต. คนใหม่ต่อไปด้วย
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487 จอมพล ป.พิบูลสงคราม (ยศและชื่อขณะนั้น) ได้ลาออกจากตําแหน่งนายก ร.ม.ต. เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติพระราชกําหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และพระราชกําหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล
วันที่ 31 กรกฎาคมปีนั้น ประธานคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ (พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ) ทรงลาออกจากตําแหน่ง รุ่งขึ้นวันที่ 1 สิงหาคม สภาผู้แทนราษฎรจึงประชุมลงมติแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว (ประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎรลงวันที่ 1 สิงหาคม 2487) ครั้นแล้วข้าพเจ้าในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงแต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายก ร.ม.ต. กับเป็น ร.ม.ต. ว่าการกระทรวงการคลัง และแต่งตั้งนายเล้ง ศรีสมวงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ข้าพเจ้าได้ตกลงกับนายควงฯ และนายเล้งฯ เป็นการลับถึงการสมควรแต่งตั้งให้ปราโมทย์ฯ ดํารงตําแหน่งผู้ช่วยผู้อํานวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อช่วยเหลือข้าพเจ้าในงานเสรีไทย เพราะองค์การเสรีไทยจําเป็นต้องอาศัยสถานที่และยานพาหนะกับพัสดุหลายอย่างของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นการลับกระทรวงการคลังจึงมีคําสั่งที่ 50548/2487 แต่งตั้งปราโมทย์ฯ ดํารงตําแหน่งดังกล่าวและให้ฟังคําสั่งลับของข้าพเจ้าเกี่ยวกับงานเสรีไทย (ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงการงานของปราโมทย์ฯ ที่ร่วมกับเสรีไทยไว้ในส่วนที่ 3 และ 4 ต่อไป

ภาพถ่ายกับภรรยาและบุตรสาว เมื่อ 1 พ.ค. 20
ภาคผนวก : คำปรารภของนายปรีดี พนมยงค์

คำปรารภของนายปรีดี พนมยงค์
ข้าพเจ้าได้รับทราบด้วยความเสียใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ปราโมทย์พึ่งสุนทร เพื่อนรักที่ซื่อสัตย์ได้วายชนม์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ข้าพเจ้าจึงได้แจ้งไปยังครอบครัวของปราโมทย์ฯ ว่า ข้าพเจ้าขอช่วยพิมพ์หนังสืออนุสรณ์ของปราโมทย์ฯ เพื่อบรรณาการท่านที่เคารพและญาติมิตร
หนังสืออนุสรณ์เล่มนี้ประกอบด้วยข้อความ 2 ตอนคือ
ตอนที่ 1 ประวัติส่วนครอบครัวของปราโมทย์ฯ ซึ่งข้าพเจ้าได้ขอให้โสภณ, ปวีณา, ธํารง บุตรธิดารุ่นบรรลุนิติภาวะแล้วของปราโมทย์ฯ เป็นผู้บันทึก
ตอนที่ 2 บทความบางเรื่องของข้าพเจ้าเกี่ยวกับ 24 มิถุนายน, การประชุม ค.ร.ม. 7-8 ธันวาคม 2484, ความหมายแท้จริงแห่งสาส์นเชอร์ชิลล์, การก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทย, ตอบสัมภาษณ์ “ตะวันใหม่” เรื่องจุดอ่อนของการอภิวัฒน์ไทย 2475 กับเหตุที่ทําให้ระบอบประชาธิปไตยยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจนทุกวันนี้, ตอบสัมภาษณ์ผู้แทนสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพประชาชน เรื่อง การพัฒนาประชาธิปไตยตามปณิธานของคณะราษฎรระหว่างเวลา 14 ปี ที่คณะราษฎรมีหน้าที่บริหารหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน, การที่ประชาธิปไตยถูกดึงให้ถอยหลังเข้าคลองโดยบุคคลและคณะบุคคลอื่น ๆ ตั้งแต่ภายหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490, สมุฏฐานฉ้อราษฎร์บังหลวงกับวิธีแก้ไข, การใช้จิตใจวิทยาศาสตร์วิเคราะห์คําบอกเล่าและข้อเขียน ฯลฯ
โดยที่ปราโมทย์ฯ ได้มีภารกิจรับใช้ชาติและราษฎรไทยในการงานดังกล่าวนั้น ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้กล่าวถึงประวัติของปราโมทย์ฯ ส่วนที่รับใช้ชาติและราษฎรไว้ในบทความนั้นด้วย
ข้าพเจ้าขอเดชะคุณพระศรีรัตนตรัย และอานิสงส์ที่ปราโมทย์ฯ ได้เสียสละเพื่อรับใช้ชาติและราษฎรไทยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตนั้น โปรดดลบันดาลให้ปราโมทย์ฯ สู่สุขคติในสัมปรายภพ พร้อมด้วยเกียรติคุณของปราโมทย์ฯ ปรากฏชั่วกาลนาน เทอญ
ชานกรุงปารีส
1 พฤษภาคม 2525
หมายเหตุ:
- บทความชิ้นนี้กองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น “ปรีดี-ปราโมทย์ฯ เมื่อคราวอภิวัฒน์ 2475: จากบทความบางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์” จากบทความบางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนที่ 1 เกี่ยวกับ 24 มิถุนายน โดยตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525
- อักขระและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
อ้างอิง:
- ปรีดี พนมยงค์, บทความบางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนที่ 1 เกี่ยวกับ 24 มิถุนายน ใน อนุสรณ์ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นักภิวัฒน์, เสรีไทย นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก วันที่ 28 พฤศจิกายน 2525, (ม.ป.ท. : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2525) หน้า 3-9.