อาจกล่าวได้ว่า กบฏเสนาธิการหรือกบฏนายพลนี้ เป็นผลผลิตของการต่อต้านรัฐประหารภายในกองทัพบกเอง ซึ่งสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้มองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้เกิดขึ้นจากปัจจัย 2 ประการ กล่าวคือ ในด้านดุลแห่งอำนาจในกองทัพบกซึ่งการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 มิได้เกิดขึ้นจากนายทหารในประจำการและนอกประจำการอีกด้วย จึงเห็นได้ว่าหลังการยึดอำนาจได้แล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องพยายามหาทางประนีประนอมเพื่อลดกระแสต่อต้านจากนายทหารฝ่ายที่ไม่พอใจ ส่วนปัจจัยอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันของนายทหาร 2 ฝ่าย นั่นคือภายหลังจากที่คณะรัฐประหารได้จี้รัฐบาลนายควงให้ออกจากตำแหน่ง ความรู้สึกไม่พอใจก็มีเพิ่มขึ้นประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว พล.ท. กาจ กาจสงคราม ดำเนินการก้าวก่ายทางการเมือง และใช้อำนาจในการสั่งการทางทหารตามใจชอบจนรัฐมนตรีกลาโหมต้องลาออกจากตำแหน่ง ทั้งมีการใช้องค์การทางทหารเช่น องค์การทหารผ่านศึก และ องค์การจัดซื้อและขายสินค้าไปในทางค้าขาย และมีข่าวพัวพันการทุจริตจึงทำให้นายทหารกลุ่มหนึ่งมีความเห็นต่อต้านการกระทำของทหารฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่า ทหารควรเป็นทหารอาชีพ ควรปฎิบัติภารกิจที่จำเป็นของฝ่ายทหาร และไม่รับตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งค่อนข้างจะสวนทางกับคณะรัฐประหาร ที่เห็นว่าทหารจะต้องมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมือง จะต้องเข้าแก้ไขและนำพาชาติในภาวะวิกฤติ[1]
ด้วยเหตุนี้ ทหารเสนาธิการซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนอก และได้รับการสอนให้เป็นไปในแนวคิดประชาธิปไตยจึงไม่อาจยอมรับได้ที่นายทหารฝ่ายรัฐประหาร เช่น พล.ท. กาจ กาจสงคราม พ.ท. ณรงค์ วรบุตร ออกมาโฆษณาให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และยังเห็นว่าการที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้าไปแทรกแซงทางการเมืองนั้นเป็นความเสื่อมโทรม ดังที่ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต ให้การหลังถูกจับกุมว่า
“ต้องการปรับปรุงกองทัพบอกเพราะเสื่อมโทรม ผู้บังคับบัญชาไม่เอาใจใส่ มัวแต่ไปยุ่งการค้าการเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของทหาร… คิดว่าถ้าปล่อยให้เป็นไป กองทัพบกของประเทศจะอยู่ในสภาพที่น่าอายที่สุด จึงคิดปรับปรุงใหม่”
ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ได้นำมาซึ่งการเตรียมการที่จะก่อรัฐประหารของทหารฝ่ายเสนาธิการที่เข้าชื่อรวมกันกว่า 30 นาย นายทหารคนสำคัญ เช่น พล.ต. เนตร เขมะโยธิน พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต พล.ต. หลวงรณกรรมโกวิท พ.อ. หลวงศรีสิงหสงคราม พ.อ. หลวงจิตโยธี พ.อ. กิตติ ทัตตานนท์ พ.อ. สมบูรณ์ สุนทรเกตุ พ.อ. จรูญ สิทธิเดชะ พ.ท. ไสว ทัตตานนท์ เป็นต้น
แผนการของฝ่ายคณะเสนาธิการทหารนั้น จะลงมือยึดอำนาจในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ซึ่งจะเป็นวันที่มีการฉลองสมรสระหว่าง พล.ต. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ น.ส. วิจิตรา ชลทรัพย์ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่คนสำคัญของคณะรัฐประหารจะมารวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล และจะเป็นการง่ายแก่การจับกุม ตามแผนนี้กำลังจะแบ่งเป็น 3 ส่วน โดยได้กำหนดแผนจับไว้ดังนี้
04.00 น. ของวันที่ 2 ตุลาคม จะยกกำลังทหารราบเข้ายึดสวนพุดตาลโดยให้พ.ต. เจริญ พงศ์พานิชย์ เป็นผู้จับ พล.ต. หลวงสถิตย์ยุทธการ เสธ. กองทัพที่ 1 ที่บ้านพักสวนพุดตาล และเป็นผู้ควบคุมกำลังป้องกันวังสวนกุหลาบ ลำดับต่อไปคือจับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะเดียวกันจะต้องให้พ.ท. พโยม จุลานนท์ เป็นผู้ไปจับ พ.อ. บัญญัติ เทพหัสดิน ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 เพื่อตัดกำลังทหารภายนอก
ส่วนพ.อ. กิตติ ทัตตานนท์ และนายทหารเสนาธิการเข้ายึดกระทรวงกลาโหมเป็น กองบัญชาการการแจกจ่ายอาวุธยุทธภัณฑ์ ซึ่งนายทหารเสนาธิการทั้งหมดอันได้แก่ พล.ต. สมบูรณ์ ศรานุชิต พ.ท. พโยม จุลานนท์ พ.อ. ประจวบ ภูมิพัฒน์ พ.ต. กำธร ไปประชุม พล.ต. หลวงรณกรรมโกวิท เพราะคืนนั้นเป็นงานศพบิดาของพล.ต. หลวงรณกรรมโกวิท จึงเป็นการพรางตามิให้เป็นที่สังเกตของบุคคลอื่น
แต่แผนการทั้งหมดนี้ได้เกิดรั่วไหล โดยมีสายลับของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายของพล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ (ยศขณะนั้น) สืบรู้เสียก่อน ดังนั้นในคืนวันที่ 1 ตุลาคมนั้นเอง ฝ่ายรัฐบาลจึงได้วางแผนจับกุมทันที ซึ่งผู้มีบทบาทในการจับกุมฝ่ายกบฏครั้งนี้คือ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งต้องถอดชุดวิวาห์จากงานแต่งงานมาเข้าจับกุมฝ่ายกบฏ หลังจากที่ตำรวจสันติบาลฝ่ายการเมือง ได้รายงานความเคลื่อนไหวในการประชุมกันแต่ละครั้งให้พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ ได้ทราบ และมีการเรียกประชุมฝ่ายกำลังของคณะรัฐประหารบางส่วนโดยมีพล.ต. ศิริ ศิริโยธิน รองเจ้ากรมการพาหนะทหารบก พ.ต.ต. ทม จิตวิมล พ.ท. ละม้าย อุทยานานนท์ เพื่อวางแผนเข้าดำเนินการปราบปราม ก่อนที่จะถึงกำหนดเวลาก่อการกบฏพล.ต.ต. เผ่า ได้นำกำลังเข้าล้อมกระทรวงกลาโหมพร้อมด้วยพ.ท. ละม้าย อุทยานานนท์ พ.ต.ต. ทม จิตวิมล และ ตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งกำลังหนุนจากกองพันทหารราบที่ 1 ได้นำกำลังบุกเข้าล้อมกระทรวงกลาโหมจนรุ่งสว่าง ตลอดคืนทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันอยู่อย่างนั้น พล.ต.ต. เผ่าได้ส่งเสียงตะโกนบอกให้นายทหารเสนาธิการที่มีอยู่ภายในกระทรวงกลาโหมออกมามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ[2]
แต่ถึงอย่างไร ฝ่ายกบฏก็ไม่ยอม จนกระทั่งในที่สุดพลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้พูดกรอกเสียงลงไปในเครื่องขยายเสียงอีกครั้งขอให้ออกมามอบตัวเสีย โดยยืนยันด้วยเกียรติว่า ฝ่ายรัฐบาลจะไม่ทำร้าย ฝ่ายก่อการกบฏจึงยอมจำนน[3] บุคคลที่เข้ามอบตัวได้แก่ พ.อ. กิตติ ทัตตานนท์ พ.ท. ไสว ทัตตานนท์ และนายทหารเรืออีก 8 คน ส่วนที่หลบหนีไปได้ในคืนนั้น ได้แก่ พล.ต. เนตร เขมะโยธิน พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต พ.ท. พโยม จุลานนท์ แต่สุดท้ายบุคคลเหล่านั้นก็ไม่อาจหนีรอดการจับกุมของพล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ ไปได้ สามารถจับกุมพล.ต. หลวงรณกรรมโกวิทได้ในวันรุ่งขึ้น ส่วนพล.ต. เนตร เขมะโยธินนั้น พล.ต.ต. เผ่าได้เดินทางไปดำเนินการจับกุมด้วยตัวเองที่บ้านของพล.ต.เนตร ในซอยอารีในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2491[4]
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 ฝ่ายตำรวจพยายามสอบให้เชื่อมโยงไปเข้ากับพฤติการณ์แต่หนหลังของกลุ่มส.ส. อีสาน ที่เป็นฝ่ายเดียวกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่คิดจะแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกไปปกครองอิสระ โดยจะตั้งชื่อว่า “สมาพันธรัฐแหลมทอง” โดยพล.ต.ต. เผ่าได้ระบุถึงผู้ให้การสนับสนุนการกบฏครั้งนี้เป็นเงินถึง 10 ล้านบาท คือ นายอรรถกิตติ พนมยงค์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ดังนั้นจึงมีการออกหมายจับกุมนอกเหนือจากพล.ต. เนตร เขมะโยธิน พ.ท. พโยม จุลานนท์ พ.ต. โผน อินทรทัต พ.ต.ต. เชาวน์ คล้ายสัมฤทธิ์ แล้ว นายอรรถกิตติ พนมยงค์ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร และ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็โดนหมายจับในครั้งนี้ด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าในการจับกุมกลุ่มกบฏในครั้งนี้ พล.ท ชิด มั่นศิลป์ หรือ หลวงสินาดโยธารักษ์ ผู้ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ไม่ยอมให้พล.ต.ต. เผ่า ย้ายมาเป็นตำรวจในครั้งแรกก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้ากบฏอีกด้วย และได้ถูกจับกุมตัวมาขังอยู่ระยะหนึ่ง จึงเท่ากับเป็นการแก้แค้นความไม่พอใจส่วนตัวไป[5]
คดีกบฏ 1 ตุลาคม 2491 นี้ ทางคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องราวไปให้ตำรวจทำการสอบสวนดำเนินคดี เมื่อทางตำรวจได้สอบสวนเสร็จสิ้นก็ส่งไปให้พนักงานอัยการประจำกรมพระธรรมนูญดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และได้มีการส่งเรื่องฟ้องร้องต่อศาลในเดือนเมษายน 2492 แม้ว่าฝ่ายจำเลยจะระบุว่าคดีนี้มีอคติกับฝ่ายตน เพราะได้ให้อำนาจเด็ดขาดในการฟ้องร้อง และการพิจารณาคดีแก่รองอธิบดีตำรวจเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นสมาชิกที่มีอำนาจมากผู้หนึ่งในคณะรัฐประหาร โดยอาศัยรองอธิบดีตำรวจผู้นี้คดีจึงถูกพิจารณาเพื่อเป็นข้ออ้างในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามภายในกองทัพบก เนื่องด้วยนายทหารเสนาธิการมีความไม่พอใจคณะรัฐประหาร และเห็นว่าทหารควรที่จะเป็นทหารอาชีพมากกว่าที่จะเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง นอกจากนี้ในการสอบสวนตำรวจยังได้มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวภรรยาของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นวิธีที่จะบีบให้ยอมรับผิด รวมทั้งการตายอย่างลึกลับของนักโทษการเมืองที่อยู่ในอารักขาของตำรวจ จำเลยในคดีนี้ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าพวกตนได้วางแผนจะโค่นรัฐบาลโดยใช้กำลัง เพราะส่วนใหญ่เป็นพวกที่ไม่ได้มีอำนาจในการควบคุมกองทัพบกแต่อย่างใด ในที่สุดคดีนี้สิ้นสุดโดยศาลพิพากษาจำคุกจำเลย 9 คน คนละ 3 ปี ส่วนอีก 13 คน ได้รับการปล่อยตัวไป[6] ในบรรดา 9 คน ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกนั้นเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ 4 คน นายทหารชั้นผู้น้อย 1 คน และเป็นนายทหารนอกราชการถึง 4 คน[7]
หลังจากที่พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม ได้ทำการกวาดล้างพวกกบฏ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 เรียบร้อยไปแล้ว ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันนั้นเอง การกวาดล้างจับกุมกบฏก็ได้เกิดมีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยทางการตำรวจได้จับกุมนายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายสุฌา เมืองโฆษ นางฟอง สิทธิธรรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.อุบลราชธานี ในข้อหาว่าเป็น “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งการจับกุมครั้งนั้นเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะควบคุมบทบาทของกลุ่มอดีตส.ส. กลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นลูกศิษย์ลูกหาของนายปรีดี พนมยงค์ และเคยร่วมงานทั้งในเสรีไทย และร่วมรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยนายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี[8] สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้นำมาสู่กรณีการเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่งที่นายปรีดีเรียกว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กบฏวังหลวง”[9]
หมายเหตุ : ตัดตอน, แก้ไขเล็กน้อย, จัดรูปแบบตัวอักษร โดยบรรณาธิการ
ที่มา : ชิตพล กาญจนกิจ, “การสร้างและรักษาอำนาจทางการเมืองของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์”, (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2539, 175-179, สืบค้นเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2564
[1] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, หน้า 157
[2] จักรวาล ชาญนุวงศ์, ยอดขุนพล, หน้า 40-41
[3] วิเทศน์กรณีย์, เหตุการณ์ทางการเมือง 43 ปี แห่งระบอบประชาธิปไตย, (พระนคร: สำนักพิมพ์รวมการพิมพ์, 2518), หน้า 972
[4] อำรุง สกุลรัตนะ, ใครว่า อ.ตร. เผ่า ไม่ดี, (กรุงเทพมหานคร: บริาัทสารมวลชนจำกัด, ม.ป.ป.)
[5] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, หน้า 164
[6] ดูรายละเอียดใน คำพิพากษาศาลอาญา คดีที่ 2768/2491 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491
[7] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 55-56
[8] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, หน้า 174
[9] ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, หน้า 784