บทนำ
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทายในการฟื้นฟูสถานะเอกราชและอธิปไตยของตนเอง[1] ท่ามกลางแรงกดดันจากชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร (สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ) หลักฐานทางประวัติศาสตร์[2] ชี้ชัดว่า ไทยสามารถรอดพ้นจากสถานะประเทศผู้แพ้สงครามด้วยยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการทูตอันซับซ้อน ผ่านบทบาทของขบวนการเสรีไทย และการใช้ประโยชน์จาก “ดุลอำนาจระหว่างประเทศ” โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงต้องเผชิญแรงกดดันจากข้อผูกพันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ “ความตกลงสมบูรณ์แบบ” ซึ่งเป็นข้อตกลงสันติภาพระหว่างไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตร ขณะเดียวกัน ปัญหาเศรษฐกิจภายในและข้อจำกัดหลังสงคราม ได้เปิดช่องให้กองทัพที่เคยสูญเสียอำนาจกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง นำไปสู่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองไทย
บทความนี้จึงมุ่งอธิบายบทบาทของขบวนการเสรีไทยภายหลังสงครามยุติ โดยอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือ “การวิเทโศบายของไทยฯ” ของ ศ.ดร.กนต์ธีร์ ศุภมงคล และเอกสารทางการทูตเป็นหลัก เพื่อฉายให้เห็นบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างรอบด้าน ตลอดจนข้อเท็จจริงของความตกลงสมบูรณ์แบบ และผลกระทบของการรัฐประหาร 2490 ต่อบทบาทของเสรีไทยที่ถูกละเลยในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคหลังสงคราม
ภูมิหลังเศรษฐกิจและการเมืองของไทยหลังสงคราม (2488 - 2490)
บริบททางเศรษฐกิจ: หลังสงคราม ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจหลายด้านจากผลกระทบของสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทำลาย ความไร้เสถียรภาพของเงินตรา การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคและเกิดเงินเฟ้อสูง[3] ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก ภาวะเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยไม่อาจฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยตนเองในระยะสั้นได้ จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากสงคราม
ในขณะที่อิทธิพลของฝ่ายสัมพันธมิตรยิ่งปรากฏชัดขึ้น เมื่ออังกฤษส่งกองกำลังทหาร (ส่วนใหญ่เป็นทหารอินเดียในสังกัดอังกฤษ) เข้าควบคุมบางพื้นที่ในไทยชั่วคราวเพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น[4] [5] พร้อมกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไทยต้องปฏิบัติตาม เพื่อยุติสถานะสงครามโดยสมบูรณ์ ไทยต้องยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ เพื่อแลกกับความช่วยเหลือที่จำเป็น เช่น การซ่อมแซมระบบขนส่ง การนำเข้ารถไฟ รถบรรทุกจากอินเดียและสหรัฐฯ และการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งไทยไม่สามารถจัดหาเองได้ในขณะนั้น

ภาพเอกสารราชการที่ลงนามโดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2487
ที่มา : ปรีดี พนมยงค์ ในบทบาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กับการกอบกู้เอกราชและอธิปไตยของชาติ
บริบททางการเมือง: ภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 อำนาจทางการเมืองได้เปลี่ยนผ่านสู่ฝ่ายพลเรือนที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในทางลับ (รหัสนาม “รูธ”) ได้เปิดทางให้รัฐบาลพลเรือนของนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นมาบริหารประเทศ[6] [7]
รัฐบาลนายควงได้ลดความร่วมมือกับญี่ปุ่นลง และเริ่มดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อฝ่ายสัมพันธมิตรมากขึ้น ผ่านขบวนการเสรีไทย ซึ่งให้ความช่วยเหลือสัมพันธมิตรด้านข่าวกรองและการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ จนฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถเข้าปฏิบัติการในไทยได้ ก่อนที่สงครามจะสิ้นสุดลง สะท้อนการเปลี่ยนสถานะของไทยจากที่เคยอยู่ฝ่ายญี่ปุ่น ไปสู่การเป็นพันธมิตรกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างชัดเจน โดยร่วมมือกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ประสานงานทางการทูตจนสหรัฐฯ ยอมรับไทยในฐานะประเทศที่เป็นกลางและไม่ได้อยู่ในสถานะศัตรู อย่างไรก็ตาม อังกฤษยังมองไทยเป็นอดีตผู้ร่วมมือกับศัตรู จึงกำหนดเงื่อนไขให้ไทยต้องเจรจาเพื่อยุติสถานะสงครามอย่างเป็นทางการ[8] [9]
นายปรีดี ใช้ยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างมีชั้นเชิง โดยอาศัยความเห็นต่างระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ เพื่อรักษาเอกราชและสถานะของไทย แม้ไทยต้องยอมรับเงื่อนไขบางประการ แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงการถูกจัดเป็นประเทศผู้แพ้สงครามอย่างเต็มตัว ทั้งในเชิงกฎหมาย โดยอ้างว่าคำประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในอดีตนั้น “ขัดรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะ”[10] [11] และรัฐบาลที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนไทย[12] ทำให้ไทยไม่จำเป็นต้องลงนามในตราสารยอมจำนน[13] เช่นประเทศผู้แพ้สงครามอื่น ๆ และสามารถอ้างสถานะประเทศเอกราชต่อเนื่องเมื่อสงครามสิ้นสุดลง

6922. British Embassy has informed us
ที่มา: The British Commonwealth, The Far East, Volume VI
นอกจากนี้ ยังเลือกยอมรับข้อเรียกร้องบางประการของฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อแสดงความร่วมมือและสร้างความได้เปรียบทางการเมือง เช่น การให้นายควงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่เคยร่วมมือกับญี่ปุ่นขึ้นมาเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร[14] โดยมีนายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ชั่วคราวเป็นเวลา 17 วัน ก่อนจะเชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ซึ่งมีชื่อเสียงจากการต่อต้านญี่ปุ่นในสหรัฐฯ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน[15] [16] ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาสัมพันธมิตรดีขึ้น ว่าไทยมีรัฐบาลที่ไม่ได้ฝักใฝ่ญี่ปุ่นอีกต่อไป
การปรับเปลี่ยนผู้นำนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ไทยได้รับการยอมรับจากสัมพันธมิตรในฐานะคู่เจรจา[17] ทั้งนี้ ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบกับอังกฤษเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นการยุติสถานะสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างสองประเทศ หลังจากนั้นไทยได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับใหม่ (รัฐธรรมนูญ 2489) อันสะท้อนความพยายามสร้างระบอบประชาธิปไตยให้ต่อเนื่องจากก่อนสงครามภายใต้การนำของพลเรือน
บริบทการเมืองระหว่างประเทศ: หลังสงคราม ไทยต้องเจรจาทางการทูตหลายด้านกับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรหลัก ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และจีน (รวมถึงสหภาพโซเวียตในบางประเด็น) เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์และสถานะของไทยในประชาคมโลก
นโยบายของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อไทย เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะหลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ ในที่ประชุมพ็อทส์ดัมและยัลตา สหรัฐฯและอังกฤษได้หยิบยกประเด็นไทยขึ้นหารือและตกลงกันว่า ในด้านการทหาร อังกฤษจะเป็นผู้รับผิดชอบการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในประเทศไทย[18] แต่ในทางการเมือง ไทยจะไม่ต้องสูญเสียเอกราชโดยสิ้นเชิง สหรัฐฯ เองสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลไทยชุดใหม่ที่มาจากขบวนการเสรีไทย ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นมาโดยตลอด

The Department of State to the British Embassy 42
ที่มา: 1945, The British Commonwealth, The Far East, Volume VI
เอกสารทางการทูตสหรัฐฯ ระบุว่าในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลอังกฤษได้ส่งบันทึกถึงรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อหารือท่าทีต่อไทย และทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันเกี่ยวกับข้อเสนอของไทยที่จะหันมาสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร[19] (เช่น การที่ผู้แทนไทยเสนอผ่านมาทางอังกฤษ ณ แคนดี ว่าไทยพร้อมประกาศสงครามกับญี่ปุ่นและถือว่าสงครามที่ไทยประกาศกับอังกฤษ/สหรัฐฯ เป็นโมฆะ) สหรัฐฯ มีท่าทีตอบรับเชิงบวก โดยเห็นพ้องว่าความจริงใจของไทยนั้น “น่าเชื่อถือได้” และประทับใจที่ผู้สำเร็จราชการฯ และขบวนการเสรีไทยในประเทศได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปธรรม[20]
อังกฤษเองได้เตรียมวางนโยบายต่อประเทศไทยตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2488 โดยกำหนดให้มีการเจรจากับรัฐบาลไทยที่จะถูก "ปลดปล่อยจากญี่ปุ่น" ในอนาคต[21] นโยบายนี้ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรหันมาประสานงานอย่างใกล้ชิดกับขบวนการเสรีไทยในช่วงเดือนสุดท้ายของสงคราม และปูทางสู่การจัดทำข้อตกลงเพื่อยุติสถานะสงครามกับไทยในเวลาต่อมา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือรักษาสมดุลระหว่างดุลอำนาจในภูมิภาค และหลีกเลี่ยงไม่ให้ไทยตกอยู่ในสถานะประเทศผู้แพ้สงครามโดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม ไทยยังต้องเผชิญแรงกดดันจากพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการส่งมอบข้าวจำนวนมากให้อังกฤษ และการคืนดินแดนในอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศส สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนเป็นวงกว้าง อีกทั้งความขัดแย้งทางการเมืองยังกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญ—รัฐบาลหลังสงครามขาดเสถียรภาพ สะท้อนจากการที่นายควงต้องลาออก เพื่อเปิดทางให้เสนีย์เป็นนายกฯ ในระยะสั้น ๆ รัฐบาลเสนีย์ต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจหนัก ทั้งเงินเฟ้อ สินค้าขาดแคลน และแรงต่อต้านจากสังคม รวมทั้งความไม่ลงรอยทางความคิดกับนายปรีดี
จนในที่สุด รัฐสภาได้มีมติแต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 เพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทว่าฉากการเมืองไทยหลังสงคราม—ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจเดิมกับคณะราษฎรยังคงดำเนินอยู่และรอวันปะทุ จนกระทั่งเกิด “กรณีสวรรคต” ของรัชกาลที่ 8 ขึ้น ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2489 ได้เปิดช่องให้กลุ่มอำนาจเดิมและกองทัพที่สูญเสียอำนาจหลังสงคราม ฟื้นคืนอิทธิพลกลับมาอีกครั้ง ในเวลาต่อมา
ความตกลงสมบูรณ์แบบ: สันติภาพไทย-อังกฤษ และการฟื้นเอกราชของไทย

สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485[22] ทำให้เกิดสถานะสงครามระหว่างสองประเทศ เมื่อสงครามยุติลง หนึ่งวันหลังจากที่ญี่ปุ่นยอมจำนน (วันที่ 15 สิงหาคม 2488) ประเทศไทยภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488[23] [24] เพื่อลบล้างการประกาศสงครามครั้งนั้นให้เป็น “โมฆะ” เนื่องจากการกระทำดังกล่าว ขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและรัฐธรรมนูญไทย[25] พร้อมทั้งปฏิเสธความสัมพันธ์และสนธิสัญญาทั้งหมดที่เคยทำไว้กับญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484[26] [27]
ประกาศสันติภาพฉบับนี้ เป็นผลโดยตรงจากคำแนะนำของฝ่ายสัมพันธมิตร[28] โดยลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตเทน ผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SACSEA) ได้ส่งสารถึง “รูธ” (ปรีดี พนมยงค์) เพื่อให้ไทยประกาศยกเลิกสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ยุติความร่วมมือกับญี่ปุ่น และส่งผู้แทนไปเจรจายุติสงครามที่เมืองแคนดี[29] [30] ทั้งนี้ อังกฤษรับรองว่าหากไทยปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างครบถ้วน จะไม่ถูกบังคับให้ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Surrender) แบบเดียวกับญี่ปุ่น แต่จะได้รับโอกาสในการเจรจาสันติภาพในฐานะรัฐเอกราช[31] [32]
อังกฤษเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีท่าทีแข็งกร้าวที่สุดต่อไทยในระยะแรก อังกฤษถือว่าไทยประกาศสงครามต่อตนและยึดครองดินแดนของจักรวรรดิอังกฤษร่วมกับญี่ปุ่น ซึ่งเท่ากับมองไทยเป็นศัตรูในทางนิตินัย นายเออร์เนสต์ เบวิน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษขณะนั้นกล่าวยอมรับว่า การที่เสรีไทยช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรนั้นมีค่า แต่ก็ยังไม่เพียงพอจะลบล้างการที่ไทยประกาศสงครามและฉกฉวยดินแดนของอังกฤษภายใต้ญี่ปุ่น ดังนั้นอังกฤษจึงต้องการเห็นไทยแสดงเจตนารมณ์อย่างจริงจังผ่านการทำข้อตกลงสันติภาพ[33] [34]
สนธิสัญญาสมบูรณ์แบบ (Anglo-Thai Peace Treaty) เป็นข้อตกลงที่ทำให้ไทยกลับเข้าสู่ประชาคมระหว่างประเทศในฐานะ “รัฐเอกราช” อย่างเป็นทางการ โดยเป็นการยุติสถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษอย่างสมบูรณ์ สนธิสัญญาฉบับนี้มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้ไทยสามารถรักษาเอกราชของชาติได้อย่างชัดเจน โดยไม่ถูกกองกำลังต่างชาติยึดครองหรือแบ่งแยกดินแดน โดยข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายลงนามนี้ เรียกว่า “ความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อยุติสถานะสงคราม” (Formal Agreement for the Termination of the State of War) ลงนามเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 (1946) ณ ประเทศสิงคโปร์
ข้อเรียกร้องสำคัญที่รัฐบาลอังกฤษยื่นให้ไทยยอมรับในช่วงเจรจาสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้แก่ การยกเลิกสนธิสัญญาทั้งหมดที่ไทยเคยทำกับญี่ปุ่นในช่วงสงคราม การคืนดินแดนที่ไทยได้รับจากฝรั่งเศสและอังกฤษ (เช่น อินโดจีนและรัฐมลายู) รวมถึงการส่งมอบข้าวสารสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านตัน โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อช่วยเหลือภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยอังกฤษถือว่าการส่งมอบข้าวนี้เป็นมาตรการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและความร่วมมือในภาวะหลังสงคราม (Mutual Aid)[35] มิใช่การชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องเรื่องข้าว กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและถือเป็นภาระหนักยิ่งสำหรับไทย เนื่องจากสต็อกข้าวในขณะนั้นต่ำกว่าที่อังกฤษประเมินไว้มาก สหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้ โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อทบทวนและปรับลดเงื่อนไขให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น[36] ดังจะกล่าวถึงต่อไป
ข้อตกลงไทย-อังกฤษ กันยายน 2488: จุดเริ่มต้นการเจรจาเพื่อรักษาเอกราช
ข้อตกลงไทย-อังกฤษ (21 ข้อ) เดือนกันยายน 2488 เพื่อนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบ[37] เกิดขึ้นจากแรงกดดันของอังกฤษ ที่ต้องการให้ไทยยอมรับสถานะ “ประเทศผู้ร่วมมือกับญี่ปุ่น” และต้องการควบคุมผลผลิตข้าวของไทยเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอาหารในภูมิภาค หากไทยปฏิเสธข้อเสนอ ก็อาจถูกกดดันหนักขึ้นในการเจรจาสันติภาพ
ภายใต้สถานการณ์ที่เสียเปรียบนี้ รัฐบาลไทยโดยการนำของนายปรีดี พนมยงค์ (ในช่วงเปลี่ยนผ่าน) จำต้องยอมรับข้อตกลงบางข้อ ด้วยท่าทีประนีประนอม เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกประกาศสถานะ “เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม” อย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลร้ายแรงยิ่งกว่าในระยะยาว[38] แม้ไทยจำเป็นต้องให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอังกฤษ โดยเฉพาะการส่งมอบข้าว แต่อย่างน้อยก็ยังสามารถรักษาเอกราชทางเศรษฐกิจไว้ได้ในระดับหนึ่ง การลงนามในข้อตกลงนี้ จึงถือเป็นการเลือกหนทางที่เสียเปรียบน้อยที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่
ขณะเดียวกัน แม้ในทางเทคนิค อังกฤษจะถือว่าไทยเป็นศัตรูเนื่องจากร่วมมือกับญี่ปุ่น[39] แต่ในทางปฏิบัติ ก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงว่า ขบวนการเสรีไทยได้ให้ความร่วมมืออย่างจริงจังกับฝ่ายสัมพันธมิตรตลอดช่วงสงคราม[40] [41] เอกสารชั้นความลับของอังกฤษเปิดเผยว่า อังกฤษได้กำหนดนโยบายเจรจากับรัฐบาลไทยที่จะถูก “ปลดปล่อยจากญี่ปุ่น” ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนเมษายน 2488 แล้ว[42] พร้อมทั้งพยายามกีดกันไม่ให้สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาท เพื่ออังกฤษจะได้กดดันไทยได้เต็มที่
ด้านสหรัฐฯเอง ก็มองเห็นสถานการณ์เช่นเดียวกัน โดยรายงานการประชุมของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุชัดว่า สหรัฐฯ ได้เตือนอังกฤษล่วงหน้าว่าจะไม่ยอมรับการบีบบังคับทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรมต่อไทย ทั้งสองฝ่ายจึงต้องมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการนอกรอบก่อนที่จะมีการเซ็นข้อตกลงจริง[43]
บันทึกประชุมระบุว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ปรีดี พนมยงค์) ได้ยกประเด็นว่าการเรียกเก็บข้าว 1.5 ล้านตัน จะสร้างความทุกข์ยากแก่ประชาชนไทย และพยายามชี้ให้เห็นว่าควรปรับปรุงร่างสนธิสัญญาบางข้อเพื่อให้สังคมไทยยอมรับได้ ขณะเดียวกัน ไทยก็อาศัยกลไกทางการเมืองภายใน เช่น การขอความเห็นชอบจากรัฐสภา มายื้อเวลาการลงนาม จนอังกฤษเกิดความกังวลว่ารัฐบาลเสนีย์อาจไม่สามารถให้สัตยาบันข้อตกลงได้ หากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนในสภาเดิมและต้องรอจนมีสภาใหม่หลังการเลือกตั้ง[44] กลยุทธ์เหล่านี้ของไทย ผนวกกับท่าทีแข็งขันของสหรัฐฯ ที่ไม่สนับสนุนการลงโทษไทยเกินควร ได้สร้างแรงกดดันให้อังกฤษยอมเจรจาปรับแก้เงื่อนไขบางประการจากร่างฉบับแรกของตน
แม้เงื่อนไขจากอังกฤษจะเข้มงวด แต่รัฐบาลไทยก็จำยอมเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ คณะผู้แทนไทยที่นำโดย ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยยันต์ ได้พยายามต่อรองจนสามารถปรับแก้เงื่อนไขบางประการได้ อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด รัฐบาลไทยก็ตัดสินใจอนุมัติการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวทันที เนื่องจากเกรงว่าการล่าช้าอาจส่งผลเสียต่อสถานะเอกราชของไทยในระยะยาว[45]
“สัญญาทาส” กับข้าว 1.5 ล้านตัน – ข้อเท็จจริงและผลกระทบ


ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี กับ ลอร์ดคิลเลิร์น ผู้แทนระดับสูงของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมษายน 2489
ประเทศไทยจำเป็นต้องเจรจาเพื่อยุติสถานะสงครามอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะกับอังกฤษซึ่งถือว่าไทยเป็นฝ่ายศัตรูที่ต้องจัดทำสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบร่วมกัน ด้วยเหตุที่กล่าวไปแล้ว การเจรจานี้เต็มไปด้วยเงื่อนไขหนักหน่วงที่ฝ่ายอังกฤษเสนอ ซึ่งถูกมองว่าเป็น “สัญญาทาส” ในสายตาคนไทยบางส่วน
บทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (ซึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงปลายปี 2488) ในการยอมรับหรือประวิงเงื่อนไขดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบจากหลักฐานทางการทูตและเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ เพื่อวิเคราะห์เจตนารมณ์และบริบทการตัดสินใจของผู้นำไทยอย่างรอบด้าน
อังกฤษโดยลอร์ดคิลเลิร์น (Lord Killearn) ในฐานะผู้แทนระดับสูงของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีบทบาทสำคัญในการเจรจายุติสถานะสงครามกับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2489 อังกฤษยืนยันที่จะจัดการเรื่องยุติสถานะสงครามกับไทยโดยเฉพาะเอง โดยแต่งตั้งนายเอสเลอร์ เดนิ่ง (Esler Maberley Dening) เป็นผู้แทนในการเจรจากับฝ่ายไทย[46] และกำหนด “เงื่อนไขขั้นต่ำสุด” ที่ไทยต้องยอมรับให้ได้ อย่างไรก็ตาม ลอร์ดคิลเลิร์นเน้นให้การเจรจาบรรลุผลโดยให้ฝ่ายไทยตอบรับ “โดยสมัครใจ มิใช่โดยการบีบบังคับ”[47] เพื่อมิให้กระทบความสัมพันธ์ในระยะยาว
ในทางปฏิบัติ อังกฤษภายใต้การนำของลอร์ดคิลเลิร์นใช้กลยุทธ์กดดันทางทหารและเศรษฐกิจเพื่อให้ไทยรีบตกลงตามเงื่อนไขของฝ่ายสัมพันธมิตร อังกฤษยังคงไว้ซึ่งกองกำลังในไทยและชะลอการถอนทหารอังกฤษออกจากประเทศไทย เพื่อใช้เป็น “เครื่องต่อรอง” ระหว่างการเจรจาเลิกสถานะสงคราม โดยฝ่ายอังกฤษทราบดีว่า รัฐบาลไทยต้องการให้ทหารต่างชาติออกจากประเทศโดยเร็วที่สุด จึงถือโอกาสนี้กดดันให้ไทยเร่งยอมรับข้อตกลงยุติสงครามแต่เนิ่น ๆ การชะลอถอนทหารนี้ส่งผลให้ไทยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายกองกำลังอังกฤษในไทยรวม 91 ล้านบาท[48]
อังกฤษได้ยื่นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการยุติสถานะสงครามต่อรัฐบาลไทย เงื่อนไขเหล่านี้รวมอยู่ในร่างข้อตกลง 21 ข้อ ที่ร่างโดยนายเดนิ่ง ร่างสนธิสัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดที่รุนแรงหลายประการ อาทิ ให้ยุบกองทัพไทยทั้งหมด และส่งมอบข้าวสารจำนวน 1.5 ล้านตันให้แก่อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่า[49] เพื่อนำไปบรรเทาทุกข์ในอาณานิคมของอังกฤษในเอเชีย (เช่น อินเดีย ศรีลังกา พม่า)
เอกสารฝ่ายไทยและคำให้การของผู้ร่วมเจรจาในเวลานั้นบ่งชี้ว่า หากไทยยอมลงนามตามร่าง 21 ข้อดังกล่าว “ก็ไม่ต่างอะไรจากการตกเป็นเมืองขึ้น” ของอังกฤษเลย[50] ผู้แทนไทยที่เห็นร่างสนธิสัญญาถึงกับระบุว่าหากเผลอลงนามไป “ไม่ผิดอะไรกับการยอมเป็นทาสไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง”[51] (คำกล่าวนี้มาจาก เนตร เขมะโยธิน หนึ่งในคณะผู้เจรจาไทย ซึ่งสื่อถึงลักษณะ “สัญญาทาส” ของเงื่อนไขที่อังกฤษเสนอมา) ซึ่งฝ่ายไทยมองว่าไม่ต่างจากการตกเป็นอาณานิคมโดยพฤตินัย
ปฏิกิริยาของรัฐบาลไทยต่อเงื่อนไขที่อังกฤษยื่นมาในช่วงแรกนั้น เต็มไปด้วยความวิตกต่อสถานการณ์ ผู้สำเร็จราชการฯ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ มองว่าร่าง 21 ข้อที่อังกฤษเสนอ แม้จะรุนแรง แต่ก็อาจเป็น “ทางเลือกที่เบาที่สุด” เท่าที่ไทยพอจะรับได้สำหรับประเทศที่ไม่ได้ชนะหรือแพ้สงครามอย่างชัดเจน
ดังปรากฏในบันทึกการเจรจาว่า ปรีดีมีความตั้งใจที่จะให้ไทยลงนามรับเงื่อนไขเหล่านี้โดยเร็ว เพราะเกรงว่าหากชักช้าหรือปฏิเสธไป อังกฤษอาจเพิ่มมาตรการลงโทษที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม[52] ท่าทีนี้สะท้อนถึงความจำใจของฝ่ายไทยที่ต้องรักษาเอกราชและป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม แต่อีกด้านหนึ่งก็นำไปสู่คำครหาว่า “ปรีดีคิดจะเซ็นสัญญาทาส” ยอมจำนนต่ออังกฤษง่าย ๆ ซึ่งเป็นวาทะที่ถูกหยิบยกมาโต้แย้งทางการเมืองในเวลาต่อมา
ในความเป็นจริง นายปรีดีพยายามรักษาเอกราชของไทยให้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน การยอมรับเงื่อนไขบางอย่างเป็น “ยุทธวิธีทางการทูต” เพื่อยุติสถานะสงครามโดยเร็วและหลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษรุนแรงจากอังกฤษ—ปรีดีซึ่งมีบทบาทในการเจรจากับสัมพันธมิตรมาตลอด ย่อมเข้าใจสถานการณ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างดี และเห็นความจำเป็นในการบรรลุข้อตกลงโดยเร็ว[53] ขณะที่เสนีย์ ซึ่งอยู่ในสหรัฐฯ มานาน อาจไม่ตระหนักว่านโยบายจักรวรรดินิยมของอังกฤษได้เปลี่ยนไปแล้ว (แม้แต่อเมริกันชนเองก็ยังไม่รับรู้แน่ชัด จนถึงปลายปี 1946) ทำให้ทั้งสองมีมุมมองต่างกันต่อแนวทางการเจรจากับอังกฤษ
บันทึกของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน[54] สะท้อนให้เห็นมุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในประเทศไทย โดยเฉพาะการเจรจากับอังกฤษและการรับรู้ผิด ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนไทยเกี่ยวกับเจตนาแท้จริงของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมทั้งความขัดแย้งภายในระหว่างผู้นำสำคัญของไทยในขณะนั้น คือ หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี พนมยงค์) และเสนีย์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากมุมมองที่แตกต่างต่ออังกฤษ[55]
ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ อธิบายว่า หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของอังกฤษหลังสงคราม ซึ่งไม่ได้มีแนวคิดล่าอาณานิคมแบบเดิมอีกต่อไป[56] [57] เขามองว่าควรทำข้อตกลงยุติสถานะสงครามกับอังกฤษโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ชาติ ขณะที่เสนีย์ ยังคงยึดติดกับภาพลักษณ์เก่าของอังกฤษในฐานะจักรวรรดินิยม จึงเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างผู้นำทั้งสอง[58]
ความเข้าใจผิดและความระแวงที่ประชาชนไทยมีต่ออังกฤษ สร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาลไทย โดยเฉพาะระหว่างหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) ที่ต้องการความปรองดองทางการทูตโดยเร็ว กับเสนีย์ที่ไม่เชื่อมั่นว่าอังกฤษได้เปลี่ยนนโยบายแล้วจริง ๆ ความขัดแย้งนี้ถูกฝ่ายตรงข้ามของปรีดี ใช้ประโยชน์ทางการเมืองในการดึงเสนีย์มาเป็นพันธมิตรในภายหลัง[59]
ปรีดีให้ความสำคัญสูงสุดในการสร้างความสามัคคีในประเทศหลังสงคราม เขาได้เน้นย้ำกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ว่า ต้องเริ่มต้นจากความไว้วางใจและแสดงความจริงใจในการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย เพื่อขจัดความกลัว ความอิจฉา และความหวาดระแวงทางการเมือง[60]
บันทึกยังชี้ให้เห็นแนวคิดของหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) และกลุ่มเสรีไทยอย่างชัดเจนว่า ไม่ต้องการอำนาจทางการเมืองจากการต่อสู้ในช่วงสงคราม หากแต่ต้องการสร้างประเทศให้เกิดความสามัคคี มีเสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาติยิ่งกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง[61]
ส่วนบันทึกของ ศ.ดร.กนต์ธีร์ ศุภมงคล อดีตนักการทูตและเสรีไทยที่อยู่ในเหตุการณ์ (ใช้นามแฝงว่า “สุนี เทพรักษา”) ให้ข้อมูลว่า อังกฤษถือว่าข้อเรียกร้องต่อไทยเป็น "ข้อกำหนดขั้นต่ำ"[62] ที่ต้องได้ และมอบหมายให้ นายเดนิ่ง หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอังกฤษ พยายามให้ฝ่ายไทยยอมรับโดยสมัครใจ ไม่ใช่ด้วยการบีบบังคับ[63] นอกจากนี้ อังกฤษยังขู่ในทางอ้อมว่า หากไทยไม่ลงนามในข้อตกลง อาจถูกคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ[64] ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของไทยหลังสงคราม
ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า ไทยถูกกดดันอย่างหนักให้ยอมรับเงื่อนไขบางอย่างที่เสียเปรียบ เพื่อแลกกับการกลับเข้าสู่เวทีโลกได้อย่างปกติ อย่างไรก็ดี กนต์ธีร์ มิได้กล่าวในทำนองว่าปรีดีเต็มใจจะลงนามในข้อตกลงที่เสียเปรียบโดยไม่คิดถึงชาติ แต่เสนอว่าท่านเลือกทางที่เสียหายน้อยที่สุดภายใต้ข้อจำกัดตอนนั้น กนต์ธีร์เน้นว่า ปรีดีตัดสินใจกระทำตามคำแนะนำของฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ เป็นการเล่นเกมการทูตภายใต้ข้อจำกัดมากกว่าเป็นความยินยอมทรยศใด ๆ และไม่ได้ใช้ถ้อยคำรุนแรงอย่าง “ขายชาติ” หรือ “ทาส” กับการกระทำของปรีดีเลย
เปรียบเทียบท่าทีของปรีดี กับวิเทโศบายของรัชกาลที่ 4 และ 5
ท่าทีของปรีดี พนมยงค์ ในการยอม “สูญเสียบางส่วนเพื่อรักษาเอกราช” สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ในสมัยรัชกาลที่ 4 สยามยอมทำ “สนธิสัญญาบาวริ่ง” (พ.ศ. 2398) แม้เสียเปรียบแต่ช่วยให้ชาติรอดพ้นจากการแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตก ขณะที่รัชกาลที่ 5 ยอมสละดินแดนหัวเมืองมลายูสี่แห่งตาม “สนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม” (พ.ศ. 2452) เพื่อรักษาเอกราชและไมตรีกับอังกฤษ ทำให้สยามไม่ตกเป็นอาณานิคม
เช่นเดียวกัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ยอมคืนดินแดนที่ได้จากญี่ปุ่นให้ฝ่ายสัมพันธมิตร แม้ไทยต้องเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจและดินแดน แต่กลับทำให้ไทยไม่ถูกถือเป็นผู้แพ้สงครามโดยสมบูรณ์ และสามารถรักษาเอกราชและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว
บทบาทของเสนีย์: ยุทธวิธี “เตะถ่วง” เพื่อพลิกสถานการณ์
เมื่อเปิดการเจรจาสันติภาพรอบใหม่กับอังกฤษ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2488 อังกฤษยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่จำนวน 51 ข้อ (เพิ่มรายละเอียดจากเดิม) ซึ่งยังคงมีประเด็น “ข้าว 1.5 ล้านตัน” และเงื่อนไขอื่นคล้ายเดิมครบถ้วน กลยุทธ์สำคัญของเสนีย์คือการ “เตะถ่วง”[65] ยื้อเวลาการเจรจาให้นานที่สุด พร้อมทั้งพยายามดึงสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องกดดันอังกฤษทางอ้อม เสนีย์เข้าใจว่าอังกฤษกำลัง “บลัฟ” ขู่หนักเพื่อให้ไทยรีบเซ็น โดยไม่เปิดโอกาสให้ปรึกษาหารือภายในประเทศ ดังนั้นเขาจึงใช้ขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญไทยเป็นเครื่องต่อรอง
เสนีย์เองยังหาโอกาสทดลองหยั่งเชิงสหรัฐฯ ว่าจะยอมช่วยไทยแค่ไหน หากไทยยืนกรานไม่ยอมเซ็นสัญญาที่อังกฤษบังคับ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานของเขาว่าอังกฤษ “ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสรีไทยเลย และหวังจะกอบโกยอย่างเต็มที่” ในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องข้าว การเตะถ่วงของเสนีย์สร้างความไม่พอใจให้ฝ่ายอังกฤษอย่างยิ่ง[66]
ในทางปฏิบัติ เสนีย์ยังงัดไม้ตายทางการเมืองในประเทศด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร[67] หลังเกิดความขัดแย้งเรื่องร่าง พ.ร.บ. อาชญากรสงครามช่วงปลายปี 2488 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า การยุบสภานี้ส่วนหนึ่งเพื่อซื้อเวลาเจรจาเพิ่มอีก 90 วัน (ระยะเวลาจัดเลือกตั้งใหม่) ทำให้ไทยสามารถอ้างได้ว่า “ยังไม่มีสภาผู้แทน จึงลงมติเรื่องสนธิสัญญาไม่ได้”[68] กลยุทธ์ต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้การเจรจายืดเยื้อออกไปจนถึงปลายปี 2488 และอังกฤษยังไม่ได้สิ่งที่ต้องการทั้งหมด
ยุทธวิธีเตะถ่วงของเสนีย์ ผนวกกับแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ ช่วยให้ไทยหลีกเลี่ยงเงื่อนไขที่เลวร้ายบางประการได้ก็จริง แต่สุดท้ายไทยต้องยอมรับข้อตกลงที่เสียเปรียบอยู่ดี เช่น การส่งมอบข้าวสาร 1.5 ล้านตันให้อังกฤษโดยไม่มีค่าตอบแทน ความเข้าใจผิดของเสนีย์เกี่ยวกับนโยบายจักรวรรดินิยมของอังกฤษ สะท้อนว่า เขาไม่ได้ "ถ่วงเวลา" อย่างมีแผนรองรับ หากแต่เกิดจากความคลาดเคลื่อนในมุมมอง ซึ่งขัดแย้งกับปรีดีที่ต้องการเร่งเจรจาให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว[69]
ควรกล่าวด้วยว่า ข้อเรียกร้องให้ไทยส่งมอบข้าวจำนวน 1.5 ล้านตันโดยไม่คิดมูลค่านั้น มีที่มาจากการหยั่งท่าทีของฝ่ายไทยเองก่อนที่อังกฤษจะยืนยันในข้อตกลง 21 ข้อ โดยเอกสารทางการทูตระบุว่า ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2488 ระหว่างการเดินทางกลับไทยของเสนีย์ ได้มีการพบปะนอกรอบกับนายสเตอร์นเดล เบนเน็ตต์ (Sterndale Bennett) เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ที่กรุงลอนดอน[70] [71]
ในการหารือครั้งนั้น เสนีย์ได้ระบุว่า รัฐบาลไทยมีข้าวสะสมอยู่แล้วประมาณ 1.5 ล้านตัน[72] และได้แจ้งต่อปรีดี พนมยงค์ ว่าฝ่ายไทยอาจเสนอข้าวจำนวน 1.2–1.5 ล้านตันโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหารในภูมิภาค แม้นายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นจะยังมีท่าทีลังเล แต่ปรีดีต้องการคำตอบที่ชัดเจนโดยเร็ว จึงตกลงรับหลักการเบื้องต้นไว้ก่อน แม้ยังไม่ได้กำหนดปริมาณที่ชัดเจน[73] ข้อเสนอนี้ถูกอังกฤษหยิบไปใช้เป็นเหตุผลในการเรียกร้อง “ข้าวให้เปล่า” จากไทยในเวลาต่อมา โดยนำไปบรรจุในข้อ 14 ของสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบ ที่กำลังจะเจรจา
อย่างไรก็ตาม บริบทสำคัญที่ควรเข้าใจคือ เสนีย์ไม่ได้ริเริ่มข้อเสนอนี้เองโดยลำพัง หากแต่เป็นการตอบสนองต่อแรงกดดันจากอังกฤษ ที่ต้องการให้ไทยแสดงท่าทีช่วยเหลือสัมพันธมิตรอย่าง “สมัครใจ” เพื่อหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์ของการบังคับหรือการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามโดยตรง รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงต้องยอมตกลงในหลักการ แม้ไม่เต็มใจนักก็ตาม เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตและทำให้การเจรจายุติสถานะสงครามเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด
การเจรจาที่แข็งกร้าวของตัวแทนอังกฤษ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเซ็นสัญญา
เหตุการณ์ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2488 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเจรจาสันติภาพระหว่างไทยกับอังกฤษ โดยบรรยากาศการเจรจาเต็มไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากนายเดนิ่ง ตัวแทนฝ่ายอังกฤษ แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อฝ่ายไทยอย่างชัดเจน เนื่องจากไม่พอใจที่ไทยนำข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นเหตุผลในการชะลอการเจรจา โดยมองว่าเป็นข้ออ้างเพื่อประวิงเวลา[74]
ฝ่ายอังกฤษเรียกร้องให้ไทยยอมรับข้อตกลงโดยไม่มีเงื่อนไขและไม่ผ่านกระบวนการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรของไทย ซึ่งฝ่ายไทยเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและยากที่จะปฏิบัติได้ นอกจากนี้ อังกฤษยังเรียกร้องให้ไทยส่งข้าวสารจำนวน 1.5 ล้านตันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นภาระที่หนักเกินความสามารถทางเศรษฐกิจของไทย ฝ่ายไทยจึงพยายามต่อรองเต็มที่ พร้อมให้ข้อมูลถึงปัญหาด้านการผลิตและการขนส่งที่เสียหายอย่างหนักจากสงคราม ทำให้ไม่สามารถส่งข้าวได้ตามที่อังกฤษเรียกร้อง แม้อังกฤษจะยอมผ่อนผันในชนิดข้าวแต่ยังคงยืนยันปริมาณข้าว 1.5 ล้านตันเท่าเดิม[75]
ฝ่ายไทยพยายามอาศัยแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ โดยมีนายชาร์ล โยสต์ ผู้แทนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คอยเป็นตัวกลางถ่ายทอดท่าทีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งช่วยให้ไทยมีข้อได้เปรียบในการต่อรองกับอังกฤษอยู่บ้าง แต่สุดท้าย ไทยก็ต้องยอมจำนนต่อแรงกดดันของอังกฤษ ด้วยความหวั่นเกรงว่าอังกฤษจะใช้ข้อเรียกร้องที่หนักขึ้น และจะทำให้ไทยตกอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวทางการทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายเดนิ่งได้กล่าวย้ำว่า ไทยจะไม่สามารถกลับเข้าสู่ประชาคมโลกหรือเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้[76] หากยังไม่ยอมรับข้อตกลงนี้
เหตุการณ์ช่วงนี้สะท้อนถึงความยากลำบากของประเทศไทยในการรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ ท่ามกลางแรงกดดันจากอังกฤษที่มีท่าทีแข็งกร้าว และการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยไทยเจรจาต่อรองจนสามารถบรรลุความตกลงได้ในที่สุด
เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2488 ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่งเกี่ยวกับปัญหาการเจรจาระหว่างไทยกับอังกฤษ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ได้มอบหมายให้นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลถวายรายงานให้ทรงทราบถึงภูมิหลังและความคืบหน้าของการเจรจาโดยละเอียดทุกระยะ และทุกครั้งที่กนต์ธีร์ถวายรายงาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงซักถามอย่างสนพระราชหฤทัยโดยมีสมเด็จพระอนุชาประทับรับฟังด้วยเสมอ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีต่อสถานการณ์ของประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2[77]
กนต์ธีร์ ศุภมงคล อธิบายว่า การเจรจากับอังกฤษที่กินเวลานานถึง 3 เดือนนี้ สะท้อนความระมัดระวังของฝ่ายไทยในการต่อรอง ไม่ใช่การยอมจำนนง่าย ๆ แม้อังกฤษจะกดดันหนัก เช่น ขู่เรื่องสถานะสมาชิก UN แต่ฝ่ายไทยก็ประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบและประสานท่าทีมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ กนต์ธีร์มองบทบาทของปรีดี พนมยงค์ ขบวนการเสรีไทย และรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ในเชิงบวกว่า ช่วยให้ไทยมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยวิเทโศบายที่เหมาะสม ทั้งการยอมรับเงื่อนไขเมื่อจำเป็น ยืนกรานในบางจุด และใช้สหรัฐฯ ถ่วงดุลอังกฤษ
ข้อเท็จจริงใน “โมฆสงคราม”
บันทึกของปรีดี พนมยงค์ ตอกย้ำว่า รัฐบาลไทยมิได้ยอมจำนนลงนามในข้อตกลงกับอังกฤษ โดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด หากแต่มีการต่อรองทางการทูตอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่ออังกฤษยื่นร่างข้อตกลงจำนวน 21 ข้อ ซึ่งมีเงื่อนไขรุนแรงและเป็นการเอาเปรียบไทยอย่างมาก ที่สำคัญ อังกฤษยังยื่นข้อเสนอนี้โดยพลการ โดยมิได้ปรึกษาหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ตามที่เคยรับปากไว้ก่อนหน้า ฝ่ายสหรัฐฯ จึงได้ท้วงติงต่ออังกฤษทันที[78] พร้อมแนะนำให้ฝ่ายไทยชะลอการลงนามไว้ก่อน เพื่อรอให้ฝ่ายอเมริกันดำเนินการทบทวนข้อเรียกร้องและกดดันให้อังกฤษผ่อนปรนเงื่อนไขลง ขณะเดียวกันเสรีไทยที่วอชิงตันก็ประสานงานกับรัฐบาลอเมริกันอย่างเต็มกำลัง เพื่อสนับสนุนประเทศไทยในจุดยืนนี้
ท้ายที่สุด อังกฤษจำต้องยินยอมผ่อนปรนเงื่อนไขหลายข้อในร่างข้อตกลง ทำให้รัฐบาลไทยชุดใหม่ที่มี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[79] และรัฐมนตรีต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2488 สามารถเจรจาโดยตรงกับอังกฤษจนได้ข้อยุติ ปรีดียังได้ชื่นชมบทบาทของเสนีย์ว่า “ได้ดำเนินการเจรจาอย่างเต็มที่และเหมาะสม”
ในที่สุดไทยและอังกฤษก็ได้ลงนามในความตกลงยุติสถานะสงคราม[80] [81] ฉบับสุดท้าย หรือที่เรียกว่า “สนธิสัญญาสมบูุรณ์แบบ”[82] เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489 นอกจากนี้ คำปรารภของสนธิสัญญายังระบุอ้างถึง “การประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม” และการที่ไทยได้เลิกเป็นปรปักษ์ต่อสัมพันธมิตรแล้ว เพื่อแสดงว่าไทยมิได้เป็นประเทศศัตรูกับอังกฤษอีกต่อไป
สรุปข้อเท็จจริงเรื่อง “สัญญาทาส” และยุทธวิธี “เตะถ่วง”
ข้อกล่าวหาทางประวัติศาสตร์ที่ว่า “ปรีดีอยากเซ็นสัญญาทาส” นั้น เมื่อพิจารณาจากหลักฐานชั้นต้นจะพบว่า นายปรีดี พนมยงค์ มีท่าทีต้องการยุติปัญหาโดยเร็วจริง แต่ความตั้งใจดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติในสถานการณ์อันยากลำบาก กล่าวคือ เลือกที่จะยอมรับเงื่อนไขที่ไม่รุนแรงนัก (“เทอมอ่อน”) ดีกว่าเสี่ยงเผชิญเงื่อนไขที่หนักกว่าซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ (“เทอมแรง”)[83] มิใช่มีเจตนาจะ “ขายชาติ” ตามที่ถูกวิจารณ์หรือกล่าวหา นอกจากนี้ หลักฐานยังแสดงชัดเจนว่า รัฐบาลของนายปรีดียังได้ใช้ช่องทางการทูตในการเจรจากับสหรัฐฯ และอังกฤษ หลังจากลงนามไปแล้ว เพื่อขอผ่อนปรนและแก้ไขเงื่อนไขบางประการในทางปฏิบัติอีกด้วย
ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังสงคราม นายปรีดีในฐานะผู้นำรัฐบาล ตัดสินใจที่จะยอมรับข้อตกลงโดยเร็วด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์และความมั่นคงของชาติ แต่ท่าทีประนีประนอมของท่านกลับถูกตีความในเชิงลบโดยฝ่ายตรงข้าม ว่าเป็นความพยายามที่จะ “เซ็นสัญญาทาส” ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการจำยอมภายใต้สถานการณ์กดดันที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
ดังนั้น การกล่าวหาว่าปรีดี “อยากเซ็นสัญญาทาส” หรือเสนีย์ “เตะถ่วงการเจรจา” จนน่าตำหนินั้น เป็นการเหมารวมโดยขาดบริบทที่สำคัญ เพราะแท้จริงแล้วทั้งสองท่านต่างมีบทบาทสำคัญร่วมกันในการนำพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตหลังสงคราม เพียงแต่เลือกใช้แนวทางที่ต่างกันไปตามบทบาทและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
ด้วยเหตุนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์จากหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน จะช่วยให้เราเห็นภาพที่สมดุลยิ่งขึ้นว่า ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากสถานะ “ผู้แพ้สงคราม” มาได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการตัดสินใจที่ยากลำบากของผู้นำไทยในการเลือกแนวทางเจรจาต่อรองที่เหมาะสมตามสภาวการณ์ในแต่ละห้วงเวลา รวมทั้งการฉวยโอกาสจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจอย่างอังกฤษและสหรัฐฯ อย่างถูกจังหวะ และ ผลลัพธ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ไทยสามารถรักษาเอกราชและอธิปไตยของตนไว้ได้ในท้ายที่สุด
สัจจะแห่งประวัติศาสตร์ ตามมุมมองของปรีดี พนมยงค์ คือ ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชอธิปไตยไว้ได้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความพยายามของคนไทยเอง ทั้งน้ำพักน้ำแรงของประชาชน และกุศโลบายทางการเมืองการทูตของผู้นำ[84] มิใช่โชคช่วยหรือปาฏิหาริย์แต่อย่างใด
สรุปสาระสำคัญของ “สนธิสัญญาสมบูรณ์แบบ”
- การคืนดินแดน: ไทยต้องคืนดินแดนที่ได้มาในช่วงสงครามกลับคืนสู่อังกฤษ ซึ่งได้แก่ รัฐมลายู 4 รัฐ (ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส) และดินแดนในรัฐฉานของพม่า (เมืองพานและเชียงตุง)
- คงสถานะของกองทัพไทยไว้ได้: อังกฤษยินยอมให้ไทยยังคงกำลังทหารตามเดิม ไม่ต้องปลดอาวุธหรือถูกจำกัดขนาดกองทัพเหมือนประเทศที่แพ้สงครามอื่น ๆ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรอื่น ๆ เห็นแก่บทบาทของขบวนการเสรีไทยที่ให้ความช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร
- ส่งมอบข้าวสาร 1.5 ล้านตัน: ในตอนแรกไทยต้องส่งมอบข้าวสารจำนวน 1.5 ล้านตันแก่ฝ่ายอังกฤษและสัมพันธมิตรโดยไม่คิดมูลค่าเพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารหลังสงคราม แต่ต่อมาได้มีการเจรจาเพิ่มเติม จนอังกฤษยอมเปลี่ยนเงื่อนไขจากการให้ฟรี มาเป็นการขายและชำระเงินในราคาที่ตกลงกัน ทำให้ไทยได้รับเงินตราต่างประเทศในการส่งออกข้าวด้วย
- ข้อห้ามการขุดคลองคอคอดกระ: อังกฤษกำหนดให้ไทยยอมรับเงื่อนไขที่ว่าจะไม่ดำเนินโครงการขุดคลองคอคอดกระหากไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การเดินเรือของอังกฤษในภูมิภาค[85]
ผลของสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบ และการเข้าร่วม UN
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ คือการนำประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nations – UN) เพื่อยืนยันสถานะประเทศที่รักสันติและเพื่อความมั่นคงร่วมกับประชาคมโลก นายดิเรก ชัยนาม (รัฐมนตรีต่างประเทศ) ได้บันทึกไว้ว่า การเข้าเป็นสมาชิก UN จะทำให้ไทย “ปลอดภัยภายใต้ระบบความมั่นคงร่วมกันและได้รับความเคารพจากนานาชาติ” รัฐบาลปรีดีจึงเร่งดำเนินการทางการทูตเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกทันทีที่สงครามโลกสิ้นสุดลง[86]
ในปี พ.ศ. 2489 ไทยต้องเผชิญอุปสรรคจากเงื่อนไขของกฎบัตรสหประชาชาติที่กำหนดว่าการรับสมาชิกใหม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคง โดยเฉพาะมหาอำนาจทั้งห้า นายดิเรก ชัยนาม, ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และต่อมาคือ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ได้ใช้เวลาหลายเดือนเจรจากับมหาอำนาจเพื่อขอเสียงสนับสนุน
ในที่สุด หลังจากไทยปฏิบัติตามเงื่อนไขของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างครบถ้วน เช่น คืนดินแดนแก่อินโดจีนฝรั่งเศส และยกเลิกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามข้อเรียกร้องของสหภาพโซเวียต คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเป็นเอกฉันท์เสนอรับไทยเข้าเป็นสมาชิก โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติรับไทยเข้าเป็นสมาชิกอันดับที่ 55 อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2489 (วันที่ 15 ธันวาคมตามบันทึกของ UN เนื่องจากความต่างของเขตเวลา) การเข้าเป็นสมาชิกครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จสำคัญของปรีดี พนมยงค์ ในการยืนยันเอกราชและอธิปไตยของไทย และสร้างหลักประกันความมั่นคงในระเบียบโลกใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
บทบาทของเสรีไทย ในการเจรจา “ผ่อนหนักเป็นเบา”
ในการเจรจาความตกลงสมบูรณ์แบบ ปรีดี พนมยงค์ และ เสนีย์ ปราโมช มีบทบาทสำคัญในการลดภาระเงื่อนไขที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกร้องจากไทย ด้วยยุทธวิธีทางการทูตที่แยบยลและการอาศัยเครือข่ายมหาอำนาจเพื่อ “ผ่อนหนักเป็นเบา” ในหลายกรณี ดังนี้:
1. การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและแรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ
เสนีย์ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดช่วงสงคราม ทำให้สหรัฐฯ ตระหนักถึงบทบาทของเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นอย่างจริงจัง และเห็นว่าไทยไม่ควรถูกปฏิบัติเยี่ยงประเทศผู้แพ้สงครามโดยสมบูรณ์ หลังสงคราม เสนีย์ใช้เครือข่ายในวอชิงตันกดดันให้อังกฤษลดความรุนแรงของเงื่อนไขลง เช่น การคัดค้านไม่ให้อังกฤษลดกำลังกองทัพไทยหรือเรียกร้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเกินควร อิทธิพลของสหรัฐฯ ส่งผลให้อังกฤษต้องปรับลดเงื่อนไขบางประการ จึงช่วยให้ไทยสามารถรักษาเอกราชและลดภาระหนักจากข้อเรียกร้องลงได้
2. การเจรจาและการส่งข้อมูลวงในแก่สหรัฐฯ
ปรีดีและคณะเจรจาไทย ใช้วิธีการเจรจาอย่างระมัดระวัง พร้อมแอบส่งข้อมูลการเจรจาแก่ผู้แทนสหรัฐฯ ที่ร่วมสังเกตการณ์ลับ ๆ เช่น สุนี เทพรักษา (กนต์ธีร์ ศุภมงคล) ทำหน้าที่ “พรายกระซิบ”[87] เรื่องการเจรจากับเดนิ่งให้ฝ่ายอเมริกันทราบ โดยรายงานรายละเอียดสำคัญต่อนายโยสต์ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ[88] วิธีนี้ช่วยให้สหรัฐฯ ทราบถึงข้อเรียกร้องที่อาจส่งผลร้ายต่อไทยโดยตรง เช่น กรณีที่อังกฤษเรียกร้องข้าวถึง 1.5 ล้านตัน เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าว สหรัฐฯ จึงเข้ามามีบทบาทกดดันให้อังกฤษต้องเปิดโอกาสให้มีการเจรจาทบทวนร่วมกัน ไม่บังคับฝ่ายไทยเพียงฝ่ายเดียว กลยุทธ์นี้ทำให้ไทยสามารถดึงสหรัฐฯ เข้ามาช่วยถ่วงดุลอำนาจของอังกฤษได้สำเร็จ
3. การต่อรองเพื่อปรับลดเงื่อนไขส่งมอบข้าว
จากความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในที่สุดอังกฤษก็ยอมปรับเงื่อนไขเรื่องข้าวจากเดิมที่ไทยต้องส่งมอบให้เปล่า 1.5 ล้านตัน เป็นข้อตกลงใหม่แบบสามฝ่าย (ไทย-อังกฤษ-สหรัฐฯ) ลงนามเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 โดยกำหนดให้ไทยขายข้าวให้สัมพันธมิตรจำนวน 1.2 ล้านตัน (ลดลงจากเดิม 20%) ในราคาต่ำที่ตกลงกันไว้ และสัมพันธมิตรยังช่วยไทยฟื้นฟูระบบขนส่งที่เสียหาย รวมทั้งจัดหารถไฟและเชื้อเพลิงให้เพิ่มเติมเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งข้าว การปรับแก้นี้ถือเป็นความสำเร็จในการลดทอนเงื่อนไขที่หนักหน่วงลง และแสดงถึงผลจากการเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพของฝ่ายไทย
กรณีข้อเรียกร้องเรื่องข้าว ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นว่าเป็นภาระหนักเกินไป นายปรีดี พนมยงค์ ยืนยันว่าการส่งมอบข้าวจำนวน 1.5 ล้านตันให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่า ถือเป็น “การเสียสละอย่างใหญ่หลวง” ของประเทศไทย ดังนั้นอังกฤษควรผ่อนปรนเงื่อนไขอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนไทยรู้สึกว่าได้ข้อตกลงจากการต่อรอง ไม่ใช่การถูกบีบบังคับแต่ฝ่ายเดียว ปรีดีระบุว่าปริมาณข้าวที่มีอยู่จริงมีไม่ถึง 800,000 ตัน และหากต้องส่งมอบข้าวคุณภาพดีตามที่อังกฤษเรียกร้อง ไทยอาจต้องใช้ผลผลิตถึง 3 ฤดูกาลกว่าจะครบจำนวน ถือเป็นการจำนองอนาคตเศรษฐกิจของชาติไว้กับหนี้สงคราม[89] [90]

The Political Adviser in Siam (Yost) to the Secretary of State
ที่มา: “The British Commonwealth”, The Far East, Volume VI
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนอังกฤษที่กรุงเทพฯ (นายฮิวส์ เบิร์ด จากสถานทูตอังกฤษ) กลับยืนยันตัวเลขว่าประเทศไทยมีข้าวเหลือเฟือถึง 1.7 ล้านตัน พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะแก้ไขเงื่อนไขใด ๆ และแสดงท่าทีจะหยุดการเจรจาไว้จนกว่าไทยจะยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดโดยไม่มีข้อแม้[91]
แม้อังกฤษจะให้คุณค่าแก่ขบวนการเสรีไทยในฐานะผู้ร่วมต่อต้านญี่ปุ่น[92] จนช่วยให้ไทยได้รับการปฏิบัติที่ผ่อนปรนมากกว่าประเทศผู้แพ้สงครามโดยตรง แต่อังกฤษยังถือว่าไทยต้องรับผิดชอบจากการที่เคยร่วมมือกับญี่ปุ่นในสงคราม ส่งผลให้การเจรจาสันติภาพเต็มไปด้วยความตึงเครียด ฝ่ายอังกฤษต้องการให้ไทย “ล้างผิด” ด้วยการปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด ขณะที่ฝ่ายไทยพยายามรักษาเอกราชและลดภาระของชาติให้ได้มากที่สุดผ่านการเจรจาต่อรอง
เอกสารและบันทึกทางการทูตของอังกฤษและสหรัฐฯ ช่วยยืนยันภาพรวมของความสัมพันธ์ไทย-อังกฤษในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อดังกล่าวว่า เป็นความสัมพันธ์ที่ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนจากความเป็นปฏิปักษ์ในยามสงคราม มาสู่ความร่วมมือในยามสันติภาพ โดยมีบทบาทของขบวนการเสรีไทยเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้การปรับความเข้าใจระหว่างไทยกับอังกฤษเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ปัญหาข้อเรียกร้องเรื่อง “ข้าว”
แม้ประเทศไทยจะสามารถพลิกสถานการณ์จากประเทศที่เคยร่วมมือกับญี่ปุ่นสู่การเป็นพันธมิตรกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้สำเร็จ การรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไม่ได้จบลงเพียงแค่ “การประกาศสันติภาพ” ในปี 2488 หรือการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 2489 ทว่า ไทยยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากข้อผูกพันระหว่างประเทศ หลายประการ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องเรื่อง “ข้าว” ซึ่งถือเป็นภาระที่หนักหน่วงสำหรับประเทศไทยอย่างยิ่ง เพราะมีปริมาณเทียบเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตข้าวรายปีของไทยในเวลานั้น อีกทั้งรัฐบาลไทยเองก็ไม่ได้มีข้าวในสต็อกตามที่อังกฤษประเมิน (ข้าวส่วนใหญ่อยู่ในมือของเอกชน มิใช่ของรัฐโดยตรง) อังกฤษเรียกร้องข้าวจำนวนนี้โดยอ้างว่าได้รับข้อมูลจากฝ่ายไทยเอง[93]
ในการหารือนอกรอบระหว่างนายสเตอร์นเดล เบนเน็ตต์ (Sterndale Bennett) กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ลอนดอน เสนีย์ได้ระบุว่า รัฐบาลไทยมีข้าวสะสมประมาณ 1.5 ล้านตันอยู่แล้ว และได้เสนอแนวคิดที่จะมอบข้าวจำนวนดังกล่าวให้อังกฤษแก่ปรีดี พนมยงค์ โดยรัฐบาลไทยตกลงรับข้อเสนอนี้ในหลักการ แม้ยังไม่ได้ระบุปริมาณข้าวอย่างชัดเจน[94]
จากบันทึกของกนต์ธีร์ ศุภมงคล ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับข้อเรียกร้องเรื่องข้าวจำนวน 1.5 ล้านตัน ที่ไทยต้องส่งมอบให้อังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยฝ่ายอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มข้อเรียกร้องนี้เอง ผ่านตัวแทนฝ่ายอังกฤษ คือ นายเอสเลอร์ เดนิ่ง (Esler Dening) ซึ่งระบุว่า อังกฤษได้รับข้อมูลมาว่ารัฐบาลไทยมีความตั้งใจจะบริจาคข้าวจำนวนหนึ่งโดยสมัครใจอยู่แล้ว[95] [96] หากไทยแสดงเจตนาดังกล่าวอย่างชัดเจน อังกฤษก็ยินดีที่จะไม่บันทึกข้อความนี้ไว้ในข้อตกลงอย่างเป็นทางการ[97] โดยอังกฤษจะนำข้าวจำนวนดังกล่าวไปใช้บรรเทาความอดอยากในประเทศต่าง ๆ ที่กำลังขาดแคลนอาหารหลังสงคราม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของอังกฤษเพียงฝ่ายเดียว
จากปัญหาเรื่องข้าวดังกล่าว รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามเจรจากับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็สามารถเปลี่ยนเงื่อนไขจากการให้ข้าวเปล่า (โดยไม่คิดมูลค่า) มาเป็นการจำหน่ายข้าวให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรในราคาที่เหมาะสมและใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก ซึ่งช่วยลดภาระของรัฐบาลไทยลงได้อย่างมาก
ปัญหาการส่งมอบข้าวและความพยายามในการเจรจาใหม่
แม้การเจรจาของปรีดีและเสนีย์จะช่วยลดภาระที่ไทยต้องแบกรับได้ระดับหนึ่ง แต่ราคาข้าวที่ตกลงไว้เบื้องต้นกลับต่ำเกินไป ส่งผลให้เกษตรกรและพ่อค้าไม่มีแรงจูงใจขายข้าวให้รัฐบาล เนื่องจากสามารถขายในตลาดเสรีหรือผ่านการลักลอบส่งออกได้ราคาสูงกว่า ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงไม่สามารถส่งมอบข้าวได้ครบตามข้อตกลง ทำให้ต้องเปิดการเจรจาใหม่อีกครั้งในสมัยรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากรัฐบาลของนายปรีดี โดยไทยอ้างถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจภายในประเทศและการสูญเสียดินแดนพระตะบอง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ
จากการเจรจารอบใหม่ อังกฤษและสหรัฐฯ ยอมลดปริมาณข้าวที่ต้องส่งมอบลงอีก 200,000 ตัน เหลือประมาณ 1 ล้านตัน พร้อมทั้งขยายเวลาการส่งมอบออกไปอีก 4 เดือน และปรับเพิ่มราคาซื้อเป็นตันละ £20 รวมทั้งให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกตันละ £4 เพื่อกระตุ้นการเพาะปลูกและช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2490 ดิเรก ชัยนาม อัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ได้ผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษปรับราคารับซื้อข้าวจากไทยให้เทียบเท่ากับราคาตลาดโลก เนื่องจากอังกฤษซื้อข้าวจากพม่าและอินโดจีนในราคาที่สูงกว่าข้าวไทยมาก ความพยายามดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากปรีดี พนมยงค์ ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ขณะนำคณะทูตสันถวไมตรี[98]เดินทางเยือน 9 ประเทศสัมพันธมิตร (เช่น จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ) ตามคำเชิญของรัฐบาลต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัมพันธมิตรยอมรับเอกราชและอธิปไตยของไทย
ในโอกาสนี้เอง ปรีดีได้เจรจากับรัฐบาลอังกฤษเพื่อขอให้ปรับราคารับซื้อข้าวไทยให้สูงขึ้น ในที่สุด เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2490 อังกฤษตกลงขึ้นราคาซื้อข้าวไทยแบบ F.O.B. เป็นตันละ £33 6 ชิลลิง 8 เพนซ์ ซึ่งเทียบเท่ากับราคาข้าวจากพม่า[99] การปรับราคาครั้งนี้ช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถจัดซื้อข้าวจากเกษตรกรได้ง่ายขึ้น เพิ่มรายได้เข้าประเทศ และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของชาติได้ดีขึ้นตามลำดับ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในไทยเพียงสองเดือนต่อมา
สรุปสถานการณ์การเจรจาเรื่องข้าว
จากหลักฐานเอกสารร่วมสมัย (โทรเลข บันทึกประชุม และบันทึกการเจรจา) สามารถสรุปสถานการณ์เกี่ยวกับการเจรจาเรื่องข้าวระหว่างไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ดังนี้:
- จุดยืนและข้อเรียกร้องของอังกฤษ: ในปี 2488 อังกฤษมองว่าไทยเป็นฝ่ายร่วมมือกับญี่ปุ่น จึงเรียกร้องให้ไทยส่งมอบข้าวจำนวน 1.5 ล้านตันโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อชดเชยและช่วยเหลือด้านเสบียงแก่ประเทศในอาณัติที่ขาดแคลนอาหารหลังสงคราม โดยอังกฤษยืนยันว่าไทยไม่ควรได้ประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้นในช่วงนั้น และควรมอบข้าวส่วนเกินให้ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่แสวงกำไร
- การโต้แย้งและการต่อรองของฝ่ายไทย: ฝ่ายไทยภายใต้การนำของนายปรีดี และทีมเจรจา ได้โต้แย้งว่าการส่งมอบข้าวจำนวนมากโดยไม่คิดมูลค่าจะสร้างภาระทางเศรษฐกิจอย่างหนัก เพราะข้าว 1.5 ล้านตันมีมูลค่าถึงประมาณ 740 ล้านบาท (ราว 3 เท่าของงบประมาณแผ่นดินต่อปีในขณะนั้น) ไทยจึงขอลดเงื่อนไขและชี้แจงความยากลำบากในการจัดหาข้าวจากผลผลิตที่ลดลงในช่วงสงครามและความจำเป็นในการบริโภคภายในประเทศ
- บทบาทของสหรัฐอเมริกา: สหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีคัดค้านการเรียกร้องที่รุนแรงเกินไปจากอังกฤษ เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้ถือว่าอยู่ในภาวะสงครามกับไทย และต้องการให้ไทยได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นมิตรเพื่อความมั่นคงของภูมิภาคระยะยาว แรงกดดันจากสหรัฐฯ ส่งผลให้อังกฤษต้องยอมเจรจาสามฝ่ายร่วมกับไทยในเรื่องข้าว
- ผลลัพธ์ของการเจรจา: ผลจากการเจรจาคือการแก้ไขสนธิสัญญา (1 มกราคม 2489 ข้อ 14) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2489 ให้ไทยขายข้าวจำนวน 1.2 ล้านตันให้สัมพันธมิตรแทนการให้ฟรี อังกฤษยอมชำระเงินในราคาที่ตกลงกันไว้ พร้อมช่วยเหลือด้านการขนส่ง ทำให้ไทยได้รับเงินตราจากการส่งออกข้าวเพื่อนำมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทได้
- ความสำเร็จในการลดภาระจากการเจรจา: การเจรจาของปรีดี พนมยงค์ และคณะทำงานช่วยลดภาระของไทยจากเดิมที่อังกฤษเรียกร้องให้เปล่าถึง 1.5 ล้านตัน เหลือเป็นการขายประมาณ 1 ล้านตันในราคาที่เหมาะสม และข้าวที่ไทยต้องให้เปล่าจริง ๆ หลังต่อรองลดเหลือเพียงประมาณ 150,000 ตันเท่านั้น นอกจากนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรยังช่วยฟื้นฟูระบบขนส่งของไทย เช่น ซ่อมแซมสะพาน จัดหารถไฟ และเชื้อเพลิง ซึ่งช่วยให้ไทยสามารถส่งออกข้าวได้สะดวกขึ้นและได้รับเงินตราต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูประเทศ
- ยุทธศาสตร์ทางการทูตของปรีดี: การตัดสินใจของปรีดีในการลงนามข้อตกลงและเสนอการบริจาคข้าว ถือเป็นตัวอย่างของการทูตเชิงประนีประนอมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ท่ามกลางแรงกดดันจากมหาอำนาจ การยอมรับเงื่อนไขบางประการอย่างมีชั้นเชิงทำให้ไทยรักษาเอกราชและลดภาระทางเศรษฐกิจ การบริจาคข้าวยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในสายตานานาชาติ และลดแรงกดดันเรื่องค่าปฏิกรรมสงครามที่อาจหนักหน่วงกว่านี้
ยุทธศาสตร์ของปรีดี พนมยงค์ และผู้นำเสรีไทย ในช่วงปี 2488 เป็นบทเรียนสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าการทูตที่ประสบความสำเร็จต้องใช้วิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ยืดหยุ่น และรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์ชาติและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มั่นคงและยั่งยืน[100]
ดังนั้น หลักฐานเหล่านี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การที่ไทยสามารถรักษาสถานะและเอกราชไว้ได้ มิใช่เพราะโชคช่วยหรือปาฏิหาริย์ใด ๆ หากแต่เกิดจาก “ดุลอำนาจทางการทูต” ระหว่างสองมหาอำนาจ (อังกฤษ-สหรัฐฯ) ที่ต่างฝ่ายต่างมีเงื่อนไขและผลประโยชน์เฉพาะของตน เปิดโอกาสให้ไทยสามารถเจรจาต่อรองจนรอดพ้นจากการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามอย่างเป็นทางการได้ในที่สุด
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมืองไทยหลังสงคราม
เงื่อนไขการส่งมอบข้าวจำนวนมากให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งในรูปแบบบริจาคและการขายในราคาต่ำ ส่งผลให้ตลาดข้าวภายในประเทศตึงตัว ราคาข้าวสารที่เป็นอาหารหลักพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนไทยต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จนเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงในช่วงปี พ.ศ. 2489-2490 ดังที่สะท้อนในแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ที่ระบุว่า “เครื่องบริโภคและอุปโภคทุกอย่างมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก”
รัฐบาลไทยในขณะนั้นต้องดำเนินมาตรการควบคุมราคาและป้องกันการกักตุนอย่างเข้มงวด โดยออกพระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักตุนข้าว รวมถึงประกาศบังคับซื้อข้าว (requisition) จากผู้ค้าเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2489 เพื่อจัดหาข้าวให้เพียงพอต่อการส่งออกตามข้อตกลงระหว่างประเทศ มาตรการเหล่านี้สร้างความไม่พอใจในหมู่พ่อค้าและส่งผลให้กลไกตลาดถูกแทรกแซงอย่างรุนแรง
ในส่วนของเกษตรกรชาวนา ช่วงแรกไม่ได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้นเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่ขายข้าวเปลือกในราคาถูกให้พ่อค้าคนกลางตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเริ่มปรับราคาซื้อและจัดสรรเงินช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นการผลิตช่วงปลายปี 2489 และ 2490 สถานการณ์ของเกษตรกรก็ดีขึ้น แต่ประชาชนไทยโดยรวมยังต้องเผชิญกับภาระค่าครองชีพที่สูงและอัตราเงินเฟ้อที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต
ผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม: ผลกระทบจากเงื่อนไขส่งมอบข้าวมีทั้งด้านลบและบวก ด้านลบในช่วงแรก คือ ไทยสูญเสียโอกาสในการค้าข้าวเสรี ส่งออกข้าวจำนวนมากโดยได้ราคาต่ำกว่าตลาดหรือไม่ได้รับค่าตอบแทน ส่งผลให้รายได้ของประเทศลดลงในช่วงที่ต้องการทุนฟื้นฟูหลังสงคราม
อย่างไรก็ดี เมื่อการเจรจาประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนเงื่อนไขจาก “ข้าวให้เปล่า” เป็น “ข้าวขาย” ไทยก็เริ่มได้รับประโยชน์ เงินตราต่างประเทศจากการขายข้าวช่วยพยุงฐานะการคลังของรัฐบาล และนำไปจัดซื้อสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศ ความเชื่อมั่นของต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก 60 บาทต่อปอนด์ในช่วงหลังสงคราม เป็นประมาณ 40 บาทต่อปอนด์ในปี พ.ศ. 2489 สะท้อนถึงเสถียรภาพทางการเงินที่ดีขึ้น แม้ว่าในระยะสั้นไทยต้องประสบความยากลำบาก แต่ในระยะยาวกลับสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้
ผลกระทบทางการเมือง: เงื่อนไขการส่งมอบข้าวกลายเป็นประเด็นที่กลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหยิบยกมาโจมตีรัฐบาลพลเรือนชุดปรีดี-ธำรง ว่าเป็นความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจและยอมจำนนต่ออังกฤษมากเกินไป ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของฉากหลังที่นำไปสู่การรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 (แม้สาเหตุของรัฐประหารจะซับซ้อนกว่านั้น แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยหนึ่ง)
การยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวของปรีดีและรัฐบาลไทยขณะนั้นเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศให้พ้นจากการถูกครอบงำโดยสมบูรณ์จากฝ่ายสัมพันธมิตร การดำเนินการดังกล่าวต้องมองในบริบทของการเจรจาทางการทูตหลังสงคราม มิใช่การยินยอมโดยสมัครใจส่วนบุคคล และเงื่อนไขดังกล่าวถูกกำหนดโดยฝ่ายผู้ชนะสงคราม (อังกฤษ) ซึ่งไทยจำต้องยอมรับเพื่อรักษาประโยชน์ของชาติในระยะยาว[101]
การเปลี่ยนผ่านสู่รัฐประหาร 2490 และผลกระทบทางประวัติศาสตร์
เมื่อสิ้นสุดสงคราม ขบวนการเสรีไทยได้ยุติบทบาทลงตามคำประกาศของปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า “เสรีไทยไม่ใช่พรรคการเมือง” และมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อรับใช้ชาติในยามคับขันเท่านั้น (อ่านสุนทรพจน์ของรูธ) แม้ประเทศไทยจะสามารถรักษาเอกราชและฟื้นฟูสถานะในเวทีโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สำเร็จภายในเวลาอันสั้น หากแต่เสถียรภาพการเมืองภายในกลับสั่นคลอนอย่างหนักในช่วงปี 2489-2490
ขณะที่รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ (มีนาคม-สิงหาคม 2489) กำลังเผชิญทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากสงคราม และแรงเสียดทานทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม ได้เกิดเหตุการณ์สวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) อย่างกะทันหัน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2489 ส่งผลให้นายปรีดี ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าว กลับถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนำไปใช้โจมตีและใส่ร้ายนายปรีดี ขณะเดียวกันกองทัพที่เคยสูญเสียอำนาจหลังสงคราม ได้ฉวยโอกาสผนึกกำลังกับฝ่ายกษัตริย์นิยมเพื่อโค่นล้มอำนาจของกลุ่มพลเรือนที่มีรากฐานมาจากคณะราษฎร
หลังจากเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 นายปรีดี ซึ่งพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ให้นำคณะทูตสันถวไมตรี[102] เดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 9 ประเทศ เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีและเจรจาเพิ่มเติมเรื่องข้าวและการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 กินระยะเวลา 3 เดือน (Infographic: "ตามรอยเส้นทาง คณะทูตสันถวไมตรี: ของนายปรีดี พนมยงค์ และคณะหลังสิ้นสุดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2")
จนกระทั่งวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหาร นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ และ น.อ.กาจ กาจสงคราม ได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลหลวงธำรงฯ (ซึ่งสืบต่อนโยบายจากรัฐบาลนายปรีดี) ได้สำเร็จ โดยอ้างเหตุผลว่า
- เพื่อเทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- เชิดชูเกียรติของทหารที่ถูกย่ำยีให้ฟื้นกลับคืน
- แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
- สืบหาผู้ปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8
- และขจัดลัทธิคอมมิวนิสต์
รัฐประหารครั้งนี้ ได้ล้มล้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เพิ่งสถาปนาขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2489 และแทนที่ด้วยธรรมนูญฉบับคณะรัฐหาร หรือที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” (อ้างว่าถูกซ่อนไว้ “ใต้ตุ่มน้ำ” ก่อนทำการยึดอำนาจ) และเปิดทางให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม หวนกลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลทหารเต็มตัวในเวลาต่อมา[103] จอมพล ป. ซึ่งสูญเสียอำนาจไปเมื่อปี 2487 และต้องคดีอาชญากรสงคราม (ซึ่งปรีดีได้ช่วยให้รอดพ้นมาได้) ได้อาศัยความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร ในการฟื้นฟูอิทธิพลทางการเมืองของตนอย่างแยบยล และครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานเกือบ 10 ปี (2491-2500) ถือเป็นการปิดฉากยุคคณะราษฎรสายพลเรือน นับตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475 เป็นต้นมา พร้อมกันนั้น ยังเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการหวนคืนสู่อำนาจของกองทัพและกลุ่มอนุรักษนิยม ซึ่งรวมถึงการฟื้นคืนอำนาจทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงหลังสงครามด้วย
กล่าวได้ว่ารัฐประหาร 2490 คือจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเปิดทางไปสู่ระยะเวลาของการเมืองที่กองทัพมีบทบาทนำ และมีการทำรัฐประหารตามมาอีกหลายครั้ง ในทศวรรษต่อ ๆ มา ยุคหลังสงครามที่เคยหวังกันว่าจะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2489 นั้นต้องสะดุดลง ผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาคือการเมืองไทยหันเข้าสู่ความผันผวนภายใต้ระบอบกึ่งเผด็จการทหารและอำนาจนิยม ซึ่งส่งอิทธิพลต่อเนื่องยาวนานถึงยุคสงครามเย็น
ผลของรัฐประหารครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เปลี่ยนขั้วการเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างวาทกรรมใหม่ ๆ ในการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของไทย โดยจงใจลดทอนความสำคัญของเสรีไทยและบทบาทผู้นำพลเรือนลง พร้อมทั้งฟื้นฟูภาพลักษณ์ของฝ่ายทหารและจอมพล ป. ให้กลายเป็นผู้กอบกู้ชาติแทนที่เสรีไทย
รัฐประหาร 2490 และผลกระทบต่อเสรีไทยและนโยบายไทย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐประหาร 2490 เกิดขึ้นได้ ก็คือ "กรณีสวรรคต" ของรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และเป็นที่มาของข่าวลือและข้อกล่าวหาต่อนายปรีดี พนมยงค์ อย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษนิยมและกลุ่มนิยมเจ้า แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายทหารและฝ่ายอนุรักษนิยมในการยึดอำนาจ
อีกปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้คณะรัฐประหาร 2490 ได้รับการสนับสนุนจากคนบางส่วน คือ ความไม่พอใจของสังคมต่อรัฐบาลพลเรือนในเรื่องข้อตกลงหลังสงคราม ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลได้นำเอาประเด็นการส่งมอบข้าวและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไทยยอมให้สัมพันธมิตร มาโฆษณาชวนเชื่อโจมตีว่ารัฐบาลปรีดียอม “ขายชาติ” ให้ต่างชาติ ทั้งที่ความจริงรัฐบาลเลือกทางออกดังกล่าวเพื่อรักษาเอกราชของประเทศ การบิดเบือนประเด็นลักษณะนี้ บวกกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้องหลังสงครามช่วยลดความนิยมในตัวรัฐบาลพลเรือน และถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารได้โดยง่าย
ขณะเดียวกัน ปัจจัยภายนอกจากการเปลี่ยนนโยบายของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เริ่มเข้าสู่บริบทสงครามเย็น ก็ส่งผลให้แนวคิดของปรีดี ที่ต้องการเสริมสร้างความร่วมมือของชาติอาเซียน ถูกตีความว่าใกล้ชิดกับฝ่ายคอมมิวนิสต์[104] ทำให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตกเริ่มลดความไว้วางใจต่อรัฐบาลฝ่ายพลเรือนสายปรีดีลง ฝ่ายทหารจึงอาศัยจังหวะดังกล่าวก่อรัฐประหารโดยอ้างเหตุผลทั้งปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามและข้อกล่าวหาทางการเมือง
ภายหลังรัฐประหาร 2490 คณะราษฎรสายพลเรือนและสมาชิกเสรีไทยหลายคน ถูกกวาดล้างออกจากเวทีการเมืองอย่างรวดเร็ว นายปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ (จากภัยรัฐประหารที่หมายเอาชีวิต ไม่ใช่หนีคดีสวรรคต) ขณะที่สมาชิกเสรีไทยจำนวนมากถูกดำเนินคดีหรือหลบซ่อนตัว
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย (เช่น ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ) ได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทยยุคหลังสงคราม โดยเป็นการยุติอำนาจของกลุ่มเสรีไทย/คณะราษฎรที่นำโดยพลเรือนอย่างถาวร และเปิดทางสู่ยุคที่ทหารและกลุ่มอนุรักษนิยมมีอำนาจนำอีกครั้ง นักวิจัยระบุว่า รัฐประหารครั้งนี้ “ได้ทำลายอำนาจนำทางการเมืองของคณะราษฎร ซึ่งเคยโค่นล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 ลงอย่างสิ้นเชิง และได้สถาปนาระบอบเผด็จการทหารขึ้นมาแทน”[105]
นับแต่นั้น บทบาทและคุณูปการหลายอย่างของนายปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มเสรีไทยก็ค่อย ๆ ถูกลดทอนความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ทางการของไทย เช่น ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การพูดถึงขบวนการเสรีไทยมักไม่ถูกเน้น หรือถูกนำเสนอว่าเป็นเรื่องของบุคคลบางกลุ่ม (เช่น อ้างว่าเสนีย์ มีบทบาทมากกว่าปรีดี)
นอกจากนี้ บทบาทของปรีดีและขบวนการเสรีไทย ในการสนับสนุนเอกราชของประเทศเพื่อนบ้าน ก็ถูกลบออกจากนโยบายของรัฐไทยหลังสงครามทันทีที่กลุ่มอำนาจเปลี่ยนมือ รัฐบาลทหารชุดใหม่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มอนุรักษนิยมและแรงหนุนจากสหรัฐในสงครามเย็น ได้เปลี่ยนนโยบายมาเป็นปราบปรามหรือขัดขวางกลุ่มก่อการในอินโดจีนแทน (มีรายงานว่าหลังรัฐประหาร นักปฏิวัติชาวเวียดนามและลาวที่เคยได้รับที่พักพิงในไทยต้องตกอยู่ในสภาพไร้ที่พึ่ง ถูกตำรวจไทยกดดัน และไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป)[106]
ผลกระทบต่อการเมืองภายในของไทยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจอย่างชัดเจนไปสู่ "ระบอบทหาร" ที่กลายเป็นต้นแบบของรัฐประหารหลายครั้งในเวลาต่อมา ส่วนในด้านนโยบายต่างประเทศ รัฐบาลทหารภายใต้จอมพล ป. ได้หันมาสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก โดยละทิ้งแนวคิด “สันติภาพและความเป็นกลาง” ที่ปรีดีเคยริเริ่มไว้ ส่งผลให้ไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับตะวันตกอย่างเต็มตัว และทำให้บทบาทของกลุ่มเสรีไทยและคณะราษฎรสายพลเรือน ในการกำหนดทิศทางประเทศถูกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
การหยุดชะงักของการเจรจา หลังรัฐประหาร 2490 จากบันทึกของอังกฤษ
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2490 (ก่อนการรัฐประหาร 2 เดือน) รัฐบาลถวัลย์ฯ มีความคืบหน้าอย่างมากในการเจรจา: รัฐบาลได้เสนอให้อังกฤษยอมแก้ไขสนธิสัญญาสงบศึกดังกล่าวเพื่อยกเลิกข้อจำกัดและมาตรการควบคุมต่าง ๆ ทั้งหมด โดยทั้งสองฝ่ายใกล้บรรลุข้อตกลงกันอยู่แล้ว หลักฐานเอกสารไทยระบุว่าการเจรจาเดินหน้าไปจนเกือบจะสำเร็จ หากไม่มีเหตุการณ์ทางการเมืองมาขัดจังหวะเสียก่อน
เหตุรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ซึ่งกลุ่มนายทหารนำโดยจอมพลผิน เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ส่งผลให้กระบวนการเจรจาทางการทูตที่ดำเนินมาก่อนหน้าถูกหยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิง อังกฤษต้องทบทวนความสัมพันธ์และการเจรจากับรัฐบาลใหม่ ที่จัดตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหาร บันทึกทางการทูตของอังกฤษชี้ว่า รัฐบาลทหารชุดใหม่ของไทยถูกมองอย่างระแวดระวัง เนื่องจากมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตผู้นำรัฐบาลสมัยสงครามรวมอยู่ด้วย ซึ่งในสายตาของอังกฤษและชาติตะวันตกช่วงนั้น เขายังคงถูกมองว่าเป็นผู้นำเผด็จการทหารที่เคยร่วมมือกับญี่ปุ่น (ประกาศสงครามกับอังกฤษในปี 2485)
ความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลกะทันหันนี้ ทำให้การเจรจาเรื่องยกเลิกสนธิสัญญาที่เดินหน้ามา ต้องยุติลงทันที และอังกฤษเลือกที่จะชะลอการตกลงแก้ไขหรือยกเลิกสนธิสัญญา ไว้ก่อนจนกว่าจะจัดการเรื่องค้างเก่าบางประการกับรัฐบาลใหม่ได้เรียบร้อย
งานวิจัยทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นชี้ตรงกันว่า การรัฐประหาร 2490 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ กระบวนการยกเลิกสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบ ต้องล่าช้าออกไปหลายปี ทั้งที่น่าจะสะสางได้เร็วกว่านั้น ดังกรณีที่ ถวัลย์ ธำรงฯ ได้เริ่มไว้แต่ถูกขัดจังหวะ หลังรัฐประหาร รัฐบาลใหม่ต้องเริ่มต้นการเจรจาใหม่เกือบทั้งหมด และยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ไทยต้องดำเนินการก่อนอังกฤษจะยอมยกเลิกสนธิสัญญา เช่น การเจรจาปิดบัญชีค่าสินไหมทดแทนในสงครามต่อฝ่ายเครือจักรภพอังกฤษให้เรียบร้อย[107] เอกสารทางการอังกฤษเองก็สะท้อนเรื่องนี้ โดยระบุว่า การยกเลิกสนธิสัญญาฯ อย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นล่าช้าไปจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2497 หรือเกือบ 7 ปีหลังรัฐประหาร ทั้งที่ “บทบัญญัติส่วนใหญ่ของสนธิสัญญาฉบับปี 2489 ได้รับการปฏิบัติครบถ้วนแล้ว” กล่าวคือ แม้ภารกิจตามสนธิสัญญาจะดำเนินมามากแล้ว แต่ไทยกับอังกฤษก็ต้องรอจนกว่าจะสะสางปัจจัยการเมืองและข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่เกิดจากรัฐประหารให้เสร็จสิ้น จึงค่อยยกเลิกสนธิสัญญาได้อย่างสมบูรณ์
การปรับท่าทีของไทยและอังกฤษต่อการยกเลิกสนธิสัญญาหลังรัฐประหาร
หลังรัฐประหาร ท่าทีของทั้งฝ่ายไทยและอังกฤษ มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทใหม่ ฝ่ายไทยภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้เคยเป็นผู้นำในสงครามที่สัมพันธ์ไม่ดีนักกับอังกฤษ แต่ภายหลังกลับพยายามแสดงตนเป็นมิตรต่อฝ่ายตะวันตกและร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผย[108] รัฐบาลจอมพล ป. ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอังกฤษและนานาชาติ จึงยินยอมดำเนินการบางอย่างเพื่อตอบสนองเงื่อนไขของอังกฤษ เช่น ยอมชดใช้ค่าสินไหมให้ชาติในเครือจักรภพอังกฤษแบบเหมาเป็นเงินก้อน โดยการปล่อยทรัพย์สินไทยที่อังกฤษอายัดไว้ เพื่อปิดบัญชีความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่สอง (ข้อตกลงนี้บรรลุในเดือนพฤษภาคม 2493)
ขณะเดียวกัน อังกฤษเองก็ปรับท่าทีอ่อนลงตามแรงจูงใจทางเศรษฐกิจและการเมือง เนื่องจากอังกฤษต้องการข้าวสารจากไทยอย่างมากในช่วงหลังสงครามและต้นสงครามเย็น ทำให้ฝ่ายไทยใช้ความได้เปรียบเรื่องข้าวกดดันอังกฤษจนต้องยอมผ่อนปรนเงื่อนไขหลายประการ โดยอังกฤษยอมล้มเลิกข้อเรียกร้องให้ไทยส่งข้าวให้ฟรี (ตามสนธิสัญญาเดิม) แลกกับการที่ไทยขายข้าวให้ในราคาที่ตกลงกันได้หลังวิกฤตค่าเงินปอนด์ ผลจากการปรับท่าทีทั้งสองฝ่ายนี้ ในที่สุด อังกฤษและไทยจึงสามารถตกลงแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2497 เพื่อล้มเลิก “ความตกลงสมบูรณ์แบบ” ฉบับปี 2489 อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีผลให้สถานะสงครามระหว่างสองประเทศสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์และฟื้นคืนความสัมพันธ์ปกติอย่างถาวร[109]
สรุป: หลักฐานทั้งจากเอกสารไทยและอังกฤษ รวมถึงบทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ ยืนยันว่าการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การยกเลิกสนธิสัญญาสงบศึกไทย-อังกฤษต้องล่าช้า จากเดิมที่ใกล้จะสำเร็จในปี 2490 ต้องเลื่อนออกไปจนปี 2497 ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทยทำให้กระบวนการเจรจาต้องสะดุดและเริ่มใหม่ อังกฤษเองก็รอดูท่าทีรัฐบาลใหม่และเรียกร้องสะสางภาระสงครามก่อน ผลคือ ไทยต้องใช้เวลาร่วม 7 ปี หลังรัฐประหารจึงปลดพันธะสนธิสัญญาสงครามได้ ต่างจากกรณีที่หากไม่มีรัฐประหาร การยกเลิกสนธิสัญญาอาจเกิดขึ้นได้รวดเร็วและราบรื่นกว่านี้ตามที่รัฐบาลพลเรือนชุดเดิมได้วางแนวทางไว้แล้ว
บทสรุป
เหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ได้ชี้ให้เห็นถึงพลวัตที่เปลี่ยนผ่านจากยุคแห่งความร่วมมือเพื่อเอกราช สู่ยุคแห่งความแตกแยกทางการเมืองภายในที่นำไปสู่การปกครองโดยระบอบทหาร บทบาทของขบวนการเสรีไทยเป็นแกนหลักที่ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกปฏิบัติในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม สร้างความชอบธรรมให้ไทยสามารถเจรจาทางการทูตเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของตนได้ ไม่ว่าจะผ่านการประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 หรือนำไปสู่ความตกลงสมบูรณ์แบบในต้นปี 2489 ที่ยุติสถานะสงครามและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนานาชาติ ทว่าภายในประเทศ บทบาทและอิทธิพลของกลุ่มเสรีไทยและผู้นำพลเรือนเช่น ปรีดี พนมยงค์ กลับต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งวิกฤตการณ์การเมือง (เช่น กรณีสวรรคต ร.8) และแรงกดดันของสงครามเย็น ผลลัพธ์คือการรัฐประหาร 2490 ซึ่งไม่เพียงโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนแต่ยังทำให้บทบาทของขบวนการเสรีไทยถูกลบเลือนไปจากการเมืองไทยช่วงนั้นอย่างสิ้นเชิง ยุทธศาสตร์เอกราชของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็เปลี่ยนโฉมไป ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ ไทยเลือกปรับตัวเข้ากับฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกเพื่อความอยู่รอดในสงครามเย็น มากกว่าจะดำเนินนโยบายอิสระแบบที่ผู้นำเสรีไทยเคยดำริไว้
ประสบการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของการเมืองไทยช่วงหลังสงครามโลก ที่ซึ่งอุดมการณ์เพื่อเอกราชและประชาธิปไตยต้องพ่ายแพ้ต่อการช่วงชิงอำนาจภายใน ความสำเร็จทางการทูตภายนอกไม่อาจป้องกันความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน ประเทศไทยหลังสงครามต้องพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อกองทัพและกลุ่มอนุรักษนิยมได้หวนคืนสู่อำนาจผ่านรัฐประหาร 2490 เหตุการณ์นี้ไม่เพียงปิดฉากรัฐบาลคณะราษฎรสายพลเรือน หากยังเปลี่ยนทิศทางการเมืองไทยไปสู่ยุคที่อำนาจทหารและอิทธิพลของสถาบันกษัตริย์เพิ่มมากขึ้น บทเรียนจากยุทธศาสตร์การต่างประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางการทูตของไทยในการรักษาเอกราชท่ามกลางมหาอำนาจ แต่ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของระบอบประชาธิปไตยไทยที่ยังต้องต่อสู้ดิ้นรนกับปัจจัยภายในประเทศเองอยู่เสมอ
อย่างไรก็ดี ในมิติทางประวัติศาสตร์ บทบาทของขบวนการเสรีไทยสมควรได้รับการจดจำในฐานะกลุ่มผู้กล้าที่เสียสละเพื่อให้ชาติไทยคงความเป็นไทหลังสงครามโลก ดังที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าไทยไม่ต้องสูญเสียเอกราชหรือชดใช้ค่าเสียหายจำนวนมากเช่นประเทศผู้แพ้อื่น ๆ ก็เพราะผลงานของเสรีไทยและการทูตของรัฐบาลช่วงนั้น การศึกษาเหตุการณ์จากเสรีไทยสู่รัฐประหาร 2490 จึงเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญถึงความสัมพันธ์ระหว่างการต่างประเทศกับการเมืองภายใน อันชี้ให้เห็นว่าปัจจัยภายนอก (เช่น สงครามโลกและสงครามเย็น) กับปัจจัยภายใน (เช่น ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจ) ล้วนส่งผลถึงกันและกันต่อทิศทางอนาคตของประเทศไทย เสรีไทยช่วยกอบกู้เอกราชของชาติไว้ ส่วนรัฐประหาร 2490 ได้เปลี่ยนทิศทางการเมืองไทยไปสู่ยุคใหม่ที่ต่างไปจากเดิม และทั้งสองส่วนล้วนเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ที่ควรแก่การวิเคราะห์และตีความอย่างรอบด้านและเที่ยงธรรมในเชิงวิชาการ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
- 80 ปี วันสันติภาพไทย: ไทยรอดมาด้วยความบังเอิญ? (ตอนที่ 1)
- 80 ปี วันสันติภาพไทย: ยุทธศาสตร์เสรีไทย หรือ ปาฎิหาริย์? (ตอนที่ 2)
- 80 ปี วันสันติภาพไทย: ยุทธศาสตร์เอกราชไทยหลังสงครามโลก: จากอวสานสงครามสู่รัฐประหาร 2490 (ตอนที่ 3)
- ภาคผนวก: รวมเอกสารทางการทูต ตั้งแต่ปี 2486-2488 ตอนที่ 1
- ภาคผนวก: รวมเอกสารทางการทูต ตั้งแต่ปี 2486-2488 ตอนที่ 2
- ภาคผนวก: รวมเอกสารทางการทูต ตั้งแต่ปี 2486-2488 ตอนที่ 3
[1] หลักเอกราช เป็นหลักข้อแรกในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งกำหนดว่าจะต้องรักษาความเป็นเอกราชของชาติทั้งทางการเมือง การศาล และเศรษฐกิจไว้ให้มั่นคง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นได้ปฏิญาณตนที่จะปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว หลักเอกราชมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของรัฐบาลคณะราษฎรในเวทีระหว่างประเทศ โดยช่วงทศวรรษ 2470-2480 รัฐบาลมุ่งมั่นแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเพื่อฟื้นฟูอธิปไตยเต็มรูปแบบของไทย เช่น การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ชาติตะวันตกเคยมีเหนือไทย หลักการนี้ยังเป็นพื้นฐานทางอุดมการณ์ให้แก่ขบวนการเสรีไทยและนโยบายของนายปรีดี พนมยงค์ในการฟื้นฟูเอกราชของชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเน้นว่าประเทศไทยต้องธำรงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของประชาชนให้กลับคืนมาโดยสมบูรณ์
[2] ภาคผนวก: รวมเอกสารทางการทูต ตั้งแต่ปี 2486 (1943) ถึง 2488 (1945) ตอนที่ 1-3, สถาบันปรีดี พนมยงค์
[3] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช 2483–2495, ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2566, หน้า 345.
[4] บันทึกฝ่ายสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ไทยหลังสงคราม (FRUS), 1946, The Far East, Volume VIII.
[5] การปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย ดำเนินการโดยกองบัญชาการฝ่ายอังกฤษ ภายใต้ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตเทน แต่เดิมมีแผนจะแบ่งไทยออกเป็นสองเขตการปฏิบัติการ (เหนือ-ใต้) ระหว่างกองกำลังจีนและอังกฤษ แต่ผู้สำเร็จราชการฯ (ปรีดี) คัดค้านเพราะเกรงเกิดความไม่สงบ ต่อมาประธานาธิบดีทรูแมนสั่งให้ทหารญี่ปุ่นในไทยยอมจำนนต่อกองบัญชาการฝ่ายอังกฤษเพียงฝ่ายเดียว พลโท จี. เอเวินส์ จึงนำกองพลอินเดียที่ 7 ประมาณ 17,000 นาย เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นราว 120,000 นายทั่วไทย โดยฝ่ายไทยส่งผู้แทนทางทหารร่วมอำนวยความสะดวก และค่าใช้จ่ายทั้งหมดตกเป็นภาระของฝ่ายไทยตามข้อตกลงที่ทำไว้ (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 296-332).
[6] จอมพล ป. ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 หลังสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติพ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องกับแผนการสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์ เปิดทางให้ปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยนายควงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา แม้จอมพล ป. จะยังดำรงตำแหน่งผบ.สูงสุด แต่เขาก็ไม่สามารถตอบโต้การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายซึ่งจะกระทบต่อการรบในภูมิภาค ขณะเดียวกัน จอมพล ป. เองก็สูญเสียการสนับสนุนจากทั้งนักการเมือง ประชาชน และกองทัพไทยบางส่วน เนื่องจากมีแนวโน้มเป็นเผด็จการ และนิยมระบอบฟาสซิสต์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับเป็นชัยชนะทางการเมืองสำคัญของปรีดี ส่งผลให้การเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นดำเนินการได้สะดวกมากขึ้น รัฐบาลใหม่ของนายควงประกอบด้วยสมาชิกจากขบวนการเสรีไทยหลายคน (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 213-216).
[7] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 258-259.
[8] อังกฤษยินดีที่จะให้ไทยได้รับความมั่นคงบริบูรณ์ ในฐานะที่เป็นประเทศอิสระมีอธิปไตยและเอกราช แต่รัฐบาลอังกฤษไม่อาจลืมพฤติการณ์ที่รัฐบาลจอมพล ป. เป็นผู้เริ่มประกาศสงครามกับอังกฤษโดยไม่คำนึงถึง “สนธิสัญญาไม่รุกราน” ที่มีอยู่กับอังกฤษ และขอเตือนประชาชนชาวไทยว่า จะต้องลงมือทำการปลดปล่อยประเทศด้วยตนเอง (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 204).
[9] เพิ่งอ้าง, หน้า 532. (สหรัฐอเมริกาไม่ถือประเทศไทยเป็นศัตรู แต่อังกฤษถือ และบังคับให้ต้องทำข้อตกลงเลิกสถานะสงคราม)
[10] การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 โดยรัฐบาลจอมพล ป. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนพระราชอำนาจ; ผู้สำเร็จราชการฯ ลงนามไม่ครบถ้วน และไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อีกทั้งยังขัดต่อประกาศพระบรมราชโองการให้ปฏบัติตามความเป็นกลาง พ.ศ. 2482
[11] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 287.
[12] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 284.
[13] Byrnes, Secretary of State, Telegram to the Ambassador in the United Kingdom (Winant), Washington, August 15, 1945, 3 p.m., 740.0011 PW/8-1545.
[14] Charivat Santaputra (จัดพิมพ์โดยกระทรวงการต่างประเทศ), Thai Foreign Policy 1932-1946, Page 337.
[15] เพิ่งอ้าง, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 296-332.
[16] เพิ่งอ้าง, Thai Foreign Policy 1932-1946, Page 337.
[17] ผู้สำเร็จราชการฯ (ปรีดี) มีดำริให้รัฐบาลนายควงลาออก เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีจุดยืนร่วมมือฝ่ายสัมพันธมิตรเต็มที่ โดยเสนอให้เสนีย์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเขาประกาศต่อต้านญี่ปุ่นชัดเจนในฐานะทูตไทยประจำสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นายเดนิ่ง ตัวแทนฝ่ายอังกฤษ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยให้เหตุผลว่าเสนีย์อยู่นอกประเทศนานเกินไป ขาดความจัดเจนทางการเมือง และไม่มีฐานสนับสนุนที่เข้มแข็งในรัฐสภาอังกฤษและสหรัฐฯ ยังเห็นตรงกันว่าปรีดี น่าจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากใกล้ชิดสถานการณ์ในประเทศ และมีความสัมพันธ์ดีกับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับโทรเลขจากผู้สำเร็จราชการฯ เสนีย์ก็ตอบตกลงรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่าตนเองไม่มีทางเลือกอื่น และถือเป็นหน้าที่เพื่อประเทศชาติ เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความไม่มั่นใจของอังกฤษต่อสถานะไทย เพราะอังกฤษยังคงมองไทยเป็นฝ่ายศัตรูสงครามอยู่ ต่างจากสหรัฐฯ ที่มีท่าทีเป็นมิตรมากกว่า อันเนื่องมาจากจุดยืนชัดเจนต่อต้านญี่ปุ่นของเสนีย์ ตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 305-306).
[18] การปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย ดำเนินการโดยกองบัญชาการฝ่ายอังกฤษ ภายใต้ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตเทน แต่เดิมมีแผนจะแบ่งไทยออกเป็นสองเขตการปฏิบัติการ (เหนือ-ใต้) ระหว่างกองกำลังจีนและอังกฤษ แต่ผู้สำเร็จราชการฯ (ปรีดี) คัดค้านเพราะเกรงเกิดความไม่สงบ ต่อมาประธานาธิบดีทรูแมนสั่งให้ทหารญี่ปุ่นในไทยยอมจำนนต่อกองบัญชาการฝ่ายอังกฤษเพียงฝ่ายเดียว พลโท จี. เอเวินส์ จึงนำกองพลอินเดียที่ 7 ประมาณ 17,000 นาย เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นราว 120,000 นายทั่วไทย โดยฝ่ายไทยส่งผู้แทนทางทหารร่วมอำนวยความสะดวก และค่าใช้จ่ายทั้งหมดตกเป็นภาระของฝ่ายไทยตามข้อตกลงที่ทำไว้ (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 296-332).
[19] จากบันทึกของอังกฤษ (7 มีนาคม ค.ศ.1945) สหรัฐฯ เห็นว่าข้อเสนอของฝ่ายไทยที่เจรจาที่แคนดีและวอชิงตันไม่แตกต่างกันในสาระสำคัญ โดยไทยยืนยันจะประกาศสงครามกับญี่ปุ่น ยกเลิกคำประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. คืนดินแดนที่ได้มาจากญี่ปุ่น และเสนอจัดตั้งรัฐบาลไทยเสรีชั่วคราวในต่างประเทศจนกว่าผู้สำเร็จราชการฯ (ปรีดี) จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในประเทศได้ สหรัฐฯ เชื่อมั่นในความจริงใจของปรีดี และขบวนการเสรีไทย จึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการปลดปล่อยไทยเสรี” (Free Thai Liberation Committee) ในต่างประเทศ โดยมีตัวแทนประจำกรุงวอชิงตัน ลอนดอน และฉงชิ่ง เพื่อประโยชน์ในการต่อต้านญี่ปุ่นและสนับสนุนเป้าหมายของฝ่ายสหประชาชาติในสงครามโลกครั้งที่ 2 (United States Department of State, Aide-Mémoire to the British Embassy, 892.01/3-745, in Foreign Relations of the United States: Diplomatic Papers, 1945, The British Commonwealth, The Far East, Volume VI).
[20] อ้างแล้ว.
[21] รัฐบาลอังกฤษได้วางแนวนโยบายล่วงหน้าเกี่ยวกับการเจรจากับรัฐบาลไทยที่หลุดพ้นจากอิทธิพลญี่ปุ่น โดยตั้งเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ไทยต้องปฏิเสธความร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง ยินยอมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่อังกฤษได้รับจากการที่ไทยร่วมมือกับญี่ปุ่น และต้องจัดทำความตกลงทางทหารกับกองบัญชาการสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อร่วมต่อต้านญี่ปุ่น หากไทยปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว อังกฤษจึงจะยอมรับรัฐบาลไทยชุดใหม่อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี อังกฤษยังไม่เปิดเผยเงื่อนไขเหล่านี้ต่อสาธารณะในทันที เพราะต้องนำไปหารือกับรัฐบาลในเครือจักรภพที่เกี่ยวข้องก่อน (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 242, 286).
[22] รัฐบาลจอมพล ป. ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ทั้งที่รัฐบาลไทยเคยประกาศความเป็นกลางไว้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2482 หลังสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นเพียงสี่วัน พร้อมออกพระบรมราชโองการในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนไทยรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดตลอดสงคราม (ราชกิจจานุเบกษา, 5 กันยายน 2482, เล่ม 56, หน้า 847–849).
[23] รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เพื่อประกาศว่าการประกาศสงครามเมื่อปี 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญ เจตจำนงของประชาชน และพระบรมราชโองการว่าด้วยการรักษาความเป็นกลางตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง ประกาศนี้ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการยอมรับจากฝ่ายสัมพันธมิตรในเวลาต่อมา (การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 283-285).
[24] Charivat Santaputra, Thai Foreign Policy, Page 336.
[25] อ้างแล้ว. The declaration of the war was both contrary to the will of the Thai people as well as constituting an infringement of the provisions of the Constitution and the law of the land.
[26] เพิ่งอ้าง, US Dept. of State, Aide-Mémoire to British Embassy, 892.01/3-745, FRUS 1945, VI.
[27] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 284-287.
[28] เพิ่งอ้าง.
[29] Ballantine, Memorandum, August 18, 1945, in Foreign Relations of the United States: Diplomatic papers, 1945, The British Commonwealth, The Far East, Volume VI.
[30] เพิ่งอ้าง.
[31] อ้างแล้ว, in FRUS: Diplomatic Papers, 1945, The British Commonwealth, The Far East, Volume VI.
[32] การที่อังกฤษรับรองว่าจะไม่บังคับให้ไทยยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับญี่ปุ่นนั้น แสดงให้เห็นว่าสัมพันธมิตรไม่ได้มองไทยเป็นศัตรูอย่างเต็มที่ อีกทั้งการที่ฝ่ายสัมพันธมิตรขอให้ไทยมอบกำลังทหารเพื่อช่วยปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ก็ย่อมหมายถึงจะไม่ปลดอาวุธกองทัพไทยในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม ข้อเรียกร้องสำคัญของฝ่ายสัมพันธมิตรมีเพียงการให้ไทยประกาศยกเลิกการประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. และยกเลิกความร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์ ดังนั้น การที่ผู้สำเร็จราชการฯ (ปรีดี) ออก “ประกาศสันติภาพ” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 จึงเป็นไปตามคำแนะนำของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งปรึกษาฝ่ายกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษมาแล้ว ว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป. นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่มีผลบังคับตั้งแต่แรก (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 287).
[33] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 291.
[34] เพิ่งอ้าง, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 204.
[35] Nicholas Tarling, An Attempt to Fly in The Face of The Ordinary Laws of Supply and Demand: The British and Siamese Rice 1945-1947, The University of Auckland, Volume 75, 1987.
[36] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 537. (รัฐบาลอเมริกันท้วงติงแผนการของอังกฤษที่จะเอาข้าวเปล่า 1.5 ล้านตันจากไทย เนื่องจากมองว่าเป็นภาระเกินควร)
[37] อังกฤษได้จัดทำข้อกำหนดเพื่อเลิกสถานะสงครามกับไทยอย่างเร่งด่วน โดยแบ่งเป็นข้อกำหนดทางทหาร (ฉบับที่ 1) และข้อกำหนดทางการเมือง (ฉบับที่ 2) ซึ่งนายเดนิ่งจะเป็นผู้เจรจากับไทยในนามรัฐบาลอังกฤษ อังกฤษต้องการหลีกเลี่ยงการจัดทำเป็นสนธิสัญญาสันติภาพแบบเต็มรูปแบบ เนื่องจากเกรงว่าอาจมีความล่าช้าจากการให้สัตยาบันหรือการเจรจาแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากฝ่ายสหรัฐฯ อังกฤษจึงเลือกทำเป็น "หัวข้อความตกลงระหว่างรัฐบาล" ซึ่งจะมีผลบังคับทันทีหลังลงนาม และจะทำความตกลงสมบูรณ์ในภายหลัง แม้อังกฤษยืนยันหนักแน่นว่าไทยต้องรับข้อเสนอของอังกฤษโดยไม่มีการต่อรองหรือเรียกร้องใด ๆ แต่ท้ายที่สุด อังกฤษได้ผ่อนปรนให้ไทยสามารถนำร่างความตกลงไปขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนลงนามทางการ เพื่อให้เกิดความราบรื่นและแสดงความเป็นมิตรระหว่างสองฝ่าย (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 295-297, 343-361).
[38] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 356-357. (วันที่ 14 ธันวาคม 2488 นายโยสต์โทรเลขรายงานกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันว่า รัฐบาลไทยตกลงยินยอมจะลงนามกับอังกฤษแล้ว เพราะเห็นว่าไทยเป็นประเทศเล็ก ต้องเผชิญหน้ากับประเทศใหญ่ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะยอมคล้อยตามเท่าที่เป็นมาสามารถหน่วงรั้งการทำความตกลงกับอังกฤษไว้นานกว่าสามเดือนแล้วหากจะถ่วงต่อไปเกรงว่าจะทำให้ข้อกำหนดของอังกฤษรุนแรงหนักยิ่งขึ้น)
[39] Charivat Santaputra, Thai Foreign Policy, Page 329.
[40] รายงานประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29/2488 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3, วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488, หน้า 19.
[41] ฝ่ายอังกฤษไม่ได้ผ่อนปรนให้ไทยด้วยเหตุผลส่วนตัว แต่เพราะตระหนักถึงคุณูปการของขบวนการเสรีไทยที่ร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อต้านญี่ปุ่นเป็นเวลานานหลายปี ถือเป็นการแสดงความรับรู้ถึงความเสียสละของประชาชนไทยโดยรวม (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย, หน้า 288).
[42] British Embassy to the Department of State, Notes for Oral Communication to Mr. Ballantine, 892.01/4-245, in Foreign Relations of the United States: Diplomatic Papers, 1945, The British Commonwealth, The Far East, Volume VI.
[43] Charivat Santaputra, Thai Foreign Policy, Page 346.
[44] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 340.
[45] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 358.
[46] Charivat Santaputra, Thai Foreign Policy, Page 342
[47] อังกฤษถือว่าการเจรจาเพื่อเลิกสถานะสงครามกับไทยเป็นกิจการเฉพาะของอังกฤษ แต่เนื่องจากสหรัฐฯ แสดงความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด อังกฤษจึงต้องแจ้งหัวข้อความตกลงให้สหรัฐฯ ทราบล่วงหน้า พร้อมกำชับให้นายเดนิ่งดำเนินการให้ไทยยอมรับข้อกำหนดต่าง ๆ โดยสมัครใจ มิใช่ด้วยการบีบบังคับ ด้านสหรัฐฯ เองนั้น ไม่เคยถือว่ามีสถานะสงครามกับไทย และเตรียมพร้อมที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างรวดเร็ว โดยเสนอให้แต่งตั้งนายจอร์ช แอจิสัน เป็นเอกอัครราชทูต และส่งนายชาร์ลส์ โยสต์ มาดำรงตำแหน่งอุปทูตที่กรุงเทพฯ ชั่วคราวก่อน แต่อังกฤษขอให้สหรัฐฯ ชะลอไว้จนกว่าจะบรรลุข้อตกลงสมบูรณ์กับไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันไม่ให้สถานะสงครามของอังกฤษกับไทยต้องถูกกดดันจากการกระทำของฝ่ายสหรัฐฯ (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 335).
[48] รัฐบาลไทยเป็นฝ่ายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของกองทหารอังกฤษที่เข้ามาปลดอาวุธและจัดส่งทหารญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย รวมเป็นเงินประมาณ 91 ล้านบาท ในความเป็นจริงฝ่ายอังกฤษสามารถถอนกำลังได้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2488 แต่เนื่องจากนายเดนิ่งต้องการใช้กองกำลังทหารเป็นแรงกดดันทางอ้อม เพื่อเร่งให้ไทยยอมรับเงื่อนไขเลิกสถานะสงครามโดยเร็ว อังกฤษจึงเหนี่ยวรั้งกำลังทหารไว้ในไทยจนกว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จ หลังจากบรรลุข้อตกลงและสิ้นสุดการเจรจาแล้ว กองทหารอังกฤษจึงทยอยถอนกำลังกลับ (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 333).
[49] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 558.
[50] “ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง” ไทยรอดพ้น “ผู้แพ้” สงครามโลกครั้งที่ 2, Thai PBS, 26 กุมภาพันธ์ 2568, Website: https://www.thaipbs.or.th/news/content/349680.
[51] อ้างแล้ว.
[52] อ้างแล้ว.
[53] ๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, 23 สิงหาคม 2543, หน้า 531.
[54] ๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, 23 สิงหาคม 2543, หน้า 530-532. (อธิบายถึงรากเหง้าความขัดแย้งระหว่างปรีดีกับเสนีย์ว่ามาจากความไม่ไว้วางใจของเสนีย์ที่มีต่ออังกฤษ โดยเสนีย์ยังยึดติดกับภาพเดิมของอังกฤษว่าเป็นจักรวรรดินิยม ขณะที่ปรีดีมีความเข้าใจที่ทันสมัยกว่า โดยเชื่อว่าอังกฤษเปลี่ยนนโยบายแล้ว ความไม่ลงรอยนี้นำไปสู่ความแตกแยกทางการเมือง และเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามของปรีดีฉวยโอกาสดึงเสนีย์ไปอยู่ฝ่ายตน)
[55] อ้างแล้ว.
[56] อ้างแล้ว, หน้า 531.
[57] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 536.
[58] เพิ่งอ้าง.
[59] เพิ่งอ้าง.
[60] เพิ่งอ้าง, หน้า 535-536.
[61] เพิ่งอ้าง, หน้า 534-536.
[62] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 357.
[63] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 335.
[64] การเรียกร้องข้าวจำนวนมหาศาลเช่นนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย ไทยจึงขอความเห็นใจจากอังกฤษให้ผ่อนปรนข้อเรียกร้องลง อย่างไรก็ดี นายเดนิ่งยังคงท่าทีแข็งกร้าว โดยยืนยันตัวเลข 1.5 ล้านตันตามเดิม แม้จะยอมให้รวมข้าวหักด้วยก็ตาม ทั้งยังปฏิเสธที่จะใช้ประเด็นนี้เป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการผ่อนปรนเงื่อนไขอื่น และเตือนว่าหากไทยยังเหนี่ยวรั้งเรื่องนี้ อังกฤษอาจประกาศให้ประชาชนในภูมิภาครับรู้ว่าไทยเป็นต้นเหตุของความล่าช้าในการบรรเทาความเดือดร้อน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงข้อเรียกร้องดังกล่าวกับโอกาสที่ไทยจะกลับคืนสู่ประชาคมโลกและการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยย้ำว่าการเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษและฝรั่งเศสจำเป็นต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อน (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 355).
[65] เพิ่งอ้าง, ปาฏิหาริย์นั้นมีจริงฯ, Thai PBS.
[66] เพิ่งอ้าง, ปาฏิหาริย์นั้นมีจริงฯ, Thai PBS.
[67] ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2488 รัฐบาลเสนีย์ ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 และมีการขยายวาระถึงสองครั้งระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 322, 350).
[68] เพิ่งอ้าง, ปาฏิหาริย์นั้นมีจริงฯ, Thai PBS.
[69] เพิ่งอ้าง, ๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ฯ.
[70] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 355. (อ้างว่า เมื่อเสนีย์ ปราโมช ผ่านกรุงลอนดอนกลับกรุงเทพฯได้แจ้งต่อนายเบนเน็ตต์ เองว่า ประเทศไทยมีข้าวเหลือสะสมอยู่จาก ปีก่อน ๆ 1.5 ล้านตัน)
[71] Nicholas Tarling, "Rice and Reconciliation: The Anglo-Thai Peace Negotiations of 1945." Journal of the Siam Society 66, no. 2 (1978): 59-75. https://thesiamsociety.org/wp-content/uploads/1978/03/JSS_066_2c_Tarling_RiceAndReconciliationAngloThaiPeaceNegotiations1945.pdf.
[72] รายงานประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29/2488 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3, วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488, หน้า 3.
[73] เพิ่งอ้าง, Nicholas Tarling, Page 77-78.
[74] เดนิ่งเข้าใจผิดว่าฝ่ายไทยจงใจใช้ข้อกฎหมายนี้เพื่อถ่วงเวลา รอให้สหรัฐฯ เข้ามาช่วยต่อรองกับอังกฤษ ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเองก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางบีบบังคับของเดนิ่ง เนื่องจากการที่ฝ่ายไทยยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นหลักถือว่าชอบธรรมแล้ว และเห็นว่าการกดดันฝ่ายไทยให้ละเมิดรัฐธรรมนูญจะยิ่งก่อให้เกิดความล่าช้าและเสียหายต่อความสัมพันธ์ ไทยเองก็พร้อมจะให้ความร่วมมือหากอังกฤษแสดงท่าทีเป็นมิตรและช่วยกันหาทางออกร่วมกันมากกว่าการบีบบังคับ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์และช่วยให้การเจรจาสำเร็จลุล่วงเร็วขึ้น (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 342-343).
[75] กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษแจ้งกลับมายังนายเดนิ่งเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2488 โดยยืนยันขอข้าวจำนวน 1.5 ล้านตันตามเดิม แต่ยอมให้รวมข้าวหักไว้ด้วย โดยอ้างว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนที่เสนีย์ เคยแจ้งกับนายเบ็นเน็ทท์ ที่ลอนดอนขณะเดินทางกลับไทย ว่าไทยมีข้าวคงคลังจากปีก่อน ๆ อยู่จำนวนประมาณ 1.5 ล้านตัน ดังนั้นอังกฤษจึงยืนยันขอรับข้าวส่วนนี้ มิใช่ข้าวจากผลผลิตใหม่ของปี พ.ศ. 2488 พร้อมระบุว่าอังกฤษเข้าใจความยุ่งยากเรื่องการขนส่ง และจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 355).
[76] อ้างแล้ว, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 355.
[77] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 353.
[78] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 537. (รัฐบาลอเมริกันท้วงติงแผนการของอังกฤษที่จะเอาข้าวเปล่า 1.5 ล้านตันจากไทย เนื่องจากมองว่าเป็นภาระเกินควร)
[79] ๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, 23 สิงหาคม 2543, หน้า 535. (ศุภสวัสดิ์ฯ ชี้ให้เห็นว่าการแต่งตั้งเสนีย์เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ปรีดีเป็นผู้ริเริ่มเอง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าเขาไม่มีความทะเยอทะยานที่จะยึดอำนาจ นอกจากนี้ปรีดียังดำเนินการสำคัญอื่น ๆ เช่น การให้อธิบดีตำรวจ อดุลฯ ลาออก เพื่อสร้างความไว้วางใจแก่ประชาชน และการเชิญพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกลับประเทศ เพื่อสร้างเอกภาพของชาติ)
[80] ปกติการยุติสถานะสงคราม ต้องดำเนินการโดยการทำสนธิสัญญาสันติภาพ ซึ่งต้องผ่านการให้สัตยาบันจากรัฐสภา แต่กรณีของไทยถือเป็นข้อยกเว้น อังกฤษต้องการเร่งรัดกระบวนการ จึงเลือกทำความตกลงกับไทยในลักษณะฉันมิตร มิใช่การบังคับโดยอาศัยสนธิสัญญาสันติภาพ โดยจัดทำในรูปหัวข้อความตกลงระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Agreement) ซึ่งมีผลบังคับทันทีเมื่อผู้แทนสองฝ่ายลงนามกัน โดยไม่ต้องรอสัตยาบันจากรัฐสภา และจะประกาศเลิกสถานะสงครามอย่างเป็นทางการในเบื้องต้น จากนั้นจึงจัดทำข้อตกลงที่สมบูรณ์แบบ (Formal Agreement) ตามมาภายหลัง
[81] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 343.
[82] Great Britain, India, and Siam. Agreement between the Government of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland and the Government of India on the one hand and the Siamese Government on the other for the Termination of the State of War. Treaty Series No. 10 (1951). London: His Majesty's Stationery Office, 1946. (Cmd. 8140).
[83] เพิ่งอ้าง, Thai PBS.
[84] Ballantine, Memorandum of Conversation, Washington, April 9, 1945, 892.01/4-945, in Foreign Relations of the United States: Diplomatic Papers, 1945, The British Commonwealth, The Far East, Volume VI.
[85] Great Britain, India, and Siam. "Agreement between the Government of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland and the Government of India on the one hand and the Siamese Government on the other for the Termination of the State of War." Treaty Series No. 10 (1951). London: His Majesty's Stationery Office, 1946.
[86] เพิ่งอ้าง, กนต์ธีร์ ศุภมงคล, หน้า 422.
[87] กนต์ธีร์ ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญที่ไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ คือการทำหน้าที่เป็น “พรายกระซิบ” แจ้งความคืบหน้าของการเจรจากับอังกฤษให้ฝ่ายอเมริกันทราบโดยตรง ระหว่างการประชุมเจรจาที่แคนดีในปี พ.ศ. 2488 โดยกนต์ธีร์ได้ใช้ช่องทางลับติดต่อกับนายชาร์ลส์ โยสต์ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ถูกส่งมาเป็นผู้สังเกตการณ์การเจรจา ข้อมูลที่กนต์ธีร์รายงานช่วยให้ฝ่ายอเมริกันเข้าใจสถานการณ์และท่าทีของไทยได้ดีขึ้น และมีส่วนช่วยให้สหรัฐฯ สามารถเจรจาโน้มน้าวอังกฤษให้ยอมรับข้อทักท้วงในเงื่อนไขบางประการที่อังกฤษตั้งไว้กับไทย การทำหน้าที่ครั้งนี้ยังส่งผลดีในระยะยาว คือทำให้กนต์ธีร์และโยสต์มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ หลังสงคราม โดยโยสต์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งอุปทูตอเมริกันคนแรกที่กรุงเทพฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง (กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 341).
[88] อ้างแล้ว.
[89] นายโยสต์ รายงานถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1945 ระบุถึงท่าทีของผู้สำเร็จราชการฯ (ปรีดี) ว่า ไทยได้เสียสละยอมรับเงื่อนไขการบริจาคข้าวให้อังกฤษ จึงควรที่อังกฤษจะผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการให้ไทยบ้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าข้อตกลงนี้เกิดจากการเจรจา ไม่ใช่สัญญาสันติภาพที่ถูกบังคับ โดยปรีดียืนยันว่าไทยมีข้าวส่งออกได้เพียง 800,000 ตัน และการที่อังกฤษเรียกร้องข้าวคุณภาพดีถึง 1.5 ล้านตันนั้น จะทำให้ไทยต้องนำผลผลิตถึง 3 ปีข้างหน้ามาตอบสนองเงื่อนไขนี้ ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออนาคตเศรษฐกิจของชาติ ขณะที่นายเบิร์ด (ตัวแทนอังกฤษ) ยืนยันหนักแน่นว่ารัฐบาลอังกฤษไม่ยอมผ่อนปรนหรือเปิดโอกาสให้เจรจาเพิ่มเติม โดยยืนกรานว่าไทยมีข้าวส่งออกได้ถึง 1.7 ล้านตัน และเห็นว่าการเจรจาไม่ควรดำเนินต่อจนกว่าฝ่ายไทยจะพร้อมยอมรับเงื่อนไขของอังกฤษอย่างไม่มีข้อแม้.
[90] Yost, Political Adviser in Siam, Telegram to the Secretary of State, Bangkok, [November 13, 1945], received November 15, 11 a.m., 741.92/11-1545, in Foreign Relations of the United States: Diplomatic Papers, 1945, The British Commonwealth, The Far East, Volume VI.
[91] อ้างแล้ว.
[92] United States Department of State, Aide-Mémoire to the British Embassy, 892.01/3-745, in Foreign Relations of the United States: Diplomatic Papers, 1945, The British Commonwealth, The Far East, Volume VI.
[93] เพิ่งอ้าง.
[94] เพิ่งอ้าง, Nicholas Tarling, Page 77-78.
[95] ในการเจรจาที่เมืองแคนดี ระหว่างไทยกับอังกฤษในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 อังกฤษได้เสนอเงื่อนไขให้ไทยส่งมอบข้าวจำนวน 1.5 ล้านตันโดยไม่คิดมูลค่า ขณะที่ฝ่ายไทยเองได้เตรียมแนวทางบริจาคข้าวโดยสมัครใจไว้ก่อนแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์ว่าถูกบังคับ ฝ่ายอังกฤษจึงแจ้งว่าหากไทยยืนยันการบริจาคด้วยความสมัครใจ อังกฤษจะตัดข้อความบังคับดังกล่าวออกจากข้อตกลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังคงกังวลว่าการส่งมอบข้าวจำนวนมหาศาลนี้ (มูลค่าประมาณ 740–780 ล้านบาทในขณะนั้น) อาจก่อให้เกิดแรงเสียดทานทางการเมืองภายในประเทศ นายกฯเสนีย์ เห็นว่า แม้สภาผู้แทนราษฎรจะไม่พอใจอยู่บ้าง แต่การเร่งลงนามให้เสร็จสิ้นย่อมดีกว่าปล่อยให้การเจรจายืดเยื้อจนส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ เช่น ค่าเงินบาทอาจตกต่ำและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอาจสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว.
[96] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 337.
[97] อ้างแล้ว.
[98] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 471-480.
[99] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 539.
[100] Ballantine, Memorandum of Conversation, Washington, April 9, 1945, 892.01/4-945, in Foreign Relations of the United States: Diplomatic Papers, 1945, The British Commonwealth, The Far East, Volume VI.
[101] แหล่งข้อมูลอ้างอิง: เอกสารทางการไทย (เช่น แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศเรื่องยุติสถานะสงคราม) และ บันทึกฝ่ายสัมพันธมิตร ต่างยืนยันเงื่อนไขการส่งมอบข้าวในสนธิสัญญาปี 2489 ; งานศึกษาของนักประวัติศาสตร์ เช่น E. Bruce Reynolds (2005) และ Herbert Fine (1965) อธิบายบริบทการเจรจาและข้อเรียกร้องของอังกฤษ โดยชี้ว่าแรงกดดันจากสหรัฐฯ ช่วยให้เงื่อนไขของอังกฤษผ่อนลงบ้าง แต่ไทยก็ยังต้องรับภาระส่งข้าวจำนวนมากอยู่ดี ; นอกจากนี้ งานวิจัยด้านเศรษฐกิจไทย ระบุรายละเอียดผลกระทบของข้อตกลงดังกล่าวว่าไทยสูญเสียรายได้ค่าออกข้าวอย่างมหาศาล รัฐต้องควบคุมราคาข้าวจนเกิดตลาดมืด และมาตรการผูกขาดข้าวของรัฐสร้างความไม่พอใจในวงกว้าง ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับภาพรวมเหตุการณ์จริงในช่วงปี 2488-2490 ที่ประเทศไทยต้องปรับตัวรับมือเงื่อนไขหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างหนักหน่วง.
[102] เพิ่งอ้าง, กนต์ธีร์ ศุภมงคล, หน้า 471-480.
[103] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยฯ, หน้า 606. (บันทึกเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 – คณะรัฐประหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจจากรัฐบาล ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และเชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าร่วมรัฐบาลใหม่).
[104] ในช่วงรัฐบาลของปรีดี ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ขบวนการชาตินิยมเวียดนามและลาว (เช่น การให้ที่พักพิงแก่สมาชิกเวียดมินห์และลาวอิสระที่หนีฝรั่งเศสเข้ามาในไทย) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สร้างเอกราชและอิสรภาพในภูมิภาค.
[105] The United States and the coming of the coup of 1947 in siam, Journal of the Siam Society, Volume 75, 1987.
[106] Goscha, Thailand and the Southeast Asian Networks of the Vietnamese Revolution (1885-1954).
[107] The Quest For THAI-US Alliance, Apichart Chinwanno, Ministry of Foreign Affairs, 2021, Page 150.
[108] Policy Statement Prepared in the Department of State, October 15, 1950.
[109] Treaty Series No.19, March 1954.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน
- ปรีดี พนมยงค์
- ศ.ดร.กนต์ธีร์ ศุภมงคล
- ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน
- ลอร์ดคิลเลิร์น
- สเตอร์นเดล เบนเน็ตต์
- ประกาศสันติภาพ
- โมฆะสงคราม
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- รัฐประหาร 2490
- ควง อภัยวงศ์
- รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
- สัมพันธมิตร
- อังกฤษ
- สหรัฐอเมริกา
- ความตกลงสมบูรณ์แบบ
- วันสันติภาพไทย