ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

อุปสรรคกับการพิทักษ์ประชาธิปไตย

18
กุมภาพันธ์
2564

การปฏิวัติ 2475 ได้สร้างสังคมใหม่ที่อำนาจสูงสุดการปกครองเป็นของพลเมืองทุกคน ซึ่งครั้งหนึ่งพวกเขาเป็นเพียงผู้อาศัยได้กลายมาเป็นเจ้าของประเทศนั้น การเปลี่ยนแปลงหลักการไปจากระบอบราชาธิปไตย หาได้รับการยอมรับจากกลุ่มอภิชนคนชั้นสูง ผู้มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เชื่อว่าความไม่เสมอภาคเป็นเรื่องธรรมชาติ สังคมไทยมีจารีตการปกครองโดยชนชั้นสูงมาตลอดประวัติศาสตร์ไม่สมควรเปลี่ยนแปลงให้กลับตาลปัตร จึงนำไปสู่การต่อต้านการปฏิวัติ 2475 โดยกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงหรือ กบฏบวรเดช (2476)[1]

ไม่นานหลังการปฏิวัติ 2475 กลุ่มอภิชน ยุคคนชั้นสูงและขุนนางที่สูญเสียประโยชน์จากการปฏิวัติ เปิดฉากต่อต้านระบอบประชาธิปไตยขึ้น เริ่มจากการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญเพื่อยุติการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินกว่ากลุ่มอภิชนคนชั้นสูงจะยอมรับได้ เมื่อการต่อต้านไม่สำเร็จ พวกได้นำกองทัพลงมาเพื่อหมุนการปกครองกลับสู่ระบอบราชาธิปไตยฯ ดังเดิม แต่ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน[2]

การคุกคามของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงในเหตุการณ์ “กบฎบวรเดช” ทำให้พลเมืองจากหลากหลายอาชีพตื่นตัวและร่วมกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย ดังที่ ปรีดี พนมยงค์ประจักษ์พยานร่วมสมัยได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ดีหรือกรณีกบฏบวรเดชก็ดี กรรมกรรถรางก็ได้เข้าช่วยไม่น้อย กรรมกรรถรางตื่นตัวดี …”[3] ความประทับใจในความตื่นตัวของพลเมืองในการต่อสู้กับกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้ “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ได้เขียนเรื่องสั้นที่สะท้อนสำนึกของพลเมืองใน ลาก่อนรัฐธรรมนูญ (2476) ซึ่งเป็นเรื่องราวของความเสียสละของพลเมืองหนุ่มที่สละชีพในการพิทักษ์ประชาธิปไตยในเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งตัวละครได้กล่าวในวาระสุดท้ายของชีวิตว่า “ฉันไม่มีทรัพย์สมบัติที่เป็นชิ้นเป็นอันอะไรที่จะเหลือไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกของเรา ฉันมีแต่เกียรติ คุณความดีที่ฉันได้ทำในครั้งนี้ทิ้งไว้เป็นมรดก”[4] ซึ่งคู่มือพลเมืองได้บันทึกถึงความยากลำบากในการสร้างประชาธิปไตยขณะนั้นว่า ภายหลังการปฏิวัติ “มิวายที่จะมีผู้คิดทำลายรัฐธรรมนูญเพื่อผันแปรการปกครองให้เป็นอย่างอื่น”[5] จากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้ทำอิสริยาภรณ์พิเศษขึ้น คือ เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (2476) แจกจ่ายแก่พลเมือง ลูกเสือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและพลเรือนเพื่อเป็นเกียรติแด่พลเมืองทุกคนที่ช่วยกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย

การนำเสนอนโยบายการส่งเสริมให้พลเมืองมีความผูกพันและตระหนักในคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยเพื่อร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตยให้มั่นคงนั้น รัฐบาลได้ประเมินสถานการณ์การเมืองหลังการปฏิวัติ 2475 ขณะนั้นอยู่ในภาวะแกว่งไกว เนื่องจาก รัฐบาลประเมินการรับรู้ของผู้คนในปี 2477 ว่า คนที่ “พอใจและนิยมชมชอบ” ในระบอบประชาธิปไตยมีร้อยละ 25 คนที่ไม่พอใจร้อยละ 15 ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 นั้น “ไม่รู้ไม่ชี้อะไรด้วยเลย”

ดังนั้น ฝ่ายบริหารซึ่งน่าจะจัดการให้ประชาชาติอีก 60 ในร้อยนั้นได้รู้ว่าเขามีส่วนได้อะไรในระบอบการปกครองใหม่นี้บ้าง... เพราะหากไม่กระทำดังนั้นจะบังเกิดการต่อต้านระหว่างพวกที่นิยมกับไม่นิยมขึ้น แม้พวกที่นิยมจะมีมากกว่าพวกไม่นิยม อันหวังผลชนะได้ก็จริง แต่ถ้าเราเป็นพวกที่มีกำลังน้อย เราจะต่อต้านพวกไม่นิยมระบอบประชาธิปไตยไปตลอดได้หรือ เราย่อมหากำลังพรรคพวกให้มากขึ้น พวกนั้นจะได้มาจากไหน ก็ได้มาจากพวก 60 ในร้อยซึ่งยังไม่รู้อะไรเลย เมื่อถูกปั่นไปทางไหน ใครมาพูดก่อนไปทางนั้นแน่ ๆ ดังนั้น ฝ่ายบริหารจะต้องพยายามหาโอกาสชี้แจงกับพวกเขาเสมอเนือง ๆ แล้ว พวกเขาย่อมคล้อยมาด้วยกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายที่ต่อต้านเมื่อไม่สามารถหาพวกได้แล้ว ก็จำต้องระงับความคิดในการต่อต้านและนาน ๆ ไปอาจกลับใจหมดทิฏฐิมานะในการต่อต้านลงก็ได้[6]

รัฐบาลในขณะนั้นให้เหตุผลที่ต้องสร้างความตระหนักในคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยแก่พลเมืองว่า การปกครองตามลัทธิประชาธิปไตยนั้น ย่อมกำหนดให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ปวงชน เพราะฉะนั้น ความเข้าใจผิดหรือถูกของปวงชนย่อมเป็นผลโดยตรงแก่นโยบายของรัฐบาล ...ดังนั้น หัวใจของการโฆษณาจึงมีว่า เมื่อใดโฆษณาของรัฐบาลปราศจากความสำเร็จ เมื่อนั้นรัฐบาลย่อมตกอยู่ในความลำบาก เพราะเหตุว่า การใช้อำนาจบังคับใจคนนั้น ย่อมไม่ดีเท่าวิธีให้ความรู้และเหตุผลแก่ประชาชน[7]

จากนโยบายข้างต้นนำไปสู่การแจกจ่าย ‘คู่มือพลเมือง’ ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเรียกร้องให้พลเมืองร่วมกันพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยจากการคุกคามของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงว่า “การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเป็นการปกครองของใหม่ ยังมีผู้ไม่นิยมทำการขัดขวาง มิให้ดำเนินไปโดยสะดวกอยู่เสมอ ต่อเมื่อใดพลเมืองได้รับการอบรมจนเคยชินกับรูปการปกครองแล้ว เมื่อนั้น ศัตรูของรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถขัดขวางได้...ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันสนับสนุน ประดับประคองการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิและยกฐานะของพวกเราให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ให้มั่นคงถาวรตลอดไป”[8]

การพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยนั้น หาใช่แต่เพียงเป็นหน้าที่ของพลเมืองเท่านั้น แต่รัฐบาลย่อมมีหน้าที่พิทักษ์ระบอบฯ ด้วยเช่นกัน ดังที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นใช่ว่าจะเปลี่ยนแต่ระบอบแล้วย่อมเป็นการเพียงพอ ...ยังต้องคอยควบคุมดูแลมิให้ถอยหลังกลับเข้าสู่ที่เดิมอีก”[9] และ “ระบอบเก่าและระบอบใหม่นี้จะต้องรบกันไปอีกนานจนกว่าระบอบใดจะชนะ และผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วยจะต้องรบกันไปอีกและแย่งกันระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้”[10]

รัฐบาลกับการเดินหน้าสร้าง “พลเมือง”

รัฐบาลได้สรุปเจตนารมณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยว่า “รัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้มีไพร่ มีข้า มีทาสแต่ต้องการให้ทุกคนเป็นพลเมือง ...ทุกวันนี้ รัฐธรรมนูญทำให้พลเมืองรู้สึกว่าประเทศเป็นของเขาทั้งหลายทุกคน มิใช่เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่งโดยเฉพาะ”[11] ดังนั้น รัฐบาลจึงเดินหน้าสร้างสภาพแวดล้อมของสังคมใหม่เพื่อสร้างพลเมืองขึ้น เช่น การสร้างการปกครองท้องถิ่น การส่งเสริมการศึกษา การสร้างศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่ การสร้างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ส่งเสริมสถานภาพสตรี การส่งเสริมการศึกษาผู้ใหญ่ การส่งเสริมสุขภาพพลเมือง[12] และประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ ที่มุ่งหมายส่งเสริมให้วิถีชีวิตของพลเมืองมีความก้าวหน้า เช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศ การเคารพเพลงชาติ การผลิตและบริโภคสินค้าไทย การส่งเสริมการศึกษา การแบ่งเวลาในชีวิตประจำวัน การช่วยเหลือเด็ก คนชรา และคนทุพพลภาพ เป็นต้น

ณ ช่วงเวลาไม่นานหลังการปฏิวัติ ในขณะที่รัฐบาลได้เดินหน้าสร้างพลเมือง ประเทศไทยได้ตกเข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 อันมีผลทำให้เสรีภาพและสิทธิของพลเมืองตกอยู่ภายใต้ความจำกัดในภาวะสงคราม[13] เมื่อสงครามโลกเสร็จสิ้นลง รัฐบาลหลังสงครามได้ดำเนินการปรองดองกับกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงที่เคยต่อต้านประชาธิปไตยด้วยการนิรโทษกรรมให้พวกเขาเพื่อร่วมมือกันเดินหน้าสร้างสรรค์สังคมไทยให้ฟื้นตัวขึ้นภายหลังสงครามฯ

บรรยากาศทางการเมืองได้กลับสู่ภาวะประชาธิปไตยอีกครั้งมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 และมีการเลือกตั้งทั่วไปประกอบกับสภาพสังคมไทยภายหลังสงครามยังคงมีปัญหานานัปการ ผนวกกับการเกิดเหตุการณ์การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทำให้กลุ่มอภิชนคนชั้นสูง กองทัพ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับรัฐบาลขณะนั้นหยิบประเด็นดังกล่าวมาใช้โจมตีทางการเมืองจนทำให้การเมืองไทยช่วงเวลานั้นไร้เสถียรภาพ จนนำไปสู่การร่วมมือกันรัฐประหาร ยุติบรรยากาศทางการเมืองที่กำลังก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ชะตากรรมของประชาธิปไตยและการรัฐประหาร 2490 โดยกองทัพและกลุ่มอภิชนคนชั้นสูง

การกลับสู่การเมืองของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูง และ กองทัพนำไปสู่การร่วมมือกันในการก่อการรัฐประหาร 2490 การรัฐประหารนี้ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ทรงลงนามพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว[14] โดยเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ สมัยนั้นเห็นว่า การรัฐประหารขับไล่รัฐบาลและสาระในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2490 ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการหมุนเวลาถอยหลังที่น่ารังเกียจ[15] เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยกำลังและเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 นั้นมีการถวายอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนภายหลังการปฏิวัติ 2475[16]

การรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2489 ด้วยกำลังนั้น ทำให้ พึ่ง ศรีจันทร์ อดีตประธานรัฐสภา และ ประธานสภาผู้แทนราษฎร 2490 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (อุตรดิตถ์) เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อปฏิเสธอำนาจนอกกฎหมายของคณะทหารหลังการรัฐประหาร[17] ทำให้คณะทหารไม่พอใจเขาเป็นอย่างมากและสั่งคุมขังเขา ซึ่งประวัติศาสตร์รัฐสภาสมควรจารึกความกล้าหาญของพึ่ง ศรีจันทร์ ผู้ยืนยันอำนาจชอบธรรมสูงสุดอยู่ที่รัฐสภาและในฐานะประมุขของรัฐสภาได้แสดงท่าทีปฏิเสธการยอมรับอำนาจทหารที่ล้มรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองอื่น ๆ ลง นอกจากนี้ กลุ่มของเตียง ศิริขันธ์และผู้แทนราษฎรอีสานจำนวนหนึ่งรวมตัวจัดตั้งกลุ่มที่ชื่อ “คณะพลเมืองใหม่เพื่อต่อต้านรัฐประหาร 2490”[18] ด้วยเช่นกัน

ไม่แต่เพียงการล้มล้างรัฐบาลเท่านั้น ภายหลังการรัฐประหาร 2490 กลุ่มอภิชนคนชั้นสูงได้ผลักดันรัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยมขึ้น 2 ฉบับ คือ รัฐธรมนูญ ฉบับปี 2490 และปี 2492 ที่นำไปสู่การบัญญัติชื่อของระบอบการปกครองขึ้นใหม่ของไทยว่า “ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับนั้น พลเมืองมีอำนาจการเมืองลดลง แต่สถาบันกษัตริย์กลับมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น[19] อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม ฉบับ 2492 ทำให้กองทัพกับกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงขัดแย้งกันจนนำไปสู่การรัฐประหาร 2494 เพื่อยุติบทบาทางการเมืองของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูงลง และชีวิตของพลเมืองไทยดูจะชะงักเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 2500 ปิดฉากบทบาทการเมืองของจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่ร่วมโค่นล้มระบอบราชาธิปไตยฯ เมื่อ 2475

 

ที่มา : ณัฐพล ใจจริง, “การคุกคามระบอบประชาธิปไตยของกลุ่มอภิชนคนชั้นสูง” ใน “ชีวประวัติของพลเมืองไทย : กำเนิด พัฒนาการและอุปสรรคกับการพิทักษ์ประชาธิปไตย” (กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2556), หน้า 55-65

อ่าน : รีวิวหนังสือ “ชีวประวัติของพลเมืองไทย : กำเนิด พัฒนาการและอุปสรรคกับการพิทักษ์ประชาธิปไตย” โดย เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

สั่งซื้อหนังสือได้ที่ : https://shop.pridi.or.th/th/product/645042

หมายเหตุ : ตัดตอน, แก้ไขเล็กน้อย, จัดรูปแบบประโยค โดยบรรณาธิการ


[1] ณัฐพล ใจจริง, “คว่ำปฏิวัติ-โคนคณะราษฎร : การก่อตัวของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’”, ฟ้าเดียวกัน ปี 6, ฉบับ1 (ม.ค.-มี .ค. 2551), หน้า 104-146.

[2] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, กรุงเทพฯ:สถาบันเอเชียศึกษา, 2543.

[3] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (สัมภาษณ์), ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ กรุงเทพฯ : โครงการปรีดีพนมยงค์กับสังคมไทย, 2526, หน้า 64.

[4] “ศรีบูรพา”, “ลาก่อนรัฐธรรมนูญ”, เทอดรัฐธรรมนูญ. พระนคร : 84 คุณะกรรมการอำนวยการ หนังสือพิมพ์เทอดรัฐธรรมนูญ, 2476

[5] กรมการโฆษณา, คู่มือพลเมือง (คณะรัฐมนตรีแจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส วันที่ 19 ตุลาคม 2479)(พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2479), หน้า36

[6] พันตรี หลวงรณสิทธิพิชัย, กิจการของสำนักงานโฆษณาการ บรรยายทางวิทยุกระจายเสียง ,พระนคร:โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2477, หน้า 5-7

[7] พันตรี หลวงรณสิทธิพิชัย, อ้างแล้ว, หน้า 12

[8] กรมการโฆษณา, อ้างแล้ว, หน้า 37-38

[9] “คำปราศัยของนายกรัฐมนตรีกล่าวแค่ประชาชนชาวไทยทางวิทยุกระจายเสียงปรับความข้าใจเกี่ยวแก่คำพิพากษาศาลพิเศษ เรื่องกบฏ 27 พฤศจิกายน 2482”  ใน “ประมวลคำปราศัยและสุนทรพจน์” ,พระนคร กรมโฆษณาการ, 2483, หน้า 72.

[10] “คำอภิปรายของนายกรัฐมนตรี กล่าวแต่มวลสภาผู้แทนราษฎร ณ สภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวแก้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483 15 สิงหาคม 2483” ใน “ประมวลคำปราศัยและสุนทรพจน์”, หน้า 153.

[11] กรมโฆษณาการ, อ้างแล้ว, หน้า 142.

[12] นันทิรา ขำภิบาล, "นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงไทยในสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487”วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2530; ก้องสกล กวินรวีกุล, “การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม พ.ศ., 2481-2487” วิทยานิพนธ์มานุษยวิทยามหาบัณฑิตคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.

[13] แถมสุข นุ่มนนท์, “การเมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง”. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สายธาร, 2544

[14] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัย จอมพล ป.พิบูลสงครามครั้งที่สอง (พ ศ. 2491-2500) กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550, หน้า100.

[15] Edwin F Stanton, Brief Authority : Excursion of a Common in an Uncommon World ,New York : Harper & Brothers Publishers ,1956 ,p.209.

[16] ศุภกาญจน์ ตันตรภณ์, “รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง : ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490” วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542

[17] สุพจน์ ด่านตระกูล , พึ่ง ศรีจันทร์: นักประชาธิปไตยผู้ทระหด อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร 2490 กรุงเทพฯ: สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม, 2536. ภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 พึ่งในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร เขาได้ดำเนินการประชุมสภาผู้แทนฯ ตามที่ได้นัดหมายโดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจของคณะรัฐประหาร การประชุมสภาผู้แทนฯ ครั้งนั้น ทำให้คณะรัฐประหาร จับตัวเขาไปที่กระทรวงกลาโหม โดยคณะทหารกล่าวหาเขาว่า เขาดำเนินการประชุมสภาผู้แทนฯ คือการเป็นกบฎ เขาได้ลุกขึ้นตอบโต้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนฯเป็นการทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมาย แต่การรัฐประหารต่างหากคือกบฎ

[18] หจช.สบ. 92.3/8 ข่าวรัฐประหาร 2490 แฟ้มเอก วีสกุล; เสรีภาพ, 15 พฤศจิกายน 2490.

[19] ศุภภาญจน์ ตันตราภรณ์, อ้างแล้ว ; ณัฐพล ใจจริง. “กำเนิดระบอบประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด : ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย 2475-2490” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มี ค. 2554) 117-137