ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เสรีภาพสื่อเป็นเสรีภาพของประชาชน : กฎหมายที่เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์

3
พฤษภาคม
2568

Focus

  • แม้รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิ คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 42 รวมไปถึงการดำเนินงานของหนังสือพิมพ์กลับเป็นในลักษณะที่เข้มงวดและตีความได้กว้าง ทำให้การทำงานของหนังสือพิมพ์มีอุปสรรค ผู้เขียนจึงเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่ออย่างสมดุล

 


ทองใบ ทองเปาด์

 

เสรีภาพของหนังสือพิมพ์เป็นหนึ่งในเสรีภาพของประชาชน ก็เช่นเดียวกับประชาชนไทยทั่วไป ถูกบังคับจองจำด้วยกฎหมายหลายบทหลายมาตรา ไม่จำเพาะแต่คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ที่หนังสือพิมพ์เรียกร้องให้ยกเลิกอยู่ในขณะนี้

แน่นอน สังคมต้องมีระเบียบมีข้อบังคับหรือนัยหนึ่งต้องมีกฎหมาย แต่ถ้ากฎหมายมันมีมากเกินไปและบังคับมากเกินไปก็อยู่กันลำบาก และเมื่ออยู่กันลำบากแล้วก็มักนำไปสู่การอยู่ไม่ได้ ซึ่งที่สุดก็ทําให้เกิดการเรียกร้องต่อต้านขึ้น

รัฐธรรมนูญของเราทุกฉบับรับรองเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณาว่ามีอยู่บริบูรณ์ แต่ทั้งนี้ “ภายใต้บังคับของกฎหมาย” วลีสั้น ๆ ประโยคนี้เองที่ต่อมาฝ่ายปกครองก็มักจะออกกฎหมายมากำหนดสิทธิและหน้าที่ ตลอดเสรีภาพของบุคคลเอาไว้ จนที่สุดไป ๆ มา ๆ คำว่า “เสรีภาพบริบูรณ์” เลยกลายเป็นไม่มีเสรีภาพบริบูรณ์ไป

และรัฐธรรมนูญแทนที่จะเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ก็ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีความหมายอะไรนัก เพราะกฎหมายที่ออกมาตามนัยแห่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นเองมีความขลังความศักดิ์สิทธิ์และบังคับแก่พลเมืองได้มากกว่า

และไม่มีใครหรืออำนาจใดมาชี้ว่าบทบัญญัตินั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะว่าบทบัญญัติเหล่านั้นออกมา ตามอำนาจแห่งรัฐธรรมนูญที่เปิดประตูไว้อย่างกว้างอ้าซ่าแล้วนั้นเอง

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็มักจะร่างกำหนด “ตัว” ผู้มีอำนาจชี้ว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไว้เสียเอง ซึ่งก็มักจะเป็นบุคคลที่ “ไม่เป็นอิสระ” อย่างแท้จริงที่จะชี้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเป็นธรรม ตัวอย่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ กำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไว้

ตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานรัฐสภา (ปัจจุบันแต่งตั้ง) ประธานศาลฎีกา, อธิบดีกรมอัยการ (ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาล), และบุคคลอื่นอีก 4 คนซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิสมาชิกรัฐสภานั้นประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งจำนวน 301 คน และแต่งตั้งจํานวน 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (225 คน) จากนี้จะเห็นได้ว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่อาจเป็นอิสระหรือทำให้รู้สึกว่าจะไม่เป็นอิสระและเป็นกลางอย่างแท้จริงได้

ความจริง อำนาจในการชี้ขาดว่า กฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่น่าจะให้คนกลางหรือให้อำนาจอิสระอีกอำนาจหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยของประชาชนคืออำนาจตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้ศาลรอการชี้ขาดไว้และส่งเรื่องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญชี้ขาดก่อน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 191

ถ้าอำนาจตุลาการชี้ขาดก็จะเป็นการถ่วงดุลย์อำนาจและให้อำนาจทั้งสามคานกันและควบคุมกันตามเจตนารมย์แห่งการแยกอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

 


คําสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42
ที่มา: คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ

 

ก่อนที่จะกล่าวถึงคําสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ซึ่งหนังสือพิมพ์ร้องว่าเป็นโซ่ตรวนที่พันธนาการหนังสือพิมพ์อยู่ขณะนี้ และเมื่อเร็ว ๆ นี้สมาคมทนายความแห่งประเทศก็ได้บรรจุเข้าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมฉบับหนึ่งเรียกร้องให้ยกเลิกเสียนั้น ก่อนที่จะพิจารณาว่าสมควรจะยกเลิก หรือคงไว้เพื่อรักษาระเบียบสังคม

สังคมและควบคุมหนังสือพิมพ์ไม่ให้ใช้เสรีภาพเกินขอบเขต น่าจะได้พิจารณาว่ามีกฎหมายอื่นใดอีกหรือไม่ที่ใช้บังคับแก่หนังสือพิมพ์ เพราะความจริงแล้วมีกฎหมายอีกมากที่บังคับใช้แก่หนังสือพิมพ์ ได้แก่

 


พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484
ที่มา: คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ

 

1. พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ใช้มานาน 38 ปีแล้ว เป็นบทกฎหมาย ที่บังคับแก่หนังสือพิมพ์โดยตรงมีบทกําหนดว่าด้วยการออกหนังสือพิมพ์ การเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาและเจ้าของหนังสือ รวมตลอดถึงกําหนดอํานาจหน้าที่ ข้อจํากัด ข้อห้าม ตลอดจนการระบุความผิด และกําหนดโทษ หากหนังสือพิมพ์ฝ่าฝืนจะถูกถอนใบอนุญาตการเป็นบรรณาธิการ เจ้าของผู้พิมพ์ผู้โฆษณา รวมทั้งอํานาจใน การตรวจข่าวหรือการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ไว้อย่างกว้างขวาง แก่ เจ้าพนักงานการพิมพ์อีกด้วย

2. ประมวลกฎหมายอาญา โดยเฉพาะบทที่ใช้แก่หนังสือพิมพ์ได้ ถ้าการกระทําของหนังสือพิมพ์เช่นการรายงานข่าวหรือการเสนอบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเข้าลักษณะยุยงปลุกปั่นก็อาจถูกดําเนินคดีฐานเป็นกบฏซึ่งหนังสือพิมพ์เคยถูก กล่าวหามามากในอดีตในยุคที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย หากเป็นเรื่องส่วนตัวหนังสือพิมพ์รายงานข่าวหรือบทความให้เป็นที่เสียหายแก่ผู้อื่น ก็อาจถูกฟ้องดําเนินคดีฐานหมิ่นประมาท หรือแม้แต่การลงภาพที่ไม่เหมาะสมก็อาจเข้าข่ายการลงภาพลามกอนาจาร หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาก็มี เช่น มาตรา 112, 118 ความผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326 และ 328 เป็นต้น ฯลฯ

3. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือบทบัญญัติว่าด้วย การละเมิด เช่น ตามมาตรา 423 การละเมิดด้วยการแพร่ข่าวหนังสือพิมพ์ที่รายงานข่าว หรือบทความหมิ่นประมาทผู้อื่น นอกจากจะผิดตามกฎหมายอาญาแล้วก็อาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดได้อีกด้วย

4. พระราชบัญญัติป้องกันการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ บทบัญญัติของกฎหมายนี้ ก็ครอบคลุมข่ายงานการเสนอข่าวหรือข้อความต่าง ๆ ของหนังสือพิมพ์ได้ หากเข้าข่ายการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ตามคํานิยามของกฎหมาย หรือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ยุงยงปลุกปั่นก็อาจมีความผิดตามบทบัญญัติในมาตราต่าง ๆ ของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีคําจํากัดความมีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมทั่วไปตามความในมาตรา 3 และมาตรา 12

5. พระราชบัญญัติการพิจารณาคดีในศาลคดีเด็กและเยาวชน ก็มีบทมาตรากําหนดเป็นการควบคุมการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ไว้เช่นเดียวกันโดยกฎหมายประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งมีบทที่ห้ามการเสนอชื่อ ชื่อโรงเรียนและภาพของเด็กและเยาวชนไว้ หนังสือพิมพ์ใดฝ่าฝืนอาจถูกลงโทษตามกฎหมายนี้ตามบทบัญญัติ มาตรา 57 และมีโทษมาตรา 75 ซึ่งอาจเป็นการละเมิดอํานาจศาลอีกสถานหนึ่งด้วย

6. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแห่ง มาตรา 32 กําหนดเกี่ยวกับการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ไว้ หนังสือพิมพ์ต้องเสนอข่าวอย่างเที่ยงธรรม และถูกต้อง คดีที่ศาลพิจารณาลับและห้ามเปิดเผยจะรายงานข่าวไม่ได้ หนังสือพิมพ์ที่รายงานข่าวฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ อาจถูกลงโทษฐานละเมิดอํานาจศาลได้ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเสนอข่าวการพิจารณาคดีของศาล โดยเฉพาะเป็นบทบัญญัติเพื่อรักษา ความยุติธรรม

 


คําสั่งของคณะปฏิรูปการปกครอง แผ่นดิน ฉบับที่ 22
ที่มา: คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ

 

7. คําสั่งของคณะปฏิรูปการปกครอง แผ่นดิน ฉบับที่ 22 เรื่องภัยสังคม ข้อ 2(5) และ (6) ก็เป็นบทบัญญัติ ที่อาจบังคับใช้แก่การเสนอข่าวหรือบทความของหนังสือพิมพ์ได้เช่นกัน หากการเสนอข่าวหรือบทความนั้นเข้าลักษณะหรือเข้าข่ายตามที่กําหนดที่ระบุไว้ดังกล่าวแล้ว

8. คําสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 ซึ่งกําหนดลักษณะของข่าวและภาพมิให้พิมพ์ โฆษณาหรือจ่ายแจกสิ่งพิมพ์ตามกฎหมายว่าด้วยการพิมพ์ ซึ่งก็คือหนังสือพิมพ์มิให้เสนอไว้รวม 8 ประการ ซึ่งแต่ละข้อที่กําหนดนั้นมีขอบเขตกว้างขวางและอาจตีความได้กว้างขวางอีกด้วย และทั้งไม่มีคําจํากัดความและมาตรการแน่นอนอาจตีความได้หลายนัย ดังปรากฏรายละเอียดตามคําสั่งของคณะปฏิรูป ฉบับที่ 42

 


ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17
ที่มา: คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ

 

คําสั่งฉบับนี้ สืบทอดหรือลอกเลียนมาจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17 ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นํามาปิดปากและคุมกําเนิดหนังสือพิมพ์มาแล้วเมื่อปี 2501 แต่ได้ขยายความกว้างขวางและเฉียบขาดกว่า ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วลักษณะที่ห้ามตาม ข้อ 2 รวม 8 ประการนั้น ก็ซ้ําซ้อนกับบทบัญญัติของกฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง

จึงเห็นได้ว่า กฎหมายของเราที่เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์นั้นมีเหลือเฟือซ้ําซ้อนกันฉบับแล้วฉบับเล่า ถ้าหากว่าพนักงานการพิมพ์บังคับใช้ตามกฎหมายที่ให้อํานาจไว้อย่างกว้างขวางนี้จริง หนังสือพิมพ์ก็แทบจะไม่มีอะไรจะเสนอเป็นข่าวหรือภาพหรือความเห็นได้ เพราะไม่มีคําจํากัดความแน่ชัดวางบทไว้กว้าง ๆ ให้อำนาจหรือสิทธิแก่พนักงานการพิมพ์จะตีความเอาเอง นับว่าเป็นอันตรายแก่สิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ เหตุนี้เองที่สมาคมหนังสือพิมพ์ทั้งหลายจึงได้ร่วมกันเสนอร่างกฎหมายการพิมพ์ใหม่แก้ไขข้อบกพร่องของกฎหมายเดิม ส่งเสริมเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ พร้อมกันก็หาทางควบคุมหนังสือพิมพ์ให้อยู่ในกรอบขอบข่ายหนังสือพิมพ์ที่ดีมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนมากขึ้น

 

หมายเหตุ :

  • บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “กฎหมายที่เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์” เป็น “เสรีภาพสื่อเป็นเสรีภาพของประชาชน : กฎหมายที่เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์” โดยตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2522

บรรณานุกรม :

  • ทองใบ ทองเปาด์, เรื่อง “กฎหมายที่เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์”, รพี' 22, (กรุงเทพฯ : บริษัท ธนพัฒนาทรัสท์ จำกัด, 2522), หน้า 59-61.