ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

หวนนึกถึง ปรีดี พนมยงค์ ในบรรยากาศแห่งหนานหนิงและกวางโจว

3
กรกฎาคม
2568

Focus

  • บทความนี้มุ่งสำรวจชีวิตและบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ในช่วงลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศจีน ระหว่างปี พ.ศ. 2492–2513 โดยใช้ฉากหลังของเมืองหนานหนิงและกวางโจวเป็นจุดเริ่มต้นในการรฤกถึง ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาที่นายปรีดีพักพิงลี้ภัย ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ยังใช้เวลานี้สังเกต วิเคราะห์ และผลิตองค์ความรู้ว่าด้วยสังคม การเมือง และการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมและวิทยาศาสตร์ทางสังคม ขณะเดียวกันก็รักษาระยะห่างทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างระมัดระวัง พร้อมตั้งคำถามต่อจุดยืนของรัฐไทยในยุคสงครามเย็น บทความจึงเสนอให้เข้าใจปรีดีในฐานะนักสังคมนิยมที่มีจุดยืนเป็นของตนเอง และมีความสัมพันธ์กับฝ่ายซ้ายไทย-จีนในแบบที่ซับซ้อนและมีบริบทในทางประวัติศาสตร์

 


นายปรีดี กับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในจีน

 

เย็นย่ำวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2025 (ตรงกับ พ.ศ. 2568) ผมสูดลมหายใจในเมืองหนานหนิง (Nanning) เป็นครั้งแรกสุดของชีวิต แม้ผมจะเคยมาเยี่ยมเยือนจีนแผ่นดินใหญ่แล้วถึงสองหน ทว่ายังมิเคยได้สัมผัสกับเมืองหนานหนิงและเมืองต่างๆในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเลย

หนแรกที่ผมทำความรู้จักจีนแผ่นดินใหญ่คือตอนอายุสิบเจ็ดหรือเมื่อปี ค.ศ. 2006 (ตรงกับ พ.ศ. 2549) โดยแวะเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) ในมณฑลกวางตุ้งเพียงชั่วระยะสั้นๆแค่วันเดียว แล้วจึงข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังฮ่องกงและมาเก๊า ส่วนหนที่สองนั้นตอนผมอายุยี่สิบเก้าหรือเมื่อปี ค.ศ. 2018 (ตรงกับ พ.ศ. 2561) โดยทัศนาจรอยู่ในกรุงปักกิ่ง (Beijing) และเมืองเทียนสิน (Tianjin)

ความพิเศษสำหรับการที่ผมได้มาเยือนจีนแผ่นดินใหญ่หนที่สามนี้ ซึ่งมีความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ก็เพราะมิใช่การเดินทางมาในฐานะนักท่องเที่ยวธรรมดา  หากคือการเป็นตัวแทนนักเขียนไทยรุ่นใหม่เพื่อสานสัมพันธไมตรีกับทั้งนักเขียนชาวจีนและนักเขียนชาติอื่นๆจากภูมิภาคอาเซียนในโครงการ The 2nd Journey of ASEAN Young Writers in China โดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศจีน สมาคมนักเขียนกว่างซี และสมาคมนักเขียนมณฑลกว่างตงร่วมกันจัดขึ้น

 

 

คณะนักเขียนและล่ามจากเมืองไทยประกอบด้วย เกศณี ไทยสนธิ หัวหน้าคณะ ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต กวี ภารวิณี ยังเจริญยืนยง ล่ามภาษาจีน และตัวผมเอง พวกเราได้เข้าร่วมกิจกรรมอันน่าสนใจ พร้อมทั้งเดินทางไปชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรมมากมาย เริ่มตั้งแต่พิธีเปิดโครงการในวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม ณ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี (Guangxi University for Nationalities) เมืองหนานหนิงก่อนจะออกเดินทางต่อไปยังเมืองท่าอย่างชินโจว (Qinzhou)  กระทั่งวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม จึงเดินทางข้ามเขตไปยังมณฑลกวางตุ้งและได้แวะเมืองต่างๆทั้งฝอซาน(Foshan) ตงกวน (Dongguan) จางมู่โถว (Zhangmutou) และ กวางโจว (Guangzhou)

ยิ่งเฉพาะห้วงยามที่กำลังดื่มด่ำบรรยากาศอยู่ในเมืองหนานหนิงและเมืองกวางโจวผมมิวายหวนนึกถึงบุคคลชาวไทยผู้หนึ่งซึ่งเคยมาสูดลมหายใจที่ทั้งสองเมืองนี้เช่นกัน

เขาจะเป็นใครอื่นไปได้อีกเล่า ถ้ามิใช่ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส และอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย

 


MA VIE MOUVEMENTÉE ET MES 21 ANS D'EXIL EN CHINE POPULAIRE

                                   

คงเป็นที่รับทราบกันดีในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทยว่า นายปรีดี ได้ลี้ภัยการเมืองมาพำนักในจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 (ตรงกับ ค.ศ. 1949) และอยู่มาเนิ่นนานจนถึง พ.ศ. 2513 (ตรงกับ ค.ศ. 1970) รวมเป็นเวลา 21 ปี ซึ่งเขาเองได้เขียนบันทึกความทรงจําเกี่ยวกับชีวิตช่วงนี้ไว้เป็นภาษาฝรั่งเศสและให้ชื่อว่า MA VIE MOUVEMENTÉE ET MES 21 ANS D'EXIL EN CHINE POPULAIRE  ซึ่งต่อมา จำนงค์ ภควรวุฒิ และ พรทิพย์ โตใหญ่ แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีแห่งการลี้ภัยทางการเมืองในประเทศจีน

การลี้ภัยของ นายปรีดี เข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่นั้น ภายหลังจากเขาหลบหนีออกจากเมืองไทยและเดินทางไปพักอยู่ที่ฮ่องกงแล้วก็ได้โดยสารเรือสินค้าชักธงอังกฤษจากฮ่องกงไปขึ้นฝั่งที่ชิงเต่า (Qingdao) เมืองท่าของมณฑลชานตง ซึ่งขณะนั้นตกอยู่ในความยึดครองของฝ่ายขบวนการคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดย เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) ซึ่งรัฐบาลกลางของจีนส่งบุคคลระดับรัฐมนตรีมาให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ จากนั้น นายปรีดี ก็โดยสารรถไฟจากเมืองชิงเต่าไปยังกรุงปักกิ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางหลายวันเพราะทางรถไฟยังมีสภาพถูกทําลายในช่วงสงครามกลางเมืองที่เพิ่งยุติลง

 


นายปรีดี พนมยงค์ กับประธานเหมา เจ๋อตง

 

เหตุที่ นายปรีดี  ได้รับการดูแลจากทางการจีนเป็นอย่างดี เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญฉบับแรกสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีมาตราที่บัญญัติว่า บุคคลชาวต่างประเทศที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม แต่ถูกข่มเหงกลั่นแกล้งจากฝ่ายอธรรมจนไม่สามารถพํานักอาศัยอยู่ในประเทศของตนเองได้ ทางจีนจะถือว่าบุคคลนั้นเป็นอาคันตุกะของประเทศ และยินดีให้การต้อนรับและให้พํานักอาศัยอยู่ในแผ่นดินจีน

นายปรีดี จึงได้พำนักที่กรุงปักกิ่งในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยมีบ้านพักสองชั้นรั้วรอบขอบชิดอยู่ในตรอกเสี่ยวหยางเหมาใกล้ๆกับกําแพงเมืองด้านทิศเหนือ ทางการจีนยังจัดเจ้าหน้าที่ทหารมาให้คอยอารักขาหมู่หนึ่ง และจัดหาชาวจีนที่เกิดในเมืองไทยมาเป็นล่ามภาษา คนทําอาหาร และคนทําความสะอาด อีกทั้งมีรถยนต์พร้อมทั้งคนขับรถเพื่อไว้ใช้สอย แต่ นายปรีดี ก็มักจะนิยมโดยสารรถประจำทางเสียมากกว่าถ้าเป็นการไปธุระส่วนตัว เช่นซื้อข้าวของที่ตลาด ไปส่งไปรษณีย์ หรือการรับประทานอาหารที่ย่านถนนหวางฟูจิ่ง (Wangfujing Street)

 


นายปรีดี พนมยงค์ ในวันประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน, 1 ตุลาคม 1949
ที่มา: หนังสือ Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire)

 

ในวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 (ตรงกับ พ.ศ. 2492) เมื่อ เหมา เจ๋อตง ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นณ จตุรัสเทียนอันเหมิน นายปรีดี เป็นหนึ่งในแขกชาวต่างประเทศจำนวนน้อยที่ได้รับเชิญให้เป็นเกียรติเข้าร่วมในพิธีสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจีน ส่วนแขกรายอื่นๆนั้น ที่เป็นทูตก็มาจากสหภาพโซเวียตเพียงแห่งเดียว และมีคณะศิลปินจากโซเวียตอีกไม่กี่สิบคน

สังคมจีนในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าปกครองและบริหารประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตง จะมีการจัดแบ่งตำแหน่งหน้าที่ออกเป็น 27 ชั้น ดังที่ท่านประธานเหมาอยู่ในชั้นที่ 1 อันเป็นชั้นสูงสูด โดยเฉพาะการจัดแบ่งอาหารการกิน หากเป็นเจ้าหน้าที่ในชั้นระดับสูงจะได้กระทะเล็กคืออาหารพิเศษ ขณะที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในชั้นระดับปานกลางจะได้กระทะกลาง และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในชั้นทั่วไปจะได้กระทะใหญ่

ด้วยความที่ นายปรีดี ถือเป็นอาคันตุกะของรัฐบาล จึงได้รับการจัดประเภทให้อยู่ในชั้นเดียวกับเจ้าหน้าที่ในชั้นระดับสูงกล่าวคือจะได้รับอาหารกระทะเล็ก รวมถึงได้รับเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มคุณภาพดี

 


นายปรีดี พนมยงค์ กับนายโจ เอินไหล

 

ช่วงที่พำนักในกรุงปักกิ่ง บุคคลที่ นายปรีดี มักจะได้พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกันอยู่เนืองๆคือ โจว เอินไหล (Zhou Enlai) นายกรัฐมนตรี ทั้งสองเคยเรียนหนังสือในประเทศฝรั่งเศสเหมือนกัน การพูดคุยเลยถูกคอพอสมควร

ราวปี ค.ศ. 1954 (ตรงกับ พ.ศ. 2497) ท่านผู้หญิงพูนศุข ภริยา และบุตรสาวได้เดินทางมาพำนักที่กรุงปักกิ่งกับ นายปรีดี ทางรัฐบาลจีนจึงจัดที่พักแห่งใหม่ซึ่งกว้างขวางกว่าเดิมให้เขากับครอบครัวโดยเป็นบ้านพักแบบบ้านขุนนางจีนโบราณ มีกําแพงล้อมรอบสี่ทิศ ภายในประกอบด้วยเรือนอิฐสี่หลัง ตั้งอยู่ที่ถนนเป้าสื่อเจีย ไม่ห่างจากพระราชวังจงหนานไห่ (Zhongnanhai) อันเป็นย่านที่พักของผู้นำระดับสูงอย่างประธานเหมาและโจว เอินไหล ต่อมาบุตรชายของ นายปรีดี อย่าง ศุขปรีดา ก็เดินทางมาพักที่บ้านถนนเป้าสื่อเจียแห่งนี้ด้วย

แม้ชีวิตของ นายปรีดี และครอบครัวที่กรุงปักกิ่งจะได้รับความสะดวกสบาย แต่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1956 (ตรงกับ พ.ศ. 2499) เขาได้ตัดสินใจย้ายที่พักจากกรุงปักกิ่งไปพำนักที่กวางโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งแทน

มักจะพบการระบุเหตุผลการย้ายถิ่นพำนักดังกล่าวจากถ้อยคำบอกเล่าโดยบุตรธิดาของ นายปรีดี ว่า เนื่องจากอากาศของกรุงปักกิ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกายและสุขภาพของ นายปรีดี ซึ่งอยู่ในวัยชราและป่วย อีกทั้งยังเติบโตมาจากประเทศในเขตร้อนอย่างเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่งจะมีอากาศเย็นจัดและแห้ง อุณหภูมิอยู่ประมาณ -10 องศาเซลเซียส ขณะที่บ้านพักถนนถนนเป้าสื่อเจียก็ไม่มีระบบท่อไออุ่น แต่ใช้เตาถ่านหินสร้างความอบอุ่น โดยจะต้องคอยเติมถ่านหินไม่ให้ดับในทุกๆวัน

นายปรีดี ปรารภถึงปัญหานี้กับ โจว เอินไหล เพื่อขอให้ทางการจีนช่วยจัดหาที่พักแห่งใหม่ในเขตอบอุ่นและไม่ห่างไกลจากเมืองไทย ซึ่งทางการจีนได้อนุเคราะห์ให้ย้ายมาอยู่ที่เมืองกวางโจว

อย่างไรก็ดี ดิน บัวแดง ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุผลที่ นายปรีดี ตัดสินใจย้ายถิ่นพำนักจากกรุงปักกิ่งมายังเมืองกวางโจวอาจจะไม่ใช่ปัจจัยเกี่ยวกับอากาศหนาวอันส่งผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพ แต่น่าจะเป็นเรื่องการเมืองเสียมากกว่า โดย ดิน อาศัยการพิจารณาและตีความจากเอกสารหลายชิ้นเพื่อจะบ่งชี้ว่า นายปรีดี มีความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเขาก็ต้องการพ้นไปจากร่มเงาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ทั้งยังอ้างข้อมูลจากหนังสือ ที่นี่…สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ซึ่งให้ข้อมูลว่า เนื่องจากจะมีการทำลายบ้านที่ นายปรีดี พำนักในกรุงปักกิ่งเพื่อเวนคืนที่ดินไปสร้างถนน เหล่านี้เองจึงนำไปสู่การย้ายไปพำนักที่เมืองกวางโจวแทน

การเดินทางจากกรุงปักกิ่งมายังเมืองกวางโจวในยุคนั้นนับว่าสาหัสสากรรจ์ไม่น้อย เพราะต้องโดยสารรถไฟเป็นระยะทางราว 2,500 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาถึง 3 วัน 2 คืน อีกทั้งช่วงที่ นายปรีดี และครอบครัวเดินทาง พอมาถึงเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย์ ตอนนั้นสะพานข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงยังสร้างไม่เสร็จ จึงต้องลงแพขนานยนต์ข้ามแม่น้ำที่กว้างสุดลูกหูลูกตา กว่าจะเดินทางมาถึงเมืองกวางโจวร่างกายก็อ่อนเปลี้ยเพลียล้าและระโหยโรยแรง

 


ทิวทัศน์ของเกาะซาเมี่ยนในอดีต
ที่มาของภาพ : https://bcc.lib.hkbu.edu.hk/artcollection/the-graphic-31

 

ที่เมืองกวางโจว นายปรีดี และครอบครัว ได้เข้าพักที่เรือนรับรองแห่งหนึ่งบริเวณตะวันออกของเมืองเป็นการชั่วคราวก่อนที่ต่อมาจะได้ย้ายมาพักที่บ้านกงสุลฝรั่งเศสเดิมบนเกาะซาเมี่ยน (Shamian Island) ในปี ค.ศ. 1957 (ตรงกับ พ.ศ. 2500) เป็นตึกแบบฝรั่งที่  Front Avenue บริเวณด้านหลังมีสนามและสวนดอกไม้ แล้วพอปี ค.ศ. 1960 (ตรงกับ พ.ศ. 2503) จึงย้ายมาพำนักที่บ้านกงสุลอังกฤษเดิมบนเกาะซาเมี่ยนเช่นกันแต่อยู่ตรง Central Avenue ซึ่งเกาะแห่งนี้ตั้งอยู่กลางแม่น้ำจูเจียง (Zhu Jiang) หรือแม่น้ำเพิร์ล (Pearl River) และมีกองกำลังอารักขาตลอด 24 ชั่วโมง

 


ทิวทัศน์ของเกาะซาเมี่ยนในอดีต

 

เดิมทีเกาะซาเมี่ยนเป็นเขตเช่าของชาวอังกฤษซึ่งถึงกับติดป้ายเขียนข้อความไว้ว่า “ห้ามคนจีนและสุนัขเข้า” จึงไม่แปลกที่ตึกอาคารหลายแห่งบนเกาะจะมีรูปทรงและสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ทั้งยังเป็นที่ตั้งสถานทูตของชาติตะวันตกตั้งมากมาย

พอว่าถึงเกาะซาเมี่ยนและแม่น้ำจูเจียงแล้ว ช่วงเย็นย่ำจนค่ำคล้อยของวันแรกสุดที่ผมเดินทางถึงเมืองกวางโจวคือวันพุธที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2025 (ตรงกับ พ.ศ. 2568) ผมสบโอกาสได้ล่องเรือในแม่น้ำจูเจียงและได้เห็นทัศนียภาพจากสองฝั่งแม่น้ำ น่าเสียดายเหลือเกินที่สายฝนพร่างพรำค่อนข้างหนาหนัก จึงมองเห็นตึกอาคารบนเกาะซาเมี่ยนไม่แจ่มชัดถนัดสายตา

ชีวิตของ นายปรีดี ที่เมืองกวางโจว ถือว่าได้รับการดูแลและมีสิทธิพิเศษราวกับเขาเป็นผู้นำระดับสูงของจีน บ้านพักก็หลังใหญ่  มีรถยนต์ใช้ส่วนตัวพร้อมคนขับชาวจีน มีคนครัว คนทำงานบ้านและทำความสะอาด และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเนื่องจากมีโรคประจำตัว ทางการจีนยังจัดหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยตรวจและรักษาให้ฟรี ไม่เพียงเท่านั้น นายปรีดี ยังได้รับรายได้ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญของของสาธารณรัฐประชาชนจีนเดือนละประมาณ 2,500 บาท

 


นายปรีดี พนมยงค์ และครอบครัวช่วงลี้ภัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน จากซ้ายไปขวาประกอบด้วย (แถวหน้า) ปาล พูนศุข ปรีดี (แถวหลัง) วาณี สุดา ดุษฎี ศุขปรีดา

 

นายปรีดี ยังใช้ชื่อเป็นภาษาจีนว่า “ปี๋หลี่”  (比里 )  ส่วน ท่านผู้หญิงพูนศุข ใช้ชื่อว่า “เพ่ยซู” ( 佩淑 ) ส่วนบุตรสาวทั้งสองนั้น ดุษฎี ใช้ชื่อ “นี่ซาหนี” (沙妮 ) และ วาณี ใช้ชื่อ “นี่หวาหนี” (华妮 )

ในปี ค.ศ. 1958 (ตรงกับ พ.ศ. 2501) สังคมจีนก้าวเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่า “ก้าวกระโดดไกล” รัฐบาลดำเนินนโยบายมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อจะทำให้ประเทศก้าวทันชาติตะวันตกภายในระยะเวลาอันสั้น แต่นโยบายนี้ผิดพลาด ยิ่งทำให้ชาวจีนตกอยู่ในภาวะยากจนและอดอยากมากขึ้น แต่สำหรับ นายปรีดี และครอบครัวซึ่งอยู่ในฐานะชาวต่างประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษไม่แตกต่างจากผู้นำระดับสูงของจีน จึงสามารถจับจ่ายซื้อข้าวของต่างๆได้โดยมิต้องปันส่วนที่ร้านมิตรภาพ

ความที่เมืองกวางโจวอยู่ไม่ห่างไกลจากฮ่องกง ไต้หวัน และยังใกล้เมืองไทยกว่าเดิม ทำให้ นายปรีดี สามารถรับข่าวสารจากทั้งทางโลกตะวันตกและจากเมืองไทยได้สะดวกขึ้นกว่าเมื่อครั้งยังพำนักในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเขียนหนังสือของเขา ช่วงนี้เองที่ นายปรีดี ได้สร้างผลงานชิ้นสำคัญอย่าง “ความเป็นอนิจจังของสังคม”

นายปรีดี ยังมีความสนใจด้านเกษตรกรรมและปัญหาชาวนาในเมืองจีน เขาได้ตระเวนออกไปศึกษาเรียนรู้ตามแหล่งต่างๆในมณฑลกวางตุ้ง และมักจะชอบไปเดินย่ำตามท้องทุ่งนาในเมืองกวางเจาอยู่เนืองๆ ซึ่งประเด็นที่ นายปรีดี ใคร่ครวญได้แก่ เรื่องการผลิตเครื่องมือทุ่นแรงในการทำนา ปัญหาสหกรณ์ชาวนา การผลิตปุ๋ยจากวัสดุในท้องที่ และการเลี้ยงสัตว์ด้วยวิธีการทันสมัย

นายปรีดี ปรารถนาให้เกษตรกรชาวไทยได้มีโอกาสมาศึกษาดูงานการทำนาที่เมืองกวางโจว เพราะลักษณะดินฟ้าอากาศและสภาพพื้นดินเหมือนเมืองไทยมาก แต่ที่จีนสามารถทำนาได้ปีละสามครั้ง ขณะที่เมืองไทยทำนาได้ปีละครั้งเดียว

ช่วงที่ นายปรีดี ครองวิถีชีวิตอยู่เมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง เขายังได้พบบุคคลสำคัญจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ดังตอนครึ่งหลังของปี ค.ศ. 1956 (ตรงกับ พ.ศ. 2499) ซึ่ง นายปรีดี เพิ่งย้ายมาจากปักกิ่งหมาดใหม่ เขาพบกับ ท้าวกระต่าย โดนสโสฤทธิ์ รองนายกรัฐมนตรีของลาวซึ่งเดินทางมาเยือนจีนและมณฑลกวางตุ้ง ท้าวกระต่าย ถาม นายปรีดี ว่าเมื่อใดจะกลับประเทศไทย และเขาตอบว่าอยากจะกลับเหมือนกัน แต่ไม่ไว้ใจรัฐบาลไทย กลัวจะไม่ซื่อและกลัวการยิงทิ้ง

 


สุวัฒน์ วรดิลก และคณะเข้าพบนายปรีดี พนมยงค์

 

สุวัฒน์ วรดิลก เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งได้มาพบ นายปรีดี ที่เมืองกวางโจว เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1957 (ตรงกับ พ.ศ. 2500) ณ หอวัฒนธรรมประจำมณฑลกวางตุ้ง เนื่องจาก นายปรีดี พยายามให้ทางจีนติดต่อ สุวัฒน์ เพื่อนำคณะศิลปินไทยมาจัดการแสดงในเมืองจีน หลังจากพบกับ นายปรีดี ที่เมืองกวางโจวแล้ว คณะศิลปินไทยต้องเดินทางไปเปิดการแสดงที่กรุงปักกิ่งในช่วงวันเมย์เดย์หรือวันกรรมกรสากล จากนั้นก็ตระเวนไปแสดงในเมืองต่างๆทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วจึงล่องลงใต้มาที่มณฑลกวางตุ้งอีกครั้ง โดยคณะศิลปินไทยได้จัดการแสดงมากถึง 9 เมือง

ครั้นคณะศิลปินไทยกลับคืนมาเมืองกวางโจว ก็เปิดการแสดงอีกสองคืน ณ หอประชุมจงซานซึ่งเป็นโรงขนาดใหญ่บรรจุคนได้ถึง 6,000 คน ในคืนสุดท้ายมีพิธีปิดการแสดง นายปรีดี และครอบครัวได้มาร่วมรับชมด้วย พอเพลงชาติไทยบรรเลง นายปรีดี ถึงกับยกผ้าเช็ดหน้าขึ้นซับน้ำตาตนเอง ในวันรุ่งขึ้น นายปรีดี ยังลงมือแกงไก่หม้อใหญ่ส่งมาให้คณะศิลปินไทยเป็นการตอบแทนที่เดินทางจากเมืองไทยมามอบความประทับใจ

สุวัฒน์ หมั่นแวะเวียนไปพบปะสนทนากับ นายปรีดี ที่บ้านกงสุลฝรั่งเศสเดิมบนเกาะซาเมี่ยน เขายังได้ทราบว่า นายปรีดี เคยมีโรคประจำตัวคือเส้นเลือดในหัวใจตีบ แพทย์ที่เมืองจีนรักษาไม่หาย จนต้องไปรักษาที่รัสเซียพักหนึ่ง แต่ก็ไม่หายอีก กระทั่ง โจว เอินไหล แนะนำให้ลองรักษาด้วยสมุนไพรตามตำรับยาแผนโบราณ คือใช้โสมต้มน้ำตาลทรายแดงดื่มแทนน้ำวันละชั่งเท่านั้น ปรากฏว่าหายเป็นปกติในเวลาเพียงสองปี

ช่วงที่ นายปรีดี พำนักในเมืองกวางตุ้ง หากเขาปรารถนาจะเดินทางไปทัศนาจรที่เมืองใดๆในแผ่นดินจีนเพื่อสัมผัสความเป็นอยู่ของประชาชน และเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ คอมมูนของชาวนา โรงงานถลุงเหล็ก โรงงานผลิตภาพยนตร์ โรงงานผลิตเครื่องจักรกล หรือโรงงานสร้างรถยนต์ ทางการจีนก็จะอํานวยความสะดวกให้เดินทางไปได้ทั้งหมด ยกเว้นแต่เมืองซินเจียง ธิเบต และสิบสองปันนา ทว่าทางเมืองไทยมิวายมีข่าวลือว่า นายปรีดี เคยไปสิบสองปันนา (Xishuangbanna) เพื่อรวบรวมกำลังคนยกทัพมาบุกยึดเมืองไทย ทั้งๆที่เขาไม่เคยมีโอกาสไปเยือนดินแดนนี้เลย

ดังที่คราวหนึ่งในราวปี ค.ศ. 1962 (ตรงกับ พ.ศ. 2505) นายปรีดี และครอบครัวได้เดินทางไปเยือนเมืองหนานหนิง อันเป็นเมืองเอกแห่งเขตปกครองตนเองของชนชาติจ้วง เนื่องจากมีชาวจ้วงอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก ที่นั่นทางการจีนได้ส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เป็นชาวจ้วงผู้หนึ่งมาคอยอารักขาแก่ นายปรีดี  โดยตอนหนึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้นี้ได้พูดกับ นายปรีดี  เป็นภาษาชาวจ้วงว่า “มึงนั่ง” ซึ่งพอฟังแล้ว นายปรีดี ก็มิได้ถือสาโกรธเคืองอะไร กลับพลอยรู้สึกยินดีปรีดาที่ได้พิสูจน์ทราบว่าชาวจ้วงเป็นชาวไท มีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายกันกับชาวไทย

แน่นอนทีเดียวว่า ตอนที่ผมสูดลมหายใจในเมืองหนานหนิง และได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาวจ้วงพอสังเขป ก็มิแคล้วครุ่นคำนึงถึงเรื่องราวข้างต้นของ นายปรีดี ผมยังได้ประสบข้อมูลจากการทอดน่องชมพิพิธภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีอีกว่า ภริยาของ โจว เอินไหล ก็เป็นชาวเมืองหนานหนิง

นอกจากเมืองหนานหนิง นายปรีดี ก็เคยเดินทางไปยังเมืองคุนหมิง (Kunming) แห่งมณฑลยูนนาน ซึ่งการเดินทางในยุคนั้นคงมิพ้นโดยสารรถไฟและใช้เวลานานเป็นหลายวัน ขณะที่การเดินทางของผมจากเมืองหนานหนิงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงไปยังเมืองในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีระยะทางร่วม 1,000  กิโลเมตรเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ใช้เวลาเพียงแค่ 4 ชั่วโมง เพราะโดยสารรถไฟความเร็วสูงแล่นฉิวทะลุภูเขาหลายลูก จึงมิต้องทุลักทุเลเหมือนเมื่อครั้งที่ นายปรีดี เคยเดินทาง

ช่วงที่อยู่ในเมืองกวางโจว ใช่ว่า นายปรีดี จะปราศจากบทบาททางการเมืองเสียเลย ในงานศึกษาของ กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ  เปิดเผยให้เห็นถึงบทบาทของ นายปรีดี ที่มีต่อสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยหรือสปท. ซึ่งเริ่มกระจายเสียงจากฮานอยในปี ค.ศ. 1962 (ตรงกับ พ.ศ. 2505) โดย นายปรีดี เป็นผู้เลือกให้ นายผี หรือ อัศนี พลจันทร มารับผิดชอบหน้าที่ดูแล สปท. แม้ทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะเสนอให้เลือกคนอื่น แต่ท้ายที่สุด โฮจิมินห์ ซึ่งร่วมจัดตั้ง สปท. ก็ตัดสินใจให้ นายผี มาดูแลตามที่ นายปรีดี เสนอไว้

ที่เมืองกวางโจว นายปรีดี ยังเคยพบกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และได้ไปเยี่ยมชมคอมมูนด้วยกัน

ล่วงมาปี ค.ศ. 1966 (ตรงกับ พ.ศ. 2509)  ได้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นในสังคมจีนและเต็มไปด้วยสถานการณ์ความรุนแรง นายปรีดี ตระหนักถึงความไม่สงบที่น่าตึงเครียดนี้ จึงเกิดความคิดที่จะย้ายถิ่นพำนักออกจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อเดินทางไปยังทวีปยุโรป แต่ก็เผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการติดต่อขอลี้ภัย จนดูเหมือนว่าการเดินทางออกจากเมืองกวางโจวของ นายปรีดี มิได้เป็นไปโดยง่ายเลยทีเดียว ห้วงเวลานี้เอง มีชาวตะวันตกพยายามจะเข้าพบ นายปรีดี แต่มักจะได้รับฟังว่าเขาไม่ได้อยู่ที่เมืองกวางโจว แต่เดินทางไปรักษาตัวบนเขาเพื่อรักษาอาการโรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น

กระทั่งที่สุดในปี ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) นายปรีดี ก็ได้เดินทางออกจากเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้งเพื่อเดินทางไปขอลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งต้องโดยสารสายการบินแห่งชาติปากีสถาน (Pakistan International Airlines) เพราะถือเป็นสายการบินแรกของประเทศที่มิได้ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเปิดเส้นทางโดยสารเข้าไปในประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ. 1964 (ตรงกับ พ.ศ. 2507)

ก่อนหน้านั้น ในปี ค.ศ. 1967 (ตรงกับ พ.ศ. 2510) ทั้งภริยา บุตรชาย และบุตรสาวของ นายปรีดี เคยเดินทางไปฝรั่งเศสด้วยสายการบินแห่งชาติปากีสถานมาแล้วเพื่อไปติดต่อเรื่องขอลี้ภัย

นายปรีดี เดินทางถึงกรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) เป็นการปิดฉากชีวิตการลี้ภัยในจีนแผ่นดินใหญ่อันยาวนานถึง 21 ปี

ห้วงยามที่ นายปรีดี พนมยงค์ พำนักอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่นับว่ามีประเด็นน่าศึกษาและน่าค้นหาอย่างยิ่ง แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยรับรู้เท่าที่ควร  การได้สัมผัสบรรยากาศแห่งเมืองหนานหนิงและเมืองกวางโจวของผมช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2025 (ตรงกับ พ.ศ. 2568) ปลุกเร้าให้ฉุกคิดว่า ถ้าหาก นายปรีดี มีชีวิตมาจนได้มาเห็นความเจริญของทั้งสองเมืองในทุกวันนี้ ก็คงจะรู้สึกฉงนและแปลกตากับดินแดนซึ่งเขาฝังฝากลมหายใจเอาไว้มิใช่น้อยเลยกระมัง

 

เอกสารอ้างอิง:

  • กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ. “กำเนิดและการก่อตั้งสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยในฐานะเวทีสถาปนาความเป็นไทยทวนกระแสของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2504-2508.” รัฐศาสตร์สาร. 44(3). (2566). หน้า 1-66.
  • ดิน บัวแดง. “ทบทวนเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองในจีนและการลี้ภัยไปยังฝรั่งเศสของปรีดี พนมยงค์ (1948-1970) ผ่าน “เอกสารปรีดี” ที่หอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส.” รัฐศาสตร์นิเทศ. 10(2). (2567). หน้า 236–288.
  • ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. แปลจาก MA VIE MOUVEMENTÉE ET MES 21 ANS D'EXIL EN CHINE POPULAIRE โดย จำนงค์ ภควรวุฒิ และพรทิพย์ โตใหญ่. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529
  • ศุขปรีดา พนมยงค์. “ชีวิตของท่านปรีดี พนมยงค์ ในประเทศจีน พ.ศ. 2492-2513” ใน วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2534. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534.
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “ท้าวกระต่าย โดนสโสฤทธิ์ พลจัตวาสมัย แววประเสริฐ และข่าวการเดินทางเข้าไปในลาวของปรีดี พนมยงค์.” สถาบันปรีดี พนมยงค์ PRIDI BANOMYONG INSTITUTE (3 กุมภาพันธ์ 2568).
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “ปรีดี พนมยงค์กับสายการบินแห่งชาติปากีสถาน.” สถาบันปรีดี พนมยงค์ PRIDI BANOMYONG INSTITUTE (26 กันยายน 2564).
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “100 ปีชาตกาล สุวัฒน์ วรดิลก และความสัมพันธ์กับนายปรีดี พนมยงค์” สถาบันปรีดี พนมยงค์ PRIDI BANOMYONG INSTITUTE (14 กรกฎาคม 2566).