ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ตอนที่ 47 : การกระทําอันทรงศักดิ์ศรีและเป็นมงคลแท้จริง

18
พฤษภาคม
2568

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา

 

ตามที่คณะหนังสือพิมพ์ การเมือง ได้ริเริ่มจัดให้ประชาชนไทยได้ลงนามในคำเรียกร้องสันติภาพ และในชั่วสัปดาห์แรก ได้มีประชาชนไทยร่วมลงนามถึง ๑,๓๖๖ คนนั้น นับว่าเปนสิ่งที่มีความหมาย.

เพราะว่า ในประการแรกสำนักหนังสือพิมพ์ การเมือง เปนแต่สำนักหนังสือพิมพ์เล็กๆ ที่พิมพ์ออกเปนรายสัปดาห์ และจำนวนหนังสือที่พิมพ์ออกจำหน่ายก็ไม่ใช่จำนวนมากมายนับหมื่น เพราะฉะนั้นการที่ประชาชนไทยได้ร่วมลงนามเรียกร้องสันติภาพตามคำเชิญชวนของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเป็นจำนวนกว่าพันคน จึงนับว่าเปนความสำคัญข้อหนึ่งที่ไม่พึ่งมองข้ามไป. จำนวนผู้ลงนามกว่าพันในสัปดาห์แรกคงจะขยายออกไปเป็นจำนวนหมื่นในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป

ในประการที่สอง การลงนามสันติภาพของประชาชนเหล่านั้น ไม่พึงแปลไปว่า เปนการลงนามอย่างเลื่อนลอย การลงนามสันติภาพเปนการแสดงเจตน์จำนงของประชาชนทุกหมู่เหล่าว่า เขาเหล่านั้นขอสนับสนุนโดยเปิดเผยชัดแจ้งต่อคำเรียกร้องของสันติภาพทั่วโลกที่ว่า:

ต้องการสันติภาพ ไม่ต้องการสงคราม ต้องการให้มีการควบคุมในระหว่างชาติอย่างเข้มงวด โดยไม่มีเงื่อนไข มิให้ใช้อาวุธปรมาณูให้ถือว่ารัฐบาลที่ใช้อาวุธปรมาณูทำสงครามก่อนเปนอาชญากรสงคราม.

เพราะฉะนั้นการลงนามสันติภาพของประชาชน จึงเปนการแสดงเจตน์จำนงหรือเปนการแสดงมติร่วมกันของผู้ลงนาม ในการเข้าค้ำจุนขื่อแปสันติภาพมิให้ทำลายครืนลงมาบดขยี้ชีวิตของมวลชนทั่วโลก. บดขยี้ชีวิตไม่ใช่แต่ฉะเพาะชีวิตของผู้ถืออาวุธที่ถูกต้อนให้ไปประจันหน้ากันในสนามรบเท่านั้น หากบดขยี้ชีวิตที่ไร้เดียงสาทุกชีวิตที่ไม่สามารถจะหลบหลีกลูกระเบิดที่แร้วิทยาศาสตร์ทุ่มทิ้งลงมาจากฟากฟ้าได้.

สันติชนทั่วโลกได้ร่วมลงนามในคำเรียกร้องสันติภาพและประณามสงครามเป็นจำนวนกว่า ๕๐๐ ล้านคนแล้ว นับว่าเปนการแสดงเจตน์จำนงร่วมกันของชาวโลกอันใหญ่หลวงมหึมา ส่วนประชาชนที่ยังมิได้ลงนามในคำเรียกร้องสันติภาพนั้นเล่า ก็มิได้หมายความว่าเขาปฏิเสธสันติภาพ และสนับสนุนสงคราม. อาจมีบุคคลส่วนน้อยนิดเท่านั้นในจำนวนพลโลกกว่า ๒,๐๐๐ ล้านคน ที่มุ่งประสงค์จะก่อสงครามขึ้นเพื่อผลประโยชน์อันใดอันหนึ่งของเขา

อย่างไรก็ดี ทั้งที่มนุษยชาติทั่วโลก ไม่ปรารถนาสงคราม แต่เพียงในชั่วชีวิตคนรุ่นนี้เท่านั้น มนุษยชาติก็ได้แลเห็น และได้ผจญความทุกข์ยากแสนสาหัส ที่เกิดจากมหาสงครามมาแล้วถึงสองครั้ง. การที่ชาวโลกต้องรับภัยสงคราม ทั้งที่ชาวโลกไม่ปรารถนาสงครามเลย ก็เพราะว่าชาวโลก ยินยอมให้คนไม่กี่คน เปนผู้ตัดสินแทนเขาทั้งหลาย ในการน่าประเทศเข้าสู่สงคราม

ทำไมหนอจึงไม่มีการเสนอให้บัญญัติลงไว้ในรัฐธรรมนูญของนานาประเทศทั่วโลกว่า ปวงชนเท่านั้นเปนผู้มีอำนาจวินิจฉัยในการทำสงคราม การประกาศหรือก่อสงครามจะกระทำไม่ได้ จนกว่าจะได้จัดให้มีการออกเสียงทั่วประเทศแล้ว, ถ้ารัฐธรรมนูญของทุกประเทศบัญญัติให้ราษฎรออกเสียงโดยตรงว่า จะเลือกสงครามหรือสันติภาพ, มิใช่ให้รัฐบาลหรือคนไม่กี่คนเป็นผู้เลือกแล้ว, มนุษย์คงจะสามารถหลีกเลี่ยงสงครามไปได้หลายชั่วอายุคน

แต่ในขณะที่ ในวงการของสหประชาชาติไม่มีเวลาจะคิดค้นวิธีใหม่ๆ เพื่อจะหลีกเลี่ยงสงครามให้จงได้ เพราะว่าประเทศภาคีที่มีอิทธิพลในวงการนั้น มัวไปฝักใฝ่อยู่แต่จะรวมพวกเข้ากีดกัน เล่นงานฝ่ายที่ไม่ใช่พวกของตนอย่างเผ็ดร้อน จนทำให้นามของสหประชาชาติเสื่อมคลายความขลังลงไปไม่น้อยนั้น, การที่ประชาชนทั่วโลก จำนวนกว่า ๕๐๐ ล้านคน ได้เข้ามาช่วยกันค้ำจุนชื่อแปของสันติภาพไว้ด้วยการลงนามเรียกร้องสันติภาพ และประณามสงคราม และประณามการใช้อาวุธประหารอันร้ายแรงนั้น จึงนับว่าเปนการปฏิบัติอันทรงศักดิ์ศรี และเปรียบเทียบกันไม่ได้ กับการปฏิบัติอันคลุ้งด้วยกลิ่นคาวของความเห็นแก่ตัว ที่ดำเนินอยู่ในวงการของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งบุคคลผู้มั่นคงในหลักการเช่นบัณฑิตเนรูห์ ก็ได้เตือนไว้แล้วว่า ทางที่จะไปสู่สันติภาพนั้นไม่ใช่ทางบุกตลุยใช้กำลังอาวุธปราบปรามกันอย่างไม่ยับยั้ง.

หากจะรำพรรณแต่เพียงว่า ขอสันติภาพจงสถิตย์สถาพรอยู่ในโลกเถิด ก็จะเปนแต่คำวิงวอนอันเลื่อนลอย และเพื่อที่จะให้เจตน์จำนงของเขาได้แสดงออกโดยประจักษ์ ประชาชนจึงได้ลงนามในคำเรียกร้องสันติภาพ. ประชาชนได้กระทำแล้วซึ่งกิจอันทรงศักดิ์ศรี และเปนมงคลแท้จริงแก่ตัวเขา, แก่ประเทศของเขา และแก่โลก

ที่มา: ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา: 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2493

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขระและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, เรื่อง “การกระทําอันทรงศักดิ์ศรีและเป็นมงคลแท้จริง”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 463-465.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์, เรื่อง “การกระทําอันทรงศักดิ์ศรีและเป็นมงคลแท้จริง”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 463-465.

บทความที่เกี่ยวข้อง :