“...เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทยเพื่อลี้ภัยไปอยู่สิงคโปร์ก่อน โดยรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน…”
นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วยนายแช่ม พรหมยงค์ นายสงวน ตุลารักษ์ เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช และ สิบตำรวจโทสิงห์โต ไทรย้อย ได้เดินทางออกจากสิงคโปร์ ในราวปลายเดือนพฤษภาคม 2491 ไปยังฮ่องกง และไปถึงเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2491[1]
เหตุผลที่นายปรีดี พนมยงค์ ตัดสินใจเดินทางออกจากสิงคโปร์ เนื่องจากเมื่อรัฐบาลอังกฤษได้ให้การรับรองรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์แล้ว บุคคลกลุ่มหนึ่งภายในคณะรัฐประหารได้กล่าวหานายปรีดี พนมยงค์ว่ามีส่วนพัวพันกรณีสวรรคต ดังนั้น การพักอยู่ในสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ย่อมสร้างความลำบากใจแก่รัฐบาลอังกฤษ จึงตัดสินใจเดินทางออกจากสิงคโปร์
จะเห็นได้ว่าด้วยเงื่อนไขและความตั้งใจเดิมของนายปรีดี พนมยงค์ นี่เอง จึงทำให้ในเวลาต่อมาไม่นานนัก แผนการเดินทางกลับและเตรียมการจึงเกิดขึ้น
ในเดือนตุลาคม 2491 คณะของนายปรีดี พนมยงค์ ได้ย้ายไปที่พักที่เมืองกวางตุ้ง และในเดือนนี้เอง จุดเริ่มต้นของการเดินทางกลับเมืองไทย จึงได้เริ่มขึ้นเมื่อเรือเอชลิต ชัยสิทธิเวช พี่ชายของเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้ไปเยี่ยมนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในการเดินทางไปเยี่ยมของเรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ครั้งนี้สิบตำรวจโทสิงห์โต ไทรย้อย ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ยืนยันว่าเป็นการพบกันเพื่อปรึกษาหารือในการเตรียมการกลับประเทศไทย[2]
การเดินทางเข้าประเทศไทยของนายปรีดี พนมยงค์ เริ่มขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 2492 นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วยเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ร.ต.ต.สุดจิตร์ (ไม่ทราบนามสกุล) นายลี (ไม่ทราบนามสกุล) ส.ต.ท.สิงห์โต ไทรย้อย และชาวจีนอีก 3 คน เดินทางโดยเรือรบอเมริกันประมาณ 10 วัน ก็เข้าเขตประเทศไทย และได้ทอดสมออยู่นอกเขตเกาะเสม็ดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2492[3]
จะเห็นได้ว่า แผนขั้นแรกของนายปรีดี พนมยงค์ น่าจะได้แก่การเดินทางกลับมาต่อสู้คดีกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ดังที่เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช ได้กล่าวข้างต้น
อย่างไรก็ตาม การติดต่อขอสู้คดีกรณีสวรรคตไม่ประสบผลสำเร็จดังที่นายปรีดี พนมยงค์ได้พยายามติดต่อบุคคลในคณะรัฐประหาร คือพลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งมีอำนาจมากในขณะนั้นและพันโทละม้าย อุทยานนท์ โดยผ่านทางนายทวี ตะเวทิกุล ผู้จัดการบริษัทยูไนเต็ดเวอร์ค เพื่อขอหลักประกันในความปลอดภัยในการอยู่ในประเทศไทย แต่การเจรจาก็ประสบความล้มเหลว แม้นว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะได้แสดงท่าทีที่เป็นมิตรต่อข่าวการเดินทางกลับของนายปรีดี พนมยงค์
อย่างไรก็ตาม เมื่อบางส่วนของคณะรัฐประหารที่ทรงอำนาจและอิทธิพล ไม่ยินยอมก็ย่อมทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถที่จะไว้ใจในสถานการณ์ได้ เมื่อแนวทางที่จะกลับมาต่อสู้คดี ไม่ได้รับการรับรองจากผู้มีอำนาจในขณะนั้น จึงต้อง ดำเนินการตามแนวทางของตนเอง โดยตัดสินใจที่จะใช้กำลังเข้าโค่นรัฐบาลพร้อม ๆ กับแสวงหากลุ่มพันธมิตรหลายกลุ่มด้วยกัน คือบางส่วนของคณะรัฐประหาร ทหารเรือ และ อดีตสมาชิกเสรีไทย
การติดต่อกับบุคคลในคณะรัฐประหาร นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้นายทวี ตะเวทิกุล เป็นผู้ประสานงาน โดยให้ติดต่อผ่านพลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ และพันโทละม้าย อุทยานนท์ ขณะเดียวกันก็เจรจาทาบทามพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อีกทางหนึ่งแต่ได้รับการปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ[4]
สำหรับกลุ่มทหารเรือนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ได้ส่งเรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ไปแจ้งข่าวการเดินทางกลับของตนเอง พลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพนำเรือยนต์ไปรับ เพื่อไปพบนายปรีดี พนมยงค์ ที่เรือรบอเมริกันซึ่งจอดรออยู่นอกเกาะเสม็ด เมื่อเวลา 22.00 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์
เหตุผลที่นายปรีดี พนมยงค์ ติดต่อมาทางพลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพนั้น ก็เป็นเพราะพลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพเป็นบุคคลที่พลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการมณฑลทหารเรือที่ 2 และรักษาราชการผู้บังคับการกองพลนาวิกโยธินให้ความเคารพนับถือตลอดจนทหารเรือส่วนใหญ่ต่างก็ให้ความเคารพนับถือ และคณะรัฐประหารก็ให้ความยำเกรง
หลังจากที่เป็นที่แน่ใจแล้วว่าการเจรจากับคณะรัฐประหารประสบกับความล้มเหลว นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้ติดต่อกับอดีตสมาชิกเสรีไทย เพื่อวางแผนการยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงครามโดยมอบหมายให้นายทวี ตะเวทิกุล เป็นผู้ประสานงาน ดังนั้น นายทวี ตะเวทิกุล จึงได้นัดพบกับพรรคพวกที่โรงแรมสิริวัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายทะเล อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จากบันทึกของนายทองมน สุวรรณุกูล ผู้จัดการโรงแรม ทำให้ทราบว่านายทวี ตะเวทิกุล ได้เข้าพักที่โรงแรมศิริวัฒนา เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2492[5]
จากการที่ได้ติดต่อกับกลุ่มผู้ที่จะให้กำลังสนับสนุนทั้งจากทหารเรือและอดีตสมาชิกเสรีไทยทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 โดยได้นัดหมายกับบรรดาอดีตสมาชิกเสรีไทยให้ไปพร้อมกันในเวลา 19.00 น. ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยมีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
- การยึดอำนาจในครั้งใช้แผนการยึดอำนาจแบบใต้ดิน ซึ่งเป็นการรบระหว่างพลพรรคเสรีไทยกับกองทหารประจำการ
- ใช้วิธีการแบบ “สายฟ้าแลบ” ยึดสถานที่สำคัญ จับกุมบุคคลสำคัญของทางราชการ ปิดล้อมกองพันต่างๆ และทำการปลดอาวุธ
- ล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่
- ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2492 แล้วนำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2475 มาใช้[6]
เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ตกลงที่จะดำเนินการตามแผนแล้ว ในเวลา 22.00 น. ของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดี พนมยงค์พร้อมคณะ ซึ่งประกอบด้วยเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช เรือตรีสุริยะ (ไม่ทราบนามสกุล) ส.ต.ท.สิงห์โต ไทรย้อย และคนจีนอีก 3 คน ก็ขนหีบห่ออาวุธจากเรือรบอเมริกันลงเรือยนต์แล่นผ่านเกาะลอยไปขึ้นฝั่งศรีราชา โดยมีพลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ และ หลวงอรรถกิตติกำจร น้องชายนายปรีดี พนมยงค์ คอยรับที่ชายฝั่ง เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2492 จากนั้นทั้งหมดก็ขึ้นรถยนต์ไปพักที่บ้านพักของพลเรือตรีสังวร สุวรรรชีพ ที่วัดเขาบางทราย จังหวัดชลบุรี[7] และได้เจรจาเพื่อขอกำลังสนับสนุนจากพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ
แต่ในที่สุดพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ และ พลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ ก็ให้ความร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ อันเนื่องมาจากความผูกพันที่ดีต่อกันมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 ฝ่ายทหารเรือก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ในการกลับคืนสู่อำนาจครั้งนี้ก็คือ มีการเคลื่อนไหวที่สำคัญของทหารเรือในวันเดียวกันคือได้มีการฝึกซ้อมลำเลียงพลครั้งใหญ่ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ในเส้นทางกรุงเทพฯ - นครปฐม โดยใช้รถยนต์จำนวน 60 คัน[8]
ส่วนกองพลนาวิกโยธินสัตหีบและชลบุรี ได้ซ้อมรบใหญ่ทางจังหวัดชลบุรี ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ ทางฐานทัพเรือสัตหีบก็ซ้อมรบโดยใช้รถเกราะ สะเทินน้ำสะเทินบก เรือระบายพลภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือตรีผัน นาวาวิจิตร และกองโรงเรียนชุมพล สมุทรปราการ ก็ได้ซ้อมรบที่บางปู ภายใต้การบังคับบัญชาของนาวาเอกพิณ พันธุ์กวี[9] และในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 หลังจากวันที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน กองกำลังนาวิกโยธินได้เคลื่อนกำลังเข้าสู่พระนคร โดยคำสั่งของผู้บัญชาการทหารเรือ การเคลื่อนกำลังได้กระทำกันอย่างคึกคักมาก กล่าวคือ ได้มีคำสั่งให้แต่ละกองพันเคลื่อนมาเป็นระยะ เช่น ให้ทหารสัตหีบเคลื่อนยึดชลบุรี ทหารจากชลบุรี สมุทรปราการ เข้ากรุงเทพฯ เตรียมกำลังไว้ ณ กองสัญญาทหารเรือ ศาลาแดง กรุงเทพฯ[10]
การซ้อมรบของกองทัพเรือดังกล่าว จึงน่าจะมีความหมายถึงการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพเรืออีกด้านหนึ่งที่น่าจะเป็นการแสดงถึงสมรรถภาพที่ทัดเทียมกองทัพบก และพร้อมที่จะปฏิบัติการใดๆ ได้ทุกเมื่อ
แม้ว่าในกลุ่มทหารเรือจะมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ แต่จากการที่ได้ติดต่อพูดคุยกับพลเรือตรีสังวร สุวรรรชีพ และ พลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ มีความมั่นใจในกำลังสนับสนุนจากฝ่ายทหารเรือเป็นอย่างมาก
เมื่อตกลงดำเนินการตามแผนแล้ว การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ของนายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้เริ่มขึ้นในตอนค่ำของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 โดยเรือตรีสุริยะ (ไม่ทราบนามสกุล ได้ขับรถจี๊ปไปรับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งอยู่ในชุดเครื่องแบบทหารเรือยศพันจ่าเอก และ เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ในเครื่องแบบทหารเรือยศเรือเอก เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ล่วงหน้าไปก่อน โดยไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่หน้าบ้านถนนสีลม แล้วเรือตรีสุริยะก็กลับมาที่วัดเขาบางทรายอีก
และในวันต่อมา เวลา 17.00 น. ส.ต.ท.สิงห์โต ไทรย้อย ได้รับคำสั่งจากพลเรือตรีสังวร สุวรรรชีพ ให้ขนอาวุธขึ้นรถยนต์เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในรถยนต์คันนั้นประกอบด้วย ส.ต.ท.สิงห์โต ไทรย้อย ร.ต.ต.สุดจิตต์ เรือตรีสุริยะ (ไม่ทราบนามสกุล) พร้อมด้วยพลทหารเรือจำนวน 4 คน อาวุธครบมือ ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในตอนค่ำ ข้ามสะพานพุทธยอดฟ้าไปยังฝั่งธนบุรี แวะพักที่บ้านพักแห่งหนึ่งใกล้กับวัดใหม่ชิโนรส เพื่อเตรียมตัวลงมือตามแผนต่อไป[11]
ปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐบาลก่อนเกิดการก่อการขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์
ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่นายปรีดี พนมยงค์ เดินทาง มาถึงประเทศไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ซึ่งแสดง ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทราบข่าวการเดินทางกลับประเทศของนายปรีดี พนมยงค์ แล้ว[12] และในช่วงเวลาที่พรรคพวกของนายปรีดี พนมยงค์ กำลังแสวงหาพันธมิตรจากกลุ่มต่าง ๆ อยู่นั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ส่งบทความไปออกอากาศทางสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการ ในคืนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2492 ในหัวข้อ “ประเทศไทยจะมีจราจลหรือไม่”[13] บทความนี้ได้เตือนให้งดเว้นการโฆษณาทำลายชาติ และถ้าขืนทำต่อไปก็จะต้องปราบปรามกัน หรือมิฉะนั้นก็ปล่อยให้เกิดการจลาจลอย่างประเทศใกล้เคียง[14]
หลังจากที่สถานีวิทยุกระจายเสียงได้ออกบทความไปแล้วก็ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางหน้าหนังสือพิมพ์ โดยกล่าวหาว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามสร้างสถานการณ์เพื่อที่จะปราบปรามหนังสือพิมพ์
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พยายามที่จะให้ประชาชนตระหนักถึงกับจลาจลที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้ส่งบทความไปออกอากาศอีกในคืนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2492 ในหัวข้อเรื่อง “สถานการณ์ของโลกเกี่ยวกับการจลาจลในประเทศเป็นอย่างไร” โดยได้เตือนว่า “ถ้าหากจะมีการจลาจลเกิดขึ้นในประเทศเพื่อความสำเร็จทางการเมืองแล้ว ก็คงจะมีเลือดเท่านั้นที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาด”[15]
การที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกบทความทางสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นเชิงตักเตือน 2 ครั้ง เพราะมีความประสงค์ที่จะให้ประชาชนสำนึกว่า การกบฏจลาจลจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและเพื่อให้ผู้ที่จะคิดกบฏได้ทราบว่า “รัฐบาลได้รู้เท่าทันแผนการแล้ว”
ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2492 ขณะที่ฝ่ายทหารเรือกำลังซ้อมรบอยู่นั้น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือไปยังกรมโฆษณาการประกาศให้ประชาชนทราบทางสถานีวิทยุกระจายเสียงว่า ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 ระหว่างเวลา 01.00-17.00 น. กองทัพบกโดยกองทัพทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ จะทำการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ด้วยกระสุนจริง
อ่าน : ซ้อมรบ ณ ทุ่งเชียงราก และ ขบวนการ 26 กุมภาพันธ์ โดย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
ข่าวลือเรื่องการจลาจลเริ่มหนาหูมากขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แถลงแก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่า บ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่น่าไว้วางใจ รัฐบาลจะทำการควบคุมนักการเมืองและเซนเซอร์นักหนังสือพิมพ์ เนื่องมาจากเหตุการณ์ภายใน โดยเฉพาะนักการเมือง และนักหนังสือพิมพ์บางคนไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล และไม่ยอมรับรู้เหตุการณ์ของบ้านเมือง ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะไม่ปกติ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถสั่งเคลื่อนกำลังทัพทั้งสาม ปราบจลาจลได้โดยขออนุมัติต่อคณะอภิรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ โดยให้เหตุผลว่าจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน และหนังสือพิมพ์จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงยับยั้งที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินไว้ก่อน
จากความเคลื่อนไหวทางการเมือง และการทหารที่เริ่มจะตึงเครียด จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากที่หนังสือพิมพ์โจมตีรัฐบาล ฝ่ายค้านหาทางบ่อนทำลาย วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรมในสภา เพราะฉะนั้น การประกาศภาวะฉุกเฉินจึงเป็นทางออกทางเดียว เพื่อที่จะควบคุมความเคลื่อนไหวของนักการเมืองและปิดปากหนังสือพิมพ์[16]
ไม่ทันที่รัฐบาลจะประกาศภาวะฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมสถานที่ราชการหลายแห่ง และได้ทำการจับกุมพันเอกทวน วิชัยขัทคะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร้อยเอกวิเชียร จารุสุต ร้อยเอกสุนทร ศิริทรัพย์ เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช สิบเอกเชาวน์ ชอบใช้ นายจุล สรนันท์ และนายเซียะปิง แซ่โง้ว[17]
จากการให้สัมภาษณ์ของพลโทหลวงชาตินักรบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เปิดเผยว่าจะมีการปฏิวัติ และฆ่าบุคคลสำคัญ โดยคณะนายทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งได้รับสินบนจากพวกกบฏให้นำรถถัง 6 คัน ออกจากกรมรถรบ พร้อมอาวุธร้ายแรง มุ่งหน้าสู่ทำเนียบ ตามแผนการนั้น เมื่อยึดได้เรียบร้อยแล้ว จะนำกำลังรถเกราะทั้งหมดเคลื่อนมายึดทำเนียบรัฐบาล[18] จึงได้สั่งให้มีการเตรียมพร้อมทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ อ่าน : โมเดลสังหารอูอองซาน จากย่างกุ้งสู่กรุงเทพฯ กุมภาพันธ์ 2492
การซ้อมรบของกองทัพบกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 ยุติลง พลโทผิน ชุณหะ วัณ ผู้บัญชาการทหารบก ได้รายงานด่วนไปยังทำเนียบรัฐบาลและจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งให้เตรียมพร้อม ในขณะเดียวกันพลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ รองอธิบ ดีกรมตำรวจ ได้ออกคำสั่งให้ปิดถนนกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ปิดเขตพระบรมรูปทรงม้า และ เขตถนนจักรพงษ์ทั้งหมด รถเมล์จำนวน 100 คันได้รับคำสั่งให้ไปชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เพื่อให้พร้อมที่จะส่งกำลังทหารไปยังจุดฉุกเฉินต่อไป[19]
สถานการณ์ยังตึงเครียดตลอดวัน ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะยังไม่มีแถลงการณ์ใด ๆ ประกาศให้ประชาชนทราบ จนกระทั่งเวลา 20.15 น. รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการ[20] การประกาศภาวะฉุกเฉินได้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เป็นทำนองว่ารัฐบาลสร้างสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อปราบปรามฝ่ายตรงกันข้าม คือ อดีตสมาชิกเสรีไทยฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ เพราะบุคคลที่ถูกจับกุมในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 ล้วนแล้วแต่เป็นพรรคพวกของนายปรีดี พนมยงค์ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลได้สั่งให้มีการ เตรียมพร้อมทั้งกองทัพบก และกองทัพเรือ เพื่อทำการปราบปรามจลาจล ภายใต้แผนการปราบจลาจลตามข้อตกลงที่กระทรวงกลาโหมได้มอบหมายไป โดยเรียกแผนการนี้ว่า “แผนเตรียมการและการใช้กำลังเพื่อรักษาความสงบภายใน” หรือที่เรียกกันว่า “แผนช้างดำ-ช้างน้ำ” โดยมีข้อตกลงระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นให้แต่ละกองทัพแบ่งเขตกันทำการปราบปราม และปฏิบัติงานร่วมกันในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของแต่ละคนในกองทัพ[21]
ในส่วนของกองทัพบก ตั้งแต่ตอนเย็นของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 ได้มีการเตรียมพร้อมตามกองพันต่างๆ มีการตั้งปืนกลตามจุดที่สำคัญๆ โดยเฉพาะข้างวังสวนกุหลาบ ได้มีการปิดการจราจรห้ามไม่ให้รถผ่าน[22]
จากความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐบาลตามที่กล่าวมาแล้วนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลรับรู้ความเคลื่อนไหวของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นอย่างดี โดยได้เตรียมมาตรการในการป้องกันและตอบโต้ไว้แล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้ทหารบกจะล่วงรู้และมีสิ่งบอกเหตุหลายประการว่าอาจจะมีการกบฏเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของทหารเรือ แต่ก็ไม่สามารถจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปได้ นอกจากการปราบเท่านั้น เนื่องจากว่า แสนยานุภาพของกองทัพเรือในขณะนั้นมีสมรรถนะทัดเทียมกับกองทัพบก ประกอบกับทหารบก และทหารเรือ มีข้อขัดแย้งที่ลึกซึ้งกันมาก่อน
[1] ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพมหานคร: เคล็ดไทย, 2526), หน้า 781-782
[2] ศาลอาญา, คำให้การของส.ต.ท.สิงห์โต ไทรย้อย พยานโจทก์, เมื่้อวันที่ 29 มิถุนายน 2492, คดีหมายเลขดำที่ (981,942) 1131/2492 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์กับพลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต กับพวก จำเลย ฐานความผิดขบถภายในราชอาณาจักร
[3] ศาลอาญา, คำให้การของส.ต.ท.สิงห์โต ไทรย้อย พยานโจทก์, เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2492, คดีหมายเลขดำที่ (981,942) 1131/2492 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์กับพลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต กับพวก จำเลย ฐานความผิดขบถภายในราชอาณาจักร
[4] สุภาพบุรุษ, วันที่ 26 มีนาคม 2492, หน้า 6
[5] คำให้การของนายทองมน สุวรรณุกูล พยานโจทก์, วันที่ 7 กันยายน 2492, คดีหมายเลขดำที่ 942, 891, 1131, 1445/2492, ระหว่างพนักงานอัยการกับพลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิตกับพวกจำเลย, เรื่องขบถภายในราชอาณาจักร
[6] โปรดดูรายละเอียดในคำสารภาพของนายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2492 ในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่, ปีที่ 19, ฉบับที่ 106, วันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2492, และ เอกรัตน์ เหมรัตย์, “เผยแผนนองเลือดของแม่ทัพปรีดี, “เกียรติศักดิ์รายสัปดาห์, ฉบับที่ 42, วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2492, หน้า 10.
[7] คำให้การของส.ต.ท.สิงห์โต ไทรย้อย พยานโจทก์, วันที่ 28 มิถุนายน 2492, คดีหมายเลขดำที่ 891, 1131, 942/2492 ระหว่างพนักงานอัยการโจทก์กับพลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต กับพวกจำเลย, เรื่อง ขบถภายในอาณาจักร
[8] สมุทร สุรักขกะ, 26 การปฏิวัติไทยและรัฐประหารสมัย 2489-2507, (พระนคร: โรงพิมพ์สื่อการพิมพ์, 2507) หน้า 450.
[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 450-451
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 451
[11] คำให้การของส.ต.ท.สิงห์โต ไทรย้อย พยานโจทก์, วันที่ 28 มิถุนายน 2492, คดีหมายเลขดำที่ 942, 891, 1131, 1445/2492 ระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ กับพลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต กับพวกจำเลย, เรื่อง ขบถภายในอาณาจักร
[12] หนังสือพิมพ์สยามนิกร, ปีที่ 11, วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2492, หน้า 1.
[13] หนังสือพิมพ์สยามนิกร, ปีที่ 11, วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2492, หน้า 1.
[14] หนังสือพิมพ์สยามนิกร, ปีที่ 11, วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2492, หน้า 1.
[15] หนังสือพิมพ์สยามนิกร, ปีที่ 11, วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2492, หน้า 1.
[16] หนังสือพิมพ์สยามนิกร, ปีที่ 11, วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2492, หน้า 1.
[17] หนังสือพิมพ์สยามนิกร, ปีที่ 11, วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2492, หน้า 1.
[18] เหตุการณ์ครั้งนั้นเรียกว่า “กบฏระบบสังหารอูอองซาน” โดยฝ่ายรัฐบาลได้กล่าวหาว่ากบฏพยายามที่จะโค่นล้มรัฐบาลโดยวิธีการรัฐประหารในพม่าสมัยนายกรัฐมนตรี อู อองซาน ซึ่งถูกฝ่ายรัฐประหารระเบิดทำเนียบขณะประชุมคณะรัฐมนตรีและเสียชีวิตทั้งหมด
[19] ไทรน้อย (นามแฝง), 25 คดีกบฏ, (พระนคร: ประมวลสาส์น, 2513), หน้า 222
[20] หจช., มท.0201.2.1.59/1 เรื่องประกาศถาวะฉุกเฉิน
[21] พลเรือเอกหลวงพลสินธวารัติก์ “กรณีราชประสงค์”, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลเรือเอกหลวงพลสินธวาณัติก์, (กรุงเทพมหานคร: กรมสารบรรณทหารเรือ, 2519), หน้า 64
[22] หนังสือพิมพ์สยามนิกร, ปีที่ 11, วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2492, หน้า 1.
ที่มา: ประทีป สายเสน, “กบฏวังหลวงกับปรีดี พนมยงค์”, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2531, 50-64, สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2564
หมายเหตุ :
1.ตัดตอน แก้ไข ตั้งชื่อเรื่อง จัดรูปแบบประโยคโดยบรรณาธิการ
2. เนื่องจาก "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" ไม่ใช่ "กบฏวังหลวง" ดังคำกล่าวอ้าง และทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันมาตลอด ในบทความนี้ บรรณาธิการจึงได้ทำการเลี่ยงไม่ใช้คำว่า กบฏวังหลวง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ตามหลักความเป็นจริง