ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

นายทหารเรือนักประชาธิปไตย: บทบาทที่ถูกลืมเลือนของ พลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ

14
กรกฎาคม
2568

Focus

  • บทความ “ระลึกถึงคุณหลวงสังวรยุทธกิจ” โดยปรีดี พนมยงค์ มุ่งบันทึกบทบาททางการเมืองและการทหารของพลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ ในฐานะนายทหารเรือผู้มีบทบาทสำคัญทั้งในการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 และการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยถ่ายทอดผ่านมุมมองของปรีดีซึ่งเป็นผู้นำคณะราษฎร ทำให้บทความนี้เป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์ความมั่นคงของไทย
  • เนื้อหาในบทความครอบคลุมทั้งมิติของยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การจัดการภารกิจลับในช่วงสงคราม รวมถึงคุณลักษณะส่วนบุคคลของหลวงสังวรในฐานะผู้เสียสละ กล้าหาญ และมีวินัยสูง ตั้งแต่บทบาทในแผนการอภิวัฒน์ ไปจนถึงการประสานงานรับพลร่มและอาวุธจากสัมพันธมิตร ตลอดจนการส่งยุทธปัจจัยสนับสนุนขบวนการชาตินิยมเวียดนาม บทความนี้จึงมีคุณูปการสำคัญต่อการทำความเข้าใจกลไกของขบวนการเปลี่ยนแปลงรัฐ การต่อต้านอำนาจเผด็จการ และจักรวรรดิญี่ปุ่น และความเชื่อมโยงของขบวนการชาตินิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 


คำไว้อาลัย ปรีดี พนมยงค์

 

ข้าพเจ้าเสียดายที่คุณหลวงสังวรยุทธกิจมิตรที่รักยิ่งคนหนึ่งของข้าพเจ้าได้ มรณกรรมไปก่อนความปรารถนาของข้าพเจ้าที่จะได้กลับมาพบกันในวัยชราได้เป็นผลขึ้น ข้าพเจ้าจึงมีแต่ความระลึกถึงในมิตรภาพ ซื่อสัตย์ระหว่างเราทั้งสองที่ได้ร่วมกันรับใช้ชาติในอดีต

 


พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ
ที่มา: อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ

 

ภารกิจในการอภิวัฒน์ 2475

ข้าพเจ้ารู้จักอุดมคติเพื่อชาติของคุณหลวงสังวรก่อนที่รู้จักตัวท่านผู้นี้ในเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพราะระเบียบและวินัยของคณะราษฎร์มีอยู่ว่า เฉพาะผู้รับผิดชอบในศูนย์กลางของคณะเท่านั้น จึงสามารถรู้ชื่อสมาชิกที่สําคัญของสายต่าง ๆ ได้ แม้กระนั้นเพื่อความปลอดภัยก็จะต้องไม่มีการพบปะกันตัวต่อตัว คงปล่อยให้เป็นหน้า ที่หัวหน้าสายและหัวหน้าหน่วยที่จําแนกย่อยลงไปเป็นผู้ทําความรู้จักกันตัวต่อตัวโดยเฉพาะ งานของแต่ละหน่วยจึงไม่ก้าวก่ายกัน ไม่มีสมาชิกคนใดที่จะไปสอดรู้งานของหน่วย อื่น การประสานงานอยู่ที่ศูนย์กลางจํานวนน้อยเท่านั้น สายใหญ่มีสามสายคือ สายทหาร บก สายทหารเรือ สายพลเรือน คุณหลวงสังวรฯ สังกัดสายทหารเรือ ซึ่งนาวาตรีหลวงสินธุ์สงครามชัยเป็นหัวหน้าสาย

ตามความเป็นจริงนั้นผู้รับผิดชอบในสายต่าง ๆ ที่คิดทําการอภิวัฒน์นั้นได้ใช้ ความคิดค้นหาวิธีอภิวัฒน์เพื่อเอามาปรึกษาหารือกันในศูนย์กลาง มิใช่ว่าคิดอภิวัฒน์ทั้งที่ แต่ปล่อยให้คนเดียวหรือสายเดียว คิดวิธีอภิวัฒน์ ดังนั้นวิธีอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 จึงมีหลายแผน

ก่อนที่จะกล่าวถึงแผนตลิ่งชัน ซึ่งคุณหลวงสังวรฯ จะต้องรับภาระด้วยเต็มใจ ถึงกับได้เล่าให้หลายคนฟังตลอดมาภายหลัง ๒๔ มิถุนายน ว่าเป็นแผน “สนุกดี” ที่คุณหลวงสังวร ฯ ชอบมากนั้น ข้าพเจ้าขอย้อนกล่าวว่าภายหลังที่ ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี กับข้าพเจ้าได้ตกลงรวบรวมมิตรบางท่านที่ปารีสจัดตั้งคณะราษฎร์นั้น เราได้ปรึกษาหารือถึงวิธีการอภิวัฒน์ระหว่างกันเท่าที่เราจะค้นคว้าและนึกคิด มีผู้เข้าใจผิดว่า จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้อาศัยหนังสือชื่อ “เทคนิครัฐประหาร” แต่งโดย “มาลาปาร์เตอะ” C. malaparte : technique du coup d’ etat (เมื่อประมาณ ๑๐ ปีมานี้ คุณจินดา จินตนเสรี ได้ แปลเป็นภาษาไทย) อันที่จริงหนังสือเล่มนั้น เพิ่งพิมพ์ออกในฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1931 คือก่อนอภิวัฒน์ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่กี่เดือน อันเป็นสมัยที่ประยูร แปลก ทัศนัย ตั้ว แนบ ข้าพเจ้ากลับสยามแล้ว การที่เราได้หนังสือเล่มนี้เข้ามาในสยาม คือข้าพเจ้าได้อ่าน หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสที่ข้าพเจ้ารับประจํานั้น เห็นแจ้งความขายหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้า จึงซื้อดราฟธนาคารอินโดจีนส่งเงินไปยังสํานักพิมพ์ ตัวแทนข้าพเจ้าให้จัดซื้อหนังสือเล่ม ที่กล่าวปนมาด้วย เมื่อหนังสือนั้นมาถึง ข้าพเจ้าได้ฉีกปกออกเผาไฟคงเหลือแต่เรื่องข้างใน ข้าพเจ้าอ่านแล้วก็มอบให้ ร.ท. แปลกซึ่งมียศและบรรดาศักดิ์เป็นพันตรีหลวงพิบูลสงคราม รับไปอ่านต่อ ๆ กันไป (ถ้าหนังสือเล่มนั้นยังอยู่ที่ทายาทท่านผู้นี้ ก็คงจะพบว่า หนังสือ นั้นไม่มีปกหน้า เพราะข้าพเจ้าฉีกเผาไฟแล้วเพื่อความปลอดภัย)

 


หนังสือ Technique du coup d'État
ฉบับตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาฝรั่งเศสครั้งแรกในปี ค.ศ. 1931
ภาพจาก www.abebooks.fr

 

ในบรรดาแผนที่เราค้นคว้ากันที่ปารีสก่อนมีหนังสือเล่มที่กล่าวนั้น มีอยู่แผนหนึ่งซึ่งประยูร อาจระลึกได้คือในการสนทนากันในค่ำวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้แจ้งให้รู้ถึงความ คิดที่ข้าพเจ้าเกิดขึ้นขณะได้ฟังคําบรรยายประวัติศาสตร์กฎหมายพิสดารในชั้นปริญญาเอก ศาสตราจารย์ได้บรรยายถึงประวัติศาสตร์สมัยโบราณที่เจ้าแคว้นแห่งหนึ่งใช้วิธียึดเจ้าแคว้นอีกฝ่ายหนึ่งเป็นตัวประกันเพื่อบังคับให้ปฏิบัติตาม ข้าพเจ้าก็เกิดความคิดขึ้นมาทันทีว่าวิธีอภิวัฒน์ของเรานั้นน่าจะทําได้โดยมิให้เลือดตกยางออก คือใช้วิธียึดตัวผู้มีอํานาจทางการ เมืองและการทหารสมัยนั้นเป็นตัวประกัน เพื่อแลกกับคําขอของคณะราษฎร์ ให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญชนิดราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนั้นเราเรียกว่ากษัตริย์ใต้กฎหมาย ข้าพเจ้าได้อธิบายตามหลักปรัชญาทางสังคมว่า ทุกสิ่งมีด้าน บวกกับด้านลบ แม้ว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราช มีอํานาจมากซึ่งเป็นด้านบวก แต่ก็มี ด้านลบคือการที่ระบบนั้นมีคนจํานวนน้อยกุมอํานาจไว้ในมือ ซึ่งถ้ายึดตัวคนจํานวนหยิบ มือเดียวที่กุมอํานาจแล้ว การอภิวัฒน์ของเราก็จะสําเร็จโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ความคิดนี้ ศูนย์กลางคณะราษฎร์ในระยะต่อมาก็รับไว้เพียงพิจารณาเป็นส่วนประกอบเท่านั้น แต่ยังเห็นควรใช้แผนที่ใช้กําลังทหารมากเป็นหลัก

เมื่อได้เชิญเจ้าคุณพหลฯ เจ้าคุณทรงฯ เจ้าคุณฤทธิ์ฯ เข้าร่วมคณะราษฎร์ ก่อน 24 มิถุนายน ประมาณ 4-5 เดือนแล้ว ศูนย์กลางได้มอบให้เจ้าคุณทรงเป็นผู้วาง แผนยึดอํานาจ การปรึกษากันเกิดขัดแย้งระหว่างฝ่ายเจ้าคุณทรงที่ต้องการลงมือทําการ ขณะพระปกเกล้าประทับในกรุงเทพฯ กับฝ่ายเจ้าคุณฤทธิ์ ฯ ที่ข้าพเจ้าเห็นด้วย ว่าควร ลงมือทําการขณะพระปกเกล้าไม่ประทับอยู่ในพระนคร ถึงกับเจ้าคุณฤทธิ์ ฯ ขอถอนตัว จากคณะราษฎร์ เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายทหารบกเกิดขัดแย้งกันเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงปรึกษาเพื่อนฝ่าย พลเรือนบางคนรวมทั้งประยูรฯ และหัวหน้าฝ่ายทหารเรือให้พิจารณาแผนการจับเสนาบดี ทั้งคณะที่โดยสารรถไฟไปประชุมที่วังไกลกังวลหัวหินทุก ๆ ปลายสัปดาห์ ระหว่างพระปกเกล้าประทับที่นั้น

สมัยนั้นการคมนาคมจากกรุงเทพฯ ไปหัวหินมีแต่ทางรถไฟที่สะดวกสําหรับ เสนาบดี รถไฟทุกขบวนต้องหยุดที่ชุมทางตลิ่งชัน ซึ่งติดกับคลองที่แยกจากแม่น้ําเจ้าพระยาที่บางกอกน้อย ดังนั้น ถ้าได้ทหารเรือเพียงหมวดเดียวคอยดักรถให้รถไฟหยุดแล้วเชิญ เสนาบดีทั้งคณะไปกักไว้บนเรือรบก็จะสําเร็จได้ง่าย และเพื่อความแน่ใจว่ารถไฟจะไม่ด่วนรีบถอยออกจากสถานีตลิ่งชัน ข้าพเจ้าได้ปรึกษาเพื่อนก่อการฝ่ายรถไฟ อาทิหลวงเดชาวงค์ (ม.ล. กรี เดชาติวงษ์) และ ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ ว่า ในฐานะที่ ม.ล. อุดม เป็นนาย ช่างกลก็ขึ้นรถจักรดีเซลของขบวนรถไฟเสนาบดีไปด้วย เมื่อถึงสถานีตลิ่งชันก็หยุดจอด ตามปกติแล้วไม่เคลื่อนต่อไปเปิดโอกาสให้ทหารเรือทําการจับกุมเสนาบดีทั้งคณะ เชิญลง เรือกลไฟทหารเรือ (สมัยนั้นเรียกกันว่า “กองเรือกลชั้นสี่)” ไปกักไว้บนเรือรบเพื่อรอการ เจรจากับพระมหากษัตริย์ต่อไป

หัวหน้าฝ่ายทหารเรือเสนอว่าเรือเอกหลวงสังวรยุทธกิจ ผู้บังคับการเรือรบ หลวงพาลีรั้งทวีป เป็นผู้เหมาะสมรับหน้าที่นี้ และเรือลํานั้นก็จอดคุมเชิงอยู่ที่หน้าวังบางขุน พรหมแล้ว วิธีการก็เป็นอย่างที่ข้าพเจ้าเสนอคือขอให้หลวงสังวรฯ รายงานผู้บังคับบัญชา ตามทางการว่าขอเอาทหารเรือพาลีไปฝึกแบบทหารราบบริเวณตลิ่งชัน โดยขอเรือกลไฟบรรทุกทหารจากเรือพาลีไปขึ้นบกบริเวณตลิ่งชัน เพื่อทําการฝึกซ้อมแบบยกพลขึ้นบก ชายฝั่ง แต่ก็ชุมพลอยู่ข้างทางรถไฟบริเวณนั้น ข้าพเจ้ารู้จักชื่อหลวงสังวรยุทธกิจ แต่ก็ ยังไม่รู้จักตัว รู้ว่าหลวงสังวรฯ เต็มใจรับหน้าที่นี้ โดยกล่าวว่า “สนุกดี”

ต่อมาฝ่ายหัวหน้าทหารบกตกลงที่จะวางแผนทําการระหว่างพระปกเกล้าประทับที่หัวหิน เจ้าคุณฤทธิ์ฯ กลับตกลงร่วมมือกับคณะราษฎรอีก ดังนั้นแผนอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 จึงเป็นไปตามแผนที่เจ้าคุณทรงฯ ร่างโดยรับเอาวิธีจับตัวบุคคลที่มี อํานาจจํานวนน้อยประกอบด้วยแล้วก็ได้ปฏิบัติเป็นผลสําเร็จ

 

งานเสรีไทย

ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้รู้จักตัวหลวงสังวรฯ เมื่อเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว เราทั้งสองมีความรักอย่างมิตรที่ซื่อสัตย์ต่อกันตลอดมา ข้าพเจ้ามีงานที่รับใช้ชาติก็ได้ขอ ร้องความร่วมมือความช่วยเหลือจากคุณหลวงสังวรฯ อีกหลายครั้ง ซึ่งท่านผู้นี้ก็ได้ร่วมมือ และเสียสละเพื่อชาติด้วยความเต็มใจ ข้าพเจ้าขอกล่าวพอสังเขปไว้ดังต่อไปนี้

1. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงครามยื่นใบลาออก จากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยท่านคาดไม่ถึงว่าคณะผู้สําเร็จราชการจะสั่งอนุมัติการลา ออกของท่าน พระองค์เจ้าอาทิตย์ ฯ ประธานคณะผู้สําเร็จราชการถูกคุกคามจากนายทหาร ใกล้ชิดจอมพล ฯ จึงพร้อมด้วยหม่อมกอบแก้วชายา มาขอลี้ภัยที่ทําเนียบท่าช้างวังหน้านั้น ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้เพื่อนทหารเรือโดยเฉพาะคุณหลวงนาวาวิจิตร์ส่งเรือยามฝั่งมา จอดหน้าทําเนียบเพื่อช่วยอารักขา และคุณหลวงสังวรฯ กับเพื่อนทหารเรือได้สนับสนุน ให้คณะผู้สําเร็จราชการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้องเกรงการคุกคามใด ๆ ต่อมาจอมพล ป. ได้จัดการเอาใบลาออกคืนไปได้ ผลแห่งการผันผวนครั้งกระนั้นข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์แจกในวันคล้ายวันเกิดของข้าพเจ้า เมื่อ 11 พ.ค. 2516 เฉพาะคุณหลวงสังวรฯ ว่าต้องพลอยถูกพ้นจากตําแหน่งราชการทหารเรือด้วย

2. งานเสรีไทยภายในประเทศนั้นมีผู้เข้าใจผิดว่าข้าพเจ้าได้ร่วมกับคุณ หลวง อดุลย์เดชจรัสมาตั้งแต่ต้น อันที่จริงคุณหลวงอดุลย์ได้เข้าร่วมงานรับใช้ชาติในส่วนนี้ ภายหลังที่จอมพล ป. พิบูลสงครามออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหาร สูงสุด เมื่อกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2487 แล้ว ก่อนหน้านั้นไม่มีทางทราบท่าที่แน่ชัดของคุณหลวงอดุลย์ต่อปัญหานี้เพราะท่านเป็นตํารวจมีหน้าที่รักษากฎหมายและเป็นเพื่อน สนิทของจอมพล ป. ยิ่งกว่าข้าพเจ้า ดังนั้นก่อนที่คุณหลวงอดุลย์เข้าร่วมงานเสรีไทย เราจึงได้รับความลําบากเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระมัดระวังญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยและตํารวจของไทยเอง ดั่งปรากฏว่าสมาชิกเสรีไทยในประเทศบางคนถูกจับ และเสรีไทยที่ลอบมาจากต่างประเทศก็ถูกจับด้วยหลายคน

ภายหลังที่หน่วยเสรีไทยสายอังกฤษภายใต้บังคับบัญชาของคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดดร่มลงที่บริเวณสิงห์บุรี-อุทัยธานีแล้วถูกตํารวจไทยจับมาขังไว้ที่สันติบาลนั้น ข้าพเจ้า ยังไม่มีโอกาสพบ ข้าพเจ้าจึงได้ให้คุณทวี ตเวทิกุล เสรีไทยภายในประเทศซึ่งขณะนั้น เป็นอธิบดีในกระทรวงการต่างประเทศทําหน้าที่ทางการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ส่ง โทรเลขระหัสของกระทรวงนั้นเองไปยังนายอรรถกิติ พนมยงค์ ซึ่งเป็นอุปทูต ณ กรุงเบอร์น สวิตเซอร์แลนด์ ใช้สํานวนที่นายอรรถกิติเข้าใจได้ว่าเป็นกุญแจระหัสพิเศษ เมื่อนายอรรถกิติตอบมาเป็นที่เข้าใจในกุญแจนั้นแล้ว ข้าพเจ้าได้ส่งโทรเลขตามกุญแจใหม่ไปอีกฉบับหนึ่ง ขอให้นายอรรถกิติติดต่อกับทูตอังกฤษที่กรุงเบอร์นว่าข้าพเจ้าขอให้ฝ่ายอังกฤษ ส่งหน่วยเสรีไทยมาอีกหน่วยหนึ่งโดดร่มลง ณ เขาหัวหิน ฝ่ายอังกฤษไม่เชื่อง่าย ๆ จึงต้อง โต้ตอบกันหลายครั้ง ในที่สุดฝ่ายอังกฤษก็ตกลงเสียงเสรีไทยอีกหน่วยหนึ่งมา ในการนี้ เขาขอทราบถึงวิธีให้ความปลอดภัยแก่หน่วยเสรีไทยนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ชี้แจงไปพอสังเขป ในการรับหน่วยนี้ ข้าพเจ้าได้มอบให้นายชาญ บุนนาค เป็นผู้จัดตั้งชาวพรานหัวหินเตรียม สถานที่โดดร่มและจัดรถยนต์บรรทุกจากหลังเขาออกมายังบ้านของคุณสุจริตสุดา (พระ สนมเอก ร. 6) ซึ่งท่านได้เต็มใจช่วยชาติโดยยกบ้านของท่านในกรุงเทพฯ และที่หัวหิน ให้เสรีไทยใช้ตามสะดวก ข้าพเจ้าได้ขอให้คุณสงวน จูฑเตมีย์ (หลวงนฤเบศร์มานิต) ซึ่ง บ้านของท่านที่ธนบุรีมีรั้วสังกะสีรอบบ้านนั้นจัดเรือนหลังหนึ่ง เพื่อหน่วยเสรีไทยได้พัก ส่วนการขนส่งคนและพัสดุเสรีไทยจากหัวหินมาธนบุรีนั้นได้ขอให้คุณหลวงบรรณกรโก วิท ขณะนั้นเป็นสารวัตรใหญ่กรมศุลกากรนําเรือยนต์ตรวจการศุลกากร โดยมีคุณสิน (นามสกุล) ซึ่งต่อมานายทหารสัมพันธมิตรตั้งฉายาว่า “กัปตันคัสตอม” นั้นเป็นนาย ท้ายเรือพร้อมด้วยลูกเรือนําเรือไปยังหัวหิน ขอให้คุณหลวงบรรณฯ แต่งเครื่องแบบ สารวัตรใหญ่ เพื่อแสดงว่าเดินทางมาราชการศุลกากรเพื่อตรวจจับการหนีภาษี แต่ว่าที่แท้คือมารับคนและพัสดุเสรีไทย และป้องกันว่าถ้าบังเอิญตํารวจจะเข้ามาจับเสรีไทยก็ให้ เจรจาว่าศุลการักษ์เป็นผู้จับจะนําไปกรุงเทพฯ ตามคําสั่งรัฐบาล (เป็นการอ้างโดยรัฐบาลไม่รู้เห็นด้วย) อีกส่วนหนึ่งคือเนื่องจากหัวหินมีชายฝั่งติดทะเล ซึ่งทหารเรือมีหน้าที่รักษาชายฝั่งด้วย และทหารเรือสมัยนั้นตํารวจก็ยังเกรงใจอยู่ แต่ขณะนั้นข้าพเจ้าก็ยังมิได้ชวน นายทหารเรือเข้าร่วมเสรีไทยด้วย จึงถือเอาความรักความเห็นใจในความกล้าหาญและ ความเสียสละเพื่อชาติของคุณหลวงสังวรฯ ที่ข้าพเจ้าเห็นมาแล้วนั้น ชวนท่านผู้นี้เข้าร่วมเสรีไทยด้วย เนื่องจากท่านได้กลับบรรจุเข้าประจําในกองทัพเรืออีกแต่ไม่มีทหารภายใต้ บังคับบัญชา ท่านก็ยินดีเข้าร่วมงานเสรีไทยโดยข้าพเจ้ามอบหน้าที่ว่าระหว่างวันนั้นถึง วันนั้นให้ท่านไปหัวหินแต่งเครื่องแบบนายพลเรือ ร่วมมือกับคุณชาญ บุนนาค และคุณหลวงบรรณฯ ในการรับหน่วยพลร่มเสรีไทย โดยในระหว่างเวลาพลร่มลงมาหลังเขานั้น ให้ท่านเตร่ๆ อยู่หน้าช่องเขาที่ติดต่อกับถนนหัวหินโดยมีคนสนิทของท่านติดตามไปด้วย สมมติว่าญี่ปุ่นหรือตํารวจไทยจะจับพลร่มก็ให้ท่านเจรจาขัดขวางอ้างว่าท่านได้รับคําสั่งจากรัฐบาลให้มาจับพลร่มร่วมมือกับศุลกากร เพื่อนําตัวและพัสดุลงเรือศุลกากรไปกรุงเทพฯ ผู้ได้รับมอบหมายหน้าที่ทุกคนได้เตรียมการและปฏิบัติหน้าที่อย่างเรียบร้อยพร้อมด้วยวินัยที่ดี

ครั้นถึงกําหนดเวลาพลร่มเสรีไทยได้ลงยังเป้าหมายเรียบร้อย แต่มีพัสดุรวมทั้งอาวุธทิ้งลงมาอีกหลายร่มกว่าจะรวบรวมเสร็จ เอาขึ้นรถยนต์ออกจากหลังเขามาถึงทาง ออกติดกับถนนได้ก็ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง คุณชาญ บุนนาค ตัดสินใจให้รถยนต์บรรทุก ของเราออกจากช่องเขาเข้าสู่ถนนเพื่อไปยังบ้านคุณพระสุจริตสุดา เมื่อรถยนต์เข้าสู่ถนน แล้ว มองเห็นรถทหารญี่ปุ่นคันหนึ่งแล่นตามหลังมาในระยะไม่กี่ร้อยเมตร ไม่รู้ว่ารถญี่ปุ่น จะรู้วี่แววตามมาจับพลร่มหรือเป็นรถทหารญี่ปุ่นที่แล่นอยู่ตามปกติ อย่างไรก็ตามรถญี่ปุ่น อยู่ในสภาพดีกว่ารถของเราอาจวิ่งผ่านไปและอาจมองเห็นพัสดุที่ผิดปกติของเราได้ รถเสรี ไทยจะหยุดทําเป็นรถเสียก็ใช่ที่ ครั้นจะวิ่งเร่งไปก็เป็นรถเก่าทําไม่ได้ และจะทําให้ญี่ปุ่น เห็นพิรุธ ขณะที่เสรีไทยในรถกําลังกังวลอยู่นั้นก็เห็นรถญี่ปุ่นหยุดไม่แล่นต่อมาแล้ว เห็น ทหารญี่ปุ่นลงมาเปิดกระโปรงรถจึงทําให้เสรีไทยเข้าใจว่ารถทหารญี่ปุ่นคันนั้นเกิดเสียลง จึงต้องมีการแก้ เสรีไทยในรถทุกคนรู้สึกยินดีว่าโชคชะตาของชาติไทยบันดาลให้รถทหาร ญี่ปุ่นเกิดเสียลงโดยไม่อาจแล่นตามมาหรือขึ้นหน้าไปมองเห็นพัสดุประหลาดของเสรีไทย

ครั้นแล้วรถเสรีไทยก็ได้เข้าบ้านคุณพระสุจริตสุดา จากที่นั้นก็ลําเลียงคนและพัสดุลงเรือ ศุลกากร โดยมีคุณหลวงบรรณ ฯ สารวัตรใหญ่ควบคุมอย่างสง่า แล่นตามชายฝั่งเข้าคลอง ต่าง ๆ จนถึงฝั่งธนบุรี แล้วขนส่งทางบกต่อไปยังบ้านคุณสงวน จูฑเตมีย์ เสรีไทยหน่วยที่ มาโดดร่มครั้งนี้คือ (1) คุณประเสริฐ ปทุมมานนท์ ชื่อเสรีไทย “เป๋า” (2) คุณกฤษณ์ โตษยานนท์ ชื่อเสรีไทย “คง” ต่อจากนั้นมาเมื่อข้าพเจ้าได้รับการติดต่อว่าสัมพันธมิตรจะส่งหน่วยใดมา ข้าพ เจ้าก็ขอร้องให้คุณหลวงสังวรฯ ช่วยคุ้มกันใกล้ชิดบ้าง ห่าง ๆ บ้างตามความจําเป็น

เมื่อหน่วยนายทหารอเมริกันอาศัยเรือบินทะเลมาลงที่บริเวณเกาะกระดาษ ครั้งแรกนั้นข้าพเจ้าได้ขอให้คุณหลวงบรรณฯ ติดต่อกับคุณวรกิจบรรหารจัดการรับโดยเอาเรือ ศุลกากรนํานายทหารนั้นมากรุงเทพฯ พักที่บ้านคุณพระสุจริตสุดา นายทหารอเมริกัน ต้องการพบเสรีไทยฝ่ายทหารเรือ ข้าพเจ้าก็ขอร้องให้คุณหลวงสังวรฯ ไปพบเป็นการลับ ปรึกษาแผนที่จะร่วมงานกัน ครั้นแล้วข้าพเจ้าขอร้องให้คุณหลวงสินาดโยธารักษ์ ผู้ช่วย แม่ทัพใหญ่ทําหน้าที่แทนเจ้าคุณพหลแม่ทัพใหญ่อันเป็นตําแหน่งที่ตั้งขึ้นตามกฎอัยการศึก แทนตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่เลิกไป เพราะจอมพล ป. ต้องออกจากตําแหน่ง นั้น เสนอกระทรวงกลาโหม ซึ่งคุณหลวงสินธุสงครามชัยดํารงอยู่เห็นชอบเสนอมายังผู้สําเร็จราชการลงนามทั้งคุณหลวงสังวรฯ เป็นสารวัตรใหญ่ทหาร คุณหลวงสังวรฯ ก็มีอํานาจให้ความคุ้มกันแก่พลร่มเสรีไทย และการทิ้งอาวุธกับพัสดุทางร่มได้แนบเนียนขึ้น เหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างตํารวจท้องที่ซึ่งขึ้นต่อคุณหลวงอดุลย์กับสารวัตรทหารที่ขึ้น ต่อคุณหลวงสังวร ฯ ก็เกือบๆ จะเกิดปะทะกันหลายครั้ง ในที่สุดข้าพเจ้าเห็นว่าถ้าปล่อย สภาพต่อไปก็จะเป็นผลเสียแก่งานเสรีไทยได้จึงได้ตัดสินใจร่วม ครั้นแล้วก็แบ่งหน้าที่กัน คือคุณหลวงอดุลย์รับหน้าที่ทางตํารวจของเสรีไทย แต่คุณหลวงอดุลย์ระมัดระวังมาก เพราะมีอุปนิสัยชินต่อการเป็นตํารวจมองเห็นความพิรุธคนอื่น จึงเกรงว่าท่านจะถูกญี่ปุ่น จับพิรุธถ้าหากท่านเกี่ยวข้องกับการรับร่มมากไป ท่านจึงขอรับเฉพาะแห่งที่ท่านใช้ตํารวจ ของท่านเอง แต่ท่านก็สั่งนายตํารวจอื่น ๆ ให้ช่วยเหลือในการงานนั้นตามที่เสรีไทยต้อง การ ส่วนคุณหลวงสังวรฯ นั้นกล้าเสี่ยงรับร่มในที่ทุกแห่งซึ่งข้าพเจ้าขอร้อง คุณหลวงอดุลย์ฯ ก็มาคอยเตือนข้าพเจ้าว่าขอให้เตือนคุณหลวงสังวรฯ ว่าอย่ามุมบามมากนัก ข้าพ เจ้าก็เตือนคุณหลวงสังวรฯ ตามควร แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านไม่ใช่คนปุ่มบ่าม แต่เป็นคนกล้าหาญยอมเสียสละ

ต่อมาเราได้ชวนฝ่ายทหารบกและทหารอากาศร่วมด้วย ซึ่งท่านที่ร่วมได้เสียสละช่วยงานเพื่อชาติเป็นอย่างดี ปัญหาเรื่องอาวุธที่สัมพันธมิตรมอบให้นั้นเกิดมีขึ้นดังที่ คุณทวี บุณยเกตุได้เขียนไว้ว่า สัมพันธมิตรตั้งเงื่อนไขว่าอาวุธที่เสรีไทยได้รับนั้นมิให้มอบ ให้แก่ฝ่ายทหารไทย ต่อมาฝ่ายทหารบกก็ได้จัดการรับอาวุธเองจํานวนหนึ่งภายหลังที่คุณ เนตร เขมะโยธิน ได้เข้าเป็นเสรีไทยและไปเป็นตัวแทนเสรีไทยฝ่ายทหารบกที่อินเดียแล้ว

เพื่อต่อรองกับสัมพันธมิตรที่ฝ่ายทหารจะได้รับอาวุธสมัยใหม่ กรมสารวัตรใหญ่ทหารภายใต้คุณหลวงสังวรฯ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนนายทหารสัญญาบัตรรับนิสิตจุฬา ลงกรณ์มาทําการฝึก ตั้งโรงเรียนนายทหารประทวนรับนิสิตเตรียม ม.ธ.ก. มาฝึก เราแสดง ให้เห็นว่าเป็นนายทหารของเสรีไทยที่ควรได้รับอาวุธ และจะเป็นกองหน้าของราษฎรไทย เมื่อเปิดฉากการรบขึ้นกับญี่ปุ่น สัมพันธมิตรได้ส่งนายทหารมาฝึกให้ (ค่ายเมืองชล)

ฝ่ายสารวัตรทหารญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า “แคมเปอิ” สมัยนั้นมีอํานาจมากได้ทํา การจับกุมคนจีนและเชื้อชาติจีนในประเทศไทยไปคุมขังและทรมานหลายคน ซึ่งบางคนก็ถึงแก่ความตายในที่คุมขัง ศูนย์กลางเสรีไทยเห็นว่าคนจีนและเชื้อจีนที่ทําการต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งถูกจับกุมนั้นก็มีวัตถุประสงค์ตรงกับเราในการต่อสู้ศัตรูเดียวกัน ฉะนั้น จึงควรหาทาง ช่วยเท่าที่จะทําได้ จึงได้ขอให้คุณหลวงสังวรฯ สารวัตรทหารไทยที่ได้รับตําแหน่งใหม่ทํา ความรู้จักกับสารวัตรใหญ่ญี่ปุ่นไว้ โดยเชิญมาปรนนิบัติการกินอาหารและสุราอย่างดีๆ เพื่อ ว่ามีเรื่องที่จะช่วยคนถูกจับบางคนได้ สารวัตรญี่ปุ่นก็พอใจคุณหลวงสังวร ฯ มาก มีกรณี หนึ่งที่พ่อค้าเชื้อจีนคนหนึ่งถูกสารวัตรญี่ปุ่นจับ ญาติมิตรของพ่อค้าคนนี้ขอให้ฝ่ายเราช่วย คุณหลวงสังวรฯ ก็ได้ช่วยเจรจากับสารวัตรญี่ปุ่น โดยขอรับรองและประกันให้พ่อค้านั้น ออกจากที่คุมขังของญี่ปุ่นได้ พ่อค้าคนนี้ได้มีหุ้นใหญ่ในธนาคารเล็ก ๆ ซึ่งพึ่งตั้งขึ้น ต่อมา ธนาคารนั้นก็ขยายกิจการกว้างขวางใหญ่โตทั้งภายในประเทศและมีสาขาอยู่ในต่างประเทศ

3. เมื่อสิ้นสงครามแล้ว ผู้รักชาติเวียดนามได้มาติดต่อขออาวุธ ข้าพเจ้าก็ ได้จัดอาวุธเสรีไทยจํานวนหนึ่งมอบให้ โดยคุณหลวงสังวรฯ ใช้สารวัตรทหารคุมขบวนรถไฟบรรทุกไปที่ชายแดนพระตะบอง ขณะนั้นยังอยู่กับไทย โฮจิมินห์ได้เขียนจดหมายมา ขอบใจว่าอาวุธที่ได้ไปนั้นได้จัดตั้งทหารรักชาติเวียดนามได้ 2 กองพัน จึงให้ชื่อเป็นเกียรติว่า “กองพันจากสยาม”

มีเรื่องขำที่ควรนํามาเล่าคือท่านสมภารวัดเวียดนามองค์หนึ่งซึ่งเป็นผู้วิ่งเต้นหาอาวุธในเมืองไทย โดยเรี่ยไรเงินจากชาวเวียดนามบ้าง ขอความช่วยเหลือคุณหลวงสังวรฯ บ้าง ได้มาหาคุณหลวงสังวร ฯ แสดงความขอบใจแล้วท่านปลงอาบัติต่อคุณหลวงสังวรฯ ว่า “อาตมาศีลก็เศร้าหมองไปบ้าง แต่จะทําอย่างไรได้มันเป็นเรื่องของประเทศชาติ” ข้าพเจ้าทราบต่อมาว่าท่านสมภารองค์นี้ได้กลับไปมรณะภาพในเวียตนามเหนือ

4. ทางด้านกรมตํารวจภายหลังสงครามนั้น เมื่อคุณหลวงอดุลย์ออกจาก ตําแหน่งแล้ว ก็มีการตั้งอธิบดีต่อๆ กันมาหลายคน ครั้นแล้วเมื่อก่อนรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 คุณหลวงสังวรฯ ได้เป็นอธิบดี หัวหน้าคณะรัฐประหารสั่งให้คุณหลวงสังวร ฯ พัน จากตําแหน่งอธิบดีกรมตํารวจ

เมื่อครั้งข้าพเจ้าจัดตั้งดําเนินการขบวน 26 ก.พ. 2492 นั้น ข้าพเจ้าได้ชวนคุณหลวงสังวร ฯ ร่วมด้วย อันเป็นเหตุให้คุณหลวงสังวร ฯ ต้องได้รับความลําบากอยู่หลายปี ในที่สุดท่านเห็นว่ามีทางสู้คดีได้จึงได้ไปที่กรมตํารวจให้ทําการสอบสวนท่าน คดีไม่มีหลักฐานทางกฎหมาย ท่านก็ได้อิสระภาพจนตลอดอายุไขย ข้าพเจ้ายินดีที่ในบั้นปลาย แห่งชีวิตท่านได้ปฏิบัติวิปัสสนาเป็นนิจสิน ซึ่งเป็นการทําให้ท่านได้มีความสุขตามพระพุทโธวาท ควรแก่การได้รับความสรรเสริญ

โอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอตั้งสัตยา คุณพระศรีรัตนตรัย โปรดบันดาลให้คุณหลวงสังวรฯ ผู้ซึ่งได้อุทิศตนรับใช้ชาติมาแล้วด้วยเอนกประการ จงไปสู่สุคติ ในสัมปรายภพ และเกียรติคุณของคุณหลวงสังวรฯ คงอยู่ในความระลึกถึงของผู้รักชาติ ชั่วกาลนานเทอญฯ

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2516
ปรีดี พนมยงค์