ทุ่งเชียงราก อาณาบริเวณซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ใคร ๆ อาจไม่คาดคิดเลยว่า ณ ที่แห่งนี้จะเคยเป็นฉากสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงต้นทศวรรษ 2490 และยังเกี่ยวโยงกับเรื่องราวขบวนการ 26 กุมภาพันธ์ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของนายปรีดี พนมยงค์
ในปี พ.ศ. 2492 สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เรื่องการฝึกยิงปืนใหญ่ที่ตำบลทุ่งเชียงราก ลงนามปลัดกระทรวงกลาโหมคือพลโท หลวงเสนาณรงค์ (ศักดิ์ เสนาณรงค์ หรือนามสกุลเดิมว่า อากาศะพันธ์ และอดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ค่ายวชิราวุธ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เคยสู้ต่อต้านกองทัพทหารญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา) ส่งไปถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยคือพระยารามราชภักดี (หม่อมหลวงสวัสดิ์ อิศรางกูร) ความว่า
“ด้วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ จะทำการฝึกยิงปืนใหญ่ประจำปีที่ตำบลทุ่งเชียงราก ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ เวลา ๐๘.๐๐ น. และกระทรวงกลาโหมได้ติดต่อขอให้กรมโฆษณาการประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้าทางวิทยุกระจายเสียง ๓ วัน...”
กรมโฆษณาการจึงเผยแพร่คำประกาศทางวิทยุกระจายเสียง ดังนี้
“ด้วยในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ระหว่างเวลา ๗.๐๐ น.- ๑๗.๐๐ น. กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ จะทำการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ด้วยกะสุนจริง และกะสุนซ้อมยิง บริเวณทุ่งเชียงราก ระหว่างถนนประชาธิปัตย์ กับทางรถไฟสายเหนือ ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ ๓๒ จนถึงหลักกิโลเมตรที่ ๔๑ ของถนนประชาธิปัตย์
ฉะนั้น จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกัน และห้ามประชาชนและสัตว์พาหนะเข้าไปในเขตต์ฝึกซ้อมยิงตามวันและเวลาดังกล่าวด้วย ฉะเพาะถนนประชาธิปัตย์ และทางรถไฟสายเหนือคงใช้สัญจรไปมาได้ปกติ.”
ถัดมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมแจ้งมา อีกทั้งเห็นควรแจ้งกรมต่าง ๆ และจังหวัดพระนครให้ทราบด้วย

พลโท หลวงเสนาณรงค์ (ศักดิ์ เสนาณรงค์)
ภาพจาก wikipedia

พระยารามราชภักดี (หม่อมหลวงสวัสดิ์ อิศรางกูร)
ภาพจากหนังสือ สภาพเมื่อแรกสถาปนากระทรวงมหาดไทย พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยารามราชภักดี (ม.ล.สวัสดิ์ อิศรางกูร)
‘ถนนประชาธิปัตย์’ ตามที่เรียกขานกันห้วงยามนั้น ปัจจุบันก็คือถนนพหลโยธิน โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเปลี่ยนชื่อถนน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าผู้ก่อการคณะราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนทุ่งเชียงรากอยู่ตรงกลางระหว่างถนนประชาธิปัตย์กับทางรถไฟสายเหนือที่ทอดยาวขนานกันไป เริ่มนับเนื้อที่ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 32 จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 41 (บริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตทุกวันนี้อยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 40 กับหลักกิโลเมตรที่ 41)
พอพวกนักหนังสือพิมพ์แว่วยินคำประกาศของกรมโฆษณาการ ก็พากันเรียกขานการฝึกยิงปืนใหญ่ข้างต้นว่า “การประลองยุทธที่ตำบลทุ่งเชียงราก”

(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กลางทุ่งเชียงราก ในวันวาน)

ทุ่งเชียงรากด้านหลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ถ่ายจากหน้าต่างขบวนรถไฟที่แล่นบนทางรถไฟสายเหนือ ต้นปี พ.ศ. 2553
โดย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
ซ้อมรบ ณ ทุ่งเชียงราก ยังสะท้อนถึงการตระเตรียมความพร้อมจะปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามไว้อย่างรัดกุม สืบเนื่องจากภายหลังคณะรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2490 แล้ว สภาพการเมืองไทยตกอยู่ในสถานการณ์ผันผวนและตึงเครียด ฝ่ายรัฐบาลเผชิญกับขบวนการที่พยายามจะมาล้มอำนาจบ่อยครั้ง
เฉกเช่น ขบวนการเคลื่อนไหวของนายทหารเสนาธิการ นำโดยพลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิตและพลตรี เนตร เขมะโยธินที่วางแผนจะยึดอำนาจต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2491 และลงมือปฏิบัติการในงานพิธีมงคลสมรสของพันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศขณะนั้น) แต่กลับประสบความล้มเหลวถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลล้อมจับกุมเสียก่อนจนกลายเป็น ‘กบฏเสนาธิการ’ สมาชิกคณะก่อการนี้ที่หลบหนีไปได้คือพันโท พโยม จุลานนท์ รวมถึงหลวงอรรถกิติกำจร น้องชายนายปรีดี พนมยงค์ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นั่นทำให้ฝ่ายรัฐบาลออกค้นหาตัวนายปรีดี เพราะเชื่อว่านายปรีดีต้องกำลังวางแผนก่อการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ฝ่ายรัฐบาลเริ่มแว่วยินหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องนายปรีดีลอบมาติดต่อกับพวกทหารเรือบริเวณฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะติดต่อกับพลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) และพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ เพื่อขอให้ทางทหารเรือช่วยสนับสนุนขบวนการที่นายปรีดีจะย้อนเข้ามาเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมาจากคณะรัฐประหาร 2490
ขณะที่ฝ่ายทหารเรือทางฟากชลบุรีกำลังฝึกซ้อมรบแข็งขัน ฝ่ายรัฐบาลมิวายเคลือบแคลงสงสัยและระแคะระคายว่าคงจะมีการเคลื่อนไหวบางอย่างที่มากไปกว่าการซ้อมรบของทหารเรือตามปกติเสียแล้ว ฉะนั้น กองทัพฝ่ายรัฐบาลจึงเร่งรัดให้มีการซ้อมรบ โดยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ จะทำการฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ ณ ทุ่งเชียงราก และกองกำลังนาวิกโยธินก็จะทำการฝึกซ้อมในเขตกรุงเทพ-นครปฐม
อย่างไรก็ดี การประลองยุทธที่ตำบลทุ่งเชียงรากในวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ยังมิทันเสร็จสิ้นจบกระบวน พันเอก ศิลป รัตนพิบูลชัย (หรือขุนศิลป์ศรชัย) เจ้ากรมรักษาดินแดน ได้รายงานด่วนมายังฝ่ายรัฐบาลว่า ในวันเดียวกันจะมีคณะนายทหารจำนวนหนึ่งวางแผนยึดอำนาจภายในกรมรถรบ แล้วนำรถถังหุ้มเกราะหลายคันพร้อมอาวุธครบมือเคลื่อนมาเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลตอนที่คณะรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมกัน (สำหรับเรื่องราวการเคลื่อนไหวนี้ สามารถดูเพิ่มเติมที่ โมเดลสังหารอูอองซาน จากย่างกุ้งสู่กรุงเทพฯ กุมภาพันธ์ 2492)
พลโท ผิน ชุณหะวัน ผู้บัญชาการทหารบก และพลโท กาจ กาจสงคราม หรือ หลวงกาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งกำลังบัญชาการประลองยุทธใหญ่ที่ตำบลเชียงราก ปทุมธานี ได้สั่งให้หยุดชะงักการประลองยุทธลงก่อน

พลโท ผิน ชุณหะวัน ภาพจากหนังสือ ๒๕ คดีกบฏ

พลโท กาจ กาจสงคราม หรือ หลวงกาจสงคราม
ภาพจากหนังสือ อนุสรณ์ในงานรับพระราชทานเพลิงศพ พลโท กาจ กาจสงคราม
ครั้นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เวลาประมาณ 19.30 น. การฝึกซ้อมยิงปืนใหญ่ของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ณ ทุ่งเชียงราก และการฝึกซ้อมกองกำลังนาวิกโยธินในเขตกรุงเทพ-นครปฐมก็ได้รับคำสั่งเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมตัวปราบจราจลที่จะเกิดขึ้นจากขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างฉับพลันทันที
ขณะเดียวกัน ทางด้านขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของนายปรีดีเอง มิอาจรั้งรอแรงสนับสนุนเต็มที่จากทหารเรือที่อยู่บริเวณชายฝั่งอ่าวไทยแถบชลบุรีได้อีกต่อไป จึงรีบรุดเข้าสู่กรุงเทพมหานครและรวบรวมสมัครพรรคพวกเข้ายึดพื้นที่เมืองหลวง ประกาศยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ผ่านทางวิทยุในวันที่ 26 กุมภาพันธ์
กองกำลังของนายปรีดีประกอบด้วยอดีตเสรีไทยและลูกศิษย์เข้ายึดพระบรมมหาราชวัง มีการปะทะกับกองกำลังทหารบกของฝ่ายรัฐบาล แผนการที่จะให้ทหารเรือจากสัตหีบมาช่วยเสริมกำลังพลสนับสนุนเป็นอันล้มเหลว ทหารเรืออ้างเหตุผลว่าเรือเกยตื้นเพราะน้ำลงที่บางปะกง “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” จึงประสบความพ่ายแพ้ในที่สุด
มักเป็นที่เข้าใจกันเนือง ๆ ทำนองว่า พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตไม่มีความเกี่ยวข้องกับโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยหรือเกี่ยวโยงกับนายปรีดี พนมยงค์สักเท่าไหร่นัก บางทีนั่นอาจเป็นความเข้าใจที่มิค่อยแม่นยำเสียเลยทีเดียว เนื่องจากค้นพบหลักฐานยืนยันว่าทุ่งเชียงราก อาณาบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัยนั้น เคยเป็นฉากสำคัญในสถานการณ์ทางการเมืองแห่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เพราะเป็นสนามซ้อมรบประลองยุทธที่ฝ่ายรัฐบาลของคณะรัฐประหาร 2490 เตรียมพร้อมไว้ปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่านายปรีดีย่อมมีบทบาทแน่ ๆ และอาจได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังทหารเรือ!
หมายเหตุ: ถ้อยความที่อ้างอิงมาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะรักษาการสะกดคำไว้ตามเดิมที่ปรากฏในเอกสารต้นฉบับ
เอกสารอ้างอิง
- หจช. มท. 0201.2.1.8/30 การฝึกยิงปืนใหญ่ที่ตำบลทุ่งเชียงราก ( พ.ศ. 2492)
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สภาพเมื่อแรกสถาปนากระทรวงมหาดไทย.
- กระทรวงมหาดไทย พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยารามราชภักดี (ม.ล. สวัสดิ์ อิศรางกูร) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2519. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, กรมการปกครอง, 2519
- ไทยน้อย (เสลา เรขะรุจิ). ๒๕ คดีกบฏ. พระนคร: ประมวลสาส์น, 2513
- บัญชร ชวาลศิลป์, พล.อ..2500 สฤษดิ์-เผ่า เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2563
- “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่.” ราชกิจจานุเบกษา, ตอน 67 เล่มที่ 67 (12 ธันวาคม 2493)
- ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2517
- พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ท.ช., ป.ม. (สังวร สุวรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2516. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2516
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐ และการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2553
- อนุสรณ์ในงานรับพระราชทานเพลิงศพ พลโท กาจ กาจสงคราม ป.ช., ป.ม. (เทียน เก่งระดมยิง) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 20 เมษายน พุทธศักราช 2510. พระนคร: โรงพิมพ์กรมการทหารสื่อสาร, 2510