ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปฏิบัติการฆาตกรรมทางการเมือง: สองพี่น้อง ชาญ และ เล็ก บุนนาค

3
มีนาคม
2564

หากจะว่ากันถึงกรณีสังหารโหดที่เกิดขึ้นช่วงทศวรรษ 2490 ยุคของคณะรัฐประหาร ผู้สนใจการเมืองไทยมักจะคุ้นเคยกับเรื่องราวฆาตกรรม 4 อดีตรัฐมนตรี ได้แก่ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล และ นายจำลอง ดาวเรือง เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นการกวาดล้างสมัครพรรคพวกและลูกศิษย์ของ นายปรีดี พนมยงค์ อย่างรุนแรง ภายหลังขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ ประสบความพ่ายแพ้ ส่วนอีกกรณีหนึ่งก็คือการฆาตกรรม นายเตียง ศิริขันธ์ อดีตรัฐมนตรีคนสำคัญและขุนพลแห่งภาคอีสาน เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2495 โดยนำร่างไปขุดหลุมเผาอำพรางที่จังหวัดกาญจนบุรี

อันที่จริง ภายใต้เงื้อมเงารัฐบาลของคณะรัฐประหาร ยังปรากฏผู้ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมทางการเมืองอีกจำนวนไม่น้อยรายเลยทีเดียว น่าเศร้าสลดเหลือเกินที่เหยื่อหลายรายนั้น ไม่ค่อยได้รับการกล่าวขานในโฉมหน้าประวัติศาสตร์เท่าไหร่นัก

สองพี่น้องเยี่ยงนายชาญ บุนนาคและนายเล็ก บุนนาค ได้ตกเป็นเหยื่อการสังหารโหดเช่นกัน ทั้งสองถูกฆ่าตายและนำร่างไปเผาอำพรางที่กาญจนบุรีในคราวเดียวกับนายเตียง ศิริขันธ์ แม้ทุกวันนี้อาจจะไม่ค่อยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของพวกเขามากเท่านายเตียงก็ตามที

นายชาญและนายเล็ก เป็นพี่น้องกัน รวมถึงนายน้อย บุนนาคด้วย ย้อนไปปี พ.ศ. 2480 นายชาญและนายเล็กทำงานอยู่ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง นายชาญเป็นคนฉายหนังและมีนายเล็กเป็นผู้ช่วย 

ต้นทศวรรษ 2480 อีกบทบาทลือเลื่องของนายชาญในแวดวงภาพยนตร์ นั่นคือการเป็นผู้บันทึกเสียง ฝากฝีมือไว้ในผลงานหนังอย่างเรื่อง ถ่านไฟเก่า และเรื่อง แม่สื่อสาว ของบริษัทภาพยนตร์ไทย จำกัด ซึ่งอำนวยการสร้างและกำกับโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ออกฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงปี พ.ศ. 2481 เดือนเมษายนและเดือนสิงหาคมตามลำดับ

พอเอ่ยถึงนายชาญกับวงการภาพยนตร์ ก็คงมิอาจละเว้นที่จะเอ่ยถึงปริม บุนนาค อดีตนางเอกหนังไทย เธอเพิ่งอำลาโลกไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 สิริอายุ 97 ปี ปริมก้าวเข้าสู่สถานะนางเอกภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2481 เริ่มแสดงหนังขาวดำ 35 มิลลิเมตรเสียงในฟิล์มเรื่อง วันเพ็ญ ของบริษัทภาพยนตร์ไทย จำกัด ออกฉายครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมกรุงเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2481 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับ ขณะนายชาญซึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงมีศักดิ์เป็นพี่ชายของเธอ พอปีถัดมา ปริมได้เป็นหม่อมในพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล

 

ปริม บุนนาค นางเอกภาพยนตร์เรื่อง วันเพ็ญ ของบริษัทภาพยนตร์ไทย ออกฉายปี พ.ศ. 2481 นายชาญ บุนนาค เป็นผู้บันทึกเสียง ภาพจากหนังสือ ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๙๙.
ปริม บุนนาค นางเอกภาพยนตร์เรื่อง วันเพ็ญ ของบริษัทภาพยนตร์ไทย
ออกฉายปี พ.ศ. 2481
นายชาญ บุนนาค เป็นผู้บันทึกเสียง
ภาพจากหนังสือ ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๙๙.

 

หัด ดาวเรือง เขียนบอกเล่าเหตุการณ์บางอย่างในช่วงกลางทศวรรษ 2480 ไว้ว่า วันหนึ่งนายชาญ นายเล็ก และ นายน้อยแห่งสกุลบุนนาค พากันนั่งรถยนต์ขับแล่นไปตามถนนที่มีน้ำฝนท่วมนอง เผอิญขับรถสวนกับรถคันที่จอมพล ป. พิบูลสงครามนั่งมา แล้วน้ำบนพื้นถนนแตกกระจายกระเซ็นสาดเข้าไปในรถทั้งสองคัน นายน้อยอุทานร้องเฮ้ย! โดยไม่รู้ว่ารถอีกคันเป็นรถของใคร คนหนุ่มๆ จึงร้องเฮฮากันตามประสา จู่ๆ มีรถตำรวจแล่นไล่หลังมาเรียกให้หยุด ขุนจำนงรักษา (จำนง จำนงรักษา) นายตำรวจใหญ่เข้ามาต่อว่าต่อขานเรื่องทำไมแสดงกิริยาเช่นนั้น พร้อมขอดูใบขับขี่ แต่นายน้อยไม่ได้พกใบขับขี่มา จึงถูกนำตัวส่งมาสถานีตำรวจนางเลิ้ง และนำตัวไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

“...ประเดี๋ยวเดียวจอมพล ป. พิบูลสงครามออกมาถามว่า ทำไมแสดงกิริยาเช่นนั้น  รู้ไหมว่าเป็นผู้บังคับบัญชา นายน้อยจึงตอบว่าไม่ได้แสดงกิริยาอะไรและไม่รู้ว่าเป็นใคร จอมพล ป. พิบูลสงครามถอดเสื้อแล้วท้าชก นายน้อยตอบว่าเป็นผู้น้อยขอไม่สู้ จอมพล ป. พิบูลสงครามสวมเสื้อแล้วบอกให้ตำรวจเอาตัวไปสถานีนางเลิ้ง ถูกขังอยู่คืนหนึ่ง 

พล.ต.อ. เผ่ามาด่าว่าอยู่พักใหญ่ ตำรวจปรับฐานไม่มีใบขับขี่และส่งเสียงอื้อฉาว ๕ บาท วันรุ่งขึ้นตำรวจพาไปพบพล.ต.อ. เผ่า ที่โรงหนังเฉลิมกรุง พล.ต.อ. เผ่าถามว่าจะว่าอย่างไร นายน้อยขอประทานโทษ พล.ต.อ. เผ่าก็บอกว่าตำรวจเอาไปได้ ตำรวจก็ปล่อยให้กลับบ้าน จากนั้น พล.ต.อ. เผ่า ซึ่งเป็นผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็มีคำสั่งไล่ นายชาญ นายน้อย นายเล็ก ออกจากงาน พร้อมทั้งคนนามสกุลบุนนาค ที่ทำงานอยู่โรงหนังเฉลิมกรุง ก็ให้ออกหมด”

ครั้นต้องออกจากงานที่ศาลาเฉลิมกรุง นายชาญยังคงรับจ้างอัดเสียงบันทึกเสียงภาพยนตร์ ช่วงปี พ.ศ. 2483 นายปรีดี พนมยงค์จัดสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก จะนำออกฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 และได้มอบหมายให้นายชาญทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกเสียงอีก นายปรีดีและนายชาญจึงสนิทสนมกันแน่นแฟ้น

กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทย นายชาญ นายเล็ก และ นายน้อย ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยซึ่งนายปรีดีเป็นหัวหน้าเสรีไทยภายในประเทศ นายชาญได้รับมอบหมายให้ไปจัดตั้งหน่วยประสานงานเสรีไทยที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คอยปฏิบัติการรับข่าวสารต่างๆ จากฝ่ายสัมพันธมิตรและรองรับเสรีไทยผู้กระโดดร่มลงมาแล้วนำตัวมาเข้าพบนายปรีดีที่กรุงเทพมหานคร จึงชักชวนนายเล็กและนายน้อยร่วมภารกิจด้วย มิหนำซ้ำยังทำงานร่วมกับ หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก) หัวหน้าเสรีไทยสายศุลกากร นายชวน (ปุ๊) บุนนาค ข้าราชการศุลกากร และ นายใช้ ห้วงน้ำ พรานใหญ่ผู้ชำนาญพื้นที่แถบนั้น โดยตอนนายชาญไปรับเสรีไทยที่กำลังจะกระโดดร่มลงมา เขาจะจุดกองไฟเป็นรูปตัว T ส่งสัญญาณให้คนบนเครื่องบินเห็นว่ามีคนมารอรับอยู่เบื้องล่าง เฉกเช่น ร.ต.ประเสริฐ ปทุมานนท์ และ ร.ต.กฤษณ์ โตษยานนท์ เสรีไทยสายอังกฤษที่กระโดดร่มลงมาบริเวณช่องเขาด่าง ตำบลหินเหล็กไฟ ซึ่งนายชาญเป็นผู้ไปรอรับ นายชาญยังสนิทสนมกับนายเตียง ศิริขันธ์ เสรีไทยผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ภาคอีสานที่ได้ติดต่อประสานงานกัน

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488  นายชาญได้สัมปทานป่าไม้ที่หัวหิน 2 ปี  ปีถัดมาเมื่อมีการเริ่มก่อตั้ง “พฤฒิสภา” หรือปัจจุบันก็คือ “วุฒิสภา” เป็นครั้งแรก นายชาญได้รับเลือกแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งใน 80 สมาชิกพฤฒิสภาชุดแรกสุดของเมืองไทยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 อย่างไรก็ดี สมาชิกพฤฒิสภาชุดนี้สิ้นสุดลงภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

รัฐบาลคณะรัฐประหารสั่งยกเลิกสัมปทานป่าไม้ของนายชาญที่หัวหิน นายชาญจึงกลับมาทำงานอัดแผ่นเสียงภาพยนตร์ ตั้งสำนักงาน ณ บ้านพระสุจริตสุดา ใช้ห้องใต้ดินเป็นที่อัดเสียง มีผู้มาติดต่อใช้บริการจำนวนมาก นายเตียง ศิริขันธ์ มาติดต่อเรื่องภาพยนตร์และเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ นายผ่อง เขียววิจิตร ก็มาร่วมทำงานอัดแผ่นเสียงร่วมกับนายชาญ

พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพี่สาวของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา บ้านตั้งอยู่ถนนพระราม 5 ด้านหลังโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ปลูกสร้างบนที่ดินซึ่งได้รับพระราชทานจาก รัชกาลที่ 6 

 

นายชาญ บุนนาค ภาพจาก สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา ๒๔๗๕ - ๒๕๐๒.
นายชาญ บุนนาค
ภาพจาก สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา ๒๔๗๕ - ๒๕๐๒.

 

สำหรับกรณีที่นายชาญและนายเล็ก บุนนาค ตกเป็นเหยื่อการสังหารอย่างโหดเหี้ยมทารุณนั้น สืบเนื่องจากภายหลังรัฐประหาร 2490 และความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา ความที่นายชาญเคยเป็นเสรีไทยและสนิทสนมกับฝ่ายของนายปรีดี พนมยงค์ พอเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองหรือขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลคณะรัฐประหารคราวใด นายชาญและนายเล็กมักมิแคล้วถูกตำรวจมาควบคุมตัวไปเนืองๆ แต่ก็ปล่อยตัวทุกครั้ง จวบจนต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2495 รัฐบาลได้กวาดล้างจับกุมบุคคลจำนวนมากในข้อหากบฏ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” อ้างว่าบุคคลเหล่านี้สมคบกับบุคคลนอกประเทศเตรียมนำกองกำลังมาล้มล้างรัฐบาล นายเตียง ศิริขันธ์ นายชาญและนายเล็ก ได้ถูกตำรวจเรียกตัวไปที่สันติบาลหลายหน 

เฉกเช่นเช้าวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2495 ตำรวจ 3 นายมาเชิญตัวนายชาญให้ไปสันติบาล นายชาญก็ไปพร้อมกับนายเล็ก และ กลับบ้านมาตอนเที่ยง นายชาญเล่าให้นางปิ่มปลื้ม ภรรยาฟังว่าตำรวจจับกุมพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ พบบันทึกที่พลเรือตรีทหารได้ยืมเงินนายชาญ 1,000 บาท จึงเรียกตัวไปสอบสวน

ต่อมาเช้าวันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม ตำรวจ 3 นายมาเชิญตัวนายชาญให้ไปสันติบาลอีก นายชาญ นายเล็ก และนายผ่อง เขียววิจิตร (มานอนค้างคืนเพื่อทำงานอัดเสียงที่บ้านนายชาญ) ได้เดินทางไปด้วยกันโดยรถยนต์เอ็มจีสีเทาๆ ของนายเล็ก ส่วนนายผ่องตั้งใจเสร็จธุระของนายชาญก็จะกลับบ้านของตนที่ฝั่งธนบุรี 

วันนั้น นายชาญนุ่งกางเกงสีน้ำตาล สวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีเนื้อ สวมนาฬิกาข้อมือโรเล็กซ์หนึ่งเรือน ปากกาปาร์กเกอร์หนึ่งด้าม สร้อยคอทองคำพร้อมด้วยพระห้าองค์ สวมรองเท้าหนังคัทชูสีน้ำตาล คาดเข็มขัดหนังสีน้ำตาล หัวเข็มขัดทำด้วยทองนอกรูปเหลี่ยมข้างบนบิดๆ ขณะนายเล็กนุ่งกางเกงสีเขียวขี้ม้า สวมเสื้อคอกลมขาวผ้าขนหนูแขนสั้น สวมนาฬิกาข้อมือโรเล็กซ์เรือนเหล็ก สวมแว่นตาขอบทองเรย์แบนด์ก้านทอง ไม่ได้คาดเข็มขัด สวมรองเท้าหนังบาจาสีน้ำตาล ด้านนายผ่องนุ่งกางเกงขายาวสีน้ำตาล  สวมเสื้อเชิ้ตขาวแขนสั้น  คาดเข็มขัดหนังสีน้ำตาล ผูกนาฬิกาข้อมือเรียนสีขาวสายเหล็กสีขาว สวมสร้อยคอเงิน มีพระเครื่องทำด้วยเงินห้อย นายผ่องใส่ฟันเทียมด้านบนตลอดทั้งด้าน ด้านล่างใส่ฟันเทียมเพียงสี่ซี่ มีแว่นตาสองแว่น เป็นแว่นตากันแดดกับแว่นตาดูหนังสือ

ในวันเดียวกัน นายศิวะ นามสนธิ ได้ไปหานายน้อย บุนนาค ที่ห้องใต้ดินใช้อัดเสียง เจอนายเตียง ศิริขันธ์มาถามหานายชาญ นายน้อยบอกว่าไม่อยู่ ตำรวจมาตามตัวไปสอบสวน นายเตียงจึงเอ่ยปากว่าชักเป็นห่วงนายชาญ

นายน้อยรอคอยนายชาญและนายเล็กอยู่จนเวลาประมาณ 15.00 น. ไม่เห็นกลับมาสักที จึงออกไปตามตัวที่วังปารุสก์ ที่สันติบาล และที่สถานีตำรวจดุสิต ไม่พบตัวอีกก็กลับมาทำงานตามเดิม จนเวลา 18.00 น. นางปิ่มปลื้ม ภรรยานายชาญ และนางสุวรรณี ภรรยานายเล็ก ฝากเสื้อผ้าเอาไปให้นายชาญ นายเล็ก และนายผ่องที่สันติบาล พอนายน้อยไปถึง ถามตำรวจได้ความว่านายชาญ นายเล็ก และนายผ่องมาสันติบาลแต่เหมือนจะกลับไปแล้ว นายน้อยไปตามดูที่วังปารุสก์ก็ยังไม่เจอ

วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม ตำรวจมาควบคุมตัวนายน้อยไปสันติบาล ขณะที่บ้านนายชาญ ตำรวจนำหมายจับตัวนายชาญข้อหากบฏมาแสดงแก่นางปิ่มปลื้มและขอค้นบ้าน ซึ่งค้นได้ปืนหนึ่งกระบอก พอถามหาทะเบียนปืน นางปิ่มปลื้มนึกไม่ออกเก็บไว้ที่ไหน ตำรวจจึงยึดปืนกระบอกนั้น พร้อมควบคุมนางปิ่มปลื้มไปด้วย นายน้อยพบนางปิ่มปลื้มที่สันติบาลก่อนเธอจะได้รับการปล่อยตัวกลับมา ส่วนนายน้อยเองถูกนำตัวจากสันติบาลไปควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจพญาไท 7 วัน และนำไปควบคุมตัวที่สถานีตำรวจกลางอีก 23 วัน จึงปล่อยตัวกลับบ้าน

นับแต่วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม ไม่มีใครทราบข่าวคราวของนายชาญและนายเล็ก บุนนาค รวมทั้งนายผ่อง เขียววิจิตรอีกเลย ทางด้านนายเตียง ศิริขันธ์และนายสง่า ประจักษ์วงศ์ คนขับรถของนายเตียงก็หายสาบสูญไปเช่นกัน ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าหลบหนีออกนอกประเทศไทยไป ขณะเดียวกันก็แว่วยินเสียงซุบซิบเซ็งแซ่ว่าทุกคนอาจถูกสังหารเสียแล้ว

ภายหลังรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามสูญสิ้นอำนาจไปในปี พ.ศ. 2500 จากการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงปี พ.ศ. 2501-2502 ได้มีการรื้อฟื้นสะสางคดีการเมืองที่นายเตียง, นายชาญ, นายเล็ก, นายผ่อง และนายสง่าหายสาบสูญไป 

ผลการสืบสวนสอบสวนปรากฏว่าตำรวจจำนวน 15 นาย ทั้งนายพัน นายร้อย และนายสิบได้สมคบร่วมกระทำความผิดด้วยการทรมานทำร้ายร่างกายและใช้เชือกรัดคอทุกๆ คนจนถึงแก่ความตายในวันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2495 ที่บ้านหลังหนึ่งในตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง จากนั้นลำเลียงร่างไร้วิญญาณไปขุดหลุมเผาอำพรางในคืนวันเสาร์ที่ 13 ธันวาคมต่อเนื่องกับวันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคมในเขตตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 

ตำรวจหลายนายยังเคยเป็นอัศวินของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ดังรายละเอียดคำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ 3628/2501 และคดีหมายเลขแดง 1542/2502 ทว่าจำเลยทั้ง 15 นายยื่นคำให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำความผิดดังพนักงานอัยการฟ้องกล่าวหา

เมื่อทางเจ้าพนักงานสอบสวนเดินทางไปตรวจสอบพยานหลักฐานตรงจุดเกิดเหตุที่จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากเวลาผ่านไปหลายปี พอขุดหลุมซึ่งเคยเป็นที่เผาอำพรางศพจึงพบเพียงเศษกะโหลกศีรษะและเศษกระดูกส่วนต่างๆ แต่ก็เจอสิ่งของติดตัวต่างๆ เช่น หัวเข็มขัด เศษแว่นตา ฟันทอง ส้นรองเท้า และพวงกุญแจ ประกอบกับการพิจารณาคำให้การของพยานแวดล้อมอื่นๆ ก็พอจะยืนยันได้ว่านายเตียง ศิริขันธ์, นายชาญ บุนนาค, นายเล็ก บุนนาค, นายผ่อง เขียววิจิตร และนายสง่า ประจักษ์วงศ์ เป็นเจ้าของร่างที่ถูกฆาตกรรมและถูกเผาในหลุมนี้จริงๆ นับเป็นเรื่องน่าสลดหดหู่ใจที่สุด แทบมิน่าเชื่อเลยว่าด้วยเหตุผลของความหลงใหลอำนาจทางการเมืองจะผลักดันให้คนเราด้วยกันมุ่งทำลายชีวิตกันอย่างโหดเหี้ยมขนาดนี้

ก่อนนายชาญ จะหายตัวไปพร้อมกับนายเล็ก และต่อมาเป็นที่ชัดเจนว่าถูกสังหาร หรือจะพูดง่ายๆ ว่าก่อนนายชาญจะตายในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2495 เขาได้ฝากผลงานการอัดเสียงบันทึกเสียงไว้ในภาพยนตร์เรื่อง ทะเลรัก ของบริษัทภาพนิมิต อำนวยการสร้างโดยเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ และกำกับโดยขุนวิจิตรมาตรา 

หนังเรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมกรุงเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2496 ซึ่งจริงๆนายชาญอำลาโลกไปราวสี่เดือน เพียงแต่เวลานั้น คนอาจจะไม่ทราบว่าเขาถูกฆ่า อาจเชื่อตามรัฐบาลว่าเขาหลบหนีไปต่างประเทศ

นึกเสียดายอยู่บ้างที่สืบค้นเจอเรื่องราวของสองพี่น้องบุนนาค คือนายชาญและนายเล็กได้เพียงดังบอกเล่ามาแล้วหลายบรรทัด เชื่อว่าน่าจะมีข้อมูลอีกมากมายที่ยังไม่พบ ซึ่งผมคงต้องพากเพียรค้นคว้าต่อไปให้กระจ่าง

 

เอกสารอ้างอิง

  • ทิพย์วัลย์ ประยูรสุข (บรรณาธิการ). ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๙๙. นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2557
  • ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ตำนานเสรีไทย The FreeThai Legend. เริงชัย พุทธาโร บรรณาธิการ. กรุงเทพ : แสงดาว, 2546
  • สมบูรณ์ วรพงษ์. เบื้องหลังคดีเลือด ยุคอัศวินผยอง : คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2544
  • สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา ๒๔๗๕ - ๒๕๐๒. สำนักงานเลขารัฐสภา. 2502
  • สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. ประวัติครู คุรุสภาจัดพิมพ์เนื่องในวันครู ๑๖ มกราคม ๒๕๔๔. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544
  • หัด ดาวเรือง. เบื้องหลังสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรี (ชีวิตและงานของสี่อดีตรัฐมนตรี). พระนคร: โรงพิมพ์อักษรสาส์น, 2508
  • อนันต์ อมรรตัย. สังหารโหด 4 รัฐมนตรี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศิริสานส์น, 2526