ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

แนวคิดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินในรัฐธรรมนูญฯ ของปรีดี พนมยงค์

12
มีนาคม
2564

กรรมสิทธิ์ที่ดินก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ก่อนการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ย้อนกลับไปนับตั้งแต่ช่วงปลายอยุธยาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิทธิที่จะใช้สอยทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้สิทธิของกษัตริย์ โดยราษฎรได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินในฐานะสิ่งตอบแทนที่เป็นแรงงานให้กับรัฐ ซึ่งกษัตริย์ยังสงวนอภิสิทธิ์และพระราชอำนาจที่จะจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินให้กับคนในบังคับของพระองค์[1]

ดังนั้น บรรดาสิทธิทั้งหลายเหนือที่ดินจึงสงวนไว้เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ตามมาตรา 42 ของพระอัยการเบ็ดเสร็จ ซึ่งระบุว่า “ถ้าที่นอกเมืองหลวงอันเปนแว่นแคว้นกรุงศรีอยุธยาใช่ที่ราษฎร อย่าให้ซื้อขายแก่กันอย่าละไว้ให้เปนทำเน (ทำนา) เปล่า”[2] ซึ่ง ร. แลงกาต์ อธิบายว่าการกระทำดังกล่าวเป็นนิตินโยบาย เพราะหากกฎหมายยินยอมให้มีการขายเปลี่ยนมือที่ดินได้อย่างอิสระ การกระทำดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิดอภิสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ที่จะอนุญาตให้คนในบังคับของพระองค์ใช้ที่ดินได้[3]

ในเวลาต่อมาประเทศไทยได้เข้าทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับประเทศสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2398 ซึ่งทำให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลก ผลของสนธิสัญญาทำให้เกิดการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ให้การสนับสนุนการหักร้างถางพงเพื่อเข้าไปทำเกษตรกรรม โดยการให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่บุคคลผ่านกระบวนการออกโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นการรองรับกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเอกชน แนวคิดดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงฐานคิดเกี่ยวกับสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินของราษฎร และสามารถใช้สิทธิดังกล่าวอ้างเพื่อไม่ให้ราษฎรคนอื่นเข้ามาขัดขวางการใช้ประโยชน์ในที่ดินของเจ้าของกรรมสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องอภิสิทธิ์และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ยังคงมีอิทธิพลและมีความสำคัญอยู่ ผ่านการตีความให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม ดังปรากฏในพระนิพนธ์เรื่องคำบรรยายกฎหมายที่ดินของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ความว่า “หนังสือสำคัญต่างๆ สำหรับที่ดินที่ว่าเปนสิทธิ์ก็ดี ไม่ได้แปลว่าได้ทรงละพระบรมเดชานุภาพจากที่นั้น ให้แก่คนอื่นไปเปนอันเด็ดขาด”[4] ซึ่งเท่ากับว่าแม้กฎหมายจะรับรองกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้กับบุคคลแล้ว แต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นไม่อาจยกขึ้นเพื่อปฏิเสธอภิสิทธิ์และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้

รัฐธรรมนูญในอุดมคติของนายปรีดี พนมยงค์

การอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่ได้ส่งผลเฉพาะในทางการเมืองเท่านั้น  ทว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นยังส่งผลในทางเศรษฐกิจอีกด้วย กล่าวคือ ตามทฤษฎีปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของปรีดีนั้นเชื่อว่า สังคมมนุษย์ทุกสังคมประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ 

ประการแรก คือ เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นรากฐาน (โครงสร้างเบื้องล่าง) ของสังคม

ประการที่สอง คือ การเมือง ซึ่งเป็นโครงสร้างเบื้องบนของสังคม โดยทั้งสององค์ประกอบนี้สามารถสะท้อนและมีผลกระทบแก่กันและกัน

ประกาศที่สาม คือ ทรรศนะทางสังคม ซึ่งเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดจิตใจอย่างหนึ่งของคนในสังคม และเป็นส่วนสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งเป็นโครงสร้างเบื้องบน และเมื่อโครงสร้างเบื้องบนเปลี่ยนแปลงแล้วโครงสร้างเบื้องล่างหรือเศรษฐกิจก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

โครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองที่สำคัญที่สุดที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงก็คือ สิทธิ เสรีภาพ และ ความเสมอภาค ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยกระดับราษฎรมิให้เป็นแต่เพียงวัตถุภายใต้การปกครองเท่านั้น แต่ทำให้ราษฎรมีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิที่มีสิทธิและเสรีภาพในการตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของตนเองอย่างเต็มที่ ดังปรากฏเจตนารมณ์ไว้ในประกาศหลัก 6 ประการ ในฐานะที่เป็นปฏิญญาแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญของสยาม[5]

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักประการที่สี่และประการที่ห้า ที่กล่าวถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคอย่างชัดเจน ซึ่งแม้ว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 จะมิได้บัญญัติถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเอาไว้อย่างชัดเจน แต่หากพิจารณาแล้วว่าประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นปฏิญญาแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันให้รัฐต้องเคารพ ซึ่งหลักการแห่งสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคนี้ได้รับการรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

การรับรองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสังคมใดจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองได้ จะต้องปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์ให้เป็นอิสระและใช้ความสามารถของตนเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่  ทว่า การไม่มีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคย่อมทำให้ไม่สามารถใช้ศักยภาพเพื่อแสวงหาประโยชน์ของตนได้

ดังนั้น อุดมคติของรัฐธรรมนูญของนายปรีดีนั้น จึงให้ความสำคัญกับทั้งสิทธิ เสรีภาพ และ ความเสมอภาค ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

ในทรรศนะของนายปรีดี ได้อธิบายถึงหลักความเป็นอิสระหรือเสรีภาพ (Liberté) เอาไว้ในหนังสือคำอธิบายกฎหมายปกครอง โดยหมายถึง ความเป็นอิสระที่บุคคลอาจจะทำการใดๆ ได้โดยไม่เป็นที่รบกวนละเมิดต่อบุคคลอื่น[6] ซึ่งครอบคลุมทั้งความเป็นอิสระในตัวบุคคล (หรือในร่างกาย) อิสระในเคหสถาน อิสระในการทำมาหากิน อิสระในทรัพย์สิน อิสระในการเลือกถือศาสนา อิสระในการสมาคม อิสระในการแสดงความเห็น อิสระในการศึกษา และอิสระในการร้องทุกข์ ส่วนในเรื่องความเสมอภาค (สมภาพ) นั้นหมายถึง ความเสมอภาคในกฎหมาย กล่าวคือ สิทธิและหน้าที่ในทางกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคลอื่น ไม่ใช่หมายความว่ามนุษย์จะต้องเสมอภาคในการมีวัตถุสิ่งของ[7]

การรับรองกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยรัฐธรรมนูญ

ในทางเศรษฐกิจการรับรองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีการรับรองสิ่งเหล่านี้ในฐานะปัจจัยพื้นฐานที่จะก่อให้เกิดกลไกตลาดที่แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกัน กลไกตลาดก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะด้วยเหตุที่บุคคลนั้นไม่ได้มีสถานะที่จะจำหน่ายจ่ายโอนซึ่งทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ของตนเองไปได้ เมื่อมองในมิติของกรรมสิทธิ์แล้ว แม้ว่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะได้รับรองสิทธิในการใช้ทรัพย์สินเอาไว้บ้างก็ตาม แต่บรรดาสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้นั้นสิทธิที่สำคัญที่สุดก็คือกรรมสิทธิ์ โดยเฉพาะกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นเป็นสิ่งที่ในระบอบการปกครองเดิมได้รับรองเอาไว้อย่างจำกัด เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงมีอภิสิทธิ์และพระราชอำนาจที่จะเรียกเอาคืนที่ดินกลับคืนมาได้ตลอด

ทว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ได้ประกันกรรมสิทธิ์ของประชาชนจากอำนาจรัฐ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในมาตรา 14 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ความว่า “ภายในบังคับแห่งบทกฎหมายบุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ”

ข้อความที่ว่า “บุคคลย่อมีเสรีภาพบริบูรณ์...ในเคหสถาน และทรัพย์สิน...” นั้นเป็นการรับรองระบบกรรมสิทธิ์ของราษฎร โดยมีอิสระที่จะใช้ เก็บดอกผล จำหน่ายจ่ายโอนตามความพอใจ และเมื่อบุคคลทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันแล้ว ไม่มีบุคคลใดจะทรงไว้ซึ่งอภิสิทธิ์หรืออำนาจพิเศษที่จะเรียกเอาทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ตามอำเภอใจแม้แต่กระทั่งรัฐ ในกรณีที่รัฐจะพรากเอากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไปจากบุคคลใดก็ต้องอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภาที่เป็นผู้แทนของราษฎรทั้งหลาย ซึ่งข้อนี้ได้ตรงกับสิ่งที่นายปรีดีได้เคยอธิบายไว้ในคำอธิบายกฎหมายปกครองว่า ความเป็นอิสระในทรัพย์สิน คือ การที่มนุษย์มีสิทธิที่จะใช้ เก็บดอกผล จำหน่ายจ่ายโอนตามความพอใจ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการบังคับซื้อ (Expropriation) เพื่อตัดถนน ทำทางรถไฟ ชลประทาน หรือการสาธารณะประโยชน์อื่น[8] ซึ่งคำอธิบายกฎหมายปกครองนี้ได้เขียนขึ้นไว้ตั้งแต่ก่อนการอภิวัฒน์สยาม

หลักการประกันกรรมสิทธิ์นี้ ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกๆ ฉบับนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และในเวลาต่อมารัฐธรรมนูญได้ขยายสิทธินี้ไปถึงขนาดรับรองว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะกิจการของรัฐเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ การผังเมือง การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการเกษตรหรือการอุตสาหกรรม การปฏิรูปที่ดิน การอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งทางประวัติศาสตร์ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืนนั้น และการเวนคืนจะต้องกำหนดค่าทดแทนอย่างเป็นธรรม

คุณูปการของการคิดริเริ่มของนายปรีดีนี้ ได้สร้างผลที่ยั่งยืนเอาไว้ และได้รับการรักษา สืบสาน และต่อยอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้ในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐานที่ราษฎรทุกคนจะต้องมี

 


[1] คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร, “อ่านประวัติศาสตร์พระปฐมบรมราชโองการ (ใหม่) : คันฉ่องสะท้อนนัยยะทางกฎหมายและการเมืองของกษัตริย์และสยามสมัยใหม่,” แปลโดย อัญชลี มณีโรจน์, ปีที่ 18 ฉบับที่ 2  ฟ้าเดียวกัน, น.18 – 19 (2563).

[2] กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, เล่ม 2, น.490.

[3] ร. แลงกาต์, ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553), น. 378 อ้างถึงใน คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น.20.

[4] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, ว่าด้วยที่ดิน, (กรุงเทพฯ โรงพิมพ์กองลหุโทษ, 2542), น. 2 อ้างถึงใน คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น. 22.

[5] สมคิด เลิศไพฑูรย์, “รัฐธรรมนูญในอุดมคติของปรีดี พนมยงค์: เสรีภาพ เสมอภาค,” สืบค้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564, จาก https://pridi.or.th/th/content/2020/12/529#_ftn15.

[6] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), คำอธิบายกฎหมายปกครอง, (พระนคร: นิติสาส์น, 2474), น.13.

[7] เพิ่งอ้าง, น.18.

[8] เพิ่งอ้าง, น.16.