ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ว่าด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจ ตอนที่ 4: มองเค้าโครงเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต

20
กรกฎาคม
2563

เค้าโครการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ถือว่าเป็นความพยามเริ่มต้นในการวางแผนเศรษฐกิจของประเทศเพื่อประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยปรีดีได้คิดและเขียนเนื้อหาหลายส่วนของเค้าโครงการเศรษฐกิจเอาไว้หลายด้านดังได้นำเสนอมาแล้วในบทก่อน ๆ เช่น การที่รัฐจัดหาปัจจัยจำเป็นแก่การดำรงชีวิตให้กับประชาชน การที่รัฐเข้ามาจัดการจ้างงานเพื่อไม่ให้เกิดการใช้แรงงานไปอย่างเสียประโยชน์ และการเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจของรัฐในหลาย ๆ ด้าน เป็นต้น  ความคิดของปรีดี พนมยงค์ ในเรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ทันสมัยมากในช่วงเวลานั้น แต่เมื่อท้ายที่สุดเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง ดังที่ปรีดีกล่าวว่า “จิตสำนึกยังไม่ตื่น”

เค้าโครงการเศรษฐกิจ คือ บทเรียนจากอดีต

การศึกษาเค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อการนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันและอนาคตนั้น เราอาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมดในทุก ๆ เรื่อง เพราะปรีดีเขียนเค้าโครงเศรษฐกิจขึ้นด้วยระยะเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่เดือน และในบางประเด็นที่ปรีดีเสนอนั้นก็อาจจะมีความขัดแย้งกัน เช่น ความต้องการของปรีดีที่ต้องการให้ประชาคมระดับเล็กในท้องถิ่นสามารถจัดการเศรษฐกิจในท้องถิ่นผ่านทางสหกรณ์ได้ แต่ก็อาจจะถูกจำกัดโดยแผนเศรษฐกิจที่วางมาโดยรัฐที่ส่วนกลางได้ เป็นต้น หรือในท้ายที่สุดเมื่อระบบเศรษฐกิจตามเค้าโครงเศรษฐกิจกลายเป็นจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ  ระบบราชการที่มีขนาดใหญ่โตขึ้นตามมาเพื่อรองรับแผนและระบบเช่นว่านั้น ซึ่งในช่วงท้ายของชีวิตปรีดีได้ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของเค้าโครงเศรษฐกิจว่า จริงอยู่ที่นิตินัยอาจกล่าวว่า อำนาจรัฐเป็นของสมาชิกทั้งหลายของสังคม แต่ในทางพฤตินัยนั้น สมาชิกแห่งสังคมซึ่งเป็นผู้ถืออำนาจรัฐ มีโอกาสเสมอที่จะใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่มตนยิ่งไปกว่าประโยชน์ของสังคม นี่ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในโลกสังคมนิยมที่เป็นจริงทั่ว ๆ ไปในขณะนี้ เค้าโครงการเศรษฐกิจก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่พ้นจากพัฒนาการเช่นว่านั้น[1]

การประเมินความสามารถและแรงจูงใจทางศีลธรรมไว้สูงเกินไปอาจทำให้เกิดความเสี่ยงภายใต้การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมาก ๆ โดยแผนเศรษฐกิจอาจทำให้ในท้ายที่สุด หากรัฐบาลละเลยการประกันความสุขสมบูรณ์ของประชาชนไป ระบบเศรษฐกิจจะกลายเป็นทุนนิยมโดยรัฐ (State capitalism) ไป และในขณะเดียวกันการประเมินความสามารถและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจของประชาชนไว้ต่ำไป อันเป็นผลพวงจากการที่รัฐเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจแบบรอบด้านแล้ว ผลที่ตามมา ก็คือ การสร้างสรรค์หรือการพัฒนาอาจจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นอย่างมีเงื่อนไข เพราะปัจเจกบุคคลไม่มีแรงจูงใจเพียงพอ

เค้าโครงเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต

ในข้างต้นที่กล่าวมา คือ ข้อเสียซึ่งทำให้เราไม่สามารถนำเอาเค้าโครงการเศรษฐกิจมาใช้ได้ทั้งหมด การปฏิบัติตามเค้าโครงการเศรษฐกิจทุกประการอาจจะให้ผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะแผนการที่ออกแบบมาไว้สำหรับเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหนึ่งนั้นไม่อาจเอามาใช้ได้ตลอด การศึกษาเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ดีที่สุดจึงเป็นการศึกษาอุดมการณ์ที่หมายมุ่งให้ประชาชนมีความสุขสมบูรณ์และมีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งช่วงเวลาที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านบนความเปราะบางในช่วงวิกฤตเฉกเช่นที่เกิดในวิกฤตโควิด-19 นี้

บริบททางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป รัฐไม่สามารถเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ดังที่ปรีดีเสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ  คำถามสำคัญ คือ ความคิดใดบ้างของปรีดีในเค้าโครงการเศรษฐกิจบ้างที่สามารถนำมาใช้ได้ในปัจจุบันและเป็นรากฐานของอนาคต เราสามารถสรุปออกมาเป็นประเด็นได้ดังนี้

1. การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรสู่การสร้างสวัสดิการพื้นฐาน

เจตนารมณ์ของปรีดีที่ต้องการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรก็เพื่อประกันความไม่แน่นอนของชีวิตให้กับราษฎร ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนั้นไปไกลกว่าการเป็นสวัสดิการพื้นฐาน เพราะครอบคลุมชีวิตของคนในสังคมในทุกมิติและเป็นผลผลิตขั้นสุดท้ายของการเข้าจัดการทางเศรษฐกิจโดยรัฐ (ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้ประชาชนทุกคนเป็นข้าราชการ)[2]

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเมื่อเราไม่สามารถทำได้เช่นที่ปรีดีเคยคิดไว้ สิ่งที่พอจะทำได้ ก็คือ การสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐานขึ้นมา  คำถามที่เกิดขึ้น คือ ระบบสวัสดิการนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร อาจจะไม่ต้องเทียบเท่ากับรัฐสวัสดิการแบบที่เห็นในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย แต่ความสำคัญ คือ การเปลี่ยนมุมมองของรัฐสวัสดิการให้เป็นฐานของสิทธิเรียกร้องต่อรัฐให้เข้ามาสนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยไม่ต้องกังวลถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ  สิ่งนี้สำคัญและจำเป็นอย่างมากโดยเราจะเห็นได้จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นว่า ในสังคมมีคนที่เปราะบางและมีสถานะทางเศรษฐกิจไม่แน่นอนเป็นจำนวนมาก

สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้นั้นจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ หากประชาชนยังมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เพราะต้องกังวลว่าในวันพรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่หากมีความแน่นอนในทางเศรษฐกิจแล้ว ทรรศนะที่เป็นประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นเอง เพราะจิตใจของเขาได้รับการเติมเต็มมีความแน่นอนแล้ว และเขาจะหวงแหนซึ่งความเป็นประชาธิปไตยไว้

2. รัฐยังคงเข้าจัดการทางเศรษฐกิจอยู่ แต่เป็นไปโดยจำกัด

บทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น และปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐยังต้องเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจอยู่ แต่เป็นไปโดยจำกัด โดยเฉพาะในมิติเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมในระยะยาวผ่านการจัดสรรทรัพยากรให้ไปถึงมือของประชาชนทุกกลุ่มในสังคม 

และอีกมิติ คือ เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย รัฐควรถอยบทบาทลงมาเป็นผู้อำนวยการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจ รัฐเข้ามากำกับและควบคุมให้การแข่งขันเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมผ่านกลไกของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และจัดการผลกระทบภายนอกที่เกิดขึ้นกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ผ่านกฎหมายสิ่งแวดล้อม

3. การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และการพัฒนาการคุ้มครองระบบทรัพย์สินทางปัญญา

บทบาทของรัฐในการให้ความกับการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์นั้นผ่านการให้ทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา (Research and development: R&D) ซึ่งมีต้นทุนในการศึกษาวิจัยสูง แต่เมื่อรัฐเข้ามาจัดการในเรื่องนี้แล้ว เอกชนจะประหยัดต้นทุนลงไปโดยไม่ต้องคิดค้นวิจัยและพัฒนาเอง และสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้

ส่วนในเรื่องกกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญานั้น รัฐเข้ามาก็เพื่อคุ้มครองการสร้างสรรค์ของเอกชน ซึ่งหากไม่มีกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากำหนดคุ้มครองเอาไว้ เอกชนจะไม่มีแรงจูงใจในการคิดสร้างสรรค์ เพราะโดยสภาพของทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็น “ทรัพย์สินส่วนกลาง” (Common property) ซึ่งเมื่อเอกชนคิดสร้างสรรค์ออกมาแล้ว แนวโน้มที่คนเอกชนคนอื่นจะคัดลอกและไปแสวงหาผลประโยชน์ทำได้ไม่ยาก กฎหมายจึงต้องเข้ามากำหนดเรื่องนี้เพื่อรักษาแรงจูงใจให้กับเอกชน  อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญ และรัฐต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะในบางเรื่องนั้นมีความสำคัญมากหากกำหนดให้ระยะเวลาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญายาวไปอาจจะไม่เกิดผลดีกับสังคม เช่น สิทธิบัตรยา เป็นต้น เพราะโดยสภาพของทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการให้อำนาจผูกขาดแก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง ในบางเรื่องที่จำเป็นรัฐบาลอาจกำหนดระยะเวลาในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้น้อยกว่าที่จะเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

4. การปฏิรูปที่ดิน

การรวมที่ดินและการพัฒนาการรวมกลุ่มของเกษตรกรเป็นทางออกที่ดีในการทำให้เกษตรกรช่วยกันจัดการทำการเกษตรโดยต้นทุนที่ลดลงแตกต่างจากระบบต่างคนต่างทำ โดยบริหารจัดการผ่านกลไกสหกรณ์ที่เกษตรกรทุกคนเป็นสมาชิกและมีส่วนร่วม  อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปที่ดินต้องไปให้ไกลกว่านั้นไม่ใช่แค่เพียงเรื่องเกษตรกรรม แต่ที่ดินมีบทบาทสำคัญในแง่ที่อยู่อาศัยในฐานะของปัจจัยจำเป็นแห่งการดำรงชีวิต

ปัญหา คือ รัฐในปัจจุบันได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้เพียงพอหรือไม่ เราจะเห็นได้จากวิกฤตโควิด-19 ที่มีคนไร้บ้านจำนวนมากไม่มีที่อยู่อาศัย และการปฏิรูปที่ดินแต่เดิมมุ่งให้ประชาชนเข้าถึงที่ดินเพื่อให้สามารถแสวงหาประโยชน์ในทรัพยากรได้ แต่ที่ดินในลักษณะนั้นยังมองเฉพาะที่ดินในเชิงเกษตรกรรม แต่ยังขาดมิติความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ดังจะเห็นได้จากกรณีของชาวกะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งใช้ชีวิตในนั้นมาก่อนการเกิดขึ้นของรัฐไทยเสียอีก แต่ไม่มีสิทธิในการอยู่อาศัยและแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่สืบต่อจากบรรพบุรุษ

การปฏิรูปที่ดินจึงอาจจะต้องมองในมิติที่มากขึ้นกว่าแต่เดิมโดยมองในเชิงความเป็นธรรมทางสังคมมากขึ้น และมองในเรื่องการจัดสรรทรัพยากรไม่ให้กระจุกตัวอยู่กับคนเพียงบางกลุ่ม

ประเด็นทั้ง 4 ในข้างต้นนี้ คือ แนวทางบางส่วนที่มีความสำคัญซึ่งอาจสืบสาน รักษา และต่อยอดอุดมการณ์ซึ่งปรีดีได้เคยคิดเอาไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งหากมองไปถึงที่สุดเราจะเห็นว่า มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ที่อยู่เบื้องหลังข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้ยังคงมีประโยชน์การมองระบบของสังคมอย่างสัมพันธ์กันระหว่างการเมือง เศรษฐกิจ และทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย และแนวคิดแบบภราดรภาพนิยมที่มองมนุษย์เป็นพี่น้องที่ควรมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจะร่วมกันขจัดภัยที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนไปด้วยกัน  สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญและควรระลึกถึงไว้ในโลกอนาคตที่ความท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

 

[1] ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์, “ปรีดีพนมยงค์กับแนวคิดทางเศรษฐกิจ,” ใน ปรีดีปริทัศน์ ปาฐกถาชุดปรีดี พนมยงค์ อนุสรณ์ (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2526), น. 171.

[2] ความแตกต่างประการสำคัญที่สุดของการประกันความสุขสมบูรณ์กับสวัสดิการสังคมพื้นฐาน คือ การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนั้น มีเงื่อนไขประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน โดยกำหนดให้ประชาชนทุกคนเป็นข้าราชการ แต่หลักการของสวัสดิการพื้นฐาน คือ การมองจากฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิและเสรีภาพ เพื่อให้เข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตน การกำหนดให้ประชาชนทุกคนเป็นข้าราชการจึงไม่สอดคล้องกับสวัสดิการสังคมพื้นฐาน.