บนหน้าประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำของไทย เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพิจารณาการถือครองที่ดิน เพราะเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เมื่อสยามเข้าสู่ระบบการผลิตแบบใหม่ คนที่บุกป่าถางดง ด้วยหยาดเหงื่อและแรงกายของตนเอง ต้องเผชิญการขูดรีดในรูปแบบใหม่ การสะสมทุนกลายเป็นฐานทางอำนาจใหม่ แตกต่างไปจากการสะสมกำลังคนเพื่อใช้สอยแรงงานแบบในยุคสมัยอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์
สภาวะนี้ ดำเนินไปหลังสยามถูกผนวกเข้าระบบทุนนิยมโลก ด้วยการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ในปี 1855 ผลที่ตามมาในทางการเมือง คือ รัฐบาลราชสำนักกรุงเทพได้ปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์เข้าสู่อำนาจส่วนกลาง ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้น นอกจากสยามจะต้องกำหนดอัตราภาษีใหม่ และเปิดทางให้ค้าขายกับอังกฤษด้วยการปลดกำแพงภาษีสินค้าบางชนิด ก็ทำให้ระบบการผลิตของสยามต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตเพื่อขายเป็นจำนวนมาก
รายงานชิ้นนี้พาไป พิจารณาตัวอย่างเล็กๆ ที่ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนผ่านในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว สะท้อนฉากแรกของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างราษฎรและทุนศักดินา
จากขุดคลองเพื่อขนส่งสู่การขยายแหล่งน้ำเพื่อปลูกข้าว
“การขุดคลอง” แม้จะเกิดขึ้นก่อนยุครัฐบาลพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทว่าเป้าหมายก็เป็นไปเพื่อการคมนาคมภายในเป็นหลัก มิใช่เพื่อการค้าและการเปิดพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก
นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ที่ทำให้การขุดคลองเพื่อการเพาะปลูกเกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างนอกกรุงเทพ คือ 1. ราคาข้าวส่งออกเพิ่มขึ้น และ 2. พื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำนารอบๆ กรุงเทพฯ มีไม่เพียงพอต่อความต้องการผลิตข้าวทั้งเพื่อบริโภคและส่งออก[1]
เมื่อสยามเชื่อมต่อกับระบบทุนนิยมโลก การครอบครองที่ดินเพื่อปลูกข้าวได้กลายมาเป็นสินค้าส่งออกหลักของสยามแทนพริกไทยและน้ำตาล และเมื่อมูลค่าและปริมาณของข้าวสูงขึ้น ความต้องการพื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าวก็เพิ่มสูงขึ้นตามมา
ในบทที่ 1 ของหนังสือ “ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา : สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ยังไม่ลงหลักปักฐาน” เขียนโดย อภิชาต สถิตนิรามัย และ อิสร์กุล อุณหเกตุ ให้ความรู้และหลักฐานต่อประเด็นข้างต้นอย่างคมชัด โดยเสนอว่า
ราคาข้าวที่สูงขึ้นในระลอกแรกช่วง พ.ศ. 2411-2422 ส่งผลให้รัฐบาล รัชกาลที่ 5 ตัดสินพระทัยขุดคลองอีก 5 สาย โดย 4 สาย ใช้เวลาขุดเพียง 4 ปี จนถึง พ.ศ. 2419-2422 ทำเลการขุดคลองก็ได้เปลี่ยนจากด้านตะวันตกและตอนใต้ของแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางเหนือและตะวันออกของแม่น้ำแทน เพราะที่นั่น มีพื้นที่รกร้างเหลืออีกมาก ซึ่งเป็นการขุดต่อเนื่องจากคลองเปรมประชากร อันเป็นคลองแรกที่ถูกขุดขึ้น ใน พ.ศ. 2412[2]
ช่วงเวลานี้ ที่ดินซึ่งได้กลายเป็นสินทรัพย์ไปแล้ว แต่การเข้าจับจองที่ดินก็มิได้เสมอหน้ากัน ชาวนาสามัญชนกลับเป็นฝ่ายที่เข้าถึงหรือรักษาที่ดินอยู่เดิมก็ยากลำบาก ส่วนข้าราชการและผู้มีวาสนาก็อาศัยบารมีเข้าจับจองที่ดินรายละมากๆ จนเมื่อราคาข้าวสูงขึ้นอีกระลอก การเร่งขุดคลองระลอกที่ 2 จึงเริ่มต้นขึ้นในทศวรรษ 2430 โดยขุดคลองเพิ่มขึ้นถึง 10 สาย ตรงนี้เป็นจุดพลิกผันอีกครั้งของการครอบครองที่ดินรอบพื้นที่ชลประทานใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น
ในระยะเวลาเพียง 14 ปี (พ.ศ. 2428-2442) รัฐบาลรัชกาลที่ 5 ได้จัดให้มีการขุดคลองเองจำนวน 8 สายก่อน พ.ศ. 2431 หลังจากนั้นรัฐบาลจึงเริ่มให้มีระบบสัมปทานการขุดคลองโดยอนุมัติให้เอกชน ซึ่งเอกชนในที่นี้หมายถึง “ขุนนาง” เป็นผู้ลงทุนหลัก
โดยบริษัทที่ได้รับสัมปทานผูกขาด คือ “บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม”
การผูกขาดสัมปทานขุดคลอง
“บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม” กลายเป็นบริษัทเดียวที่ได้สิทธิขุดคลองจากรัฐบาล เป็นเวลา 25 ปี เริ่มการขุดในปี 2431 บริษัทนี้จัดตั้งโดย พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 4 ร่วมกับ นายโยอาคิม กราสซี (Joachim Grassi) วิศวกรชาวอิตาเลียนและคนอื่นๆ ทำการขุดระบบคลองรังสิตใน พ.ศ. 2433-2447 ซึ่งเป็นการขุดคลองสายใหญ่ 3 สาย ได้แก่ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายบน และ คลองหกวาสายล่าง รวมทั้งขุดคลองซอยขนาดต่างๆ ระหว่างคลองสายใหญ่ทั้ง 3 อีกจำนวน 58 คลอง และคลองรถไฟอีกเส้นหนึ่ง
จนถึง พ.ศ. 2446 บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ได้ขุดคลองขนาดต่างๆ รวมกัน มีความยาวทั้งสิ้น 668 กิโลเมตร ทำให้สามารถจับจองที่ดินได้ตามสัมปทานเป็นจำนวนถึง 840,000 ไร่ และยังมีคลองที่จะต้องขุดอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะจับจองได้อีก 960,000 ไร่
อย่างไรก็ตามบริษัทนี้ก็มิได้ขุดจนครบในบริเวณที่เหลือ เนื่องจากราคาข้าวได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และที่ดินที่ขุดได้ก็เริ่มเกินความต้องการ[3]
ถึงตรงนี้ อภิชาต สถิตนิรามัย และ อิสร์กุล อุณหเกตุ พบว่า สังคมไทยได้เกิดรูปแบบการถือครองที่ดินแปลงใหญ่ในลักษณะใหม่ โดยผู้ครอบครอง เป็นเจ้าที่ดินชนชั้นสูงซึ่งอยู่อาศัยนอกพื้นที่ (absentee landlord) และในที่สุด กลายเป็นรูปแบบหลักของการถือครองที่ดินในภาคกลางตอนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ
จากการสำรวจของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเกอร์ พบว่า มีตระกูลใหญ่เพียง 3 ตระกูลเป็นเจ้าของที่ดินถึงประมาณ 1 ใน 3 ของที่นาเช่าในเขต 4 จังหวัดรอบกรุงเทพฯ และแต่ละตระกูลยังถือครองที่ดินเฉลี่ย 41,000 ไร่ โดยมีครอบครัวอื่นๆ อีกประมาณ 120 ครัวเรือนถือครองโดยเฉลี่ย ประมาณ 1,000 ไร่ รูปแบบการถือครองที่ดินแบบเจ้าที่ดินโดยชนชั้นสูงผู้มีบรรดาศักดิ์ในเขตจังหวัดรอบกรุงเทพฯ นี้ครอบคลุมตั้งแต่ นนทบุรี ปทุมธานี นครนายก ไปจนถึงสมุทรปราการ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2473[4]
ชาวนาตัวจริงสูญเสียที่ดินอย่างไร
กลไกหนึ่งที่ทำให้การถือครองที่ดินมีลักษณะกระจุกตัวมากขึ้นหลังการให้สัมปทานขุดคลอง คือ การเริ่มทำโฉนดที่ดิน ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กำหนดให้มีการทำโฉนดที่ดินในพื้นที่กรุงเก่าก่อนที่อื่นๆ ฉะนั้น คนที่สามารถเข้าถึงสิทธินั้นได้ กลับกระจุกตัวในหมู่ขุนนางและข้าราชการมากกว่าจะเป็นราษฎรสามัญชนและชาวนาตัวจริง ตัวอย่างสำคัญเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งของการสัมปทาน
เหตุผลประการแรก คือ ภายหลังรัฐบาลให้สัมปทานบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามเข้าขุดในพื้นที่รังสิต ซึ่งพื้นที่โครงการนี้ในตอนเหนือได้กินพื้นที่เมืองกรุงเก่าด้วย เมื่อบริษัทขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีนสำเร็จ ปรากฏว่าการขุดคลองนั้นขุดทับพื้นที่ราษฎรจำนวนมาก ก่อให้เกิดคดีความกัน
ประการต่อมา คือ เพื่อให้พระคลังข้างที่มีรายได้แน่นอน รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้โอนที่หลวงในพื้นที่เมืองกรุงเก่าเข้ามาเป็นของพระคลังข้างที่ เพราะทรงเห็นว่าหากให้ใช้ในทางราชการเพียงอย่างเดียวจะไม่สร้างประโยชน์มากนัก จึงควรโอนมาเป็นของพระคลังข้างที่ แต่เมื่อจะโอนพื้นที่หลวงปรากฏว่า พื้นที่กว่าร้อยละ 80 ถูกราษฎรเข้าครอบครอง รัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชหัตถเลขาถึงเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการให้เจ้าพนักงานกรมแผนที่ออกไปสำรวจและปักเขตที่แน่นอนสำหรับปีถัดๆ ไปที่จะออกเป็นโฉนด
ทั้งนี้ ระบบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินเดิมมีปัญหามากอยู่แล้ว ส่งผลให้มีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินและคดีความมาก ซึ่งรวมถึงพื้นที่หลวงจำนวนมากถูกครอบครองจากความบกพร่องของเอกสาร พื้นที่เมืองกรุงเก่าจึงเป็นพื้นที่เร่งด่วนที่รัฐให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายที่ดินฉบับใหม่[5]
เราคงได้เห็นปัญหาจากตัวอย่างการถวายฎีกานับครั้งไม่ถ้วน ที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2450 คือ สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ต่อกับสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งเผยให้เห็นว่า ชาวนาจากทุ่งคลองรังสิต เป็นกลุ่มคนที่เผชิญความทุกข์ร้อนไม่น้อยไปกว่าส่วนอื่น
สาเหตุมิเพียงมาจากการทำนาที่ไม่ได้ผล ที่ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นที่ที่มีดินเค็มเท่านั้น หากแต่ยังมาจากการที่ผู้ให้เช่าที่ดินเรียกเก็บค่าเช่าโดยไม่มีการผ่อนผัน ขณะที่รัฐบาลเองยังเร่งรัดการจัดเก็บค่านา โดยเกณฑ์การประเมินแบบใหม่คือจัดนาออกเป็นชั้นเอก โท ตรี จัตวาและชั้นเบ็ญจะ[6] ฉะนั้นจะเห็นว่าพ้นไปจากปัจจัยของดินฟ้าอากาศ การสูญเสียที่ดินยังเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับนโยบายรัฐบาล กฎหมาย และทุนศักดินา อีกด้วย
จากการค้นคว้าของ สุนทรี อาสไวย์ พบว่า การสูญเสียที่ดินของชาวนามีปัจจัยที่ซับซ้อนมากกว่าแค่มิติทางกฎหมาย หากแต่ยังมีการใช้กำลังวิวาทบังคับเอาประโยชน์จากราษฎร เพราะการจัดสรรที่ดินในลักษณะนี้บริษัทมีอำนาจโดยตรง โดยที่รัฐไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นในทางปฏิบัติหลายกรณี ขุนนางบางคนใช้ให้บ่าว เข้าไปตบตีราษฎร เพื่อแย่งชิงที่ดิน ราษฎรหลายรายต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ของตัวเอง
กรณีนี้สุนทรี พบว่ามีกลุ่มวิวาทแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มของผู้มีบรรดาศักดิ์ ซึ่งมีทั้งเจ้านายและข้าราชการ กลุ่มที่สอง คือกลุ่มราษฎรถือใบตรอกของบริษัท มีบริษัทช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ และกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มราษฎรสามัญที่ไม่มีพรรคพวก ขณะที่การขับไล่และไล่ทำร้ายร่างกาย เป็นกลุ่มแรกที่กระทำต่อสองกลุ่มหลัง[7]
ชีวิตของลูกชาวนาคนหนึ่งในอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่าง ปรีดี พนมยงค์ ดูจะช่วยให้เห็นความจริงข้อนี้ชัดขึ้น
เมื่อปรีดีบันทึกเรื่องนี้ไว้ถึงช่วงเวลาการทำนาที่ยากลำบาก เพราะนอกจากครอบครัวของเขาต้องต่อสู้กับสภาพอากาศที่ผันผวน บางปีแล้ง บางปีน้ำท่วมแล้ว ความเสี่ยงของการทำนายังเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาลที่เปลี่ยนไปในเวลานั้น
เมื่อ บริษัทขุดคลองคูนาสยาม ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลทำการขุดคลอง ได้ขุดคลองมาถึงบริเวณที่ดินบิดาของปรีดี บริษัทได้มีการเรียกเก็บค่าขุดคลอง จากบิดาของเขาในอัตราไร่ละ 4 บาท จนไม่มีเงินพอจึงต้องกู้ยืมเงินผู้อื่นมาจ่ายให้บริษัท ทำให้บิดาของปรีดีซึ่งมีหนี้สินอยู่ก่อนแล้ว กลับมีหนี้สินท่วมท้นมากขึ้น
แม้จะมีเงื่อนไขของสัญญาขุดคลองที่บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามได้ทำไว้กับรัฐบาล มีการกำหนดถึงการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของบริษัทไว้มีใจความข้อหนึ่งว่า ให้บริษัทมีสิทธิจับจองที่ริมฝั่งคลองฝั่งละ 40 เส้น เฉพาะในที่ที่ไม่มีผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของหวงห้ามไว้เดิม ก็ตาม
ปรีดีก็พบว่ามิใช่แค่ครอบครัวของเขาเท่านั้นที่เผชิญปัญหา หากแต่เป็นชาวนาสามัญชนในบริเวณดังกล่าวหลายครัวเรือน ดังที่เขาบรรยาย แต่เนื่องจากประชาชนผู้จับจองที่ดินมาก่อนมักไม่มีตราจอง จะมีก็เพียงแต่ใบเหยียบย่ำของกำนันซึ่งมีอายุเพียง 1 ปี หรือทำกินโดยไม่มีหนังสือสำคัญใดๆ ทำให้เกิดปัญหาการแย่งที่ดินระหว่างประชาชนและบริษัท โดยบริษัทจะอ้างการได้ที่ดินของประชาชนว่า ไม่มีหลักฐาน ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินไปเป็นจำนวนมาก[8]
จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเหลื่อมล้ำของการถือครองที่ดินที่เกิดขึ้น ไม่มากก็น้อยทำให้ปรีดีเริ่มคำนึงว่าความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ มิอาจแยกออกได้จากนโยบายของรัฐ ดังที่เขาได้ประจักษ์กับตาของตัวเองในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อราษฎรต้องแย่งยึดที่ดินที่ลงแรงทำกินเองกับทุนศักดินาอันมีนโยบายรัฐหนุนหลังอยู่
[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์. ปากไก่และใบเรือ รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2555, หน้า 124-125
[2] อภิชาต สถิตนิรามัย และ อิสร์กุล อุณหเกตุ, ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา: สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ยังไม่ลงหลักปักฐาน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564, หน้า 22-23
[3] อภิชาต สถิตนิรามัย และ อิสร์กุล อุณหเกตุ, ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา: สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ยังไม่ลงหลักปักฐาน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564, หน้า 23-24
[4] อภิชาต สถิตนิรามัย และ อิสร์กุล อุณหเกตุ, ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา: สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ยังไม่ลงหลักปักฐาน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564, หน้า 42
[5] อภิชาต สถิตนิรามัย และ อิสร์กุล อุณหเกตุ, ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา: สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ยังไม่ลงหลักปักฐาน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2564, หน้า 93
[6] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2535). การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษศาสตร์
- ที่ดิน
- ภีรดา
- ปรีดี พนมยงค์
- ความเหลื่อมล้ำ
- ทุน วัง คลัง นา
- สนธิสัญญาเบาว์ริง
- ปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์
- ระบบราชการรวมศูนย์
- นิธิ เอียวศรีวงศ์
- ระบบทุนนิยม
- ทุน วัง คลัง [ศักดิ] นา
- อภิชาต สถิตนิรามัย
- อิสร์กุล อุณหเกตุ
- รัชกาลที่ 5
- บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด
- พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
- รัชกาลที่ 4
- โยอาคิม กราสซี
- Joachim Grassi
- ผาสุก พงษ์ไพจิตร
- คริส เบเกอร์
- พระคลังข้างที่
- ยุคศักดินา
- ศักดินา
- ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์