ในบทความก่อน ผู้เขียนได้เล่าถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคม และความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจ ซึ่งผลักดันให้คณะราษฎรคิดและเห็นว่า จำเป็นจะต้องมีการวางเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นมา
เค้าโครงเศรษฐกิจฉบับแรกนี้ ปรีดี พนมยงค์เขียนขึ้นภายในระยะเวลาที่จำกัด และมุ่งหมายที่จะให้เค้าโครงการเศรษฐกิจนี้เป็นเพียงหลักการใหญ่เท่านั้น ในรายละเอียดการดำเนินการแต่ละเรื่องนั้นจะต้องมีการไปคิดและกำหนดวิธีการดำเนินการอีกทีหนึ่งภายใต้หลักการนี้
สำหรับสาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น หากพิจารณาตลอดทั้งฉบับแล้วจะเห็นได้ว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นได้พูดถึงในหลายเรื่องด้วยกัน แต่หลักใหญ่สำคัญที่สุด ก็คือ การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ซึ่งปรีดีมองว่า การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ จะทำให้ราษฎรสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพของตนภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะขอพาทุกท่านมาร่วมกันอ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง โดยไล่เรียงไปตามหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
การขจัดความไม่เที่ยงแท้ของเศรษฐกิจเป็นหัวใจสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งหากไม่มีความแน่แท้ของเศรษฐกิจแล้ว ประชาชนจะสามารถในใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เพราะจะต้องคิดกังวลกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เกินกว่าจะได้ให้ความสนใจและใส่ใจกับการใช้สิทธิและเสรีภาพได้ วิธีการหนึ่งที่ปรีดี พนมยงค์ นำเสนอเอาไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ ก็คือ การที่รัฐจัดให้มีประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Assurance Sociale)[1] อันเป็นการประกันว่า ประชาชนตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก คนเจ็บป่วย คนพิการ หรือคนชราทำงานไม่ได้ ก็จะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่อาศัย และปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต[2] ซึ่งปรีดีเชื่อว่า “เมื่อรัฐบาลประกันได้เช่นนี้แล้ว ราษฎรทุกคนจะนอนตาหลับ เพราะไม่ต้องกังวลว่า เมื่อเจ็บป่วยหรือพิการหรือชราแล้วจะต้องอดอยาก หรือเมื่อตนมีบุตรจะต้องเป็นห่วงใยบุตรเมื่อตนได้สิ้นชีพไปแล้วว่า บุตรจะอดอยากหรือหาไม่เพราะรัฐบาลเป็นประกันอยู่แล้ว”[3]
การจะประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรได้นั้น ปรีดีได้กล่าวไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น เพราะโดยสภาพแล้วเอกชนไม่สามารถที่จะทำได้ หรือถ้าจะทำได้ก็ด้วยต้นทุนที่สูงมาก ทำให้เบี้ยประกันภัยที่ประชาชนต้องจ่ายก็แพงมากไปด้วยเช่นกัน[4] โดยสภาพจึงไม่มีเอกชนรายใดที่จะสามารถประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรทั้งหมดได้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามาจัดการดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย ซึ่งปรีดีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรมาพร้อมกับเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่ราษฎรทุกคนเป็นจำนวนพอกับที่ราษฎรจะนำเงินนั้นไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดอัตราเงินที่ได้รับจากรัฐบาลเป็นอัตราขั้นต่ำตามแต่ละช่วงอายุของราษฎรแต่ละคน[5] และหากราษฎรคนใดมีคุณวุฒิหรือความสามารถพิเศษก็จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก[6] นอกจากนี้ หากราษฎรคนใดเป็นข้าราชการหรือทำงานราชการก็จะได้รับเงินเดือนเพิ่มอีกส่วนหนึ่ง[7] ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วราษฎรทุกเกือบจะมีสถานะเป็น “ข้าราชการ” ตามหลักการของเค้าโครงการเศรษฐกิจและเค้าร่างพระราชบัญญัติความสุขสมบูรณ์ของราษฎร
ตารางแสดงอัตราช่วงอายุที่จะได้รับเงินจากรัฐบาล ซึ่งจำนวนเงินเท่าใดจะถูกกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาอีกทีหนึ่ง
ลำดับ |
ช่วงอายุ |
จำนวนเงิน/เดือน |
---|---|---|
1. |
บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี |
เดือนละ........................................บาท |
2. |
บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 1 – 5 ปี |
เดือนละ........................................บาท |
3. |
บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 6 – 10 ปี |
เดือนละ........................................บาท |
4. |
บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 11 – 15 ปี |
เดือนละ........................................บาท |
5. |
บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 16 – 18 ปี |
เดือนละ........................................บาท |
6. |
บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 19 – 55 ปี |
เดือนละ........................................บาท |
7. |
บุคคลที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป |
เดือนละ........................................บาท |
มีข้อพึงสังเกตประการหนึ่งคือคำว่า “ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต” ที่ปรีดีพูดถึงในเค้าโครงการเศรษฐกิจมีความหมายกว้างกว่าปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตแค่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคเท่านั้น แต่ปรีดีมองปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตว่า มีลักษณะเป็นพลวัตเปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของสังคม และมีขอบเขตกว้างรวมไปถึงเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และสิ่งพักผ่อนหย่อนใจเพื่อหาความเพลิดเพลิน[8] ซึ่งรัฐบาลจะจัดให้มีสิ่งเหล่านี้เมื่อรัฐเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจ ดังนั้น แม้จะมีผู้พยายามเปรียบเทียบประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรว่าเป็นสวัสดิการพื้นฐาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประกันความสุขสมบูรณ์นั้นไปไกลกว่าการเป็นสวัสดิการพื้นฐานมาก เพราะไม่ได้ตอบสนองแค่ความต้องการพื้นฐาน แต่ครอบคลุมลงไปในทุกด้านของชีวิต
การเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจโดยรัฐ
หากพิจารณาตลอดทั้งเค้าโครงการเศรษฐกิจและร่างกฎหมายที่ปรีดีเสนอไว้ในท้ายเค้าโครงนั้น จะเห็นได้ว่า ปรีดีมีแนวคิดสนับสนุนให้รัฐเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจด้วยเหตุผลหลัก 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก การไม่มีเงินทุนและที่ดินเพียงพอจะประกอบกิจการ ซึ่งปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจว่า
“ราษฎรในเวลานี้ต่างคนมีที่ดินและเงินทุนพอเพียงอยู่แล้วหรือ เราจะเห็นได้ว่า 99% ของราษฎร หามีที่ดินและเงินทุนเพียงพอที่จะประกอบการเศรษฐกิจแต่ลำพังให้ถูกต้องครบถ้วนไม่ ราษฎรต่างก็มีแรงงานประจำตนของตน แรงงานนี้ตนจะเอาไปทำอะไร เมื่อตนไม่มีที่ดินและเงินทุนเพียงพอ” [9]
ในการประกอบกิจการทางเศรษฐกิจนั้นปัจจัยสำคัญที่ต้องอาศัยมีอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ ที่ดิน แรงงาน และเงินทุน ซึ่งตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2472–2475 ราษฎรชาวสยาม (หรือไทยในปัจจุบัน) มีอาชีพหลักที่นิยมอยู่สองอย่างคือ การรับราชการเป็นข้าราชการอย่างหนึ่ง และการทำเกษตรกรรมเป็นชาวนาอีกอย่างหนึ่ง สำหรับราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นชาวนานั้นโดยส่วนใหญ่แล้วไม่มีที่ดินเป็นของตนเองและใช้วิธีการเช่าที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมมีเพียงส่วนน้อยที่จะเป็นเจ้าของที่ดินเอง ประกอบกับจากการศึกษาของ คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน (Carle C. Zimmerman) ก็ได้พบว่า ต้นทุนของชาวนาในการปลูกข้าวนั้นสูงมาก เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเพาะปลูกแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้มาลงทุนทำนา ค่าเช่านา ภาษีต่าง ๆ ทั้งภาษีโคกระบือ อากรค่านา และเงินค่ารัชชูปการ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการสะสมทุนของราษฎร ทำให้ราษฎรไม่มีเงินทุนเพียงพอ ดังนั้น แม้ราษฎรจะมีแรงงานเป็นของตนเอง แต่หากปราศจากที่ดินและเงินทุนแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ประการที่สอง เพื่อไม่ให้ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในเรื่องนี้ปรีดีนำเสนอไว้ใน 2 ประเด็นด้วยกัน คือ การมิได้ใช้แรงงานอย่างเต็มที่ และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ประเด็นแรก การมิได้ใช้แรงงานอย่างเต็มที่ซึ่งปรีดีเห็นว่า
“ชาวนาซึ่งเป็นพลเมืองส่วนมากของประเทศสยามทำนาปีหนึ่งไม่เกิน 6 เดือน (รวมทั้งไถ หว่าน เกี่ยว ฯลฯ) ยังมีเวลาเหลืออีก 6 เดือนนี้ ราษฎรมีทางที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางการประกอบเศรษฐกิจได้แล้ว ความสมบูรณ์ของราษฎรก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นได้...การที่แก้ไขให้ราษฎรได้ใช้เวลาว่างที่เหลืออยู่นี้ให้เป็นประโยชน์ได้ด้วยวิธีที่ปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำนั้นสำเร็จได้อย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่า จะมีอยู่ก็แต่รัฐบาลที่จะกำหนดวางแผนการเศรษฐกิจแห่งชาติให้ราษฎรได้ใช้เวลาที่เหลืออีก 6 เดือนนี้เป็นประโยชน์” [10]
นอกจากนี้ ปรีดียังได้กล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งซึ่งปรีดีเรียกว่า “พวกหนักโลกทำให้ถ่วงความเจริญ” ซึ่งเป็นคนประเภทไม่ประกอบการเศรษฐกิจหรือการใดให้เหมาะสมแก่แรงงานของตน อาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ของผู้อื่นหรือบางทีก็ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งถ้าพวกหนักโลกนี้ทำงานก็จะทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นและทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไปด้วย[11]
ประเด็นที่สอง การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพนั้น ปรีดีได้ตั้งข้อสังเกตว่า
“...ในเวลานี้ที่ดินที่แยกย้ายอยู่ระหว่างเจ้าของต่าง ๆ นั้น ต่างเจ้าของก็ทำคูคันนาของตน...” [12]
ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของซิมเมอร์แมน พบว่า ที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศเว้นแต่ในภาคกลางนั้นมีลักษณะเป็นที่ดินแปลงเล็ก ๆ และอยู่กระจัดกระจายกัน ชาวนาคนหนึ่งมีที่ดินหลายแปลงอยู่ห่างกัน และแปลงหนึ่งมีเนื้อที่เพียงงานเดียวก็มี[13] ในเวลานั้นการใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่นั้นถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการเกษตร เจ้าของที่ดินเป็นเอกชนต่างคนต่างใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเอง ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ทำให้เจ้าของที่ดินได้รับความยากลำบาก ซึ่งปรีดีได้อธิบายสภาพดังกล่าวไว้ว่า “ในเวลานี้ผลจากที่ดินนั้นย่อมได้แทบไม่คุ้มค่าใช้จ่ายและค่าอากรหรือดอกเบี้ย เพราะชาวนาเวลานี้แทบกล่าวได้ว่า 99% เป็นลูกหนี้เอาที่ดินไปจำนองหรือเป็นประกันต่อเจ้าหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้เองก็เก็บดอกเบี้ยหรือต้นทุนไม่ได้ หรือผู้ที่มีนาให้เช่า เช่น นาในทุ่งรังสิต เป็นต้น เจ้าของนาแทนที่จะเก็บค่าเช่าได้กลับจำต้องออกเงินเสียค่านา เป็นการขาดทุนย่อยยับกันไปไม่ว่าคนมีหรือคนจน”[14]
ปัจจัยทั้งสองประการดังกล่าวทำให้ปรีดีเชื่อว่า รัฐควรเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจ และได้เสนอวิธีการในการเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจของรัฐเอาไว้ในเค้าโครงการใน 4 วิธีการด้วยกัน ได้แก่
ประการแรก การที่รัฐบาลเข้าบริหารจัดการแรงงาน โดยการกำหนดให้ราษฎรทุกคนที่มีอายุ 18–54 ปี เป็นข้าราชการ ซึ่งปรีดีเห็นว่า เมื่อว่างจากช่วงการทำนา 6 เดือนและวันหยุดพักผ่อนแล้ว รัฐบาลก็สามารถปรับเปลี่ยนกำลังคนไปใช้ในงานต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสม โดยขึ้นกับแผนเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะได้กำหนดไว้ เช่น การทำไร่ หรือทำถนน เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลอาจจัดให้ข้าราชการเหล่านี้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้อีกด้วย[15] อย่างไรก็ตาม ตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นก็ยอมรับให้มีบุคคลบางกลุ่มไม่ต้องเป็นข้าราชการและประกอบอาชีพอิสระ (Professions Liberales) เช่น นักประพันธ์ ทนายความ ช่างเขียน และครูในวิชาบางอย่าง เป็นต้น[16] หรืออาชีพอื่น ๆ เช่น การประกอบกิจการโรงงานซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของอยู่แล้วในเวลา นี้เมื่อผู้ประสงค์จะทำต่อไปโดยไม่อยากเป็นข้าราชการแล้ว ก็อนุญาตเช่นเดียวกัน[17]
ประการที่สอง เนื่องจากแต่เดิมรัฐบาลไม่ได้เข้ามาจัดการเศรษฐกิจ แต่ปล่อยให้เอกชนต่างดำเนินการทางเศรษฐกิจแบบต่างคนต่างทำ (ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม) ทำให้การใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญถูกใช้ไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่สร้างผลตอบแทนที่เพียงพอ ซึ่งตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ ปรีดีเสนอให้รัฐบาลดำเนินการนำที่ดินกลับมาเป็นของรัฐบาลโดยวิธีการซื้อ ปรีดีกล่าวหนักแน่นเอาไว้ว่าจะต้องดำเนินวิธีการละม่อม คือ ต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างคนมีกับคนจน รัฐบาลต้องไม่ประหัดประหารคนมี[18] วิธีการที่ปรีดีจะนำมาใช้ก็คือ การเสนอขอซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินโดยให้รัฐบาลและเจ้าของที่ดินร่วมกันเจรจาในราคาที่ดิน แต่จะต้องไม่เกินกว่าราคาตลาดของที่ดินก่อนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475[19]
เมื่อที่ดินเป็นของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลสามารถกำหนดได้ว่า การประกอบเศรษฐกิจในที่ดินนั้นจะแบ่งออกเป็นส่วนอย่างไร และจะต้องใช้เครื่องจักรกลชนิดใดเป็นจำนวนเท่าใด ในขณะเดียวกันการรวมแปลงที่ดินเข้าด้วยกันทำให้เกิดผลดี คือ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลง เนื่องจากเดิมแต่ละคนต่างทำต่างลงทุนซ้ำซ้อนกันเพื่อพัฒนาที่ดินของตนเอง เช่น การทำคูคันนาอาจจะทำน้อยลง หรือการใช้เครื่องจักรกลเพื่อทำการไถก็สามารถดำเนินต่อเนื่องกันไปได้ ไม่ต้องทำที่หนึ่งแล้วก็เปลี่ยนไปทำอีกที่หนึ่ง เพราะที่ดินต่างเจ้าของกัน เป็นต้น นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดรัฐบาลก็สามารถอาศัยความรู้และเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญมาใช้ในการพัฒนาที่ดินได้ ประชาชนที่ทำนาก็จะทำนาในฐานะเป็นข้าราชการที่ทำงานให้กับรัฐบาลมีเงินเดือนแน่นอน และได้ผลประโยชน์เพิ่มเติมจากกำไรที่ขายข้าวเพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตาม การซื้อคืนที่ดินก็ไม่ใช่ว่า จะได้ซื้อคืนที่ดินทุกประเภท รัฐบาลจะซื้อคืนเฉพาะที่ดินจะใช้ประกอบการเศรษฐกิจ เช่น ที่นาหรือไร่ เป็นต้น ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยนั้นไม่จำเป็นที่รัฐบาลต้องซื้อคืน เว้นแต่เจ้าของประสงค์ขาย[20]
ประการที่สาม เมื่อรัฐเข้ามาจัดการในทางเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลสามารถที่จะแบกรับต้นทุนต่าง ๆ ได้ เพราะรัฐบาลมีเงินทุนคืองบประมาณแผ่นดิน ซึ่งได้มาจากภาษีของประชาชนทุกคน ทำให้สามารถลงทุนต่างๆ ได้ สามารถนำเข้าเครื่องจักรมาใช้ได้ ซึ่งรัฐบาลหาเงินทุนนั้นสามารถทำได้ง่ายกว่าราษฎรหาเงินทุนเอง
ประการที่สี่ เมื่อรัฐบาลเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจรัฐบาลมีเงินทุนก็สามารถนำเข้าเครื่องจักรมาใช้ในการประกอบกิจการทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเครื่องจักรนั้นมีข้อดีในการช่วยลดการใช้แรงงานมนุษย์ลงไป แต่การนำเครื่องจักรมาใช้ก็มีข้อเสียคือ เครื่องจักรนั้นเข้ามาทดแทนแรงงานของมนุษย์ เช่น โรงทอผ้าซึ่งแต่เดิมเป็นโรงงานที่ทำด้วยมือใช้คนงานพันคน เมื่อโรงทอผ้านั้นเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรกลต้องการคนงานเพียงร้อยคน เช่นนี้แล้วคนงานอีก 900 คนก็จะต้องออกจากโรงงานนั้น กลายเป็นคนไม่มีงานทำ เป็นต้น[21] ข้อเสียนี้เราไม่สามารถโทษเครื่องจักรได้ แต่ปัญหามันเกิดมาจากการไม่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกันนั้นหากรัฐบาลเป็นคนบริหารจัดการทางเศรษฐกิจเอง รัฐบาลก็สามารถดูดซับแรงงานส่วนเกินเพื่อเอาไปใช้ในกิจกรรมอื่นได้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในขณะนั้น ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับวิธีการดำเนินเศรษฐกิจตามข้อเสนอในเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ โดยเฉพาะพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ซึ่งพิจารณาได้จากการแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันี่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้แถลงว่า “...หลักการในเรื่องนี้มีอยู่เป็น 2 ทาง ทางหนึ่งรัฐบาลเข้าจัดทำเองเสียทั้งหมด ซึ่งเป็นการตึงเกินไป อาจจะมีเสียยิ่งกว่าได้ และอาจเป็นการเดือดร้อนแก่บุคคลบางจำพวก อีกทางหนึ่งก็คือรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ราษฎรทำกันเอง ใครดีใครได้ ใครกำลังน้อยก็ย่อยยับไป ใครกำลังมากก็ฟุ่มเฟือย ดังนี้ก็เป็นการหย่อนเกินไป มีเสียมากกว่าได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจุดที่หมายของรัฐบาลนี้ จึงคิดเข้ามีส่วนในกิจการที่เห็นเป็นสำคัญสำหรับประเทศสมควรทำเสียเองก็ทำ สมควรเพียงแต่เข้าควบคุมก็เพียงแค่ควบคุม สุดแต่จะเห็นเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับบุคคลทั่วไป จะเอาประโยชน์คนหมู่หนึ่งเป็นที่ตั้ง และไม่คิดถึงประโยชน์ของคนอีกหมู่หนึ่งนั้นหามิได้”[22] สภาพตามถ้อยแถลงของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้นแทบไม่แตกต่างอะไรกับที่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เคยดำเนินมาก่อนหน้านี้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถบรรลุเป้าหมายจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เพราะปัญหาหลักของเรื่องนี้อยู่ที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมตามที่ได้มีการศึกษาโดยซิมเมอร์แมนมาแล้ว
ความสุขสมบูรณ์ของราษฎร คือ เป้าหมายของเค้าโครงการเศรษฐกิจ ส่วนการเข้ามาจัดการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นเป็นวิธีการซึ่งปรีดี พนมยงค์มุ่งหมายที่จะนำมาใช้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยปรีดีได้พิจารณาจากสภาพความเป็นจริงผ่านมุมมองของปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยและแนวคิดภราดรภาพนิยม อย่างไรก็ตามสาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นยังมีประเด็นอื่น ๆ อีก คือ การกระจายอำนาจเพื่อเป็นฐานในทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ชนบท และการสร้างระบบเศรษฐกิจความมั่นคงของชาติ ซึ่งผู้เขียนจะได้นำเสนอในบทความต่อไป
[1] “Assurance Sociale” เป็นภาษาฝรั่งเศส หากเป็นภาษาอังกฤษก็คือคำว่า “Social Assurance” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยก็คือคำว่า “การประกันสังคม” แต่หากพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ประกันความสุขสมบูรณ์นั้นมีความแตกต่างจากประกันสังคมในความเข้าใจปัจจุบันพอสมควร.
[2] ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2552), น. 27.
[3] เพิ่งอ้าง, น. 27.
[4] เพิ่งอ้าง, น. 27.
[5] เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร, มาตรา 3.
[6] เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร, มาตรา 4.
[7] เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร, มาตรา 7.
[8] ปรีดี พนมยงค์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น. 48.
[9] เพิ่งอ้าง, น. 30.
[10] เพิ่งอ้าง, น. 32.
[11] เพิ่งอ้าง, น. 36.
[12] เพิ่งอ้าง, น. 39.
[13] คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม, แปลโดย ซิม วีระไวทยะ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2525), น.20.
[14] ประเทศไทยในขณะนั้นกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยก็เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกัน ทำให้จำเป็นต้องลดอัตราการซื้อสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งสินค้าอย่างหนึ่งที่ได้รับผลกระทบก็คือข้าว ซึ่งเมื่อราคาข้าวตกต่ำลงก็ส่งผลต่อรายได้ของชาวนาไม่เพียงพอแก่การจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ และในขณะเดียวกันเจ้าที่ดินก็ประสงค์จะขายที่ดินก็ขายไม่ได้ แม้ราคาที่ดินจะลดลงก็ตาม เพราะเศรษฐกิจไม่ดีไปทุกระดับ, โปรดดู ปรีดี พนมยงค์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น.37.
[15] ปรีดี พนมยงค์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น.37.
[16] เพิ่งอ้าง, น.44.
[17] เพิ่งอ้าง, น.43-44.
[18] เพิ่งอ้าง, น.37.
[19] เค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ พุทธศักราช..., มาตรา 4 และมาตรา 5.
[20] ปรีดี พนมยงค์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, น.38.
[21] เพิ่งอ้าง, น. 34.
[22] ประเสิรฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (พ.ศ. 2475–2517), (กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมการช่าง, 2517), น. 51.